Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การเขียนนิยาย และ การวิจารณ์นิยาย กระทู้ 4

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
.

การเขียนนิยาย และ การวิจารณ์นิยาย กระทู้ 4

 

 

กระทู้ 1  http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2276062

กระทู้ 2  http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2278467

กระทู้ 3  http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2281116

 

 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของดิฉัน หลินโหม่ว/ซีเรีย ล้วนๆ ค่ะ

 

 

 

การวิจารณ์นิยาย

 

หลังจากได้รับความรู้ว่าด้วยหลักการวิจารณ์นิยายจากรุ้งยี้ บวกกับประสบการณ์ที่ตัวเองมีมา เวลาอ่านเจอนิยายที่โดนใจและอยากจะแสดงความเห็นวิจารณ์ เราจะมีประเด็นในการวิจารณ์ดังนี้

 

1.     การใช้ภาษา

2.     การเล่าเรื่อง

3.     พล็อต

4.     ความสมเหตุสมผล

5.     การวางปมและการคลายปม

6.     ความมีมิติของตัวละคร

7.     วิธีจบเรื่อง

 

นอกจากประเด็นในการวิจารณ์ หลักการพื้นฐานที่สำคัญยิ่งกว่าในการแสดงความเห็นวิจารณ์คือ

 

1.     จะไม่ติเรือทั้งโกลน นั่นคือ จะไม่วิจารณ์นิยายเรื่องไหนที่ยังเขียนออกมาได้ไม่ถึงครึ่งเรื่องเป็นอย่างน้อย เพราะมันยังไม่เห็นฝีมือหรือพัฒนาการของคนเขียนเลย

2.     จะไม่ฝืนใจอ่านนิยายที่อ่านไปได้ 2-3 ตอนแล้วรู้สึกว่า "ไม่โดน"

3.     จะไม่วิจารณ์นิยายที่อ่านแล้ว "ไม่โดน" เพราะเราจะเกิดอคติและวิจารณ์โดยใช้อคติเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้เขียน

4.     จะไม่อ่าน + วิจารณ์นิยายเพราะไม่ชอบหน้าคนเขียนเป็นการส่วนตัวและคิดจะใช้วิธีนี้โขกสับเจ้าตัว เพราะมันงี่เง่า + ไร้สาระ + เสียเวลาทำมาหากิน + เป็นพฤติกรรมที่เบบี๋มาก

5.     จะไม่เรียกพรรคพวกมาร่วมด้วยช่วยกันโขกสับนิยายที่ไม่ชอบ เหตุผลเหมือนข้อ 4 + เพื่อน ไม่ได้มีไว้เพื่อการนี้ และเพื่อนควรจะห้ามเพื่อนไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่สนับสนุน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแบบที่เขาเรียกว่า "ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาปะกัน"

6.     จะอ่านและวิจารณ์นิยายเรื่องใดๆ ก็ต่อเมื่ออ่านแล้วชอบมาก อยากให้ผู้เขียนได้พัฒนาฝีมือมากยิ่งขึ้นจริงๆ

7.     เรื่องที่ได้เลือกแล้วว่าจะวิจารณ์ เวลาวิจารณ์ จะเลือกใช้ถ้อยคำอย่างประณีตมากเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ นั่นคือ ผู้เขียนอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเรากำลังหาเรื่อง และยินดีอย่างยิ่งที่จะรับความเห็นของเราไปพิจารณา

8.     เมื่อวิจารณ์แล้ว จะไม่เที่ยวตามดูและตามจิกให้ผู้เขียนแก้ไขตามที่เราร้องขอ เพราะงานเขียนชิ้นนั้นเป็นสิทธิ์ของผู้เขียน ผู้เขียนไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะต้องมาทำตามที่เราต้องการ

9.     ไม่เอานิยายเรื่องนั้นมาเปรียบเทียบกับนิยายของตัวเอง

10. ไม่เอามาตรฐานในการเขียนนิยายของตัวเองไปวัดคนอื่น

11. ไม่สองมาตรฐาน

 

ส่วนตัวแล้ว มักจะชอบ "วิเคราะห์" นิยายที่ชอบมากกว่า "วิจารณ์" เพราะนิยายที่อ่านแล้ว "ชอบ" คือนิยายที่ทำให้เราสามารถตะลุยอ่านรวดเดียวจบอย่างละเอียดตั้งใจทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรได้ เมื่ออ่านจบแล้ว เรามักจะเกิดอาการอยากเล่าเนื้อเรื่องมาก ซึ่งนิยายเหล่านี้ ไม่แน่ว่าจะต้องเพอร์เฟค แต่จะต้องเป็นนิยายที่มีจุดใดจุดหนึ่งหรือบางจุดทำให้เราประทับใจมาก เช่นตัวละครบางตัว

ตัวอย่างเรื่องที่เราเคยเขียนวิเคราะห์เอาไว้

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=sorcererwar&group=5

 

คราวนี้จะลงลึกในมุมมองเวลาที่อ่านนิยายเพื่อที่จะวิจารณ์

 

 

1. การใช้ภาษา

 

การใช้ภาษาแบบที่เราชอบ ไม่มีกฎตายตัวแน่นอน ขอแค่การใช้ภาษาแบบนั้นแล้วชอบ ประทับใจ ก็ใช้ได้แล้ว เพราะมักจะมีนักเขียนพรสวรรค์บางคนสามารถคิดวิธีเขียนโดยใช้ภาษาสไตล์แปลกใหม่ออกมาได้อยู่เรื่อยๆ และต่อให้สำนวนไม่ได้แปลกตา แต่หากสามารถใช้ถ้อยคำสำนวนที่ดูเป็นการเล่าเรื่องธรรมดาๆ สะกดให้อ่านต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดด้วย "ถ้อยคำธรรมดาๆ ที่ไม่ได้แปลกเลิศลอย" อะไรได้ ก็โอเคแล้วเช่นกัน

สรุปคือ การใช้ภาษาแบบที่ทำให้เราเต็มใจอ่าน คือ การใช้ภาษาที่ "สละสลวย"

ซึ่งคำว่า "สละสลวย" นี้ ไม่ได้แปลว่า "ภาษาสวย" หรือ สำนวนภาษาใช้ศัพท์วิลิศมาหราบรรยายยืดยาว แต่หมายถึงเลือกใช้คำมาบรรยายได้อย่างเหมาะสม มองเห็นภาพ อ่านแล้วลื่นไหล ไม่รู้สึกสะดุด และไม่รู้สึกว่ายืดยาวเยิ่นเย้อน่าเบื่อหน่าย เช่นนิยายที่ "ภาษาสวย" มักจะเป็นกัน

โดยทั่วไปมีหลักที่พอจะจับได้สำหรับสำนวนที่ "สละสลวย" ดังนี้

·        ไม่มีภาษาวิบัติ

·        คำสันธานไม่มีการซ้ำใน 2-3 ข้อความ

·        ไม่ใช้คำขยายที่มีความหมายเดียวกันซ้อนกันบ่อยๆ

·        ไม่มีการบรรยายที่เกินจำเป็นต่อเนื้อเรื่องโผล่มา เช่น หากบรรยายถึงการประดับบ้านว่าตรงเชิงบันไดมีแจกันสมัยหมิงวางอยู่คู่หนึ่ง ก็ไม่ต้องไปบรรยายว่ามันราคาเท่าไหร่ และไม่ต้องไปบรรยายว่าซื้อมาเมื่อไหร่ ใครซื้อมา ถ้าไม่ได้คิดจะใช้ข้อมูลนี้ในฉากสำคัญใดสักฉากของเนื้อเรื่อง เพราะคนเขียนไม่ได้อยากจะรู้เรื่องนี้เลย ถ้าแค่เพื่อจะบอกว่าบ้านนี้รวย แค่บอกว่าเป็นแจกันสมัยหมิง ก็บอกว่ารวยพอแล้ว การบรรยายเกินจำเป็นแบบนี้เรียกว่า "น้ำ" (จากสำนวน "น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง" )

·        กระชับ แต่ไม่ห้วน ไม่มีคำที่เกินจำเป็น ซึ่ง "คำที่เกินจำเป็น" นี้ มักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับผู้เขียนที่พยายามเกินเหตุที่จะใช้ภาษาให้สวย โดยแยกไม่ออกระหว่าง "ภาษาสวย" กับ "เยิ่นเย้อ"

·        สำนวนภาษาเข้ากับฉากหลัง สถานการณ์ และบริบทในเรื่อง เช่น ตัวละครอายุเท่าไหร่ เพศใด อาชีพอะไร อยู่ในสถานที่แบบไหน อยู่กับใคร อยู่ในอารมณ์แบบไหน ควรจะเลือกใช้คำพูดแบบไหน

 

ส่วนที่ว่า แบบไหนที่เรียกว่า "กระชับ" แบบไหนที่เรียกว่า "ห้วน" แบบไหนที่เรียกว่า "เยิ่นเย้อ" จำพวกนี้ จะตัดสินโดยเซนส์ส่วนตัวที่ได้มาจากประสบการณ์ทั้งการอ่านนิยาย การเขียนนิยาย และการแปลนิยายล้วนๆ

 

 

2. การเล่าเรื่อง

 

จังหวะในการเล่าเรื่องมีความสำคัญไม่แพ้สำนวนในการที่จะดึงคนอ่านให้อ่านนิยายของเราได้ตลอดรอดฝั่ง และจังหวะในการเล่าเรื่อง (หรือจะเรียกว่า "จังหวะในการเดินเรื่อง" ก็ได้) สำหรับคนเขียนแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าต้องอาศัยเซนส์ + ประสบการณ์ในการเขียนล้วนๆ

ส่วนสำหรับคนวิจารณ์ ก็เรียกได้ว่าการจะดูจังหวะที่ดีในการเดินเรื่อง รวมถึงมองเห็นปัญหา ตลอดจนมองเห็นจุดที่มีปัญหาในการเดินเรื่องออกถึงขนาดสามารถชี้ชัดออกมาได้เป็นจุดย่อยๆ อันเป็นคุณสมบัติที่ผู้ซึ่งหาญกล้าตั้งตนไป "วิจารณ์" นิยายของคนอื่นพึงมี เกิดจากการที่ "นักวิจารณ์" คนนั้นผ่านการอ่านเชิงวิเคราะห์นิยายเรื่องต่างๆ มาอย่างโชกโชน (แน่นอนว่าตัวเรายอมรับว่าตัวเองยังไม่แน่ถึงขั้นนั้น จึงไม่บังอาจอวดดีมากพอที่จะยกตนว่าเป็น "นักวิจารณ์") และมีการถกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่ถนัดในด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์มาอย่างโชกโชนเหมือนกันอยู่เสมอๆ ทั้งสิ้น

อนึ่ง มีนักเขียนที่มีพรสวรรค์อย่างแท้จริงที่รู้จังหวะการเล่าเรื่องโดยธรรมชาติอยู่เหมือนกัน เช่น พัณณิดา ภูมิวัฒน์ ถึงอย่างนั้นพัณณิดาก็ยังยอมรับว่าในบางครั้งก็มีบ้างที่พลาดในการใส่จังหวะเดินเรื่อง ทำให้เนื้อเรื่องอืดไปนิดได้ แต่เจ้าตัวมักจะสามารถแก้ไขได้เรียบร้อยก่อนที่นิยายจะออกมาเป็นเล่มทุกครั้ง จึงเรียกได้ว่าเป็น "ผู้รู้" อย่างแท้จริง นั่นคือ ยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเองและกระตือรือร้นที่จะแก้ไข

หลักสำคัญที่จะสังเกตดูเพื่อวิจารณ์ว่าด้วยจังหวะการเล่าเรื่อง หรือจังหวะการดำเนินเรื่อง มีดังนี้

 

2.1 จังหวะการเล่าเรื่องไม่ช้าเกินไปและไม่เร็วจนเกินไป

จังหวะการเล่าเรื่องไม่ช้าเกินไป คือ ไม่ทำให้คนอ่านอ่านแล้วเกิดความคิดว่า

·        เมื่อไหร่จะจบฉากนี้เสียที?

·        เมื่อไหร่จะคุยกันจบเสียที?

·        เมื่อไหร่จะหยุดบรรยายฉากนี้เสียที? รู้แล้วน่าว่าบ้านนี้สวยมากรวยมาก

·        ฯลฯ

ตัวอย่างที่จำได้แม่นยำ คือเรื่อง เทียนฮุดเจี้ย ของลิ้วชั้งเอี้ยง ซึ่งอ่านตอนอยู่ม.ปลาย มี 10 เล่มจบหนาๆ (แต่ละเล่มหนาเกิน 500 หน้า) ซึ่งมันก็สนุกทุกเล่ม ยกเว้นเล่มท้ายๆ เล่มหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน เป็นฉากตะลุมบอนหมู่หมดทั้งเล่ม จำได้ว่าทีแรกอ่านอย่างตั้งใจ จนกลายเป็นเปิดอ่านผ่านๆ แล้วพลิกดูท้ายเล่ม เฮ้ย! มันยังสู้กันไม่จบอีกเรอะ?! จนขึ้นเล่มใหม่ไปได้นิดหนึ่งกว่าจะสู้จบ...

 

จังหวะการเล่าเรื่องไม่เร็วเกินไป คือ อย่าข้ามฉากตอนที่ไม่สมควรข้าม เช่น เรื่องราชาแห่งราชัน ในเล่ม 4 อยู่ๆ ก็ตัดมาฉากเฉินเฟิงตั้งสมาคมเสร็จเรียบร้อย โดยไม่เอ่ยถึงขั้นตอนในการตั้งเลยสักนิด อันนี้เรียกว่าเดินเรื่องเร็วเกินไปมาก ยิ่งเล่ม 11 ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

หรือจะให้ชัดเจนยิ่งกว่าก็อย่างตอนจบของเรื่อง Slam dunk หรือช่วงท้ายของเรื่องอายชิลด์ 21 ที่การลงรายตอนในรายสัปดาห์ที่ญี่ปุ่นได้รับคะแนนโหวตต่ำจนลงไปอยู่อันดับท้ายๆ ที่จะโดนสั่งให้ตัดจบ คนเขียนจึงประชดเสียเลย

นักวิจารณ์ที่ดีจะต้องสามารถอ่านแล้วดูออกว่า นิยายเรื่องนั้นสามารถเล่าเรื่องได้อย่างมีจังหวะจะโคนที่เหมาะสมเป็นธรรมชาติหรือไม่ หรือถ้ามีจังหวะของเรื่องตรงไหนที่สะดุด จะต้องดูออก และบอกได้ว่าสะดุดเพราะอะไร จะแก้ไขได้อย่างไร ต้องสามารถบอกหนทางในการแก้ไขที่ถูกต้องให้แก่ผู้เขียนได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็น "นักวิจารณ์ที่ดี"

และความจริงแล้ว นี่เป็นคุณสมบัติที่ "ว่าที่บก.ใหญ่" จะต้องมี

 

2.2 เนื้อเรื่องที่ควรมี มีครบหมด

นักวิจารณ์ที่ดี จะต้องมีสายตาเฉียบคมสามารถมองออกได้ว่า นิยายเรื่องนั้นๆ มีองค์ประกอบ มีฉากตอนที่สมควรมีอยู่ครบถ้วนหรือไม่

ฉากตอนที่ไม่ครบก็ตัวอย่างเช่น เรื่องมนตร์อสูรที่เริ่มเรื่องมา พระเอกที่แสนเย็นชาก็รักนางเอกที่ซื่อบื้อติงต๊องแล้ว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่คนอ่านคาดหวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นในเนื้อเรื่องคือ ฉากเล่าย้อนอดีตว่าพระเอกรักนางเอกได้ยังไง? แต่จนจบเรื่อง ผู้เขียนก็ไม่ได้เขียนถึงตรงนี้เลยแม้แต่น้อย เมื่อเราบอกให้ผู้เขียนเขียนตอนพิเศษที่ให้ความกระจ่างถึงเนื้อหาช่วงนี้ ผู้เขียนกลับตอบว่า

"เขียนฉากภูเขาน้ำแข็งละลายน่ะมันยากนะ"

ขอบอกว่าฟังแล้วพูดไม่ออก สรุปว่าเธอไม่มีปัญญาเขียน เลยข้ามมันไปซะ ทั้งที่มันเป็นฉากสำคัญที่ควรต้องมีในเนื้อเรื่องอย่างยิ่งสินะ?

ยังมีนิยายจีนอีกเรื่องที่มีกรณีคล้ายกันนี้ คือ ดูยังไงก็ดูไม่ออกว่าพระเอกหลงรักนางเอกตอนไหน เพราะอะไร มามองเห็นความคิดความรู้สึกของพระเอกก็ตอนที่รักนางเอกไปแล้ว

ทั้งนี้ จะมีบางเรื่องเช่นกันที่ผู้เขียนจงใจที่จะซ่อนเนื้อเรื่องบางอย่างเอาไว้โดยไม่บอกตรงๆ ผู้อ่านจะต้องไปค้นหาเอาเอง ซึ่งนักวิจารณ์ที่ดี จะต้องสามารถสังเกตเห็นสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ภายในเรื่องเหล่านี้ ถ้าสามารถมองเห็นได้ "ทั้งหมด" แปลว่านักวิจารณ์คนนั้นมีระดับสมองแน่กว่าหรือแน่พอๆ กันคนเขียน แต่ถ้ามองออกไม่ทั้งหมด หรือมองไม่ออก ก็...นะ อย่าเผยอเป็นนักวิจารณ์เลยจะดีกว่า ยิ่งอย่าฝันอยากจะเป็นบก.ล่ะ จนกว่าจะลับความสามารถจนมองเห็นได้ ไม่อย่างนั้นคงเป็นความซวยอย่างมหันต์ของงานเขียนและนักเขียนที่ต้องผ่านการตรวจของ "บก.น้อย" คนนี้

 

2.3 เนื้อเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมี มีให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย หรือยกไปเขียนเป็นตอนพิเศษ

นักวิจารณ์ที่ดี จะต้องมีสายตาเฉียบคมสามารถมองออกได้ว่า นิยายเรื่องนั้นๆ มีเนื้อเรื่อง ฉาก ตอน ที่ไม่มีความจำเป็นต่อเนื้อเรื่อง ต่อให้ตัดทิ้งไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อเนื้อเรื่องอยู่ตรงไหนบ้างหรือไม่

ตัวอย่างฉาก ตอนที่ไม่จำเป็น ก็เช่น หากบรรยายว่า ในสวนคฤหาสน์มีศาลาสำหรับพักร้อนนอนเล่น ในศาลามีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งกินอาหารหรือทำงานหนึ่งชุด และเก้าอี้นอนสำหรับนอนเล่นหนึ่งตัว บรรยายแบบนี้โอเค แต่ถ้าจะมีการบรรยายเพิ่มจำพวก เมื่อก่อนตอนวันเดือนปีนั้นในศาลานี้เคยมีเปียโนตัวหนึ่งถูกนำมาวาง เปียโนนั้นลักษณะแบบนั้น ซื้อมาตอนนั้น ราคาเท่านั้น แล้ววันหนึ่งมันก็ถูกยกออกไป ตอนนี้ในศาลาเลยเหลือของแค่นี้

นักวิจารณ์ที่ดีจะต้องสามารถมองออกว่า ฉากบรรยายส่วนของเปียโนตัวนี้คือ "น้ำ" ล้วนๆ เว้นแต่ว่ามันจะถูกเอ่ยถึงแบบมีส่วนสำคัญต่อเนื้อเรื่อง เช่น ตัวละครเคยสะดุดเปียโนตัวที่ว่าล้มหัวฟาดพื้นเย็บสิบเข็มจนมีแผลเป็นติดหัวมาจนทุกวันนี้ เลยต้องยกมันออกไปจากศาลา จนเหลือของในศาลาแค่ที่เห็นอยู่ในตอนนี้ เป็นต้น

ซึ่งพวก "น้ำ" นี้ หากนักเขียนอยากใส่เข้ามามาก นักวิจารณ์ก็แนะนำนักเขียนไปได้ว่า ให้ยกไปเขียนเป็นตอนพิเศษนอกเนื้อเรื่องหลักแล้วยัดมันใส่เข้าไป เพราะการยัดเข้ามาในเนื้อเรื่องหลักจะทำให้เนื้อเรื่องเยิ่นเย้อ คนอ่านรู้สึกเบื่อได้ง่าย สุดท้ายอ่านไม่จบ หลับไปเสียก่อน และวางทิ้งไว้ถาวรไม่ได้ + ไม่คิดจะอ่านต่อ

นักวิจารณ์ที่สามารถมองออกถึงฉากที่ไม่จำเป็น ระบุบ่งชี้บอกให้ตัดทอนออกไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำว่าฉากไหนบ้าง ประโยคไหนบ้าง จนทำให้เนื้อเรื่องกระชับรัดกุมขึ้น เดินเรื่องเร็วขึ้น คั้นเอาน้ำออกจนเหลือแต่เนื้อล้วนๆ จนอ่านสนุกลุ้นระทึกขึ้นมากได้ นักวิจารณ์คนนี้มีคุณสมบัติของ "ว่าที่บก.ใหญ่" อยู่เต็มที่

ส่วนนักวิจารณ์ที่มองไม่ออก...แล้วยังแค่นเผยอที่จะตั้งตนเป็นนักวิจารณ์ ขอแนะนำนักเขียนว่าอย่าส่งบทความไปให้นักวิจารณ์แบบนี้ช่วย "สับ" ให้เลย เสียเวลา + เสียสุขภาพจิตเปล่าๆ และขอภาวนาด้วยว่าอย่าให้นักวิจารณ์แบบนี้ได้เป็นบก. ตรวจทานเนื้อเรื่อง เพื่อความก้าวหน้าของวงการวรรณกรรม

 

 

ทางไปกระทู้ 5 ค่ะ
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2286780

 

 



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 03:21
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 03:24
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 03:25
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 03:27
แก้ไขครั้งที่ 5 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 06:56
แก้ไขครั้งที่ 6 เมื่อ 8 ตุลาคม 2554 / 23:32
แก้ไขครั้งที่ 7 เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 / 11:00
แก้ไขครั้งที่ 8 เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 / 11:05
แก้ไขครั้งที่ 9 เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 / 16:43
แก้ไขครั้งที่ 10 เมื่อ 10 ตุลาคม 2554 / 06:57

PS.  นิยายที่กำลังแปล : ม่านม่านชิงหลัว / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไป : แปล "BOSS" / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไปอีก : แปลหย่งเยี่ย ตามด้วย รีไรท์ "ศึกจอมขมังเวทเล่ม 4-เล่มจบ"

แสดงความคิดเห็น

>

17 ความคิดเห็น

เคย์เซย์ (Keisei) 8 ต.ค. 54 เวลา 04:15 น. 1
ไม่ชอบหน้าคนเขียนเป็นการส่วนตัวและคิดจะใช้วิธีนี้โขกสับเจ้าตัว เพราะมันงี่เง่า + ไร้สาระ + เสียเวลาทำมาหากิน + เป็นพฤติกรรมที่เบบี๋มาก

ชาบูๆ ประโยคนี้โดนใจผมมาก ขอกดไลค์สักร้อยล้านครั้งครับ!!! *0* 
PS.  บัลลังก์นี้มิเคยปรารถนา บัลลังก์นี้มิเคยคิดลุ่มหลง บัลลังก์นี้มิเคยพิศชื่นขม บัลลังก์นี้ช่างขื่นขมระทมทรวง / ไม่มีใครปฏิเสธกรรมที่เรียกว่า "การกระทำ" ได้หรอก
0
มัญชุดา 8 ต.ค. 54 เวลา 08:31 น. 3

ชอบตรงภาษา นิยายบางเรื่องภาษาสวยมาก สวยเวอร์ ตอนแรกที่อ่านก็เออสวยดีจัง อ่านไปสักพัก...
นักเขียนมันเพ้อเกินไปแล้วล่ะ ปิดแล้วไม่อ่านต่อเลย


PS.  เชี่ยวชาญชำนาญนัก ให้คนหลงรักหลงปราบปลื้ม
0
GoddessBell 8 ต.ค. 54 เวลา 15:18 น. 4

ช่างเป็นแนวทางที่เด่นชัดยิ่งนัก

แต่่ก่อนผมก็คลายๆแบบนั้นและ ด้านภาษานะครับ พอดีไม่เก่งเพิ่งเริ่มเรื่องแรก

แต่ที่ไม่ค่อยเข้าใจคือ ตอนนั้นเขียนได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื้อเรื่องทั่วๆไป มั่วๆไป พระเอกก็เก่งเทพเวอร์แบบพระเจ้า อะไรแบบนั้น คนอ่านบาน ขึ้นหน้าหนึ่งอยู่นานหลายเดือน

แต่พอรีไรท์มา เขียนแบบเหตุผลยิ่งใหญ่ สมเหตุ สมผล คนอ่านผมหายไปไหน!!!!

แบบนั้นเลย

มีคนบอกว่า ราวกับนิยายคนละเรื่องกันเลย แบบว่ารีไรท์ออกมาได้เปลี่ยนไปแบบสุดๆ

ซึ่งผมเองก็คิดว่าใช่ มันต่างกันมาก จากเดิมที่ดูเหมือนเกมออนไลน์ทั่วๆไป กลายเป็นนิยาแฟนตาซีออนไลน์ไปแล้วไง



PS.  บทเพลงที่ข้าบรรเลงอาจไม่ไพเราะ...แต่ข้านั้นบรรเลงด้วยหัวใจ นิยายที่สรรค์สร้างอาจไม่สนุก...แต่ข้าก็เขียนด้วยหัวใจ
0
polarbee 9 ต.ค. 54 เวลา 03:19 น. 6

 มาอ่านต่อครับ


PS.  ลมพัดจันทร์กระจ่างไร้คนบงการ น้ำไหลเขาตระหง่านล้วนเป็นเช่นนั้นเอง
0
Linmou 9 ต.ค. 54 เวลา 11:10 น. 8
GoddessBell @ เคยมีบางคนบอกพี่ว่า เมื่อเราเขียนนิยายโดยไม่คิดจะเขียนให้ยิ่งใหญ่อลังการ มันจะออกมายิ่งใหญ่อลังการ แต่ถ้าเราคิดแต่แรกว่าจะเขียนให้มันออกมายิ่งใหญ่อลังการ มันจะน่าเบื่อ
PS.  นิยายที่กำลังแปล : ม่านม่านชิงหลัว / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไป : แปล "BOSS" / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไปอีก : แปลหย่งเยี่ย ตามด้วย รีไรท์ "ศึกจอมขมังเวทเล่ม 4-เล่มจบ"
0
NoxNoctis 9 ต.ค. 54 เวลา 15:50 น. 9

เขียนได้ดีและเป็นประโยชน์มาก

ป.ล. "น้ำ"เยอะเกิน วิดไม่ออกโปรดอย่าลืมแจกอุปกรณ์ดำน้ำให้นักอ่านด้วยนะจ๊ะ

หรือจะเอาเรือท้องแบนดีล่ะ ลอยเท้งเต้งออกทะเลไปเลย เคี๊ยกๆ

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 / 15:51

0
a1andb2 9 ต.ค. 54 เวลา 16:33 น. 10

ขอกระสอบทรายกั้นน้ำท่วม เอ๊ะ ยังไงหว่าปากอ่าวไปคนละเรื่องแล้ว

บางทีเราจะเจอนักอ่านชอบน้ำมากกว่าผักบุ้ง


PS.  ALL.. HAIL MEGATRON!
0
shiroro 9 ต.ค. 54 เวลา 19:55 น. 11

มาอ่านอีกรอบ

คนที่จะวิจารณ์ได้ดีก็ต้องผ่านประสบการณ์ในการอ่านมามากสินะ แถมต้งบอวกประสบการร์ที่ไม่เอียงเข้าข้างตนเองอีก


PS.   vbvb World of Warcraft Classes Rogue All Hail~ Megatron!
0
Derangement 9 ต.ค. 54 เวลา 21:57 น. 12

งืม ผมกลับรู้สึกว่าไม่ต้องเป็นพวกเท้ามีแสงก็สามารถยกตนเป็นนักวิจารณ์ได้นะ

ขอเพียงวิจารณ์ออกมาด้วยความปรารถนาดี ผมว่าก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นนักวิจารณ์
คนเขียนเองต่างหากที่ต้องมีความสามารถแยกแยะว่าอะไรควรเลือกจะรับประทาน
และอะไรควรเขี่ยทิ้งไว้ข้างจาน

ส่วน บก นั่นผมว่าเพียงมีรูปแบบนิยายในอุดมคติยังไม่เพียงพอ เขาต้องเข้าใจด้วยนักเขียนสามารถเขียนอะไรได้ดีอะไรคือเอกลักษณ์ของนักเขียน ฉากแบบไหนที่นักเขียน ๆ ได้สนุก และอะไรที่แก้ไขแล้วเขาสามารถเขียนออกมาได้สนุก หรืออะไรที่อย่าได้ให้เขียนโดยเด็ดขาด


PS.  "Writing is so difficult that I feel that writers, having had their hell on earth, will escape all punishment hereafter." - Jessamyn West -
0
Linmou 10 ต.ค. 54 เวลา 07:14 น. 13

ขอเพียงวิจารณ์ออกมาด้วยความปรารถนาดี ผมว่าก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นนักวิจารณ์ คนเขียนเองต่างหากที่ต้องมีความสามารถแยกแยะว่าอะไรควรเลือกจะรับประทาน และอะไรควรเขี่ยทิ้งไว้ข้างจาน

 

ประเด็นคือปัจจุบันมีนักอยากเขียนมากมายที่ยังแยกแยะไม่ค่อยออกว่า “อะไรควรเลือกจะรับประทาน และอะไรควรเขี่ยทิ้งไว้ข้างจาน” นี่แหละ

 

นักวิจารณ์ก็เป็นเหมือนหมอที่รักษานิยายเรื่องนั้นๆ ให้ดีขึ้น หรือหายจากโรค ซึ่งหมอก็แบ่งออกเป็นหมอเฉพาะทางหลายแขนง เหมือนนิยายที่แบ่งออกเป็นหลายประเภท

หากหมอที่มารักษาไม่ใช่หมอเฉพาะทางของโรคนั้น ก็จะได้แต่รักษามั่ว รักษาไม่ถูกจุด คนไข้มีแต่จะยิ่งแย่ หรือหนักสุดก็ตายคาที่ไปเลย

ถึงแม้ว่าได้หมอเฉพาะทางของโรคนั้นมารักษา แต่ถ้าหมอไม่มีจรรยาบรรณมากพอ ก็เป็นผลเสียกับคนไข้อีกเหมือนกัน

ร้ายสุดคือหมอเถื่อน ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นหมอโดยเฉพาะมาก่อน อุปกรณ์ในการรักษาก็มีไม่พร้อม แต่อยากจะได้ชื่อว่าเป็นหมอ ก็เปิดคลินิกรับรักษาโรค คนไข้มากมายที่แยกประเภทหมอไม่ออก หรือหาหมอดีไม่ได้ก็แห่กันไปขอให้รักษา ผลคือบ้างก็ตายคาเขียง บ้างก็พิกลพิการไป

ดังนั้นจึงได้คิดว่า ทางที่ดีคนไข้ควรจะลองพยายามใช้เวลาค่อยๆ พยายามรักษาตัวเองด้วยตัวเองจะดีที่สุด หรือไม่ก็ให้คนที่คอยติดตามอ่านนิยายของคุณมาตลอด คนอ่านที่ชื่นชอบนิยายของคุณนั่นแหละช่วยบอกอาการที่ปรากฏของโรคให้ ไม่ใช่ไปขอให้ใครอื่นที่ไม่ได้สนใจจะอ่านนิยายของคุณเลยมาช่วยรักษา เพราะคนอ่านที่ติดตามอ่านนิยายคุณย่อมจะมีความปรารถนาดีต่อตัวคุณ และเต็มใจที่จะช่วยคุณมากกว่าหมอเถื่อนอย่างแน่นอน

ส่วนบก. ต้องแบกรับหลายอย่างมากกว่านักวิจารณ์ที่วิจารณ์ฟรี บก.ต้องแบกรับภาระในการเลือกนิยายที่คุ้มค่าแก่การลงทุนให้แก่สนพ.ด้วย และโดยทั่วไป บก.จะช่วยแก้ไขให้แต่นักเขียนที่มีแววเท่านั้น ดังนั้นสุดท้ายแล้ว นักเขียนก็ควรจะฝึกหัดด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองก่อน ตามด้วยขอความเห็นจากผู้อ่านที่ติดตามอ่านงานของตัวเองแล้วชอบ สุดท้ายค่อยไปพึ่งพาคนอื่นที่ไม่เคยอ่านงานของตัวเอง


PS.  นิยายที่กำลังแปล : ม่านม่านชิงหลัว / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไป : แปล "BOSS" / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไปอีก : แปลหย่งเยี่ย ตามด้วย รีไรท์ "ศึกจอมขมังเวทเล่ม 4-เล่มจบ"
0
Anemone2526 10 ต.ค. 54 เวลา 08:33 น. 14

เรียกว่า นักเขียนแค่แบกรับว่าเรื่องตัวเองจะผ่านไม่ผ่าน

แต่ บก. ต้องแบกรับภาระหลายอย่างเลย ว่าจะทำให้นิยายที่ตนรับผิดชอบ ขายดียังไง = = "


PS.  เป็นแฟนพันธุ์แท้เรา...ต้องอดทน!!!
0
Linmou 10 ต.ค. 54 เวลา 08:57 น. 15
Anemone2526 @ ถูกต้องแล้ว และการเลือกต้นฉบับนี้ก็ต้องอาศัยเซ้นส์อย่างมากเลยแหละ ไม่ใช่ว่าบก.ทุกคนจะเลือกต้นฉบับเป็น
PS.  นิยายที่กำลังแปล : ม่านม่านชิงหลัว / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไป : แปล "BOSS" / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไปอีก : แปลหย่งเยี่ย ตามด้วย รีไรท์ "ศึกจอมขมังเวทเล่ม 4-เล่มจบ"
0
นักเวทแห่งสายลม[Sai] 10 ต.ค. 54 เวลา 12:14 น. 16
กำลังอ่านบทความของท่านหลินโหม่วแบบได้ที่(เป็นแฟนมาตั้งแต่กระทู้แรก!)

แต่มาจอดตรงพูดถึงเรื่องมนตร์อสูร....พะ....พี่จาย กับนางเอก!?


ว๊ากกกกกกก  สุดท้ายหมิงหลุนมันก็เป็นผู้หญิงเรอะ TT[]TT
(ยังอ่านไม่จบ ไม่อยากอ่านตอนจบเลย เป็นแบบป๊ะป๋าไม่ได้หรือ ;____;

PS.  เจ๋งได้อีกครับพี่!!
0