Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เนินพิศวง !! อาจจะไม่ใช่แค่ภาพลวงตา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สงสัยเนินพิศวง! อาจจะไม่ใช่แค่ภาพลวงตา
ถ้าพูดถึงเนินพิศวงแล้ว  มีอยู่หลายที่ด้วยกัน    เนินพิศวง มีลักษณะเป็นเนินเขาสูง ความน่าพิศวงที่เกิดขึ้น คือ เมื่อขับรถผ่านเนินลงไปจอดรถที่เชิงเนิน ดับเครื่องยนต์แล้วปลดเกียร์ว่าง รถจะไหลขึ้นจากเชิงเนินไปจนสุดยอดเนิน โดยมีการสันนิษฐานกันไว้ว่า เกิดจากภาพลวงตา เพราะภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง มีระดับพื้นที่เป็นเนินสูง-ต่ำอยู่โดยรอบ 
       เนินพิศวงยังเป็นปัญหาคาใจสำหรับอีกหลายๆคนที่ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด  ถึงแม้จะมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่ามันเป็นภาพลวงตา ก็ตาม   แต่ก็ยังสงสัยอยู่ดี  เพราะไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่าเหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้...และทำไมในเมื่อมันเป็นภาพลวงตา   แล้วทุกคนมองเห็นพร้อมกันและเห็นเหมือนกันอีก นี่อาจเป็นปัญหาที่สงสัยและคาใจอีกหลายๆคน  รวมทั้งตัวเจ้าของกระทู้เอง ก็เช่นเดียวกัน ที่ยังสงสัย จึงพยายามหาข้อมูลความรู้และคำตอบ จาก อินเทอร์เน็ต  และไปดูสถานที่จริงมาแล้วถึง  3  แห่งดว้ยกัน คือ

1. เนินพิศวง จังหวัดตาก อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 68 สายตาก - แม่สอด 






 2.   เนินพิศวง อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายมวกเหล็ก-วังม่วง (ทางหมายเลข 2089) ถัดจากอุโมงค์ต้นไม้มาเล็กน้อย 



 และ 3.  เนินพิศวง ที่ ตำบลบ้านพระ อำเภอเมืองปราจีนบุรี มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ น้ำตกเขาอีโต้ อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ 


       
 เส้นทางเข้าสู่เนินพิศวง จากตัวเมืองปราจีนบุรี ถึงสี่แยกเนินหอมซึ่งมีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   ตั้งอยู่ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๓ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไป    อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๖๐-๑๖๑ ผ่านวัดถ้ำเขาอีโต้ เจอทางแยกอีกเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์  ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็จะพบลักษณะเนินพิศวงนี้ครับ

         ที่นี้มีลักษณะเป็นเนินเขาสูง ความน่าพิศวงที่เกิดขึ้น คือ เมื่อขับรถผ่านเนินลงไปจอดรถที่เชิงเนิน ดับเครื่องยนต์แล้วปลดเกียร์ว่าง รถจะไหลขึ้นจากเชิงเนินไปจนสุดยอดเนิน สันนิษฐานว่า เกิดจากภาพลวงตาเช่นกัน เพราะภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง มีระดับพื้นที่เป็นเนินสูง-ต่ำอยู่โดยรอบ อย่างไรก็ดีมีประชาชนและผู้สนใจ เดินทางเข้าไปพิสูจน์ (ทดลอง) การไหลของรถอยู่เสมอ 



ในจำนวน 3  แห่งนี้ที่ผมไป มีอยู่ 2  แห่งที่ผมเอาเครื่องมือไปด้วย  เพื่อพิสูจน์ว่าที่จริงเนินนั้นมันเป็นยังไงกันแน่ คือที่ สระบุรี  และที่ปราจีนบุรีครับ โดยที่ปราจีนผมไปตั้งสองครั้ง  ผลที่ออกมาเมื่อใช้เครื่องมือเทียบก็เป็นไปตามที่เขาบอก     คือส่วนที่เราเห็นว่ามันเป็นเนิน แต่มันต่ำกว่าทางที่ขึ้นเนิน อย่างเห็นได้ชัดเมื่อใช้เครื่องมือเทียบดู
  


แต่ใจหนึ่งก็ค้าน เพราะสายตาเราก็ยังมองดูว่ามันเป็นเนินอยู่ดี เมื่อไปยืนอยู่ทางขึ้นเนิน ก็จะมองเห็นเป็นเนินขึ้นไป  เมื่อไปยืนอยู่บนยอดเนินมองลงมา ก็จะมองเห็นเป็นทางลงเนินเช่นกัน



เริ่มคิดและค้นหาคำตอบให้กับตนเอง ถ้ามันไม่ใช่แค่ภาพลวงตา มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น  หรือมีอะไรมากกว่าภาพลวงตา  คิดไปคิดมาก็ได้คำตอบให้กับตนเอง  เนินพิศวงที่เราเห็นนั้นมันอาจจะไม่ใช่แค่ภาพลวงตาก็ได้   ในภาพลวงตานั้นมันอาจมีความจริงซ่อนอยู่ก็เป็นได้

 มันอาจจะเป็นเนินตามที่ตาเราเห็นจริงๆ   เพียงแต่ตรงส่วนที่มองเห็นเป็นเนินนั้น มีความลาดเอียงเป็นองศาลงไปตามไหล่เขา จึงมีระดับต่ำกว่าทางขึ้นเนิน   เพราะเนินพิศวงบนถนนที่เขาตัดเกิดอยู่ในที่มีความลาดชันของไหล่เขา หรือพื้นที่สูงต่ำ  มีระดับพื้นที่แตกต่างกัน     ถึงส่วนที่เรามองเห็นว่ามันเป็นเนินก็จริงแต่มันก็จะต่ำกว่าทางขึ้นเนิน  เพราะโดยหลักการวัตถุย่อมไหลจากพื้นที่สูงลงสู้พื้นที่ต่ำกว่า   ตามแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่แล้ว   มันจึงทำให้มองดูเหมือนกับว่ารถไหลขึ้นเนินนั่นเอง   

 เจ้าของกระทู้และเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงาน ไปเที่ยวเนินพิศวง ด้วยกัน  ลองทดสอบเล่นๆโดยการทำตัวอย่างคล้ายๆกับเนินพิศวง  ที่คิดไว้  โดยการเอาแผ่นโลหะที่มีความอ่อนตัวได้ดี ขนาดความกว้าง สัก  20  cm  ยาว  30  cm  มาดัดให้เหมือนกับพื้นถนนที่มีเนินพิศวง ( คล้ายๆ )  แล้วทำมุมเอียงองศาให้ได้พอดีๆเหมือนกับความลาดชันของไหล่เขาหรือเนินสูงที่มีความลาดเอียงอยู่ในตัว พอที่จะทำให้วัตถุไหลผ่านเนินไปได้ แล้วใช้วัตถุวางลงไปบนทางขึ้นเนิน วัตถุนั้นก็จะไหลผ่านไปได้สบายเลย  และเจ้าของกระทู้ก็มีความคิดเห็นว่าถนนที่จะทำให้เกิดเนินแล้วรถไหลผ่านไปได้นั้นมันต้องมีคุณสมบัติหรือมีความลาดชันพอเหมาะพอเจาะอย่างที่ว่ามาแน่นอน ฉนั้นมันจึงอาจจะไม่ใช่แค่ภาพลวงตาอย่างที่ใครหลายคนเห็นเพียงอย่างเดียว
นี่เป็นเพียงอุปกรณ์ทดลองครับ ( จำลอง )ไม่ใช่สถานที่จริง มันจึงดูสูงชัน ตามหลักการแล้วถ้าเป็นถนนที่ตัดลงมาจากไหล่เขาที่สูงชันจริงๆ จะต้องโค้งไปโค้งมาครับ ไม่ใช่ลงมาตรงๆแบบนี้ ไม่งั้นรถคงหัวทิ่มแน่ หรือเวลารถวิ่งขึ้นตรงๆคงหมดแรงไหลตกเขาเป็นแน่
คลิปที่เจ้าของกระทู้กับเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงานทดลองการไหลของวัตถุผ่านเนินที่มีความลาดเอียงตามไหล่เขาครับ
 เพียงแต่ว่าทำไมเมื่อเราไปยืนตรงจุดนั้นเหมือกับว่ามันไม่ค่อยสูงชันเท่าไหร่   ก็เพราะว่าเราเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆเมื่อเทียบกับพื้นที่กว้างใหญ่ของบริเวณนั้น  บวกกับแรงดึงดูดของโลกและถนนที่เขาทำมาให้รถสามารถวิ่งได้สดวกสบายขึ้นจึงไม่มีความรู้สึกเท่าไหร่ว่ามันมีความลาดชันของเนินเขาอยู่ในตัว

แต่ก็พอจะรู้สึกได้นิดหน่อยเมื่อเราไปยืนตรงจุดที่เป็นเนินพิศวงนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนมีอะไรดึงดูดให้เราเอนไปทางยอดเนินยังไงยังงั้น นั่นแหล่ะครับคือความรู้สึกได้
ลงคลิป
คลิปทดสอบถังน้ำไหลขึ้นเนินพิศวง เขาอีโต้ ปราจีนบุรี
 
อีกคลิปครับ ผมเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มกำลังทดสอบการไหลของถังน้ำ
เลยไปขอเค้าถ่ายทำคลิปมาดูกัน ขนาดถังมีน้ำประมาณครึ่งนึงนะครับ ยังไหล
ได้เร็วเหมือนกัน สนุกๆครับ หาคำตอบยากเหมือนกัน 
      ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเพียงความคิดเห็นของเจ้าของกระทู้เท่านั้นครับที่พยายามจะหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง  หรือใครหลายๆคนที่ไปดูสถานที่จริงมาแล้ว และไม่เชื่อว่าภาพนั้นมันเป็นภาพลวงตา  ยังไม่ถือว่าเป็นคำตอบให้ทุกๆคนทีจะให้ใครยึดเป็นหลักการหรือคำตอบที่ถูกต้องได้  
แล้วเพื่อนๆ พี่ๆหล่ะครับคิดเหมือนผมหรือเปล่า
แต่ถ้าใครมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้พอที่จะอธิบายให้เข้าใจ ต้องการจะให้ความรู้เพิ่มเติม หรือมีวิธีการที่แน่นอนและดีกว่านี้ ก็เชิญได้ครับถือว่าแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้แก่กันและกันครับ ที่สำคัญมันจะเป็นความรู้อย่างมากสำหรับคนที่เข้ามาหาคำตอบ หรือความรู้เพิ่มเติมได้ครับ 
         

แสดงความคิดเห็น

>

7 ความคิดเห็น

พันโทอานันท์ 4 ส.ค. 57 เวลา 20:53 น. 1

คำตอบ “เนินพิศวง”

เรื่องเกี่ยวกับ “เนินพิศวง” ที่ทางไปอำเภอแม่สอดนี้ ผมรู้สึกดีใจมากวันนี้ (4/8/2557) ที่ได้ไปพบของจริงหลังจากที่ได้ยินอาจารย์ที่สอนวิชาจีออเดชี (Geodesy) ของผมเล่าให้ฟังตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 (พ.ศ. 2526) ซึ่งรวมเป็นเวลา 31 ปีแล้วจนถึงวันนี้

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ ซึ่งเป็นวิชาของนักสำรวจพิภพชั้นสูงได้พบเนินเหล่านี้ ก็จะ “พิศวง” และพยายามหาเหตุผล แล้วโดยมากจะสรุปว่าเป็น “ภาพลวงตา” นั้น แต่สำหรับนักศึกษาในศาสตร์นี้ตั้งแต่ การสำรวจ (Surveying) ไปจนถึง ศาสตร์การศึกษาสัณฐานพิภพชั้นสูง (Geodetic Science) จะเข้าใจและรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดุจเดียวกับที่เราไม่แปลกใจเวลาเอากรวยกระดาษใส่น้ำแล้วเอาเทียนลนแล้วกระดาษจะไม่ไหม้ไฟจนกว่าน้ำในกรวยนั้นจะหมดไป

หลังจากที่ผมได้จอดรถแล้วรถวิ่งขึ้นเนินสูงด้วยตัวของมันเองขาไป และวิ่งถอยหลังด้วยตัวของมันเองขากลับ ที่ทำให้คนทั่วไปใช้คำว่า “พิศวง” หรืองงๆนั้น ผมก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบเรื่องจริงที่อธิบายด้วยทฤษฎีนี้หลังจากเวลาผ่านมา 31 ปี
วิชานี้ ในระดับประยุกต์แบบพื้นราบก็จะเป็นวิชาสำรวจต่างๆ ที่ใช้เพื่อทำแผนที่และก่อสร้าง ส่วนในชั้นสูงก็จะเป็นการศึกษาสร้างดาวเทียมระดับ จีพีเอส ที่บอกตำแหน่ง และการนำยานอวกาศลงถูกตำแหน่งบนดาวดวงอื่นหรือคำนวณได้ว่าดาวเทียมที่หมดอายุแล้วจะมาตกที่พิกัดใดบนผิวโลกได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนักศึกษาที่เรียนวิชานี้อย่างละเอียดในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สถาบันคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) คณะวิศวกรรมแผนที่ และคณะวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องเนินพิศวงนี้ เป็นเรื่องเดียวกับความพิศวงในการสร้างบ้านเอียงๆบนเทือกเขาถ้าบางท่านเคยเห็น และต่อไปนี้ ผมจะอธิบายด้วยภาษาที่ง่ายที่สุด โดยหวังว่า ท่านที่ไม่ได้เรียนวิชานี้จะเข้าใจได้ง่ายครับ

ในวิชาจีออเดซี จะพูดถึง พื้นผิวของโลก 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
1) ผิวภูมิประเทศ (Topography) หรือพื้นผิวจริงของโลกที่เราเดินเหินกันอยู่ทุกวันนี้
2) พื้นผิวเอลลิปซอยด์ (Ellipsoid) หรือ พื้นผิวทรงรี ที่มีลักษณะเป็นเรขาคณิตที่คำนวณได้ใกล้เคียงพื้นผิวของภูมิประเทศมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันใช้ Word Geodetic System 84 (WGS 84) ซึ่งจะมีขนาดของ3 แกน เฉพาะและคำนวณได้ทุกที่บนผิวโลก ก็จะได้เป็นพิกัด ละติจูด (เส้นรุ้ง) และลองกิจูด (เส้นแวง) ส่วนความสูงก็จะวัดคำนวณเพิ่มหรือลดจากผิวนี้ไปยังผิวภูมิประเทศจริง
3) ผิวทรงกลม (Sphere) เป็นผิวที่ใกล้เคียงกับทรงรีนั้น แต่จะมีความต่างจากผิวภูมิประเทศมากขึ้น เพราะจริงๆแล้วโลกของเรามีลักษณะคล้ายทรงรีมากกว่าทรงกลมเนื่องจากมันป่องกว่าที่บริเวณศูนย์สูตร มากกว่าขั้วโลกเหนือและใต้ และทรงกลมนี้จะใช้กับวิชาภูมิศาสตร์ บอกเป็นละติจูดและลองกิจูด แต่มันจะต่างกับของทรงรี คือตำแหน่งจะเพี้ยนกันไปบ้าง
4) ผิวจีออยด์ (Geoid) เป็นพื้นผิวซึ่งเกิดจากการคำนวณตามศักยภาพ (Potential) ของแรงดึงดูดของโลก ซึ่งเมื่อต่อผิวของมันต่อเนื่อง มันจะเป็นเหมือนก้อนหินที่ไม่มีรูปทรงเรขาคณิต แต่มีผิวเป็นคลื่นราบเรียบคล้ายน้ำทะเลนิ่งๆ แต่มีลักษณะเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ คำนวณทางพีชคณิตแบบง่ายๆไม่ได้ ตั้งคำนวณด้วยวิชาเกี่ยวกับแรงดึงดูด เป็นสูตรที่ซับซ้อนมาก

ในการบอกตำแหน่งของจุดๆหนึ่งบนผิวโลก จะบอกพิกัดทางราบหรือบนผิวเป็นละติจูดหรือลองกิจูด ซึ่งถ้าเป็นภูมิศาสตร์ธรรมดาก็จะใช้ทรงกลม แต่ถ้าละเอียดๆในวิชาจีออเดซีก็จะใช้ผิวเอลลิปซอยด์หรือทรงรี ส่วนความสูงจะวัดจากผิวจีออยด์

การคำนวณผิวจีออยด์ทั่วโลกทำได้ยากเพราะต้องรู้ความเข้มข้นของทั้งสนามแม่เหล็กและแรงดึงดูดของโลกทุกๆจุดบนผิวโลกอย่างละเอียดมาคำนวณ สมัยก่อนจนมาถึงสมัยนี้จึงใช้ “ระดับทะเลปานกลาง (mean sea level) มาแทน ซึ่งเราจะได้ยินเขาทำนายน้ำขึ้นสูงสุดและสูงสุดจากพื้นผิวนี้ ซึ่งถ้าน้ำทะเลปานกลางของทุกประเทศเป็นผิวเดียวกัน ก็จะต่อเป็นผิวจีออยด์ได้ ทว่าแต่ละประเทศเริ่มต้นไม่เท่ากันจึงต่อไม่ได้ สรุปว่า ถ้าระดับทะเลปานกลางของไทยเป็นค่าผิวจีออยด์เริ่มต้น แล้วต่อไปทั่วโลกทุกทิศทาง นั่นก็จะเป็นผิวจีออยด์ และความสูงของทุกๆจุดบนผิวภูมิประเทศก็จะวัดจากผิวนี้
ผิวจีออยด์มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราเอาลูกดิ่งมาทิ้งดิ่งแล้ว เส้นเชือกของลูกดิ่งที่นิ่งๆนี้จะตั้งฉาก หรือทำมุม 90 องศา กับผิวจีออยด์ทุกๆจุด

ผิวทั้ง 4 นี้ จะไม่ทาบทับสนิทกัน แต่จุดที่เริ่มต้นพิกัดของโลกจะพยายามเริ่มต้นที่ผิวทั้ง 4 ทาบทับราบเป็นแนวเดียวกัน ฉะนั้น เส้นตั้งฉากกับผิวทั้ง 4 ก็จะเป็นเส้นดิ่งเดียวกัน แต่เมื่อระยะทางไกลออกไป ผิวทั้ง 4 ซึ่งต่อไปนี้จะพูดเพียง ผิวภูมิประเทศกับผิวจีออยด์ ก็จะแตกออกจากกันไปเรื่อยๆ

ผิวจีออยด์นั้น ยิ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางโลกจะยิ่งมีศักยภาพมากขึ้น และที่ใดก็ตามที่มีมวลสารมากอย่างเทือกเขา ก็จะมีศักยภาพสูงขึ้น

ธรรมดาแล้ว เราบอกว่า น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ และรถควรจะไหลลงเนิน แต่แท้จริงแล้ว น้ำจะไหลไปสู่ที่ซึ่งมีศักยภาพสูงขึ้นและรถก็เช่นกัน

สำหรับในพื้นราบแล้ว ศักยภาพที่สูงขึ้นจะอยู่ต่ำกว่าพื้นดิน ฉะนั้น น้ำจะไหลลง แต่ในบริเวณภูเขา จะมีหลายจุดที่จีออยด์มุดขึ้น คืออยู่สูงขึ้น เนื่องจากมีมวลสารมากบริเวณนั้น น้ำจึงไหลขึ้นที่สูงกว่าบนผิวภูมิประเทศ หรือรถจึงไหลขึ้นไปสู่ศักยภาพที่สูงขึ้น (มีแรงดึงดูดมากขึ้น) ดังนั้น ที่เราเห็นรถไหลขึ้นเนินนั้นเป็นความจริง มันไม่ได้หลอกตา แต่มันไหลเข้าสู่ศักยภาพของแรงดึงดูดที่มากขึ้น

สำหรับการเอียงของบ้านที่สร้างนั้น เนื่องจากบนเขาสูง ผิวของภูมิประเทศกับผิวจีออยด์จะไม่ขนานกัน แต่ลูกดิ่งตั้งฉากกับผิวจีออยด์ ฉะนั้น การสร้างเสาบ้านตามลูกดิ่งจึงเฉียงไปจากผิวของภูมิประเทศ หมายความว่า เส้นที่ตั้งฉากกับผิวภูมิประเทศกับเส้นดิ่งหรือเส้นที่ตั้งฉากกับผิวจีออยด์นั้นจะแตกทำมุมกัน บ้านจึงเอียง และถ้าเอาหลอดระดับของช่างที่ใช้วัดระดับราบมาวาง ระดับของไม้วัดนั้นจะตั้งฉากกับเสาบ้าน เพราะมันจะตั้งฉากกับเส้นดิ่งที่ตั้งฉากกับผิวจีออยด์ หมายความว่า ระดับน้ำนั้นจะทำให้ผิวของไม้วัดระดับทำตัวขนานกับผิวจีออยด์ทุกๆจุดบนผิวโลก แต่ที่เราไม่เห็นผิดปกติบนพื้นราบเพราะ ผิวของจีออยด์และผิวภูมิประเทศจะค่อนข้างขนานกันจนแยกไม่ออก

บนบริเวณที่มีมวลสารมากๆตามเทือกเขาต่างๆ จึงมีโอกาสที่จะเกิดการไหลของรถขึ้นเนินได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ภาพลวงตาแต่อย่างใดครับ

+พันโทอานันท์ ชินบุตร
FB: พันโทอานันท์ ชินบุตร ชีวิตเปี่ยมพลัง




0
พันโทอานันท์ 5 ส.ค. 57 เวลา 09:39 น. 3

(เพิ่มเติม เกี่ยวกับพื้นผิวศักยภาพ)
สังเกตที่คลองปานามาฝั่งแปซิฟิกมีระดับน้ำสูงกว่าอีกฝั่งหนึ่งคือแอตแลนติก 20 เซ็นติเมตร แต่ศักยของมันโดยเฉลี่ยจะเท่ากัน จึงต้องทำการเพิ่มหรือลดจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก โดยเติมน้ำเข้าหรือลดลงไปเป็นช่วงๆ

0
Big Snake 27 ส.ค. 57 เวลา 21:04 น. 4

ขอบพระคุณมากๆครับ สำหรับความรู้ที่มากมายมหาศาลนี้  ท่านพันโทอานันท์   ขินบุตร  หวังว่าผู้ที่ได้เข้ามาอ่านจะได้ความรู้กันนะครับ

0
วัลลภ 15 ม.ค. 60 เวลา 22:24 น. 7

งงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง !!! ครับ
...
คือ วัตถุ จะไหลไปสู่จุดที่มีศักยภาพสูงกว่า แม้พื้นบริเวณนั้นๆ จะเป็นเนินขึ้นไป เข้าใจว่าศักยภาพอะไรนี่ ก็มีอำนาจมากกว่าแรงโน้มถ่วงฯ ดิครับ ? แรกสุดเลย ผมคิดไปถึงอะไรที่เกี่ยวกับสนามแม่เหล็ก เพราะเห็นแต่รถ ซึ่งเป็นโลหะ ไหลขึ้นเนิน ... แต่มายอม เมื่อเห็นเอาน้ำเปล่ากลิ้งขึ้นเนินนี่เอง ....
.....
อะไรคือศักยภาพ ที่ชาวบ้านพอจะเข้าใจเพิ่ม ครับผม

1
ปลาทอง 6 เม.ย. 61 เวลา 17:53 น. 7-1

ศักภาพก่คือ แรงโน้มถ่วงนั่นล่ะครับ

อธิบายง่ายสุดแล้ว ถ้าอธิบายเยอะกว่านี้ ไป ยาว

0