Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รวม 10 โรงเรียน "ในพระบรมราชูปถัมภ์" โรงเรียนของพ่อหลวง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

     โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านต่างๆ เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือและให้ความอุปถัมภ์ และยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเป็นประจำ ซึ่งมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ลองไปดูกันว่ามีโรงเรียนอะไรบ้าง

1. โรงเรียนจิตรลดา
       โรงเรียนจิตรลดา ตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น แรกเริ่มเป็นโรงรีเยนสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา และบุตรข้าราชบริพาร แต่ปัจจุบันบุคคลทั่วไปก็สามารถสอบเข้ามาเรียนได้ตามปกติ
      โรงเรียนจิตรลดา ได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์เมื่อเดือนตุลาคม 2501 เปิดสอนนักเรียน ตั้งแต่อนุบาลถึง ป.4  และปี 2507 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึง ม.ต้น  และปี 2511 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึง ม.ปลาย มาจนถึงปัจจุบัน นักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนประองค์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพระราชทานอาหารว่างและอาหารกลางวันแก่คณะครูและนักเรียนด้วย นอกจากนี้ ยังมีพระบรมราโชบายในการให้รางวัลแก่นักเรียน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านกำลังใจ


2. โรงเรียนราชวินิต



 
        โรงเรียนราชวินิตถือกำเนิดด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า "ราชวินิต" เป็นนามพระราชทานหมายความว่า "สถานที่อบรมกุลบุตร กุลธิดาให้เป็นคนดีแห่งพระบารมีปกเกล้าฯ"
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารถที่จะจัดตั้งโรงเรียนราชอุปถัมภ์ ณ บริเวณสวนเพาะชำ วังสวนกุหลาบ ในพื้นที่ 6 ไร่ทรงให้สำนักพระราชวังจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ระดับประถมศึกษา รับนักเรียนที่เป็นบุตรหลานข้าราชการสำนักพระราชวังโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ขอครูจากกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยทำการสอนใช้งบประมาณจากสวัสดิการของกองมหาดเล็กสำนักพระราชวังจำนวน 100,000 บาท สร้างอาคารเรียน
       เมื่อ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบพระราชประสงค์จึงรับสนองพระบรมราชโองการ จัดตั้งโรงเรียนราชวินิต เป็นโรงเรียนประถมศึกษา  เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2509  เปิดสอนชั้นเด็กเล็ก ถึงชั้น ป.7  และวันที่ 18 มิถุนายน 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนราชวินิต


3. โรงเรียนวังไกลกังวล
       "วังไกลกังวล" นอกจากจะเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังมีโรงเรียนวังไกลกังวลตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานด้วย เป็นโรงเรียนที่รัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึง ม.6 ต่อมาโรงเรียนวังไกลกังวลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทมหาภูมิพลอดุลยเดชและได้พัฒนาปรับปรุงมาเป็นลำดับ
       นอกจากนั้นในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นายขวัญแก้ว วัชโรทัย เสนอให้กรมสามัญศึกษาจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ทำให้นักเรียนในชนบทห่างไกลได้มีโอกาสรับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพและใช้เป็นสื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ด้วย โดยได้ทดลองออกอากาศตั้งแต่ 5 ธ.ค. 2538 เป็นต้นมา และติดตั้งสถานีรับสัญญาณในโรงเรียนมัธยมศึกษาในปี 2538 จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 โรงเรียน และขยายสถานีรับในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาปีละ 800 แห่ง จนครบ 2,500 โรงเรียนในปี 2544
      โรงเรียนวังไกลกังวลมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก แต่โรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนต่ำ รายได้ของโรงเรียนจึงไม่พอกับรายจ่าย ต้องขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ ต่อมาได้รับพระราชทานเพิ่มขึ้นตามจำนวนครูและนักเรียนที่ทวีขึ้น ในปัจจุบัน โรงเรียนวังไกลกังวล ได้รับพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียนปีละ 1,200,000 ซึ่งมากกว่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อื่นใดทั้งสิ้น


4. โรงเรียนราชประชาสมาสัย
 
       โรงเรียนราชประชาสมาสัย ตั้งอยู่ที่ถนนสุขสวัสดิ์ ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โรงเรียนรี้ถือกำเนิดมาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด เพราะเด็กไม่ได้รับเชื้อควรมีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างอาคารบนที่ดินราชพัสดุ 32 ไร่ จนกระทั่งปี 2506 ได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ พระราชทานชื่อ "โรงเรียนราชประชาสมาสัย" จากนั้นก็มีพระราชดำรัสรับสั่งให้เด็กทั่วไปเข้าไปเรียนได้ โดยในปี 2513 ได้เปิดสอนถึง ป.7
       ต่อมาได้มีการจัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนกลาง ในวโรกาสที่ในหลวงทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีในขณะนั้นโดยขอแลกที่กับกระทรวงสาธารณสุข การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยดี จนกระทั่ง 14 ต.ค. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์


5. โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    แต่เดิม โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนราชวิทยาลัยตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นโรงเรียนเดียวกัน พระราชทานนามว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" ต่อมาและได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยครูและศิษย์เก่าได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ และขอพระบรมราชานุญาตขอพระราชทานนามอักษรย่อพระปรมาภิไทย "ภ.ป.ร." นำหน้าชื่อโรงเรียน จึงได้รับพระราชทานนามโรงเรียนว่า "ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย" และทรงพระมหากรุณารับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ.2507

6. โรงเรียนร่มเกล้า
     โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกคือ โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอดงหลวง จ.มุกดาหาร แต่เดิมสอนเฉพาะ ป.1 โดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียน ต่อมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก ขนาด 5 ห้องเรียน และได้พระราชทานนามว่า "โรงเรียนร่มเกล้า"
     ในหลวงทรงมีพระบรมราโชบายที่ล้ำลึก ทรงสร้างโรงเรียนในดินแดนที่มีอุดมการณ์แตกต่างทางการเมือง ให้ลูกหลานในพื้นที่ได้รับการศึกษา ขณะเดียวกันทรงนำการพัฒนาแบบครบวงจรมาขจัดความยากไร้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไป นับถึงปัจจุบันได้มีโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นหลายแห่ง อาทิ ที่ จ.สกลนคร จ.หนองบัวลำภู จ.บุรีรัมย์ จ.เลย และได้ขยายถึงระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายด้วย


7. โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
 
 
      แต่เดิม โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศให้รัฐบาลตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีแห่งแรก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า "เบญจมราชาลัย"
      จากนั้นโรงเรียนได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้โรงเรียนเบญจมราชาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ 24 พ.ค.2526


8. โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
    โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์เกิดขึ้นจากพระเมตตาต่อเยาวชนในท้องถิ่นห่างไกลบนภูเขา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พระราชทานนามว่า "โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนถาวรสำหรับชาวเขาในระดับชั้นก่อนประถมและประถมศึกษา
    โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีจำนวนทั้งสิ้น 10 โรง ต่อมาเมื่อท้องถิ่นนั้นเจริญขึ้น หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ก็จะโอนให้กับส่วนราชการนั้นๆ รับไปดำเนินต่อ นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ในโรงเรียนเหล่านี้ด้วย ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา โครงการฝึกอาชีพนักเรียน โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ เป็นต้น


9. โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาสงเคราะห์เด็กยากจน ขาดที่พึ่งและเด็กในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับการศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด เป็นประเภทโรงเรียนราษฎร์ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดการโรงเรียน และขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ช่วยอุปถัมภ์ โดยใช้ทุนทรัพย์พระราชทานและทุนที่ได้รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล โดยมี 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ โรงเรียนนนทบุรีวิทยา โรงเรียนวัดบึงเหล็ก

10. โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
    เมื่อเดือน ต.ค. 2505 เกิดมหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนประชาบาลรวม 12 โรงเรียน พระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เรียงตามลำดับ 1-12 จากนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนที่ประสบสาธารณภัยในจังหวัดต่างๆ รวมอีก 31 โรงเรียน ในหลายจังหวัด เช่น จ.กระบี่ นครศรีธรรมราช ชุมพร นราธิวาส แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุบลราชธานี เป็นต้น


อ้างอิงข้อมูลจาก
www.moe.go.th/5DEC/index.php?option=com_content&view=article&id=28&Itemid=34,
www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103568

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

kwan_mama 23 ต.ค. 59 เวลา 11:29 น. 1

โรงเรียนที่ในหลวงอนุเคราะห์ มีโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วยคะ เป็นโรงเรียนที่ในหลวงทรงพระราชทานทรัพย์ของท่านเองทั้งหมดในการสร้างสถานศึกษาที่นี่ และยังเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ด้วยตัวท่านเองด้วยคะ และยังมีโรงเรียนในเครืออีกด้วยนะคะอยู่ตามจังหวัดต่าง ตราของโรงเรียนก็ยังเป็นตรา ภ.ป.ร. ที่ในหลวงทรงพระราชทานให้ด้วยคะ

1
dus_sun 24 ก.พ. 60 เวลา 06:09 น. 1-1

โรงเรียนวัดบึงเหล็ก ในพระบรมราชานุเคราะห์ จ.นครพนม. ด้วยครับ

0
Surasak Boonjan 12 พ.ย. 59 เวลา 21:03 น. 2

ภูมิใจมากๆที่ได้เกิดมาเรียนโรงเรียนของในหลวง
"โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์"

0