Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ : ตอนที่ 1 จิตวิทยาเรียนอะไร?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ข้อเท็จจริง #

• เรียนจิตวิทยาแล้วอ่านใจคนไม่ได้
ไม่สามารถอ่านใจได้ว่าใครกำลังคิดอะไรอยู่ ขโมยรหัสบัตรเครดิตไม่ได้ แต่สามารถทำนายพฤติกรรมในอนาคตได้ เช่น พรุ่งนี้ตอนหนึ่งทุ่มนายปอน่าจะกำลังอาบน้ำอยู่ที่บ้าน เพราะปกติทุกวันนายปออาบน้ำตอนหนึ่งทุ่ม

• เรียนจิตวิทยาแล้วสะกดจิตไม่ได้
จิตวิทยาไม่ได้เรียนเพื่อสะกดจิตหรือควบคุมจิตใจของคนอื่น ถึงแม้จะมีเรียนการโน้มน้าวใจหรือการเปลี่ยนพฤติกรรมคนอื่นมาบ้าง แต่จะเป็นลักษณะคล้ายการโฆษณาหรือการบำบัด ไม่ใช่ว่าจะควบคุมคนอื่นได้เหมือนหุ่นยนต์

• เรียนจิตวิทยาไม่ได้จบไปเป็นจิตแพทย์
เรียนจิตวิทยาเพื่อเป็นนักจิตวิทยา ส่วนจิตแพทย์คือคนที่เรียนแพทย์แล้วเรียนต่อด้านจิตเวชศาสตร์ เรียนกันคนละอย่าง เป้าหมายก็แตกต่างกันด้วย

• เรียนจิตวิทยาไม่จำเป็นต้องอยู่กับคนบ้า
จิตวิทยามีหลายสาขา สาขาที่ต้องเจอคนที่มีอาการทางจิตคือสาขาจิตวิทยาคลินิก (สาขาจิตวิทยาการปรึกษาอาจเจอบ้างเล็กน้อย) ส่วนสาขาอื่นจะอยู่กับคนปกติ



# จิตวิทยาคืออะไร? #

“จิตวิทยาคือการศึกษาจิตใจซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมและ cognition ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์”

จิตวิทยา (psychology) ศึกษาทั้งจิตใจของสัตว์และมนุษย์ ทฤษฎีทางจิตวิทยาหลายอย่างมาจากการทดลองในสัตว์ แล้วขยายขอบเขตมาอธิบายจิตใจมนุษย์

พฤติกรรม (behavior) คือสิ่งที่เป็นรูปธรรม สามารถสังเกตหรือวัดได้ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย คำพูด ความดันโลหิต อัตราการเต้นหัวใจ กระแสประสาทในสมอง

cognition เป็นคำเรียกประเภทนามธรรมของจิตใจโดยรวม เช่น การรับรู้ การคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความรู้ เจตคติ ฯลฯ คำนี้ไม่มีคำแปลภาษาไทยที่มีความหมายตรงตัว ในบทความชุดนี้จะใช้คำทับศัพท์ว่า cognition เพื่อรักษาความหมายของคำไว้

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือการค้นหาข้อเท็จจริง (fact) ผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การสังเกต การสำรวจ การทดลอง



ความรู้ทางจิตวิทยาได้มาอย่างไร? #

“นักจิตวิทยาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาจิตใจ”

ความรู้ทางจิตวิทยาได้มาจากการทำวิจัย (research) ทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามและสมมติฐาน (hypothesis) เช่น ผู้สมัครงานที่หน้าตาดีจะมีโอกาสได้ทำงานมากกว่าผู้สมัครที่หน้าตาไม่ดี จากนั้นกำหนดคำนิยามว่าคนหน้าตาดีคืออะไร คนหน้าตาไม่ดีคืออะไร ตามด้วยการออกแบบการวิจัย จะใช้วิธีสำรวจจากบริษัทต่าง ๆ ที่มีพนักงานอยู่แล้ว หรือจะทำเป็นการทดลอง แบ่งผู้สมัครออกเป็นสองกลุ่ม เมื่อได้ข้อมูลดิบจำนวนมากมาแล้วก็ใช้สถิติวิเคราะห์ข้อมูลว่า ข้อมูลที่ได้ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ จากนั้นอภิปรายผลว่าสาเหตุที่ข้อมูลตรงหรือไม่ตรงกับสมมติฐานนั้นเป็นเพราะอะไร มีทฤษฎีหรืองานวิจัยอื่นมาสนับสนุนผลวิจัยของเราบ้างไหม ถ้ามีงานวิจัยในเรื่องเดียวกันมากเพียงพอก็จะสรุปรวมเป็นทฤษฎี (theory)

ความรู้ทางจิตวิทยาไม่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือการนั่งเทียนเขียนเอาเอง เพราะจิตใจหลายอย่างเป็นเรื่องนามธรรม (มีบางเรื่องเป็นรูปธรรม) ถ้าอ้างอิงจากประสบการณ์หรือคิดเอาเอง แต่ละคนก็จะมีมุมมองไม่เหมือนกัน หาทฤษฎีที่ยอมรับร่วมกันไม่ได้ ทุกอย่างจึงต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุน ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้คนอื่นสามารถพิสูจน์ทฤษฎีได้ ถ้าในภายหลังพบหลักฐานใหม่ที่ขัดแย้งกับทฤษฎีที่มีอยู่เดิม ทฤษฎีเดิมก็ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และมีทฤษฎีใหม่เกิดขึ้นมาแทน

“หลายครั้ง common sense ก็ไม่ตรงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์”

จากกระบวนการข้างต้นจะเห็นได้ว่า จิตวิทยาก็คือวิชาวิทยาศาสตร์นี่เอง นักจิตวิทยาก็คือนักวิทยาศาสตร์ ไม่ต่างจากนักฟิสิกส์หรือนักชีววิทยา เพียงแค่เจาะจงไปที่การศึกษาจิตใจเป็นหลัก



# หนังสือจิตวิทยาที่ขายตามร้าน #

จากหัวข้อที่แล้วความรู้ทางจิตวิทยาไม่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือนั่งเทียนเขียนเอาเอง ถ้าอ่านหนังสือแล้วพบว่าเนื้อหามาจากประสบการณ์ของผู้เขียน เช่น พนักงานขายของเล่าวิธีขายของที่ตัวเองใช้แล้วบอกว่าได้ผล ตำรวจเขียนวิธีจับโกหกจากการมองร่างกายโดยอาศัยประสบการณ์ ผู้เขียนคิดเอาเองว่าอะไรทำให้จิตใจสงบแล้วเขียนแบ่งออกมาเป็นการนั่งสมาธิ การไปเที่ยว และการทำงานบ้าน หนังสือแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นหนังสือจิตวิทยา เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ปัญหาที่เจอบ่อยคือหนังสือส่วนใหญ่ในหมวดจิตวิทยาในร้านหนังสือทั่วไปเป็นหนังสือแบบที่ว่ามา ไม่ใช่หนังสือจิตวิทยาตามคำจำกัดความของจิตวิทยาจริง ๆ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด คิดว่าจิตวิทยาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
 
“นักจิตวิทยาคือนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักสร้างคำคมหรู ๆ”
 
ถ้าอยากจะอ่านหนังสือจิตวิทยาจริง ๆ ก่อนอื่นให้ดูว่าผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยาหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่นักจิตวิทยาก็ให้คัดออกไปก่อนเพื่อให้แยกง่าย (อาจมีหนังสือจิตวิทยาจริง ๆ ที่ผู้เขียนไม่ใช่นักจิตวิทยาถูกคัดออกไปด้วย) ถ้าเป็นหนังสือแปลจากภาษาต่างประเทศก็ต้องดูผู้แปลด้วยว่า ผู้แปลมีความรู้ด้านจิตวิทยาบ้างหรือเปล่า (ผู้แปลไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตวิทยา) หรือถ้าจะเลือกให้แน่ใจที่สุดก็คือเลือกหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนจิตวิทยาโดยตรงเลย (แต่อาจจะอ่านยากหน่อย)
 
หนังสือแปลไทยบางเล่มผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยา เขียนมาออกแนววิชาการที่คนทั่วไปเข้าใจได้ แต่ผู้แปลไม่มีความรู้จิตวิทยาเลย แปลไทยออกมาตาม dictionary มีการปรับประโยคให้เป็นสำนวนไทยบ้าง ถ้าคนทั่วไปมาอ่านก็รู้สึกราบรื่น อ่านเข้าใจง่ายดี แต่ความหมายเพี้ยนไปจากต้นฉบับเยอะมากจนยอมรับในทางวิชาการไม่ได้ (อ่านแล้วทำให้นักจิตวิทยาตีความผิดไปจากเดิม) คำศัพท์วิชาการทางจิตวิทยาหลายคำเป็นคำที่พบเจอได้ทั่วไป เช่น emotion, memory, learning แต่พอใช้ในเชิงวิชาการแล้วต้องรักษาความหมายของคำนั้นไว้ ไม่สามารถแปลตาม dictionary ตรงตัวหรือแปลตามใจชอบได้เสมอไป (ห้ามเล่นคำและห้ามใช้คำอื่นที่มีความหมายคล้ายกัน) ส่วนนี้ผู้แปลต้องมีความรู้ด้านจิตวิทยาเพื่อให้แปลได้ถูกต้อง



# เกี่ยวกับบทความชุดนี้ #

พี่ชื่อดาดา เรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีน้องหลายคนสนใจคณะจิตวิทยา ทั้งรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่า น้องที่สมัครค่ายเจาะจิต และน้องที่ถามพี่ในเว็บเด็กดี มีหลายคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะจิตวิทยา พี่ตอบคำถามไปหลายครั้งแล้วจนรู้สึกว่าควรเขียนบทความขึ้นมาจริงจังสักที ให้น้องรู้จักคณะจิตวิทยาอย่างละเอียดเลย ถ้ามีน้องตั้งกระทู้ถามในสิ่งที่พี่เคยเขียนในบทความชุดนี้แล้ว พี่จะให้ลิงค์บทความชุดนี้ให้น้องมาอ่านนะ

ถ้าสนใจเรื่องไหน หัวข้อไหน หรือมีคำถาม อยากให้พี่อธิบายก็โพสต์ตอบได้ในกระทู้เลย

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ตอนที่ 1 จิตวิทยาเรียนอะไร? (7 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 2 จิตวิทยา V.S. จิตเวชศาสตร์ (จิตแพทย์) (14 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 3 สาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา (21 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 4 ตัวอย่างเนื้อหาจิตวิทยา (28 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 5 เรียนจิตวิทยาแล้วได้อะไร? (6 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 6 จบไปทำงานอะไรได้บ้าง? (13 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 7 หลักสูตรและวิชาเรียน คณะจิตวิทยา จุฬาฯ (27 มี.ค. 2563)
อาจมีตอนอื่นเพิ่มในภายหลัง...

[Quiz] แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิทยา
คุณรู้จัก "จิตวิทยา" มากแค่ไหน? - ทดสอบก่อนเลือกเข้าคณะ

ถ้าชอบ ถูกใจ หรือมีประโยชน์....
อย่าลืม SHARE ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วยล่ะ

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

DaDa Lizala 12 ก.พ. 63 เวลา 16:27 น. 1-1

เดี๋ยวลงตอนที่ 2 ในวันศุกร์นี้ (14 ก.พ. 2563) ค่ะ

0
Chompu Supansa 12 ก.พ. 63 เวลา 23:33 น. 2

รอติดตามนะคะ ขอบคุณมากเลยค่ะ ตอนนี้อยากเข้าจิตวิทยา จุฬาฯพอดี เลยข้อมูลดีมากเลยค่ะ https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-01.png

0