Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เล่าประสบการณ์การประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 21 (YSC 2019) และการแข่งขันโครงงานที่งาน Intel ISEF 2019 สหรัฐอเมริกา (Part 2)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
อ่านกระทู้ที่ 1 ก่อน คลิก https://www.dek-d.com/board/view/3938591/

หลังจากได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน วันนี้พี่จะมาเล่าประสบการณ์การเข้าค่ายเตรียมความพร้อมก่อนไปแข่งขันและประสบการณ์จากงาน Intel ISEF 2019 ที่เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกานะ

ค่ายเตรียมความพร้อม

ก่อนไปแข่งขันที่ไหน เราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมใช่ไหมล่ะ โครงการ YSC ก็เหมือนกัน ก่อนส่งเราไปงาน Intel ISEF เขาก็ต้องจับเราไปเข้าค่ายเตรียมความพร้อมก่อนไป(ได้เบี้ยเลี้ยงด้วยcheeky) ค่ายจัดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ซึ่งเราจะกินนอนอยู่ที่นี่เลย  ค่ายนี้กินเวลา 2 เดือนเต็มๆ กลับบ้านบ้างในวันหยุดยาว

ในค่ายนี้ทำอะไรบ้าง 

1. เราต้องเตรียมเอกสารต่างๆก่อนไป Intel ISEF
ไม่ว่าจะเป็นการสมัครวีซ่า การกรอกข้อมูลรับรองว่าโครงงานของเราปลอดภัย(ตามเงือนไขต่างๆที่ ISEF ระบุ) กรอก Questionnaires (เป็นเหมือนฟอร์มกรอกข้อมูลต่างๆของเรา)

ในการสมัครวีซ่าอเมริกา ซึ่งปกติเราต้องใช้เอกสารเป็นแฟ้ม และยากมากๆในการที่จะได้วีซ่ามา แต่พอเราไปในฐานะตัวแทนประเทศ ทางผู้จัดงานเขาจะส่งจดหมายมายังสถานทูต ทำให้เราสามารถสมัครวีซ่าได้สบายบรื๋อ

2. ซ้อมพรีเซนต์ (ภาษาอังกฤษ) และวิจารณ์โครงงานโดยคณะนักวิจัย(สับเละจ้า)
ในไปแข่งขัน ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราสามารถขอล่ามได้ ซึ่งทีมที่ไป ISEF จากโครงการ YSC ไม่มีใครขอล่ามเลย(งงใช่ไหม555 จะบอกว่าทีมไทยที่ส่งไป ISEF ไม่ได้มีแค่จาก YSC แต่มีจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯด้วย) ความจริง พวกพี่ก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษกันหรอก แต่แค่พอสื่อสารได้ ซึ่งถ้าเราสื่อสารให้เขาเข้าใจ โต้ตอบได้ก็เพียงพอ ไม่ใช้ล่ามจะคล่องตัวกว่า

มีการพรีเซนต์ก็ต้องมีการซ้อม ในค่ายเตรียมตัวนี้มีอาจารย์สอนภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยดูเราตอนซ้อมพรีเซนต์ อีกทั้งช่วยแก้ abstract และ research plan ของโครงงานเราอย่างดีเลยล่ะ

จากนั้นเราก็จะต้องอธิบายโครงงานให้กับพี่ๆนักวิจัยที่สวทชฟัง จำคณะกรรมการชุดที่ 2 ได้ไหม เขาคือพี่นักวิจัยที่ทำงานที่นี่และคอยดูแล เป็นผู้วิจารณ์โครงงานของตัวแทนประเทศไปแข่งขัน บอกเลยว่า....เละจ้า cryingcrying เจอปัญหาเต็มไปหมด มีหลายประเด็นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงงานไม่มี impact ต่อโลกมากพอ โครงงานไม่ยิ่งใหญ่พอ ต้องทบทวนและเรียบเรียง รวมถึงต้องแก้ไขปัญหาและหาวิธีการใหม่(อีกแล้ว) เพื่อให้ได้ผลลัพย์ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่โครงงานพี่ โครงงานเพื่อนคนอื่นๆที่ไปด้วยกันก็คือล้มลุกคลุกคลานเหมือนกันหลังเจอพี่ๆนักวิจัยชุดนี้crying บอกเลยครั้งนี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาก เพราะเนื่องจากเวที Intel ISEF นั้นเต็มไปด้วยโครงงานที่มีคุณภาพ และมี impact ต่อโลกอย่างมาก ดังนั้น พี่นักวิจัยที่นี่จึงต้องการให้โครงงานของเราเป็นโครงงานที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเวทีนี้ จึงช่วยกันกำจัดจุดอ่อนของโครงงาน และดึงจุดเด่นของโครงงานของเราออกมา

3. ทำโครงงานต่อหลังจากโดนสับมาแล้ว ถถถถ
หลังโดนสับมาเละ เราก็กลับไปนอนบ้านวิทย์ หลับพักผ่อนให้เพียงพอ   และประชุมกับเพื่อนๆในกลุ่ม แน่นอนว่าเราต้องนำโครงงานของเรา ไปประยุกต์ให้ได้ application ที่มี impact ต่อโลกมากขึ้น เราต้องเข้าแล็บ ซึ่งด้วยความที่เราอยู่สวทช ที่นี่มีแล็บและเครื่องมือให้ใช้มากมาย เยอะมากๆเลยล่ะ พี่เลี้ยงที่นี่ก็ช่วยหาห้องแล็บที่เหมาะสมกับโครงงานเราให้ เพื่อให้เราปรับปรุงโครงงาน พี่ได้รับความอนุเคราะห์จากห้องแล็บ Photonics ของศูนย์ NECTEC เป็นแล็บที่เพรียบพร้อมมากเลย มีอุปกรณ์หลายอย่างที่สามารถใช้ในการทำโครงงานประเภท Test kit ได้ มีครบทั้งเครื่อง Spectrophotometer(เครื่องใหญ่มาก) หรือสารเคมีที่เราต้องการใช้

ตลอดค่าย เราใช้ชีวิตอยู่ในห้องแล็บนั้นเยอะมากๆ เพราะระหว่างทางก็เจอปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข เรียกได้ว่าทุ่มเทให้กับโครงงานมากจริงๆ

และจะบอกว่าโดนสับเละจากพี่ๆนักวิจัยนั้นไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว โดนแบบนี้วนลูปไปเรื่อยๆตลอดสองเดือนจ้า พรีเซนต์->โดนสับ->เข้าแล็บ->เตรียมพรีเซนต์->พรีเซนต์อีกรอบ

ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยมาก เครียดไหม ก็เครียด แต่มันคุ้มมากๆเลย มันทำให้เราได้โครงงานที่ดี สมบูรณ์ มี impact ต่อโลก คู่ควรกับเวที Intel ISEF เอาจริงๆ แค่ให้พี่ๆนักวิจัยที่นี่เขาชมเราให้ได้เราก็ดีใจแล้วcrying

แต่มากไปกว่านั้น การมาที่นี่ได้เจอเพื่อนๆที่อยู่คนละโรงเรียน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จนตอนนี้คือสนิทกันมาก และอยากพูดคุยกันอยู่ตลอด (ก็นะ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันร่วมสองเดือนเต็มๆ) บางทีก็แอบพี่เลี้ยงออกนอกสวทชไปตลาดบ้าง ไปฟิวเจอร์พาร์คบ้าง55555 ถือว่าสนุกมากๆเลยล่ะ ช่วงเวลาตลอด 2 เดือนที่ได้อยู่ในค่ายนี้

Intel ISEF

และแล้วก็ถึงเวลาสำคัญของพวกเรา การเดินทางไปที่เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา งาน Intel ISEF จัดวันที่ 12-17 พฤษภาคม 2562 แต่เราก็ต้องบินไปกันก่อนใช่ไหมล่ะ และการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาไม่ใช่แปปเดียว ต้องเดินทางรวมๆเกือบ 15 ชม. แน่ะ เอาจริงปะ เย็นวันก่อนบิน พวกพี่ยังอยู่ในห้องแล็บกันอยู่เลยcrying แม้โปสเตอร์จะปริ๊นต์หมดแล้ว แต่เราอยากให้โครงงานออกมาดีที่สุดเราจึงเพิ่มเติมผลให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงออกเดินทางวันที่ 10 พฤษภาคม ต้องไปต่อเครื่องที่ฮ่องกง และเมืองลอสแองเจลิสก่อนด้วย ทำให้ถึงที่หมายวันที่ 11 ค่ำๆพอดี

เมืองที่ไปคือเมืองฟินิกส์ ซึ่งอเมริกาที่ทุกคนคิดไว้อาจจะหนาวๆ เย็นๆ ได้ไปเที่ยวน้ำตกในแองการาไรงี้ใช่มั้ย แต่สำหรับที่เมืองฟินิกส์ เป็นทะเลทรายจ้า เมืองทะเลทรายcryingcrying ร้อน แถมแห้งมาก ไม่ชื้นเหมือนบ้านเรา ต้องพกลิปมันติดตัวตลอด แต่ก็นะ ถือว่ามาเปิดหูเปิดตา เพราะพี่ไม่เคยไปทะเลทรายมาก่อนเหมือนกัน5555

วันที่ 1 Set up โปสเตอร์

Set up โปสเตอร์จ้า
Set up โปสเตอร์จ้า

จังหวะแรกที่เข้าไปในห้องโปสเตอร์ พี่ทึ่งมาก เพราะมีโปสเตอร์เยอะมากกกก แน่นอนล่ะ งานแข่งโครงงานระดับโลก555 สำหรับที่นี่ บอกเลยว่ากติกาเขาเคร่งครัดมากจริงๆ เรา Set up โปสเตอร์ตาม format ของเขาเป๊ะๆเลย ภาพทุกภาพบนโปสเตอร์ต้องถ่ายเองหรือวาดเองเท่านั้น หากนำภาพมาจากที่อื่นต้องเป็นภาพที่ฟรีและต้องอ้างอิงที่มาทุกภาพ จากนั้นพอ Set up เสร็จ ก็จะต้องไปเรียกกรรมการมาตรวจ กรรมการก็จะมาตรวจโปสเตอร์ว่าเป็นไปตามกฎหรือไม่ ตรวจ Qualifications(เอกสารรับรองว่าโครงงานของเราไม่ละเมิดกฎของเขา) เมื่อตรวจผ่านก็ไปเดินเล่นเมืองฟินิกส์ได้ แต่บอกเลยว่า ไป Set up วันแรกทั้งวันก็ยังไม่เสร็จ55555 มีหลายเรื่องที่ต้องทำมาก ต้องต่อคิวอีก ดังนั้น Set up เสร็จก็เย็นแล้ว ยังไม่ได้เรียกกรรมการตรวจเลย5555 

เย็นวันนั้นก็เลยไปหากินข้าวที่ร้านอาหารไทยที่เมืองฟินิกส์นั่นแล่ะ ทำไมมาอเมริกาต้องกินอาหารไทยdevil เอาจริงๆพอมาที่นี่เขาไม่ค่อยมีอาหารท้องถิ่นเลยอะ ประมาณ 7 วันที่อยู่ที่นี่ได้กินอาหารเอเชียเยอะมาก555555

และในวันนี้ตอนค่ำเราก็ได้แลก pin(เข็มกลัด) และแนะนำตัวกับเพื่อนๆจากนานาประเทศเลยนะ เป็นเหมือนงานปาร์ตี้ย่อมๆเลยล่ะ

วันที่ 2 Set up โปสเตอร์(ต่อ)+พิธีเปิด

ก็อย่างที่บอก สำหรับวันที่ 2 Set up โปสเตอร์เสร็จ ถ้ามีพร็อปอะไรต้องวางให้ครบนะ สำหรับโครงงานพี่ ประกอบไปด้วย 

1. คอมพิวเตอร์ ใช้โชว์ผลการทดลอง 

2. แท็บเล็ต ใช้แสดงคลิปวิดิโอสาธิตการใช้งาน 

3. เอกสารสรุปทฤษฎี ไม่รู้จะเรียกอะไรแฮะ อารมณ์ประมาณ Supplementary ของเปเปอร์ต่างๆ คือโครงงานของเรามีหลายอย่างที่เป็นความรู้ที่ลึกและเข้าใจยากใช่ไหมล่ะ พี่เลยต้องทำเอกสารเพื่ออธิบายและสรุปทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงงาน เย็บแล้ววางเป็นชุดๆไว้(เขียนสรุปเอง เป็นภาษาอังกฤษด้วยsurprise

4. Logbook ก็คือการเขียนบันทึกการทำโครงงานในแต่ละวัน เพื่อแสดงว่าเราได้ทำจริงๆ (อันนี้เป็นภาษาไทย ตั้งไว้ประกอบ ถ้าเขาถามก็ต้องอธิบายได้) ก็ต้องเรียกคนมาตรวจ ก็หมดครึ่งเช้าแล้วcrying

พี่จะบอกว่าในเอกสารสรุปโครงงานของพี่น่ะ นั่งเขียนกันก่อนบิน จนมาถึงวันแรกก็ยังเขียนไม่เสร็จ เขียนเสร็จ เช้าวันที่สองก็เอามาปริ๊นที่งานได้เลยcrying

ความจริงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นของที่บังคับนะ แต่พี่คิดว่าถ้ามีก็น่าจะดี กรรมการจะได้เข้าใจกระจ่าง ก็เลยช่วยๆกันทำจนถึงวันสุดท้าย5555

ภาพโปสเตอร์ เย่ภาพโปสเตอร์ เย่

พอ Set up โปสเตอร์เสร็จ ตกเย็นก็ไปดินเนอร์ และเข้าสู่พิธีเปิด พิธีเปิดยิ่งใหญ่อลังการมากๆเลยล่ะ มีการให้ตัวแทนแต่ละประเทศขึ้นไปชูป้ายและเปิดคลิปแนะนำตัว มีถึง 88 ประเทศจากทั่วโลก

วันที่ 3 กรรมการเดินตรวจโปสเตอร์

วันนี้นะเขาจะไม่ให้เราเข้าไปยังห้องโปสเตอร์เป็นอันขาด วันนี้จะมีคณะกรรมการมาเดินตรวจโปสเตอร์ของเรา เกริ่นก่อนว่า เวที Intel ISEF มีรางวัล 2 ประเภท ได้แก่

1. Grand Award มีอันดับ 1-4 เป็นรางวัลที่มอบให้โดยผู้จัดงาน โดยอันดับที่ 1 มีสิทธิ์ไปชิงต่อในรางวัล Best of Category, Intel Foundation, และ Gordon E Moore(รางวัลที่ใหญ่ที่สุดsurprise)

2. Special Award คือรางวัลที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนต่างๆจะมามอบรางวัลให้กับโครงงานใน Field ของเขา มีหลายหน่วยงานมากไม่ว่าจะเป็น American Chemical Society(ACS), UNAIDS, King Abdulaziz, Wolfram หรือแม้แต่ NASA ก็มาด้วยนะ เงื่อนไขการให้รางวัลของแต่ละหน่วยงานก็แตกต่างกันไปขึ้นกับหน่วยงานล่ะนะ

ดังนั้นก็จะมีคณะกรรมการสองชุด คือคณะกรรมการ Grand Award ป้ายสีน้ำเงิน คณะกรรมการ Special Award ป้ายสีแดง

ในวันนี้คณะกรรมการทั้งสองก็จะมาตรวจโครงงานของเราที่โปสเตอร์ ซึ่งเราห้ามเข้าไปดูนะ เขาจะดูแค่โปสเตอร์เท่านั้น5555 เรียกได้ว่า Let our poster works 555 นี่ไงล่ะ เหตุผลที่เราทุ่มเทเขียนเอกสารสรุปให้ละเอียดเองกับมือรวมถึงทำสไลด์ในคอมพิวเตอร์และเปิดคลิปในแท็บเล็ต เพื่อให้เขามาตรวจแล้วเข้าใจโครงงานเรานี่ล่ะ เมื่อกรรมการ Grand Award มาตรวจ เขาจะวางใบตารางกรรมการที่จะมาฟังเราพรีเซนต์ของวันถัดไปให้ ส่วนกรรมการ Special Award เขาจะมาตรวจแล้ววางสัญลักษณ์ของเขาไว้ อาจจะเป็นป้ายของบริษัทหรือเข็มกลัดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาสนใจโครงงานเรา

ในวันนี้เราก็ว่าง ที่นี่จะมีห้องให้เราไปเดินเล่นระหว่างรอกรรมการตรวจสองห้อง ห้องแรกคือ “Intel ISEF Commons” ห้องนี้ จะมีมหาวิทยาลัยต่างๆจากทั่วทั้งอเมริกามาตั้งบูธเพื่อแนะนำมหาวิทยาลัย เชิญชวนให้เราไปเรียน เปิดหูเปิดตามมากๆเลยล่ะ ถือว่าเปิดโอกาสให้พวกเราได้รู้จักมหาวิทยาลัยต่างๆเยอะขึ้น

อีกห้องคือห้อง “Intel Quad” ห้องนี้คือห้องที่ชอบมาก เพราะเป็นห้องเกม5555 เป็นห้องที่มีเกมที่ล้ำๆมากมายไม่ว่าจะเป็นเกม VR, ต่อบล็อกเรืองแสง ฯลฯ สนุกมากๆเลยล่ะ

วันนี้ตอนเย็นทางผู้จัดงานพาเราไปยังสนาม Chase Field สถามเบสบอลที่ใหญ่ที่สุดในเมือง Phoenix ได้ไปชมเบสบอล(ไม่เคยดูมาก่อนcrying) ก็เป็นการเปิดหูเปิดตามอีกแบบนะ

วันนี้กลับโรงแรมไป ไปซ้อมพรีเซนต์ บอกเลยจากที่ซ้อมไว้ตอนอยู่ในค่าย พอมาซ้อมให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟัง เปลี่ยนสคริปต์ใหม่หมดเลยล่ะcrying เพราะพี่เลี้ยงและครูที่ปรึกษาบอกว่า เรายังไม่แสดงถึง passion และบอก impact ต่อโลกมากพอ คืนนั้นนะ ซ้อมกันจนตายไปข้างหนึ่ง5555 ซ้อมจนกว่าจะคล่อง พูดให้รู้เรื่องและกระชับที่สุด

วันที่ 4 พรีเซนต์โครงงานนนนน

หลังจากที่ซ้อมมาจนหนักเมื่อวาน วันนี้ก็เข้ามาก็ลุ้นว่าเราจะได้พรีเซนต์กี่รอบ มีกรรมการ Special Award มาวางสัญลักษณ์ไว้บ้างหรือเปล่า ผลปรากฏว่า ตามตารางเราจะได้พรีเซนต์ 6 รอบ แต่ไม่มีหน่วยงาน Special Award มาวางสัญลักษณ์ ตอนนั้นก็รู้สึกเฟลนิดหน่อย แต่เราก็ต้องทำต่อให้เต็มที่ แต่ความเป็จริงแล้ว กรรมการ Special Award แม้ไม่วางสัญลักษณ์ก็มาตรวจได้ ดังนั้นเราต้องอยู่เฝ้าบูธตลอดเวลา

กรรมการ 6 คนที่เราเจอ บางคนเราไม่ได้พรีเซนต์ด้วยซ้ำ(อุตส่าห์เตรียมมาอย่างดีcrying) เข้ามาจะยิงคำถามใส่เราเลย บางคนเข้ามาแล้วชี้ว่าให้คนนึงพูดหัวข้อนี้ อีกคนพูดหัวข้อนี้ อีกคนพูดหัวข้อนี้ ก็คือไม่ให้พวกเราทำตามสคริปต์ที่วางไว้wink แต่โชคดีหน่อยที่สคริปต์ที่เตรียมใกล้เคียงกับที่เขาบอก5555 กรรมการแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันเลยคือ ทุกคนจะเข้าใจโครงงานเราอย่างถี่ถ้วนหมดแล้ว เป็นอะไรที่น่าประทับใจมากๆ และทุกคนพูดเชิงชื่นชมมากกว่าที่จะพูดเชิงตำหนิ และแน่นอน ในการพรีเซนต์พวกเราไม่ลืมที่จะเน้นถึงข้อดีโครงงานและ impact ต่อโลกบ่อยๆ รวมถึงเราต้องพยายามสื่อความให้ได้ว่าเราตั้งใจทำโครงงานมาก ส่ง passion ของเราไปถึงเขาให้ได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ระหว่างพรีเซนต์ไปเรื่อยๆทีละคนๆ(กรรมการมาเป็นรอบๆตามตาราง) ปรากฏว่าไปๆมาๆได้พรีเซนต์เป็น 10 คนcrying แต่เราก็เต็มที่กับกรรมการทุกคนที่เข้ามา จนเผลอแปปเดียวก็ครบทุกคนแล้ว เย็นวันนั้นก็ฉลอง!!! ทางผู้จัดงานจ้างดีเจมาเปิดเพลงรีมิกส์ให้พวกเราแดนซ์กัน ช่วงนั้นเพลง Boy with luv ของ BTS พึ่งปล่อยก็ถูกเอาไปเปิดด้วย5555 ในงานมีขนมและของกินเยอะมากๆ เป็นค่ำคืนที่สนุกสุดๆไปเลยล่ะ

วันที่ 5 Public day, เที่ยวเมืองฟินิกซ์ และประกาศผล Special Award surprise

ช่วงเช้า เป็น Public Day ทางงานจะเปิดให้เด็กๆและบุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมงานได้ ช่วงนี้เราได้แต่งชุดไทยสวยๆงามๆมาพรีเซต์โครงงาน(อวดชาวต่างชาติ555)ด้วยล่ะ มีคนมาขอถ่ายรูปเยอะมากๆ ส่วนช่วงบ่ายเอาจริงตามโปรแกรมเราต้องเข้าไปฟัง Lecture มีนักวิจัยชื่อดังจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง Nobel Laureate มาบรรยายที่นี่ด้วย แต่!! มาต่างประเทศทั้งที เราก็ขอหนีเที่ยวหน่อยน้าาา555555 ฟินิกส์เป็นเมืองทะเลทราย แต่มันก็เป็นเมือง เราอยากเห็นทะเลาทรายจริงๆว่าเป็นยังไง ไม่เคยเห็น เราก็เลยเรียกรถ Uber ตรงไปยัง Phoenix Botanical Garden มันคือสวนพฤกษศาสตร์ของเมืองฟินิกส์ แต่เนื่องจากเมืองฟินิกส์เป็นทะเลทราย มันจึงเป็นทะเลทรายที่เต็มไปด้วยต้นกระบองเพชร และแหล่งศึกษาพืชทะเลทรายนั่นเอง  เราไปที่นั่นตอนเที่ยง ร้อนมากกกก แต่ก็นะใจรักสะอย่าง เราเดินรอบสวนพฤกษศาสตร์ แต่แม้อากาศจะร้อนแค่ไหน เพราะสภาพอากาศที่นี่ทำให้เหงื่อเราไม่ออกเลย เดินเล่นได้สบาย(พกลิปมันไปด้วย) ๆด้เดินเล่นถ่ายรูปกับกระบองเพชรยักษ์ ถือว่าคุ้มนะ ได้มาสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองฟินิกส์ ดีใจมากๆ

โดดงานไปทะเลทราย อิอิ
โดดงานไปทะเลทราย อิอิ

ตอนเย็น เป็นงานประกาศรางวัล Special Award ลุ้นมากเลยล่ะ พอมีหวังอยู่บ้าง เพราะมีกรรมการป้ายแดง(กรรมการ Special Award) มาตรวจเราเหมือนกัน พองานเริ่มประกาศไปเรื่อยๆก็ไม่มีชื่อเรา แต่มีเพื่อนคนไทยตัวแทนจากสมาคมวิทยฯได้บ้างเราก็ดีใจกับเขา ซึ่งสุดท้ายไม่มีรางวัลชื่อเรา แต่คนที่เข้าร่วมงานในวันนี้ทุกคนได้รับรางวัลจากบริษัท Wolfram นั่นคือ ได้สิทธิ์ใช้งานโปรแกรมของ Wolfram ฟรี Wolfram เป็นบริษัทที่ผลิตโปรแกรมคำนวณทางคณิตศาสตร์มากมายเลยล่ะ เช่นเว็บไซต์ Wolfram Alpha(ฟรี) ถือว่าคุ้มมากๆเลย และหลังจากนั้นเราก็แสดงความยินดีกับเพื่อนๆด้วย

วันที่ 6 ประกาศผล Grand Award เก็บโปสเตอร์

วันนี้เป็นวันที่ลุ้นที่สุด หลังจากที่เราชวด Special Award เมื่อวานมา ประกาศผลตั้งแต่ช่วงเช้า Grand Award แยกรางวัลเป็น Catagory ไป แบ่งเป็น Life Science และ Physical Science ซึ่งแต่ละหมวดก็แบ่งย่อยไป โครงงานพี่อยู่หมวด Physical Science สาขา Chemistry การประกาศนั้น จะเรียกเป็นชื่อจังหวัด->ประเทศ แล้วต่อด้วยชื่อนามสกุลของผู้จัดท ดังนั้น ดังนั้นเวลามีคนในประเทศไหนขึ้นไป คนในประเทศนั้นๆจะเฮกันเสียงดังมากๆ ประเทศไทยก็เหมือนกัน

และแล้วเวลาของพี่ก็มาถึง กรรมการประกาศรางวัลที่ 4 Grand Award สาขา Chemistry มีทั้งหมด 8 รางวัล มีเสียงประกาศ “Nakhon Pathom, Thailand” มีเสียงร้องเฮจากทีมไทยแลนด์ดังมาก พี่รู้ตัวว่าเป็นของพี่ พี่และเพื่อนๆตอนนั้นกระโดดขึ้นมาเลยcrying แล้วเราทั้งสามก็วิ่งขึ้นไปบนเวทีด้วยความดีใจ ไปยืนเรียงกับเพื่อนๆที่ได้ Grand Award ในสาขาอื่นๆ ตอนนั้นคือยิ้มแป้นเลย ความรู้สึกคือ ความพยายามของเราตั้งแต่เริ่มทำโครงงานตอนปลายม.4 จนถึงตอนนี้ ระยะเวลาเป็นปีกว่าๆ รวมถึงความทุ่มเทให้กับโครงงานในค่ายเตรียมความพร้อม การที่ถูกวิจารณ์โครงงาน ถูกสอบต่างๆนานาจากครูในโรงเรียน กรรมการในงานแข่งขัน รวมถึงพี่ๆนักวิจัยในค่าย สัมฤทธิ์ผลแล้ว เรารู้สึกดีใจมากๆ ประเทศไทยไม่เคยได้รับรางวัล Grand Award ในสาขาเคมีมาก่อน เราเป็นคนแรก เรารู้สึกดีใจมากที่ได้นำชื่อประเทศไทยมาอยู่บนเวทีนี้จนได้ (5000 USDcheeky)

ภาพบนเวที เท่ปะ555
ภาพบนเวที เท่ปะ555

พอรางวัลทุกอย่างประกาศเสร็จ มีทั้งคนที่ได้และคนที่ไม่ได้ เราก็ต้องสู้กันต่อไป ความจริงแล้วคุณค่าของการทำโครงงานจริงๆไม่ได้อยู่ที่รางวัลที่ได้ แต่อยู่ที่องค์ความรู้ที่เราคิดค้นขึ้นมาต่างหาก ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจและคิดขึ้นมาเอง และเราได้นำงานของเรามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราได้ประสบการณ์ในการทำงานวิจัย การนำเสนอ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้รู้จักและสนิทกับเพื่อนๆมากมายที่มีอุดมการณ์เดียวกันเท่านี้ก็ดีมากแล้ว ส่วนรางวัลอื่นๆคือผลพลอยได้

พอประกาศเสร็จ ก็ต้อง tear down โปสเตอร์ ที่ตลกคือเราใช้เวลา Set up โปสเตอร์ถึงสองวันกว่าจะเสร็จ แต่วันนี้เราต้องล้มโปสเตอร์ และเอาออก เก็บคอมพิวเตอร์เก็บทุกอย่างให้หมดภายใน 15 นาทีcrying จากนั้นเขาจะไล่ 55555

วันที่ 7 เที่ยว San Francisco!!!

หลังจากเครียดมาตลอดหกวัน(ความจริงก็มีทั้งสนุก มีความสุข เศร้า) ทาง YSC Thailand ก็จองทัวร์ One day trip พาเราเที่ยวซานฟรานซิสโก เราได้ไปเที่ยวชมมหาวิทยาลัย UC, Berkeley มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของโลก ล่องเรือชมสะพานโกลเด้นเกทและคุก Alcatraz สภาพอากาศวันนั้นฝนตก แต่เราก็ไม่หวั่น555 สู้ไม่ถอยเพื่อที่จะเที่ยว เราได้ไป Pier 21 กินซุปปูชื่อดัง และซื้อของฝากกลับไปมากมาย ถือว่าได้เที่ยวครบรสเลยทีเดียว กลับบ้านอย่างเต็มอิ่มเลยล่ะ

เที่ยวมหาวิทยาลัย UC Berkeley
เที่ยวมหาวิทยาลัย UC Berkeley
เที่ยวสะพานโกลเด้นเกท ฝนตกด้วย TT
เที่ยวสะพานโกลเด้นเกท ฝนตกด้วย TT

และก็จบไปแล้วกับการเล่าประสบการณ์ตั้งแต่การเข้าร่วมโครงการ YSC จนถึง Intel ISEF พี่ว่ามันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก และคงหาไม่ได้อีกในชีวิตนี้ การได้ไปเข้าร่วมงานระดับโลกมันเคยเป็นเรื่องที่เด็กต่างจังหวัดอย่างพี่ไม่เคยคิดจะฝันถึง แต่พอมีโอกาส เราก็ต้องทำมันให้ดีที่สุด พี่อยากให้น้องๆทุกคนทุ่มเทและตั้งใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มากๆ คำนึงว่าการทำโครงงานวิทยาศาสตร์นั้นคือการที่เราสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำพัฒนาสังคมของเรา พยายามคิดโครงงานที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม และมี impact ต่อโลก คิดให้กว้าง และคิดให้ใหญ่ไว้ก่อน พอคิดได้แล้วก็ทุ่มเทกับมันให้เต็มที่ ให้เรารู้สึกภูมิใจเมื่อเราหันกลับมามองมันอีกครั้ง การทำโครงงานทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆระหว่างทางมากมาย ได้ประสบการณ์ หรืออาจได้เงินcheekyด้วย ดังนั้นใครที่ทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่ ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือถึงทางตัน พี่ก็ขอให้ทุกคนฝ่ามันไปให้ได้ สู้ๆนะครับ

สุดท้ายก็ขอขอบคุณคุณครูที่ปรึกษา และคุณครูโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ทุกคนที่ช่วยเหลือและอนุเคราะห์ห้องปฏิบัติการ ขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนที่คอยให้กำลังใจกัน ขอบคุณพี่ๆนักวิจัยและพี่เลี้ยงจากสวทชทุกคนนะครับ

Team Thailand!

พี่หวังว่าน้องๆทุกคนที่ได้อ่านกระทูนี้จะมีกำลังใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มากขึ้นนะ

ตอนนี้ YSC2020 รับสมัครแล้ว นักเรียนชั้นม.2-ม.6 ที่สนใจ สามารถสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 16 กันยายน รายละเอียดเพิ่มเติมที่ FB: https://www.facebook.com/YSCThailandFanpage/ มาสมัครกันเยอะๆน้าาlaugh

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

Hachiman 2 พ.ค. 64 เวลา 17:27 น. 1

สอบถามหน่อยครับ กรรมการที่ ISEF เขาถามอะไรบ้างหรอครับ? พอดีว่าปีนี้ผมได้เป็นตัวแทน


1
tonklable 12 มิ.ย. 64 เวลา 21:37 น. 1-1

ขอโทษที่ตอบช้านะครับ ISEF ปีนี้ผ่านไปแล้วอาจจะช่วยไม่ได้เท่าไหร่ แต่ถ้ามีรุ่นน้องปีถัดๆไปมาอ่านอาจจะช่วยได้ ดังนั้นขออนุญาตตอบนะครับ


กรรมการ ISEF จะเข้าใจโครงงานเราดีอยู่แล้วเพราะอ่านมาก่อน ดังนั้นเขาอาจจะถามเกี่ยวกับข้อสงสัยเล็กๆน้อยๆหรือคอมเม้นเกี่ยวกับโครงงานเรา เช่น ถ้าเปลี่ยน…เป็น…จะดีกว่าหรือไม่ บางทีเขาจะสมมติเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมาแล้วถามว่างานของเราใช้กับเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ เช่นของพี่ทำเรื่องสระว่ายน้ำ เขาถามว่าสุนัขจะใช้สระว่ายน้ำที่บำบัดด้วยกระบวนการของเราได้หรือไม่ หรือถ้าเราเคลมว่างานของเราทำให้…ประหยัดขึ้น เขาก็จะถามว่าประหยัดขึ้นเท่าไร นอกจากนี้เขาจะเน้นเรื่องการเอาไปใช้จริงรวมถึงการพัฒนาต่อยอดอยู่เยอะ คิดว่าที่สำคัญคือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในโครงงานของเรา และแพชชั่นที่เรามีต่อโครงงานจริงๆครับ


หวังว่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับรุ่นถัดๆที่เข้ามาอ่านนะครับ

0