Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ชวนคนรุ่นใหม่ เปิดประสบการณ์ดนตรี Classic – Romantic

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
   วันนี้เราจะชวนเพื่อนๆชาวเด็กดีมาท่องโลกดนตรีคลาสสิกผ่านการรีวิวประสบการณ์ชมคอนเสิร์ต Germanic Heroism - Austrian Charm เมื่อเดือนปลายตุลาคมที่ผ่านมา จัดโดย มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา หรือที่หลายๆคนอาจรู้จักในชื่อย่อ RBSO ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การเดินทางก็ง่ายมากเลย นั่ง MRT มาลงสถานีศูนย์วัฒนธรรม ทางออกที่ 1 เดินต่อมาอีกนิดหน่อยก็ถึงแล้วค่ะ ค่าเข้าชมก็ไม่แพงด้วย สำหรับนักเรียนและนักศึกษาได้ลด 50% เลยนะคะ 
 

   ก่อนอื่นเลยเราจะมาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆเกี่ยวกับ Symphony Orchestra เพราะอาจมีหลายคนสงสัยว่า เอ๊ะ! ซิมโฟนีคืออะไร ออร์เคสตร้าคืออะไร เคยได้ยินแต่ชื่อ
 
วงดุริยางค์ซิมโฟนี (Symphony Orchestra) เป็นวงดุริยางค์มีขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วยกลุ่มเครื่องดนตรี 4 กลุ่ม คือ เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าลมทองเหลือง และเครื่องประกอบจังหวะ บรรเลงเป็นแนวๆ แต่ละแนวจะมีนักดนตรีเล่นดนตรีชนิดเดียวกันหลายๆคน  ซึ่งกลุ่มเครื่องสายเป็นจะเครื่องดนตรีหลัก และเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมากในวงดุริยางค์ โดยทั่วไปกลุ่มเครื่องสายจะอยู่ด้านหน้าสุด ถัดมาบริเวณกลางของวงจะเป็นเครื่องลมไม้ ส่วนเครื่องลมทองเหลืองและเครื่องกระทบจะอยู่ด้านหลังสุด การจัดวงในลักษณะนี้จะคำนึงถึงความกลมกลืนและความสมดุลของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มนั้นเอง พอจะร้องอ๋อกันบ้างแล้วรึยัง



   สำหรับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการจะพัฒนาให้เป็นวงออร์เคสตราแนวหน้าของเมืองไทย โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์จึงพระราชทานคำว่า “Royal” นำหน้าชื่อ เป็น “รอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า” (Royal Bangkok Symphony Orchestra หรือที่รู้จักกันในชื่อวง RBSO) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา

   มีผลงานการแสดงมากมายและนำเสนอกิจกรรมการแสดงหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทซิมโฟนีคอนเสิร์ต เชมเบอร์มิวสิค โอเปร่า บัลเล่ต์ ออร์เคสตร้า ป็อป เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ฟังทุกระดับวัยและรสนิยม บทเพลงที่นำมาบรรเลง จึงมีทั้งผลงานประพันธ์แบบคลาสสิกทุกยุคสมัย เพลงจากอุปรากร ละครเพลง เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงไทย และเพลงสากลยอดนิยม เป็นต้น ภายใต้การอำนวยเพลงของผู้อำนวยเพลงรับเชิญทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ร่วมด้วยศิลปินรับเชิญจากทั่วโลก นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School หรือ BSS) เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการศึกษาด้านดนตรีให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป

   มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับว่า Royal Bangkok Symphony Orchestra เป็นวงชั้นนำ และมุ่งมันพัฒนาให้วง RBSO เป็นวงออร์เคสตร้าเทียบเท่าวงอาชีพในระดับภูมิภาคเอเชีย
 
   อยากจะบอกว่าเพลงซิมโฟนี่เป็นเพลงที่บรรเลงยากมาก นักดนตรีที่บรรเลงเพลงประเภทนี้ได้จะต้องเล่นดนตรีเก่งมากๆ และสิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยในทุกการแสดงก็คือ Conductor จ้า ผู้อำนวยเพลงมีหน้าที่ควบคุมการบรรเลงของนักดนตรีทั้งหมด ซึ่งเราก็จะขอแนะนำ conductor ในคอนเสิร์ตนี้ให้ทุกคนได้รู้จักกันสักเล็กน้อย


   มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) เป็นผู้อำนวยเพลงชาวเบลเยี่ยมที่มีความสามารถสูง  มีผลงานอำนวยเพลงให้กับวงที่สำคัญในยุโรปหลายวงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปีค.ศ.1990 เป็นต้นมา  เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อำนวยเพลงที่มีความสามารถที่โดดเด่นมากในการตีความบทเพลงทั้งหลาย

   ทิลคิลได้ร่วมงานเป็นผู้อำนวยเพลงรับเชิญให้วง RBSO มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสมาชิกวงและผู้ที่ได้ร่วมงานทุกคน  ทั้งความสามารถ บุคลิกและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการด้านดนตรี (Music Director) ประจำวง RBSO วงออเตสตร้าเอกชนระดับอาชีพวงแรกของไทยที่มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง 36 ปี
.
.
.

   เอาล่ะ! หลังจากที่เกริ่นมายาวเหยียด ต่อไปเราจะมาพูดถึงการแสดงกันบ้าง
รายการแสดงหรือ Programme  Notes มีทั้งหมด 3 เพลงด้วยกันจ้า ซึ่งแต่ละเพลงก็เป็นบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของเหล่านักประพันธ์ผู้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อย่าง Weber, Mozart และ Beethoven

         คอนเสิร์ตเริ่มด้วยเพลงโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง “Der Freischütz” (ลูกปืนอาถรรพ์) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนายพราน ภูตผีและวิญญาณ ของ เวเบอร์ (Carl Maria von Weber) คีตกวีชาวเยอรมันในต้นยุคโรแมนติกผู้บุกเบิกอุปรากรแนวใหม่ที่เต็มไปด้วยพลัง ในส่วนของบทโหมโรงของอุปรากรเรื่องนี้นั้น นักวิชาการหลายท่านต่างให้ความเห็นตรงกันว่ามีความสมบูรณ์ของเนื้อหาในอุปรากรค่อนข้างครบถ้วนราวกับเป็น “ซิมโฟนิคโพเอ็ม” ที่ย่อเรื่องราวทั้งหมดลงมา


         บทเพลงเปิดการบรรเลงขึ้นด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างวังเวงโดยกลุ่มเครื่องสายและเครื่องลมในจังหวะช้า ตามมาด้วยแนวทำนองที่สง่างามโดยแตรฮอร์น 4 คัน ซึ่งบรรยายถึงบรรยากาศของ “หุบเขาแห่งสุนัขป่า” จากนั้นจึงเข้าสู่บรรยากาศลึกลับโดยเสียงเชลโล่ที่มีกลุ่มเครื่องสายบรรเลงรัวเสียง (Tremolo) คลออยู่ หมายถึงการปรากฏตัวของปีศาจในเรื่อง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวหลักของบทเพลงในจังหวะที่กระชับขึ้นและการบรรเลงของวงออร์เคสตร้าเต็มวงซึ่งยกแนวทำนองมาจากหุบเขาแห่งสุนัข (ในองก์ที่ 2) แนวทำนองหลักที่ 2 จะตามเข้ามาในส่วนแรกโดยปี่คลาริเน็ท จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนที่สอง ซึ่งบรรเลงโดยกลุ่มไวโอลินและคลาริเน็ทโดยมีการบรรเลงประกอบในลักษณะขืนจังหวะ (Syncopation) ซึ่งเป็นแนวทำนองที่ไพเราะเป็นที่นิยมอย่างมาก จากนั้นแนวทำนองหลักทั้งสองจะถูกบรรเลงพลิกผันในลักษณะต่างๆ (Development) แนวทำนองหลักหวนกลับมาปรากฏอีกครั้งในตอนท้าย ตามด้วยท่อนหาง (Coda) ซึ่งนำมาจากตอนจบของอุปรากร
 
   เพลงเอกในรายการคือ Piano Concerto No.9 in E-flat major K. 271 หรือที่รู้จักกันในชื่อ เฌินนอม (Jeunehomme) ที่แปลว่า เด็กหนุ่ม ของ โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) นักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เป็นนักประพันธ์อุปรากรที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคคลาสสิก อยู่ในช่วงสมัยเดียวกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศจนถึงรัชกาลที่ 1
เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 9 ในบันไดเสียง อี แฟล็ต เมเจอร์ ประพันธ์ขึ้นขณะมี่โมสาร?ยังอายุได้เพียง 21 ปี ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนด้านการประพันธ์เพลงที่ใช้บุคลิกลักษณะของเครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อสื่อสารอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ดนตรีถ่ายทอดออกมาได้ดั่งละคร และสร้างการตอบดต้ระหว่างเปียโนกับวงออร์เคสตร้าที่เล่นหยอกล้อกันได้อย่างมีชีวิตชีวา และบทประพันธ์นี้ยังนับได้ว่าเป็นคอนแชร์ดต้บทแรกที่มีท่อนที่ใช้บันไดเสียงไมเนอร์ ใช้เวลาในการบรรเลงประมาณ 33 นาที บรรเลงโดยกลุ่มเครื่องสาย โอโบ และฮอร์น


   
   Highlight ของการแสดงนี้อยู่ที่ ผู้บรรเลงเปียโนในการแสดงนี้คือ ทีโทส กูเวลีส (Titos Gouvelis) ศิลปินเดี่ยวเปียโนชาวกรีกที่มีชื่อเสียงในวงการนานาชาติ ได้รับรางวัล “Mykonilou” จากสถาบันดนตรีแห่งกรุงเอเธนส์



 
   คอนเสิร์ตจบด้วย Symphony No.7 ของ เบโธเฟน (Ludwig van BEETHOVEN) คีตกสีชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคคลาสสิก เขาประพันธ์ซิมโฟนีบทนี้ในช่วงหลังของชีวิต ซึ่งขณะนั้นยุโรปอยู่ท่ามกลางสงครามฝรั่งเศส นโปเลียนเข้าโจมตีรัศเซียและยึดครองกรุงเวียนนา ในเวลาเดียวกันวิมดฟนีบทนี้ได้ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรก โดยเบโธเฟนทำหน้าที่เป็นวาทยากรคอนเสิร์ตครั้งนั้นเป็นการหารายได้ช่วยเหลือทหารออสเตรียและบาวาเรียที่บาดเจ็บ ทันทีที่การแสดงจบลง ผู้ฟังต่างชื่นชมยกย่องมาก จนเขาต้องบรรเลงท่อนที่สองให้ฟังอีกครั้ง และให้สัมภาษณ์ว่า เป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา ซิมโฟนีบทนี้ เป็นผลงานที่สามารถเข้าถึงผู้ฟังได้อย่างกว้างขวาง ริชาร์ด วากเนอร์ ถึงกับเขียนคำบรรยายชื่นชมความงามของดนตรีบทนี้ นักวิจารร์ได้กล่าวว่า “ซิมโฟนีหมายเลข 7 คือความอมตะ โดยเฉพาะท่อนที่สองที่ทำให้รู้สึกว่าหลังฟ้าฝนโลกใบนี้ช่างสวยงาม”

 

   ในฐานะคนรุ่นใหม่อย่างเรา นี่ถือเป็นครั้งแรกเลยที่ได้ชมการแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่สามารถเอาเปรียบเทียบกับคอนเสิร์ตนักร้องเพลงป็อปหรือคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีได้ เนื่องจากทั้งรูปแบบการแสดงไปจนถึงตัวบทเพลง แม้จะเป็นการแสดงสดเหมือนกันแต่ก็ให้บรรยากาศความประทับใจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นค่ำคืนที่ได้ผ่อนคลายไปกับบทประพันธ์อันไพเราะ ได้ดื่มด่ำไปกับท่วงทำนองและซึมซับพลังเหล่านั้นจากเครื่องดนตรี ราวกับได้ตัดขาดจากความวุ่นวายของโลกภายนอกไปชั่วขณะ สำหรับเราคอนเสิร์ตนี้ถือเป็นการเปิดประสบการณ์โลกดนตรีคลาสสิกเลยก็ว่าได้ เพราะวัยรุ่นอย่างเราๆก็คงจะให้ความสนใจกับดนตรีสมัยใหม่เสียมากกว่า แต่พอมีโอกาสได้เปิดใจลองฟังดู เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่ามากๆแล้วก็ไม่ได้เสียเวลาเลย อีกอย่างเหมือนเป็นการช่วยส่งเสริมแล้วก็มาเป็นกำลังใจให้กับเหล่านักดนตรีด้วย เพราะคนไม่ได้มาดูเยอะมากนัก

   หวังว่ารีวิวนี้จะให้ความรู้ และสามารถเป็นจุดเริ่มต้นให้เพื่อนอยาดลองเปิดประสบการณ์ใหม่ๆดูเหมือนเรานะคะheartblush

 

แสดงความคิดเห็น

>