Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

Copyright ใช้ภาพประกอบอย่างไรให้ถูกต้อง (ตามกฏหมาย)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีค่า วันนี้ตามชื่อกระทู้เลยค่ะ มาทันกระแสสุดๆ
เนื่องจากว่ามีประเด็นเรื่อง
การใช้ภาพประกอบกับเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์
ทีนี้เนื่องจากสื่อสารให้ตรงกันลำบากระหว่าง "นักวาด" และ "นักเขียน"
แวร์เลยแวะมาให้ความรู้เบื้องต้นง่ายๆ นะคะ

 
กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีการใช้ภาพประกอบบนเว็บไซต์อินเทอร์เนต มีอยู่ 2 ตัว คือ...
1. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
2. พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
(ข้อมูลเรื่องข้อกำหนดกฏหมายอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต)

และ
รูปแบบอนุสัญญาที่เรียกว่า Creative Commons หรือ CC (ซีซี) ซึ่งเป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับการเผยแพร่และการโฆษณา 

พระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2537 คลอบคลุมงานอย่างไรบ้าง?
ตอบ าตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด

พระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2537 คุ้มครองงานตั้งแต่เมื่อใด?
ตอบ งานที่มีลิขสิทธิ์ คือ งานสร้างสรรค์ที่ได้ริเริ่มทำขึ้น จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทันที โดยไม่ต้องผ่านการจดทะเบียน และงานนี้จะได้รับการคุ้มครองทางพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์โดยยึดหลักสัญชาติและดินแดน ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 7 กล่าวคือ ผู้สร้างสรรค์ เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หรือ อนุสัญญากรุงเบอร์น 

หรือกรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องจัดตั้งขึ้นตามกฏหมายของไทย (เช่น บริษัทต่างๆ ฯลฯ )

รูปแบบของการใช้ภาพประกอบบนเว็บไซต์ต่างๆ และนิยายออนไลน์อยู่ภายใต้กฏหมายใดบ้าง?

ตอบ
การวางภาพประกอบบนเว็บไซต์ หรือนิยายออนไลน์ ถือเป็นการ "ทำซ้ำ" และ "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" 

การ "ทำซ้ำ" คือ การคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใดๆ พูดง่ายๆ คือการ copy ภาพจากสื่อใดก็ตามมาลงในหน้าใหม่ ทั้งจะ hotlink คือก็อปตรงรูปมาวางตรงๆ หรือ re-upload คือ save ภาพจากแหล่งอื่นๆ นำมา upload ใหม่ อันนี้ก็คือการ copy ทำซ้ำ ทำสำเนาอยู่ดีค่ะ

"การเผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายถึงการทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน คือการเผยแพร่ภาพลงบนอินเทอร์เนตนั่นเอง

ซึ่ง "สิทธิ" ในการเผยแพร่ตรงนี้ หากเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้บริการ (User) ของแต่ละเว็บไซต์ ส่วนมากเว็บไซต์จะไม่รับรองทางกฏหมาย 100% คือถือว่าเป็นการทำซ้ำเผยแพร่โดยผู้ใช้บริการ เว็บไซต์ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับกรณีนี้ นอกจากอำนวยความสะดวกในการให้บริการเท่านั้น มักจะระบุเรื่องสิทธิเหล่านี้ในกฏระเบียบการให้บริการ ซึ่งคนมักจะไม่อ่าน คลิกข้าม ทำให้เสียผลประโยชน์หรือไม่รู้เท่าทันในการใช้งานอินเทอร์เนต

กรณีของ Dek-D อ้างอิงจาก ระเบียบข้อบังคับในการใช้บริการ เว็บไซต์ Dek-D


"...บริษัทไม่สามารถรับรองได้ว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ไม่ว่าจะโดยบริษัท หรือโดยผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลที่ไม่ละเมิดสิทธิใดๆ ไม่มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามในรูปแบบใดๆ ผู้ใช้บริการพึงต้องรับความเสี่ยงจากการใช้บริการเองทั้งสิ้น หากการใช้ บริการเว็บไซต์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการหรือบุคคลใดก็ตาม บริษัทไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น"

กล่าวได้ว่าทั้งข้อความ ภาพ และเสียง รวมถึงวิดีโอที่โพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์ ผู้ใช้เองเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว เว็บไซต์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ หากเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือถูกทำซ้ำนำไปเผยแพร่ที่อื่น เพราะเว็บไซต์ให้บริการในทางเผยแพร่เท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กฏหมายพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แน่นวล

สรุปว่า ถ้านาย A ก็อปภาพนาย B นำมาลงในหน้านิยาย หรือกระทู้ หากเกิดเป็นการกระทำความผิดจริง เว็บไซต์ไม่ถูกฟ้อง แต่นาย A ผิดในลักษณะการทำซ้ำและการเผยแพร่แน่นวล และหากหน้านิยายดังกล่าวเปิดขายนิยายเป็นแพ็คด้วย หรือขายเป็นตอนก็ตาม นาย A จะผิดในลักษณะของ "การโฆษณา" ด้วย

กระทำความผิดในลักษณะของการโฆษณาคืออะไร?

การโฆษณาหมายความว่า การทำสำเนาจำลองงานไม่ว่าในลักษณะใดที่ทำขึ้นโดยการยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนานั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น

การนำภาพมาลงโดยไม่ได้ขออนุญาต ยิ่งถ้ามีการซื้อขาย หรือเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น เอาเป็นว่าถ้าเอามาประกอบนิยายที่เปิดขายออนไลน์ ขายเป็นตอน ขายเป็นแพ็คหรือชุดตอน หรืออีบุ๊ค ถือว่าผิดในลักษณะของการโฆษณาค่ะ


แล้วอนุสัญญาCreative Commons (ครีเอทีฟคอมมอนส์) เกี่ยวอะไร?

ตอบ ถ้าเปรียบงานสร้างสรรค์ของเราเป็นมนุษย์ หรือคน Creative Commons ก็คือการใส่ชุดเกราะป้องกันตัว โดยการใส่เครื่องหมายแบบต่างๆ ของ Creative Commons ระบุลงในหน้าที่เผยแพร่ผลงานได้ โดยอนุสัญญาฉบับนี้แหละ ที่จะระบุว่าคนเอางานเราไปใช้งานแบบไหนได้บ้าง

Creative Commons License 
CC - BY หรือ Attribution (ตัวย่อ by) อันนี้จะเจอบ่อย คือการอนุญาตให้นำไปใช้-ดัดแปลง-ทำซ้ำโดยอ้างอิงที่มา และสามารถใช้เพื่อการค้าได้ ไม่ได้ห้าม หากเจองานในหน้าเว็บที่มีระบุสัญลักษณ์ของอนุสัญญาแบบตามภาพ คือการอนุญาตให้เอาไปให้ต่อได้แบบอ้างอิง คือคนนำไปใช้ต้องอ้างอิงด้วยว่าเอามาจากไหน สามารถดัดแปลงได้ด้วยเพื่อความเหมาะสม เช่น การนำภาพที่มี CC-BY มาลงบนหน้านิยายที่เปิดอ่านฟรี หรือเปิดขาย แล้วใส่ลิ้งที่มาของภาพอย่างที่ระบุชัดเจน คือเป็นลิ้งที่คลิกไปหาภาพที่เราเอามานะคะ ไม่ใช่ลิ้งหน้าค้นหาของกูเกิ้ลหรือพินเทอเรสนะเฮ้ย หรือไม่ใช่แค่วางลิ้งตาย คลิกไม่ได้ อันนี้ก็ผิด ถือว่าที่มาไม่ชัดเจน


Creative Commons License
CC-BY-NC-SA คือการอนุญาตให้นำไปใช้-ดัดแปลง-ทำซ้ำโดยอ้างอิงที่มา แต่ห้ามนำไปใช้ทางการค้า  แบบนี้คล้ายกับอันแรก แค่...ห้ามนำไปใช้ในทางการค้า หน้านิยายที่มีภาพระบุอนุสัญญานี้ ห้ามเปิดขายในรูปแบบใดๆ เช่น เราเอาภาพที่มี CC-BY-NC-SA มาลงในหน้านิยาย เราจะไม่สามารถเปิดขายนิยายในตอนนั้นได้

Creative Commons License
CC-BY-NC-ND คือการอนุญาตให้นำไปใช้แต่ห้ามดัดแปลงรูป ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแสดงที่มา อันนี้จริงจังไปอีกเบอร์ คือห้ามแก้ไขรูปเลยแม้แต่น้อย และห้ามนำไปใช้ทางการค้า คือห้ามอยู่ในหน้านิยายที่เราเปิดขายอีกเช่นเคย


วิธีการได้มาซึ่งสัญลักษณ์พวกนี้ แค่เราเข้าไปเลือกเงื่อนไขต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ Creative Commons ง่ายๆ ก็สามารถได้ Code สำหรับแปะลัญลักษณ์มาแล้วค่ะ โดยสามารถเข้าได้ทางลิ้งนี้
*ตรวจสอบเงื่อนไขให้ครบถ้วนนะคะ ระวังตรงนี้ให้ดี เราแปะผิด เขาเอางานเราไปได้ง่ายๆ เลย


สรุปแล้ว "ใช้ภาพประกอบอย่างไรให้ถูกกฏหมาย" ?
ตอบ ภาพที่ระบุชัดเจนว่าให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ หรือที่ดีคืออยู่ในหน้าที่ระบุอนุสัญญาครีเอทิฟคอมมอนส์ที่อนุญาตให้เรานำภาพไปใช้ต่อได้ 

แล้วถ้าจะนำภาพประกอบไปใส่ตอนที่เปิดขายออนไลน์ หรืออีบุคล่ะ?
ตอบ ต้องมีสัญญาหรือคำอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของภาพว่าให้ใช้ภาพในการประกอบการค้าได้ โดยมีข้อตกลงระบุกันว่าให้อ้างอิง ให้เครดิตกันเฉยๆ หรือมีการให้เช่า แบ่งส่วนแบ่งรายได้กันเป็นต้น

หรือ...! ใช้ภาพฟรีที่ไม่ติดสัญญาการเผยแพร่ ภาพฟรีที่ฟรีในการค้าด้วย หรือภาพที่ระบุอนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์ที่ให้ใช้เพื่อการค้าได้

แล้วหากติดต่อเจ้าของภาพไม่ได้ล่ะ?
ตอบ
ถ้าติดต่อเจ้าของภาพไม่ได้ หรือไม่พบที่มาชัดเจน ถือว่าเราไม่ได้รับอนุญาตในการเผยแพร่ แม้จะใส่แหล่งที่มาว่าเจอจากไหนก็ตาม ก็คือผิดอยู่ดี เว้นแต่ในหน้าเว็บหรือใต้ภาพระบุว่าภาพนี้สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ เช่น เราเจอภาพจากเว็บปล่อยภาพฟรี ตามภาพ...


ภาพแมวอันนี้มี CC แบบที่เอาไปใช้การค้าได้ ไม่ต้องอ้างอิง ไม่ห้ามดัดแปลงด้วย

แต่ถ้ามันเกิดความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มีเจ้าของจากไหนไม่รู้มาบอกว่าเราเอาภาพไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันนี้ต้องไปหาทางประนีประนอมดูหลักฐานกันเองว่ามีที่มาที่ไปยังไง ถ้าเจ้าของพิสูจน์ได้ว่าเป็นของตัวเอง อันนี้ก็ชัดเจนนะว่าเราผิด

ความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้!
ตอบ ใช่ฮะ เราไกล่เกลี่ยตกลงกันเองได้ ในทางกฏหมายถือว่าความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาอาจเจรจาเพื่อหาข้อยุติก่อน หากหาข้อยุติไม่ได้ ให้ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทตามข้อ 17 หรืออาจเลือกนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์มาตรา 17 ลิขสิทธิ์นั้นย่อมโอนให้แก้กันได้
เจ้าของลิขสิทธิ์อาจโอนลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลอื่นได้ และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็ได้ฯ 
**ถ้าไม่ได้โอนโดยกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ถือว่าการโอนมีระยะเวลา 10 ปี

ฉะนั้นหากเจอว่างานของตนถูกละเมิดลิขสิทธิ์ควร...
1.ติดต่อกับผู้เผยแพร่โดยตรง
2. ติดต่อผ่านตัวกลางหากติดต่อผู้เผยแพร่ตรงๆ ไม่ได้ เช่น ผู้ให้บริการเผยแพร่ เป็นต้น
3. นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะเรียกค่าเสียหาย ค่าเช่า อะไรก็ระบุไป ตกลงกันเองระหว่างคนถูกละเมิดฯ กับคนละเมิดฯ
4. ตกลงไม่ได้ ไปแจ้งความ

คร่าวๆ ก็ประมาณนี้ค่ะ เราไม่ใช่นักกฏหมาย แต่พยายามทำความเข้าใจกับกฏหมายเบื้องต้นไว้ เราคิดว่านักเขียน หรือนักวาด หรือคนที่ทำงานสร้างสรรค์อื่นๆ ก็ควรศึกษาไว้เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง รวมถึงเพื่อจะไม่ละเมิดคนอื่นด้วย

หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์นะคะ


 

แสดงความคิดเห็น

>

15 ความคิดเห็น

Seesor [COS] 18 ก.ย. 60 เวลา 20:14 น. 3-2

งั้นเปลี่ยนเป็นคลานเข่าพร้อมพานพุ่มละกันค่ะ กุลสตรีมาเอง

0
The Vicious One 19 ก.ย. 60 เวลา 01:06 น. 7

ตัวเลือกนึงที่ทำได้คือใช้เว็บรวมภาพฟรีที่ไม่ติดลิกสิทธิ์น่ะครับเช่นพวก pixabay ก็จะไม่ต้องกลัวปัญหาพวกนี้



0
jarernsuk21 19 ก.ย. 60 เวลา 01:11 น. 8

ตามนั้นเลยตอนแรกเห็นคุยกันเรื่องใส่เคดิตภาพที่มาที่ไปของภาพกัน

ส่วนตัวผมก็คิดว่าใส่ไปแล้วยั่งไง ถึงใส่ไปได้ขออนุญาตเจ้าของภาพหรือยัง ภาพนั้นยอมให้นำไปใช้ได้หรือเปล่า

ใส่เคดิตจึงไม่น่าจะช่วย

ได้ความกระจ่างมากครับ

0
jesjournal90 19 ก.ย. 60 เวลา 10:00 น. 9-2

น่าจะเป็น จขกท นั้นมากกว่าน้า ที่ไปเคยทำไรไว้ แต่ยัดข้อหาคนอื่นเฉยเลย

0
อัจฉราโสภิต 19 ก.ย. 60 เวลา 05:17 น. 10

สรุปในความเห็นของผมจากสองกระทู้ ทั้งกระทู้ต้นทางและกระทู้นี้


1. ถ้ากำกับ CC ไว้ ใช้ตามข้อกำหนดของ CC นั้นๆ


2. ถ้าไม่ได้กำกับ CC ไว้เลย การเอาไปใช้ผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรมก็จริง แต่ในเมื่อเจ้าของภาพไม่ได้ป้องกันตัวเองเลย ไม่แม้แต่จะใส่ชื่อตัวเองลงในภาพ ก็จง "อย่าประหลาดใจ" เมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นจริงๆ เพราะคนจริงๆ จริยธรรมต่ำกว่าคนในอุดมคติเยอะ


ผมตลกกับคนที่บอกว่า "ไม่อยากใส่ชื่อคนวาดลงไปในงานเพราะมันทำลายความสวยของงาน".... ครับ ศิลปินเอกของโลกเขาก็เซ็นกันครับ งานเขาก็อยู่ในพิพิธภัณฑ์ตั้งเยอะ มูลค่าไม่เห็นจะตก เรื่องแค่นี้ไม่ยอมป้องกันตัวเองก็ไม่รู้จะให้ใครช่วย กฎหมายช่วยคุณได้ต่อเมื่อคุณไปฟ้อง คุณฟ้องไหมครับ เสียทั้งเงินทั้งเวลา การไปดราม่าหรือเอาเขาไปประจานเฉยๆ ทำอะไรใครไม่ได้ครับ เขาอาจจะอับอายอาจจะรำคาญ แล้วคุณได้อะไรกลับมาบ้างไหมนอกจากความสะใจ งานก็โดนเอาไปแล้วเรียบร้อย เงินก็ไม่ได้


มันเหมือนข้ามถนนครับ ไฟแดงแล้วก็จริง ไฟเขียวคนข้ามสว่างโร่ก็จริง แต่ถ้าไม่ดูอะไรเลยข้ามดุ่ยๆไป คนฝ่าไฟแดงมาก็คาบคุณไปกินเท่านั้น คนขับผิดไหม ผิดอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณดูให้ดีเสียก่อน ป้องกันตัวเองเสียก่อน คุณก็ไม่ตาย


ส่วนนักเขียนและคนทั่วไป ถ้ามันกำกวม เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมาย และโดยเฉพาะดราม่าที่อาจจะเกิด โดยเฉพาะถ้าเจ้าของผลงานไม่ยอมป้องกันตัวเองเลยแล้วมานั่นมานี่


ผมเห็นด้วยว่าแค่การให้เครดิต (ถ้าไม่ได้กำหนด CC) ไม่พอ เพราะให้ไปบางคนก็ไม่รู้ว่าคนวาดเป็นใคร หรือต่อให้เพิ่มลิ้งค์ช่องทางติดต่อเข้าไปก็มีคนสนใจน้อยอยู่ดี แต่อันนี้แล้วแต่คนวาด บางคนอาจจะบอกไม่เป็นไร แต่บางคนไม่ชอบ


3. ถ้าเป็นงานที่อยากจะขาย อย่าเอาลงเว็บเปิดครับ หรือไม่งั้นติดลายน้ำหรือทำอะไรที่จะให้คนทั่วไปยังใช้ต่อไม่ได้จนกว่าจะซื้องานจริง ถ้าคุณเอาตัวเต็มลง ไม่ค้องอะไรมาก ต่อให้ป้องกันการเซฟ คนกด Print Screen เอาก็ได้แล้ว อย่างว่าครับ รู้จักป้องกันตัวเอง จะได้ไม่ "ประหลาดใจ" ครับ


ผมพูดในฐานะคนที่วาดรูปเอง และไม่เคยเอางานใครมาใช้ในนิยาย ยกเว้นจากคนที่รับวาดโดยเฉพาะ

1
peiNing Zheng 19 ก.ย. 60 เวลา 16:17 น. 11

พออ่านกระทู้แล้ว ตัวเราเองก็ใช้รูปนักวาดท่านอื่นค่ะ แต่ด้วยเป็นห่วงเรื่องลิขสิทธิ์ เลยตัดสินใจใช้รูปที่หมดลิขสิทธิ์ไปเลยแล้วกัน 


ตอนนี้ชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่ามันโอเคไหม (-__-" )a


มันเขียนอยู่ใน Licensing ว่า


This is an image that has come from a book or document for which the American copyright has expired and this image is in the public domain in the United States and possibly other countries.


เป็นรูปประกอบที่อยู่ในหนังสือซึ่งหมดอายุในเรื่องลิขสิทธิ์ไปแล้วตามกฎหมายเมกาน่ะค่ะ

1
Earendel Gilmirath 19 ก.ย. 60 เวลา 18:11 น. 11-1

คิดว่าถ้าอยู่ภายใต้ภาคีอนุสัญญากรุงเบอร์นด้วยกัน แล้วตัวภาพเป็นสมบัติสาธารณะชนไปแล้ว น่าจะนำมาใช้ได้โดยสาธารณะนะคะ อันนี้มีแสดงรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีค่ะ https://www.l3nr.org/posts/430740

0
แมวยุ่งหลังแป้นพิมพ์ 19 ก.ย. 60 เวลา 20:29 น. 12

เขียนได้ดีค่ะ การใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญ เรื่อง CC ที่อธิบายก็ชัดเจนดีค่ะ

แต่เอาจริงๆ เราอยากให้ทุกคนตระหนักว่างานทุกงานมีลิขสิทธิ์นะ ไม่ใช่ต้องพึ่งแค่ป้าย cc อย่างเดียว

คือเวลานักวาดลงรูปในโซเชียลเขาไม่ค่อยจะติดป้าย cc กันหรอก อย่างมากก็เซ็นหรือใส่ลายน้ำ

งานพวกนี้ถ้าให้ตีความในนิยามของ cc คงได้ว่า ห้ามดัดแปลง ห้ามนำไปใช้ในทางการค้า และต้องแสดงที่มา

แต่หลายคนก็ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลย ก็หวังว่าต่อไปจะดีขึ้นล่ะนะ

0
raigeki 20 ก.ย. 60 เวลา 14:42 น. 13

ถามหน่อยครับ ผมเอาโปสเตอหนังอันนึงมาดัดเเปลง เเล้วเอาไปใช้ ผิดไหมอะครับ

เเต่ผมก็วาดเองนะ

4
Earendel Gilmirath 20 ก.ย. 60 เวลา 15:58 น. 13-1

ถ้าเอาของเขามาดัดแปลงโดยการต่อเติมหรือตัดออก ในทางกฏหมายถือว่าผิดอยู่ดีค่ะ เพราะโปสเตอร์หนังส่วนมากใช้ภาพที่ถือลิขสิทธิ์ของค่ายผู้จัดจำหน่ายอยู่แล้ว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางผู้จัดจำหน่ายให้ทำได้ค่ะ

0
Earendel Gilmirath 20 ก.ย. 60 เวลา 16:11 น. 13-3

ตอบยากเบย ยอมรับ เพราะเราไม่ใช่นักกฏหมายตรงๆ ส่วนตัวคิดว่าถ้าเอามาเพื่อเป็น parody ยังไม่เจอกรณีฟ้องร้องจริงจัง แต่อันนี้มันไม่ได้ parody อ่ะค่ะ มันเหมือนการดราฟต์ตามแบบเลย ซึ่งเรามองว่าคือการลอกนะคะ เอาไอเดียการจัดวางเขามาใช้เต็มๆ


ลองไปค้นคว้าเรื่องการ Draft ภาพดูค่ะ

0
raigeki 20 ก.ย. 60 เวลา 16:27 น. 13-4

ครับ ขอไปเอาออกจากนิยายก่อนนะครับ

0
mbth96 (จะออกไปแตะขอบฟ้า) 20 ก.ย. 60 เวลา 17:33 น. 14

เป็นประโยชน์มากค่ะ เข้าใจง่ายขึ้นมากเลย (อ่านกระทู้สืบเนื่องนั้นแล้วเหมือนกันค่ะ)

ขอบคุณที่สละเวลาหาข้อมูลมาอธิบายให้เข้าใจกันค่ะ ต่อไปจะได้ระวังกันมากขึ้นหน่อย เคารพงานคนอื่นกันให้มากๆ หน่อย

0
หวานจัe 20 ก.ย. 60 เวลา 21:05 น. 15

ขอบคุณมากๆค่ะ กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับ copyright ที่เกี่ยวข้องกับงานภาพอยู่เลย


เมื่อสองปีก่อนเคยเห็นคนเอาภาพไปดราฟลงในกลุ่มวาดภาพบน Facebook รวมถึงเขียน Captionที่แสดงถึงจะเอาไปประกวดด้วย พอเข้าไปบอกว่าดราฟ มันผิดกฏหมาย ซึ่งรูปจริงๆเขาไม่ได้แจกให้ฟรีๆ หรือไม่ได้ให้เอาไปใช้กับการศึกษาและทางพาณิชย์เลย เราโดนด่ากลับมา "สงสัยคงดราฟเยอะ" จากเจ้าของภาพที่ดราฟมา จากนั้นก็โดนอีกเป็นเบือ อย่างเช่น "เขาเอาไว้ใช้ฝึกนี่" ทุกวันนี้ยังมีภาพหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์อยู่เลยค่ะ capture ข้อความไว้


ที่กล่าวๆมาคืออยากบอกว่า จะเป็นการดีถ้าคนรู้กฏหมายมากกว่านี้ 555+ และเรื่องลิขสิทธิ์ประเทศเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรในอดีต(ในช่วงนั้น) แต่ปัจจุบันเริ่มมีการให้น้ำหนักด้านลิขสิทธิ์มากขึ้น เราเคยลองหยิบเมาส์ปากกาลองวาดดู ยากจริงๆค่ะ ไม่ใช่เรื่องงานวาดอย่างเดียวรวมถึงสิ่งอื่นๆด้วย ไม่ได้ทำ 2-3 นาทีแล้วจะเสร็จ

0