Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รุ่นพี่ฝากบอก! 10 คำถามที่น้องๆ ควรถามตัวเองก่อน "ลงสนามสอบ" ไม่งั้นเฟลแน่

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่



สวัสดีครับน้อง ๆ พี่ชื่อลูกชิ้น จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ปี 3 ครับ

ก่อนหน้านี้ พี่เคยรีวิวช่วงเวลาการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และวิศวฯ จุฬาฯ ของพี่ไปแล้ว แค่พี่คิดว่าที่จริงแล้ว แนวทางของพี่สามารถนำไปใช้กับการสอบเข้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ครั้งนี้พี่ก็เลยตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือ ... 10 คำถามที่น้องต้องถามตัวเองก่อนเตรียมตัวสอบ ครับ !

พี่เชื่อว่าคำถามที่ดี สามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้ พี่จึงมองย้อนมองว่าตอนนั้นเราถามอะไรตัวเองไปบ้าง และเราได้คำตอบแบบไหนออกมา ผลสุดท้ายพี่ก็ทำภารกิจได้สำเร็จทั้งสองครั้ง เพราะอย่างนั้นเอง พี่ก็เชื่อว่า แค่น้องอ่านบทความนี้ แล้วตอบคำถามให้ได้ทุกข้อ โอกาสสอบได้ของน้องก็เพิ่มขึ้นทันที แต่ถ้าปัจจุบันน้องยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ครบ พี่แนะนำให้น้องหาคำตอบให้เจอก่อน ไม่อย่างนั้นการสอบเข้าจะยากกว่าที่ควรเป็นแน่ ๆ


   
1) ทำไมถึงอยากเข้าโรงเรียน / คณะ / มหาวิทยาลัยนี้ ?

น้อง ๆ คงจะมีโรงเรียน หรือคณะในฝันของตัวเองอยู่แล้ว ประเด็นคือ ทำไมเราต้องเข้าที่นี่ล่ะ?

พี่เชื่อว่าคนเราต้องมีจุดมุ่งหมายนะ ตอนที่พี่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พี่มีหลายคำตอบเลยครับ หนึ่งคือ พี่คิดว่าอยู่ที่โรงเรียนเดิมมันไม่เวิร์คแล้ว สองคือพี่ชายของพี่เข้าโรงเรียนนี้แล้วมีแต่ความสุข และท้ายที่สุดคือ พี่เชื่อว่าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ จะทำให้ชีวิตของพี่ดีขึ้นได้ครับ

ส่วนตอนที่พี่สอบเข้าวิศวฯ จุฬาฯ พี่ต้องสารภาพว่า พี่ให้คำตอบกับคำถามนี้น้อยเกินไป มาจนถึงตอนนี้ พี่ถามตัวเองว่า อยากเป็นวิศวกรเหรอ? พี่ตอบเลยว่าไม่ พี่อยากเป็นผู้บรรยายกีฬา อยากเป็นนักเขียน และอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วิศวกรรม (พอคนถามว่าจะทำงานอะไร พอพี่ตอบก็งงกันหมด) ตอนนั้นพี่เข้ามาโดยที่มีคำตอบแค่ว่า ที่นี่เค้าสอบเข้าหมอไม่ก็วิศวฯ เลยเข้าวิศวฯ ดีกว่า แล้วเค้าก็เข้าจุฬาฯ กันหมด เราก็เข้าที่นี่ดีกว่า 

พอตอนนี้ พี่ก็ไม่ได้ชอบวิศวฯ ทำให้ปีหนึ่งของพี่ผ่านไปอย่างยากลำบาก พี่คิดถึงขั้นจะไปซิ่วคณะอื่น แต่ท้ายที่สุด คำตอบของคำถามนี้ของพี่ก็ค่อย ๆ ผุดออกมา เช่น เรียนที่นี่ให้จบ แล้วไปทำอย่างอื่นก็ยังได้ และขึ้นชื่อว่าวิศวฯ จุฬาฯ ใคร ๆ ฟังก็คงเชื่อว่าเป็นคนมีความสามารถ

เรื่องพี่เข้าวิศวฯ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่คนเดียว มีเพื่อน ๆ พี่จากเตรียมอุดมฯ อีกเยอะเลย ที่ตอนหลังรู้สึกว่าตัดสินใจผิดที่เข้าหมอ หรือเข้าวิศวฯ 

เพราะอย่างนั้น คำถามข้อนี้จึงเป็นคำถามข้อแรก และมีความสำคัญมาก ๆ ในบรรดาคำถามทั้งหมดครับ

2) ต้องทำอย่างไร ถึงจะเข้าไปเรียนที่นี่ได้

อย่างวิศวฯ จุฬาฯ น้อง ๆ หลายคนคงทราบดีว่าหลัก ๆ จะมีผ่านระบบโควตา ระบบรับตรง และระบบแอดมิชชันกลาง 

ที่สำคัญคือ แต่ละระบบนั้น มีเกณฑ์การรับที่ต่างกัน เพราะการตอบคำถามข้อนี้เอง ถึงทำให้พี่ตัดสินใจได้ว่า เออ เราต้องสอบให้ได้ตั้งแต่รอบรับตรงเลยแหละ เพราะมันง่ายที่สุดสำหรับเราแล้ว แล้วน้อง ๆ ล่ะครับ รู้หรือยังว่า ถ้าอยากไปเรียนที่ที่เราต้องการ จะต้องทำยังไงบ้าง

คำถามย่อย ๆ ของข้อนี้ ก็คือ สมัครสอบเมื่อไหร่ สอบเมื่อไหร่ ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง เกณฑ์คะแนนเป็นอย่างไร น้อง ๆ สามารถหาคำตอบนี้ได้ด้วยตัวเอง โดยการค้นหาบนอินเตอร์เน็ต หรือเข้าเว็บไซต์ทางการของสถาบันครับ


3) ตอนนี้เราอยู่ห่างจากเส้นชัยขนาดไหน ?

หลังจากเรารู้วิธีการแล้ว สิ่งที่เราต้องรู้ต่อมาก็คือ ตอนนี้เรายืนอยู่ตรงไหน และเส้นชัยอยู่ห่างไกลแค่ไหนกันแน่

วิธีที่ดีที่สุดในการรับรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ก็คือให้น้องหาข้อสอบเก่ามาสักชุดนึงเป็นตัวแทน แล้วจับเวลาทำข้อสอบแต่ละวิชาตามเวลาที่กำหนดไว้ ตรวจเอาคะแนนมาเทียบกับเกณฑ์คะแนนในปีนั้นว่าสอบติดหรือไม่ หรือว่าเรายังห่างไกลอีกเยอะกันแน่

ถ้าเราไม่รู้เกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละปีนั้น ให้คาดเดาด้วยตัวเองว่า ควรจะได้อย่างน้อยเท่าไหร่ เช่น ถ้าอยากเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์ หากน้องทำคะแนนได้ทุกวิชาเฉลี่ยรวมกันได้ 55/100 โอกาสติดก็สูงครับ

ต่อไป พอเรารู้ว่ายืนอยู่ตรงไหนแล้ว ก็ต้องดูว่าเราจะปรับปรุงแก้ไขตัวเองอย่างไรบ้าง

4) เพราะอะไร เราถึงยังทำคะแนนได้ไม่มากพอ

ตอนที่พี่จะสอบเข้าวิศวฯ จุฬาฯ แล้วรู้ว่าจะต้องสอบ PAT1 พี่ก็ได้ลองทำข้อสอบเก่าดู ปรากฏว่าได้คะแนนแค่ราว 30 กว่าคะแนนเท่านั้นจาก 300 ครับ ซึ่งถือว่าห่างไกลจากที่ควรมาก ๆ พี่รู้ตัวว่าไม่ได้เป็นคนโง่เลขขนาดนั้น แต่เหตุผลที่คะแนนได้น้อยของพี่คือ พี่ยังไม่เคยเจอโจทย์ที่โหดหินแบบนั้นมาก่อน แถมยังไม่สามารถบริหารเวลาให้ทำแต่ละข้อได้ทันอีกด้วย 

หลังจากน้อง ๆ รู้คะแนนของตัวเองจากการจำลองสอบเองแล้ว น้องก็ต้องดูว่า เหตุผลที่คะแนนหายไปคืออะไร ไม่ว่าจะเป็น อ่านโจทย์แล้วยังไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไร หรือไม่เข้าใจว่าคำศัพท์ในโจทย์กำลังพูดถึงอะไรอยู่ หรือว่าเราทำต่อไปเรื่อย ๆ แล้วติดแหง่ก ไปต่อไม่ได้ ประเด็นหลักคือ หาสาเหตุให้เจอว่า ทำไมถึงทำโจทย์ข้อนั้นไม่ได้นั่นเอง


5) คิดดูดี ๆ แล้ว เราทำได้หรือเปล่า ?

เมื่อน้องรู้จุดมุ่งหมายของตัวเอง รู้วิธีการ รู้ว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหน ทีนี้ก็ถึงเวลาที่น้องต้องประเมินตัวเองครับ ว่าสิ่งที่เราต้องการนั้น มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือเปล่า

โดยส่วนตัวแล้ว พี่มีความเชื่อว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละคณะ ไม่ว่าจะยากโหดหินแค่ไหน ถ้าเวลามากพอ เราก็สามารถทำได้ แต่คำถามที่ท้าทายความเชื่อนี้ก็คือ "แล้วเรามีเวลาเพียงพอหรือเปล่าล่ะ ?"

เวลาที่พี่ว่า ไม่ได้หมายความว่า 3 เดือน หรือ 1 ปีนะครับ ความจริงแล้วการสอบเข้าต่าง ๆ ก็เหมือนการวิ่งระยะไกล ถ้าเราไม่ได้วิ่งสะสมมาก่อนเลย ปัจจุบันก็คงมีคนแซงหน้าเราไปเยอะ ถ้ามันห่างไกลเอามาก ๆ ก็ไม่แน่ว่าต่อให้มีเวลาสัก 5 ปี เราก็อาจจะยังทำไม่ได้ 

เคล็ดลับก็คือ ถ้าน้องตอบว่า "ก็พอจะเป็นไปได้อยู่นา" ล่ะก็ แปลเป็นอีกความหมายนึง ก็จะได้คำตอบว่า "ถ้าเราทำเต็มที่สุด ๆ ความเป็นไปได้ต้องสูงมากแน่ ๆ" นั่นเองครับ

6) ถ้าเกิดสอบไม่ได้ แล้วจะเอายังไงต่อ 

กรณีที่จุดมุ่งหมายของเรานั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ล่ะ แล้วเราจะเอายังไงต่อ ?

คำตอบก็คือ เราต้องหาตัวเลือกที่รองลงมา แล้วยังพอใจอยู่ครับ 

สิ่งสำคัญของข้อนี้คือ น้องต้องรู้ว่าตัวเองต้องการเรียนอะไรกันแน่ ถ้าน้องต้องการเรียนหมอ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้า จุฬาฯ หรือ ศิริราชเท่านั้น แต่ที่มหาวิทยาลัยอื่นยังมีอีกเพียบ ถ้าจุดมุ่งหมายของเราคือการรักษาคนไข้ คือการเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นจริง ๆ แล้วล่ะก็ ชื่อของสถาบันอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ได้

หรือถ้าน้องคิดว่าอาจจะสอบเข้าหมอที่ไหนไม่ได้เลย ก็ต้องลองพลิกแนวคิดของตัวเองว่า ถ้าเราต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ยังมีคณะไหนที่เราสามารถเข้าเรียนได้หรือไม่ หรืออาจเอาทัศนคตินั้นมาปรับใช้กับคณะอื่นเช่น อาจจะเข้าวิศวฯ แล้วเตรียมตัวประกอบอาชีพวิศวกรที่เกี่ยวกับการสร้างเครื่องจักรกลที่ช่วยเหลือมนุษย์ได้เป็นต้นครับ




7) ที่คิดว่าตัวเองโง่ / ฉลาด น่ะ จริงหรือเปล่า ?

พี่เคยเห็นน้อง ๆ หลายคนมาแล้ว ว่ามีทัศนคติที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่เก่งเกินจริงจนหลงระเริง

คำถามนี้ถือว่าเป็นการท้าทายทัศนคติของน้อง ๆ มากที่สุด เพราะความเชื่อของตนเองจะมีส่วนในการเสริมสร้าง หรือบั่นทอนกำลังใจตลอดช่วงเวลาการเตรียมตัวสอบของน้อง ๆ ครับ

แนวคิดที่พี่อยากจะปลูกลงในสมองของน้อง ๆ ก็คือ "เราไม่ได้เป็นคนโง่ ถ้าเราตั้งใจ เราย่อมเรียนรู้ได้ แต่เราก็ไม่ใช่คนฉลาด เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ" ว่ากันว่า คนที่ด่าตัวเองว่าโง่ จะโง่ลงจริง ๆ เพราะปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองฉลาด ก็จะหลงระเริงจนคิดว่าตนเองถูกต้องไปเสียทุกอย่าง หรือเชื่อว่าไม่ต้องรีบเตรียมตัวตอนนี้ก็ได้ ท้ายที่สุด ทั้งสองแนวคิดนั้นจะพาตัวเราไปสู่ความล้มเหลว

8) อะไรคืออุปสรรคที่ต้องระวังไว้ระหว่างเตรียมตัวสอบ ?

ถ้า ของหวาน คืออุปสรรคของการลดน้ำหนัก อุปสรรคของการเตรียมตัวสอบก็คือ โทรศัพท์มือถือ ครับ

คำว่าอุปสรรคนี้ พี่กำลังพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จะคอยรบกวนตัวเราระหว่างการเตรียมตัวสอบครับ เช่น ถ้าเราอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ข้างโต๊ะมีคอมพิวเตอร์ ข้างหลังมีที่นอน ซ้ายมือมีหนังสือการ์ตูน แบบนี้น้องก็มีโอกาสที่จะถูกเบี่ยงเบนสมาธิสูงมาก ๆ สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่จะต้องระวังเอาไว้สุด ๆ เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งรบกวนจนสอบไม่ติด ทั้งที่วางแผนอย่างดีก็มีมาแล้ว

การหาอุปสรรคของตัวเองไม่ใช่เรื่องยากเลย ก็แค่ถามตัวเองว่า "เราเสพติดอะไร" เท่านั้นเอง เราอาจจะติดนิยาย ติดซีรีส์ ติดการ์ตูน นู่นนี่นั่น ไม่ใช่ว่าเราต้องตัดมันทิ้ง แต่ต้องทำให้แน่ใจว่า มันจะไม่มาคอยรบกวนเราในการเตรียมตัวสอบครับ

9) สอบครั้งนี้ เราจะทำให้เต็มที่หรือเปล่า ?

น้องเห็นคำถามนี้แล้วอาจจะสงสัย "เอ๊ะ คำถามบ้าอะไรวะ ใครล่ะจะทำไม่เต็มที่"

พี่พูดเลยนะครับ หลังจากผ่านช่วงประกาศคะแนนแล้ว คำตอบที่พี่ได้ยินจากปากของคนที่ผิดหวังมากที่สุดก็คือ "เสียดายว่ะ กูน่าจะทำให้มันดีกว่านี้"

แล้วน้อง ๆ ล่ะครับ เคยผ่านจุดที่ทำไม่ได้ตามเป้าของตัวเอง แล่วก็บ่นให้คนอื่นฟังว่า "ทำไม่เต็มที่" หรือเปล่าล่ะ การสอบเข้าครั้งนี้ จะปล่อยให้มันเป็นข้ออ้างของเราอีกครั้งหนึ่ง แล้วทำลายชีวิตของเราเหรอครับ

แต่พี่ก็เชื่อว่า ถ้าเป็นตอนนี้ น้องก็จะต้องตอบว่า "เต็มที่อยู่แล้วแน่ ๆ" คำถามต่อมาก็คือ "จะแน่ใจได้ยังไงว่าเรากำลังทำเต็มที่อยู่จริง ๆ"

คำตอบของพี่ก็คือ ไม่แน่หรอก แต่อย่างน้อย สิ่งที่เราจะทำให้ตัวเองได้ในตอนนี้ ก็คงมีแค่การคอยเตือนตัวเองเท่านั้นครับ แต่ถ้าเราอยู่เฉย ๆ ก็คงไม่นึกเตือนตัวเองขึ้นมา 

น้องอาจจะทำแบบพี่ก็ได้ คือ พี่วงกลมวันที่พี่จะต้องสอบเอาไว้ แล้วค่อย ๆ ขีดกากบาทวันที่ผ่านไปแล้วไปเรื่อย ๆ ทีละวัน เป็นการ countdown ว่าเราเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นการทำให้พี่คอยทบทวนตนเองอยู่เสมอว่า "วันนี้เราทำตัวให้เข้าใกล้จุดมุ่งหมายของเราเพิ่มขึ้นหรือยัง ?" นั่นเอง

10) ที่ตอบมาทั้งหมด เป็นความจริงเหรอ ?

ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคำตอบของเรานั้น จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากว่าเรากำลังหลอกตัวเอง

พี่อยากให้น้อง ๆ แน่ใจว่า ทุกคำตอบของตนเองที่ตอบไปในแต่ละข้อ ทั้งหมดเป็นความจริงที่มาจากตัวเรา 

น้องลองมองย้อนไปที่แต่ละข้อดู ถ้าน้องไม่ตอบตามที่ตัวเองเชื่อล่ะก็ น้องจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากคำถามเหล่านี้กลับไปเลยแม้แต่นิดเดียว

ข้อ 10 นี้คือข้อสุดท้าย แต่ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าข้ออื่นแต่อย่างใด สิ่งที่พี่ฝากไว้คือ อย่าหลอกตัวเองเด็ดขาด ถ้าเรากำลังมีปัญหา ให้ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา ถ้าตัวเองยังไม่เก่ง ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่เก่ง หลังจากนั้น ถึงจะหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้น แล้วแก้ไข ท้ายที่สุดเราก็ย่อมหลุดจากปัญหาได้แน่นอน
คำถามทั้ง 10 ข้อของพี่ก็หมดลงแล้ว ลองเขียนคำตอบของตัวเองลงในกระดาษดูนะครับ หวังว่าน้อง ๆ จะหาคำตอบให้กับตนเองได้จนครบทุกข้อ อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ก็ได้ แต่ก็ควรจะหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุดครับ

เพราะถ้าเราเริ่มก่อนใคร ก็เหมือนได้สตาร์ทออกจากลู่เป็นคนแรกครับผม

พี่แนะนำให้น้องเซฟเก็บบทความนี้ไว้ถามตัวเองเรื่อย ๆ ตลอดการเตรียมตัวสอบเลยนะครับ เพราะระหว่างทาง คำตอบของเราอาจเปลี่ยนไปได้เสมอ และน้องควรหยิบมันออกมาดูเมื่อไม่แน่ใจครับ





น้องคนไหนอยากรู้เรื่องราวตอนที่พี่สอบเข้าวิศวฯ จุฬาฯ หรือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าไปอ่านบทความเก่าได้ที่ลิงค์นี้นะครับ

วางแผนสอบเข้าวิศวฯ จุฬาฯ 8 เดือน : www.dek-d.com/board/view/3605587/

ซิ่วเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ใน 6 เดือน : www.dek-d.com/board/view/3608535/

น้อง ๆ คนไหนที่มีคำถามเกี่ยวกับการเรียน พี่ยินดีให้คำปรึกษา และคำแนะนำกับน้อง ๆ อย่างเต็มที่เลยครับ ขอให้น้อง ๆ เข้ามากดไลค์เพจเฟซบุ๊ก "ลูกชิ้น" ที่ลิงค์นี้นะครับ http://facebook.com/HuaLookchin เข้ามาคุยกันได้นะ !

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

wen-naw 12 มี.ค. 59 เวลา 11:20 น. 1

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆน้ะค้าา ตอนนี้หนูกำลังจะขึ้น ม.5 แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจกับคณะที่อยากเข้าในอนาคตเลย แต่พอมาอ่านบทความของพี่ ทำให้หนูรู้สึกว่าต้องหาสิ่งที่ตัวเองชอบจิงๆได้แล้ว ขอบคุณพี่ลูกชิ้นมากๆน้ะค้ะ

0
Soonmee 14 มี.ค. 59 เวลา 20:36 น. 3

ขอบคุณมากเลยนะคะสำหรับบทความดีๆ ทำให้หนูกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าพร้อมแล้วรึยัง?:) ตอนนี้ก็กำลังจะสอบเข้าม.4แล้ว จะพยายามอย่างเต็มที่ในการสอบเข้าค่ะ

0