Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ต้องมีโลก 1.7 ใบถึงจะพอ หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงการบริโภค

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

คงไม่เป็นการพูดเกินจริงสักเท่าไรนักหากจะบอกว่าขณะนี้มนุษย์กำลังผลาญทรัพยากรโลกเกินกว่าอัตราที่โลกจะสามารถเยียวยาได้ทัน โดยรายงานล่าสุดจากองค์กร Global Footprint Network  ได้คำนวณไว้ว่า วัน Earth Overshoot Day (วันหนี้นิเวศโลก) หรือ วันที่โลกใช้ทรัพยากรในปริมาณสำหรับใช้ทั้งปีหมดไปแล้วในอัตราที่โลกไม่สามารถผลิตฟื้นคืนได้ทัน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2018 โดยที่เป็นการใช้ทรัพยากรหมดไปเร็วที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ที่เริ่มต้นคำนวณ (ตรงกับวันที่ 29 ธันวาคม)  และหากมนุษย์ยังคงกระหายทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป เราจะต้องการโลก 1.7 ใบถึงจะพอกับการตอบสนองการบริโภคของมนุษย์ และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

นั่นหมายความว่าภายใน 7 เดือน เราได้เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเกินกว่าที่มหาสมุทรแลผืนป่าจะดูดซับได้ เราประมงจับปลา ตัดป่าไม้ ใช้ผืนดินทำอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ใช้น้ำจืด เกินกว่าที่โลกจะสามารถผลิตได้ใหม่ทัน ผลลัพธ์ที่เด่นชัดที่สุดจากหนี้ที่เราสร้าง น่าจะหนีไม่พ้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

และนี่คือหนี้นิเวศที่มนุษย์ทุกคนติดค้างกับโลก

นับแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เรากำลังยืมทรัพยากรที่เราควรสงวนไว้ใช้ในปีหน้ามาใช้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา รายงานจากองค์กร Global Footprint Network เผยว่า เราได้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งคาร์บอน อาหาร น้ำ ต้นไม้ และผืนดินของทั้งปี หมดไปแล้วภายใน 212 วัน หรือราว 7 เดือน 

เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา วันหนี้นิเวศโลก ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม ขยับมาอีก 20 ปี ตรงกับวันที่ 30 กันยายน และปีต่อไปอาจจะเป็นปีแรกที่งบประมาณของทรัพยากรโลกจะหมดไปเร็วเป็นประวัติการณ์ที่เดือนกรกฎาคมก็ได้

แต่เรายังสามารถพลิกสถานการณ์ได้ #MovetheDate

ภาคอุตสาหรรมที่ก่อก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่เราอาจะคิดไม่ถึงคือ ภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งอีกไม่ช้าปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนนี้จะแซงหน้าอุตสาหกรรมฟอสซิลไปแล้ว  หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเร่งการผลิตที่เกินอัตราการบริโภค (ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผลิตเนื้อสัตว์เกินจำนวนมากถึง 2.5 พันล้านปอนด์) อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นคือภาคส่วนที่ใช้ทรัพยากรดิน ทำลายป่าไม้ สร้างมลพิษทางอากาศ และน้ำ อย่างครบวงจร รวมถึงเป็นอุตสหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้บริโภคอย่างเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวินะที่นำมาใช้กับสัตว์ ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค แต่ใช้กับสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยจากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และหากป่วยจะส่งผลเสียต่อคุณภาพเนื้อตามมา สิ่งเหล่านี้ตกค้างมายังเนื้อสัตว์บนจานอาหารของเรา

การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงร้อยละ 50 และแทนที่เนื้อสัตว์ด้วยผัก จะเป็นการช่วยขยับวันหนี้นิเวศโลกไปได้ และถือเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราทำได้ในการลดรอยเท้าคาร์บอนของเราผ่านอาหารการกินในแต่ละมื้อ แต่ละคำ

เพราะปัญหานั้นไม่ใช่มนุษยโลกไม่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค แต่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิต หรือราว 1.3 พันล้านตัน ได้กลายมาเป็นอาหารเหลือทิ้งในแต่ละปี เพียงแค่ 1 ใน 4 ส่วนของอาหารที่เหลือทิ้งหากนำมาใช้อยู่ถูกต้อง ก็จะสามารถเลี้ยงมนุษย์ได้อีกราว 870 ล้านคน นั่นคือการผลิตที่เกินความต้องการของอุตสาหกรรม สูญเสียทั้งทรัพยากร สูญเสียเศรษฐกิจ และเป็นการหยิบยืมอนาคตของลูกหลานเรามาใช้ ถ้าเราลดการผลิตอย่างเหลือทิ้งได้ เราจะขยับวันหนี้นิเวศโลกออกไปได้อีก 11 วัน

แน่นอนว่าผู้บริโภคทุกคนสามารถลดการใช้ทรัพยากรได้ แต่การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ต้องเกิดขึ้นจากภาครัฐกำหนดนโยบาย และภาคอุตหกรรมที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตน แต่คำนึงถึงความยั่งยืนของโลก

เพราะเรามีโลกเพียงใบเดียว ที่จะต้องอยู่กันไปอีกนาน

 
ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/17/blog/61761

ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

Bad Day Survivor 2 ส.ค. 61 เวลา 16:01 น. 1

เป็นบทความที่ดีนะครับ แต่เราคงจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ในโลกทุนนิยมแบบนี้ ผมอยากจะถามว่าเรายังมีเวลาเหลือกันอีกกี่ปีก่อนที่ทรัพยากรบนโลกนี้จะหมดไป?

0