Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ทริค เทคนิค รีวิว GAT จากประสบการณ์การสอบทั้ง 9 รอบที่ผ่านมา! ถึงเด็ก 62 และรุ่นต่อไป

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


อีก 2 เดือนสำหรับการสอบ GAT ความถนัดทั่วไป ปี 2562 เพื่อนำคะแนนนี้ไปยื่นในการเข้ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศในระบบ TCAS
โพสต์ ณ เวลานี้น่าะจะเหมาะแก่เวลาให้น้อง ๆ ใช้เตรียมตัวได้ดีที่สุด

นี่คือเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึง จากประสบการณ์การสอบที่ผ่านมาทั้ง 9 รอบของพี่ ทั้งพาร์ทเชื่อมโยงและพาร์ทอังกฤษครับ
เริ่มมมม


1. อย่าลืมนำนาฬิกาเข้าห้องสอบ (นาฬิกาแบบมีเข็มเท่านั้น) ถ้าจะให้ดี ให้เซ็ทเวลาให้ตรงกับสนามสอบนั้น ๆ เพราะ GAT (ตอนที่ 2) หรือที่เรียกว่าภาษาอังกฤษ เสี่ยงต่อการทำไม่ทันเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งปีหลัง ๆ ที่มีถึง 5 ตัวเลือก ยิ่งทำให้ใช้เวลามากขึ้นในการคิดวิเคราะห์คำตอบ พยายามบริหารเวลาให้ดี เรื่องนี้สำคัญมาก ทำให้ทันสำคัญพอ ๆ กับทำให้ถูกเลยทีเดียว เว้นเสียแต่ว่าผู้สอบตั้งใจจะไปเดา อย่างนี้ไม่ต้องเอาเข้าก็ได้เด้อ...

2. GAT เชื่อมโยง พยายามอ่านข้อความที่ข้อสอบกำหนดมาให้ในตาราง ทั้ง 10 ข้อความของแต่ละบทความให้ผ่าน ๆ ตาก่อน แล้วค่อย ๆ นำเลขประจำข้อความไปใส่บนหัวของข้อความนั้น ๆ ที่เป็นตัวหนาในบทความ แล้วจึงค่อยลงมืออ่านบทความ จากนั้นจึงทำการเชื่อมโยงคำตอบ #ระวังให้ดี จะมีข้อความที่ไม่ได้เน้นหนาไว้ให้ในบทความ แต่มันจัดเป็นข้อความที่กำหนดในตารางด้วย บางครั้งข้อความเหล่านี้อาจถูกผู้ออกข้อสอบนำไปเปลี่ยนคำบ้าง แต่ความหมายยังคงเดิมเหมือนกับข้อความที่เป็นตัวหนา
พาร์ทนี้ต้องละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน พลาดนิดเดียว เสียคะแนนฟรี ๆ ได้ง่ายมาก และที่สำคัญคือ อย่าคิดไปเองเด็ดขาด! อันไหนไม่รู้ว่าจะส่งผลทางตรง (A) หรือยับยั้ง (F) ให้ใช้ตรรกะการคิดง่าย ๆ คือดูที่คำที่โจทย์กำหนดมาให้เช่น “(01)การนอนพักผ่อน” ช่วยให้ “(02)อาการอ่อนล้า”ดีขึ้น  แน่นอนว่า คำตอบคือ 01 ต้องยับยั้ง (F) 02 แน่นอน เพราะไม่มีทางที่”การนอนพักผ่อน”จะส่งผลให้เกิด”อาการอ่อนล้า” แต่ถ้าโจทย์กำหนดคำมาแบบนี้ ตรรกะง่าย ๆ เลย มีน้องเยอะมากที่ยึดติดกับคีย์เวิร์ด”ทำให้” มากเกินไป ให้ใช้ตรรกะธรรมดาในการวิเคราะห์ถ้าหากเจอเคสแบบนี้ “(01)การนอนพักผ่อน” ช่วยให้ “(02)อาการอ่อนล้าดีขึ้น” แบบนี้ 01 ส่งผลให้เกิด (A) 02 แน่นอน เพราะมันกำหนดคำว่า ดีขึ้น มาด้วย แค่นี้จริง ๆ ไม่ต้องคิดเยอะ

3. อย่าห่ามทำพาร์ทที่ไม่ถนัดก่อน! พาร์ทที่ดูดเวลามากทุกปีคือพาร์ท Reading (แต่ปี 61 พาร์ทรีดดิ้งสั้นและง่ายมาก) พยายามใช้วิธีที่ตนเองถนัด บางคนอาจชอบอ่านคำถามก่อนเพราะจะได้รู้ว่าโจทย์ถามอะไร พอกลับไปอ่านบทความจะเห็นคำตอบออกมาทันที แต่บางคนก็ชอบวิธีอ่านบทความก่อนแล้วมาอ่านคำถาม อันนี้ต้องแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน น้อง ๆ อาจลองฝึกทำทั้ง 2 แบบก่อนวันสอบจริง แล้วดูว่าแบบไหนที่เราถนัดมากกว่ากัน เทคนิคอื่น ๆ อาจจะเป็น Speed reading หรือ Scanning หรือ Skimming แล้วแต่ว่าโจทย์ข้อนั้น ๆ เหมาะสมจะใช้วิธีใด เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้ลดเวลาในการทำได้มาก พาร์ทนี้บางรอบก็มี 3 บทความ บางรอบก็มีถึง 4 บทความ แล้วแต่มติของคณะกรรมการผู้ออกข้อสอบ ไม่รู้คำศัพท์คำไหน พยายามอย่าหยุดอ่าน ให้อ่านต่อไปเพื่อหา Context หรือบริบทของศัพท์นั้น ๆ
#ขอเล่าให้ฟังว่า เมื่อปีก่อน ๆ ซึ่งมีการสอบแกท 2 รอบ มีน้องหลายคนที่พี่สอนไปสอบแกทรอบ 2 เพื่อวัดความสามารถตัวเองเฉย ๆ เพราะสอบติดจากคะแนนรอบ 1 ไปแล้ว โดยการอยากทดลองว่าถ้าทำ Reading ก่อนจะทำทันไหม เปรียบเทียบกับรอบ 1 ที่ทำ Reading หลังสุด ปรากฏว่าแทบร้อยทั้งร้อย พอทำ Reading ก่อนก็ทำไม่ทัน! ข้อสอบจะออกแบบดูดเวลาให้เราอยู่กับมันนาน ๆ สมองก็ล้า พอมาทำพาร์ทง่าย ๆ เช่นคอนเวอร์ทีหลังก็อาจทำให้เบลอได้ ดังนั้นเก็บพาร์ทที่เราถนัดก่อน พาร์ทรีดดิ้งอ่านแบบจับใจความสำคัญแล้วตอบเลย ช่วยให้ทำถูกมากขึ้นมากกว่าการคิดเยอะหรือติดกับมันนาน ๆ (9 วิชาสามัญก็เช่นกัน) ขอบอกว่าตอนฝึกทำกับตอนสอบจริงบรรยากาศมันแตกต่างกันมาก มันมีหลายปัจจัยมากดดันเรา จากที่ซ้อมมา 100% จะเหลือ 50-90% ดังนั้นซ้อมไปให้เกิน 100
ป.ล.ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะปี 61 รอบล่าสุด ข้อสอบพาร์ทนี้ดันออกสั้นและง่าย ดังนั้นให้พลิกไปสำรวจดูก่อนว่ามันน่าทำก่อนมั้ย ถ้าสั้นและง่ายเหมือนกันกับปี 61 ก็ทำก่อนได้ ไม่เสี่ยงเกินไป

4. ข้อสอบของ สทศ. เป็นข้อสอบระดับชาติ ยากมากที่คำตอบจะตอบตัวเลือกเดียวกัน ติดกันมากกว่า 4 ข้อ เช่นพอเราทำแล้วพบว่าข้อ 1-4 เราตอบตัวเลือกที่ 2 เหมือนกันหมด อย่างนี้โอกาสผิดมีแล้วแน่นอน อย่างน้อยที่สุด 4 ข้อนี้ ก็ต้องผิด 1 ข้อ ลักษณะคำตอบของข้อสอบระดับชาติจะถูกเฉลี่ยคำตอบมาให้เกือบจะเท่า ๆ กัน และคำตอบจะไม่เกาะกลุ่มกันมากเกินไปในข้อที่ติดกัน นี่คือหลักการของการออกข้อสอบในการวัดและประเมินผลอย่างง่าย ๆ

5. พาร์ทบทสนทนา (Expressions) โดยภาพรวมแล้วง่ายที่สุดทุกปี พยายามเก็บพาร์ทนี้ให้ได้เยอะ ๆ ข้อสอบปีหลัง ๆ ออกสำนวนน้อยมาก อย่างมากก็มีสำนวนไม่เกิน 2-4 ข้อ ทั้ง GAT และ 9 วิชาสามัญ เมื่อเจอช่องว่างอย่ารีบตอบทันที ให้อ่านประโยคต่อไปประมาณ 1-3 ประโยค แล้วจะพบว่าช่องว่างที่หายไปควรตอบอะไรมากที่สุด พยายามเลือกตัวเลือกที่สุภาพ กระชับและเข้ากับบริบท

6. ย้ำอีกครั้ง ถนัดพาร์ทไหนมากที่สุดทำพาร์ทนั้นก่อน อย่าติดอยู่กับพาร์ทที่ทำไม่ได้ อย่าห่าม!

7. ข้อสอบ GAT จะแจกให้ทำทีละตอน เวลา 8.30-10.00 น. จะเป็น GAT เชื่อมโยง พอหมดเวลาจะแจกตอนที่ 2 (ภาษาอังกฤษ) ให้ทำในเวลา 10.00-11.30 น. ไม่มีการแจกข้อสอบพร้อมกันทั้ง 2 ตอน ทำตอนแรกเสร็จก่อน แต่ยังไม่หมดเวลาก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ตอนที่ 2 มาทำก่อนคนอื่น ดังนั้นในข้อสอบเชื่อมโยง หากยังไม่หมดเวลา พยายามตรวจเช็คให้ดีว่าฝนคำตอบครบหรือยัง ตอบครบไหม ฝนถูกไหม มีคนพลาดตรงนี้เยอะมากทุกปี ทั้ง ๆ ที่เขียนผังหรือคำตอบในตารางถูกแล้ว

8. พาร์ท Error หาประธานและกริยาให้เจอ ดูส่วนที่ขีดเส้นใต้ว่าเป็นคำประเภทใด ข้อสอบต้องการวัดเรื่องอะไร คิดไว้เสมอว่าส่วนที่ไม่ได้ขีดเส้นใต้มาให้นั้นถูกต้องแล้ว และจะเป็นตัวหลักในการตัดสินว่าส่วนที่ขีดเส้นใต้มานั้นถูกต้องแล้วหรือยัง กล่าวง่าย ๆ คือ เราจะใช้ส่วนที่ไม่ได้ขีดเส้นใต้เป็นตัวช่วยในการหาคำตอบ เช่น มีส่วนที่ไม่ได้ขีดเส้นใต้ใช้กริยาในรูปอดีต (Past) แต่ส่วนที่ขีดเส้นใต้กลับใช้กริยาในรูปปัจจุบัน (Present) โดยที่ในประโยคไม่มีคำบอกเวลาใด ๆ หรือคำบอกใบ้ใด ๆ แบบนี้มีโอกาสสูงมากที่กริยาที่ขีดเส้นใต้มาให้จะผิด และเป็นตัวเลือกที่ควรตอบ

9. พาร์ทแกรมม่า (Error หรือ Cloze Test) ออกเรื่อง Participle ทุกปี รอบละประมาณ 1-2 ข้อ ถ้าไม่ออกมาด่าพี่ได้เลย! ข้อสอบ GAT กับ Participle เป็นของคู่กัน
Participle คือกริยาไม่แท้รูปแบบหนึ่ง ทำหน้าที่ขยายคำนาม ทำหน้าที่เสมือนเป็น adjective มี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- Present participle (กริยาไม่แท้ที่เติม ing) ให้ความหมายว่า คำนามที่มันขยายนั้น กระทำกริยานั้นด้วยตัวเอง เช่น The boy sitting under the tree is my brother. (sitting เป็น present participle เป็นกริยาไม่แท้ ขยายคำนาม The boy ว่าเป็นผู้นั่งด้วยตนเอง ประโยคนี้มีกริยา is อยู่แล้ว กริยาตัวที่เหลือจึงต้องอยู่ในรูปกริยาไม่แท้ แต่ถ้าจะใช้กริยาแท้ก็ให้ใส่ who แล้วตามด้วยกริยา)
- Past participle (กริยาไม่แท้ที่อยู่ในรูปช่องที่ 3) เช่น This is the bag made in Korea. (made เป็น past pariciple ทำหน้าที่ขยายคำนาม the bag เพื่อบ่งบอกว่ากระเป๋าถูกสร้างขึ้นมา)

10. พาร์ทแกรมม่า (Error กับ Cloze Test) ออกแกรมม่าเรื่องเดิม ๆ แต่แค่เปลี่ยนโจทย์ เช่น
-Noun นับได้, นับไม่ได้, เติม s, เติม article
-Verb แท้สอดคล้องกับประธานไหม (แยกประโยคให้เป็น ดูให้ออกว่าอันไหนเป็นส่วนขยาย ข้อสอบไม่เล่นง่ายโดยเอาประธานกับกริยามาอยู่ติดกันแน่นอน)
-Verb ไม่แท้ เช่น Participle, to inf
-Passive voice (be+v.3) ประธานถูกกระทำ
-ความสอดคล้องของ Pronoun เช่นคำนามเป็นพหูพจน์แต่ดันไปใช้ Pronoun เอกพจน์ (it, its, his, that)
-Adjective, Adverb ดูให้ดีว่าตำแหน่งนั้นอะไรขยายอะไร
-คำเชื่อม (คำบุพบท prep. คำสันธาน conj.)
-Relative clause (who, which, whose, where, whom)
-Parallelism โครงสร้างคู่ขนาน (ใช้ and, but, rather than เชื่อม)
-Tense ง่าย ๆ (เช่น past simple, present simple, present continuous, present perfect, present perfect continuous, future simple)
-If clause (ข้อสอบเคยเล่นถึงแบบผสม แบบที่ 5 ตอนปี 57)
-Noun clause
-Comparison การเปรียบเทียบ
-Other, Another, Others บลา ๆ
-one of.....นามพหูพจน์

มีแค่บางรอบที่ออกเรื่องที่ยังไม่เคยออกสอบ และข้อนั้นก็จะเป็นแกรมม่าขั้นสูงมาก ๆ หลอกเด็กได้กระจุย แต่ก็มีไม่เกิน 1-2 ข้อต่อรอบแน่นอน

11. 5 ข้อสุดท้ายของข้อสอบ GAT Eng ไม่ได้วัดแกรมม่า แม้จะอยู่ในพาร์ท Structure and Writing เหมือนกับ Error หรือ Cloze Test ก็ตาม แต่ 5 ข้อนี้วัดหลักของการเขียน Paragraph ที่ถูกต้องและเหมาะสมเท่านั้น สรุปแล้ว 5 ข้อนี้ก็เหมือน Reading ดี ๆ นี่เอง

12. ข้อสอบ GAT อังกฤษจะมี 4 พาร์ท 60 ข้อ และแต่ละพาร์ทแยกย่อยเป็นข้อสอบลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ (ยึดตามข้อสอบรอบล่าสุด คือ 2561)
1. Expressions
-บทสนทนาแบบยาว (ข้อ 1-15)
2. Vocabulary
-Meaning in Context แบบ synonym (ข้อ 16-20)
-Meaning in Context แบบ เติมคำศัพท์ 2 คำ (ข้อ 21-25)
-Meaning Recognition (ข้อ 26-30)
3. Reading
-บทความ 3-4 บทความ (ข้อ 31-45)
4. Structure and Writing
-Error Identification (ข้อ 46-50)
-Cloze Test (ข้อ 51-55)
-Paragraph Writing แบบชอยส์ (ข้อ 56-60)

(**ข้อละ 2.5 คะแนนเท่ากันทุกข้อมาตั้งแต่ปี 56 แล้วนะครับ)

️ ไม่มีใครรู้ว่าปีนี้ข้อสอบ GAT ภาษาอังกฤษจะเปลี่ยนแนวการออกไหม เพราะข้อสอบยึดแนวเดิมมาแล้วถึง 7 รอบ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนก็จะมีแค่พาร์ท Vocabulary กับ Structure and Writing ที่จะถูกเปลี่ยนบ้างนิดหน่อย ดังนั้นพยายามอ่านคำสั่งให้ดีก่อนทำนะครับ ถ้าเป็นข้อสอบที่ผู้เข้าสอบคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว คำสั่งของแต่ละพาร์ทก็จะเขียนไว้แค่ Choose the best answer. เท่านั้น ถ้าข้อสอบยังคงเหมือนเดิมก็จะเป็นโชคดีไป

️ ท้ายที่สุดแล้วเทคนิคอะไรก็ไม่ดีไปกว่าความพากเพียร และการหมั่นฝึกฝนที่น้องได้ทำมาโดยตลอดที่ผ่านมา
มีคำถามอะไรที่เกี่ยวข้องกับ GAT สามารถถามได้ที่แฟนเพจ GAT Eng Thailand ได้เลยครับ จะพยายามตอบให้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ ด้วย ในเพจยังมีแจกข้อสอบทั้งแบบพรีและข้อสอบรอบล่าสุดพร้อมเฉลยละเอียดมาก ๆ แบบจุใจไปเลย
ฝากด้วยน้าาา www.facebook.com/GATEngThailand

#แชร์ให้เพื่อนๆ น้อง ๆ ได้อ่านด้วยนะครับ

ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีครับ ^^

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

Kantarat_nam 13 ธ.ค. 61 เวลา 19:30 น. 1

เทคนิคดีๆนั้นเลยนะคะเนี้ย รีวิวดีขนาดนี้ คงต้องลองทำตามแล้ว ขอบคุณมากนะคะ ที่มาแชร์กันนhttps://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-big-09.png

0