Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การพูด...ที่คุณคาดไม่ถึง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่



การเขียนบทพูด

                    ต้องเริ่มต้นจากการเลือกเรื่องที่จะพูดเสียก่อน เมื่อได้เรื่องที่จะพูดแล้วก็ต้องมีการเตรียมเรื่องที่จะพูดให้ดี การเตรียมเรื่องที่จะพูดควรจะมีการเตรียมในเรื่องต่อไปนี้
                                1.การเตรียมเนื้อหารวมของเรื่อง คือ ก่อนอื่นก็ต้องศึกษาเนื้อหารวมของเรื่องทั้งหมด เพื่อให้การพูดได้คล่องและชัดเจนแก่ผู้ฟัง
                          2.การเตรียมคำนำก่อนพูดเนื้อหา นักพูดที่ดีย่อมมีการเตรียมคำพูดกล่าวนำก่อนจะถึงเนื้อหาของเรื่องไว้อย่างเหมาะสม นักพูดที่รู้จักใช้คำนำในการพูดได้ดีย่อมสามารถจูงใจผู้ฟังให้สนใจติดตามฟังเรื่องที่พูดได้มากๆทีเดียว นักพูดที่ดีจะต้องพิถีพิถันในการใช้คำพูดคำนำ ตามปกตินักพูดนิยมใช้พูดคำนำเป็นร้อยละ 10 ของการพูดแต่ละครั้ง
                                3.การเตรียมเนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพูด ผู้พูดจะต้องกำหนดเนื้อหาให้ตรงกับเวลาที่พูด ควรมีการแบ่งสารัตถะของเรื่องให้ชัดเจนและมีการเรียงลำดับเนื้อเรื่องให้เป็นระเบียบ เนื้อหาแต่ละเรื่องจะต้องมีความถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงต่างๆโดยมีข้อมูลอ้างอิง มีความชัดเจนไม่คุมเครือ มีตัวอย่างประกอบหากสามารถจะอ้างด้วยการยกตัวอย่างได้ การกำหนดการพูดแต่ละครั้งไว้คือพูดเนื้อหาของเรื่องคิดเป็นร้อยละ 85 ของเวลาพูด
                                 4.การเตรียมสรุปเนื้อเรื่อง การสรุปเนื้อเรื่องที่พูดเป็นการพูดขั้นสุดท้ายก่อนจบการพูดแต่ละครั้ง ผู้พูดจะต้องรู้จักการเตรียมสรุปเนื้อเรื่องไว้ให้พอเหมาะกับเนื้อหาที่พูด การสรุปเป็นการย้ำสารัตถะของเรื่องให้ผู้ฟัง โดยการทบทวนประเด็นสำคัญๆโดยย่อๆหรือบางครั้งอาจสรุปได้โดยการนำข้อคิดสำคัญๆที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่พูด จากสรุปจะต้องสรุปแล้วจบลงจริงๆ การสรุปเนื้อหาในการพูดแต่ละครั้งผู้พูดจะต้องกำหนดเวลาไว้ในใจเลยว่าการใช้เวลาสรุปเท่าใดซึ่งตามหลักทั่วไปนักพูดนิยมสรุปคิดเป็นร้อยละ 5 ของเวลาพูดแต่ละครั้ง





ทัศนคติดีมีชัยไปกว่าครึ่ง!

                              เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติของนักพูดที่ดีแล้ว ย่อมประกอบไปด้วยหลักการหลายประการที่จะทำให้คุณสามารถเป็นนักพูดที่ดีได้ แต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดนั้นต้องมาจากภายใน การมีทัศนคติที่ดี ก็เป็นหนึ่งในนั้น ทัศนคติ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่า การพูดในที่สาธารณะ หรือพูดในที่ที่มีคนมากมาย เป็นเรื่องน่ากลัว กลัวว่าจะพูดผิดพลาดจนทำให้เป็นเรื่องน่าอาย ทั้งนี้มาจากทัศนคติของตนเองที่มีต่อการพูด เราควรปรับทัศนคติใหม่ ว่าการพูดผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย การที่จะเกิดความผิดพลาดได้นั้น มีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเทคนิคเสียง สภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ฟังเองที่มีความแตกต่างกันในเรื่องความรู้สึกนึกคิดซึ่งอาจจะส่งผลต่อปฏิกิริยาขณะฟังทำให้ผู้พูดเกิดอาการประหม่าจนเกิดความผิดพลาดขึ้น ดังนั้นการเกิดความผิดพลาดขณะพูดเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และสามารถปรับปรุงการพูดของตนเองให้ดีขึ้นได้ เพราะแม้แต่นักพูดมืออาชีพหลายๆท่าน ก็ยังเปรียบการพูดของตนในแต่ละครั้งเสมือนว่าเป็นการพูดฝึกหัด ขอให้ผู้พูดเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ให้คิดว่าการที่เราพูดผิดนั้นไม่จำเป็นต้องอายแต่ให้นำความผิดพลาดนั้นมาเป็นประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป
                              การปรับทัศนคติของเราให้มีทัศนคติที่ดีต่อการพูดนั้น จะทำให้ใครก็ตามที่ยังไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ หรือพูดในที่ที่มีคนมากมายนั้น เปลี่ยนเป็นคนที่กล้าพูด มั่นใจในการพูดมากขึ้น เพราะการพูดในแต่ละครั้ง ถึงแม้จะเกิดความผิดพลาด ก็ไม่ต้องกังวล ให้นำความผิดพลาดในแต่ละครั้งมาเป็นประสบการณ์ในการพูดครั้งต่อไป เพียงแค่ปรับทัศนคติ เท่านี้ก็จะทำให้เราพูดได้ดีขึ้น มั่นใจในการพูด และสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย




เมื่อคุณพูด แต่ไม่มีผู้รับฟัง
 
                               โลกในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าจากความสงสัยของมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มักจะเกิดคำถามตลอดเวลา ว่าทำไม เพราะเหตุใด เป็นอย่างไร มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องไขข้อสงสัยของตัวเอง เพื่อคลายความทรมานจากความอยากรู้อยากเห็น ด้วยเหตุนี้เราจึงจะต้องจุดประกายความสงสัยของมนุษย์ เพื่อทำให้ผู้ฟังสนใจ และหันมารับฟังผู้พูด
                          มีคนกล่าวว่า “คำนำที่ดีต้องรวบรัด เร้าอารมณ์ ตรงประเด็น และชวนติดตาม” หากนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน คุณจะไม่ใช้คนที่จะต้องเสียความรู้สึกจากการที่ไม่มีผู้รับฟังอีกต่อไป 




การพูด…สร้างสิ่งที่ล้ำค่า

                                        สิ่งที่ล้ำค่าคืออะไร? แต่ละคนก็จะให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าคือสิ่งของที่มีราคาแพง บ้างก็ว่าคือทรัพย์สินเงินทอง อย่างไรก็ตามในที่นี้สิ่งที่ล้ำค่าคือ มิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณอาจมองข้ามมันไปโดยไม่รู้ตัว มิตรภาพนั้นเป็นเรื่องของ “ใจ” หากใจไม่คิดร้าย แสดงออกมาจากใจจริง มีเจตนาที่ดีต่อผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดมิตรภาพได้ง่าย
                                      การสร้างมิตรภาพนั้นจะต้องเริ่มที่ตัวเรา นอกจากจะมีเรื่องของใจแล้วเรายังต้องอาศัยทักษะการพูด ที่จะทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างกัน ทักษะการพูดในชีวิตประจำวันที่เราสามารถมองเห็นได้คือ การสนทนากันภายในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน ถ้าเรามีทักษะการพูดที่ดีจะทำให้พวกเราทำงานเป็นทีมได้ดี ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมา โดยที่ไม่มีความอึดอัดใจต่อกัน ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข จนเกิดเป็นความผูกพันที่เรียกว่า “มิตรภาพ” โดยที่เราไม่รู้ตัว





ปรับท่าทาง สร้างบุคลิก

                               ถ้าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ท่าทางก็คือประตูที่นำไปสู่หัวใจ เพราะทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการส่งสาร หรือสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟัง ความสนใจของผู้ฟังในตอนแรกอาจเริ่มต้นด้วยหัวข้อหรือเนื้อหาที่คุณพูด แต่สิ่งที่จะดึงผู้ฟังให้สนใจคุณจนจบการบรรยายคือ ท่าทาง ท่าทางล้วนส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพูดแต่ละครั้ง แล้วนักพูดที่ดีต้องมีท่าทางอย่างไร ? หนึ่ง ท่าทางต้องสัมพันธ์กับเนื้อหา เมื่อเรื่องสนุก เคลื่อนไหวบ่อยขึ้น กระตือรือร้น ในทางกลับกันเรื่องเศร้าก็เคลื่อนไหวน้อยลง สอง ไม่ควรยัก-ไหล่หรือโยกตัวไปมา สาม การทรงตัวระหว่างการยืนพูด ควรยืนให้มั่นคงเท้าห่างกันประมาณหนึ่งคืบ สิ่งสำคัญที่นักพูดส่วนใหญ่มักจะพลาดคือ การใช้มือประกอบการพูด บางคนก็มากเกินไป จนกลายเป็นน่ารำคาญ กล่าวได้ว่าทุกๆสิ่งควรทำอย่างพอดี วิธีปรับท่าทางง่าย ๆ นี้ จะสร้างบุคลิกที่ดีให้คุณได้ไม่ยาก
 

แสดงความคิดเห็น

>