Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

พระมหากษัตริย์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
พระมหากษัตริย์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
.......พ.อ.ดิเรก  พรมบาง
    “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะเสียสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้ราษฎร์โดยทั่วไป  แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ  เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์”
                                                                                                                      พระราชหัตเลขาพระบาทสมเด็จ
                                                                                                                              พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 มี.ค.2477
กล่าวนำ
    “ประเทศไทยถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ” ในทุกๆ ปีที่ผ่านมาเมื่อถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ หรือไม่ก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐ์สถานอยู่หน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานาคร วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักการปกครองให้แก่ประชาชนชาวไทย ภายหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ความเป็นมา
    ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ราชวงศ์จักรี ประเทศมหาอำนาจตะวันตก แพร่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามาในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ประเทศสยามในสมัยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการล่าเมืองขึ้น แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงได้ศึกษาอารยธรรมตะวันตก จนเกิดความเข้าใจ ทรงใช้ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และได้รับความนับถือจากนานาชาติ ล่วงขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ 5  ทรงป้องกันเอกราชอธิปไตยของประเทศจนสุดพระกำลัง ต่อการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ทรงนำความรอดพ้น และคงตามเป็นเอกราชอยู่ได้เพียงประเทศเดียวในแหลมทอง ทรงพัฒนาประเทศด้วยคุณูประการ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร ทรงมองเห็นภัย จากต่างประเทศ จึงได้วางรากฐานให้บ้านเมืองพัฒนาไปในทางรุ่งเรือง โดยเฉพาะความเจริญในระบอบประชาธิปไตย
    สืบต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ทั้งสองพระองค์ ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดา ทรงพัฒนาการศึกษาและให้นำความรู้ทางประเทศตะวันตกมาใช้ เป็นผลให้สามารถลดปัญหา และแก้ไขความเสียเปรียบกับต่างประเทศ ส่วนในด้านการปกครอง ก็เริ่มพิจารณา เตรียมการและเริ่มต้นการปกครองแผนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 7 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อ 24 มิ.ย.2475 ทรงยินยอมที่จะเป็น

- 2 -

พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ยังมีกองทัพที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ดังความในพระราชหัตถเลขา ลง 24 มิ.ย. 2475 มีความตอนหนึ่งดังนี้ “ ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไมไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้ จลาจล เสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อคุมให้โครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญโดยสะดวก ”
    ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร (แทนธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราวที่คณะราษฎรประกาศใช้) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่เมื่อวิธีการปกครองไม่ตรงกับหลักการที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย อย่างแท้จริง จึงทรงกล้าหาญสละราชสมบัติ และพระองค์ทรงพระอักษรเป็นพระราชหัตถเลขา ลง 2 มี.ค. 2477 ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศชาติ ดังข้อความบางตอนว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้อง ตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจ และยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”     
    “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
    “บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้หมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป...”
              ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 มีหลักสำคัญหลายประการ อาทิ เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบรัฐสภา ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินและรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนฯ  รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายเนติบัญญัติ มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
    รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม นั้นจึงเป็นความสำคัญที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึง รัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันรัฐธรรมนูญ”
- 3 -

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
    ตามความเข้าใจโดยทั่วไปคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจหรืออำนาจของประชาชน ประเด็นหลักของประชาธิปไตย อยู่ที่ประชาชนเป็นสำคัญ จะปกครองอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข เสมอภาคเท่าเทียม และมีเสรีภาพ ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมการณ์โดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย คือ ความเสมอภาคในทางการเมือง เศรษฐกิจ มีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ และได้รับความเป็นธรรม ตามขอบเขตของกฎหมายโดยไม่เลือกการปฏิบัติ ยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วน สามารถแสดงออกตามสิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน สามารถใช้เป็นรูปแบบการปกครอง และแบบแผนในการดำเนินชีวิตกลายเป็นวัฒนธรรมสืบเนื่องเป็นบรรทัดฐานและวิถีชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม
    ในบรรดาประเทศต่างๆ ในโลกที่มีการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ทั้งหมดประมาณ 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีคำใช้เรียกแทนองค์พระมหากษัตริย์แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาตินั้นๆ แต่คำแทนองค์พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะหน้าที่แบบต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้สรุปจำแนกได้ 5 ลักษณะ คือ
    1. พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาจากคำว่า พระเจ้า (เทพเจ้า) กับคำว่า อยู่หัว (ผู้นำ...หัวหน้า) หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีภาระหน้าที่ของการเป็นผู้นำหรือประมุขของประเทศชาติและประชาชน
    2. พระเจ้าแผ่นดิน หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ แล้วพระราชทานสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นให้แก่ประชาชน และถือว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินด้วย จะเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงต้องมีพระราชภาระหน้าที่ จะต้องทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน
    3. เจ้าชีวิต หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของประชาชน กล่าวคือ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิต และพระราชทานอภัยโทษจากการประหารชีวิตแก่ประชาชนได้ อันหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ ที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของประชาชน และจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศไว้
    4. ธรรมราชา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้รักษาธรรม และปฏิบัติธรรม และด้วยหลักธรรมนี้ ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในประเทศ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้หลักธรรมเป็นแบบแผนในการปกครองประเทศชาติและประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ พระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ จะต้องอยู่ในกรอบของหลักธรรมเท่านั้น

- 4 -

    5. พระมหากษัตริย์ หมายความว่า การเป็นนักรบ หรือจอมทัพที่ยิ่งใหญ่ในยามสงครามที่จะต้องมีป้องกันประเทศ พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้นำทางการทหารออกรบ เพื่อปกป้องคุ้มครองเอกราชของประเทศและประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยแก่ประเทศชาติ และประชาชน
    สิทธิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ตามตำราการเมืองและการปกครองไทยที่ใช้สอนกันมาในสถาบันการศึกษาต่างๆ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 พอสรุปเป็นสังเขปว่า
    สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาติไทยตลอดมานับตั้งแต่ไทยเริ่มสร้างตนเป็นชาติขึ้นมา เป็นสถาบันที่เลื่อมใสศรัทธาและฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของประชาชนคนไทย แทบทุกคนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บทบาทของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชน ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นศูนย์รวมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติไม่ว่าจะเชื้อชาติใดและศาสนาใด พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ต้องรับผิดชอบในกิจกรรมการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะกระทำในพระปรมาภิไธย ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองเสมอมา ทรงมีสิทธิที่จะให้คำเตือนในบางเรื่องบางกรณี แก่รัฐบาล รัฐสภาและศาล หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่าถ้ากระทำไปแล้วจะเกิดผลเสียหาย ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศจึงถือว่าเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่จะได้รับรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์หรือเรื่องราวบางเรื่องที่มีความสำคัญกับบ้านเมือง สิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาหารือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นำปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ สิทธิ์ที่จะสนับสนุนการกระทำหรือกิจการใดๆ ของรัฐหรือเอกชนได้ หากพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการนั้นๆ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เช่น โครงการตามพระราชดำริต่างๆ นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และลงพระปรมาภิไธย ในร่างกฎหมายประเภทต่างๆ เป็นต้น
    พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่ามิได้ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงอย่างแท้จริงในกิจกรรมการเมืองการปกครอง แต่ความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากพระมหากษัตริย์ มีนับเป็นอเนกประการ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ แผ่พระบารมีให้มีความร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์และชนต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งเกียรติยศ และพระมหากรุณาธิคุณ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น