Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เรื่องเล่า งานพระศพ "เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์" งานพระศพที่เศร้าสุดตั้งแต่สร้างกรุงมา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
งานพระศพที่กล่าวถึงนั้น คือ งานพระศพของ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงเป็นเชษฐภคินี (พี่สาว) ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ความเกี่ยวข้องของพระองค์กับรัชกาลต่างๆ
- เป็นลูกรัชกาลที่ 5
- เป็นน้องรัชกาลที่ 6
- เป็นพี่รัชกาลที่ 7
- เป็นป้ารัชกาลที่ 8 และ 9

เป็นที่ทราบกันดีกว่า ในจำนวนพระโอรสพระธิดาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ทั้งหมด 8 พระองค์ ล้วนแต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดาทั้งสิ้น ซึ่ง "เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์" นับเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายที่สิ้นพระชนม์ ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนหน้านี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ไม่เคยเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพพระราชโอรสธิดาพระองค์ใด เนื่องจากคติโบราณที่ห้ามบิดามารดาเผาศพบุตร มิฉะนั้นต้องเผาอีก แต่ครั้งนี้เป็นพระราชธิดาองค์ท้ายสุด พระองค์จึงได้เสด็จมา และมีพระดำรัสที่มีนัยยะความชอกช้ำพระทัย และประชดประชันในพระชะตาชีวิตว่า "อ๋อ ไปส่งให้หมด พอกันที ไม่เคยไปเลยจนคนเดียว คนนี้ต้องไป หมดกันที"

อ่านเรื่องราว "สมเด็จพระศรีสวรินทิรา" ราชวงศ์ 6 แผ่นดิน (มเหสีที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์) คลิกที่นี่


สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

เล่ากันว่าช่วงที่ "เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์" สิ้นพระชนม์นั้น ประเทศไทยของเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ในหนังสือ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ โดยคุณสมภพ จันทรประภา ได้เล่าถึงงานพระศพของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ไว้อย่างน่าเศร้าว่า..

"...แต่มาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดาซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า รัฐบาลแจ้งให้ทราบว่าไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสริยยศ ถ้าต้องพระประสงค์จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงินเอง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในเวลานั้นก็ไม่ทรงมีเงินสดมากนัก พระราชทรัพย์ที่ทรงมีก็เป็นตึกแถวที่ดินตามแบบคหบดีรุ่นเก่าๆ ทั้งหลาย ถึงกระนั้นก็ทรงยอมพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชธิดาของพระองค์เท่าที่หาได้ ให้สมพระเกียรติมากที่สุด

พระเมรุสร้างขึ้น ณ ท้องสนามหลวงอย่างเร่งรีบ ไม่ต้องพูดถึงความงาม ไม่ต้องพูดถึงความโอ่โถง ไม่ต้องพูดถึงอะไรทั้งสิ้น เพราะแม้แต่ความเรียบร้อยก็พูดได้ยาก สภาพของกระบวนแห่พระศพขะมุกขะมอม เพราะไม่มีเจ้าพนักงานมาเดิน 4 สาย ใช้ยุวชนทหารมาเดินแทน ก็เครื่องแบบยุวชนนั้น โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะถุงเท้าและรองเท้า เป็นงานเมรุกลางเมืองที่น่าเศร้าที่สุดตั้งแต่สร้างกรุงมา

อย่างไรก็ตาม พระศพก็มาถึงท้องสนามหลวงจนได้ และต้องหยุดคอยผู้สำเร็จราชการอยู่อีกเป็นเวลานาน จึงได้เคลื่อนไปเวียนรอบพระเมรุ ได้ทราบต่อมาภายหลังว่ารัฐบาลก็ได้สังเกตเห็นความบกพร่องต่างๆ ดังกล่าวและได้ตำหนิไปยังผู้รับผิดชอบ...."


ภาพงานพระศพ สแกนจาก "หนังสือพิมพ์ ประมวญสาร ปีที่ ๗ วันที่ 26 พฤศภาคม พ.ศ 2484"

พระราชกรณีกิจของพระองค์ ในขณะมีพระชนม์ชีพ

บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสะพาน
ในปี พ.ศ. 2443 พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระกุศลสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากรเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 15 ปี และจะก้าวเข้าสู่พระชนมายุ 17 ปี เสมอพระเชษฐภาดาสองพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ โดยชื่อของสะพานได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สะพานชมัยมรุเชฐ" หมายถึง พี่ชายผู้เป็นเทพ 2 พระองค์

องค์อุปถัมภ์ โรงเรียนราชินี, ราชินีบน, เบญจมเทพอุทิศ,
ยุพราชวิทยาลัย, วัฒนโนทัยพายัพ และ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์

นอกจากนี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุลสตรีไทยและทรงทำนุบำรุงการศึกษาของสตรีจำนวนมาก อาทิ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ให้แก่โรงเรียนราชินี, สร้างโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่งพร้อมทั้งประทานที่ดิน และสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทานนามว่า โรงเรียนราชินีบน ในปี พ.ศ. 2472 ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 พระองค์ได้ประทานเงิน 6,000 บาท แก่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้รื้อถอนอาคารเดิมเพื่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ทั้งยังประทานเงินอีกจำนวน 2,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้ประทานเงินบำรุงโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ แห่งละ 100 บาท และทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยประทานอาคารพร้อมที่ดินประมาณ 4 ไร่ให้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ
ด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงโรงพยาบาลสามเสน, โรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคติดต่อกัน, โรงพยาบาลคนเสียจริต และโรงพยาบาลบางรัก แห่งละ 28 บาท รวมเป็นเงิน 112 บาท เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุเสมอสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และทรงประทานที่ดินสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ (หอชาย 1) ของโรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบทูลของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นตึกสามชั้น มีมุขสามมุขทั้งทิศเหนือและใต้ จำนวนห้องพัก 100 ห้อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ก่อสร้างหอพักชายขึ้นใหม่ทดแทนหอเดิมที่เคยประทานที่ดินไว้ โดยสร้างเป็นตึกสิบสองชั้น ห้องพัก 160 ห้อง คงเหลือสิ่งก่อสร้างเดิมคือรั้วสามด้านและหอพระ การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามหอพักใหม่นี้ว่า "มหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ทั้งสองพระองค์ โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเปิดมหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2538


(ซ้ายไปขวา) เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และกรมหลวงสงขลานครินทร์

ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ถวายพระอารามที่กษัตริย์ทรงสถาปนาไว้
ด้านพระศาสนา พระองค์มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา โดยจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระสำคัญ อาทิ เมื่อครั้งมีพระชนมพรรษา 25 ปี ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เท่ากับพระชนมพรรษาคือ 25 ชั่ง ถวายแก่พระอารามที่บูรพมหากษัตริย์ทรงสถาปนาไว้ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวราราม, วัดราชโอรส, วัดเสนาศน์ และวัดนิเวศธรรมประวัติ พระอารามละ 5 ชั่ง

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง จนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 มีพระอาการหนักอย่างน่าวิตก พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 23.15 นาฬิกา ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่ วังคันธวาส สิริพระชนมายุ 53 พรรษา

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานวังคันธวาสให้กับโรงเรียนราชินีบน เพื่อเก็บผลประโยชน์เป็นรายได้บำรุงโรงเรียน  ปัจจุบันพื้นที่ของวังคันธวาสได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุในปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
- หนังสือศรีสวรินทิราฯ
- วิกิพีเดีย
- http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/04/K11952997/K11952997.html

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

b a b y f h k 26 ต.ค. 60 เวลา 11:29 น. 2

ขอขอบคุณที่นำข้อมูลมานำเสนอนะคะ แต่พฤศภาคม ตรงภาพงานพระศพ ที่สแกนจากนสพ.ประมวญสาร เขียนผิดนะคะ มันต้องพฤษภาคมแบบนี้ไม่ใช่หรอคะ

1
_KafeelSwifty 26 ต.ค. 60 เวลา 20:26 น. 2-1

ในอดีตเขาเขียนแบบนี้ค่ะ คิดว่าน่าจะตรงยุคปฎิวัติตัวอักษรสมัยจอมพล ป. มั้งคะ

0
สีสวย 26 ต.ค. 60 เวลา 12:47 น. 3

เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเพื่อใครกัน นอกจากเอาอำนาจของคนดี กลับไปส่งให้มือโจร โจรปล้นชาติเสียมากกว่า มากเปลี่ยนแปลงระบอบ :(

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น