Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ธุดงค์ญี่ปุ่น : ตอนที่7

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
   
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

   อาจารย์อธิบายให้ฮิดากะซังฟังว่า ตั้งใจจะอยู่ที่เกียวโตนี้สักหนึ่งเดือน อยากไปศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ และเยี่ยมเยือนวัดในเกียวโตซึ่งเป็นวัดนิกายมหายานในฐานะพระ ฮิดากะซังจึงอาสาไปคุยกับเจ้าของอพาร์ตเมนต์ให้เพราะมีห้องว่างอยู่ เลยได้พักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ห้องเล็กๆ สำหรับนักศึกษาแห่งนี้อยู่หนึ่งเดือน

   เกียวโตก็เป็นเมืองพุทธศาสนา มีวัฒนธรรมการบิณฑบาต พอญาติโยมเห็นพระเดินมาก็เข้าใจว่ากำลังบิณฑบาต แต่โดยมากจะบิณฑบาตปัจจัยกับอาหารแห้ง ระหว่างที่อยู่ที่นี่หนึ่งเดือนอาจารย์ก็ออกบิณฑบาตไปตามสถานที่ต่างๆอยู่ทุกวัน ได้อาหารที่ฉันได้ก็เอามาฉัน แต่ถ้าได้อาหารดิบเป็นข้าวเป็นผักหรือมันฝรั่งมาก็รับไว้ แล้วเอาไปสละให้ฮิดากะซัง เขาก็เอาไปทำอาหารถวายอาจารย์อีกที ฮิดากะซังซื้อคูปองรถประจำทางไว้ให้อาจารย์ เวลาไปไหนไกลๆจะได้ไม่ต้องเดิน ตลอดหนึ่งเดือนนี้อาจารย์ก็ได้ไปเยี่ยมชมทั่วทุกแห่ง ทั้งวัดพุทธและศาลเจ้าชินโต ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องเสียค่าเข้าชมสถานที่ราคาหลายร้อยบาทอยู่ แต่เป็นพระไม่ต้องเสียค่าเข้า

   นี่เป็นประสบการณ์การมาเมืองเกียวโตครั้งแรกของอาจารย์เมื่อสามปีก่อนที่จะมาเดินธุดงค์ครั้งนี้


การหาที่พักระหว่างธุดงค์

  
ในการธุดงค์นั้นเราต้องหาที่พักเกือบทุกวัน ไม่ได้ติดต่อไว้ล่วงหน้าว่าจะมาขอพักเหมือนเวลาเราไปเที่ยวที่จะโทรจองโรงแรมตามจุดต่างๆไว้ก่อน ถึงแม้ว่าอาจารย์จะเดินทางตามถนนโตไกโด ที่ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญอยู่ ขนาดในยุคเอโดะยังมีที่พักตามจุดต่างๆถึง53จุด เรียกว่าหาที่พักได้ง่าย สบาย แต่การเดินธุดงค์ในสมัยนี้ การหาที่พักกลับเป็นเรื่องใหญ่ จะพักที่ไหนดี ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนในญี่ปุ่นปักกลดนอนกลางแจ้งไม่ได้ หนาว หนาวมาก แล้วก็เปียกด้วย ต้องหาที่นอนตามใต้สะพาน หรือว่าที่ที่มีหลังคา ทั้งหนาวทั้งเปียกแบบนี้นอนกลางแจ้งไม่ได้ ต้องหาสถานที่ที่เปิดให้คนนอกเข้าได้ อาจจะเป็นศาลาในสวนสาธารณะ สถานีรถไฟหลังรถไฟเที่ยวสุดท้าย ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า กลางคืนเข้าไปราวสี่ทุ่มห้าทุ่ม พอตื่นมาตีสี่ก็รีบเดินออก ที่ไหนก็ได้ขอให้ไม่เปียก บางที่ก็ต้องใช้ผ้าห่มหรือผ้าร่มคลุมเป็นผ้าห่มถึงจะกันหนาวพอนอนได้ แต่ถ้าสถานีโทรทัศน์กำลังตามถ่ายอยู่ก็จะพยายามหาที่กางกลดนอนให้เขาถ่าย ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ค่อยกางร่มกลด อากาศหนาวจนนอนไม่ค่อยหลับ

   เย็นไหนถ้าอากาศดีดี ก็เดินเคาะประตูตามวัดเพื่อขอพักบ้าง ที่เลือกเฉพาะวันอากาศดีดีเพราะถ้าตัวเราผ้าเราเปียกก็เกรงใจไม่กล้าไปขอพัก เกรงว่าจะไปทำสถานที่เขาสกปรก เวลาไปขอพักก็บอกเขาว่าเราเป็นพระมาจากเมืองไทย มาธุดงค์ ขออาศัยพักได้ไหม พักตรงไหนก็ได้ บางครั้งก็ถูกปฏิเสธว่าไม่สะดวกบ้าง เจ้าอาวาสไม่อยู่บ้าง ถ้าเจ้าอาวาสไม่อยู่ก็หมายความว่ามีแต่ผู้หญิง เพราะพระญี่ปุ่นมีภรรยาได้ อยู่กันเป็นครอบครัว เจ้าอาวาสไม่อยู่ก็แปลว่าสามีไม่อยู่ เราเข้าใจก็บอกขอบคุณไปแล้วเดินหาต่อ ก็เดินต่อ ถ้าเจอเจ้าอาวาสนี่ก็แล้วแต่ บางคนก็ดีใจ นิมนต์พักต้อนรับปฏิสันถารอย่างดีก็มี เฉลี่ยแล้วจะถูกปฏิเสธไม่ให้พักประมาณหนึ่งที่ถึงสองที่ แล้วก็จะมีที่ที่อนุญาตให้พัก บางคนมีคนรู้จักหรือมีญาติอยู่ตามเส้นทางที่เราจะไป เขาก็เอาที่อยู่ เอาเบอร์โทรศัพท์ของคนนั้นให้อาจารย์ไว้ แล้วเขาจะโทรไปบอกคนรู้จักไว้ให้ก่อน ถ้าผ่านเมืองนี้แล้วก็แวะ ติดต่อให้นิมนต์พักที่นั่น เมื่อเราถึงใกล้ๆ ประมาณหนึ่งวันก่อนจะถึงย่านนั้นก็จะโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ที่เขาให้ไว้ ทางโน้นก็จะได้รู้แล้วก็จะนิมนต์ให้ไปพัก เราก็ได้ที่พัก ถ้ามีการโทรนัดติดต่อไว้ล่วงหน้าแบบนี้แล้วก็ไม่เคยถูกปฏิเสธเลย บางทีก็มีคนเห็นแล้วเกิดศรัทธา นิมนต์ให้พักที่บ้าน แต่นานๆที่จะมีแบบนี้สักครั้ง

   เรื่องที่พักในบางช่วงก็ลำบาก ถ้าไม่ได้พักตามวัดหรือตามบ้านก็ไม่ได้อาบน้ำซักผ้า ไม่ได้อาบน้ำตลอดอาทิตย์ก็มี เคยไปนอนพักใต้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำคิโซคาวา เป็นแม่น้ำใหญ่1ใน3ของญี่ปุ่น กลางคืนนอนก็มีรถไฟ "จึกกะชัก จึกกะชึก" พักที่ชายทะเลก็มี ต้องนอนบนพื้นทราย ทั้งหิวทั้งหนาว นอนไม่หลับแทบทั้งคืน บางครั้งไปนอนในลานจอดรถ อากาศหนาวมาก ลมแรง ฝนก็ตก มีที่ไปนอนที่ป้ายรถเมล์ ถึงจะมีหลังคาแต่ก็เจอพายุด้วย ฝนตกตลอด นอนก็ไม่หลับ แต่ก็ไม่มีที่อื่นให้ไปแล้ว เราก็ใช้ผ้าพลาสติกคลุม แต่ก็ยังหนาวอยู่นั่นเอง หายใจออกมาก็เป็นไอน้ำทันที คืนที่ต้องพักข้างถนนหลวงนี่หนาวที่สุด หนาวเหมือนอยู่ขั้วโลก


การบิณฑบาตระหว่างธุดงค์

  
เรื่องการบิณฑบาตนี่ก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน เพราะเราตั้งใจที่จะรักษาธุดงควัตรและพระวินัยว่าจะถือบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียว และไม่ฉันอาหารหลังเที่ยง แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมการตักบาตรอาหาร ที่มีมาบิณฑบาตก็จะเป็นพระนิกายเซ็น แต่ส่วนใหญ่จะใส่บาตรด้วยปัจจัยหรือข้าวสาร เวลาอาจารย์ออกบิณฑบาตจึงไม่ค่อยสะดวก โยมมักจะใส่เงิน 100เยนบ้าง 500เยนบ้าง ก็ต้องอธิบายว่าเราบิณฑบาตอาหาร ถ้ามีร้านขายอาหารอยู่ใกล้ๆ แล้วโยมที่จะใส่บาตรเดินไปซื้ออาหารพวกขนมปังหรือผลไม้มาใส่บาตรก็มี หรือไม่ก็ไปยืนบิณฑบาตที่ร้านขายของที่มีของกินขาย ถ้าเป็นเจ้าของอยู่เขาก็เลือกอาหารที่จะกินได้ใส่บาตร ถ้าไม่มีเจ้าของ พนักงานที่ดูแลร้านไม่กล้าใส่ ก็อาจจะเฉยไป อาจารย์ต้องบิณฑบาตแบบอินเดีย คือไปหยุดยืนหน้าบ้านสักพักหนึ่งให้เจ้าของบ้านเห็น แสดงตัวว่าเราจะบิณฑบาต ถ้าเดินไปเรื่อยๆตามทางแบบบิณฑบาตในเมืองไทย ก็มีน้อยคนที่จะเข้าใจว่าเรามาทำไม พอไปหยุดยืนหน้าบ้านให้เห็นเขาก็จะเข้าใจแล้วก็ใส่บาตร เวลายืนก็ไม่ไปยืนนานมาก วางกติกาไว้นิดหน่อยว่าจะสวดอิติปิโสในใจจบหนึ่ง ราวๆหนึ่งนาที ถ้าสวดจบแล้วเขาไม่มาใส่บาตร ก็จะเดินบิณฑบาตต่อ บางทีเจอเจ้าของร้านขายของเป็นผู้ชายนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ พอเหลือบมาเห็นเราเขาก็อ่านหนังสือพิมพ์ต่อ อย่างนี้เราก็รู้ว่าเขาไม่มาใส่บาตรแน่นอน เวลาเดินก็เอาบาตรออกมาข้างนอก แล้วแบกบริขารทั้งหมดไปด้วย ไม่ใช่ว่าวางบริขารไว้แล้วบิณฑบาตเสร็จค่อยเดินกลับมาเอา จะได้ไม่เสียเวลา ส่วนใหญ่ที่บิณฑบาตได้ก็เป็นขนมปัง ลูกอม ผลไม้ กล้วย ที่ใส่บาตรเป็นกับข้าวหรือข้าวไม่ค่อยจะมี แต่เท่าที่บิณฑบาตได้มาก็อิ่มได้ อิ่มน้อยๆ ในบาตรได้มาแต่มะเขือเทศ ฉันมะเขือเทศไปเยอะๆก็อิ่มอยู่เหมือนกัน แต่ไม่นานก็ย่อยเป็นน้ำหมด ถ้าฝนตกก็กลายเป็นว่าวุ่นอยู่แต่กับน้ำ ทั้งตัวเปียกทั้งระบายน้ำออกจากร่างกาย ที่บิณฑบาตได้น้อยที่สุดก็ที่เมืองโอกายาม่า บิณฑบาตทั้งเมืองจนเกือบจะเที่ยงก็ยังไม่มีใครใส่บาตรเลย ต้องเดินไปเรื่อยๆทุกซอย ได้มาแค่กล้วย 4 ผล กับแอปเปิ้ล 2 ลูกเท่านั้นเอง ตอนเดินบิณฑบาตไม่หิว แต่พอฉันเสร็จกลับยิ่งหิวขึ้นไปอีก

   บางครั้งบิณฑบาตเสร็จแล้วไปนั่งฉันที่ศาลเจ้าชินโต ส่วนมากจะไม่มีใครอยู่ มีแต่ศาลเจ้ากับสวนด้านหน้า อาจารย์เลยไปใช้สถานที่ เพื่อนั่งฉันบิณฑบาตสบายๆ แล้วมีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ70กว่าแล้ว มีศรัทธาเอาขนมมาถวายเยอะแยะเลย แต่อาจารย์ถือธุดงควัตร ซึ่งห้ามรับอาหารถวายภายหลังก็เลยปฎิเสธไป โยมเลยปวารณาว่า ต้องการอะไรที่พอจะจัดให้ได้ไหม รองเท้าอาจารย์ก็หูขาดอยู่ ใช้ลวดที่หามาได้ผูกไว้ให้พอใส่ต่อได้ อาจารย์เลยบอกไปว่าต้องการรองเท้า โยมเลยจะถวายให้สามคู่ พออาจารย์จะเดินไปซื้อด้วยจะได้ลองใส่ให้พอดี โยมผู้หญิงอายุ70คนนี้ก็ไม่ยอม บอกว่า "ไม่ได้ ไม่ได้ ที่นี่เป็นสังคมชนบทเล็กๆ ฉันเป็นผู้หญิง จะไปไหนกับผู้ชายแปลกหน้า ต้องถูกนินทาแน่นอน" เขาทำท่าอายด้วยนะ ทั้งที่อายุ 70-80แล้ว อาจารย์เลยไม่ได้ไปด้วย ให้โยมไปซื้อมาให้

   พอบิณฑบาตก็เริ่มคิดถึงอีสาน เพราะอย่างไรก็ได้ข้าวเหนียวแน่นอน ข้าวเหนียวฉันแล้วอยู่ท้อง อิ่ม แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ข้าว เพราะที่ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมว่า ถ้าจะถวายข้าวก็ต้องถวายของดีหน่อย จะใส่ข้าวและกับข้าวนิดหน่อยไม่ได้ ถ้าจะถวายก็ต้องถวายให้ดีๆ เลยไม่มีใครถวายข้าวสักเท่าไร แต่อาหารจำพวกขนมปังหรือผลไม้นี่เขาไม่ถือ ใส่อย่างไรก็ได้

   เมื่อมีโอกาสได้พักตามบ้านหรือตามวัด เจ้าของสถานที่ก็จะถวายอาหารอยู่แล้ว ก็จะมีพ่อบ้านแม่บ้านมานั่งทานรวมกันที่โต๊ะกินข้าว แต่ก็มีปัญหาว่า ทั้งที่เขารู้ว่าเราฉันมื้อเดียว พอมีแขกไปพักเขาก็เพิ่มกับข้าวให้เยอะเป็นพิเศษ แต่เท่าที่อาจารย์สังเกตเห็นคือเขาหุงข้าวน้อย อีกอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น มื้อเช้าจะทานกับข้าวแค่นิดหน่อย มีข้าวถ้วยหนึ่งกับซุปมิโซะ นัตโตะ สาหร่ายโนริ ทานอะไรง่ายๆ มื้อเที่ยงก็ธรรมดา จะมาหนักเอามื้อเย็น อาจารย์ก็ฉันหลังเที่ยงไม่ได้ ถ้าเจอแม่บ้านเป็นผู้หญิงเรียบร้อยเขาก็มักไม่ค่อยคุยกับแขก จะไปบอกอะไรเขามากก็ไม่ได้ เขาเลยหุงข้าวน้อยเหมือนเดิม แต่ถ้าแม่บ้านมาพูดคุยถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็จะอธิบายไปว่า เดินธุดงค์ต้องแบกบริขารหนัก 15 กิโลกรัม เดินทั้งวันใช้พลังงานเยอะ ถ้าได้ฉันข้าวเยอะๆหน่อยก็จะดี ไม่ได้บอกไปตรงๆว่าให้หุงข้าวเพิ่ม แต่เขาก็เข้าใจแล้วหุงข้าวเยอะๆ นานทีเจอลักษณะอย่างนี้สักครั้งก็อิ่มนิดหน่อย

   เวลาเดินบิณฑบาตตามซอยตามบ้านคน อาจารย์กับญาณะซังก็จะแยกกันเดินคนละสาย แล้วไปนัดเจอกันตรงปลายทาง อาจารย์ก็มักบิณฑบาตได้พอฉันแล้ว แต่ญาณะซังยังไม่พอฉันเลยต้องบิณฑบาตต่อ อาจารย์ก็นั่งรอ พอออกโทรทัศน์แล้วเขาก็บรรยายว่า อาจารย์กับญาณะซังแต่งตัวเหมือนกัน วิธีบิณฑบาตก็เหมือนกัน แต่อาจารย์คเวสโกได้อาหารมากกว่าลูกศิษย์ทุกที มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แปลกดีเหมือนกัน...

หมายเหตุ : 1.ตอนที่8จะนำมาลงอาทิตย์หน้านะครับ
                      2.ขอขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ "ธุดงค์ญี่ปุ่น" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก 
                         3.ลิงค์ตอนที่1 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2249170
                            4.ลิงค์ตอนที่2 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2254185
                                 5.ลิงค์ตอนที่3 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2259084
                                      6.ลิงค์ตอนที่4 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2262940
                                          7.ลิงค์ตอนที่ 5 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2268369
                                            8.ลิงค์ตอนที่6 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2278700

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

mangowink 9 ต.ค. 54 เวลา 15:59 น. 1

มีเป็นหนังสือขายทั่วไปไหมคะ แบบที่ร้านหนังสือทั่วไปนายอินทร์ หรืองานหนังสือ ประมาณนี้ 

อยากซื้อไว้เก็บค่ะ ขอบคุณที่นำมาให้อ่านนะคะ  

0