Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[รีวิว] วิทย์คอม ลาดกระบัง สำหรับคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน!! PART 2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
/* ก่อนอื่น ใครที่ยังไม่เคยอ่านรีวิวจากปี 1 สามารถกดเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้เลยครับ เราเขียนเอง >> https://www.dek-d.com/board/view/3857802/ */

สวัสดีครับ พบกันอีกแล้วกับรีวิวการเรียน "วิทย์คอม ลาดกระบัง" จากคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน!! part 2 (เพิ่มเติมคือ ตอนนี้เขียนได้แล้วนะ เย่~) ปัจจุบันเราจบปี 2 เป็นที่เรียบร้อย กำลังขึ้นปี 3 แล้วครับ เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ ยังรออ่านกันอยู่หรือเปล่าครับ /*ปาดน้ำตา*/

ขอสาธยายนิดนึงก่อนเข้าเรื่องนะครับ หลังจากได้พักผ่อนเกือบๆ 3 เดือน ก็เปิดเทอมต้อนรับปี 2 ที่พูดได้เลยว่า หินโหด สูบเลือดสูบเนื้อสุดๆครับ เพราะแต่ละวิชาที่ได้เจอ นอกจากจะต้องนำความรู้เก่าจากปี 1 มาใช้แล้ว ยังต้องเรียนรู้เนื้อหาใหม่ๆ ที่เจาะลึกกว่าเดิมด้วยครับ บวกกับเทอมนี้จะไม่ใช่แค่เรียนๆสอบๆ แต่พ่วงด้วย "โปรเจค" เยอะ! มากกกกกกก!

นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่เราต้องควบคุมหรือจัดกิจกรรมให้น้องๆปี 1 หรืองานอื่นๆของสาขาเยอะมากๆเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นปีที่ต้องบริหารเวลาของตัวเองให้ดีเลย เพราะแต่ละวิชา ถ้าเข้าใจก็จะง่ายสำหรับเรา แต่ถ้าไม่เข้าใจหรือหลุดตรงไหน ก็แทบจะประติดประต่อกันไม่ค่อยได้เลยทีเดียว /*ปาดน้ำตาอีกรอบ*/

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มรีวิวการเรียนปี 2 กันเลยครับ เย่~

ปล. หากเนื้อหาข้อมูลผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมยังไง สามารถโต้แย้งได้เลยครับ และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

==================================================================

ภาคเรียนที่ 1 : เริ่มต้นความหินด้วยวิชาภาค 5 ตัว อิ้ง 1 ตัว และวิชาเลือกหมวดมนุษย์ศาสตร์ 1 ตัว (ตามตารางสอน)

วิชาภาคตัวแรกที่ต้องเรียนนั่นก็คือ "โครงสร้างข้อมูลและขั้นตอนวิธี" (DATA STRUCTURES AND ALGORITHMS) จะเป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของโปรแกรมนั้น (Time Complexity) หรือเรียกสั้นๆง่ายๆว่า Big-O ว่าสามารถทำงานได้เร็วหรือช้าเท่าไร รวมไปถึงการรู้จักเกี่ยวกับ arrays, linked-list ที่ลึกขึ้น นำมาใช้งานบ่อยขึ้น นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของหลักการ stack, queue, sorting เป็นต้น โดยส่วนตัวเราคิดว่าวิชานี้ถ้าตั้งใจฟังอาจารย์สอนก็ถือว่าเข้าใจได้ง่าย เพราะอาจารย์จะสอนหลักการและสอนโปรแกรมของเรื่องนั้นๆไปในตัวด้วย ละก็มีคลาสแลปไว้ฝึกเขียนโปรแกรมหรือ test โปรแกรมที่เรียนในแต่ละคลาสหลังจบคลาสทฤษฎีด้วยครับ ถ้าได้ test เอง มันจะทำให้เราจะเข้าใจหลักการของโปรแกรมนั้นมากขึ้น หรือถ้างงๆก็ยังหาข้อมูลจากในเน็ตมาอ่านประกอบได้ (ส่วนตัวเราอ่านของเว็บ geeksforgeek ประกอบ เพราะนอกจากมีหลักการบอกแล้ว ยังมีโปรแกรมให้ลอง test ด้วย ทำให้เข้าใจเร็วขึ้น แต่บางทีก็แอบก๊อบโค้ดมาใช้ด้วย เพราะบางจุดเราต้องเขียนเอง ซึ่งเราก็ขี้เกียจเขียนเอง แหะๆ) ****วิชานี้ควรเก็บมากๆเพราะสำคัญต่อการเขียนโปรแกรมในอนาคตด้วยครับ

วิชาภาคตัวที่สอง นั่นก็คือ "พีชคณิตเชิงเส้นและการประยุกต์" (LINEAR ALGEBRA AND APPLICATIONS) เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการแก้สมการเชิงเส้นในวิธีต่างๆ รวมไปถึงการทำกราฟิกเบื้องต้น เช่น การหมุนภาพ การขยายภาพ การสะท้อนของภาพ เป็นต้น โดยวิชานี้จะนำหลักการของ matrix มาใช้แก้สมการเสียส่วนใหญ่ ส่วนการประยุกต์ ก็คือการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้สมการหรือหาคำตอบในเนื้อหาต่างๆของวิชานี้นั่นเอง แต่เราจะได้เรียนแค่หลักการเฉยๆนะครับ ส่วนโจทย์หรือแบบฝึกหัด เราต้องฝึกทำเอาเอง เพราะถ้าไม่ฝึกทำเองก็เข้าใจยากเอาเรื่องเหมือนกันครับ (ใครที่ลอกงานเพื่อนบ่อยๆ วิชานี้จะได้เรียนรู้การฝึกทำด้วยตัวเองที่แท้ทรูครับ ฮา) รวมไปถึงโปรแกรม ก็ต้องไปฝึกเขียนที่บ้านเอาเอง อันนี้อาจจะยากนิดหน่อย แต่ถ้าเข้าใจหลักการของมัน การเขียนโปรแกรมก็ใช้เวลาไม่นานครับ โดยรวมๆแล้วถือว่าไม่ยากเกินความพยายามของเราครับ แต่เห็นมีทั้งคำนวณทั้งเขียนโค้ดแบบนี้ เวลาสอบก็มีสอบแค่ทฤษฎีนะครับ เพราะแค่ทฤษฎีก็ทำข้อสอบกันไม่ทันแล้ว คำนวณหนักเกินเบอร์สุดๆ /*ร้องไห้*/

วิชาภาคตัวที่สาม จะออกแนววิศวะคอมหน่อยครับ เพียงแค่เราไม่ได้ลงปฏิบัติจริง นั่นก็คือ "โครงสร้างและสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์" (COMPUTER ORGANIZATION AND ARCHITECTURE) วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบวงจร จนไปถึงการออกแบบโครงสร้างภายในหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับช้าสุดจนถึงระดับเร็วสุด นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องของตรรกศาสตร์มาใช้ออกแบบเยอะขึ้น ได้คำนวณเลขฐานต่างๆ ได้คำนวณจำนวนอุปกรณ์ที่จะใส่ลงไปในหน่วยความจำคอมพิวเตอร์อีกด้วย อย่างที่บอกว่า เราแค่เน้นออกแบบและคำนวณเฉยๆ ไม่ต้องทำหรือสร้างมันขึ้นมาจริงๆ ทำให้วิชานี้เป็นวิชาที่ "ง่ายที่สุด" ในบรรดาวิชาภาคของเทอมนี้เลยก็ว่าได้ แต่ด้วยความง่ายนั้น ก็ต้องแลกกับเนื้อหาที่อัดแน่นมากๆ การบ้านแต่ละชิ้นก็จะนั่งทำไม่ต่ำกว่า 2 ชม.เลย อีกอย่างคือ ต้องรอบคอบมากๆ เพราะถ้าคำนวณพลาดไปนิดเดียว ระบบเพี้ยนแน่นอนครับ ด้วยความที่เนื้อหาเยอะมากๆ อาจารย์ก็จะ plan การสอนแต่ละครั้งไว้ว่าขอบเขตการสอนควรถึงเรื่องใด ทำให้เราไม่เหนื่อยมากนัก ค่อยๆเก็บไปเรื่อยๆจนครบเนื้อหาวิชาทั้งหมดครับ ****วิชานี้ average มิดเทอมสูงมากกกกกกกก ฉะนั้นแล้ว ถ้าเก็บได้เก็บให้สุดเลยครับ พยายามคิดให้รอบคอบมากที่สุด

วิชาภาคตัวที่สี่ เป็นวิชาเปิดทางให้สาย design UX/UI โดยเฉพาะ ใครชื่นชอบ ลุยวิชานี้ให้เต็มที่ครับ! วิชานั้นก็คือ "ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์" (HUMAN AND COMPUTER INTERACTION) เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการเข้าถึงหรือตอบสนองระบบในคอมพิวเตอร์ของมนุษย์เรานี่แหละครับว่า มนุษย์ใช้คอมพิวเตอร์ยังไง ใช้เพื่ออะไร ใช้แล้วตอบสนองหรือรู้สึกกับสิ่งนั้นยังไงบ้าง (ออกแนวไปทางจิตวิทยาของมนุษย์อะแหละครับ) ซึ่งความรู้ในส่วนนี้ ก็จะนำไปออกแบบและพัฒนาระบบต่างๆขึ้นมา เช่น webpage, mobile application, virtual reality (VR) หรือ augmented reality (AR) และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมาย รวมไปถึงนำไปออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ทุกสิ่งบนโลกนี้ได้ด้วย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงเรื่องของ UX/UI ในการออกแบบสิ่งต่างๆด้วย วิชานี้จะเน้นเรียนเนื้อหาอย่างเดียวครับ แต่จะมีโปรเจคให้เราได้ออกแบบเว็บหรือแอพ แล้วนำไป prototyping ด้วย ซึ่งสามารถออกแบบได้ตามความชอบเลย ไม่ว่าจะใน PC หรือมือถือ เพียงแค่ออกแบบให้เหมาะสมกับหลักการ UX/UI อุปกรณ์ที่ใช้ และระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์นั้นก็พอครับ

วิชาภาคตัวสุดท้าย เป็นวิชาใหม่ที่เพิ่งเปิดเป็นวิชาภาคไม่กี่ปีมานี้เองครับ ซึ่งออกแนวบริหารธุรกิจไปอีก แต่ก็มีบทบาทสำคัญกับวิทย์คอมเหมือนกัน นั่นก็คือ
"การจัดการห่วงโซ่อุปทานและวิเคราะห์การเงินเบื้องต้น" (INTRODUCTION TO SUPPLY CHAIN MANAGEMENT AND FINANCIAL ANALYSIS) เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับกระบวนการในการเกิดสิ่งของหรือระบบขึ้นมา 1 ชิ้น ว่าต้องผ่านอะไรบ้าง เช่น การหาวัตถุดิบ (supply) -> นำวัตถุดิบไปสู่การผลิต (manufacturing) -> นำไปจัดเก็บในคลังสินค้า (warehouse) -> ส่งถึงมือลูกค้า (customer) หรือเรียกอีกอย่างว่า ห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้เรียนถึงการจัดการในส่วนต่างๆของที่เกริ่นไว้อย่างละเอียดยิบมากๆ ว่าควรทำอย่างไรให้ดีต่อฝ่ายนั้นๆและต่อองค์กร และเนื้อหาด้านอื่นๆที่สำคัญภายในองค์กรมากๆ เช่น Human Resource (HR), Customer or Supplier Relationship Management (CRM,SRM) และการเงิน (Financial) เป็นต้น นี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มครับ เพราะในห้องเรียนจริงๆเรียนเยอะมากกกกกกกก ซึ่งอาจารย์ที่สอนจะมี 3 ท่าน แต่ละท่านก็จะสอนในเรื่องที่ตนเองมีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ ทำให้เราได้รับความรู้รอบด้านมากๆ ****แอบสปอยล์ไว้ก่อนว่าวิชานี้ขอให้ตั้งใจเรียนไว้นะครับ เพราะสามารถเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวิชา Database Systems ของเทอมหน้าได้ด้วย เตือนแล้วนะ!

ต่อมาจะเป็นวิชาเลือกอิ้งครับ ย้ำว่าวิชาเลือก แต่วิทย์คอมถูกบังคับให้เรียนอิ้งตัวนี้ครับ อิ้งตัวนั้นก็คือ "การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ" (DEVELOPMENT OF READING AND WRITING SKILLS IN ENGLISH) เรียนเกี่ยวกับการฝึกอ่านจับใจความ อ่านให้เข้าใจ เดาได้ว่าเนื้อเรื่องเป็นยังไง รู้ว่าตรงไหนเป็น topic ตรงไหนเป็นส่วนขยาย topic นั้น และรายละเอียดย่อยๆที่ควรคำนึงอีกมากมาย (คล้ายๆ reading ของอิ้งพื้นฐานเลยครับ) และเน้นไปที่ด้านการเขียนบทความเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะได้เรียนว่า เขียนยังไงให้คนอ่านเข้าใจ ถูกหลักไวยากรณ์ ใช้ tense ถูกประเภทหรือไม่ (วิชานี้จะโฟกัสที่เรื่องไวยากรณ์เยอะมาก ประธาน กริยา กรรม ต้องแม่นและใช้ให้ถูก) แต่มันไม่ได้ advance ตั้งแต่เริ่มเรียนเสียทีเดียวนะครับ จะค่อยๆไต่ระดับไปเรื่อยๆ จากเขียนง่ายๆ สั้นๆ ก็จะไล่ไปจนเริ่มเขียนเป็น 1 บทความใหญ่ได้ ประโยชน์ของวิชานี้คือ เราได้ฝึกภาษาให้ตัวเองไปในตัวด้วยอย่างแท้จริงครับ เวลาจะพิมพ์หรือพูดอะไรที่เป็นอิ้ง เราจะรู้สึกว่า เราไล่เรียงคำที่จะใส่ในประโยคนั้นได้เร็วขึ้น ละมันจะจำได้ถ้าได้ฝึกเขียนบ่อยๆ ทำให้เรานำไปพัฒนาด้านการพูดอิ้งได้ด้วย ดีเหมือนกันครับ! แต่ถ้าจะเทก็ตัวใครตัวมันนะครับ เพราะหินเอาเรื่องเหมือนกัน เผ่นนนนน

หมายเหตุ : หากไม่อยากลงวิชาเลือกหมวดมนุษย์ สามารถไปลงหมวดสังคมหรืออื่นๆก่อนได้ แต่ต้องดูด้วยว่าวิชาเลือกที่ลงนั้นมีวันเรียนหรือวันสอบชนกับวิชาภาคหรือไม่ และถ้าลงหมวดอื่นที่ไม่ใช่ตามตารางสอน อย่าลืมตามลงให้ครบตามหลักสูตรด้วยนะครับ อันนี้สำคัญมาก

========================================================================

ภาคเรียนที่ 2 : ต่อความหินโหดด้วยวิชาภาค 5 ตัว วิชาเลือกหมวดสังคมศาสตร์ 1 ตัว (ตามตารางสอน) และเป็นเทอมที่
โครตหินโปรเจคแบบหนักหน่วงร่างกายและจิตใจมากๆครับ /*เขียนไปสูดยาดมไป*/ ถ้าพร้อมอ่านกันต่อแล้ว ลุยครับ!

วิชาแรกจะเป็นวิชาที่เมื่อก่อนเคยเป็นวิชาเลือกของสาขามาก่อนครับ แต่หลังจากปรับหลักสูตรใหม่ (ปี 2559) วิชานี้ถูกเอามาลงเป็นวิชาภาคที่ทุกๆคนจะได้เรียนกัน และเปลี่ยนชื่อวิชาใหม่อีกด้วย นั่นก็คือ
"การวิเคราะห์และออกแบบซอฟต์แวร์" (SOFTWARE ANALYSIS AND DESIGN) จะเรียนแบบครอบคลุมมากๆ ตาม Software Development Life Cycle (SDLC) อะอะเอ่อ มันคืออะไรครับพี่? มันก็คือ flow สกิลงานภาพนี้ครับ เกริ่นคร่าวๆนะครับว่าในวิชานี้เราจะต้องจำ flow นี้ให้เข้าเส้นเลือดเลยครับ เพราะวิชานี้แต่ละขั้นตอนถือว่าสำคัญมากๆ เพราะมันจะเป็นสายงานในอนาคตเราได้ด้วยครับ โดยเริ่มแรกเราจะต้อง รู้จักการเก็บข้อมูลลูกค้า -> ทำการวิเคราะห์และออกแบบระบบให้สอดคล้องกับข้อมูลลูกค้า (ส่วนนี้จะเป็น main สำหรับวิชานี้เลยครับ) -> นำสิ่งที่ออกแบบมาสร้างเป็นระบบจริงๆด้วยการเขียนโปรแกรม (ในส่วนนี้จะได้ลงมือจริงๆในวิชา Software Engineering ของปี 3 ครับ) -> ส่งมอบระบบให้ลูกค้า เป็นต้น เราจะได้เรียนเกี่ยวกับหลักการออกแบบระบบด้วย diagram แบบต่างๆครับ เช่น Use Case, Class, Data Flow และอื่นๆอีกมากมาย จากนั้นเราจะได้ฝึกออกแบบจริงๆ (ยังไม่ถึงขั้นทำระบบจริง เขียนโปรแกรมจริงนะครับ) รวมถึงจะได้เรียนเนื้อหาที่มีความจำเป็นสำหรับสายงานนี้ด้วยครับ ซึ่งเนื้อหาแน่นมาก แต่ถ้าตั้งใจเรียนในห้อง ไม่ยากเกินความพยายามแน่นอนครับ (แอบรู้สึกสนุกด้วยเพราะเราจะได้คิดได้เขียนเยอะมาก) และแน่นอนว่า วิชาใหญ่แบบนี้ มีโปรเจคพ่วงมาด้วยแน่นอนครับ แต่จะเป็นโปรเจคที่ทำไปเรื่อยๆตลอดเทอมอยู่แล้ว เพราะอาจารย์จะแบ่งกันสอนในด้านที่ถนัด 3 ท่านครับ แต่ละท่านก็จะให้เราทำโปรเจคตามเนื้อหาที่เรียนกับอาจารย์แต่ละท่าน เมื่อจบเทอมก็จะต้องส่งเล่มโปรเจคแบบรวมทุกเนื้อหาสมบูรณ์ครับ

วิชาภาคตัวที่ 2 เป็นวิชาที่เหมือนจะผ่อนคลายความเครียดให้เราได้นิดหน่อย แต่จริงๆก็ไม่เลย /*ปาดน้ำตา*/ และแอบเหมือนเป็นตัวต่อของ Data structure ในเทอม 1 ด้วย แต่จะเน้นเนื้อหาที่ลึกขึ้น นั่นก็คือ
"การวิเคราะห์และออกแบบขั้นตอนวิธี" (ANALYSIS AND DESIGN OF ALGORITHMS) เป็นวิชาที่จะให้เราเรียนรู้ขั้นตอนวิธีต่างๆแบบลึกมากขึ้น ให้รู้ว่าวิธีนี้มีหลักการคำนวณหรือรูปแบบการทำงานอย่างไร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประยุกต์กับการเขียนโค้ดได้ดีขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างเนื้อหาก็จะเช่น Devide & Conquer / Greedy / Dynamic Programming / Backtracking / Branch & Bound / Advance Sorting และอื่นๆ โดยแต่ละเนื้อหาก็จะมีปัญหาย่อยๆให้เราได้รู้จักการทำงานจริงๆของมันด้วย วิชานี้จะไม่มี lab นะครับ เพราะจะเน้นแค่คำนวณและเข้าใจขั้นตอนวิธีเชิงลึกเท่านั้น ชีทเรียนที่เป็น main หลักเลยจะเป็นของอาจารย์ที่สอนวิชาโครงสร้างสถาปัตยกรรมคอมฯ เมื่อเทอมที่แล้วครับ ดังนั้น ชีทเรียนจะใช้ของอาจารย์ท่านนี้ด้วย ซึ่งสำหรับเรา เราว่าอ่านง่ายมากๆ แต่บางจุดก็งงๆ ถ้าฟังอาจารย์ตลอดก็จะเข้าใจสไลด์ด้วยครับ อย่างที่บอกครับว่าเหมือนจะชิลๆ แต่ก็ไม่ชิลขนาดนั้น เพราะเนื้อหาค่อนข้างเยอะ หากหลุดจุดใดก็จะประติดประต่อไม่ค่อยได้ (หรือเป็นแค่เราคนเดียวนะ?) แต่วิชานี้ก็เป็นวิชาที่ควรเก็บอีกเช่นกัน เพราะเราเอาไปใช้โดยตรงเหมือนกับวิชา Data Structure เลยครับ

วิชาภาคตัวที่ 3 เป็นวิชาที่สายออกแบบไม่ควรพลาดอีกแล้ว พอจะนึกภาพยนตร์ที่มีฉากกราฟิกส์หรือฉาก 3D ออกใช่มั้ยครับ วิชานี้แหละที่เราจะได้รู้จักกับมันมากขึ้น ใครสนใจด้านนี้ ห้ามพลาด! วิชานั้นก็คือ "คอมพิวเตอร์กราฟิกส์" (COMPUTER GRAPHICS) อย่างที่เกริ่นครับว่าวิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบภาพกราฟิกส์ต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงครึ่งเทอมแรกจะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกส์แบบ 2D ครับ และไม่ใช่การออกแบบโดยใช้โปรแกรมธรรมดาๆ แต่เราจะออกแบบด้วย "การเขียนโค้ด!" ไม่เพียงเท่านี้ เราจะได้นำหลักคณิตศาสตร์จากวิชาต่างๆ เช่น แคลคูลัส / ดิสครีต มาใช้ออกแบบกราฟิกส์ต่างๆอีกด้วย! จัดเต็มแบบจุกๆไปเลยจ้าแม่ นอกจากนี้ ในคลาสยังมี lab ให้ทำเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนในแต่ละ week ด้วย เพื่อทบทวนความเข้าใจและฝึกออกแบบไปในตัวครับ และยังมี assignment ทุกๆ 2-3 อาทิตย์เพื่อแข่งกันว่าภาพกราฟิกส์ของใครจะโดนใจเพื่อนๆในคลาสอีกด้วย ส่วนในครึ่งเทอมหลังจะเป็นการเรียนแบบภาพรวม ทบทวนจากครึ่งเทอมแรกและเรียนเกี่ยวกับการทำ animation เบื้องต้นครับ และแน่นอน มีโปรเจคให้ทำอีกแล้วจ้า เป็นโปรเจคออกแบบแอนิเมชั่น 3D ซึ่งเปิดอิสระมากๆสำหรับการใช้โปรแกรมออกแบบ ไม่ว่าจะ MMD , Blender หรืออื่นๆ และยังสามารถนำโมเดลที่ปั้นมาตัดต่อเป็นคลิปวีดีโอให้สวยงามได้อีกด้วย ใครที่ปั้นโมเดลเก่ง ตัดต่อเทพ โปรเจคนี้ชิลๆสำหรับน้องๆแน่นอน! (ยกเว้นแต่เรื่อง render ไฟล์ไว้เนอะ /*ปาดน้ำตา*/)

วิชาภาคตัวที่ 4 เป็นวิชาที่
หินที่สุดในเทอม 2 ก็ว่าได้ เนื่องจาก fact ที่เราควรรู้มีอยู่เยอะมาก หากใครไม่ค่อยได้ตามข่าวหรือมีความรู้ในด้านการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์จริงๆ อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนานนิดนึง วิชานั้นก็คือ "ระบบปฏิบัติการ" (OPERATING SYSTEMS) เป็นวิชาที่เจาะลึกเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการต่างๆภายในคอมพิวเตอร์ว่าแต่ละระบบมีความแตกต่างกันอย่างไร (พูดง่ายๆ ก็คือระบบ OS ที่เราใช้กันในปัจจุบัน เช่น windows / mac / linux มันต่างกันยังไงบ้าง มีการทำงานอย่างไร และสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง) เคยเห็นกล่อง command สีดำๆใช่มั้ยครับ วิชานี้แหละที่เราจะได้เล่นกับมัน ซึ่งจะได้รู้จักการสร้างไฟล์ ลบไฟล์ โดยใช้คำสั่งพิมพ์ลงไปใน command นั้นนั่นเอง นอกจากนี้ เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการคำนวณเวลาในการประมวลผล process ต่างๆ เรียนเกี่ยวกับ process ที่ได้จากการ fork / exec เรียนเกี่ยวกับหลักการทำงานของ virtual machine (VM) เรียนเกี่ยวกับหลักการเก็บข้อมูลต่างๆภายในคอมพิวเตอร์ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่าเป็นวิชาที่หินที่สุด ดังนั้นแล้ว ตั้งใจเรียนในคลาสให้ได้มากที่สุดครับ เพราะหลักการพวกนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นคอมพิวเตอร์ที่เราได้ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วยนั่นเองครับ และวิชานี้ก็มี lab ให้ได้ทำทุกอาทิตย์เลย เป็นแลปที่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่ละคลาสนั้นเอง ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเขียนโปรแกรมการทำงานของระบบนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นแลปที่เราจะได้คิดและเขียนโค้ดเยอะมาก และแน่นอน โปรเจคก็ไม่หนีไปไหนแน่นอนครับ โดยโปรเจคที่จะได้ทำจะอยู่ในเนื้อหาการเรียนของเรานั่นเองครับ ต้องมาลุ้นกันเอาครับว่าในแต่ละปีนั้นจะได้หัวข้ออะไรกันบ้าง (ในปีของเราได้ทำ Hangman game ที่เป็นเกมทายคำ หากผิดจะโดนผูกคอตายน่ะครับ ซึ่งจะต้องทำให้เกมนี้สามารถเล่นได้ในหลายหน้าจอพร้อมๆกัน และต้องมีการรับส่งข้อมูลผ่านระบบจริงๆด้วย พูดตรงๆก็คือหินมากกกก แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ) ****อ้อ ลืมบอกไปเลย วิชานี้จะเน้นใช้งาน ubuntu ด้วยครับ หาก notebook หรือ laptop ใครใช้ OS อื่น ไม่ต้องลงใหม่น้า สามารถทำการ Boot USB ได้เลย แต่อย่าลืมพก flash drive ที่ boot เอาไว้มาเรียนทุกครั้งด้วยนะครับ

วิชาภาคตัวสุดท้าย เป็นอีกวิชาที่หินที่สุดตามๆมากับวิชา OS เลยครับ แต่วิชานี้ก็เป็น base ที่ต้องรู้สำหรับสายงานหลักๆอย่าง data science อีกเช่นกัน วิชานั้นก็คือ "ระบบฐานข้อมูล" (DATABASE SYSTEMS) เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับฐานข้อมูลต่างๆสำหรับเก็บข้อมูลตาม requirement นั้นๆ โดยจะเน้นไปที่การออกแบบ Entity-Relationship Diagram ว่าในฐานข้อมูลนี้ควรจะมีข้อมูลที่ถูกเก็บแยกกันเป็นตาราง (table) กี่ส่วน และใน table นั้นมีข้อมูล (attribute) อะไรบ้าง และจะต้องมีการจัดการให้ฐานข้อมูลมีความสะดวก และง่ายต่อการเพิ่ม/ลบ/แก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลด้วย นอกจากนี้ ใน lab เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการใช้ SQL Command เพื่อทำการเพิ่ม/ลบ/แก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลจริงๆด้วย และก็หนีไม่พ้นอีกเช่นกันกับโปรเจคประจำวิชา โดยเราจะได้ทำทั้งหมดจากที่เรียนไปเลย ตั้งแต่การออกแบบ ER Diagram / การสร้าง table ในฐานข้อมูลจริง รวมไปถึงการ join ตารางด้วย SQL Command แบบ hardcore กันเลยทีเดียว! โดยหัวข้อระบบที่ต้องการสร้างก็ตามใจเราได้เลยครับ แต่หากออกแบบไม่ดี มีเปลี่ยนหัวข้อด้วยนะ เราโดนมาแล้ว ฮือออ รวมๆถือว่าหินมากๆครับ หินทั้งเนื้อหาและโปรเจคที่สอบไปเลยทีเดียว แต่ใครที่เรียนแล้วเข้าใจ เวลานำมาประยุกต์ใช้จะคิดได้เร็วมากก ยังไงขอให้ตั้งใจเรียนไว้ครับ เพราะในอนาคตหากอยากไปสายนี้ ได้ใช้อย่างแน่นอน 100% 200% 300%~

หมายเหตุ : หากไม่อยากลงวิชาเลือกหมวดสังคม สามารถไปลงหมวดมนุษย์หรืออื่นๆก่อนได้ แต่ต้องดูด้วยว่าวิชาเลือกที่ลงนั้นมีวันเรียนหรือวันสอบชนกับวิชาภาคหรือไม่ ถ้าลงหมวดอื่นที่ไม่ใช่ตามตารางสอน อย่าลืมตามลงให้ครบตามหลักสูตรด้วยนะครับ อันนี้สำคัญมาก ย้ำรอบที่สิบล้าน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ มีใครรอดจนมาถึงบรรทัดนี้กันบ้างมั้ย show your hand กันหน่อยย /*สูดยาดม*/ สรุปโดยรวมจากที่เจอมาตลอดปีนี้ เอาจริงๆคือได้ความรู้แบบเต็มเปี่ยมมากนะครับ เนื้อหาเก่าก็ได้นำมารื้อฟื้นอีกครั้ง เนื้อหาใหม่ก็มีทั้งสนุก ทั้งปวดจิตปวดใจไปหลายคืน แต่เราเชื่อว่า ถ้าทุกคนตั้งใจ จะต้องผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน!

และช่วงปี 2 นี้ เป็นช่วงที่เราค่อนข้างแนะนำให้เริ่มหาสายงานที่ตัวเองชอบหรือถนัดเอาไว้ด้วยนะครับ เพราะปี 3 เป็นต้นไปจะต้องเริ่มลงเรียนวิชาเลือกของสาขาตามความถนัดของเราแล้วครับ ถ้าเจอเส้นทางของตัวเองได้เร็วกว่านี้จะดีมากๆเลย เราจะได้มีเวลาเตรียมตัวเก็บเกี่ยวความรู้มากขึ้นด้วยครับ

ปล. รีวิวครั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ไม่โชว์เกรดนะครับ เขิน คร่าวๆตอนนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมากๆอยู่ครับ ดังนั้น ใครที่กลัวว่าตัวเองจะสู้ไม่ไหว ขอให้สู้เอาไว้ครับ ท้อได้ ถอยได้ แต่อย่าลืมลุกแล้วกลับมาเดินต่ออีกครั้งนึงนะครับ เราเป็นกำลังใจให้ ฮึบๆ! อีกอย่างหนึ่งคือ "เพื่อน" เป็นกำลังใจสำคัญมากๆที่จะทำให้เรากลับมาสู้ต่อได้ เพราะเราก็รอดมาได้ก็เพราะเพื่อนๆที่ช่วยกันเรียนนี่แหละครับ หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวอย่างแน่นอน T^T

และแล้วก็จบไปสำหรับรีวิวการเรียนปี 2 วิทย์คอม ลาดกระบังในครั้งนี้ครับ เช่นเคยครับ ใครที่อยากสอบถามด้านอื่นๆที่อยากรู้ เช่น ชีวิตในมหา'ลัย กิจกรรมต่างๆ สังคมเพื่อนพี่ หรือจะถามเรื่องการเรียนแบบเจาะลึกกว่านี้ สามารถวาร์ปมาถามได้ที่ FB : Conine'z (www.facebook.com/charrylecnz) หรือจะคอมเมนท์ถามใต้กระทู้นี้ก็ได้ครับ (ถ้าแวบมาดูจะรีบตอบกลับให้นะครับ~)

สำหรับครั้งนี้เราต้องขอตัว(ไปนอนสลบบนเตียงนุ่มๆ)ก่อนนะครับ แล้วเจอกันกระทู้หน้า สวัสดีครับ

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

koko 5 มี.ค. 64 เวลา 23:47 น. 3-1

4-5 ปีที่แล้วที่พี่เรียนไม่มีนะครับ

0