Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ประติมากรรมเทวดา : สกุลช่างหริภุญไชย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ประติมากรรมเทวดา : สกุลช่างหริภุญไชย (๒)



วิหารวัดเจ็ดยอดมุมตะวันออกเฉียงเหนือ

         ประติมากรรมเทวดาแห่งวัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด เป็นอารามที่อยู่นอกเมืองเชียงใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
         ปัจจุบันเนื่องจากตัวเมืองได้ขยายออกไป วัดนี้จึงกลายเป็นวัดที่อยู่ในตัวเมือง ตามตำนานกล่าวว่าวันหนึ่งพญาติโลกราชได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาโดยพระภิกษุจากลังกา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการปลูกไม้มหาโพธิ์ จึงดำรัสสั่งให้อำมาตย์หาสถานที่อันควร 
         ซึ่งก็ได้ที่แห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำโรหิณี (โรหิณีนที) หรือที่เรียกว่าน้ำแม่ข่า ทรงให้สร้างพระอารามขึ้น และนำเมล็ดมหาโพธิ์จากลังกามาปลูกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๙ พระอารามจึงมีนามว่า “วัดมหาโพธาราม” กล่าวว่าพระองค์ทรงสร้างพระอารามนี้ เพื่อให้เป็นที่พำนักแด่พระอุตตมปัญญาเถระ ภิกษุจากลังกา 
         บางที่เชื่อว่าทรงสร้างเพื่อฉลองพระพุทธศาสนา ครบอายุยี่สิบศตวรรษด้วย นอกจากนี้ยังโปรดให้ตกแต่งปลูกสร้างสถานที่ ๗ แห่ง เรียกว่า สัตตมหาสถานภายในวัด สมมุติให้เป็นเสมือนสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับก่อนเสด็จประกาศพระศาสนา 

         วิหารเจ็ดยอดนั้นเป็นสถานที่สมมุติว่า เป็นที่ทรงประทับตรัสรู้ คือ โพธิบัลลังก์ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายนอกประดับประติมากรรมเทวดาประคองอัญชลี ซึ่งเป็นไปตามคตินิยมที่กล่าวว่า มีเทพชุมนุมนมัสการเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้
         ดังเรื่องราวในพุทธประวัติตอน “ปฐมสมโพธิกถา” กล่าวถึงเทวดามาชุมนุมและมีดอกไม้สวรรค์โปรยลงมา ปูนปั้นดอกไม้ประกอบกับลายประดิษฐ์ ที่เป็นแถบพลิ้วที่ผนังด้านนอกวิหารข้างประติมากรรมเทวดา ทำให้ดูเหมือนเคลื่อนไหวได้ ประดุจถูกโปรยมาจากสวรรค์ 
         ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ได้ทรงให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ กล่าวกันว่าเป็นครั้งที่ ๘ ของโลก เมื่อเสร็จแล้วโปรดให้สร้างหอมณเฑียรธรรมสำหรับไว้พระไตรปิฎก วัดเจ็ดยอดเป็นวัดที่พระเถระสำคัญหลายรูปในสมัยนั้นพำนักอยู่ เช่น พระโพธิรังสีเถระ ผู้รจนาคัมภีร์จามเทวีวงศ์ และสิหิงคนิทาน พระรัตนปัญญเถระ ผู้รจนาชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น 
         พญาติโลกราชเสวยราชสมบัติอยู่ ๔๕ พรรษาจึงเสด็จสู่สวรรคต พระยอดเชียงรายผู้เป็นพระราชนัดดา ซึ่งเสวยราชสมบัติต่อมา ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพญาติโลกราชที่วัดนี้ และได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระอัฐิอังคารธาตุไว้ภายใน


สถูปเจดีย์บรรจุพระอัฐิพญาติโลกราช
         วิหารเจ็ดยอดนี้ น่าจะมีต้นแบบสร้างขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย คือ มหาวิหารที่พุทธคยา ณ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ การสร้างวิหารเช่นนี้ที่วัดมหาโพธาราม ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน โดยสมมุติเป็นสถานที่ทรงตรัสรู้  
         มหาวิหารที่พุทธคยาได้รับการถ่ายแบบไปสร้างยังเมืองต่าง ๆ เช่น ที่พุกาม เรียกว่า “วิหารมหาโพธิ์” โดยทั่วไปในปัจจุบันเชื่อกันว่า วิหารวัดเจ็ดยอดคงถ่ายแบบจากวิหารมหาโพธิ์ที่พุกาม ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ 
         แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า วิหารเจ็ดยอดนั้นจำลองแบบจากพุทธคยาอินเดีย แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยเฉพาะ สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะเชื่อว่า ช่างล้านนาได้ไปลอกแบบมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา โดยกล่าวว่า การศึกษาเปรียบเทียบวิหารวัดเจ็ดยอดกับมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา และพุกาม  
         จึงเชื่อว่าวิหารวัดเจ็ดยอดมีความคล้ายคลึงกับมหาโพธิ์วิหารพุทธคยามากชนิด “ชิ้นต่อชิ้น” แม้แต่เครื่องทรง เครื่องประดับของเทวดา ก็เป็นอย่างรูปเทวดาจำหลักที่พุทธคยา ไม่มีผิด โดยเฉพาะเครื่องทรงที่สำคัญคือ สร้อยมาลัยรอบคอ ธุรำหรือสังวาล รัดพัสตร์หรือรัดองค์ และรัดข้อหรือทองกร



วิหารวัดเจ็ดยอด ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ



วิหารวัดเจ็ดยอด ด้านทิศใต้
         วิหารเจ็ดยอดก่อสร้างด้วยศิลาแลง ด้านหน้าอยู่ทิศตะวันออก ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ 
         ๑. ส่วนฐาน เป็นฐานแบบฐานบัวและหน้ากระดาน ให้ลักษณะโค้งนูน เว้า ลดหลั่นกันไปคล้ายฐานโบสถ์วิหารทั่ว ๆ ไป 
         ๒. ส่วนที่เป็นคูหาก่อด้วยศิลาแลงหลายชั้น เป็นโครงสร้างเพื่อรับน้ำหนักหลังคา ส่วนนี้มีลักษณะคล้ายอุโมงค์มีเพดานโค้ง 
         ๓. ส่วนบนเป็นหลังคาแบบดาดฟ้า มีบันไดเดินขึ้นไปได้ บนหลังคามีองค์ประกอบเป็นเจดีย์ ๗ ยอด ตัวอาคารออกแบบยักเยื้องโดยการย่อมุมและให้มีความสูงลดหลั่นกัน บริเวณด้านหน้าและหลังยกเก็จ (ย่อมุม) ยื่นออกไปทั้ง ๒ ด้าน 
         การออกแบบเช่นนี้ ทำให้ตัวอาคารดูแล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่ใหญ่โตหรือทึบตันนัก นอกจากนี้ผนังด้านนอกได้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนย่อยต่าง ๆ แบ่งตามแนวระนาบโดยมีแนวปูนปั้นโค้งนูนคั่นกลาง (ลูกแก้ว) ทำให้รู้สึกลดความสูงลงได้ 
         ส่วนแนวตั้งก็ได้แบ่งเป็นช่อง ๆ อีกด้วย เสาอิงแปดเหลี่ยมประกบไว้ ทำให้ได้พื้นที่สี่เหลี่ยมเป็นจังหวะ ภายในช่องสี่เหลี่ยมประดับด้วยประติมากรรมเทวดาปูนปั้นนูนสูงช่องละองค์



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงเหนือ
         ผนังด้านนอกตามแนวยาวทั้ง ๒ ด้าน ประดับด้วยประติมากรรมเทวดาในท่านั่งประคองอัญชลี ๒ แถว  ส่วนบริเวณยกเก็จย่อมุมด้านหลัง เป็นเทวดายืนบนฐานดอกบัวประคองอัญชลีช่องละองค์คั่นด้วยเสาอิง เนื่องจากอยู่ตรงย่อมุมจึงยืนตั้งฉากกัน 
         เนื่องจากช่องบริเวณนี้สูงแคบ การใช้เทวดายืนจึงเหมาะสมกับเนื้อที่ ผนังด้านหน้าชำรุดมาก แต่พอจะเห็นร่องรอยว่ามีประติมากรรมปูนปั้นเทวดาท่ายืนอยู่ ส่วนผนังด้านหลังชำรุดเช่นกัน แต่มีส่วนของของประติมากรรมเหลืออยู่ บ่งบอกว่าเป็นเทวดาในท่ายืนเอียงตัวเล็กน้อยในท่าเทพลีลา 
         แสดงอิริยาบถของการก้าวพระบาทและหันพระพักตร์ไปสู่คูหาด้านละรูป พระหัตถ์ถือช่อดอกไม้ไม่ใช่การประนมหัตถ์ ให้ความหมายถึงการนำช่อดอกไม้มาบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งภายในคูหาด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ ๑ องค์ 
         ประติมากรรมที่ผนังด้านด้านหน้านั้นชำรุด ที่ยังเหลือ ๑ องค์บริเวณผนังย่อมุมซีกขวาของวิหาร เป็นเทวดานั่งมิได้พนมกร แต่ชูพระหัตถ์ขวาพับขึ้นเหมือนกับการถือช่อดอกไม้ เช่น ประติมากรรมที่วัดพระสิงห์ฯ เนื่องจากเป็นประติมากรรมนูนสูงเกือบลอยตัว และมีขนาดใหญ่ 
         บางองค์ใหญ่กว่าตัวคน ช่างจึงสกัดผนังศิลาแลงแล้วฝังอิฐเป็นโกลนเพื่อยึดเหนี่ยวให้ประติมากรรมติดผนังได้ดี ประติมากรรมเทวดามีทั้งหมด ๗๐ รูป ยืน ๒๖ และนั่ง ๔๔ รูป เทวดายืนมีขนาดสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ส่วนเทวดานั่งมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่หน้าตักกว้างประมาณ ๑.๒๕ เมตร ขนาดเล็กหน้าตักกว้างประมาณ ๑.๐๕ เมตร



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงเหนือแถวล่าง



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงเหนือแถวบน



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงใต้แถวบน



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงใต้แถวล่าง



ประติมากรรมเทวดา บริเวณย่อเก็จตะวันตกเฉียงใต้แถวบน
         ประติมากรรมเทวดาแห่งวัดเจ็ดยอดนี้ ทั้งที่ยืนและนั่งจะมีลักษณะในเรื่องมุทราหรือทิพย์กริยา ภังคะหรืออิริยาบถ และคุณะหรือคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสวยงาม กล่าวคือ เทวดาที่ยืนจะอยู่ในท่าดูสบาย ๆ มีอิริยาบถคล้าย ๆ กันเกือบแยกกันไม่ออก แต่อาจแบ่งได้ ๓ อิริยาบถ คือ 
         ๑. ยืนให้ลำตัวเหมือนพิงกับผนังตรง ๆ
         ๒. หมุนพระบาททั้ง ๒ เอียงไปข้างหนึ่งเล็กน้อย พร้อมกับเอี้ยวตะโพก และเอียงไหล่และหน้าให้อ่อนช้อยเล็กน้อย
         ๓. ยืนโดยหมุนลำตัวเอียงออกจากผนังเล็กน้อย พร้อมกับหันหน้าตรงแต่เอียงพระเศียร และบิดเอี้ยวพระเศียรและพระองค์เล็กน้อย และเห็นพระบาทไปข้างหนึ่งเล็กน้อยเช่นกัน ส่วนมือนั้นอยู่ในท่าประนม นับเป็นอริยบทที่ค่อนข้างไปทางนาฏลีลาที่อ่อนช้อย
         นอกจากจะสง่างามแล้วยังให้ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวาอีกด้วย สำหรับที่เป็นองค์นั่งก็มีลักษณะคล้ายกับท่ายืนดังกล่าวเช่นกัน ท่านั่งนั้นมีทั้งขัดสมาธิราบธรรมดาและขัดสมาธิเพชร คือ เท้าขัดกัน และเห็นฝ่าเท้าหงายขึ้นทั้ง ๒ ข้าง
         องค์ประกอบและการจัดวางประติมากรรมเทวดา ในแต่ละช่องของผนังนั้นให้ลักษณะของการจัดองค์ประกอบแบบซ้ำ ๆ กัน แต่ในรายละเอียดรูปพระพักตร์รวมทั้งอารมณ์ที่แสดงออก อาภรณ์และเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ ไม่ซ้ำแบบกันเลย 
         ทำให้เกิดความงามน่าชมไม่น่าเบื่อ นับเป็นรูปแบบของศิลปกรรมที่สูงเด่นของล้านนา นอกจากนี้นายช่างยังได้ออกแบบให้ผนังที่เป็นฉากหลังของเทวดา ไม่มีช่องว่างจนเกินไป โดยให้ภูษาทรงของเทวดาพลิ้วคลี่ขยาย ไปรับกับลายปูนปั้นช่อดอกไม้ ใบไม้แบบต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ได้จังหวะพอดี 
         ช่อดอกไม้บางตำแหน่งปั้นลอยตัวจากผนัง กลีบดอกคลี่บานใบไม้พลิกพลิ้วเลียนแบบธรรมชาติ เป็นลายพันธุ์พฤกษาชนิดเครือเถา ประกอบกับมีลายประดิษฐ์ที่เป็นแถบพลิ้วอยู่ด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผนังดูไม่เรียบจนเกินไป และยังช่วยขับให้องค์เทวดาเด่นขึ้น 
         ดอกไม้มีขนาดต่าง ๆ กลีบชั้นเดียวและกลีบซ้อน ๒ ชั้นเป็นกลีบเล็กและกลีบใหญ่ นอกจากนี้ยังปั้นแต่งจากมุมมองต่าง ๆ เช่น มุมมองจากด้านบนแสดงให้เห็นการเรียงซ้อนของกลีบดอกและเกสรอยู่ตรงกลาง มุมมองจากด้านข้างแสดงรูปทรงและกลีบดอกทางด้านข้าง 
         นับเป็นการนำเค้าโครงจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ให้งดงาม ช่อดอกไม้เหล่านี้เมื่อรวมกับแถบลายประดิษฐ์ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยนั้น ทำให้เกิดลีลาการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี เสมือนถูกโปรยลงมาเป็นทิพย์มาลีจากสรวงสวรรค์ดังกล่าวแล้ว



ประติมากรรมเทวดาประดับผนังวิหารด้านเหนือ



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังวิหารด้านเหนือ



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังวิหารด้านเหนือ



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังวิหารด้านเหนือ



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังวิหารด้านเหนือ



ประติมากรรมเทวดาประดับผนังด้านใต้



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังด้านใต้



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังด้านใต้



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังด้านใต้



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังด้านใต้



ประติมากรรมเทวดานั่งประดับผนังด้านใต้
         ลายประดับนี้อาจแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะจีนที่แพร่สู่ล้านนา ลายปูนปั้นพันธุ์พฤกษาเหล่านี้ได้รับการออกแบบอย่างอิสระและไม่ซ้ำกัน ปรากฏว่ามีแห่งเดียวที่วัดเจ็ดยอด   
         เสาอิงที่คั่นแบ่งช่องผนังด้านนอกนั้น มีหยักเว้าเป็นขั้น ๆ ที่ช่วงปลาย ส่วนตัวเสาช่วงล่างจะปั้นพอกนูนออก กล่าวว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปาละ เสาลักษณะนี้ที่ร่วมสมัยกัน พบที่เจดีย์รายรอบพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ลพบุรี เป็นต้น 
         หากจะพิจารณาที่รูปประติมากรรมเทวดาในรายละเอียด หรือแต่ละส่วนแล้วจะพบว่ามีความงามที่ลึกซึ้ง พระพักตร์ของเทวดาแต่ละรูปมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ยาวรีเป็นรูปไข่และอิ่มอูม ซึ่งมีลักษณะคล้ายศิลปะสุโขทัย 
         พระนลาฏมลกลม บางรูปมีไรพระศกเป็นรูปเม็ดไข่ปลา คือ ลักษณะกลมแต่ยาวรีเรียงเป็นแนวใต้ขอบชฎา บางรูปไม่มีเส้นไรพระศก แต่ปรากฏเป็นเม็ดพระศกเรียงเป็นแถวใต้ขอบชฎา เลยพระเนตรของประติมากรรมกลมโต ลืมพระเนตรกว้างพอประมาณ พระขนงโก่งพองามแต่งเป็นเส้นคมชัด 
         ส่วนพระนาสิกโด่งเป็นเส้นคมชัดได้ส่วน พระโอษฐ์แย้มพระสรวลเล็กน้อย มีเส้นบางเป็นกรอบริมพระโอษฐ์ พระกรรณยาว บางรูปยังมีกุณฑลปรากฏอยู่ พระหนุ (คาง) ปั้นยื่นนูนลักษณะกลมพองาม พระศอกลมมีความยาวพอประมาณ มีเส้นขีดรอบพระศอ ๒ เส้น ทำให้พระศอปรากฏเป็นลอนเล็กน้อยพองาม 
         พระวรกายและส่วนต่าง ๆ อิ่มสมบูรณ์ได้ส่วน กลมเกลี้ยงเข้ารูปทรง รับได้ดีกับพระพักตร์
****************************
ข้อมูลอ้างอิง : เฉลียว ปิยะชน ประติมากรรมเทวดาและกินร แห่งล้านนา หจก.สยามรัตน พริ้นติ้ง เชียงใหม่ ๒๕๔๐ หน้า ๔๙-๕๖

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=204630

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

blackpepper 23 ก.พ. 53 เวลา 13:05 น. 1
Renaissance Wedding Dresses Sexy Red Dress Show Informal Wedding Dresses For Outdoors Spring Or Summer Dresses For Girls Stunning Evening Dresses Wedding Dress Pattern Women S Spring Dresses Worst Prom Dresses Juniors Dresses Chiffon Dresses Pageant Dress Wedding Dress Designers Brocade Wedding Dresses Vera Wang Color Wedding Dresses Design Dresses Online Dress Designs Evening Formal Dresses Girls Wholesale Party Dresses Gothic Wedding Dress Pakistani Wedding Dresses Perfect Little Black Dress Petite Evening Dresses Plus Size Bridesmaid Dress Plus Size Casual Wedding Dresses Very Informal Wedding Dress Womens Dress Suits Unique Prom Dresses Black Wedding Dresses Cheap Prom Dress Floral Summer Dress Junior tail Dresses Online Shopping Bridesmaid Dresses Plus Size Flapper Dress Short Prom Dress Tunic Dress Uk Wedding Dresses Wedding Guest Dresses Women'S Summer Dresses Baby Girl Easter Dresses Celebrity Inspired Prom Dresses Celebrity Knockoff Dresses Celebrity Red Carpet Dresses Corset Style Dress Mermaid Wedding Dresses Prom Dress Catalog Romantic Wedding Dresses Sexy Black Dress Short Black Dresses Women'S Plus Size Dresses Girls Formal Dresses African Wedding Dresses Beautiful Wedding Dresses Camo Prom Dresses Cheap Bridesmaids Dresses Children S Fancy Easter Dresses Cute Summer Dresses Fancy Dress Party Formal Evening Gown Dress Girls First Communion Dresses Grecian Style Wedding Dress Uk Hot Pink Dresses Inexpensive Flower Girls Dresses Prom Dress Stores Sexy Summer Dresses Strapless Wedding Dresses Tube Top Dress Used Prom Dresses Plus Size Womens Dresses Infant Pageant Dresses Baby Pageant Dresses Beautiful Dresses Casual Dress Dress For Mother Of Bride And Groom Dresses To Wear To Weddings Empire Waist Dresses Fancy Dress Shops Garden Party Dresses Irish Wedding Dresses Jacket Dresses Junior Dresses Online Ladies Dress Suits Mens Dress Pants Orange Prom Dresses Petite Prom Dresses Pink Wedding Dress Rent A Wedding Dress Simplicity Dress Patterns Womens Evening Dresses Bohemian Wedding Dresses Bridemaid Dresses Celebrity Dress Knockoffs Childrens Pageant Dresses Evening Dress Patterns Free Medieval Dress Patterns Junior Party Dresses Leather Corset Dress Petite tail Dresses Plus Size Formal Dress Plus Size Mother Of The Bride Dress Prom Dresses In New York City
ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ
0
Neen 23 ก.พ. 53 เวลา 13:24 น. 2

อันนี้ก็พึ่งสอบไป วันนี้เลย วิชา ศิลปะในประเทศไทย

...ไม่มีสกุลช่างหริภุญไชย นะค่ะ
มีแต่ศิลปะอาณาจักร(สมัย)หริภุญชัยค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ

0