Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เนื้อเรื่องย่อวรรณคดีไทย"อิเหนา"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 วันนี้เฮนรี่ นำวรรณคดีของไทยสมัยอธุยา เรื่อง "อิเหนา" มาฝากค้าบ ผมได้รวบรวมมาจากหลายที่มาต้องขอขอบคุณมากๆนะค้าบ กว่าจะมาเป็นบทความนี้คับ อาจจะยาวหน่อยนะค้าบ แต่ผมกลับเห็นว่า เราควรหันมาใส่ใจของที่บรรพชนทิ้งไว้ให้บ้างนะค้าบ
แต่ก็ไม่ได้ให้เปลี่ยนแปลงมาซะทุกอย่าง แต่ขอไม่ให้ลืมความเป็นไทยก็เท่านั้นค้าบ
ศิลปะของชาติเรา มีทั้งความงดงาม วิจิตร ไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆนะค้าบ

เฮนรี่คอนเฟิร์ม !!!!
อิเหนาเป็น วรรณคดีเก่าแก่เรื่องหนึ่งของไทย เป็นที่รู้จักกันมานาน เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยได้ผ่านมาจากหญิงเชลยปัตตานี ที่เป็นข้าหลวงรับใช้พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(ครองราชย์ พ.ศ. 2275 – 2301) โดยเล่าถวายเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดา จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองได้ทรงแต่งเรื่องขึ้นมาองค์ละเรื่อง เรียกว่าอิเหนาเล็ก (อิเหนา) และอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง)
เรื่องอิเหนา หรือที่เรียกกันว่านิทานปันหยีนั้น เป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา และมีด้วยกันหลายสำนวน พงศาวดารเรียกอิเหนาว่า “อิเหนา ปันหยี กรัต ปาตี” (Panji Inu Kartapati) แต่ในหมู่ชาวชวามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปันหยี” (Panji) ส่วนเรื่องอิเหนาที่เป็นนิทานนั้น น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือในยุคเสื่อมของราชวงศ์อิเหนาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต และอิสลามเริ่มเข้ามาครอบครอง

เนื้อเรื่อง "อิเหนา" แบบย่อ

เริ่มเรื่องกล่าวถึงกษัตริย์วงศ์เทวา ๔ องค์ มีนามตามชื่อกรุงที่ครองราชย์ คือ กุเรปัน ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี ยังมีนครหมันหยาซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกันกับนครเหล่านี้ โดยท้าวกุเรปันได้นางนิหลาอระตาแห่งหมันหยาเป็นชายา ส่วนท้าวดาหาได้นางดาหราวาตีเป็นชายาเช่นกัน กษัตริย์แห่งวงศ์เทวามีมเหสี ๕ องค์เรียงลำดับตามตำแหน่งดังนี้ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี ต่อมาท้าวกุเรปันได้โอรสกับมเหสีเอก ซึ่งโอรสองค์นี้มีวาสนาสูง องค์ปะตาระกาหลา ซึ่งเป็นต้นวงศ์เทวาอยู่บนสวรรค์ได้นำกริชวิเศษลงมาให้ พร้อมจารึกชื่อไว้บนกริชว่า "หยังหยังหนึ่งหรัดอินดรา อุดากันสาหรีปาตี อิเหนาเองหยังตาหลา" แต่เรียกสั้นๆว่า อิเหนา ท้าวหมันหยาได้ธิดากับมเหสีเอกชื่อ จินตะหราวาตี และท้าวดาหาได้ธิดากับมเหสีเอกของตนเช่นเดียวกันชื่อว่า บุษบา ท้าวกุเรปันได้ขอตุนาหงัน (หมั้นไว้) บุษบาให้แก่อิเหนา เพื่อเป็นการสืบราชประเพณี "...ตามจารีตโบราณสืบมา หวังมิให้วงศาอื่นปน..." ส่วนอิเหนาเติบโตเป็นเจ้าชายรูปงาม ชำนาญการใช้กริช ครั้นเมื่อพระอัยกีเมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ อิเหนาได้ไปในงานปลงพระศพแทนพระบิดาและพระมารดาซึ่งทรงครรภ์แก่ ได้ไปพบนางจินตะหราก็หลงรัก และได้นางเป็นชายา โดยไม่ฟังคำทัดทานจากท้าวกุเรปัน และได้บอกเลิกตุหนาหงันนางบุษบาเสียเฉยๆ ทำให้ท้าวดาหาขัดเคืองพระทัยมาก ดังนั้นพอจรกาซึ่ง "รูปชั่วตัวดำ" มาขอตุนาหงัน ท้าวดาหาก็ยอมรับเพราะแค้นอิเหนา

ฝ่ายองค์อสัญแดหวา (ปะตาระกาหลา) เทวดาผู้ทรงเป็นต้นวงศ์เทวาไม่พอพระทัย อิเหนา เห็นว่าต้องดัดสันดานให้สำนึกตัว จึงบันดาลให้วิหยาสะกำ โอรสท้าวกะหมังกุหนิงเก็บรูปนางบุษบาได้ เกิดคลั่งไคล้รบเร้าให้พระบิดาไปขอ ท้าวดาหาก็ให้ไม่ได้ ท้าวกะหมังกุหนิงก็รักลูกมาก จึงยกทัพไปรบเพื่อแย่งชิงนางบุษบา

ท้าวดาหาแจ้งข่าวให้ท้าวกุเรปันและจรกายกทัพมาช่วย ท้าวกุเรปันโปรดให้อิเหนาเป็นแม่ทัพยกไปช่วย อิเหนาจึงจำใจต้องจากนางจินตะหรายกทัพไปช่วยท้าวดาหารบจนได้ชัยชนะ และฆ่าท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำตาย หลังจากเสร็จศึกแล้ว อิเหนาได้เข้าเฝ้าได้ท้าวดาหา และเมื่อได้พบนางบุษบาเป็นครั้งแรก อิเหนาถึงกับตะลึงหลงนางบุษบา


ต่อมา มะเดหวีซึ่งคงจะวุ่นพระทัยว่าบุษบาจะลงเอยประการใด จึงชวนบุษบากับนางกำนัลไปทำพิธีเสี่ยงเทียนยังวิหาร ใกล้ๆวิหารนั้นพวกอิเหนากำลังตั้งวงเตะตะกร้อ ครั้นพวกสาวใช้มะเดหวีขึ้นมาไล่ ก็พากันวิ่งหนีกระจายไป แต่อิเหนา สังคามาระตาและประสันตาวิ่งเข้าไปแอบอยู่หลังพระปฏิมาในวิหาร วิธีเสี่ยงทายนั้น ใช้เทียนสามเล่ม เล่มหนึ่งเป็นบุษบา ปักตรงหน้านาง อีกเล่มเป็นอิเหนาปักข้างขวา และข้างซ้ายเป็นจรกา แล้วมะเดหวีสอนให้บุษบากล่าวอธิษฐานว่า "...แม้น...จะได้ข้างไหนแน่ ให้ประจักษ์แท้จงหนักหนา แม้นจะได้ข้างระตูจรกา ให้เทียนพี่ยานั้นดับไป..." บุษบาแม้จะอายใจเต็มทีก็จำต้องทำตามมะเดหวี แล้วก็มีเสียงจากปฏิมาว่า "...อันนางบุษบานงเยาว์ จะได้แก่อิเหนาเป็นแม่นมั่น จรกาใช่วงศ์เทวัญ แม้นได้ครองกันจะอันตราย" มะเดหวีได้ยินดังนั้น ก็ตื่นเต้นดี พระทัย แต่ไม่ช้าเรื่องก็แตก เพราะอิเหนาต้อนค้างคาวจนเทียนดับ แล้วใช้ความมืดเข้ามากอดบุษบา แล้วก็ไม่ยอมปล่อย จนพี่เลี้ยงไปเอาคบเพลิงมา ก็เห็นอิเหนากอดบุษบาไว้แน่น มะเดหวีจะกริ้วโกรธอย่างไร ก็เห็นว่าเสียทีอิเหนาเสียแล้ว จึงยอมสัญญาว่าจะหาทางให้อิเหนาได้กับบุษบา อิเหนาจึงยอมปล่อย ครั้นไม่เห็นทางได้บุษบาแต่โดยดี อิเหนาก็คิดอุบายที่ร้ายแรงที่สุด คือเผาโรงมโหรสพในพิธีแต่งงานของบุษบาและจรกาในเมืองดาหา แล้วลักนางไปไว้ ในถ้ำทอง ซึ่งเตรียมไว้ก่อนแล้ว

องค์ปะตาระกาหลากริ้วอิเหนามาก จึงบันดาลให้เกิดพายุใหญ่หอบรถนางบุษบาและพี่เลี้ยงไปตกที่ชายเมืองประมอตัน

แล้วแปลงกายนางบุษบาให้เป็นชายชื่อว่า อุณากรรณ ประทานกริชวิเศษให้ และบอกให้เดินทางเข้าสู่เมืองประมอตัน ต่อจากนี้ก็ถึงบทมะงุมมะงาหรา (ท่องเที่ยวหา) อิเหนาเป็นฝ่ายตามหา บุษบาเป็นฝ่ายหนีเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ปราบเมืองนั้นๆ ไว้ในอำนาจ มีเหตุการณ์สนุกตื่นเต้นสลับซับซ้อน เช่น ธิดาเจ้าเมืองต่างๆ เข้าใจว่าอุณากรรณเป็นผู้ชายก็หลงรักตอนมะงุมมะงา หราเป็นเรื่องราวสักครึ่งหนึ่งของเรื่องทั้งหมด

เมื่อสิ้นเวรสิ้นกรรมแล้ว กษัตริย์วงศ์เทวาทั้งหมดก็ได้พบกัน อิเหนาได้ปรับความเข้าใจกับนางจินตะหราและได้ครองเมืองกุเรปันอย่างมีความสุขสืบ ไป


เนื้อเรื่องย่อ "อิเหนา" อีกแบบนะค้าบ แบ่งเป็นตอนๆ.....
เรื่องอิเหนาแบ่งเป็นตอน ๆ รวม ๑๗ ตอน คือ



ตอนที่ ๑ กล่าวถึงเมืองหมันหยา มีธงไชยผุดขึ้น ๔ ทิศทางให้เกิดข้าวยากหมากแพงกษัตริย์วงศ์เทวัญทั้ง ๔ องค์ คือ กุเรปัน ดาหา และสิงหัดส่าหรี มาอาสาถอนธงไชยนั้นได้ ท้าวหมันหยาจึงยกธิดาทั้ง ๔ ให้และแบ่งเมืองให้ครอบครอง จากนั้นเป็นประวัติของอิเหนา จินตะหรา บุษบาและสียะตรา อิเหนาโอรสของท้าวกุเรปันได้หมั้นหมายกับบุษบาธิดาของท้าวดาหา แต่ทั้งสององค์ไม่เคยพบกันเลย

ตอนที่ ๒ อิเหนาไปช่วยงานพระศพพระอัยกีที่เมืองหมันหยา ได้พบจินตะหราและรักใคร่ชอบพอกัน เมื่อท้าวกุเรปันขอให้ท้าวดาหาเตรียมการอภิเษกอิเหนากับบุษบา อิเหนาไม่เคยพบบุษบาจึงทำอุบายไปเที่ยวป่าเพื่อหนีพิธีสยุมพร

ตอนที่ ๓ อิเหนากลับมาจากหมันหยา วิยะดาประสูติ ท้าวดาหาของหมั้นวิยะดาให้สียะตราน้องบุษบา ท้าวกุเรปันของให้ท้าวดาหาเตรียมการอภิเษกอิเหนากับบุษบา อิเหนาไม่เคยพบบุษบาจึงทำอุบายไปเที่ยวป่าเพื่อหนีพิธีสยุมพร

ตอนที่ ๔ อิเหนาปลอมตัวเป็นชาวป่าชื่อมิสาระปันหยี และได้รบชนะท้าวปักมาหงันกับ ๒ พี่น้อง ได้นางมาหยารัศมีและสการะวาตีเป็นบรรณาการ ได้สังคามาระตาเป็นน้อง

ตอนที่ ๕ อิเหนาเข้าเมืองหมันหยา ได้จินตะหราและอยู่ด้วยกัน ท้าวกุเรปันให้คนไปตาม ก็ไม่ยอมกลับ และอิเหนายังออกปากอนุญาตให้บุษบาเลือกชายอื่นอภิเษกได้ ท้าวดาหาจึงประกาศบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาสู่ขอ

ตอนที่ ๖ กล่าวถึงระตูจรการูปชั่วตัวดำ แต่ต้องการมีมเหสีที่รูปงาม จึงให้ช่างไปวาดรูป หญิงสาวตามเมืองต่าง ๆ มาให้เลือก ช่างไปวาดรูปบุษบาได้ ๒ รูป ระหว่างทางองค์ปะตาระกาหลาได้บันดาลให้รูปหายรูปหนึ่ง จรกาเห็นรูปบุษบาก็หลงรักและให้ท้าวล่าสำผู้เชษฐาไปสู่ขอ ท้าวดาหาก็ประทานบุษบาให้จรกา
ตอนที่ ๗ วิหยาสะกำ โอรสของท้าวกะหมังกุหนิงได้รูปบุษบาที่ช่างวาดของจรกาทำหาย ก็เพ้อถึงบุษบารบเร้าให้บิดาไปสู่ขอ ท้าวดาหาปฏิเสธ ท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาตีดาหา กษัตริย์วงศ์เทวาทั้งสามเมืองยกทัพมาช่วยป้องกันเมืองดาหา จรกายกทัพมาถึงเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว

ตอนที่ ๘ อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหาได้พบนางบุษบาก็หลงรักและเสียดายนาง จรกาเร่งให้ทำพิธีอภิเษก อิเหนาล้มเจ็บลงทำให้ต้องเลื่อนพิธีออกไป เมื่ออิเหนาหายป่วย ท้าวดาหาจึงเตรียมอภิเษกบุษบากับจรกา อิเหนาหาอุบายจะลักพาบุษบา

ตอนที่ ๙ อิเหนาปลอมเป็นชาวเมืองกะหมังกุหนิง เข้าปล้นเมืองดาหาขณะที่ในเมืองกำลังมีมหรสพฉลองก่อนพิธีอภิเษก ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาไปบัญชาดับไฟ อิเหนาแอบไปลักพาบุษบาไปไว้ในถ้ำ
ตอนที่ ๑๐ อิเหนาเข้าเมืองมาแก้สงสัยและอาสาติดตามนางบุษบา เอาวิยะดาไปด้วย ปรากฏว่าบุษบาถูกลมหอบไปเสียแล้ว อิเหนาจึงปลอมเป็นชาวป่าชื่อปันหยีและปลอมวิยะดาเป็นเกนหลงหนึ่งหรัด ออกติดตามบุษบาทั่วเกาะชวาก็ไม่พบจึงไปบวชเป็นอายัน (ฤาษี)

ตอนที่ ๑๑ ฝ่ายบุษบาซึ่งถูกลมหอบไป องค์ปะตาระกาหลาแปลงตัวให้เป็นชายชื่ออุณากรรณ ได้เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวประมอตัน วันที่อิเหนาบวชนั้นให้เร่าร้อนใจ จึงขออนุญาตบิดาบุญธรรม
ออกท่องเที่ยวหาสตรีที่พอใจ โดยเจตนาจะตามหาอิเหนา ระหว่างการเดินทางได้เมืองขึ้นหลายเมืองและได้นางกุสุมาเป็นคู่หมั้นของสังคามาระตาเป็นมเหสีแต่แสร้งกล่าวว่ายังร่วมกับสตรีไม่ได้ภายใน ๓ ปี เพราะบนไว้

ตอนที่ ๑๒ อุณากรรณยกทัพเมืองประมอตันไปพบปันหยีแต่จำกันไม่ได้จึงเลยเข้าเมืองกาหลังท้าวกาหลังรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม ปันหยีสงสัยว่าอุณากรรณคือบุษบา จึงลาผนวชติดตามเข้าเมืองกาหลังด้วย ระหว่างนั้นกาหลังเกิดศึก ปันหยีและอุณากรรณช่วยรบจนชนะ อุณากรรณเกรงปันหยีจะทราบว่าตนเป็นสตรี จึงทูลลาท้าวกาหลังออกตามหาอิเหนาต่อ
ตอนที่ ๑๓ สังคามาระตาเชื่อว่าอุณากรรณคือบุษบา และหลังรักนางกุสุมาคู่หมั้นของตนเอง จึงให้มหาดเล็กไปแอบดูเวลาอุณากรรณลงสรงก็ทราบว่าเป็นหญิง อุณากรรณลาปันหยีแล้วยกทัพออกจากเมือง และปลีกตัวจากกองทัพไปบวชชี (แอหนัง) พร้อมกับพี่เลี้ยง
ตอนที่ ๑๔ สียะตราออกติดตามหาอิเหนา บุษบาและวิยะดา โดยปลอมเป็นชาวป่าชื่อ ย่าหรัน องค์ปะตาระกาหลาแปลงเป็นนกยูงมาล่อให้ย่าหรันเข้าเมืองกาหลังไปพบปันหยีและเกนหลง สังคามาระตาเป็นใจให้ย่าหรันรักเกนหลง ปันหยีตามไปรับแต่ไม่แพ้ชนะกัน สังคามาระตาจึงขอ กริชย่าหรันให้ปันหยีดูจึงได้รู้จักกัน

ตอนที่ ๑๕ ระตูมะงาดาให้คนมาลักตัวปันหยีเพื่อจะได้สู่ขอนางสกาหนึ่งรัด ธิดาท้าวกาหลังไปให้อนุชาของตน แต่ลักผิดตัวได้ย่าหรันไปขังไว้ ระเด่นตะราหงันธิดาของระตูมะงาดาช่วยย่าหรันและย่าหรันได้นางเป็นชายา ปันหยีออกตามหาย่าหรันไปพบบุษบาซึ่งบวชเป็นแอหนัง เข้าใจว่านางเป็นมเหสีของอุณากรรณ

ตอนที่ ๑๖ สังคามาระตาทำอุบายเชิดหนังเป็นเรื่องราวระหว่างอิเหนากับบุษบาตั้งแต่ต้นแอหนังบุษบาเศร้าโศกมาก พี่เลี้ยงออกมาดูคนเชิดหนังเห็นเป็นปะสันตาก็จำได้ อิเหนาจึงลักนางบุษบาไปอยู่ร่วมกันในเมืองกาหลัง ฝ่ายย่าหรันกับนางดะราหวันหนีจากเมืองมะงาดามาได้ ระตูมะงาดา ตามมารบแต่แพ้จึงยอมเป็นเมืองขึ้นต่อกาหลัง

ตอนที่ ๑๗ ตอนสุดท้ายสังคามาระตาไปช่วยท้าวประมอตันรบกับระตูล่าสำ และได้ระเด่นกุสุมาซึ่งไปกับกองทัพของอุณากรรณนั้น สียะตราลอบส่งข่าวไปถึงท้าวกุเรปันและท้าวดาหา กษัตริย์ทั้งสองเดินทางมาเมืองกาหลัง และจัดพิธีอภิเษกสมรสระเด่นที่หมั้นกันแล้วทุกคู่ รวมทั้งเชิญจินตะหรามาร่วมพิธีด้วย

ข้อคิดที่ได้

๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยากได้มาเป็นมเหสีของตน กระนั้นแล้ว อิเหนาจึงหาอุบายแย่งชิงนางบุษบา แม้ว่านางจะถูกยกให้จรกาแล้วก็ตาม โดยที่อิเหนาได้ปลอมเป็นจรกาไปลักพาตัวบุษบา แล้วพาไปยังถ้ำทองที่ตนได้เตรียมไว้ ซึ่งการกระทำของอิเหนานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว พิธีที่เตรียมไว้ก็ต้องล่มเพราะบุษบาหายไป อีกทั้งเมืองยังถูกเผา เกิดความเสียหายเพียงเพราะความเอาแต่ใจอยากได้บุษบาของอิเหนานั่นเอง

๒. การใช้อารมณ์ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง เพราะเมื่อเวลาเราโมโห เราจะขาดสติยั้งคิด เราอาจทำอะไรตามใจตัวเองซึ่งอาจผิดพลาด และพลอยทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และเมื่อเรามีสติแล้วจึงจะมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งภายในเรื่องอิเหนาเราจะเห็นได้จากการที่ท้าวดาหาได้ประกาศยกบุษบาให้ใครก็ตามที่มาสู่ขอ โดยจะยกให้ทันที เพราะว่าทรงกริ้วอิเหนาที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานกลับบุษบาตามที่ได้หมั้นหมายกันไว้ การกระทำของท้าวดาหานี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายหลายอย่างตามมา และท้าวดาหานั้นยังกระทำเช่นนี้โดยมิได้สนใจว่าบุตรสาวของตนจะรู้สึกเช่นไร หรือจะได้รับความสุขหรือความทุกข์หรือไม่

๓. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา โดยปกติแล้ว เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ท้าวกะหมังกุหนิงที่ได้ส่งสารมาสู่ขอบุษบาให้กับวิหยาสะกำบุตรของตน เมื่อทราบเรื่องจากท้าวดาหาว่าได้ยกบุษบาให้กับจรกาไปแล้ว ก็ยกทัพจะมาตีเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงบุษบา ซึ่งการกระทำที่ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหานี้ก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ ทั้งทหารที่ต้องมาต่อสู้แล้วพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญเสียบุตรชาย และในท้ายที่สุดตนก็มาเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการบุษบามาให้บุตรของตน

๔. การไม่รู้จักประมาณตนเอง เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน เกิดมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง ใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่คู่ควรกับตนเอง พอใจในสิ่งที่ตนมี เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย ถ้าเรารู้จักประมาณตนเองก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักประมาณตนเอง ก็อาจทำให้เราไม่มีความสุข เพราะไม่เคยสมหวังในชีวิต เช่นกับ จรกาที่เกิดมารูปชั่ว ตัวดำ อัปลักษณ์ หน้าตาน่าเกลียด จรกานั้นไม่รู้จักประมาณตนเอง ใฝ่สูง อยากได้คู่ครองที่สวยโสภา ซึ่งก็คือบุษบา เมื่อจรกามาขอบุษบา ก็ไม่ได้มีใครที่เห็นดีด้วยเลย ในท้ายที่สุด จรกาก็ต้องผิดหวัง เพราะอิเหนาเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับบุษบาไม่ใช่จรกา

๕. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา การจะทำอะไรลงไป เราควรจะคิดทบทวนหรือ ชั่งใจเสียก่อนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลอะไรบ้าง แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือไม่ เกิดอย่างไรบ้าง เมื่อเรารู้จักคิดทบทวนก่อนจะกระทำอะไรนั้น จะทำให้เราสามารถลดการเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ถ้าเราทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด ก็มีแต่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เราจะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่องอิเหนาในตอนที่อิเหนาได้ไปร่วมพิธีศพของพระอัยกีแทนพระมารดาที่เมืองหมันหยา หลังจากที่อิเหนาได้พบกับจินตะหราวาตี ก็หลงรักมากจนเป็นทุกข์ ไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตน ไม่สนใจพระบิดาและพระมารดา ไม่สนใจว่าตนนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้น จากการกระทำของอิเหนาในครั้งนี้ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

เฮนรี่ขอขอบคุณที่มาจาก :
wikipedia.org

เวปละครราม

และ รูปภาพจาก GooGle






เฮนรี่ขอฝากเวปไซต์ของผมเองที่รวบรวมเนื้อหาสาระไว้มากมาย

เข้าไปอ่านกันได้ฟรีๆค้าบผม.......

 

จิ้ม>>คลับของคนมีคลาส

 

จิ้ม>>Facebook ของ คลับคนมีคลาส

 

ไว้ในอ้อมใจด้วยนะค้าบผม ^_^


แสดงความคิดเห็น

>

10 ความคิดเห็น

Soonmee 10 ธ.ค. 57 เวลา 23:29 น. 4

ขอบคุณนะคะที่รวบรวมข้อมูลเรื่องอิเหนา ไม่งั้นเราคงทำโครงงานส่งช้าแน่เลยค่ะT^T
0
Tanna 14 มี.ค. 61 เวลา 02:17 น. 5

จริงไแล้ว อิเหนาเป็นคนไหวพริบดีนะ ฉลาดรู้จะพูดให้คนอื่นประทับใจ เสียดายมาเสียตรงใจง่าย เจอใครสวยก็ชอบไปหมด

0
Luzis 12 ก.พ. 62 เวลา 05:13 น. 8

สงสารจินตะหราสุดแล้ว ถึงจะได้เป็นประไหมสุหรี่ฝ่ายขวาแต่อิเหนาก็ไม่ได้รักอยู่ดี บุษบาก็น่าสงสารต้องพลอยมาลำบากเพราะการกระทำเอาแต่ได้ของอิเหนา

0
minipla 26 พ.ย. 62 เวลา 21:14 น. 10

ชื่นชอบผลงานชิ้นนี้มาก ไม่เหมือนผลงานแบบอื่นๆทั่วไปที่จะนำเสนอเรื่องราวของตัวเอกที่นิสัยดีๆ เหมาะจะเป็นพระเอก แต่งานนี้ไม่เลย คืออิเหนาเป็นคนที่แย่คนหนึ่งเลยในเรื่อง ถ้าอิเหนาแกไม่เอาแต่ใจตัวเองนะ เรื่องวุ่นๆจะไม่เกิด ไม่มีใครต้องตาย ส่วนจรกาไม่สมหวังเพียงเพราะรูปชั่วตัวดำ แล้วไงอะ เขาหน้าตาแย่นั้นหมายความว่าเขาไม่มีสิทธิได้รับอะไรที่มันดีในชีวิตเลยหรอ ต้องได้รับสิ่งแย่ๆตามหน้าตาตัวเองหรอ เรื่องนี้คือสะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิต ไม่เพ้อฝันมากนัก ให้คติสอนใจที่ดีมากๆเลย ร.2 พระองค์ทรงเป็นนักกวีที่ปรีชาสามารถมากๆ ผลงานของพระองค์ยังทรงคุณค่าจนถึงทุกวันนี้

0