Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ข่าวดี เปิดปีแรก! จุฬาฯ รับโควตานักเรียนสาธิตจุฬาฯ กว่า 8 คณะ รวม 80 ที่นั่ง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
     สวัสดีค่ะชาว Dek-D.com วันนี้พี่ส้มขอมาทักทายในเว็บบอร์ดกันสักหน่อย เพราะตอนนี้มีประเด็นร้อนในแวดวงการศึกษาที่น่าจับตามองสุดๆ และเชื่อว่าน้องๆ ม.ปลายและผู้ปกครองกำลังให้ความสนใจอยู่แน่ๆ ซึ่งนั่นก็คือเรื่องที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีโครงการให้โควตาแก่นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ให้เข้าศึกษาต่อในจุฬาฯ ในปีการศึกษา 2561 รวมทั้งหมด 80 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 คณะ ได้แก่ ครุศาสตร์ 5 สาขา คณะทันตแพทย์ศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 5 สาขา คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ค่ะ งานนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกของจุฬาฯ ที่เปิดโควตาให้เด็กสาธิตจุฬาฯ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไปในหลายทิศทางค่ะ เอาเป็นว่าเรามาแยกคุยไปทีละส่วนดีกว่าเนอะ :)
   
   

ทำไมต้องให้โควตาเด็กสาธิตจุฬาฯ ?
โครงการดังกล่าว ได้จัดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับ TCAS (Thai university Central Admission System) หรือ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ล่าสุดในรอบที่ 2 ที่เป็นการรับแบบโควตา โดยคัดเลือกนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค นักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ โดยการสอบข้อเขียนหรือปฏิบัติค่ะ

ส่วนเหตุผลที่จุฬาฯ ได้เลือกให้โควตาแก่เด็กสาธิตจุฬาฯ ถึง 80 ที่นั่ง ก็เป็นเพราะในปีการศึกษาถัดไป ถือเป็นปีแรกที่จุฬาฯ ต้องปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา เลยมีเวลาตัดสินใจและเตรียมการน้อย จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลือกสาธิตจุฬาฯ เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยโดยตรงไปก่อนนั่นเองค่ะ
  

โควตารอบนี้ ใช้วิธีคัดเลือกอย่างไร?
จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พี่ส้มขอสรุปง่ายๆ ว่า จุฬาฯ จะนำ GPAX คะแนนสอบ GAT, PAT และวิชาสามัญ ของเด็กสาธิตจุฬาฯ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ มาจัดลำดับเพื่อตัดสินว่าใครจะผ่านการคัดเลือกค่ะ ใครอยากดูว่าอัตราส่วนของคะแนนคณะไหนมีเกณฑ์ยังไงบ้าง คลิกอ่านแบบฟอร์มการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ของจุฬาฯ 
ที่ข้อ 59 - 75 ได้เลยจ้า!!!


สังคมตั้งคำถาม "ยุติธรรมแค่ไหน"?
อันที่จริงแล้ว จุฬาฯ ก็เคยมีโครงการพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กอีกหลายกลุ่ม เช่น โครงการชายแดนใต้ โครงการพัฒนากีฬา และความร่วมมือกับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ แต่เห็นทีว่าโครงการให้โควตากับเด็กสาธิตจุฬาฯ จะพีคและเป็นที่จับตาของสังคม เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และจำนวนบุคคลที่รับคัดเลือกที่มากถึง 80 คน จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลักๆ อยู่ 2 แนวคิด ดังนี้ค่ะ

1. การให้โควตากับเด็กสาธิตจุฬาฯ ดูไม่ยุติธรรมกับเด็กโรงเรียนอื่นๆ ; สำหรับแนวคิดนี้ ทางจุฬาฯ ก็ได้ออกมายืนยันว่าจำนวนโควตา 80 ที่นั่งที่ให้เด็กสาธิตจุฬาฯ นี้ มีการพิจารณาจากสติย้อนหลัง 5 ปี ของจำนวนเด็กสาธิตจุฬาฯ ที่สอบติดจุฬาฯ โดยพบว่าแต่ละปีจะมีเด็กโรงเรียนนี้เข้ามาโดยเฉลี่ย 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับโควตาที่ให้ และมั่นใจว่าไม่กระทบโอกาสในการสอบติดจุฬาฯ ของเด็กโรงเรียนอื่นๆ ค่ะ

2. จำนวนโควตาที่ให้เด็กสาธิตจุฬาฯ มากมายขนาดนี้ อาจส่งผลให้การสอบเข้าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีความดุเดือดและแข่งขันกันมากขึ้น เพราะจะมีคนที่ตั้งความหวังว่าถ้าได้เรียนที่นี่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้เรียนต่อที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ; แม้ว่าเรื่องนี้มีแววจะเป็นปัญหาตามมาอย่างที่ผู้คนในสังคมกำลังห่วงกังวล แต่ก็ดูเหมือนโครงการให้โควตาแก่เด็กสาธิตจุฬาฯ ก็กำลังดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีการประชาสัมพันธ์กันภายในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เรียบร้อยแล้วค่ะ 


     แหม.. จะว่าไปก็เป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามองเหมือนกันนะคะ ไหนจะลุ้นเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาของจุฬาฯ ยังจะต้องคอยดูกันว่าสถิติจำนวนคนและคะแนนในการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในปีต่อไป จะพีคหรือจะพุ่งไปไกลตามที่ใครหลายคนได้ทำนายไว้รึเปล่า? ว่าแต่ถ้าใครมีไอเดียเจ๋งๆ ในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไงก็เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะจ๊ะ ^^

แสดงความคิดเห็น

>

9 ความคิดเห็น

CUDD 22 มิ.ย. 60 เวลา 17:44 น. 2

หนูเป็นหนึ่งเด็กสาธิตที่เพิ่งจบออกไป ในขณะที่รร.ได้มีโครงการนี้ ถามว่าเสียดายมั้ย ก็เสียดายนะคะ แต่ดีใจกับรุ่นน้องต่อๆไป มันอาจไม่ใช่การได้เปรียบนะคะ รร.สาธิตอื่นๆ ก็มีโควตาเข้ามหาลัยของสังกัดนั้นๆได้ เช่น เกษตรศาตร์ ลาดกระบัง มศว เป็นต้น การที่ได้เรียนจบจากสาธิตจุฬาได้สอนว่า หนูไม่จำเป็นต้องเข้ามหาลัยชั้นนำเสมอไปค่ะ ในอนาคตมันขึ้นอยู่กับตัวของหนูว่าจะพัฒนาไปได้แค่ไหน อยากให้ทุกๆท่านลองมองออกมานอกกรอบ ทั้งชีวิตไม่ได้มีแค่มหาลัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จค่ะ ละอีกอย่างคือ อยากให้น้องๆแข่งกับตัวเองมากกว่าไปแข่งกับคนอื่นนะคะ :)

1
Nontawats 22 มิ.ย. 60 เวลา 18:13 น. 3

โดยส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ ม.อื่นๆ ก็มีโควต้าของ รร.สาธิตในเครือ ก็ไม่เห็นจะมีใครว่าอะไร แล้วถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนรับก็ไม่ถึง 1% ของที่รับทั้งหมด แล้วมหาวิทยาลัยก็มีเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งก็อาจจะมีคนผ่านเกณฑ์ไม่ครบตามจำนวนที่ประกาศรับก็ได้

0
seeskySoon 22 มิ.ย. 60 เวลา 20:43 น. 5

เฉยๆนะ ไม่ได้กระทบอะไรขนาดนั้นอะ จน.รับกผ้ไม่ได้ลดลง ไม่ได้เบียดที่ของเด็กรร.อื่น

0
catanddog 22 มิ.ย. 60 เวลา 21:27 น. 6

ใช่ มหาวิทยาลัยอิ่นที่มีสาธิตเขาก็มีโควต้า แล้ว อีกอย่าง นิดเดียวเองไม่ถึง1%ครับ อย่าใจแคบสิครับ

0
จิ๊บ 23 มิ.ย. 60 เวลา 07:48 น. 7

ก็ดีนะ อย่างที่รู้ๆกันว่าเด็กสาธิตจุฬาฯเป็นเด็กหัวกะทิ คัดเข้ามาเรียนได้แบบนี้ต่อไปคงจะมีประโยชน์ต่อสังคม ดูคณะที่เขาให้โควตาสิ และอัตราส่วนที่ให้ก็น้อยแทบไม่ถึง1%ของอัตราส่วนรับเข้าทั้งหมด สาธิตอื่นๆก็มีโควตาแบบนี้มาก่อนแล้วด้วย

0
มัณทนา 23 มิ.ย. 60 เวลา 15:52 น. 8

มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีโรงเรียนสาธิตในเครือก็มีโควตาแบบนี้มานานแล้ว

เขาให้โอกาสเด็กโรงเรียนสาธิตใช้สิทธิ์สมัครสอบตรงแบบโควตาก่อนก็ไม่แปลก

0
nengy 18 มิ.ย. 61 เวลา 07:56 น. 9

ผู้ใหญ่งี่เง่าทุกวัน เด็กเก่งขั้นเทพสาธิตจุฬาเค้าหนีไป ม1ส.ปทุมวัน /ม4 มหิดลวิทย์ เตรียม

ผู้ใหญ่จุฬาแก้ปัญหาเด็กขั้นเทพหนีไปเรียนที่อื่นด้วยการแจกโควต้าจุฬา

เล่นวิธีสกปรกอีกละ

เพิ่มความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก

1
M_a_R_c_H 18 มิ.ย. 61 เวลา 08:37 น. 9-1

สกปรกยังไงครับ ทุก ม. ที่มี รร. สาธิต ก็ให้โควต้ากับ นร.สาธิต ทั้งนั้น มี ฬ นี่แหละที่ไม่เคยให้ พอมาให้บ้างก็มีคนมาด่าสาดเสียเทเสีย แล้วจำนวนที่จัดสรร ยังไม่ถึง 1% ที่เขาให้สิทธ์เลยด้วยซ้ำ ต้องการอะไร ??

0