Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ลำพูน...ฉันรำพึง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
         
ลำพูน ... ฉันรำพึง
 

           สวัสดีค่ะ วันนี้เป็นโอกาสที่ดี เราจะมาบอกเล่าถึงกิจกรรมที่เราได้ไปร่วมมา ก่อนอื่นเลยขอแนะนำตัวเองว่าเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จาก วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สาขาวิชาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ (CreativeDevelopment)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


 
           
คณะของเราเปิดสอนเป็นปีแรก สำหรับหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเราเป็นรุ่นแรกของครอบครัว PSDS นั้นเอง โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ใน 3 กลุ่มวิชา คือ การพัฒนาชุมชนร่วมสมัย การพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม และการจัดการงานอาสาสมัคร เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษาได้ลองคิด ลองทำ และสนุกไปกับการเรียนรู้และเน้นการใช้กระบวนการความคิดสร้างสรรค์มาบูรณาการกับงานพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่จะนำมาพัฒนาสังคมได้ต่อไป

       “หลักสูตรที่มีการเรียนรู้แบบ Active Learning มากกว่า 70% ”  จะทำให้นักศึกษาเรียนรู้มากกว่าในห้องเรียน และยังสามารถเรียนรู้ได้จากพื้นที่จริงอีกด้วยนะจะบอกให้ wink

         หลังจากที่ได้เรียนรู้กันในห้องเรียนกันไปแล้วคราวนี้ก็ลองมาลงพื้นที่จริงกันดูบ้าง เป็นการเริ่มต้นเดินทางครั้งแรก แต่ก็ได้รับประสบการณ์กลับมามากเช่นเดียวกัน


    


               เป็นแค่เด็กปี 1 ก็ได้ลงพื้นที่แล้ว ทุกคนคงจะแปลกใจ ว่าเราไปทำอะไรกัน?  ครั้งนี้ได้ไปถึงจังหวัดลำพูนเลย เราไปเพื่อเยี่ยมรุ่นพี่บัณฑิตอาสาสมัครที่ไปฝึกงานที่นั้น การเดินทางเป็นอะไรที่ออกจะสนุกมากๆ เราเดินทางด้วยรถไฟขบวนใหม่ จากกรุงเทพ มุ่ง สู่เชียงใหม่  ขึ้นรถไฟตอนประมาณห้าโมงเย็น ถึงที่หมายนั้นก็คือเชียงใหม่ในรุ่งเช้าของอีกวันในเวลา 7.30 นาที
            ​



           
           
หลังจากถึงเชียงใหม่กันแล้ว ภารกิจแรกของเราก็ได้เริ่มขึ้น !!  เรานั่งรถตู้จากเชียงใหม่ เข้าสู่ จังหวัดลำพูน และแวะตลาดสดที่จังหวัดลำพูนเพื่อซื้อของสดไปทำอาหารกัน  พวกเราต่างคิดเมนูอาหารในราคาแสนประหยัดแต่ของสดที่นี่ทั้ง หมู ไก่ ผัก ราคาเป็นกันเองมากๆเลย เสร็จจากช้อปปิ้งกันที่ตลาดสดแล้ว เราก็ร่วมผจญภัยกัน นั่งรถตู้เพื่อเข้าไปในเขตพื้นที่ ที่จะเยี่ยมรุ่นพี่บัณฑิตอาสา จุดหมายปลายทางที่เราจะไปกันก็คือ บ้านแพะใต้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ถนนหนทางที่เข้าไปก็แสนจะลำบากนิดนึงนะ หลงแล้วหลงอีก ใช้เวลานานถึงครึ่งวันเลย แต่แค่นี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับพวกเราเด็กป๋วย รุ่น 1 !!!!




           และแล้วเราก็เดินทางมาถึงที่หมาย บ้านที่เรามาพักกัน อาจมองว่าไม่ได้สุขสบายมากนัก แต่อยู่ด้วยกันหลายๆคนแล้วถือว่ามีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน  ลักษณะของตัวบ้านที่เราเข้าพัก เป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นบนสำหรับนอนพักผ่อน ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่นั่งเล่น ไว้พูดคุยและรับประทานอาหาร หลังบ้านเป็นครัวเล็กๆที่มีครบทุกอย่าง ผักสวนครัวง่ายๆอย่าง พริกขี้หนู  มะนาวลูกใหญ๊ใหญ่ รวมถึงสวนลำไยหลังบ้าน หน้าบ้านก็มีแคร่นั่งเล่น พร้อมทั้งโต๊ะม้าหินอ่อน ลมเย็นๆพัดสบาย เจ้าของบ้านน่ารักมากๆ พวกเราเรียกเขาว่า “แม่อ้อย”  ผู้คนละแวกนั้น ล้วนใจดี และพวกเรานับถือเขาเป็นพ่อและแม่อีกคน 

 



             
รุ่นพี่บัณฑิตที่เราไปเยี่ยม ชื่อว่า “พี่หลาง” เป็นบัณฑิตอาสาสมัครรุ่นที่ 48 หรือที่       เราเรียกกันว่า “พี่บอ.” (บอ – ออ) พี่หลางมาเป็นอาสาสมัครที่บ้านแพะใต้ เพื่อเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของหมู่บ้านแพะใต้ในเรื่องของ “โฉนดที่ดินและพื้นที่ทับซ้อนกับเอกชน”  ซึ่งปัญหานี้มีมานาน  (http://prachatai.com/journal/2016/05/65970)  ในวันแรกที่เรามาถึง พี่หลางแนะนำให้เรารู้จักกับ “พี่กอล์ฟ” เป็นพี่เลี้ยงของพี่หลางที่คอยดูแลที่นี่และยังเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญที่คอยช่วยชาวบ้านต่อสู้กับปัญหาเรื่องโฉนดที่ดิน



          หลังจากที่ได้พูดคุยทำความรู้จักกันแล้ว แม่อ้อยของเราก็เดินทางกลับมาจากศาลพอดิบพอดี เหตุผลที่แม่อ้อยไปศาลเพราะ แม่อ้อยไปตามเรื่องคดีความและเยี่ยมมารดาที่อยู่ในเรือนจำ เนื่องจากเป็นจำเลย 1 ใน 10 คน จากบ้านแพะใต้ ที่โดนดำเนินคดีความ โดยบ้านแพะใต้แท้ที่จริงแล้ว มีจำเลย 10 คน แต่ระหว่างถูกดำเนินคดี มีผู้เสียชีวิตลง 3 คน เหลือเพียง 7 คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา  แม้เราจะมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและความตึงเครียดของคนในพื้นที่ แต่แปลก ที่คนในพื้นที่กลับให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดีแถมยังยิ้มแย้มแจ่มใสเสียอีก 
 



 

 แม่อ้อยและพี่หลางพาเราเยี่ยมชมสวนลำไยของ ลุงปั่น ซึ่งเป็นน้าของแม่อ้อยเอง ที่สวนลำไยของลุงปั่น เป็นการทำสวนแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีทั้งเลี้ยงไก่ ขายไข่นกกระทา  ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชอื่นๆแซมตามในสวนบ้าง เช่น มะม่วง มะนาว ผักสวนครัวต่างๆ และที่สำคัญ มาจังหวัดลำพูนก็ต้องนึกถึงสวนลำไย ที่ผลผลิตออกจะหวานอร่อย และเป็นที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลำพูน เรียกง่ายๆว่าแม่อ้อยพาเรามากินบุฟเฟ่ลำไยเลยก็ว่าได้ เพราะพวกเราเล่นหยิบกินตามต้น และยังหยิบแต่ลูกใหญ่ๆ  แถมเจ้าของสวนใจดี ยกลำไยให้ฟรีอีกตั้งหนึ่งตะกร้า กินกันจนเบาหวานขึ้นกันเลยทีเดียว




            พอตกเย็นของวันแรก ก็ถึงช่วงเวลาของการโชว์ฝีมือทำอาหารแล้ว อาหารเย็นวันนี้ ขอนำเสนอ ผัดพริกไก่  แกงจืดผักหวาน ไข่เจียว ที่สำคัญแม่แม่อ้อยยังใจดีทำอาหารเหนือแบบชาวบ้านให้เราลองทาน อย่าง น้ำพริกอ่อง พร้อมแตงกวาสดๆกรอบๆ พร้อมด้วยข้าวเหนียวร้อนๆ กินไป คุยไป แถมได้ภาษาเหนือวันละคำอีกด้วย




            
เริ่มต้นเช้าวันที่สอง ด้วยการตื่นมาตักบาตรทำบุญกับแม่ๆในหมู่บ้าน ก่อนจะไปช่วยกันเตรียมทำกับข้าวสำหรับมื้อเช้าก่อนออกเดินทาง วันนี้เราได้รับภารกิจจากอาจารย์ที่ร่วมการเดินทางกับพวกเรา โดยในวันนี้จะแบ่งกลุ่มออกไปเป็นสามกลุ่มด้วยกัน ในสามกลุ่มนี้จะไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคดีความเรื่อง “โฉนดที่ดิน”  

       กลุ่มแรก เดินทางไปพูดคุยกับพ่อโล้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบ้านที่มีบุตรชายเป็น 1 ใน 7 ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ซึ่งภรรยาของบุตรชายได้เสียชีวิตระหว่างดำเนินคดี ทำให้ชีวิตของพ่อโล้เพิ่มภาระและลำบากมากขึ้นกว่าเดิม พ่อโล้ต้องเลี้ยงหลานของบุตรชายและยังต้องรับภาระในการดูแลสวนลำไยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งพ่อโล้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ขณะพูดคุยแลกเปลี่ยน พ่อโล้เล่าด้วยอาการน้ำตาคลอ แม้จะมีเรื่องทุกข์ใจ แต่พ่อโล้กับเป็นบุคคลที่มีความอัธยาศัยดี แถมยังเล่าวิถีชีวิตการเป็นอยู่ในหมู่บ้านแพะใต้ด้วยรอยยิ้มอีกด้วย




           กลุ่มสอง แม่อรทัย พักอาศัยอยู่กับหลานชาย ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษาปีที่4 ซึ่งเป็นบุตรของลูกชายคนโตของแม่อรทัย แม่อรทัยมีลูกชาย1 คน ลูกสาว 1 คน ลูกชายของแม่อรทัยทำงานอยู่ในตัวเมือง ส่วนลูกสาวกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 เนื่องด้วยสามีของแม่อรทัยเป็นหนึ่งในจำเลยต้องจำคุก1ปี เดิมนั้นแม่อรทัยเล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้บรรพบุรุษเคยมอบให้จากรุ่นสู่รุ่น ทำมาหากินกันมา จนถึงรุ่นของแม่อรทัยที่เกิดเป็นปัญหา แม่อรทัยยังกล่าวอีกว่า                          
                 “เจ็บใจเนอะ สามีเราต้องมาติดคุกทั้งๆที่ที่ผืนนั้นก็คือที่ของเราเอง” 

 แม่อรทัยด้วยความที่ต้องดูแลหลานชายและส่งลูกสาวคนเล็กซึ่งเป็นความหวังของครอบครัว  แม่จึงต้องรับภาระหนัก รับจ้างตัดกะหล่ำ ตัดผักแขนง กิโลกรัมละ2บาท ซึ่งวันหนึ่งรายได้ตกอยู่ที่ประมาณ200 บาท และไม่มั่นคงอีกด้วย เพราะกะหล่ำอาทิตย์หนึ่งจะมาแค่2-3ครั้งเท่านั้น แม่เลยต้องรับจ้างทั่วไป แม่ยังเล่าอีกว่า เดิมก่อนที่สามีของแม่จะติดคุกนั้นครอบครัวของแม่ถือว่าสุขสบาย และพออยู่พอกิน แม่มีเงินเก็บ แต่พอสามีของแม่ต้องมาติดคุกภาระทั้งหมดก็ตกเป็นของแม่ เล่ามาถึงตอนนี้น้ำตาเริ่มคลอ แม้ว่าแม่จะต้องรับภาระหนักแค่ไหนแม่ก็ยังสู้และอดทนด้วยความหวังว่าสามีของตนจะได้ออกมาจากเรือนจำในเร็ววัน และลูกหลานของตนต้องมีอนาคตที่ดี  




           กลุ่มที่สาม บ้านของแม่บาน แม่บานพักอาศัยอยู่คนเดียว  เนื่องจากสามีของแม่เป็น 1 ใน 7 ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี  ความเป็นอยู่ของแม่บาน ค่อนข้างลำบาก เพราะ พ่อติดคุก แม่ก็ต้องเป็นเสาหลักของบ้าน ดูแลทุกอย่างตั้งแต่สวนลำไยจนถึงรับจ้างเย็บผ้า แม่กล่าวว่า  

                                 “งานที่แม่ไม่เคยทำ แม่ก็ต้องทำ” 

ซึ่งสภาพจิตใจของแม่ค่อนข้างแย่ ในขณะที่เราพูดคุยกับแม่นั้น แม่ก็เล่าด้วยอาการสะอื้นและบอกเล่าถึงความทุกข์ใจต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเรื่องคดีความของพ่อและปัญหาของการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม





          หลังจากที่เข้าโหมดเครียดกันมานานแล้ว พ่อกับแม่อ้อยก็พาเราขึ้นกระบะท้ายรถไปเที่ยว ขับรถข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถึงที่หมาย นั้นก็คือ “เก๊ามะขาม” ร้านกาแฟบนต้นมะขาม ที่บรรยากาศดีสุดๆ



        จากนั้นแม่อ้อยก็พาเราไปตลาดสด เย็นวันนี้แม่อ้อยจะแสดงฝีมือทำน้ำพริกไม่แก่ให้เรากิน คิคิ (น้ำพริกหนุ่ม นะจ๊ะ)  และยังมี จอผักกาด อาหารพื้นบ้านล้านนา แม่บอกอย่างขำๆว่า 

                                        “ใครกินได้ ก็อยู่ได้ ”  

พวกเราก็ไม่น้อยหน้า ทำของง่ายๆอย่างผัดผักบุ้ง ยำปลากระป๋อง  และยังมีไข่นกกระทาที่ลุงปั่นให้เรามาอีก 100 ฟอง ทำเป็นไข่ครก เรียกได้ว่า มื้อนี้เป็นปาร์ตี้ใหญ่ส่งท้ายก่อนกลับเลยก็ว่าได้






            
เริ่มต้นการจากลาของเช้าวันที่สาม วันนี้ต้องออกจากบ้านแต่เช้า มีภารกิจใหม่รอเราอยู่อีกสองที่ ก่อนจากลาเราได้ถ่ายรูปร่วมกับแม่อ้อยและชาวบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาใช้ชีวิตที่ บ้านแพะใต้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ที่มีแต่ผู้คนใจดี มีน้ำใจ แม้จะเจอกับปัญหาที่กระทบต่อจิตใจ แต่ทุกคนก็ยังยิ้มสู้ และต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ใครมาเที่ยวลำพูน ลองมาหาแม่ๆที่บ้านแพะใต้กันได้นะ แม่ๆเขาใจดีกันทุกคน  


                     สำหรับการจากลาครั้งนี้เป็นการจากลาด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ดี




            ออกเดินทางจากบ้านแม่อ้อย เวลา 9.00 น.  มุ่งสู่ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อเยี่ยมรุ่นพี่บอ.อีกหนึ่งคน การเดินทางที่แสนจะยากลำบากกว่าการไปบ้านแพะใต้ เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบ และพื้นถนนค่อนข้างขรุขระ แถมความเปิ่นของพวกเราชาวคณะ ยังทำเอาหลงทางเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าห้ามเข้า!!!! แต่เราก็ไม่ละความพยายาม ขับวนไปเรื่อยๆจนถึงที่หมาย คือ “ศูนย์ฝึกและปฏิบัติการกลุ่มทอผ้าบ้านแม่ขนาด”  เราได้พบกับพี่ขวัญ ซึ่งพี่ขวัญเดินทางกลับมาจากสอนหนังสือบนดอยและลงมารับพวกเราทุกคนที่นี่ เราพูดคุยทำความรู้จักกันเล็กน้อย ก่อนจะมีการสรุปงานการเดินทางใน 3 วัน 2 คืน ที่ผ่านมาของพวกเรา




                 ก่อนกลับก็ได้เดินทางไปพบ พี่ต่าย เป็นรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา     ที่มูลนิธิเกื้อฝัน ในตัวจังหวัดเชียงใหม่ เราหลงทางเป็นครั้งที่สาม ครั้งนี้หนักสุด หลงไปยังป่าช้าท้ายวัด ก่อนจะรีบวกรถกลับไปยังที่หมายให้เร็วที่สุด !!! 

            เมื่อถึงที่หมาย พี่ต่ายก็ออกมาต้อนรับพวกเราอย่างดี เป้าหมายในครั้งนี้ของอาจารย์ที่พาเรามายังมูลนิธิเกื้อฝันก็เพื่อให้พี่ต่ายแนะนำการทำงานในมูลนิธิและพูดถึงความหมายขององค์กร NGO (http://gotensum.blogspot.com/2015/03/what-is-ngo.html ) ให้กับพวกเราได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น 

             ในมูลนิธิเกื้อฝัน เป็นมูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง  เน้นที่การศึกษา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษา สำหรับเด็กที่ขาดแคลน และยังเน้นที่เรื่องของสุขภาพความเป็นอยู่อีกด้วย โดยรายได้ที่นำมาสนับสนุนโครงการต่างๆในมูลนิธิมาจากการบริจาคจากผู้ใจบุญทั่วโลก โดยคิดเป็น 95 % จากต่างประเทศ และอีก 5% เป็นเงินบริจาคจากคนไทย 




           พี่ต่ายได้พาเราเยี่ยมชมมูลนิธิ ได้พบกับอาสาสมัครทั้งที่เป็นชาวต่างชาติ และ คนไทย  เราได้ทำความรู้จักกับพี่ๆ และได้มองเห็นถึงการทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้น

         
            
จากนั้นได้พบกับ อาสาสมัครที่มีอายุมากที่สุดในมูลนิธิ ซึ่งท่านเป็นคุณแม่ของเจ้าของมูลนิธิเกื้อฝัน ท่านมีอายุถึง 95 ปี ในทุกๆปีท่านจะมาเขียนอวยพรให้กับอาสาสมัครทุกๆคนเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน

 
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราได้อะไรกลับมาบ้าง ??

1. ความอดทน :  การเดินทางไปในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความอดทนและมีใจรักในการทำงานจริงๆ

2. ความสามัคคีในหมู่คณะ  : การร่วมมือกันทำงาน สัมภาษณ์ชาวบ้านในปัญหาต่างๆ รวมถึง การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3. ความรับผิดชอบ : ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย

4. ได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน วิถีชีวิตของชุมชน และปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อชุมชน เพื่อที่เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาในภายภาคหน้าได้

5.ได้เรียนรู้ที่จะใช้ใจในการพูดคุยทำความรู้จักมากกว่าการเสียเงินในการดำเนินชีวิต      (ใช้ใจแลกใจ / เอาใจเขามาใส่ใจเรา)

6. เห็นถึงความพยายามของชาวบ้าน ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในยามทุกข์ยาก
          

       
     ขอขอบพระคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเพื่อนที่ร่วมประสบการณ์ในครั้งนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมอ่านประสบการณ์และมาเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่ดีของพวกเรา ขอขอบคุณค่ะ




 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

>

7 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เนื้อหาซ้ำ เคยโพสท์ไปแล้ว เพื่อความเป็นระเบียบกรุณาโพสท์กระทู้เพียงครั้งเดียว

supakorn 25 ม.ค. 60 เวลา 20:37 น. 5

เป็นหลักสูตรที่น่าเรียนมากๆครับ ปีนี้ผมก็จะสมัคร
ขอให้ติดด้วยเถอะ สาธุ

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

นำรูปถ่าย หรือข้อมูลของผู้อื่น ที่มิได้เป็นบุคคลสาธารณะมาลง โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม หรือมีลงเบอร์โทรศัพท์/ที่อยู่จริง

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น