Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แชร์ประสบการณ์ ชมคอนเสิร์ตดนตรี Classic ตั้งแต่ซื้อบัตรยันจบงาน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
         
     ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวสวัสดีเพื่อนๆชาวเด็กดีที่เข้ามาอ่านบทความนี้นะคะ วันนี้เราจะมารีวิวคอนเสิร์ตดนตรี Symphony Orchestra ในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือก็คืองานคอนเสิร์ต “Germanic Heroism – Austrian Charm” ซึ่งทำการบรรเลงโดย ROYAL BANGKOK SYMPHONY ORCHESTRA หรือเรียกย่อๆว่า RBSO นั่นเองค่ะ 



        โดยการแสดงนี้จัดขึ้นที่ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเราสามารถเดินทางไปได้โดยรถไฟฟ้า MRT ไปลงที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม ออกทางออกที่1 แล้วก็เดินต่อไปอีกประมาณ750 เมตร ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระยะที่สามารถเดินไปได้ ถือว่าสะดวกมากๆเลยค่ะ แต่สำหรับใครที่ต้องการนั่งรถส่วนตัวไป เราขอแนะนำให้เผื่อเวลารถติดด้วยนะคะ เพราะแถวนั้นรถติดมากกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว)



        ในการซื้อบัตรเพื่อเข้าชมการแสดงนั้นสามารถซื้อบัตรผ่านหน้าเว็บของ THAITICKET MAJOR หรือ ซื้อโดยตรงผ่านทางหน้าเคาท์เตอร์ก็ได้ค่ะ และสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆสำหรับการซื้อบัตรผ่านทางหน้าเคาท์เตอร์ก็คือการที่ได้ใช้สิทธินักเรียน นักศึกษา และผุ้สูงอายุ ลดราคาบัตร 50% นี่แหละค่ะ ใครที่เป็นนักเรียน นักศึกษาหรือผู้สูงอายุ หากสนใจเราแนะนำซื้อผ่านเคาท์เตอร์เพื่อรับส่วนลดค่าบัตรเข้าชมนะคะ เราเองก็ไปใช้สิทธิมาเหมือนกัน แฮปปี้กับราคามากๆเลยค่ะ^^

      เอาหล่ะรู้สึกเกริ่นไปเยอะแล้วเรามาเข้าสู่เรื่องการปฎิบัติก่อนเข้าชมการแสดงกันเถอะค่ะ โดยขอเริ่มจากเวลาที่ควรไปถึงก่อนการแสดงแล้วกันนะคะ โดยส่วนตัวคิดว่าเราควรไปก่อนที่การแสดงจะเริ่มอย่างน้อย 15-20 นาทีเพื่อไม่ให้ฉุกละหุกมากเกินไปและจะได้มีเวลาอ่านโปรแกรมการแสดงก่อนเข้าไปฟังเพลงเพื่อให้อินไปกับบทเพลงมากขึ้น โดยเขาจะมีจำหน่ายในราคา 30 บาท แต่ถ้าใครคิดว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อก็ได้ค่ะ เพราะว่ามีแบบย่อที่แจกให้ฟรีๆอยู่ แต่เราก็ซื้อมาค่ะ เปิดดูแล้วเขียนอธิบายละเอียดมากค่ะตั้งแต่ประวัติไปจนถึงบรรยายเกี่ยวกับเพลง



         แล้วก็อีกอย่างที่โดนมากับตัวก็คือเรื่องเครื่องดื่มค่ะ โดยเขาจะไม่ให้เรานำเอาเข้าไปเลยค่ะ ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าห้ามเอาเข้าไป จนตอนที่จะเดินผ่านประตูแล้วเขาทักเนี่ยแหละค่ะถึงได้รู้ว่าห้ามเอาเข้า ดังนั้นถ้าใครพกน้ำไปก็ดื่มก่อนเข้าไปนะคะเพราะเราเอาเข้าไปไม่ได้ T^T
 
        ต่อไปเรามาดูไฮไลต์ของงานคอนเสิร์ตนี้กันเถอะค่ะ แน่นอนว่าถ้าพูดถึงวงออร์เคสตราสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Conductor หรือที่เรียกภาษาไทยว่า ผู้อำนวยเพลงนั่นเอง โดยผู้ที่เป็น Conductor ในงานนี้ก็คือ คุณ มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) โดยเขาเป็นผู้อำนวยเพลงชาวเบลเยี่ยมที่มีประสบการณ์และผลงานมากมาย และเป็นผู้อำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตราที่สำคัญหลายวงในยุโรป ตั้งแต่ปี1990 จนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้อำนวยเพลงรับเชิญให้กับวง RBSO มาตั้งแต่ปี 2010 และในปี 2018 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยเพลงประจำวง RBSO ที่เป็นวงออร์เคสตราเอกชนระดับอาชีพวงแรกของไทยที่มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง 36 ปี 



       และอีกหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการเดี่ยวเปียโนค่ะ โดยศิลปินที่มาทำการเดี่ยวเปียโนในคราวนี้ก็คือคุณ ทีโทส กูเวลีส (Titos Gouvelis) เป็นศิลปินเดี่ยวเปียโนชาวกรีกที่มีชื่อเสียงในวงการนานาชาติแบะมีผลงานมากมาย และเคยชนะการแข่งขันเปียโนทั้งในกรีก และในประเทศต่างๆ ได้รับรางวัล “Mykoniou” จากสถาบันการศึกษาเอเธนส์ “The Academy of Athens” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและงานวิจัยระดับชาติที่เก่าแก่และมีชื่อที่สุดของกรีก โดยเป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปินผู้ที่มีผลงานด้านศิลปะและการแสดงดีเด่น



โดยในการแสดงคราวนี้มีการบรรเลงเพลงด้วยกันทั้งหมดสามบทเพลงค่ะ
       
       ประกอบไปด้วยเพลงโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง Der Freischütz (ลูกปืนอาถรรพ์) ของคาร์ล มาเรีย ฟอน เวเบอร์ และเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 9 ในบันไดเสียง อี แฟล็ต เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 271 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เฌินนอม ของ โมสาร์ท และเพลงซิมโฟนีหมายเลข 7 ในบันไดเสียง เอ เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 92 ของเบโทเฟน
ซึ่งเราขอเลือกรีวิวแค่บทเพลงที่เรารู้สึกประทับใจมากที่สุดอย่าง เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 9 ในบันไดเสียง อี แฟล็ต เมเจอร์ (เฌินนอม) ที่บรรเลงโดยศิลปินเดี่ยวเปียโนนั่นเองค่ะ
เนื่องจากโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดนตรีที่มีจังหวะที่รวดเร็วแล้วเพลงนี้ที่ได้ฟังถือว่าเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากๆเลยค่ะ ยิ่งการที่ได้เห็นศิลปินเดี่ยวเปียโนเล่นเปียโนแบบใส่อารมณ์เต็มที่กับท่าทางที่แสดงออกมาทำให้รู้สึกดึงดูดความสนใจเราได้เป็นอย่างมากเลยค่ะ

โดยเพลงนี้จะมีด้วยกันสามท่อน

ท่อนแรก เป็นการเล่นจังหวะแบบ Allegro, in e flat major โดยเป็นจังหวะที่เร็ว เป็นการโต้ตอบกันสั้นๆประโยคต่อประโยคระหว่างเปียโนและวงออร์เคสตรา จากนั้นวงออร์เคสตราก็จะนำเสนอทำนองหลัก แทนที่จะเป็นหน้าที่ของเปียโนเดี่ยวแบบทั่วๆไป

ท่อนที่2 จะเล่นจังหวะแบบ Andantino, in C minor โดยเป็นจังหวะปานกลาง เริ่มต้นในบันไดเสียง ซี ไมเนอร์ ให้บรรยากาศที่หม่นหมอง เต็มไปด้วยความรู้สึกแบบอุปรากร และช่วงกลางก็ย้ายไปบันไดเสียง อี แฟบ็ต เมเจอร์ แต่ก็ยังคงให้อารมณ์แบบอุปรากรอยู่

ท่อนที่3 เล่นจังหวะแบบ Presto, in E flat major โดยมีจังหวะที่เร็วมาก และมีการประพันธ์ในสังคีตลักษณ์ทำนอง เริ่มต้นด้วยแนวเดี่ยวเปียโนที่นำเสนอทำนองหลัก และวงออร์เคสตราก็บรรเลงย้ำทำนองอีกทีโดยในช่วงกลางเพลงมีการคั่นด้วยบทเพลงประเภทมินูเอ็ตที่มีลักษณะเป็นเพลงเต้นรำพื้นเมืองฝรั่งเศสในอัตราจังหวะสาม และย้ายบันไดเสียงไปที่ เอ แฟล็ต เมเจอร์แนวเปียโนผ่อนคลายลง พร้อมกับดนตรีประกอบชองวง จากนั้นก็กลับไปเล่นในลักษณะเดิมจนกระทั่งจบบทเพลง
       
        โดยส่วนตัวชอบเพลงนี้ที่สุดจากทั้งสามเพลงอาจเป็นเพราะส่วนตัวเคยเรียนเปียโนมาก่อนพอได้มาเห็นการเล่นเปียโนที่น่าทึ่งว่าเล่นเร็วขนาดนั้นได้อย่างไรก็เลยเกิดความรู้สึกชอบมากกว่าการที่ดูแบบเป็นวงเล่นแบบผสมผสานกันเนื่องจากเราไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งในขณะที่ถ้าเป็นเปียโนที่เคยเรียนมายังพอจะเข้าใจและรู้สึกอินมากกว่า โดยอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว บางคนอาจจะชอบที่เป็นวงเล่นประสานกันมากกว่า
     
       ในส่วนของผู้ที่มาชมคอนเสิร์ตในคราวนี้นั้นเราเห็นตั้งแต่เด็กที่มากับพ่อแม่ผู้ปกครอง วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงานและผู้สูงอายุ เรียกได้ว่ามีกันทุกเพศ ทุกวัยจริงๆ โดยเราก็เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ได้มาชมคอนเสิร์ตในคราวนี้ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกประทับใจมากๆ และนี่ก็เป็นการมาชมคอนเสิร์ตแบบจริงจังครั้งแรกในชีวิตเลยก็ว่าได้ถือว่ามาแล้วไม่ผิดหวังจริงๆกับคอนเสิร์ตในคราวนี้จากตอนแรกที่มีอคติว่าดนตรีคลาสสิคส่วนใหญ่มีแต่คนมีอายุเท่านั้นแหละที่มาดูแต่พอเอาเข้าจริงๆ มันดีกว่าที่คิดไว้มากๆ
     
       หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่เข้ามาอ่านไม่มากก็น้อยนะคะ ขอบคุณที่สละเวลาเข้ามาอ่านบทความของเรามากๆค่ะ ขอบคุณค่ะ><
 

แสดงความคิดเห็น

>