Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อันตรายทางอารมณ์จากการเขียนนิยาย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ปกติจะพูดถึงแต่เรื่ององค์ประกอบ กับการแก้ปัญหาในนิยาย แต่ครั้งนี้ขอเปลี่ยนแนวบ้าง

นักเขียนหรือนักหัดเขียนแต่ละคนบอกว่า อยากเป็นนักเขียนเพราะอยากบอกเล่าสิ่งต่างๆ ให้คนได้อ่าน บางคนอยากหาพื้นที่ให้ตัวเอง บางคนอยากได้เงิน บางคนอยากได้รับการยอมรับ บางคนชอบพื้นที่ให้ตัวเองได้ปลดปล่อยจินตนาการ และอีกสารพัดเหตุผลที่เลือกกระโดดเข้ามาในแวดวงนี้

แต่เคยเห็น ‘มุมมืด’ ของการเขียนหนังสือบ้างหรือเปล่า?

มันคืออันตรายที่นักเขียนบางคนนึกไม่ถึง นั่นคือ อันตรายในเรื่องทางอารมณ์ค่ะ

ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ ขอเกริ่นนิด พอดีเพิ่งดูรายการโทรทัศน์แล้วมีนักร้องหยิบเพลง “Endless Rain” ของวง X Japan เลยอยากฟังขึ้นมาเพราะไม่ได้ฟังมานานแล้ว ฟังตอนวัยรุ่นไม่ได้คิดอะไร แต่พอฟังอีกครั้งตอนโต เห็นคุณโยชิกิในคอนเสิร์ตตอนที่เล่นเปียโน เลยได้รับแรงบันดาลใจที่จะออกมาเตือนนักเขียนไม่ว่าจะหน้าเก่าหน้าใหม่ในเรื่องนี้

คุณโยชิกิมีความเป็นศิลปินอย่างยิ่ง ไม่แปลกเลยที่เขาจะดังขนาดนี้ ตอนที่เขาบรรเลงเปียโนเพลง Endless Rain เขาดำดิ่งลงไปในอารมณ์ของเพลงเร็วมาก แถมลึกมากด้วย ทำให้เพลงของเขาเข้าถึงใจของผู้ฟัง ในฐานะศิลปิน นั่นคือ สิ่งที่เขาทำได้ใช่ว่าศิลปินทุกคนจะทำได้ มันน่าทึ่งมากค่ะ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นั่นคือ สัญญาณอันตรายชนิดที่ทำให้หนิงคิดว่า คุณโยชิกิ รอดจากการฆ่าตัวตายมาได้ยังไง?

คุณโยชิกิกับนักเขียนไม่ต่างกันค่ะ นักเขียนก็เป็นศิลปินเหมือนกัน ศิลปินที่แสดงออกทางความคิดของตนเอง เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบไหน ของคุณโยชิกิอยู่ในรูปแบบของดนตรี ของนักเขียนก็อยู่ในรูปแบบของตัวอักษร

หนิงมักจะบอกคนเขียนใหม่ๆ ว่า หากอยากให้คนอ่านรู้สึก 100 คนเขียนจะต้องรู้สึกกับมัน 150 ถึงจะสามารถโน้มน้าวให้คนอ่านรู้สึกคล้อยตามไปด้วยได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องปกติที่อารมณ์ของใครสักคนจะไปในทาง Extreme ขั้นนั้นถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช แต่คนเขียนจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น สุขก็สุขสุดขีด ทุกข์ก็ทุกข์เหลือแสน การที่อารมณ์ถูกเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงก็ไม่ต่างจากการกลืนลูกไฟลงท้องแล้วปล่อยให้มันค่อยๆ ผลาญพลังชีวิตของตนเองไปเรื่อยๆ

บอกไม่ได้ว่าการที่คนเขียนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า จะมาจากสาเหตุใดได้บ้าง แต่หนิงคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งนะคะ

นิยายคือ Sequence ของปัญหา ไม่มีปัญหา ไม่ใช่นิยาย ต่อให้คนเขียนมีชีวิตส่วนตัวอย่างสงบสุข แต่การที่ต้องกระโดดเข้าไปในโลกของจินตนาการงานเขียนของตน มันคือการเข้าไปอยู่ร่วมกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ไม่ได้มีปัญหาก็เหมือนมีปัญหาค่ะ

นี่คืออันตรายที่คนเขียนจะต้องเผชิญ

สิ่งที่นำมาบอก อาจเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วแต่ไม่ได้ใส่ใจ หนิงมองว่าศิลปินก็เหมือนกับคนที่ยืนอยู่บนเส้นด้าย ต้องคอยประคองตัวเองไม่ให้ตกลงไปในห้วงอารมณ์จนเกินรับ แต่บางครั้งที่เราจำเป็นต้องกระโดดจากบนด้ายนั้นลงไปอยู่ในวังวนของอารมณ์เพราะเราจะต้องเขียนงานของเรา แต่หากเป็นไปได้ เวลาที่ตัวเองวางปากกาหรือปิดคอมพิวเตอร์ ก็อยากให้หันมาสำรวจอารมณ์และความคิดของตนเองเสมอเพื่อให้ตัวเองกลับมายืนบนเส้นด้ายนั้นให้เร็วที่สุด ออกจากอารมณ์เศร้าสุดขีดหรือดีใจสุดขั้วนั้นให้ได้ คายลูกไฟนั้นออกมาค่ะ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตปกติสุขได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจคิดว่าการจมไปกับอารมณ์อาจเป็นความสุขอย่างหนึ่ง และไม่เห็นด้วยกับความคิดของหนิงที่ฟังดูแล้วอาจจะคร่ำครึหรือนามธรรมเกินกว่าที่จะนำไปใช้ให้เห็นผลได้ อันนี้ก็ไม่ว่ากันค่ะ หนิงขอแค่อยากให้ทำให้เป็นนิสัยเมื่อเราเขียนอะไรจบ ให้สำรวจอารมณ์ตัวเองเป็นกิจวัตรว่าเราปกติสุขดี เราไม่ได้เศร้า เหงา หดหู่ไปตามนิยาย แค่นี้ก็ได้ค่ะ

หวังว่าสิ่งที่เตือนหรือชี้ให้เห็น จะช่วยให้คนเขียนหันมาสำรวจตัวเองไม่ให้ตัวเองจมไปกับอารมณ์ที่ไหลบ่าเข้ามาหาเราจนเกินไปนะคะ :)

แสดงความคิดเห็น

>

32 ความคิดเห็น

หมาป่าน้อยผู้น่ารัก 26 เม.ย. 60 เวลา 18:15 น. 1

ตรงประเด็นเลย เหมือนผมที่เคยจมอยู่กับนิยายที่แต่ง มีช่วงหนึ่งผมก็สงสัยนะว่า ทำไมผมถึงต้องอยู่กับแม่เพียงตามลำพัง ไม่มีใครมาช่วย ต้องดิ้นรนเพียงกันตามลำพัง พูดแล้วเศร้า

1
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 19:37 น. 1-1

บางครั้งก็ต้องลองเช็คอารมณ์ตัวเองบ้างค่ะ ไม่อย่างนั้นเวลาที่อินนิยายมากๆ ความรู้สึกนั้นจะยังอยู่แล้วทำให้มุมมองสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงของเราเพี้ยนไปได้

0
กอบเพลิง 26 เม.ย. 60 เวลา 18:48 น. 2

เห็นด้วยอย่างมาก และส่วนตัวก็เคยเผชิญกับการดิ่งลงในจินตนาการของตัวเอง ตอนแรกนั่งร้องไห้ด้วยความเศร้ามาก แต่วินาทีต่อมาก็หัวเราะออกมา(แล้วก็ยิ้มได้โรคจิตมากๆด้วย) ช่วงนั้นถึงขั้นไม่พบป่ะพูดคุยกับเพื่อน


ลองเอากระจกมาตั้งไว้บนโต๊ะตอนแต่งนิยายเพื่อดูว่าตอนแต่งตนเองทำหน้ายังไง ถ้าหากตัวเองเริ่มทำสีหน้าแบบจิตๆ(คงรู้กันนะ)ก็จะพักการแต่งนิยายไว้ก่อน


ตนเองเริ่มเป็นคนอารมณ์สองขั้ว โรคส่วนตัวสูง อารมณ์ไม่คงที่


รู้ว่าสาเหตุมาจากการหมกหมุ่น(ใช้คำนี้เลยก็แล้วกัน)กับการแต่งนิยายมากเกินไป และยังเครียดกับการเรียน ปัญหาครอบครัว และอีกหลายอย่างที่เข้ามารุมเร้าเราในช่วงนั้น มีหลายปัจจัยมากที่ทำให้คนเป็นโรคจิต


ผมว่าเราทุกคนมีความเป็นโรคจิตอ่อนๆอยู่ในตัว เพียงแค่มันไม่แสดงชัดเท่านั้น


พยายามรักษาตัวเอง แต่ก็ไม่อยากทิ้งการแต่งนิยาย การแต่งนิยายคือการที่เราใส่จิตวิญญาณเราลงไป ทว่ามันก็เสี่ยงที่จะทำให้เราสับสนระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกที่เราสร้างขึ้นมา


ทุกวันนี้ลดการแต่งนิยายลง ถ้าหากไม่มีเวลาว่างหรือไม่พร้อมจริงๆก็จะไม่กดดันตัวเอง


สุดท้าย ปัจจุบันนี้ผลพลอยได้อย่างเดียวคือ เวลาอยากบีบน้ำตา น้ำตาก็ไหลออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำตาเทียมเลย



1
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 19:42 น. 2-1

ถ้าได้ตามรู้ตัวเองแบบนี้ก็ดีค่ะ บางทีเวลาเขียนนิยายมันเลี่ยงไม่ได้ แต่รู้อารมณ์ตัวเองให้เร็วที่สุดก็เป็นเรื่องดีค่ะ

0
BlackTransmutter 26 เม.ย. 60 เวลา 20:02 น. 3

ผมส่วนตัวไม่จมลึกขนาดนั้นนะครับ ยังแยกออกว่าอันไหนคือความจริงอันไหนไม่ใช่เรื่องแต่ง ที่ได้ติดมากับนิยายก็มีแค่คำพูดที่ติดปากครับ5555


ปล.ปกติผมค่อนข้างจูนิเบียวเงียบอยู่แล้วเพราะงั้นแต่งนิยายที่ใช้จินตนาการไปมันก็ไม่ต่างกัน -พวกนั้นก็มาจากหัวนี่แหละ5555

2
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 20:32 น. 3-1

ไม่ไปขั้นนั้นก็ดีค่ะ :)


บางทีไม่ใช่เรื่องการแยกความจริงกับเรื่องแต่งหรอกค่ะ แต่เวลาที่เราจมกับอารมณ์ไหนนานๆ มันจะอมไว้กับตัว กว่าจะแงะออกได้ไม่ง่าย เช่น อินกับอารมณ์เศร้านานๆ พอเราหยุดเขียนนิยายแล้ว บางทีอารมณ์นั้นจะยังตกค้างอยู่ในตัวโดยไม่จำเป็นน่ะค่ะ


ปล. จูนิเบียวแปลว่าอะไรคะ?

0
BlackTransmutter 26 เม.ย. 60 เวลา 20:37 น. 3-2

โรคป่วยม.2 ถ้าให้แปลตรงๆครับ มันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตมีความพีคและจินตนาการจะเพ้อฝันเป็นพิเศษ 555555



0
SilverPlus 26 เม.ย. 60 เวลา 20:20 น. 4

ถ้าเช่นนั้น...


นิยายของผมที่มีแต่เด็กสาว


...


อืม..


เสี่ยงคุกแหะ


ไม่ ไม่ ไม่ ก็แค่ชอบความสดใสของเด็กๆ แค่นั้นเอง แค่นั้นจริงๆ


ส่วนความมืดมน คงไม่มีปัญหา เพราะนิยายของผม โลกสวยสุดยอด มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งดอกไม้ สบายหูสบายตาที่สุด แต่งเสร็จยังอมยิ้มไม่หายเลย หุหุ (นั้นไง อาการณ์เริ่มออก)

1
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 20:35 น. 4-1

555 ยังไงก็ได้ค่ะ


แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังยิ่งกว่าอารมณ์เศร้า นั่นคือ อารมณ์สุขค่ะ จับยาก รู้ตัวยาก ต่อให้จับได้แล้วก็ไม่ค่อยอยากปล่อยมือเท่าไร ^^

0
แก้วน้ำสีฟ้า 26 เม.ย. 60 เวลา 21:09 น. 5

มิน่ามีช่วงนึงที่รู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นซึมเศร้าทุกอย่างดิ่งมาก ก็คิดมาตลอดเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้นจนช่วงนี้เนี่ยแหละที่ติดเกมจนไม่ค่อยได้แต่งนิยาย อาการเหล่านั้นหายไปหมด


สงสัยเพราะโหมนิยายหนักและนอนดึกด้วยช่วงนั้น แล้วนิยายเนี่ยดราม่าจัดมาก 555 สงสัยอารมณ์มันตกค้างเยอะ


2
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 21:48 น. 5-1

ความน่ากลัวของการแต่งนิยายอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การกลืนอารมณ์นั้นอย่างต่อเนื่องนี่แหละค่ะ สิ่งใดที่อยู่กับเราซ้ำๆ นานๆ มันมีโอกาสที่จะติดเป็นนิสัย จับอารมณ์นั้นไว้ไม่ปล่อย ดีแล้วค่ะที่เบนความสนใจออกไปได้ ไม่จมอยู่กับความรู้สึกนั้นนาน


แต่ข้อเสียคือ พอออกจากอารมณ์นั้นได้ มันจะเป็นอุปสรรคในการเขียนนิยาย เพราะต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะบิ้วท์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

0
แก้วน้ำสีฟ้า 26 เม.ย. 60 เวลา 22:14 น. 5-2

ขอบคุณที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นนะคะ ไม่งั้นก็ไม่รู้สักทีเพราะอะไร TWT


ขนาดแต่งนิยายดราม่าผลัดกับสบายๆ แล้วนะ ยังขนาดนี้

0
Mckinley 26 เม.ย. 60 เวลา 21:30 น. 6

สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นกุญแจทั้งปวงคือ....


แยกให้ออกเด็ดขาด


ระหว่าง ความเพ้อฝัน และ ความจริง


ถ้าแยกไม่ได้ คุณตาย


3
peiNing Zheng 26 เม.ย. 60 เวลา 21:52 น. 6-1

จริงค่ะ


ถ้าเป็นคนมีประสบการณ์ชีวิตระดับหนึ่ง จะมีความสามารถตัดตัวเองออกจากวงจรนี้ได้มากกว่าคนที่ประสบการณ์ชีวิตน้อย จุดประสงค์หลักของการเขียนบทความนี้เพื่อคนเขียนที่ยังจัดการอารมณ์ของตนเองไม่เป็น ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งนี้อยู่ ยิ่งนานไปจะยิ่งดึงตัวเองออกได้ยากค่ะ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ แต่ประเด็นคือ ระหว่างทางก่อนที่จะได้วิชานั้นมา จะยังมีชีวิตรอดอยู่หรือเปล่านี่สิ...

0
rampha 27 เม.ย. 60 เวลา 16:38 น. 6-2

แยกให้ออกเด็ดขาด

ระหว่าง ความเพ้อฝัน และ ความจริง

ถ้าแยกไม่ได้ คุณตาย

--------


ขอบคุณค่ะคืออ่านตรงใจมาก

ขอบคุณเจ้ากระทู้ด้วยนะคะ



0
Mckinley 30 เม.ย. 60 เวลา 21:30 น. 6-3

โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง

จะเริ่มจากการแยกโลกจริงกับโลกฝันไม่ออก

พอเศร้ามากๆ ก็เสี่ยงจะฆ่าตัวตายสูงไปด้วย


ขอให้มีสติครองตนกันทุกคนนะ

0
Whiteflower Ri 26 เม.ย. 60 เวลา 22:44 น. 7

เคยอ่านมาบ้าง ที่นักเขียนหลายท่านร้องไห้ไปกับนิยายที่ตัวเองเขียน หรือบางคนเสพอารมณ์ทุกข์ ต้องเขียนแนวทุกข์ ๆ ยิ่งทุกข์ ยิ่งเจ็บ ยิ่งดี เราคิดว่า ถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะบ้าได้เหมือนกันนะคะ โดยเฉพาะ นักเขียนที่เขียนแนวดาร์ก ๆ


แต่ส่วนตัวเราเองไม่มีปัญหา เพราะเราเขียนแนวคิขุ ฮา... คิดว่า เราคงเขียนได้ไม่ดีมาก เพราะเราไม่เคยอินขนาดนั้นเลย ><


ขอบคุณคุณหนิงที่เป็นห่วง และคอยเตือนนะคะ ^^

2
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 09:53 น. 7-1

ถ้าไม่มีปัญหาก็ดีค่า ^^


แต่ถ้าจะให้ดีระวังสักนิด ตามปกติเส้นเรื่องจะค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงจุดพีคของเรื่องที่ปมขัดแย้งคลี่คลาย ในช่วงที่ไต่ระดับนั่นแหละค่ะ ที่คนเขียนจะสะสมความเครียดไว้กับตัวเยอะ บางทีอาจไม่ใช่แค่ในรูปแบบความเศร้า แต่รูปแบบความเครียดก็ส่งผลกับร่างกายเหมือนกันนะคะ

0
Whiteflower Ri 27 เม.ย. 60 เวลา 23:58 น. 7-2

เป็นคนเขียนได้ไม่นานค่ะ แค่ 2-3 ชม. อย่างมาก หลังจากนั้นจะไม่มีสมาธิเขียนแล้ว อิอิ


เครียดอาจมีบ้าง คือเขียนแล้ว คิดว่า ยังไม่ดีพอ >< เลยพาลขี้เกียจ ฮา...

0
ninjameow 26 เม.ย. 60 เวลา 23:47 น. 8

เอิ่ม...สงสัยจะแก่แล้วจริงๆ ไม่เคยรู้สึกค้าง หรือเก็บเอาความรู้สึกเศร้า สุข ตอนเขียนไว้กับตัวเลย แบบจบแล้วก็จบไปพรุ่งนี้จะเขียนอะไรต่อดีอ่ะค่ะ



1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 09:54 น. 8-1

ถ้าเป็นแบบนั้นก็ดีแล้วล่ะค่ะ อารมณ์ตกค้างมันจะส่งผลกับร่างกายคนเขียนได้เยอะเลยถ้่าไม่กำจัดมันออกไป

0
ซีร่า 27 เม.ย. 60 เวลา 00:17 น. 9

ขของเราเคยดำดิ่งแบบซึมเศร้า ไม่ค่อยพูดค่อยจา กับหมกมุ่นค่ะ ประกอบกับช่วงนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้สภาพจิตย่ำเเย่ เคยเขียนฉากที่ตัวละครเป็นบ้าซึ่งปรากฏเเค่ตอนเดียวเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่า ปวดศีรษะข้างเดือนเกือบหนึ่งเดือน กินยาแก้ปวดที่แรงที่สุดก็ไม่หายค่ะ น่ากลัวมาก กลัวเป็นไมเกรนแบบแม่

2
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 10:02 น. 9-1

ว่ากันว่าหากทำอะไรสักอย่างเป็นนิสัยเกิน 21 วัน จะกลายเป็นความเคยชินของเรา


ความน่ากลัวของการเขียนนิยายคือ ไม่มีใครเขียนได้จบภายใน 21 วันหรอกถ้าไม่ใช่เรื่องสั้น แปลว่าคนเขียนจมกับนิยายตัวเองเป็นเดือน เป็นปี หรือแม้กระทั่งสิบยี่สิบปี ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ให้เคยชินกับอารมณ์สุดทางพวกนั้นค่ะ


ถ้างานเขียนส่งผลกับสุขภาพ เราว่าหยุดไปก่อน เพราะแปลว่านิยายของคุณกำลังเข้าสู่จุดพีคของเรื่องเข้าไปทุกที ไปต่อแปลว่าจะพบกับสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ หากไม่พร้อมจะไป อย่าเพิ่งเลยจะดีกว่านะคะ

0
ซีร่า 29 เม.ย. 60 เวลา 22:03 น. 9-2

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ ตอนนี้เเต่งนิยายเรื่องนั้นจบเเล้ว กำลังเขียนเรื่องใหม่ อาการปวดหัวหายไปแล้วค่ะ โชคดีที่ไม่เป็นไมเกรน แต่ช่วงนี้เวลาเครียด เส้นในหัวจะตึงบ่อย ๆ ส่วนตัวที่มีอาการน่าจะเป็นเพราะมีปัญหาส่วนตัวด้วย เเละนวนิยายเข้าช่วงดราม่า เป็นจุดวิกฤติ เลยทำให้เกิดความเครียด ประกอบกับต้องบิ้ลด์อารมณ์อยู่ตลอดค่ะ ไม่เศร้า ก็ต้องเศร้า จัดว่า น่ากลัวเลย พักหลังเวลาเครียดเลยพยายามฟังเพลง เขียนไดอารี่ กับดื่มชาค่ะ ขอบคุณที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นนะคะ



(กระทู้ข้างบนห้วนไปนิด เพราะพิมพ์ในมือถือ ขี้เกียจพิมพ์)

0
PEE RA NAW 27 เม.ย. 60 เวลา 04:33 น. 10

เข้าใจเลยค่ะ ช่วงอินกับการแต่งนิยายจัดๆช่วงนั้นอะไรก็เป็นนิยายเรื่องที่ตัวเองกำลังแต่งอยู่ อินถึงขั้นเอาไปนอนฝันเลย555 ในหัวนี่มันมาเป็นฉากๆอย่างกับดูละครเลย แต่ก็ไม่ถึงขั้นจมลงไปกับมัน เพราะเน้นแต่งโดยใช้ประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเองแล้วก็ประสบการณ์ที่เคยเห็นและรับรู้มาเองซะมากกว่า เพราะความรู้สึกเหล่านั้นเราจดจำมันได้ชัดเจน เรื่องราวทำนองนั้นมันเคยเกิดขึ้นกับเราเอง เราอธิบายมันได้และถ่ายทอดมันลงในตัวละครผ่านตัวหนังสือ เพราะและเรื่องราวแบบนั้นเราเคยก้าวผ่านมันมาแล้ว เราเลยไม่คิดที่จะกลับไปอยู่ในจุดๆนั้นอีก (แต่ยอมรับค่ะ ว่านิยายทำให้บุคลิกของเราเปลี่ยนไปมา อารมณ์ขึ้นลงง่าย ตอนนิ่งก็ดูเฉยชา ตอนโมโหก็นิ่งแต่กลับดูน่ากลัว มันเหมือนกลายเป็นคนอีกคนในเวลาเสี้ยวนาที) (คงคล้ายๆนักแสดงมั้งค่ะ 555)(แล้วก็ยอมรับค่ะว่าเป็นคนโรคจิตหน่อยๆ เพราะรู้สึกสนุกกับช่วงเวลาแบบนั้น) อารมณ์แบบขึ้นสุดลงสุดจริงๆค่ะ ^^

2
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 10:05 น. 10-1

บางคนก็ชอบที่อารมณ์ขึ้นลงแบบนั้นค่ะ เอาจริงๆ มันทำให้ชีวิตเรามีสีสันนะ สนุกที่จะท่องไปตามอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เราถึงได้บอกว่าถ้าโอเคแบบนั้น ก็แล้วแต่เลยค่ะ


แต่ถ้าเป็นไปได้ ดำรงภาวะจิตใจให้อยู่ในเส้นระนาบน่าจะช่วยให้ชีวิตเป็นปกติได้มากกว่าอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ นะคะ เราคิดแบบนี้น่ะค่ะ :)

0
PEE RA NAW 27 เม.ย. 60 เวลา 13:57 น. 10-2

555 ใช่ค่ะอารมณ์คงที่ดีที่สุดแล้วเพราะเราเคยโมโหจัดๆอยู่ รู้เลยแบบนี้ตัวเองไม่โอเค ไม่ชอบเลย แต่ก็ดีที่ตัวเองรู้ตัวเลยเลือกหาทางออกให้อารมณ์ตัวเองหาเหตุผลหาข้อหักล้างมาทำให้ตัวเองเย็นลง รู้เลยค่ะว่าสิ่งที่สำคัญคือต้องมีสติรู้ว่าตัวเองเป็นอะไรทำอะไรอยู่ และรู้ถึงผลที่จะตามมาว่าดีหรือไม่ดี

0
★ACE★ [อัศวินไร้นาม] 27 เม.ย. 60 เวลา 11:39 น. 11

เคยเจอปัญหานี้เหมือนกันค่ะ และมันอันตรายมากจริงๆ ที่ชัดๆเลยคือเมื่อสองปีก่อน เราไปสอบสัมภาษณ์เข้ามหา'ลัย ช่วงนั้นก็แต่งนิยายเรื่องหนึ่ง พระเอกเป็นคนแนวไม่สนโลก เก่ง พราวด์ ดูถูกคนอื่นสารพัด คือตอนแต่งเราก็ต้องซึมซับตัวตนของพระเอกลงไป ต้องแทนตัวเองเป็นประเอก ย้อมความคิดให้เป็นตัวละคร


ทีนี้พอตอนสัมภาษณ์ก็เหมือนเรายังติดนิสัยแบบตัวละครไป ผลการสัมภาษณ์เลยออกมาห่วย(เราต้องสัมภาษณ์2รอบแน่ะ) อาจารย์ที่มาสัมภาษณ์ถึงกับถามเลยค่ะว่า "เคยเชื่อใจใครบ้างมั้ย เราน่ะ" มันเป็นเหมือนตราบาปของเราไปเลย ฮ่ะๆๆ ตอนนี้เราก็ยังมีปัญหาเรื่องการแยกแยะอยู่ค่ะ แต่ว่าปัญหาจะจบถ้าเราแต่งนิยายจบ เพราะเราจะไม่ต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครอีก


เข้าใจเลยว่าทำไมนักแสดงเก่งๆที่รับบทพวกคนโรคจิตเขาถึงมักได้รับผลกระทบจากตัวละครที่ตัวเองแสดง

1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:03 น. 11-1

ระวังสักหน่อยแล้วกันนะคะ คอยหมั่นสำรวจตัวเองด้วย หรือหากมีใครที่อยู่ข้างๆ ที่สนิทๆ ก็คุยกับเขาไว้ก็ได้ว่าถ้าเกิดคุณมีพฤติกรรมที่แปลกไป อาจกำลังอิน ให้สะกิดๆ หน่อย จะได้ไม่เลยเถิดไปไกลน่ะค่ะ


ของแบบนี้บางทีเราไม่จำเป็นต้องพยายามเองในตอนแรกก็ได้ค่ะ ได้ตัวช่วยหน่อยก็เบาไปเยอะนะ :)

0
GinRai 27 เม.ย. 60 เวลา 12:12 น. 12

เราเป็นนะคะ แต่ให้พูดก็เป็นไปในทางที่ดี นิยายส่วนใหญ่ที่แต่งตัวเอกจะมีปม(คล้ายเรา) ซึ่งทำให้เราระบายความรู้สึกอัดอั้นในใจผ่านตัวละครได้ พอถึงจุดที่ตัวละครนั้นร้องไห้ และระบายความในใจ เราก็รู้สึกโล่งอกขึ้นมาด้วยเหมือนได้ระบายความเก็บกดในอกออกไป..คือ นิสัยเสียเราชอบไม่พูดหรือแสดงออกอะไรให้คนรอบข้างเห็น แถมเขาก็ไม่ได้ใส่ใจเราขนาดนั้นด้วย เขาเลยไม่รู้ว่าช่วงนั้นเรารู้สึกยังไง เก็บกดไหม แต่พอบรรยายความรู้สึกผ่านตัวละครไป มีคน(ตัวละครที่เราสร้างอีกเหมือนกัน)เข้าใจ ก็รู้สึกดีขึ้นนะคะ

1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:09 น. 12-1

นี่เป็นหนึ่งในข้อดีของการเขียนนิยายค่ะ มันช่วยบำบัดคนเขียนได้ด้วย :)


บางคนมีปัญหาบางอย่างที่ตัวเองไม่สมหวัง และยังคงติดอยู่ตรงนั้นไม่สามารถปล่อยวางได้ แต่นิยายที่เขียนในปัญหาเดียวกัน แต่มีทางออกให้กับตัวละคร มันเหมือนคนเขียนที่อินไปกับตัวละครนั้นๆ สามารถหาทางออกให้ตัวเองได้ คือ ปัญหาไม่ได้หมดไป แต่สามารถปล่อยวางมันได้ในที่สุด แบบนี้ก็นับว่าการเขียนช่วยเหลือค่ะ


ยินดีด้วยหากว่าคุณได้เจอในข้อดีของการเขียนนิยายนะคะ แต่ถึงอย่างนั้น เรามองว่าการหาทางออกให้จิตใจของตัวเองได้ โดยที่ไม่พึ่งนิยายด้วน่าจะเป็นการดีกว่าค่ะ หาไม่แล้ว เราจะเสพติดในการแก้ปัญหาวังวนของจิตใจด้วยนิยาย เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาจริงๆ นิยายช่วยเราไม่ได้ตลอด เราต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยค่ะ

0
Xiaoai 27 เม.ย. 60 เวลา 15:35 น. 13

เนื้อหากระทู้ดีมากเลยค่ะ จขกท.กล่าวถึงเรื่องที่ไม่ได้มีคนพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของนักเขียน


เราเคยเป็นคนหนึ่งที่โดนผลกระทบจากการจมลงไปในอารมณไม่น้อย คงเพราะตัวเราเองเป็นโรคซึมเศร้าด้วย พอเขียนฉากดราม่าเสร็จ คนอ่านจะบอกว่าอิน อารมณ์ถึง ร้องไห้ แต่เบื้องหลัง เขียนเสร็จนี่บางทีคนแต่งต้องอัดยาแก้เศร้าเพิ่ม ปวดหัว ฮาาา


โชคดีที่ช่วงหลังๆ ได้รับการรักษาแล้วอาการดีขึ้น แต่ก็แต่งนิยายออกมาไม่ได้ถี่เท่าไหร่ (ความจริงแอบอู้ด้วย...) การมีอารมณ์ร่วมกับนิยายเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรจมไปกับมันมากจนดึงตัวเองออกมาไม่ได้ ถ้าคิดว่าหมกมุ่นเกินไปจนกระทบชีวิตประจำวันก็ควรหยุดเขียนแล้วไปพักทำอย่างอื่นก่อนดีกว่าค่ะ

1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:12 น. 13-1

เป็นเพราะเราเองก็รู้ซึ้งถึงมันดีค่ะ หากจะมีอะไรที่ไม่ชอบในเรื่องการเขียนนิยาย ก็เห็นจะเป็นเรื่องอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ นี่แหละค่ะ พอเขียนจบแล้วรู้สึกปลดภาระ ชีวิตเป็นอิสระมาก (ฮา)


ถ้าร่างกายไม่พร้อม ใจยังไม่พร้อม อย่าเพิ่งทำให้ตัวเองเครียดเกินไปน่าจะดีกว่า พักก่อนดีแล้วล่ะค่ะ :)

0
Octory 27 เม.ย. 60 เวลา 16:40 น. 14

ที่แย่กว่านั้น...

ตอนเขียนบทเศร้า ร้องไปรอบ

มาแก้คำผิด ร้องอีกรอบ

มารีไรต์ ร้องมันอีกรอบ

มาอ่านทวน ร้องเม่มอีกรอบ

เขียนบทใหม่ ต้องมาอ่านบมเดิมซ้ำ ก็ร้องอีก

นี่แค่ตอนเดียวนะ ฉัน... ทำเวรทำกรรมอะไรไว้กับแกเมื่อชาติที่แล้วเนี่ยคุณนิยายที่รัก ฮืออออ


1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:15 น. 14-1

555 จริงค่ะ เห็นภาพเลย


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอโทษด้วยนะคะ ที่จะบอกตรงๆ ว่า คุณอาจจะต้องหาวิธีจัดการเรื่องการเขียนและการรีไรท์สักนิด เราว่าคุณใช้เวลากับนิยายมากเกินไปกับนิยายเรื่องหนึ่งนะ ถ้าไม่หาวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ คุณจะต้องเผชิญกับมันมากมายอย่างที่คุณกำลังเจออย่างที่คุณเล่าน่ะค่ะ

0
MutanPeony 27 เม.ย. 60 เวลา 16:53 น. 15

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ กระทู้นี้มีประโยชน์มากๆ

บางครั้งยังคิดว่าตัวเราเองมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามั้ย เพราะบางอารมณ์เราก็รู้สึกหดหู่ บางอารมณ์เหมือนคนใจสลาย เป็นแบบนี้บ่อยมาก จนเพื่อนบอกว่าติส 555+ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่ได้มีปัญหาครอบครัวนะคะ เราทำงานประจำ มีเพื่อนคุยด้วย เลยไม่จมลึกกับอารมณ์เท่าไร

2
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:27 น. 15-1

ดีแล้วค่ะที่มีเพื่อนช่วยสะกิด เราเองก็จะได้รู้ตัวด้วยว่าตอนนี้เราจมอยู่กับอารมณ์อยู่นะ ให้ออกมาๆ อะไรประมาณนี้น่ะค่ะ

0
MutanPeony 27 เม.ย. 60 เวลา 21:34 น. 15-2

ไม่รู้ว่าเราอาการหนักหรือเปล่านะคะ และไม่รู้ว่านักเขียนท่านอื่นเป็นแบบเรามั้ย ช่วงไหนที่จมดิ่งอยู่กับจิตนาการมากเกินไป บางครั้งถึงขั้นได้ยินเสียงคนพูดที่ข้างหู บางครั้งหลับตายังเห็นภาพตัวละครปรากฏในหัว เล่าให้เพื่อนฟังมันก็บอกว่าเราบ้า 555+

เพราะเราเจอกับตัวเอง ตอนอ่านกระทู้นี้ เราถึงอดเข้ามาคอมเม้นท์ไม่ได้ (ปกติเข้ามาอ่านกระทู้แล้วออกไป 555+) และเราไม่รู้ว่าการจมดิ่งกับจิตนาการที่ลึกเกินไป มันใช่เรื่องที่ดีมั้ย ^___^

0
บุรุษเงา 27 เม.ย. 60 เวลา 17:30 น. 16

สิ่งเหล่านี้มันคือค่าที่เราต้องจ่ายครับ ทำอะไรก็ต้องแลกด้วยสิ่งนั้น

เปรียบได้ดั่งทำงานหนักด้านใด ย่อมต้องเสียสุขภาพด้านนั้นเป็นธรรมดา


ว่าด้วยเรื่องความไหลลึกของอารมณ์ศิลปินแล้ว เห็นได้บ่อยๆที่มีการฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ใช้สารเสพติดเข้าช่วย บางท่านติดสุราแล้วก็สิ้นด้วยสุราเฉกเช่นโกวเล้งเป็นต้น

เจ.เค โรลลิ่งก็เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนต้องเข้ารับการบำบัดถึง 9 เดือนด้วยกัน นอกจากชีวิตของเธอจะพบกับความเลวร้ายล้มเหลวแล้ว คงมาจากอารมณ์ศิลปินที่ทำงานเขียนด้วย จึงทำให้สภาวะอารมณ์อ่อนไหวไหลลึกมากกว่าคนปรกติ (ถึงรับไม่ไหวกับบางเรื่องที่คนรกติมองว่าชิวๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป)


ตัวผมเองทำทั้งงานวาดและงานเขียน เผชิญเรื่องทางโลกมาก็ไม่น้อย หนักหน่วงดำดิ่งก็มี

3 ปีมานี้ เก็บตัวและหลงใหลการเขียนและวาดเป็นพิเศษ ภายในเวลาดังกล่าว เขียนนิยายจบไป 5 เรื่อง บางเรื่องมีมากกว่า1ภาค แน่นอนว่ามันคือการอยู่ในโลกของการเขียนแบบสุดๆ อารมณ์ของผมจึงไม่เหมือนกับคนทั่วๆไป แต่สภาวะอารมณ์ของนักเขียนหรือศิลปินทั้งหลายมักแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางคนรุนแรงโหดร้าย บางคนเงียบเหงาเศร้าซึม บางคนกลายเป็นคนขรึมนิ่งน่ากลัว


คนภายนอกมักจะมองว่าเหตุใดช่างอ่อนแอ ไม่ยอมแยกโลกแห่งจินตนาการและความจริง มารดามันเถอะครับ ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิดอาจใช้ไม่ได้เสมอไป ผู้ไม่รู้แล้วไม่สืบเสาะหาข้อเท็จจริงดันมาวิจารณ์แบบผิดๆล้วนแล้วแต่แสดงความโง่เขลาของตัวเองทั้งนั้น เพราะเหตุผลที่คนเหล่านี้กลายเป็นโรคซึมเศร้า หรืออยู่ในสภาวะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มิใช่ว่าเขาอ่อนแอไม่แกร่งที่จะต่อสู้กับโลกภายนอก เพียงแต่ว่าการทำงานของสมองซีกหนึ่งที่ควบคุมเรื่องสภาวะทางด้านอารมณ์ทำงานผิดเพี้ยนไปเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าทำงานหนักกว่าคนทั่วไปนั่นเอง ด้วยเหตุฉะนี้จึงทำให้เขาป่วย และมีพฤติกรรมรวมทั้งอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็นอยู่


อยากจะถามว่าหากคนเหล่านี้ถูกเรียกว่าอ่อนแอจากผู้ที่มีโลกสดใสเหลือเกิน แล้วทำไมศิลปินโด่งดังและประสบความสำเร็จหลายคนต่างเคยป่วยเป็นโรคนี้กันเล่า คำตอบง่ายมากครับ ยิ่งสูงยิ่งหนาว ผู้ไม่ไหลลึกจะไปเข้าใจอะไรล่ะ


บางทีศิลปินที่ก้าวมาถึงจุดนี้อาจไม่ได้ใยดีต่อชีวิตมากมายนัก มิได้เสียดายมันปานจะขาดใจตายหากตนจากโลกใบนี้ไป เขาอาจคิดเพียงว่าก่อนตายได้ทำในสิ่งที่รักอละอยากทำแล้วหรือยัง ผมยังอยากยกกรณีของนักเขียนอย่างท่านโกวเล้งอยู่ ท่านรู้ว่าสักวันตัวเองจะตายด้วยสุราแต่ก็ยังใช้ชีวิตดุจเทียนจุดทั้งต้นทั้งปลายพร้อมกัน นั่นเพราะหากไม่สามารถหลีกหนีจากอารมณ์เหล่านี้ได้ ไม่สามารถเลิกงานเขียนได้ก็จงยอมรับว่ามันคือส่วนหนึ่งของตน เป็นดั่งจิตวิญญาณที่ฝังรากลึก หาวิธีที่จะอยู่กับมัน หนทางทุกอย่างเราล้วนแล้วแต่เป็นผู้เลือกเอง


ตัวของผมเองเรียกได้ว่าตอนนี้ก็ต้องเผชิญสภาวะแบบนี้เช่นกัน เข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งผมมิได้มองว่ามันประหลาดแต่อย่างใด ผมก็แค่ไม่สามารถจัดการด้วยตัวของตนเองได้จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญช่วย แล้วไม่ได้ใยดีผู้ใดว่าจะมองด้วยความขบขัน เพราะเขาไม่ได้เผชิญเขาย่อมไม่รู้ และคงมีแต่ไทยเท่านั้นที่มองว่าการเข้าพบจิตแพทย์เป็นเรื่องของคนบ้า


จงอย่าใส่ใจหากมีใครหัวเราะเยาะเราเพียงเพราะเราแตกต่าง แต่จงยิ้มเยาะใส่พวกเขาที่ช่างเหมือนกันไปเสียหมด(พวกทัศนคติคับแคบและตัดสินอะไรจากระดับสติปัญญาของตนเองน่ะนะ)


ป่วยก็ไปรักษาครับ แค่นั้นล่ะชีวิต



4
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:54 น. 16-1

ในแง่ของอันตรายของการเขียน ที่จริงแล้ว หนิงทราบดีค่ะว่าหากเลือกที่จะเดินไปสุดทาง มันคือทางที่ทำลายตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่สุดทางที่ว่านั่น มันคือดินแดนที่ทำให้ศิลปินเป็นศิลปิน ชีวิตของศิลปินจึงไม่ต่างจากเทียน ยิ่งไฟลุกโชนเท่าไร มันยิ่งทำให้เทียนสั้นลงไปเร็วเท่านั้น ฉันใดฉันนั้นค่ะ


บทความนี้ หนิงต้องการเขียนเพื่อให้ชีวิต ไม่ต้องการผลาญชีวิต ที่จริงบทความนี้ หนิงควรพูดถึงตัวเลือกที่ให้กับนักเขียน ซึ่งมีอยู่ 3 ทาง แต่หนิงเลือกที่จะพูดเพียงข้อเดียวเท่านั้น


1. เลิกเขียนไปเลย (แต่การเขียนมีข้อดีของมันอยู่ หากมันอยู่ในระดับที่พอดี มันจะช่วยให้คนเขียนมีความสุขกับมันได้)


2. ประนีประนอม (นี่คือทางเลือกที่หนิงหยิบมาเขียนในบทความ มันเป็นทางที่หาตรงกลางให้กับคนเขียนให้เขียนได้อย่างมีความสุขในขอบเขต และสามารถยั้งตัวเองได้ทันก่อนมุ่งไปในทางสุดโต่งเกินไป)


3. ไปให้สุดทาง (ถ้าไปได้สุดทาง มันคือแดนสนธยาที่ทำให้คนเขียนสามารถสร้างผลงานที่ไม่ธรรมดาออกมาได้ มันคือดินแดนที่มนุษย์ทั่วไปยากจะไปถึง และต้องเสียสละพลังชีวิตของตัวเองเพื่อแลกกับมัน หนิงไม่ต้องการพูดถึงทางนี้ค่ะ)


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือ A Matter of Choice ของคนเขียน ถ้าคนเขียนรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่จะต้องเผชิญคืออะไร แล้วเลือกที่จะเดินไปทางนั้น หนิงก็เคารพการตัดสินใจค่ะ แต่บทความนี้ หนิงบอกเลยว่าต้องการเตะขัดขา เพราะบางคนไม่ได้เลือก แต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเดินไปที่จุดหมายปลายทางไหน ยังไม่สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ การเดินทางในความมืดแบบนั้นออกจะเป็นเรื่องน่าเสียดายเกินไป เพราะเขาควรมีอิสระจากการเลือกด้วยตัวเอง


ส่วนเรื่องคนที่ไม่เข้าใจ หนิงก็ขอบอกเหมือนกันว่าหนิงไม่เข้าใจค่ะ ไม่เข้าใจว่าทำไมศิลปินบางท่านถึงเลือกที่จะเดินไปสู่เส้นทางของยาเสพติด เส้นทางที่ทำลายตัวเอง ไม่นึกถึงคนที่อยู่เบื้องหลังบ้างหรือ แต่ก็นั่นแหละ ความฝันแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเลือกที่จะเหลือตัวตนเอาไว้บนโลกนี้แม้ร่างกายไม่อยู่ก็ตาม ต่อให้ไม่เข้าใจแต่ก็เคารพการติดสินใจจากการเลือกของศิลปินท่านนั้นค่ะ



0
บุรุษเงา 27 เม.ย. 60 เวลา 21:34 น. 16-2

นักเขียน นักแสดง ศิลปิน หรือผู้มีความเกี่ยวข้องทางด้านอารมณ์นั้นมีหลายระดับครับ เรามิอาจรู้ได้ว่าผู้ใดอยู่ในระดับไหน แม้แต่ตัวของเขาเองก็ไม่สามารถวัดได้ และสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้ายภายนอก หรือระยะเวลาการเติบโต การเผชิญชีวิตในรูปแบบต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีผลการไต่ระดับทั้งสิ้น ไหลลึกมากก็ดำดิ่งมาก


ผมเองรู้ตัวเองเสมอ ผมรู้วิถีของตัวเองและเคารพตัวเอง(ทางเดินและการตัดสินใจในทุกเรื่อง)


ท้ายที่สุดประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้จะทำให้คนเราสามารถเลือกเส้นทางเดินของตนเองได้ชัดเจนครับ แล้วก็มักใช้เวลาค้นหาไม่เท่ากันด้วย งานเขียนนั้น บางคนเกิดมาพร้อมกับจิตวิญญาณของการเป็นนักเขียน ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ถึงขนาดแปลำกแยกหมกมุ่น ซึ่งคนจำพวกนี้มีน้อแต่ส่วนมากก็กลายเป็นอัจฉริยะหรืออยู่จุดสูงสุดกว่าเพื่อนร่วมวงการเดียวกัน เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรต้านเขาได้ แต่บางคนเขียนเพราะสิ่งเร้าจำพวกกระแสกระตุ้นให้เขียน หาได้รักมัน ลุ่มหลงมัน หรือมีมันเป็นจิตวิญญาณไม่ (อาจเรียกได้ว่าไม่ได้ริเริ่มมีพรสวรรค์มาแต่แรกแต่ใช้พรแสวงเอา)เฉกเช่นนักเขียนยุคปัจจุบันที่มีเยอะนี่ล่ะนะ สุดท้ายจะไม่สามารถทำมันไปได้ตลอด ไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่มีความสุขกับสิ่งที่เขียน และไม่ไม่ใช่ทางที่ถูกต้องของตนจึงเลิกไป


ส่วนหนึ่งผมมองว่าเหตุการณ์เลวร้าย อาทิเช่นการฆ่าตัวตาย หรือการใช้สารเสพติด เป็นวิธีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างหนึงที่ศินปิลเหล่านั้นใช้ปลดปล่อยหรือยึดเหนี่ยวครับ พอถึงจุดๆหนึ่งที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึงเขาก็จะรู้สึกแคว้ง คิดว่าบนโลกใบนี้ไม่มีผู้ใดเข้าใจแล้ว และส่วนมากก็มักจะเกิดแบบชัดเจนกับต่างชาติมากกว่า เพราะไลฟสไตล์ของพวกเขามีความเป็นตัวเองสูง อยู่เพื่อตัวเองมากกว่าจะอยู่เพื่อนผู้อื่น ซึ่งมันต่างจากไทย ที่มีเรื่องความผูกพัน จารีตต่างๆทำให้อารมณ์ของเราละเมียดละไมและซอล์ฟกว่า


อยากอธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนที่จขกท.ไม่เข้าใจนั้น หากศึกษาข้อมูลจำพวกจิตวิทยาเกี่ยวกับอาการเหล่านี้แบบลึกจะทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ ศิลปินที่ใช้สารเสพติดจนตาย เสพสุราจนตายนั้นมิใช่เขาแล้งน้ำใจไม่คิดถึงคนผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ทว่ากลไกการทำงานทางสมองของเขาผิดปรกติอย่างถึงที่สุดครับ เขาจะจำแนกความรู้สึกเฉกเช่นคนธรรมดาไม่ได้


บ้าง เย็นชา ว่างเปล่า โดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความรู้สึก เมื่อตกอยู่ในห้วงนี้แล้วแม้แต่ความตายก็จะไม่กลัว แล้วแบบนี้จะนึกถึงผู้อื่นได้อย่างไรกัน เหมือนโคจรในโลกของตนเอง มองไม่เห็นผู้อื่น


เรื่องของจิตวิทยาผมเองก็ศึกษามาเหมือนกัน หากเทียบสมองให้มองเห็นภาพชัดๆ เส้นอารมณ์ของคนปรกตินั้นจะมีขึ้นลงเล็กน้อยไปตามอารมณ์ ยิ้ม หัวเราะ เศร้า ร้องไห้ เนิบนาบปรกติ หากแต่พวกศิลปินที่มีความเป็นตัวเองสูง เช่นระดับ เจ.เค โรลลิง ,ไมเคิล แจ็คสัน, เอ็มมี่ ไวน์เฮาส์, ฮีธ เลดเจอร์ (ผู้รับบทโจ๊กเกอร์ แล้วก็ใช้สารเสพติดจนตาย) บุคคลที่ยกตัวอย่างนี้เส้นสมองด้านอารมณ์มิใช่แค่เนิบนาบเป็นคลิ่นธรรมดาเหมือนคนทั่วไป แต่เปรียบได้กับเส้นด้ายที่พันกันยุ่งเหยิง เขาก้าวข้ามจากอารมณ์ปรกติไปสู่ความไหลลึกดำดิ่งอย่างฉุดไม่อยู่


ฉะนั้นหากอธิบายง่ายๆ ในข้อที่ว่าทำไมคนทั่วไปถึงไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเลือกทำร้ายตัวเอง หรือเลือกให้ชีวิตตัวเองจบลงในทางไม่ดี ไม่คิดถึงคนข้างหลัง บอกได้เลยว่าเรื่องกลไกสมองล้วนๆครับ เขาควบคุมไม่ได้ มีสารเคมีบางอย่างหลั่งออกมาผิดปรกติ ทางการแพทย์จึงเรียกว่าอาการป่วย ใครรู้ตัวเองและรักษาทันมีสิทธิ์หาย หรือไม่หายก็ทานยาช่วยไปตลอดชีวิต ประคับประคองให้ใช้ชีวิตได้แบบปรกติ หากใครไปถึงขั้นเกินรักษาหรือไม่อยากยอมรับตัวเองก็นั่นล่ะครับ ตาย ความตายเท่านั้นที่พวกเขาเดินไปสู่


นี่คือสิ่งที่อธิบายเกี่ยวกับอาการโรคอารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า สภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ปรกติเท่านั้นนะ ยังมีระดับจิตเภทที่รุนแรงกว่านี้อีกหลายเท่าและมันเกิดจากการเขียนได้ด้วย ภาพชัดเจนคือพวกก้าวไปสู่ระดับโจ๊กเกอร์ อันนั้นถ้าตีแผ่จะมันส์มากครับ

0
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 22:14 น. 16-3

มีคนรู้จักหลายคนที่มีอาการป่วยในเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ เราเองก็บอกเขาไว้แต่แรกเลยนะว่าเราไม่เข้าใจ ไม่มีวันเข้าใจในตรรกะและวิธีการคิดของพวกเขา ไม่สามารถเข้าถึงมันได้ ซึ่งเรารู้ว่าเขาอยากให้เราเข้าใจ อยากหาคนเข้าใจ แต่เราก็ไม่่อยากโกหก ไม่เข้าใจก็คือไม่่เข้าใจ


แต่อยากพูดอะไรพูดมา เล่าอะไรเล่ามา จะฟัง ไม่ขัดแย้งแต่ก็ไม่เออออไปด้วย เพราะบอกแล้วว่าไม่เข้าใจจนสามารถไปตัดสินได้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันสมเหตุสมผลหรือไม่ เส้นตรรกะบางประการของเราอยู่กันคนละเส้น จูนกันไม่ได้ แต่ก็อยากบ่นอยากพูดอะไรก็จัดมาแล้วกัน ต่อให้ไม่เข้าใจก็จะฟัง


เราว่าข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มีมากขึ้น ตัวเราเองไม่รู้ว่าสารเคมีในสมองรุนแรงขนาดไหน ก็พยายามคิดว่าคงเหมือนผู้หญิงตอนมีประจำเดือน ไม่ได้อยากวีน แต่อารมณ์แปรปรวนง่ายจริงๆ คงประมาณนี้มั้ง


ในอีกแง่มุมหนึ่ง ยิ่งข้อมูลมากเท่าไร โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า ไม่ควรทำแบบนั้นแบบนี้ต่อผู้ป่วย มันยิ่งทำให้คนตีตัวออกห่างจากพวกเขา เพราะไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง ทำอะไรก็กลัวไม่ถูกต้อง ก็อย่ากระนั้นเลย ไม่เข้าใกล้ดีกว่า จะได้ไม่ผิด แล้วผลที่ได้ก็คือ ผู้ป่วยจะยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม


ว่ากันตามตรง คนที่ไม่่ได้เป็นโรคนี้อย่างเรา ต่อให้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับโรคนี้มากมายแค่ไหน เราก็ไม่มีวันเข้าใจค่ะ แต่สิ่งที่คนไม่เข้าใจอย่างเราทำได้ มีแค่ไม่เมินหน้าหนี และยืนอยู่ข้างหลังฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการเล่า เคารพในสิ่งที่พวกเขาคิด


นี่คือสิ่งที่เราทำได้...ได้แค่นี้เองจริงๆ ค่ะ

0
บุรุษเงา 27 เม.ย. 60 เวลา 22:20 น. 16-4

พวกเขาไม่ต้องการคำปลอบโยนหรอกครับ มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ออกแนวต้องพูดกระตุ้น พูดให้คิดได้ ซึ่งจริงๆไม่สมควรเท่าไหร่เพราะมันคือการทำร้ายเขาทางอ้อม โดยส่วนมากพวกเขาเหล่านี้แค่ต้องการผู้รับฟัง คุณคิดถูกแล้วที่ต่อให้ไม่เข้าใจแต่สามารถรับฟังได้ นั่นคือหนทางช่วยที่ดีพอสมควรครับ

0
285 นะอิอิ 27 เม.ย. 60 เวลา 20:03 น. 17

ไม่รู้จะว่ายังไงนะ แต่เคยเป็นคนอารมณ์แปรปรวนมากกว่าตอนนี้อะนะ แต่พอเจอไปบ่อย เหมือนมันคุมเองได้อะ แบบลงไปเศร้าสุดๆ แล้วก็หายไป ความคิดที่เปลี่ยนไปมันก็มีแต่ทางที่ดี เช่น ใช้เหตุผลมากขึ้น มองความเป็นจริงมากกว่าเดิม ส่วนการใส่อารมณ์ในการแต่งนิยาย ก็แค่เหมือนการ ซิมูเรเตอร์มันขึ้นมาในสมอง บอกไม่ถูกนะว่าทำยังไง และพอคิดได้พออยากจะออกจากอารมณ์นั้นก็แค่ ทำใจดี คิดแค่ว่า พอและ มันก็ออกมาเอง ปัจจุบัน ไม่มีปัญหาส่วนนี้และ แค่จะเบลอหรือ มึนๆในบางช่วงแค่นั้นเอง

1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 20:57 น. 17-1

เมื่อประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น ความสามารถในการจัดการตัวเองก็เพิ่มขึ้นค่ะ ดีใจนะคะที่สามารถดึงตัวเองออกมาจากอารมณ์ในนิยายได้ :D

0
heart black hole 27 เม.ย. 60 เวลา 20:32 น. 18

ผมเป็นตั้งแต่ยังไม่แต่งนิยายแล้วตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนชอบคิดว่าตัวเองเป็นตัวการตูนต่างๆ สร้างคาแรคเตอร์ใหม่มาผสมกับเรื่องขึ้นมามากมายไม่รู้เพราะตอนนั้นสะเทือนใจอะไรมา เลยเป็นมาถึงตอนนี้ แต่พอแต่งนิยายแล้วมันทำให้ผมเลิกสร้างตัวตนใหม่ๆ ขึ้นมาได้มากเลยครับ

1
peiNing Zheng 27 เม.ย. 60 เวลา 21:01 น. 18-1

การเขียนนิยายมีด้านสว่างเยอะมากค่ะ เดิมทีจินตนาการไปเรื่อยๆ แบบหาจุดหมายไม่ได้ แต่พอนำมาเขียนเป็นนิยาย ก็เหมือนเป็นกรอบให้จิตนาการโลดแล่นได้เต็มที่แต่ไม่เรื่อยเปื่อยอีกแล้ว เป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะ


เพียงแต่ว่า ขอแค่ระวังและหันมาสำรวจใจกับอารมณ์ตัวเองทุกครั้งที่วางปากกาว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ไหน พยายามปรับให้ทุกอย่างเป็นปกติ ก็จะช่วยให้เราเขียนนิยายได้มีความสุขค่ะ

0
Twenty SIX 27 เม.ย. 60 เวลา 22:10 น. 19

ของเราเรื่องหลักที่กำลังแต่ง ได้เอาความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองใส่เข้าไปกับตัวเอกของเรื่องด้วย ทั้งความเหงา ความเศร้า และการไม่มีใครยอมรับหรือเข้าใจ


ตรงจุดนั้นแหละที่ทำให้ผมเพิ่งมารู้สึกตัวเลย ว่าเจ้าตัวละครนั้นมันก็คือตัวเราที่ยังไงก็ยังงั้น ผมก็หวังอยู่ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะไม่ต้องรู้สึกแบบนี้อีก

2
peiNing Zheng 28 เม.ย. 60 เวลา 10:10 น. 19-1

ถ้าการเขียนเป็นการช่วยบรรเทาความรู้สึกบางอย่างให้ดีขึ้นได้ ก็เป็นเรื่องดีค่ะ :)


ทีนี้หลังจากที่เขียนงาน วางปากกาลงในแต่ละฉากในแต่ละตอน ให้สำรวจอารมณ์ของตัวเองด้วยนะคะ ว่าเราโอเคหรือเปล่า เรามีความสุขดีหรือเราทุกข์ใจอะไรไหม ถ้าเห็นแบบไหนก็รับรู้ไปตามนั้น ถ้ามีความสุขก็ไม่ต้องบังคับตัวเองให้เป็นปกติ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่ต้องบังคับให้ตัวเองร่าเริง มองดูมันไปค่ะ จะสุขจะไม่สุข คอยมองมันบ่อยๆ เห็นมันบ่อยๆ ่คุณจะรู้วิธีจัดการกับมันเองโดยที่บางครั้งเราไม่ต้องไปบังคับให้ตัวเองต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลย


หมั่นสำรวจอารมณ์ตัวเองเข้าไว้จะช่วยได้นะคะ

0
m13ss 28 เม.ย. 60 เวลา 11:33 น. 20

ผมไม่รู้ว่าที่เป็นนั้นเข้าข่ายรึเปล่า เพราะส่วนใหญ่ ตอนแต่งนิยายมักจะเปิดเพลงฟังไปด้วย การแสดงออกนั้นมักจะเป็น

ทางท่าทางมากกว่า

แบบถ้าเป็นฉากกำลังคุยกันก็ลุกขึ้น

ยืนไปทำท่าคุย ถ้าผู้หญิงพูดแบบอายๆ

ก็มีบิดบ้างฮะ ///=_= ม่ายย

แบบเพลงที่เปิดฟังก็ออกแนวหวานๆ

ฉากต่อสู้ไม่ต้องพูดถึง...


1