Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[ขอต้อนรับจามจุรีต้นใหม่] คำพูดยอดฮิต ติดปากเด็กจุฬาฯ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


ยินดีกับน้อง ๆ ทุกคนด้วยนะครับ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมชาวจุฬาฯ


พี่ก็เลยลองรวบรวมคำพูดยอดฮิต ติดปากเด็กจุฬาฯมาให้น้อง ๆ ชิมกันก่อนดีกว่า เวลาได้ยินจะได้ไม่งง


ควรจะแอบดีใจไหมเนี่ย ว่าเรามีภาษาของเราเอง ฮาฮา


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 พฤษภาคม 2553 / 19:16
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 9 พฤษภาคม 2553 / 20:21

แสดงความคิดเห็น

>

18 ความคิดเห็น

น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:16 น. 1


สนามจุ๊บ


สนามจุ๊บ มีชื่อเต็มว่า สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์ คือสนามกีฬาขนาดมาตรฐาน ส่วนของสนามฟุตบอลทำด้วยหญ้าสังเคราะห์ซึ่งเป็นสนามกีฬาแห่งแรกของประเทศที่ใช้ระบบนี้ และมีลู่วิ่งล้อมรอบ อยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยฝั่งสามย่าน ใต้อัฒจรรย์จะเต็มไปด้วยชมรมกีฬาต่าง ๆ


สันนิษฐานว่าคำว่า "สนามจุ๊บ" มาจากคำว่า "สนามจุฬาฯ" นั้นเอง แล้วแผลงเป็น จุ ๆ จุ๊บ ๆ กันไป


อีกที่มาหนึ่งสันนิษฐานว่าแผลงมาจากชื่อเดิมคือ "สนามกีฬาจารุเสถียร" แล้วแผลงจาก จารุ เป็น จุ๊บ นั้นเอง บ้างก็ว่า "จุ๊บ" คือชื่อเล่นของท่านประภาส จารุเสถียรนั้นเอง


บ้างก็ว่าเรียกสนามจุ๊บให้คล้องกับสนามศุภฯซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ห่างกันมากนัก


ในอดีตสนามจุ๊บเคยเป็นที่ประกาศผลเอนทรานซ์ ต่อมาย้ายไปจัดงานดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จนในปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานนี้เองในรูปแบบของงาน CU First Date







(C) Copyright by NongTee
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:17 น. 2


รถป๊อป


รถป๊อป หรือ รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อเรียกว่ารถป๊อปมาช้านาน น้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ก็จะเริ่มไม่ค่อยทันที่มาขอรถป๊อปกันแล้ว เนื่องจากรถป๊อปมีพัฒนาการแตกต่างไปจากรูปแบบเดิม ๆ มาก แต่ยังนิยมเรียกกันว่า "รถป๊อป" อยู่


รถป๊อปแต่เดิมเริ่มจากการเป็นรถ ปอพ (รถเมล์ปรับอากาศพิเศษ หรือ ปอ-ออ-พอ) วิ่งภายในมหาวิทยาลัยผ่านอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและบริเวณโดยรอบแทบทุกอาคาร ซึ่งการเป็นรถ ปอพ นี้แหละเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า "รถป๊อป" นั้นเอง (ปอพ อ่านแผลง ๆ ได้ว่า ป๊อป)

แต่เดิมมีด้วยกันสองสาย สาย1จะเดินรถจากศาลาพระเกี้ยวไปยังสยามแล้ววิ่งกลับมาภายในจุฬาฯใหญ่ ส่วนสาย2จะวิ่งจากศาลาพระเกี้ยวข้ามไปยังฝั่งหอกลางแล้ววิ่งรอบกลับมายังจุฬาฯใหญ่ ต่อมามีการขยายเส้นทางการเดินรถเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 สาย การจัดสายการเดินรถจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการใช้บริการการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยขอบแต่ละปี มีการปรับเปลียนอยู่เป็นระยะให้เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้บริการของอาจารย์ นิสิต และบุคลากรจุฬาฯ







รถป๊อปมีท่าการเดินรถใหญ่อยู่ที่หน้าศาลาพระเกี้ยว ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากรถ ปอพ มาเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับนโยบาย Green Campus โดยมีตัวถังรถสีชมพูเด่นเป็นเอกลักษณ์


(C) Copyright by NongTee


0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:18 น. 3


จุฬาฯใหญ่


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอาณาบริเวณครอบคลุมสองฝากฝั่งถนนพญาไท ตั้งแต่แยกปทุมวันไปยังถนนพระราม 4 


จุฬาฯใหญ่หมายถึงจุฬาฯฝั่งพระบรมรูปสองรัชกาลซึ่งเป็นส่วนเก่าแก่ของมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของคณะก่อตั้ง เป็นที่ตั้งของอาคารสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาฯมากมาย เช่น พระบรมรูปสองรัชกาล หอประชุม อาคารคณะอักษรศาสตร์(เทวาลัย) สระน้ำจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว 


จุฬาฯใหญ่เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมและการจัดงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นบริเวณที่มีการเรียนการสอนอย่างหนาแน่น จึงมีนิสิตใช้ชีวิตเล่าเรียนศึกษาในจุฬาฯใหญ่กันเป็นจำนวนมาก



แผนที่จุฬาฯใหญ่






บรรยากาศภายในจุฬาฯใหญ่


(C) Copyright by NongTee

0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:18 น. 4

พระรูป


พระรูป เป็นคำเรียกย่อ ๆ ของพระบรมรูปสองรัชกาลอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาคมชาวจุฬาฯ บ่อยครั้งจะนิยมเรียกฝั่งจุฬาฯใหญ่ว่าฝั่งพระรูป อันเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงบริเวณใดของมหาวิทยาลัย






(C) Copyright by NongTee


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 พฤษภาคม 2553 / 19:22
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:19 น. 5

หอกลาง


หอกลาง เป็นคำเรียกย่อ ๆ ของหอ(สมุด)กลาง ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า สถาบันวิทยบริการ แต่นิสิตจุฬาฯนิยมเรียกว่าหอกลางมาช้านาน จุฬาฯฝั่งตรงข้ามกับฝั่งจุฬาฯใหญ่จึงถูกเรียกว่าฝั่งหอกลางอยู่บ่อยครั้ง อันเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าหมายถึงบริเวณใดของมหาวิทยาลัยเช่นกัน


บางครั้ง ทางมหาวิทยาลัยอาจจะเรียกฝั่งนี้ว่า ฝั่งสำนักงานมหาวิทยาลัยก็มีบ้าง เพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี และกลุ่มอาคารหน่วยงานมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่




อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ ที่ตั้งของสำนักวิทยบริการ หรือ หอสมุดกลาง


(C) Copyright by NongTee


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 พฤษภาคม 2553 / 19:24
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:27 น. 6


เทวาลัย




เทวาลัย หมายถึง อาคารคณะอักษรศาสตร์1-2 หรือชื่ออาคารทางการว่าอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาธีรราช อาคารมหาจุฬาลงกรณ์เป็นอาคารหลังแรกของจุฬาฯ เดิมใช้เป็นอาคารบัญชาการ(ในปัจจุบันหมายถึงสำนักอธิการบดี) สถาปัตยกรรมของอาคารเป็นอาคารทรงขอมประยุกต์ ออกแบบโดยชาวยุโรปในสมัยนั้น 


ปัจจุบันอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ไม่ได้ใช้ในการเรียนการสอนใด ๆ แล้ว หากแต่อนุรักษ์ไว้หรือใช้ในการจัดงานสำคัญ ๆ ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนอาคารมหาธีรราชยังคงใช้เป็นที่ทำการคณะอักษรศาสตร์และห้องสมุดเฉพาะทางมนุษยศาสตร์


(C) Copyright by NongTee
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:32 น. 7

ซีมะโด่ง


ซีมะโด่ง หมายถึง หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือหอใน ซีมะโด่งคำนี้เป็นคำที่มีที่มา ส่วนจะมีที่มาอย่างใดลองแอบกระซิบถามพี่ ๆ หอในดูนะครับ ซึ่งพี่ ๆ หอในก็ได้กระซิบกลับมาว่า "ซีมะโด่ง" เป็นชื่อที่นิสิตหอในรุ่นแรกได้ตั้งไว้ มาจากภาษาเขมร แปลว่า กลับมากินกันอีกครั้งหนึ่ง ครับ






ซุ้มนั่งเล่นภายในหอใน พร้อมบรรยากาศวันรับปริญญา


(C) Copyright by NongTee

0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:36 น. 8


บ้าน


บ้าน ย่อมาจาก บ้านรับน้อง หมายถึง กลุ่ม แก๊ง ก๊วน ก้อน ที่รวมตัวกันเพื่อมาต้อนรับน้องใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การรวมตัวของบ้านรับน้องแต่ละบ้านจะมาจากชมรม โต๊ะ หรือการรวมกลุ่มคนรู้จักกันเองจากนิสิตคณะต่าง ๆ ภายในจุฬาฯตามความสมัครใจ 


คำว่า "ทำบ้าน" จึงหมายถึง การจัดกิจกรรมรับน้องแบบบ้านรับน้อง หรือ การทำบ้านรับน้องนั้นเอง ส่วนคำว่า "รับน้องบ้าน" ก็จะหมายถึงกิจกรรมบ้านรับน้อง


แต่ละบ้านจะมี "พ่อบ้าน" และ "แม่บ้าน" เป็นหัวหน้าหลักในการเตรียมการรับน้องบ้าน ซึ่งจะเป็นชายหนึ่งคนเรียกว่า "พ่อบ้าน" หญิงอีกหนึ่งคนเรียกว่า "แม่บ้าน"
ส่วนรุ่นพี่ที่คอยดูแลน้อง ๆ จะเรียกว่า "พี่บ้าน" น้องใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเรียกว่า "น้องบ้าน" แกนสันทนาการก็จะถูกเรียกย่อ ๆ ว่า "แกนสัน" และเพลงเด่นประจำบ้านจะถูกเรียกว่า "บูมบ้าน"


ในขณะที่พี่ ๆ ทีมงานจัดงานก็จะมีชื่อเรียกกับเขาด้วยเช่นกัน รุ่นพี่จากองค์การบริหารสโมสรนิสิต(อบจ.)ที่ทำหน้าที่ประสานงานและดูแลแต่ละบ้านอีกทีหนึ่งก็จะเรียกว่า "ประสานบ้าน" หลาย ๆ บ้านรวมกันก็จะเป็นหนึ่งเมือง ซึ่งก็จะมีพี่ "ประสานเมือง" เป็นคนดูแลในแต่ละเมืองครับ ส่วนรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่ประสานงานกลางและดูแลความเรียบร้อยทั่วไปก็จะเรียกว่า "ประสานยู" ซึ่ง ยู มาจากคำว่า university นั้นเอง


บ้านรับน้องเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2534 ในสมัยนั้นมีบ้านรับน้องเพียง 2 หลังเท่านั้น บ้านหลังแรกของจุฬาฯในสมัยนั้นเกิดจากการรวมกลุ่มของแผนกเชียร์และแปรอักษร(หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่าชมรมเชียร์)ยังคงดำเนินการรับน้องต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2553 นี้ใช้ชื่อบ้านรับน้องว่าบ้านโจ๋


บ้านรับน้องหลาย ๆ บ้านที่เป็นบ้านเก่าแก่ก็จะพอมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมของเหล่าน้องใหม่ ผ่านการบอกต่อจากพี่ ๆ แต่ละรุ่น เช่น บ้านเอช้วน บ้านยิ้ม บ้านแรง บ้านแป๊ะ บ้านคุ้ม บ้านโซ๊ยตี๋หลีหมวย บ้านพ่อ บ้านพี่ขาดคนหุงข้าว บ้านไหน บ้านเปรี้ยว ฯลฯ 


ชื่อบ้านบางหลังอาจจะมีความหมายแฝงจากการเลียนเสียงหรือผวนคำเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานก็เป็นได้ เช่น บ้านดอก(ทะลอ) บ้านคุ้ม(เต็มซวย) บ้านจัดสันฯ(เลียนเสียงจากบ้านจัดสรร ซึ่งจะได้ทั้งความหมายของบ้านจัดสรร และบ้านจัดสันทนาการ) บ้านแป๊ะ(ฉิ)หรือแป๊ะ(ถูกคิ) หรือเป็นคำล้อเลียน เช่น บ้านไหน(สร้างความมึนงงเวลามีการถามชื่อบ้านที่สังกัดกัน)


บางบ้านอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อไปมาเป็นประจำทุกปีเพื่อเปลี่ยนรูปแบบ(theme)ในการรับน้อง ปัจจุบันมีบ้านรับน้องประมาณ 40-50 หลังด้วยกัน ในแต่ละปีอาจมีบ้านหลังใหม่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของรุ่นพี่ที่อาสามาต้อนรับดูแลน้องใหม่ของพวกเขา


การรับน้องก้าวใหม่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการรับน้องที่สร้างสรรค์ที่สุด พี่ ๆ จะปฏิบัติต่อน้องด้วยความเอ็นดูตลอดการจัดงาน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติร่วมกันที่มีมาแต่ช้านาน ใครพลาดงานนี้ถือได้ว่าเสียดายที่สุดในชีวิตเฟรชชี่ และนิสิตจุฬาฯส่วนใหญ่ก็มักจะภูมิใจที่ตนเองมีบ้านสังกัดและสามารถบอกได้ว่าตนอยู่บ้านไหนเมื่อถูกถามไถ่

รับน้อง, จุฬา, กิจกรรมรับน้อง, รับน้องใหม่, เฟรชชี่


(C) Copyright by NongTee

0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:38 น. 9


ใบส้ม


ใบส้มจะได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเปิดภาคเรียนของแต่ละเทอม เนื่องจากใบส้มเป็นใบแสดงความจำนงขอเพิ่มจำนวนนิสิตในการลงทะเบียนในรายวิชานั้น ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น มีความจำเป็นต้องลงเรียนรายวิชานี้ก่อนสำเร็จการศึกษา หรือขอลงทะเบียนหลังจากที่รับจำนวนนิสิตเต็มแล้วในรายวิชานั้น ๆ เนื่องจากใบแสดงความจำนงนี้มีสีส้ม เด็กจุฬาฯจึงนิยมเรียกว่าใบส้มตามลักษณะของใบส้มนั้นเอง


จีฉ่อย


จีฉ่อย ร้านขายของชำอันเลื่องชื่อที่ไม่มีเด็กจุฬาฯคนไหนไม่รู้จัก ร้านจีฉ่อยตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เชิงพาณิชย์สามย่าน ริมถนนพญาไทใกล้ ๆ กับคณะนิติศาสตร์ หรือตรงข้ามกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
เอกลักษณ์เฉพาะของร้านจีฉ่อยคือการมีสินค้าจำหน่ายครบทุกสิ่งที่คุณต้องการ มีทุกอย่างที่หาซื้อที่อื่นไม่ได้ หากลองไปสั่งราดหน้าที่ร้านจีฉ่อย ป้าเจ้าของร้านก็จะบอกให้รอสัก 20 นาทีแล้วเดินไปสั่งราดหน้าจากร้านอื่นมาให้ หรือแม้กระทั่งใบส้มป้าแกก็มีขายได้อย่างน่าทึ่ง จึงมีเด็กจุฬาฯนิยมไปท้าทายหาซื้อของแปลก ๆ จากร้านจีฉ่อยกันอยู่บ่อย ๆ 






จีฉ่อยมีสภาพร้านที่คับแคบแออัดมาก เนื่องจากจัดเก็บสินค้าไว้รอจำหน่ายหลายประเภทภายในพื้นที่เพียงคูหาเดียว ความสามารถในการค้นหาสินค้าที่บีบอัดซ้อนทับกันของป้าเจ้าของร้านก็ทำให้ลูกค้าหลายคนถึงกับอึ้งได้อีก


ปัจจุบันนี้จีฉ่อยได้กลายเป็นตำนานไปแล้วนะครับ เนื่องจากพื้นที่บริเวณร้านจีฉ่อยกำลังจะกลายสภาพไปเป็นสามย่าน พลาซ่า น้องคงจะไม่ได้เห็นร้านจีฉ่อยจริง ๆ ซะแล้วสิ เหลือเพียงแต่คำว่า "จีฉ่อย" ที่รุ่นพี่เขาพุดถึงกัน ช่วงนี้ใครผ่านไปผ่านมาแถวนั้นก็จะเห็นว่ามีการทุบตึกและปรับพื้นที่บริเวณนั้นใหม่หมดเลยครับ


(C) Copyright by NongTee

0
guyyard 9 พ.ค. 53 เวลา 19:39 น. 10

เข้ามาดูว่ามีคำพูดยอดฮิตด้วยหรอ...

อืม...เราก็อยู่จุฬาฯน่ะ

แต่พูดคำอื่นมากกว่า 555

อันนี้น่าจะเรียกว่าคำเฉพาะ หรือ คำย่อ ในการเรียกสถานที่ในจุฬาฯมากกว่า

555 เข้ามาแซวชื่อกระทู้ แหม ถ้าเป็นของเราคำฮิตติดปากคงเป็น
"สายแล้ว" "สยามมมม" "กลับบ้าน" ฯลฯ

ยินดีกับน้องๆทุกคนด้วยจ๊ะ

0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:40 น. 11


CU Time


CU Time (อ่านว่า ซี-ยู-ทาม) หมายถึง พฤติกรรมการจัดงาน การมาไม่ตรงเวลานัด การเลื่อนเวลานัดในกิจกรรมใด ๆ การมาสาย


ซึ่งที่มาของคำว่า CU Time ไม่มีที่มาอย่างชัดเจน อาจจะเป็นไปได้ว่าที่ตั้งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในกลางกรุงเทพฯ มีการเดินทางที่เต็มไปด้วยจราจรติดขัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้การเดินทางมามหาวิทยาลัยในสมัยก่อนอาจจะล่าช้า ไม่ตรงเวลา หรือผิดนัดอยู่บ่อยครั้ง


ปัจจุบันการใช้คำว่า CU Time นิยมใช้ลดลงเรื่อย  ๆ



ลุงฟรุตตี้


ลุงฟรุตตี้ หรือ ลุงฟรุต เป็นชื่อเรียกขานของลุงคนหนึ่งที่ขับมอเตอร์ไซต์มาขายผลไม้ให้กับพวกเราอยู่เป็นประจำ ชื่อเรียกของลุงฟรุตตี้ก็มาจากสินค้าที่ลุงเขาขายนั้นแหละ ผลไม้ของเขาได้รับความนิยมจากเด็กจุฬาฯกันอย่างเนื่องแน่น เนื่องจากผลไม้เย็น ๆ สดใหม่ แกะเมล็ดพร้อมบริการที่ประทับใจขับมอเตอร์ไซค์วิ่งขายอยู่ทั่วจุฬาฯเป็นที่พึ่งพิงให้กับเด็กกิจกรรมที่ทำงานกันดึก ๆ ดื่น ๆ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลงานฟุตบอลประเพณี ลุงฟรุตตี้ก็นิยมใส่เสื้อบอลตามเทศกาลด้วยเช่นกัน


จากการสอบถามจากลุงฟรุต แกก็บอกว่าแกเป็นทายาทรุ่นที่ 2 นะครับ ก่อนหน้านั้นคุณพ่อชื่อว่าเทียนมี่ ก็เคยทำผลไม้เลิศรสขี่มอไซค์มาทั่วจุฬาฯแบบนี้เช่นกัน แกรับช่วงต่อเฉย ๆ ครับ









(C) Copyright by NongTee
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:42 น. 12


กองเชียร์ปีศาจ / หลีดปีศาจ


หลีดปีศาจใช้เรียกกองเชียร์สร้างสรรค์ที่รวมตัวกันมาสร้างสีสันความคึกคักให้กับงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในปีต่าง ๆ ซึ่งจะมีการสร้างสีสันกันอย่างโดดเด่น ใช้สีร้อนแรง และการแสดงที่เร่าร้อนเพื่อดึงดูดใจผู้ชม





(C) Copyright by NongTee



0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:43 น. 13


โต้ชี่


โต้ชี่ ย่อมาจาก โต้(วาทีเฟรช)ชี่ อันหมายถึงกิจกรรมโต้วาทีที่พี่ ๆ จัดให้กับน้องใหม่ทุกคณะเป็นประจำทุกปี โดยมีชมรมวาทศิลป์เป็นเจ้าภาพจัดงาน




เอช้วน


เอช้วน มีความหมายสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ว่า เอชัวร์ล้วน ๆ หมายความว่า การได้เกรด A ทุกรายวิชา รุ่นพี่มักจะอวยพรให้น้อง ๆ ว่า "ขอให้ได้เอช้วน" นั้นก็หมายความว่า "ขอให้น้องได้เอล้วน ๆ นั้นเอง"


(C) Copyright by NongTee

0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:44 น. 14


สามแยกป-า-ก-ห-ม-า


สามแยกป-า-ก-ห-ม-า คือ ชื่อเรียกสามแยกทางเข้าด้านข้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตรงอาคารภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือด้านสระว่ายน้ำนั้นเอง เหตุที่เรียกว่า "สามแยกป-า-ก-ห-ม-า" เนื่องจากสมัยก่อนจะเป็นที่ ๆ หนุ่ม ๆ ชอบมานั่งแซวสาว ๆ กันอยู่บ่อย ๆ 


ในทุกปีสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จะจัดงานเปิดสามแยกขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี กิจกรรมดังกล่าวจะมีการรวมตัวของหนุ่ม ๆ คณะวิศวกรรมศาสตร์มาชมเชยและเชยชมสาว ๆ ที่เดินผ่านไปผ่านมาในบริเวณนั้น หากพบใครที่ถูกใจหรือสาวคนใดน่ารักได้ใจก็จะได้รับดอกกุหลาบแดงจากหนุ่ม ๆ ไป สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับพวกเราชาวจุฬาฯอยู่เรื่อยมา


ปัจจุบันคำดังกล่าวนี้ไม่ค่อยมีใช้นิยมใช้กันแล้ว หากแต่กิจกรรมเปิดสามแยกป-า-ก-ห-ม-าก็ยังคงมีอยู่



ไฮโซสตรีท


ไฮโซสตรีท คำนี้เป็นคำที่ริเริ่มมีการใช้กันแต่ยังไม่แพร่หลาย  


ไฮโซสตรีท หมายถึง ถนนสายสั้น  ๆ ในจุฬาฯใหญ่ที่เชื่อมระหว่างถนนพญาไทกับถนนอังรีดูนังค์ การจัดพื้นที่ตั้งคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพ พื้นที่บริเวณไฮโซสตรีทเป็นพื้นที่สังคมศาสตร์ บริเวณสองฝากของถนนสายนี้จะเป็นที่ตั้งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งนั้นก็คือนัยสำคัญและที่มาของการเรียกชื่อถนนนี้ว่าไฮโซสตรีทนั้นเอง


คณะรัฐศาสตร์เป็น 1 ใน 4 คณะก่อตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีที่ทำการอยู่บริเวณนี้มาช้านาน ต่อมาเมื่อแผนกวิชาการบัญชีและแผนกวิชาพาณิชยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ได้รับการสถาปนาเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จึงได้ที่ตั้งคณะบริเวณสามย่าน ในสมัยนั้นเปิดสอนสาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาพาณิชยศาสตร์ และสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์


ต่อมาสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีได้รวมกับสาขาวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน 3 คณะนี้จึงมีที่ตั้งคณะอยู่บริเวณเดียวกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา





หมายเลข 67 แสดง สามแยกป-า-ก-ห-ม-า
เส้นสีเขียวแสดง ไฮโซสตรีท
อาคารสีส้มแสดง กลุ่มคณะ สถาบัน และอาคารเรียนสังคมศาสตร์ ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
อาคารสีน้ำเงินแสดง กลุ่มคณะ สถาบัน และอาคารเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
อาคารสีแดงแสดง กลุ่มคณะ สถาบัน และอาคารเรียนมนุษยศาสตร์ ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์

(C) Copyright by NongTee
0
น้องตี๋ 9 พ.ค. 53 เวลา 19:44 น. 15


อาร์ทสตรีท


น่าจะเป็นของคู่กันได้นะ


อาร์ทสตรีท หมายถึง ถนนสายสั้น  ๆ ในจุฬาฯใหญ่ที่เชื่อมระหว่างถนนพญาไทกับถนนอังรีดูนังค์เช่นกัน แต่จะเป็นถนนที่อยู่บริเวณพื้นที่กลุ่มมนุษยศาสตร์


ตั้งแต่หัวถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยมาก็จะพบกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทางซ้ายมือ ถัดจากนั้นจะเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ ตึกติสไม่เหมือนใครด้วยแม่สีทั้งสาม และเป็นบริเวณคณะอักษรศาสตร์ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าอาร์ทสตรีทได้อย่างไรกันเนอะ





เส้นสีชมพู แสดง อาร์ทสตรีท
หมายเลข 57A คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
หมายเลข 60A คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์
หมายเลข 63 คือ คณะอักษรศาสตร์
หมายเลข 61 คือ อาคารบรมราชกุมารี หรือที่นิยมเรียกติดปากว่าตึกบรมฯ เป็นอาคารเรียนรวมกลุ่มมนุษยศาสตร์ทรงไทยประยุกต์ และเป็นที่ทำการบางส่วนของคณะอักษรศาสตร์ รวมถึงห้องปฏิบัติการของคณะศิลปกรรมศาสตร์ด้วย
หมายเลข 62 คือ อาคารมหาจักรีสิรินธร เดิมเป็นอาคารอักษรศาสตร์4 และโรงอาหาร ปัจจุบันก่อสร้างอาคารใหม่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนคณะอักษรศาสตร์


(C) Copyright by NongTee

0
-*Ssakura....chun*- 9 พ.ค. 53 เวลา 20:31 น. 16

ขอบคุณค่ะ ยังไม่ได้อยุ่ จุฬา เพราะหนูแอดปีห้าสี่นี้ แต่อยากอยู่มากๆ เลยอะ ความใฝ่ฝัน


PS.  คนไทย ยังไง๊ยังไง ก็ คนไทย ด้วยกัน
0