Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สิ่งที่คุณควรศึกษา... ก่อนเริ่มต้นเขียนนิยาย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
  

สิ่งที่คุณควรศึกษา... ก่อนเริ่มต้นเขียนนิยาย

 
            ก่อนที่เราจะหัดวิ่งเราต้องหัดเดิน ก่อนที่เราจะเริ่มวาดรูปเราต้องเริ่มการวอร์มกล้ามเนื้อมือ ก่อนที่เราจะเขียนนิยาย เราก็ต้องมีพื้นฐานและรู้จักศึกษาเก็บข้อมูลก่อนลงมือเขียนจริง

            ความต้องการของเจ้าของกระทู้ที่ตั้งใจเขียนกระทู้นี้ขึ้นมา ไม่ได้เป็นการ “สอน” แต่เป็นการ “แนะนำ” จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเขียนไม่ได้เป็นเพียงความสุนทรียะเกิดจากจินตนาการเท่านั้น การเขียนมีส่วนที่ต้องใช้ความรู้หรือศาสตร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย

                ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ มันเหมือนการที่เราฝึกวาดรูป เราลงมือวาด วาดไปเรื่อย ๆ วาดไปโดยที่ไม่ได้ศึกษาอะไรเป็นพิเศษ ไม่รู้จักเรื่องน้ำหนักแสงเงา ไม่รู้จักสัดส่วนของอนาโตมี่ ไม่รู้ว่าต้องใช้โปรแกรมใดการวาด แม้ตอนแรกฝีมือเราจะพัฒนาอย่างรวดเร็วเพราะมีไฟ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกสิ่งก็จะอิ่มตัว หากไม่ได้รับความรู้หรือเทคนิคใหม่ ๆ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาได้ด้วยเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด

                เพราะฉะนั้นก็เลยมาแนะนำสิ่งที่ควรศึกษาไว้ ถ้าเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ มันก็จะสามารถช่วยพัฒนาความสามารถทางด้านการเขียนของทุกท่านได้
  

 
สนับสนุนช่วงมีสาระโดย ! 
ขนมตราพีชชี่ อร่อยถล่มปฐพี แต่ไม่มีวางจำหน่าย !!!

 
   


เอาล่ะ มาเริ่มกันเลย !!!

5 สิ่งที่ควรศึกษา ก่อนเริ่มเขียนนิยาย 


 
1. หลักภาษา การใช้หลักภาษาให้ถูกต้อง มีส่วนช่วยทำให้การวางรูปประโยคมีความเข้าใจง่าย เมื่ออ่านแล้วเนื้อความจะลื่นไหลชวนคล้อยตาม ซึ่งหลักภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเขียน มีดังต่อไปนี้

คำ เป็นหน่วยของภาษา ประกอบด้วยพยางค์หนึ่งพยางค์หรือมากกว่า เมื่อนำคำหลายคำมาประกอบกันจะทำให้เกิดวลีหรือประโยคซึ่งใช้สื่อความหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไป ประเภทของคำที่มักปรากฏอยู่ในการเขียนนิยาย ได้แก่

                - คำอนุภาค  หรืออีกชื่อคือ คำเสริม เป็นหลักภาษาแนวใหม่จัดอยู่ในคำวิเศษณ์ เน้นการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาพูด ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจความหมายของประโยคนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง ปรากฏคำเหล่านี้อยู่ในบทพูดของตัวละคร มักเสริมอยู่ท้ายประโยค แต่ก็มีคำอนุภาคบางคำที่อยู่ต้นประโยคด้วยเช่นกัน
                ตัวอย่างคำอนุภาค
                “คิดถึงนะ” แสดงประโยคบอกเล่า      “คิดถึงไหม ?” แสดงประโยคคำถาม
                “ไปไหน ?” แสดงประโยคคำถาม       “ไปสิ !” แสดงประโยคคำสั่ง หรือแสดงประโยคบอกเล่า (ตอบคำถาม)
                “เหรอ... ผมไม่รู้มาก่อนเลย”               “นั่นแหละ ความจริงที่เธอต้องยอมรับ”
                คำอนุภาคที่นำมาใช้ควรเลือกมาให้เหมาะกับสถานการณ์ ควรยกมาเสริมให้บทพูดมีความเป็นธรรมชาติและสมจริง
            เช่น “ฉันรักเธอนะ...” “เธอไม่ไปจากฉันได้ไหม ?” “เธอเลือกมันอย่างนั้นหรือ ?”

            ข้อควรระวัง การเติมอนุภาคในการบรรยาย Pov 1 และตัวละครเป็นตัวผู้ชาย อาจทำให้ตัวละครขาดความเป็นผู้ชาย เช่น นี่มันบ้าอะไรกันเนี่ย ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วยนะ ไม่ชอบแบบนี้สักนิดเลย !

                - คำวิเศษณ์  หรือ คำคุณศัพท์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม  คำสรรพนาม  คำกริยา  หรือคำวิเศษณ์ด้วยกันเองเพื่อให้ได้ใจความชัดเจนขึ้น  คำวิเศษณ์ส่วนมากอยู่หลังคำที่นำมาขยาย 

ข้อควรระวังในการใช้คำวิเศษณ์ คือ ไม่ควรใช้คำวิเศษณ์มากจำนวนคำในประโยคหรือเนื้อความเดียว เพราะจะนำไปสู่การใช้คำฟุ่มเฟือย บรรยายเวิ่นเว้อเกินงาม ทำให้เสียอรรถรสได้
            เช่น “เปลวเพลิงนั้นร้อนแรงดุจไฟนรกโลกันต์ที่สามารถแผดเผาปฐพีให้วอดวายสิ้น”
            เอ่อ แค่... ร้อนแรงดุจไฟนรกก็ร้อนจะตายอยู่แล้ว จะร้อนอะไรกันนักกันหนา !
            ประเภทของคำวิเศษณ์ 
ลักษณวิเศษณ์  คือ  คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อบอกลักษณะ เช่น สี กลิ่น รส
                สถานวิเศษณ์  คือ  คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อบอกสถานที่
                กาลวิเศษณ์  คือ  คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อบอกเวลา เช่น เวลาเช้า สาย บ่าย เย็น
                ประมาณวิเศษณ์  คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อบอกจำนวนนับ
                ปฤจฉาวิเศษณ์  คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อแสดงความสงสัยหรือเป็นคำถาม
                นิยมวิเศษณ์  คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่นเพื่อบอกความแน่นอน 
 
- คำบุพบท  เป็นคำที่ใช้นำหน้าคำนาม  คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำนั้นให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน เป็นส่วนที่ร้อยเรียงให้ประโยคทั้งย่อหน้าเนื้อหากลมกลืนไปในทิศทางเดียวกัน
คำบุพบทบอกสถานที่  เช่น  ใต้  บน  ริม ชิด ใกล้ ไกล ที่ นอก ใน เป็นต้น
คำบุพบทบอกเวลา  เช่น  แต่  ตั้งแต่  ณ  เมื่อ จน  จนกระทั่ง
คำบุพบทบอกความเป็นเจ้าของ  เช่น แห่ง  ของ ใน (คำราชาศัพท์)
คำบุพบทบอกฐานะเป็นผู้รับ  ได้แก่คำว่า  เพื่อ  ต่อ  แก่  แด่  เฉพาะ  สำหรับ
คำบุพบทบอกที่มาหรือสาเหตุ  ได้แก่คำว่า  แต่  จาก  กว่า  เหตุ  ตั้งแต่
คำบุพบทบอกฐานะเครื่องใช้ หรือติดต่อกัน ได้แก่คำว่า  โดย  ด้วย  อัน  ตาม  กับ 
 
ข้อควรระวังของการใช้คำบุพบท เมื่อใช้คำบุพบทในการร้อยความประโยคใดประโยคหนึ่งในย่อหน้า ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำ ๆ เดิม เพราะจะทำให้ในย่อหน้านั้นมีคำซ้ำ (ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะการใช้คำเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาในย่อหน้าเดียว จะทำให้เนื้อเรื่องขาดความสละสลวย)

ข้อควรระวังอีกเรื่องคือการใช้คำบุพบทให้ถูกบริบท เพราะแต่ละคำย่อมมีความหมายที่แตกต่างกันไป ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ให้อิมแพคที่แตกต่างกัน อาจทำให้ความเข้าใจของนักอ่านคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เราเข้าใจและสื่ออกไปแบบผิด ๆ
 
- คำสันธาน เป็นคำที่เชื่อมประโยคกับประโยค  ประโยคจะมีความกระชับ  และสละสลวยขึ้น 
คำสันธานที่เชื่อมใจความคล้อยตามกัน  ได้แก่คำว่า  กับ  และ  ก็  ครั้ง...ก็  เมื่อ...ก็   พอ...ก็  
คำสันธานที่เชื่อมใจความขัดแย้งกัน  ได้แก่คำว่า แต่  แต่ทว่า  ถึง...ก็  แม้...ก็
คำสันธานที่เชื่อมใจความเป็นเหตุเป็นผลกัน   ได้แก่คำว่า ดังนั้น  เพราะฉะนั้น  เพราะ...จึง  ดังนั้น...จึง  จึง  ด้วย  เหตุเพราะ  ฉะนั้น 
คำสันธานที่เชื่อมใจความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง   ได้แก่คำว่า  หรือ  มิฉะนั้น  ไม่...ก็  ไม่เช่นนั้น

ข้อแนะนำ ถ้าเข้าใจเรื่องคำสันธานได้ดี การเชื่อมประโยคในย่อหน้าจะสละสลวยขึ้นได้ไม่ยาก อนึ่งการใช้คำสันธานจะต้องใช้ในบริบทที่เหมาะสมเพื่อความหมายที่สมบูรณ์
 
อ้างอิงข้อมูลจาก ภาษาไทยครูจิน https://sites.google.com/site/phasathiykhrucin/
 
ประโยค หรือวลี กลุ่มคำที่นำมาเรียงเข้าด้วยกันแล้วมีใจความสมบูรณ์ ประโยคที่ควรใช้ในการเขียนคือประโยคที่เข้าใจได้ไม่ยาก สื่อความได้ชัดเจนตรงประเด็นที่ต้องการสื่อ และไม่จำเป็นต้องสละสลวยก็ได้
 
ระดับภาษา ระดับภาษาขึ้นอยู่กับการใช้มุมมองการบรรยายของนิยายเรื่องนั้น ๆ หากเป็นการบรรยายโดยใช้ Pov 1 ก็จะขึ้นอยู่กับอุปนิสัย ลักษณะของตัวละคร ส่วนถ้าบรรยายเป็น Pov อื่น ๆ ก็จะขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ในการเรียงร้อยคำของนักเขียนท่านนั้น ๆ ชอบความเป็นทางการพิธีการหรือความสละสลวยมากน้อยเพียงใด
 
การบรรยาย พรรณนา อธิบาย
1. การบรรยาย คือ การเล่าเรื่อง การกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน โดยชี้ให้เห็นฉาก สถานที่ เวลาเหตุการณ์สาเหตุที่ก่อให้เกิด สภาพแวดล้อม บุคคลที่เกี่ยวข้องตลอดจนผลที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นๆ
2. การพรรณนา คือ การให้รายละเอียดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นอาจจะเป็นบุคคล วัตถุ สถานที่หรือเหตุการณ์ช่วงใดช่วงหนึ่ง บรรยายรูปพรรณให้แจ่มแจ้ง
3. การอธิบาย คือ การทำให้บุคคลอื่นเข้าใจความจริง อาจการใช้ตัวอย่างช่วยในการอธิบายในสิ่งที่เข้าใจยาก เปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างกัน ชี้สาเหตุหรือผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน รวมถึงการให้นิยามกับสิ่ง ๆ นั้นด้วย
 
2. แหล่งรวมรูปภาพที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ หลายครั้งที่เราเห็นภาพมีลิขสิทธิ์ถูกนำไปใช้เป็นภาพประกอบหรือเป็นปกนิยาย และก็มีหลายกรณีที่นักเขียนบางท่านต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์รูปภาพ เพื่อเป็นการจัดระเบียบชีวิตให้ตัวเองอยู่ใน safe zone ทางที่ดีเราควรใช้ภาพจากเว็บที่แจกรูปไม่ติดลิขสิทธิ์จะดีกว่า
                - Pixabay
https://pixabay.com/th/
เป็นเว็บที่มีรูปภาพมากมายหลายหมวด และภาพก็มีไว้สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ฟรีอีกด้วย วิธีการใช้งานก็ง่าย มีช่องให้ค้นหาและมีการแปลภาษาจากหน้าเว็บเป็นภาษาไทย สะดวกครบวงจร เซฟง่าย คุณภาพและความละเอียดของภาพถือว่าได้มาตรฐานภาพไม่แตก
ข้อดี ภาพสวยงาม มีหลายหมวด เมื่อค้นหาแล้ว ภาพที่ได้จะสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการและได้เสิร์ชไป
ข้อเสีย ภาพอาจจะไม่ตอบโจทย์คนที่ชอบใช้ภาพประกอบเป็นคน รูปวาด เพราะภาพส่วนมากเป็นภาพถ่ายสิ่งรอบตัว เป็นภาพทิวทัศน์หรือสัตว์ ไม่เหมาะกับการเสิร์ชหาอิมเมจตัวละครเพราะรูปถ่ายที่เป็นรูปคนมีน้อย
- Unplash
https://unsplash.com/s/photos/student
                ให้อารมณ์คล้าย ๆ กับเว็บแรกที่นำเสนอ แต่เว็บนี้เป็นเว็บภาษาอังกฤษ และเมื่อเสิร์ชก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ คนเก่งภาษาที่สองดวงดีเหมือนถูกหวย แต่สำหรับคนอ่อนภาษาอังกฤษก็อาจจะต้องเสียเวลาในการแปลสักหน่อย ภาพเป็นสไตล์ภาพถ่ายตามเดิม มีภาพอยู่หลายหมวด ส่วนตัวชอบการจัดรูปแบบเว็บของเว็บนี้มากกว่า pixabay เพราะดูมินิมอล และภาพในนี้ก็มีความอาร์ตสูงมาก
            ข้อดี ภาพอาร์ต ภาพมีความคุมโทน โทนสีภาพในเว็บดูไม่ฉูดฉาดจนเกินไป มีหลายหมวดให้เลือกสรรค์
            ข้อเสีย ไม่มีภาษาไทย
            - Lifeofpix
                 https://www.lifeofpix.com/
                ภาพสวย สามารถเลือกหมวดได้ มีการเลือกโทนสีได้ด้วย เป็นภาษาอังกฤษอีกตามเดิม เวลาเสิร์ชก็ต้องเสิร์ชเป็นภาษาอังกฤษ ภาพเป็นสไตล์มินิมอล ๆ เว็บก็มินิมอลเหมือนกัน ใครชอบภาพโทนสบายตา แนะนำให้หาจากเว็บไซต์นี้
                ข้อดี ไม่มีข้อเสีย
 
          3. การจัดหน้านิยายให้เป็นระเบียบ ความเป็นระเบียบคือเสน่ห์ที่ทำให้นักอ่านเข้าถึงนิยายได้ง่ายขึ้น การเว้นวรรคในจังหวะที่เหมาะสมไม่ขาดหรือห้วน การเว้นย่อหน้า ไม่ให้ประโยคยาวพรืดดูยาวจนอึดอัด เพื่อความน่าอ่านของหน้านิยาย เราจึงควรศึกษาหลักการเว้นวรรคและการเว้นย่อหน้า ดังต่อไปนี้
                หลักการย่อหน้า ควรย่อหน้าในกรณีที่สิ้นสุดเนื้อความ สิ้นสุดฉากใดฉากหนึ่ง สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ถ้ายังไม่สิ้นสุดเนื้อความแต่ย่อหน้าไม่ควรตัดเนื้อความ เว้นแต่กรณีที่ฉากนั้นมีบรรทัดที่เยอะจนดูน่าเบื่อ ซึ่งย่อหน้าหนึ่งไม่ควรเกิน 8 บรรทัด
            หลักการเว้นวรรค วรรคมีอยู่ 2 ชนิด คือ วรรค 1 ตัวอักษร และวรรค 2 ตัวอักษร
การวรรค 1 เคาะ จะเล็กจนแทบไม่สังเกต  ใช้วรรคระหว่างคำ ใช้ก่อนและหลังคำบางคำ วรรคก่อนเครื่องหมายต่าง ๆ เพราะหากไม่วรรคจะทำให้เครื่องหมายมองเห็นได้ไม่ชัดเจน
วรรคใหญ่ ใช้วรรคระหว่างข้อความที่ยังไม่จบแต่ยาวมาก หรือประโยคที่จบสมบูรณ์แล้ว ถ้าใช้วรรคตอนไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนไปได้
 
4. การใช้เครื่องหมาย
จุลภาค (จุดลูกน้ำ , ) ใช้แยกหรือคั่นคำ วลี หรือข้อความ เนื่องจากในภาษาไทยมีการเว้นวรรคจึงไม่นิยม
ไม้ยมก ใช้เขียนไว้ข้างหลังคำหรือความเพื่อให้อ่านคำหรือความนั้นซ้ำกัน 2 หนแต่ต้องเป็นคำหรือความชนิดเดียวกัน ถ้าเป็นคำหรือความต่างชนิดกัน แม้จะมีรูปเหมือนกันก็ใช้ไม้ยมกไม่ได้ ต้องเขียนด้วยตัวอักษร
เช่น ‘สถานที่ที่หนึ่ง’ ไม่สามารถเขียนเป็น ‘สถานที่ ๆ หนึ่ง’ ได้
ยัติภังค์ (ขีดสั้น -) ใช้เขียนไว้ระหว่างคำ ที่เขียนแยกพยางค์กันเพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าพยางค์หน้ากับพยางค์หลังนั้นติดกันหรือเป็นคำเดียวกัน 
อัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด “...” ) ใช้เมื่อต้องการคัดลอกข้อความมากล่าว หรือเน้นชื่อเฉพาะ
 
5. ศึกษาหนทางสู่ความสำเร็จ
การอ่านหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์การเขียนของนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ และการพบปะพูดคุยกับกลุ่มนักเขียนเพื่อสอบถามหนทางหรือการฝ่าฟันอุปสรรคในการเขียน จะทำให้การตกผลึกของก้อนความคิด เมื่อเราทำตัวไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว รู้จักการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ศึกษาและเก็บคลังคำ ศึกษาเทคนิคในการนำเสนอเนื้อเรื่อง ก็จะทำให้เรามีการพัฒนาได้ในเร็ววัน
 
ใครมีอะไรจะเสนอแนะหรือเพิ่มเติม สามารถคอมเมนต์และพูดคุยกันได้เสมอนะคะ ปรึกษายิ้มได้ตลอดเวลา เข้ามายไอดีไปคอนแทคกันต่อให้เฟสบุ๊คได้ค่ะ ยินดีต้อนรับเสมอ วันนี้ไปก่อนนะ สวัสดีค่ะ ^^



* เนื้อหาที่นำมาศึกษาค้นคว้ามาจากโลกออนไลน์ มีการแปะแหล่งอ้างอิง บางเนื้อความจะเป็นการหยิบยกเนื้อหาในเว็บไซต์อ้างอิงมาใช้ (ไม่ได้ปรับ) หรือสรุปใหม่ตามความเข้าใจของพีช เพราะเนื้อความเดิมมีความสมบูรณ์ในการให้ความรู้อยู่แล้วค่ะ

 

แสดงความคิดเห็น

>

9 ความคิดเห็น

เรียกผมว่ามิคาเอล 9 ม.ค. 63 เวลา 00:40 น. 2

มีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะเรื่องคำบุพบท หรือคำสันทานนี่สำคัญในการสื่อสารของประโยคจริง ๆ ไม่ต้องสวยมาก แต่ถ้าใช้ถูกและใช้ให้หลากหลาย ก็ไหลลื่นแล้วครับ


เรื่องการจัดหน้าให้เป็นระเบียบเหมือนกัน ถ้าจัดให้เป็นรู้แบบเดียวกันไม่ไขว้เขว (หรือบางทีอาจเป็นเพราะเว็บเองก็ได้) ก็จะทำให้น่่าอ่านกว่าเดิมในความรู้สึก ( สำหรับมือใหม่อย่างผมที่พยายามทำให้นิยายออกมาพออ่านได้มากที่สุด//ฮรืกกกก )


ที่คิดว่าจริงสุด คงเป็นเรื่องการอ่านให้เยอะ ๆ เพื่อเก็บประสบการณ์และเพิ่มคลังศัพท์ให้มากขึ้น (ส่วนตัวคิดว่ายิ่งอ่านยิ่งแตกฉานความคิดนะฮะ)


ยังไงก็ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันความรู้นะฮะ

https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/yy-08.png

1
thepierecipes 9 ม.ค. 63 เวลา 01:14 น. 4

ไม่ได้หมายความว่ากระทู้​นี้ไม่ดี ดี แต่เราต้องมองมุมต่างด้วยว่าพื้นฐานความรู้​ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ในเรื่องของหลักภาษา เราไม่เถียง ผ่านมัธยมรึไม่ผ่านยังไงก็ต้องรู้ แต่เพราะความที่พื้นฐานไม่เหมือนกัน จุดเริ่มต้นของการเขียน (ไม่เจาะจงเฉพาะนิยาย)​ จึงต่างกัน ถ้าคลานคือพื้นฐาน คือการใช้ภาษา ฟัง พูด อ่าน และเขียน บางคนอาจจะเริ่มวิ่งก่อนเดินก็ได้ เราเป็นคนหนึ่งที่วิ่งก่อน เราเริ่มเขียนทั้งที่ไม่รู้ว่าหลักการต่างๆมันเป็นยังไง พวกคำบุพบท​ คำอนุภาค​ คำวิเศษณ์​ คำสันธาน เราใช้ไปก่อนที่เราจะรู้ว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำ ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเก่งและแน่นในความรู้พวกนี้ คุณก็สามารถ​สร้างงานเขียนได้ เพราะคนที่นึกอยากจะเขียนอะไรขึ้นมาสักอย่าง มันไม่มานั่งเก็บรายละเอียดพวกนี้หรอก เดี๋ยว​ลืมหมดว่าจะเขียนอะไร เขียนๆไป บรรยาย​ๆไป เอาที่ตัวเองสบายใจพอ เขียนเสร็จค่อยกลับมาตรวจดูอีกทีก็ได้


ส่วนข้ออื่นอย่างการจัดหน้ากระดาษให้เป็นระเบียบ ถ้าทำเล่มขายเอง จุดนี้มีคนรับทำอยู่ เขาจะบรู๊ฟงานทั้งหมดให้ จ้างได้ถ้ามีเงิน เพราะกว่าจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะทำจริงๆจังๆคือวิจัยจบ ทีสิสจบ ถ้าอายุยังไม่ถึง การเขียนรายงานในวิชาภาษาไทย​ จะประถม หรือมัธยมก็สอน ต้องรู้! ไม่งั้นจะทำรายงานส่ง ทำพอร์ตเข้ามหาลัยยังไง จริงมั้ย?


เขียนนิยายได้เล่มเดียวไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จ จะสิบเรื่อง ร้อยเรื่องก็เหมือนกัน มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ อย่าจำกัดตัวเองแค่ระเบียบแบบแผน อยากเขียนอะไรก็เขียน แต่ขอให้เขียนแล้วเวลากลับมาอ่านอีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้าแล้วไม่เขินว่าตอนนั้นเขียนอะไรไปวะ เหมือนวาดรูปน่ะแหละ เทคนิคการวาดมีเยอะ แต่เทคนิคอะไรที่เหมาะกับเรา เครื่องมือแบบไหนที่เราถนัด พอวาดออกมาแล้วแสดงถึงความเป็นตัวตนของเราที่สุด แค่นั้นพอ

8
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 01:23 น. 4-1

ขอบคุณสำหรับมุมมองใหม่ ๆ นะคะ ส่วนตัวพีชเป็นคนไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ก็เลยคิดว่าต้องกลับมาปูพื้นฐานในส่วนนี้ใหม่ ไม่รู้ว่าเรียนจนมาถึงมัธยมได้ยังไงกัน แหะ ๆ


กระทู้นี้เป็นการแนะนำสำหรับมือใหม่ที่กำลังคิดว่าควรจะศึกษาตรงไหนบ้าง นอกจากเรื่องของเทคนิค พื้นฐานพวกนี้มันต้องรู้อยู่แล้วก็จริง แต่พีชไม่รู้ จริง ๆ ก็แค่เอามาแชร์ประสบการณ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เคยท้อ เคยเสียใจแค่ไหนกับความไม่พัฒนาของตัวเอง แล้วพอได้ลองลงลึกเรื่องรายละเอียดพวกนี้มันก็ได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น นอกจากเทคนิคที่ศึกษาหรือลงไปทำเอง หาประสบการณ์เอง เหมือนที่ยกตัวอย่างไปในสถานการณ์การเปรียบเทียบนั่นแหละค่ะ


ฝึกวาดรูปวาดไปสักพักระดับความสามารถมันนิ่ง บางทีเราก็ต้องรับความรู้เพิ่มเติมเข้าไป ส่วนเรื่องการเคาะวรรค พีชเอาไว้เพราะหน้านิยายที่ผ่านหูผ่านตามันรก ๆ เลยอยากมาแนะนำพวกเขานิดนึง ว่าเคาะแบบนี้ก็ได้นะ เสนอเป็นแนวคิดจากมุมเล็ก ๆ ของบอร์ดนั่นแหละค่ะ

0
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 01:27 น. 4-2

หลัก ๆ ก็แค่อยากให้ทุกคนในเว็บบอร์ดเราพัฒนางานเขียนได้ ไปถึงความฝันในแบบฉบับของตนเอง ยกระดับมาตราฐานนิยายในเว็บไปด้วยกันค่ะ ^^

0
thepierecipes 9 ม.ค. 63 เวลา 01:43 น. 4-3

สำหรับเราฝีมือจะพัฒนาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมองโลก หมายถึงเห็นอะไรแล้วตีความ เห็นอะไรแล้วคิดต่อ นึกต่อไปว่าจะเป็นยังไง มันจะไปในทิศทางไหนอีกได้บ้าง แล้วใส่ความคิดของเราลงไปจากสิ่งที่เราเห็น อย่าง ไปร้านอาหารตามสั่งร้านหนึ่ง อยากกินผัดกะเพรา สมองแว๊บนึ่งคือคิดไปแล้วว่าวันก่อนเพื่อนมากินร้านนี้แล้วได้กะเพราแบบผักล้วน วิญญาณหมู ใบกะเพรามีอยู่สองสามใบ เรียกผัดผักใส่พริกเถอะ! สมองจะถามแล้วว่ายังอยากกินอยู่มั้ย? เราโต้กลับไป แต่ตอนเดินเข้าร้านมากลิ่นกะเพราคือฟุ้งเลยนะ ยั่วน้ำลายมากอ่ะ กินเถอะ! แต่เมื่อกี้ป้าเขาพึ่งผัดไปนี่หน่า ถ้าเราสั่งซ้ำ ป้าเขาจะด่ามั้ยนะ?...นี่คือการบรรยายชั่วขณะนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีแอร์ไทม์มานั่งคิด ยืนคิดหรอกว่าเรากำลังทำอะไรต่อ


คนเป็นนักเขียน จินตนาการคือสำคัญที่สุดค่ะ แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหน แล้วมุมไหนที่ว่านี่ใช่สำหรับเราหรือเปล่า คิดเยอะๆ คิดหลายๆมุม คิดจนจะเป็นบ้านั่นแหละ


อ่อ อย่ากดดันตัวเองด้วย มันไม่ดี มันจะนอนไม่หลับ

0
thepierecipes 9 ม.ค. 63 เวลา 01:53 น. 4-5

อย่าว่างั้นงี้เลยนะ นี่ส่องนิยายเพื่อนอยู่ตลอด นิยายที่คุณเขียนดูไกลตัวเองมากเลยอ่ะ ต่อให้ดูเหมือนหาข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้วก็เถอะ รู้ว่าอยากเล่า แต่มันไม่สุด เหมือนกลัวๆยังไงก็ไม่รู้ ลองใกล้ๆตัวดูมั้ย เอาที่รู้ดีจริงๆ อย่างชีวิตความเป็นอยู่ งานอดิเรก ความรักใสๆย้อนกลับไปตั้งแต่อนุบาลก็ได้อ่ะ หยิบมาสักประเด็นหนึ่ง แล้วหาเรื่องหาราวใส่ไป ทาสรัก...ไม่เวิร์ค

0
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 01:56 น. 4-6

จะลองนำไปทบทวนดูค่ะ บางทีอาจจะไม่เหมาะกับสายนี้จริง ๆ ก็ได้ แหะ ๆ

0
thepierecipes 9 ม.ค. 63 เวลา 02:45 น. 4-7

ก็ไม่แน่อีกนะ ใจเย็น​ๆ ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ กับนิยายเรื่องนี้บางทีอาจจะวิ่งได้ก่อนเดินไง

0
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 02:48 น. 4-8

พีชว่าจะลองกลับไปทบทวนด้วยแหละค่ะ นี่ก็ดองมาสักพักแล้วแต่งไปได้กลาง ๆ เรื่องเท่านั้นเอง ขอบคุณที่แนะนำนะคะ > <

0
Npch-M 9 ม.ค. 63 เวลา 07:18 น. 5

ข้อมูลเป็นประโยชน์มากครับ บางข้อผมยังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ ขอบคุณที่นำข้อมูลดีๆ มาแนะนำนะครับ ท่านรักยิ้ม

1
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 10:53 น. 6-1

ใช้แอพมีถือมาช่วยค่ะ แอพ meitu รูปซองขนมอยู่ในฟังก์ชั่นใส่กรอบให้ภาพค่ะ ^^

0
9 ม.ค. 63 เวลา 11:30 น. 6-2

มีบอกด้วยหรือคะเนี้ย555 น่ารักดี

0
Kumigura Mewi 9 ม.ค. 63 เวลา 12:19 น. 8

ขอบคุณที่แชร์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ค่ะ แต่ส่วนตัวว่าการเริ่มต้นเขียนนิยายบางครั้งไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยหลักการก็ได้ เหมือนกับเด็กอนุบาลที่เริ่มหัดวาดรูปโดยไม่ได้ศึกษาอะไรมาก่อน แต่เมื่อไรที่เริ่ม “เผยแพร่งาน” ก็ควรจะศึกษาหลักการเอาไว้และนำไปใช้ อย่างหลักภาษา การสะกดคำ การจัดย่อหน้า เครื่องหมายวรรคตอน ก็ถือเป็นปัจจัยกำหนดอันดับต้นๆ ว่าคนอ่านจะร่วมติดตามไปกับเราหรือเปล่า อีกอย่างที่สำคัญคือการใช้ภาพที่ติดลิขสิทธิ์ ถ้าเจ้าของค่อนข้างจริงจังก็อาจจะเสียเงินกันเป็นหลักแสน


อีกเรื่องที่อยากฝากไว้(และทางนี้เองก็กำลังพยายามฝึกอยู่) คือจากประสบการณ์ที่ผ่านมา นิยายถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง และการสื่อสารที่ดีจะต้องมีเป้าหมาย กำหนดให้ได้ว่าอยากให้คนอ่านรับรู้อะไร หรือทำอะไรต่อไป เมื่อนั้นนิยายของเราจะไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ผ่านมาก็ผ่านเลยไป ทั้งนี้ควรตระหนักเสมอว่านิยายเราอาจมีอิทธิพลพอจะเปลี่ยนสังคมได้ ดังนั้นจึงควรมีความรับผิดชอบร่วมด้วย ประมาณนี้ค่ะ

1
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 15:01 น. 8-1

ขอบคุณที่ช่วยเสริมข้อมูลนะคะ ได้เห็นทัศนคติของหลาย ๆ ท่านเลย

0
เล่าปี่ขงเบ้งลิโป้ 9 ม.ค. 63 เวลา 19:48 น. 9

ข้อมูลดีครับ ขอบคุณมากครับคนสวย ^^

ผมว่า ถ้าจะทำตัวละครไม่เน้นความสมจริง(หมายถึงรูปร่างนะ เนื้อเรื่องไม่เกี่ย....///อุ๊ฟ แบบการ์ตูนหรืออนิเมะ ผมแนะนำแอป Avatar Maker:Anime ใช้ในโทรศัพท์ ลงฉากหลังได้


ข้อดี-ทำตัวละครได้หลากหลาย

ข้อเสีย-ไม่ค่อยเหมาะทำผู้ชาย เพราะเสื้อผ้าของผู้ชายมีน้อยมากกก (แต่ทำได้ในระดับทีถือว่าดี) เปลี่ยนเอารูปมาเป็นสิงของ/ลายเสื้อผ้าได้

3
รักยิ้ม :) 9 ม.ค. 63 เวลา 20:21 น. 9-1

ทางนี้เวลาออกแบบตัวละครจะทำในเว็บ Picrew ค่ะ - https://picrew.me/

ถ้าจะนำมาใช้ก็แปะเครดิต แต่ก็นะคะ... มันก็แอบเสี่ยง ส่วนมากออกแบบตัวลครก็เก็บเซฟรูปเอาไว้ดูคนเดียวไม่ค่อยเอามาโพสต์ มันค่อนข้างเสี่ยงค่ะ

0
Kumigura Mewi 9 ม.ค. 63 เวลา 20:31 น. 9-2

ถ้าได้ศึกษาระบบของ Picrew + มีเวลามากๆ (เพราะต้องวาดเยอะมาก) ทางนี้จะลองทำแล้วเปิดให้ใช้ในนิยายเด็กดีดูค่ะ ปกติชอบวาดผู้ชายด้วย 555

0