Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ภาคต่อ - ทำไมนิยายของฉันถึงไม่มีใครอ่าน !?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

          ขอไม่อารัมภบทอะไรนะครับ  เพราะเนื้อหาครึ่งหลังค่อนข้างยาว(เดี๋ยวจะไม่จบ)

          สำหรับท่านที่ยังไม่เห็นกระทู้แรก กดตรงนี้เลยครับ

 

-------------------------------------------------------

แนวทางปฏิบัติของนักเขียนหน้าใหม่

ทำอย่างไรให้คนอ่านไม่ร้อง ยี้ !!!

-------------------------------------------------------

ภาคจบ - คลิกเข้ามาแล้วทำยังไงจะไม่ถูกกดปิด

 

5. เพลงประกอบอย่าตั้งเป็นออโต้

          หลังจากที่นักอ่าน(เรื่องมาก)ได้ตัดสินใจคลิกเข้าสู่หน้าบทความแล้ว  ถามว่าเราจะเริ่มอ่านนิยายของคุณในทันทีหรือเปล่า ? คำตอบคือไม่ครับ  เวลาว่างๆ ที่พวกเราจะหานิยายอ่าน  บ่อยครั้งที่เราเลือกเปิดหน้านิยายที่เราสนใจโดยใช้คำสั่ง “Open in new tab” หน้านิยายที่กองเอาไว้ว่าตั้งท่าจะอ่านจะถูกรวมกันเอาไว้ในหน้าต่างบราวเซอร์  บางคนอาจจะทิ้งไว้สักสามสี่เรื่องแล้วมาดูสักที หรือในบางคนอาจจะเป็นสิบเรื่อง 

          หากนิยายที่เข้าตามันมีเยอะเกินไป  อะไรจะเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้คนอ่านเลือกที่จะปิด Tab นิยายทิ้งไปทั้งที่ไม่ได้เข้าไปอ่าน.. มันคือ เสียง

          นึกภาพดูนะครับ.. มีคนอ่านนิยายจำนวนไม่น้อยที่ชอบเปิดเพลงไปด้วยอ่านนิยายไปด้วย  แล้วถ้าอยู่ดีๆ มี เสียงแปลกปลอมดังขึ้นมาขัดจังหวะเพลงสุดโปรดที่เขาหรือเธอกำลังฟังอยู่ล่ะ

          หากนักอ่านคนนั้นเป็นแนวเนิบๆ ง่ายๆ ไม่รีบร้อน  เขาอาจจะยอมเสียเวลาเข้าไปในหน้านิยายต้นเสียงนั้นแล้วไล่หาปุ่มปิดเสียงหรือปุ่มหยุดเพลงประกอบอันไม่พึงประสงค์  ถ้าหาง่ายๆ ก็แล้วไป  แต่ถ้าซ่อนไว้ลึกมากๆ เห็นทีจะไม่เข้าท่าแน่

นักเขียนท่านไหนที่ตั้งเพลงเป็นออโต้แล้วหวังจะเจอแต่นักอ่านกลุ่มเนิบๆ ง่ายๆ ที่ว่านี้ล่ะก็  บอกเลยว่ายาก เพราะส่วนมากนักอ่านจะมาแนวใจร้อนมากกว่าคือ ปิดทิ้งมันทั้งหน้านิยายนั่นแหละ !

          นักเขียนควรตระหนักไว้ตั้งแต่วินาทีที่คิดจะใส่เพลงประกอบลงไปในหน้านิยายเลยนะครับว่า เพลงของคุณไม่ได้เพราะสำหรับทุกๆ คน’     ถ้าเจอคนที่ชอบแนวเดียวกัน บวกกับเขาคนนั้นไม่ได้เปิดเพลงคลอระหว่างเล่นอินเตอร์เน็ต  คุณจะเป็นนักเขียนที่โชคดีมาก  แต่ถ้าเงื่อนไขที่ว่ามานั้นมีไม่ครบ  ความเสี่ยงที่หน้านิยายจะถูกปิดไปตั้งแต่ยังไม่ถูกอ่าน มีสูงมากทีเดียว

          ฉะนั้น..   เพลงออโต้ของท่านเอามันออกไปเถอะครับ

 

6. สีสันและการตกแต่งต้องพอเหมาะ

          มาถึงจุดนี้เราๆ นักอ่านได้กดเข้ามาสู่หน้านิยายของท่านๆ นักเขียนแล้ว  สิ่งต่อมาที่เราเห็นก็คือการจัดแต่งหน้านิยายด้วยลูกเล่นต่างๆ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า Theme  พอพูดถึงเรื่องนี้นักเขียนหลายๆ คน (โดยเฉพาะมือใหม่) อาจจะคิดว่าสีสันที่โดดเด่นสะดุดตาจะเป็นจุดขายชั้นดีที่จะเรียกคนเข้ามาอ่านนิยายของท่านได้  แต่ในความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นแค่ครึ่งเดียวครับ

          ถ้านักเขียนท่านไหนทำจุดนี้ได้ดี  สีสันเข้าท่า ลูกเล่นต่างๆ ไม่ได้ดูรก หรือดูเยอะเกินความจำเป็น  ใช่เลยครับ  Theme สวยๆ จะเป็นจุดที่ช่วยเสริมความน่าสนใจของนิยายได้เป็นอย่างดี  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าหากว่าสีสันที่นักเขียนเลือกใช้มันไม่ถูกที่ถูกทางสักเท่าไหร่  มันก็เป็นส่วนที่สามารถไล่นักอ่านออกไปได้เร็วไม่แพ้เสียงเพลงในข้อที่แล้ว

สีขาวเจิดจ้า สีดำทะมึน หรือรูป Background ที่ไม่ได้จัดการกับ transparent/opacity มาก่อน (ทำให้รูปจางลง;ลายน้ำ) พื้นหลังแบบนั้นประกอบกับการเลือกใช้สีของตัวหนังสือที่อ่อนหรือเข้มจนเกินไปอาจส่งผลให้การอ่านเป็นไปได้ยากขึ้น 

ถ้ามันอ่านยาก ! นั่นถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรง เพราะนักอ่านคงไม่มานั่งเพ่งมองตัวอักษรแบบนี้แน่  และผลที่ตามมาก็คือ.. ปิดทิ้ง

          นอกจากสีพื้นหลังและตัวอักษรแล้ว  รายละเอียดเล็กๆ อีกอย่างที่ไม่อยากให้นักเขียนพลาดก็คือการดัดแปลง Cursor ของ Mouse  อันนี้ถ้าเป็นไปได้อย่างไปยุ่งกับมันเลยครับ  เพราะมันทำให้เกิดความไม่คุ้นเคยในการใช้งาน  มีอยู่บ่อยครั้งที่ผมหาเมาส์ตัวเองไม่เจอเพราะมันถูกเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นอย่างอื่น   และเมื่อช่วงเวลาแบบนั้นเกิดขึ้นมันจะทำให้นักอ่านอย่างผมออกอาการเซ็งอยู่เหมือนกัน

          อันที่จริงแล้วการไม่ได้ใส่ Theme สวยๆ ก็ไม่ได้ทำให้หน้านิยายลดความน่าสนใจลงแต่อย่างใดนะครับ  แต่การใส่ Theme แย่ๆ ต่างหากจะเป็นข้อเสีย    

 

7. หน้ากระดาษ  และการใช้คำบางประเภท

          ก่อนที่จะเริ่มอ่านนิยายเรื่องใหม่สักเรื่องหนึ่ง  สิ่งที่นักอ่านเรื่องมากอย่างผมมักจะทำอยู่เสมอก็คือการเปิดสุ่มตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องขึ้นมาแล้วดูรูปแบบการจัดหน้า และการใช้คำคร่าวๆ ของนิยายเรื่องนั้นก่อน

          ไม่ได้บอกว่านักอ่านทุกคนทำแบบนี้หรอกนะครับ  แต่มันเป็นวิธีการประเมินที่ดีซึ่งสามารถบอกถึง ฝีมือของผู้เขียนได้ในระยะเวลาอันสั้น 

          ในประเด็นแรกคือ หน้ากระดาษคุณนักเขียนรู้ไหมครับว่าการเลื่อน Scroll mouse เร็วๆ โดยไม่ต้องอ่านอะไรเลยจะสามารถบอกอะไรได้บ้าง ?

1) ความยาวต่อ 1 ตอน  ต้องไม่สั้นเกินไป (ยาวเกินไปนั้นผมยังไม่เคยเจอ)  นิยายบางเรื่องหั่นตอนถี่มาก  ถึงขนาดที่ว่าความยาวต่อหนึ่งตอนได้ไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ A4  ในมุมมองของนักเขียนอาจจะมองว่านั่นเป็นการแบ่งอัพที่มีประสิทธิภาพ  และดีกว่าในแง่ที่สามารถอัพเดทนิยายได้อย่างต่อเนื่อง  แต่ในทางกลับกัน.. นักอ่านบางคนอาจจะมองว่าคนแต่งมือไม่ถึงหรือเปล่า  ทำไมเขียนตอนนึงได้สั้นขนาดนี้ ?  

ในกรณีนี้นักเขียนบางคนอาจจะบอกว่าการเขียนเป็นตอนสั้นๆ จะทำให้สามารถอัพเดทได้บ่อย  อาจจะวันละสามครั้ง หรือสี่ครั้ง (นำไปสู่การได้ยอดวิวเยอะๆ)  แล้วแบบไหนล่ะที่ดีกว่า ? ถ้าถามผมล่ะก็.. ผมเชื่อว่าหนึ่งตอนที่สมบูรณ์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ จะบ่งบอกถึงความสามารถของนักเขียนได้ดีกว่าหนึ่งตอนที่หั่นสั้นๆ ครับ

แสดงความคิดเห็น

>

36 ความคิดเห็น

[S]ilver - VVing~* 24 ก.ค. 58 เวลา 02:57 น. 1

 

          2) การจัดย่อหน้า  เป็นเรื่องที่มือใหม่พลาดกันเยอะ  ทั้งๆ ที่หากมีประสบการณ์การอ่าน(นิยายที่ตีพิมพ์)มาพอสมควรแล้วล่ะก็จะเห็นได้ทันทีเลยว่า  การเขียนแบบมีย่อหน้านั้นดูสบายตากว่าการเขียนแบบชิดขอบเป็นไหนๆ   การแบ่งย่อหน้าที่ดีจะเอื้อให้นักอ่านสามารถอ่านจับประเด็นต่างๆ ได้ง่าย  และทำให้ไม่รู้สึกตาลายจากการที่ต้องทนกับตัวหนังสือติดกันเป็นพืดมากจนเกินไป  

ทั้งที่ถูกต้องตามหลักและถูกใจนักอ่านขนาดนี้ก็แปลกดีที่หลายๆ คนยังเลือกจะเขียนชิดซ้ายอยู่อย่างเดิม

          3) Font  ขนาดตัวอักษร การเว้นช่องไฟ  และการเว้นบรรทัด  รายละเอียดยิบย่อยอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆ คนไม่นึกถึง  มันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เอื้อให้นักอ่านสามารถอ่านได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกับเรื่องย่อหน้า 

ในเรื่อง Font  ขนาดตัวอักษร และการเว้นช่องไฟคงไม่ต้องชี้จุดอะไรมาก  ขอแค่มันไม่แปลกประหลาดจนเกินไปเชื่อว่านักอ่านทุกคนจะรับได้  แต่ในกรณีของการเว้นบรรทัดนั้นควรจะยกมาเป็นประเด็นสักหน่อย  เพราะนักเขียนหลายๆ คน(แน่นอนว่าโดยเฉพาะมือใหม่) ใช้การเว้นบรรทัดได้สุดลิ่มทิ่มประตูกันสุดๆ  บ้างก็ติดกันเกินไปจนตาลายเพราะไม่มีช่องว่าง  บ้างก็ห่างกันเกินไปจนคนอ่านสงสัยว่าต้องการเพิ่มจำนวนหน้าหรืออย่างไรกันแน่ 

          สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่หลักของความพอดี  ซึ่งต้องอาศัยการอ่าน แล้วการดูตัวอย่างของคนอื่นนั่นแหละครับ

 

          ประเด็นที่สอง  คือ การใช้คำบางประเภท  ซึ่งสามารถทำให้นักอ่านเห็นภาพรวมของความสามารถเชิงภาษาของนักเขียนได้โดยไม่ต้องเริ่มอ่านจริงๆ จังๆ ถ้าเป็นผมที่ชอบสุ่มเลือกขึ้นมาหนึ่งตอน  จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ผมเลือกที่จะปิดนิยายเรื่องหนึ่งๆ ทิ้ง ได้แก่

          4) สัญลักษณ์ที่ไม่น่าจะมาอยู่ในงานเขียนนวนิยาย  ยกตัวอย่างเช่น ‘5555+’  ‘#$$#)@*^’  รวมไปถึง ‘^o^’ ‘=___=’ ‘T^T’ และอื่นๆ อีกมากมาย  ในที่นี้อาจยกเว้นนิยายรักบางกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์เหล่านี้กันจนเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักอ่านมาช้านานแล้ว  แต่สำหรับนิยายหมวดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้น  การใช้สัญลักษณ์แบบนี้ในนิยายถือเป็นการบ่งบอกถึงฝีมืออันอ่อนด้อย (ฟังดูแรง  แต่เป็นความรู้สึกจริงของนักอ่านหลายๆ คน) 

          การพรรณนาให้เห็นภาพถือเป็นทักษะพื้นฐานที่นักเขียนจะต้องมี  ฉะนั้นอะไรที่บรรยายได้ก็ต้องบรรยายออกมา  นักเขียนจะต้องสื่อให้ได้ว่าหญิงสาวคนนั้นยิ้มได้หวานตรึงใจขนาดไหน  และต้องแสดงให้เห็นให้ได้ว่าน้ำตาของเธอคนนั้นสื่อถึงความเจ็บช้ำเจียนตายได้อย่างไร 

การเรียบเรียงความรู้สึกที่เป็นนามธรรมออกมาให้เป็นคำ เป็นประโยคให้ได้  นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นความสามารถของนักเขียน

          5) คำหยาบคาย ตัวเลือกที่หลายๆ คนเลือกใช้ด้วยเหตุผลที่ว่า มันได้อารมณ์กว่า ใช่ครับ  หลายๆ ครั้งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่านักเขียนจะมีแต่อะไรแบบนี้เท่านั้นในการดึงอารมณ์ของคนอ่าน  คำหยาบคายที่มานานๆ ครั้ง  แต่ใช้ออกมาในเวลาที่มันถึงที่สุดจนไม่มีคำอื่นจะมาใช้แทนได้  อันนี้ถือว่าฉลาดใช้ 

ตรงกันข้าม.. หากมาบ่อยเกินไป  หรือหยาบเกินไปโดยไม่ได้มีความจำเป็น  คำเหล่านี้จะฉุดให้คุณค่าของงานเขียนดิ่งลงเหวไปในทันที  เพราะฉะนั้นนักเขียนจะต้องรู้ว่าหยาบคายอย่างไรให้ดูดี  สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ

          6) ภาษาวิบัติและการสะกดผิดที่ไม่น่าให้อภัย เช่น คัยอ้ะ’  ‘ปัยหนัย’ ‘เอาจิงเหรอค่ะเป็นอะไรที่คนอ่านเห็นแล้วจะส่ายหน้าแล้วกดปิดหน้าต่างอย่างเร็วที่สุด  คำเหล่านี้มีผลคล้ายๆ กับอิโมติคอนเพราะมันบ่งบอกถึงวุฒิภาวะของคนเขียน  และความเอาใจใส่ในผลงาน   จงอย่าใช้มันโดยไม่จำเป็นเด็ดขาด

 

8. การแสดงออกของนักเขียน

          หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายที่มีความสำคัญ  เพราะเมื่อถึงเวลาที่นักอ่านเข้ามาเยี่ยมเยียนถึงหน้านิยายซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประตูบ้าน  ถ้อยคำการแสดงออกของเจ้าบ้านจะเป็นความประทับใจแรกที่แขกผู้มาเยือนได้รับรู้ 

          แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกันที่ถ้อยคำเหล่านั้นสร้างความรู้สึกที่เป็นลบขึ้นมา  ยกตัวอย่างเช่น

          1) การขับไล่ไสส่งนักอ่านเงา และ การข่มขู่คุกคามเพื่อให้ได้มาซึ่งคอมเมนต์ 

ทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นสิ่งเดียวกันเพียงแต่ต่างกันที่ระดับความรุนแรง  นักเขียนควรทราบว่านักอ่านทุกคนก่อนที่จะเป็นแฟนคลับของนิยายสักเรื่อง  พวกเราต้องเริ่มจากการเป็นนักอ่านเงาเสมอ  น้อยจริงๆ ครับนักอ่านที่พร้อมจะลุยคอมเมนต์ให้ท่านตั้งแต่เริ่มอ่านไปไม่กี่หน้าไม่กี่บท  และถ้าคุณนักเขียนขับไล่พวกเราตั้งแต่เรายังไม่ได้เริ่มอ่านแล้วล่ะก็  คุณจะคาดหวังการคอมเมนต์จากเราได้อย่างไร ?

อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก  คือทัศนคติของนักเขียนที่มีต่อ จำนวนคอมเมนต์

อย่าลืมครับว่ามันเป็นหน้าที่ของคนเขียนที่จะต้องทำให้คนอ่านรู้สึกอยากคอมเมนต์  มันไม่ใช่หน้าที่ของคนอ่านเลยที่จะต้องมาคอมเมนต์เพื่อให้คนเขียนเขียนนิยายออกมา  การเอายอดคอมเมนต์มาเป็นเงื่อนไขในการอัพเดทนิยายจึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ฉลาดนักสำหรับนักเขียนที่ต้องการคอมเมนต์ดีๆ ที่จริงใจและมีประโยชน์

            2) คอมเมนต์ได้ แต่อย่าใช้ถ้อยคำที่รุนแรง 

ประโยคเด็ดที่นักเขียนหน้าใหม่ใช้เพื่อป้องกันตัวอยู่บ่อยๆ แต่หารู้ไม่ว่าคำๆ นี้มีประโยชน์น้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่เสียไป  ทราบหรือไม่ว่าโดยธรรมชาติของนักก่อกวนที่ชอบคอมเมนต์แรงๆ ด่าหยาบๆ ไม่มีใครหรอกครับที่จะฟังคำห้ามปรามเหล่านั้น  ลองมีสักคนคิดอยากจะด่าแรงๆ ขึ้นมาล่ะก็  การร้องบอกว่า อย่ารุนแรงมันไม่ได้ช่วยอะไรเลยกับสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ  แต่ประโยคนี้กลับมีผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งซึ่งนักเขียนอาจจะไม่รู้..

          มันเป็นการบอกกลายๆ ว่านักเขียนคนนี้จิตอ่อน  และ(อาจจะ)ไม่สามารถทนต่อการคอมเมนต์ตรงๆ ได้

(ถ้าเป็นในสังคมบอร์ดประโยคนี้ก็เหมือนกับ คำว่า คหสต. ซึ่งใช้เป็นเกราะป้องกันตัวเองในรูปแบบที่คล้ายกัน)

          ทุกๆ ครั้งที่ผมเห็นคำขอร้องเหล่านี้  ต่อให้เป็นนิยายที่ผมคิดอยากจะคอมเมนต์แค่ไหนผมก็จะปล่อยผ่านไปแทบทุกครั้ง  เพราะอะไรล่ะ ? อย่าลืมว่านิยามของ ถ้อยคำที่รุนแรงในบริบทของแต่ละคนนั้นหนักเบาไม่เท่ากัน  ถ้าผมไม่แน่ใจว่าการคอมเมนต์ตรงๆ ตามเนื้อผ้าของผม  จะไปก้าวผ่านเส้นแบ่งของคำนิยามว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงของนักเขียนคนนั้นหรือเปล่า  ในกรณีแบบนี้ผมเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ให้ตัวเองปลอดภัย  ดีกว่าแหลมหน้าออกไปให้เสี่ยงต่อการถูกนักเขียน(และเหล่าแฟนคลับ)ตอกหน้ากลับมา

          ถามว่าสุดท้ายใครเสียประโยชน์ ? ก็ฝ่ายนักเขียนนั่นแหละครับ..

            3) แย้งทุกคำที่นักอ่านคอมเมนต์

          เคยเห็นไหมครับนักเขียนที่พูดไว้เสียดิบดีว่ายินดีรับความเห็นทุกรูปแบบ  แต่พอเอาเข้าจริงกลับโต้กลับทุกความเห็นที่ไม่เป็นไปอย่างที่อยากได้  ยกตัวอย่างเช่น

          นักอ่าน : ‘พระเอกเป็นคนสุขุมเยือกเย็นไม่ใช่หรือครับ  ทำไมถึงสติแตกเอาง่ายๆ กับการถูกเหยียบเท้า

          นักเขียน : ‘ถ้าคุณถูกเหยียบเท้าบ้างจะไม่โกรธหรือไงครับ  พระเอกของผมสุขุมอยู่แล้ว  ไม่เห็นหรือไงว่าเขาไม่ได้ด่ากลับสักคำ  ต่อยเปรี้ยงเดียวจบ

          หรือ

          นักอ่าน : ‘รู้สึกเหมือนหลังๆ เรื่องมันเอื่อยๆ สนุกน้อยลง

          นักเขียน : ‘ถ้าจะเมนต์ให้นักเขียนเสียกำลังใจแบบนี้อยู่เงียบๆ ไม่ต้องเมนต์ก็ได้นะคะ

          ยกตัวอย่างสุดโต่งไปหน่อย  แต่เชื่อเถอะครับว่านักอ่านหลายคนเคยพบเห็นนักเขียนลักษณะนี้มาก่อนแล้วจริงๆ  ที่ผมยกเรื่องการแสดงออกของนักเขียนขึ้นมาพูดทั้งหมดนี้ใช่ว่านักเขียนจะไม่มีสิทธิ์พูดสิ่งที่ตัวเองคิด  แต่อยากจะย้ำเตือนเท่านั้นว่านักเขียนต้องคิดให้เยอะๆ ก่อนจะพูดอะไรออกมา 

อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับนักอ่านมันอยู่ได้ด้วยอะไรหลายๆ อย่างมากกว่าแค่การโยนนิยายไปให้อ่านแล้วนับยอดแฟนคลับกับจำนวนคอมเมนต์ครับ

 

-------------------------------------------------------

 

สรุปรวบยอดทั้งหมดของ แนวทางปฏิบัติ ทั้งแปดข้อนี้หวังผลเพียงแค่ให้นักอ่านที่ไม่รู้จักกับท่านและนิยายของท่านได้มอบโอกาสที่จะเข้ามาสัมผัสกับเรื่องราวที่ท่านนักเขียนเขียนขึ้น  ส่วนที่เหลือหลังจากนี้คือ ทำอย่างไรให้นักอ่านของท่านคงอยู่กับท่านตลอดไป  ผมไม่สามารถจะสาธยายออกมาได้เนื่องด้วยความสามารถที่มีอยู่จำกัด  หากเพื่อนๆ ชาวบอร์ดท่านใดมีข้อชี้แนะก็แบ่งปันกันมาได้ครับ

        หวังว่ากระทู้ทั้งสองจะมีประโยชน์กับนักเขียนหน้าใหม่บ้างไม่มากก็น้อยครับ

        ราตรีสวัสดิ์ครับ...

1
Chay_A 25 ก.ค. 58 เวลา 17:59 น. 1-1

ให้เคล็ดลับดีมาก เราจะลองใช้นะ เพิ่งลองเขียนเป็นครั้งแรกขอบคุณคะเยี่ยม

0
nesugiso 24 ก.ค. 58 เวลา 08:49 น. 2

ไม่ใช่นิยายแนวตลาด หรือไม่ใช่แนวที่นักอ่านส่วนใหญ่ต้องการ ด้วยครับ

0
S.D.Wind 24 ก.ค. 58 เวลา 09:08 น. 3

ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีๆค่ะ ตรงใจตรงแย้งทุกคำที่คอมเม้นต์มากมาย ฮา แต่มันก้ำกึ่งระหว่างเหตุผลของคนแต่งและความชอบส่วนตัวของคนอ่านเหมือนกันนะ

0
Vradica 24 ก.ค. 58 เวลา 10:31 น. 7

กระทู้ดีงามจริงๆค่ะ ขอบคุณมากนะคะ
เราเองเป็นนักอ่านที่แม้ไม่ได้เปิดหน้านิยายไว้เยอะๆหลายเรื่อง และไม่ได้ฟังเพลงไปด้วยขณะอ่าน แต่ถ้าเจอเรื่องไหนมีเพลงดังขึ้น...แล้วบังเอิญเป็นเพลงที่ไม่ตรงรสนิยมเรา เราก็ปิดนิยายนั้นทิ้งอยู่ดี(เรื่องมากสุดๆค่ะเรา 5555)

0
maew- maew 24 ก.ค. 58 เวลา 16:10 น. 10
เห็นด้วยกับข้อ 4 เป็นอย่างยิ่ง เราเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ชอบให้มีสัญลักษณ์ต่างๆมาปรากฏใน

นวนิยาย  มันแสดงถึงความสามารถในการบรรยายลักษณะของตัวละครของนักเขียนคนนั้นๆ  

      ไม่ขอเถียงอีกเช่นกันว่ามีนิยายบางแนวที่ใช้แบบนั้นเช่นนิยายวัยรุ่นแนวเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น(ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องใช้สัญลักษณะแทนหน้าตาแสดงอารมณ์ของตัวละคร หรือเราแก่ไปเลยไม่เข้าใจอารมณ์มุ้งมิ้งของวัยรุ่น)
เมื่อเราเห็นนิยายที่ใช้แบบนี้จะปิดทันทีไม่อ่านต่อ   จะว่ามีอคติไม่ยอมรับรูปแบบใหม่ ใจไม่กว้างเปิดรับสิ่งใหม่ๆก็ได้  เราว่านิยายคือก็บรรยายออกมาให้เห็นภาพ นักอ่านแต่ละคนอาจเห็นภาพต่างกันมันคือเสน่ห์ของนิยายเรื่องนั้นๆ   แต่ถ้าเป็นสัญลักษณ์ใครอ่านก็เห็นเหมือนกันหมด  (เราชอบมโนเองมากกว่า นักอ่านส่วนใหญ่เป็นนักมโนที่ยอดเยี่ยมกันทั้งนั้น  เอะ!หรือคิดไปเองหว่า)
1
Tanapa gat 30 ก.ค. 58 เวลา 22:04 น. 10-1

เราก็เป็นค่ะ บางครั้งก็สงสัยอยู่ว่าทำไมไม่บรรยายออกมามันดู้เป็นมืออาชีพมากกว่า (ไม่น่าเกี่ยวกับอานุเพราะเราก็ยังไม่ถึง15) เราก็มีแต่งนิยายบ้างนะแต่ก็ไม่เคยใส่รูปหน้า คือเราว่ามันก็ไม่ผิดอะไรแต่(ไม่รู้เป็นคนเดียวรึเปล่า)รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาลึกๆ บางครั้งก็คิดไม่ออกว่าจะร้องไห้แบบไหน เช่นT^T มันได้ทั้งหน้าน้อยใจกับเศร้าจริงๆ ส่วนใหญ่ที่เห็นตามนิยาย(เล่ม) จะเป็นหน้าน้อยใจงอนๆ แต่บางคนก็ดราม่าหน้านี้จนบางครั้งก็เดาไม่ถูก
ปล.ไม่พอใจก็ขอโทษด้วย

0
Polaria 1999 24 ก.ค. 58 เวลา 16:47 น. 11

ข้อ 4 นี่มันเป็นอะไรที่จริงมากค่ะ นิยายรักหวานแหววของวัยรุ่นจะนิยมใช้กันเราก็ไม่ได้ขัดเคืองอะไร แต่ถ้าเราไปอ่านหมวดอื่นก็มีการปิดทิ้งๆนะฮ่ะ มันเหมือนจะบอกถึงความอ่อนด้อยในการบรรยายของนักเขียนจริงๆแหละ

0
วาณิช 24 ก.ค. 58 เวลา 20:34 น. 12

"นักเขียนท่านไหนที่ตั้งเพลงเป็นออโต้แล้วหวังจะเจอแต่นักอ่านกลุ่มเนิบๆ ง่ายๆ ที่ว่านี้ล่ะก็  บอกเลยว่ายาก เพราะส่วนมากนักอ่านจะมาแนวใจร้อนมากกว่าคือ ปิดทิ้งมันทั้งหน้านิยายนั่นแหละ !" -โอ๊ยยย..แทงใจดำ เราเป็นนักอ่านกลุ่มนี้แหละ//แต่เราใจร้อนยิ่งกว่านั้น ถ้าเปิดหลายๆหน้าแล้วหาต้นเสียงไม่ได้ก็ ปิดมันทุกหน้าที่เปิดไปเลย!!!

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

-Haru- 24 ก.ค. 58 เวลา 23:48 น. 16

ข้อ 3 นี่ใช่เลย... เปิดไปตอนเดียวเห็นรวมๆว่าไม่เว้นบรรทัด ตัวอักษรติดกันเป็นพรืด ไม่มีย่อหน้า ปิดค่ะ... เนื้อเรื่องน่าสนใจแค่ไหนก็ปิดค่ะ เจอแบบนี้เราไม่อ่านซักบรรทัดเรากดปิดเลย มันดูไม่น่าอ่าน ไม่มีระเบียบอ่ะ ตาลายไปหมด คำวิบัติก็เหมือนกัน อ่านมาเพลินๆเจอ 'ไปไหนค่ะ?' 'เป็นอะไรไปค่ะ?' แรกๆก็รับได้หลังๆมีเลิกนะคะบอกเลย
     ความยาวตอนนี้สำคัญนะอัพสั้นแต่อัพบ่อยสำหรับเราก็ไม่ได้ช่วยอะไรอ่ะ คือก็ไม่ได้ว่างมาตามทุกวันอ่ะ อัพอาทิตย์ละ1-2ครั้งแต่ยาวอันนี้ดองไปเถอะรับได้อยู่ สำหรับเรานะ 
กดตามกดเฟบได้ก็กดเลิกได้ค่ะ ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีๆที่ให้นักเขียนนำไปปรับปรุงและรู้ความต้องการของเราค่ะ

จากใจนักอ่านคนนึง

2
vanaya 25 ก.ค. 58 เวลา 08:35 น. 16-1

ฮือ เห็นใจคนอัพบนมือถือย่อหน้าไม่ได้บ้างนะคะ ToT พยายามย่อแล้วแต่มันไม่สำริดผลที่ดีเลยค่ะ

0
Miku Hatsuna 27 ก.ค. 58 เวลา 00:46 น. 16-2

อันนี้ก็จริง เห็นด้วยกับคห.16-1 แต่ถ้าใครที่อัพคอมแล้วยังเขียนติดอีกคงต้องเห็นด้วยกับคห.16(สองจิตสองใจแฮะ-_-)

0
wildwillow 25 ก.ค. 58 เวลา 02:35 น. 17

ตรงใจที่สุด แต่นิยายที่มีคุณสมบัติครบมันหายากและส่วนใหญ่ไม่ค่อยอัพค่ะเศร้าจัง

0
HiresLoll 💋♥ 25 ก.ค. 58 เวลา 08:19 น. 18

ในฐานะที่ผมเป็นนักอ่าน ผมอยากจะบอกว่า ผมไม่ชอบวลีที่ผู้แต่ง เขียนไว้หน้านิยาย ก่อนเข้าอ่านในแต่ละตอนว่า
"ไม่เม้นไม่อัพ" ความรู้สึกแรกที่เราต้องการเวลาอ่านนิยาย มันก็เหมือนความประทับใจแรกพบ 
ในความรู้สึกผม ถ้าคุณแต่งสนุก น่าติดตามก็ย่อมมีคนอยากคอมเม้นเป็นธรรมดา แต่การที่คุณแต่งเรื่องน่าเบื่อไม่สนุก แบบที่เห็นแล้วมันไม่ใช่ ซ้ำวลีเด็ดที่คุณบอก ไม่เม้นไม่อัพนั้น ทุกครั้งผมก็คิดว่า ไม่อัพก็แล้วแต่คุณเพราะผมจะไม่กลับไปอ่านเป็นครั้งที่สอง
และอีกอย่างคือ ผมไม่เข้าใจนักเขียนบางคน เหมือนจะเเต่งนิยายสดหน้าเด็กดี เอาลงเลย ไม่กี่บรรทัด 1 ตอน และหายไปสิบวัน มาลงอีก 1 ตอน สั้นๆ และไม่กลับมาแต่งอีกเลยหายไปหลายปี ทิ้งดองค้างไว้. ได้โปรดอย่าทำแบบนี้ มันเปลืองเนื้อที่ และเสียเวลาของผู้อ่านหลายคน
ผมขอแนะนำว่าลองแต่งให้ได้อย่างน้อยสัก 10 หน้า เอสี ขนาด 18 อังสนา เเล้วลองคิดว่าตนจะแต่งต่อหรือทิ้ง เมื่อมั่นใจแล้วค่อยลงจะดีกว่า. (คหสต)

1
ลอร์ดโวลเดอมอร์ 26 ก.ค. 58 เวลา 15:52 น. 18-1

เห็นด้วยเลยค่ะ พอเปิดอ่านแล้วเจอ ไม่เมนต์ไม่อัพ นี่แบบ อืมมมม ไม่อัพก็เรื่องของคุณค่ะ บางเรื่องนี่ไม่ต้องบอกให้เมนต์ เราก็เมนต์ให้นะ เพราะเนื้อเรื่องสนุก บรรยายดี เข้าถึงอารมณ์ตัวละคร แล้วก็ประเภทที่ขึ้นอัพเดตแล้ว พอกดเปิดเข้าไปดู เปิดให้เจิม ถึงสองร้อยเมนต์ สามร้อยเมนต์เจอกัน เพลียค่ะ บอกเลย

0
Luzel 25 ก.ค. 58 เวลา 23:23 น. 20

ดีมากค่ะ

เรายืนยันเลย ว่าการมีเพลงรันออโต้ และไอคอนไล่นนักอ่านเงา ทำให้เราปิดเรื่องนั้นๆทันทีโดยที่ไม่คิดจะอ่านก่อนเลย

ถ้าผ่านข้างบนไปได้ก็ภาษาวิบัติ ตัวหนังสือยาวเป็นพืดนั่นล่ะ ที่ยอมรับไม่ได้

0