Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ : ตอนที่ 4 ตัวอย่างเนื้อหาจิตวิทยา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
จากตอนที่แล้ว (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด) เราได้เรียนรู้ว่าแต่ละสาขาของจิตวิทยาเรียนเกี่ยวกับอะไร และยกตัวอย่างหัวข้อที่เรียนในแต่ละสาขาไปแล้ว บทความตอนนี้จะยกตัวอย่างเนื้อหาที่เรียนเหมือนกัน ครั้งนี้ไม่ได้มาแค่ชื่อหัวข้อ แต่เอามาเนื้อหาจริงมาให้ได้เรียนกันเลย จากประสบการณ์การแนะนำคณะและจากกิจกรรมห้องเรียนจำลองในค่ายเจาะจิต พี่พบว่าการให้น้องได้เรียนเนื้อหาจริง ๆ คือวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้น้องเข้าใจว่าจิตวิทยาเป็นอย่างไร จิตวิทยาเรียนอะไร แน่นอนว่าพี่ไม่สามารถยกตัวอย่างให้ครอบคลุมทุกอย่างที่แต่ละสาขาเรียนได้ ดังนั้นอย่าเหมารวมว่าแต่ละสาขาเรียนเฉพาะสิ่งที่อยู่ในบทความนี้ ตัวอย่างในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
 
พี่คัดเลือกมาเฉพาะเนื้อหาที่คิดว่าน่าสนใจและมีประโยชน์กับน้อง ๆ บางหัวข้อพี่อ้างอิงงานวิจัยจริงด้วย น้องสามารถอ่านงานวิจัยต้นฉบับได้โดยการคลิกที่ชื่อนักจิตวิทยาหรือปีที่พิมพ์ในหัวข้อนั้น  พี่เลือกงานวิจัยที่ใช้คำที่เข้าใจง่าย อาจมีคำศัพท์วิชาการและคำทางสถิติบ้างเล็กน้อยไม่ต้องสนใจมากนัก
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาสังคม # 
 
Social Loafing: ยิ่งสมาชิกในกลุ่มเยอะ ยิ่งอู้งานเยอะ
เมื่อต้องทำงานกลุ่มจะพบว่าหลายครั้งมีสมาชิกบางคนในกลุ่มอู้งาน ไม่ยอมช่วยทำงานกลุ่ม สิ่งนี้เรียกว่า social loafing ซึ่งพบได้ตั้งแต่กลุ่มในห้องเรียนไปจนถึงกลุ่มในที่ทำงาน Aggarwal และ Brien (2008) พบว่าการอู้งานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับขนาดของกลุ่มและความยากของงาน สาเหตุที่ทำให้เกิด social loafing คือจำนวนสมาชิกในกลุ่มมีจำนวนมาก ทำให้ตรวจสอบยากว่าสมาชิกคนใดทำงานหรืออู้งาน เพราะผลงานที่ได้เป็นผลงานรวมของทั้งกลุ่ม และมีความคิดว่าเดี๋ยวมีคนอื่นทำงานจนเสร็จเอง วิธีลด social loafing คือต้องทำให้สมาชิกตระหนักว่าถ้าตนเองอู้งานแล้วสมาชิกคนอื่นจะรู้ได้ทันทีว่าใครเป็นคนอู้งาน โดยการแบ่งหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนให้ชัดเจน ไม่แบ่งงานซ้อนทับกัน ให้งานหนึ่งส่วนมีสมาชิกที่รับผิดชอบแค่คนเดียว
 

Prejudice and Discrimination: เพราะมีพวกเราจึงมีพวกเขา
หัวข้อนี้เป็นประเด็นร้อนแรงหัวข้อหนึ่งในจิตวิทยาสังคม การรวมกลุ่มไม่ว่าจะกลุ่มที่มีแค่ไม่กี่คนไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น เชื้อชาติ สีผิว ชนชั้น ล้วนทำให้เกิดการแบ่งแยก กลุ่มไหนที่มีตัวฉันอยู่กลุ่มนั้นเรียกว่า “พวกเรา” กลุ่มไหนไม่มีตัวฉันอยู่กลุ่มนั้นเรียกว่า “พวกเขา” การแบ่งแยกกลุ่มทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งการเหยียดและการเลือกปฏิบัติ Pettigrew และ Tropp (2008) ได้วิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 515 ฉบับ (meta-analysis) พบว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสามารถลดการแบ่งแยกได้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มส่งผลให้เพิ่มความรู้ของกลุ่มอื่น ลดความวิตกกังวล และเพิ่มความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มอื่น กล่าวโดยสรุปคือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทำให้รับรู้ว่าเขาไม่ได้แตกต่างจากเรา ซึ่งตรงข้ามกับการแบ่งแยกที่เกิดจากการรับรู้ว่าเราแตกต่างจากเขา
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ #
 
Information Loss: ทำดีเอาหน้าตอนช่วงใกล้ถูกประเมิน
การทำงานไม่ดีสิบครั้งสามารถทดแทนด้วยการทำงานดีเอาหน้าแค่ครั้งเดียวได้ สำหรับองค์กรที่ต้องมีการประเมินพนักงานเป็นประจำอาจเกิดปัญหาการลืมสิ่งที่พนักงานเคยทำไว้ในตลอดเวลาที่ผ่านมา จำได้เฉพาะสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนมีการประเมินพนักงาน ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะทำดีหรือทำไม่ดีเอาไว้กี่ครั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ผลการประเมินมีแนวโน้มที่จะเป็นตามพฤติกรรมที่พนักงานแสดงออกตอนช่วงถูกประเมิน เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดมีโอกาสถูกนึกขึ้นได้ง่ายกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนานแล้ว และทำให้ผู้ประเมินรับรู้ว่าพฤติกรรมที่แสดงตอนถูกประเมินมีความถี่มากกว่าพฤติกรรมในช่วงเวลาอื่นซึ่งคลาดเคลื่อนจากความจริง วิธีแก้ปัญหาความลำเอียงนี้คือผู้ประเมินต้องจดบันทึกพฤติกรรมของพนักงานอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ไม่ใช่แค่จดบันทึกแค่ตอนประเมินเพียงครั้งเดียว เช่น องค์กรมีการประเมินพนักงานปีละครั้ง แต่ผู้ประเมินต้องจดบันทึกพฤติกรรมของพนักงานตลอดทั้งปี เมื่อถึงช่วงประเมินพนักงานจึงประเมินจากสิ่งที่จดบันทึกไว้ หลีกเลี่ยงการนึกถึงจากความจำโดยตรง
 
 
Conflict Management Styles: 5 วิธีจัดการความขัดแย้งในองค์กร
การจัดการกับความขัดแย้งในองค์กรมี 5 วิธีได้แก่ หลีกเลี่ยง, ประนีประนอม, ร่วมมือ, บังคับ, และอ่อนโยน (1) การหลีกเลี่ยงทำโดยเพิกเฉยต่อความขัดแย้งนั้น ข้อดีคือช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ แต่ความขัดแย้งนั้นไม่ได้หายไป (2) สำหรับการประนีประนอมทุกฝ่ายต้องยอมถอยคนละก้าว จากนั้นจึงตกลงเป้าหมายที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่มีข้อเสียคืออาจมีบางฝ่ายเรียกร้องผลประโยชน์มากเกินไป (3) การร่วมมือเป็นการตกลงร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย การร่วมมือแตกต่างจากการประนีประนอมตรงที่การร่วมมือเกิดจากความเต็มใจของทุกฝ่าย ไม่ใช่การจำใจยอมถอยเหมือนการประนีประนอม (4) วิธีบังคับเป็นการใช้อำนาจของใครบางคน เหมาะสำหรับการตัดสินใจที่ต้องการความเด็ดขาด จบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจเกิดความผิดพลาดได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ที่มีอำนาจ (5) การอ่อนโยนเป็นวิธีที่ยอมเสียผลประโยชน์ของตนเองแล้วทำตามคำเรียกร้องของผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่น แต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์แตกต่างกันไป ไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ (Huan และ Yazdanifard, 2012)
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ #
 
Cliques and Crowd: เพื่อนและเพื่อน ๆ ของวัยรุ่น
อย่างที่รู้กันว่าวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ แต่รู้หรือเปล่าว่าเพื่อนของวัยรุ่นแต่ละช่วงก็ไม่เหมือนกันนะ วัยรุ่นตอนต้นจะให้ความสำคัญกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ (Cliques) โดยมากมักเป็นเพื่อนเพศเดียวกันและมีความชอบหรือนิสัยคล้ายกัน ให้ความสำคัญกับเพื่อนไม่กี่คน มีการเลียนแบบหรือปฏิบัติตามค่านิยมของกลุ่ม ถ้าถูกเพื่อนกีดกันออกกลุ่มจะปรับตัวเข้าหากลุ่มใหม่ได้ยาก ส่วนวัยรุ่นตอนปลายจะมีเพื่อนกลุ่มใหญ่ (Crowd) มีได้หลายเพศในกลุ่มเดียว เพื่อนแต่ละคนในกลุ่มไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องเดียวกัน เปิดกว้างต่อการรับเพื่อนใหม่และการย้ายกลุ่มได้ง่าย วัยรุ่นที่ไม่สามารถเข้ากลุ่มได้แบ่งเป็นสองประเภทได้แก่วัยรุ่นที่ถูกปฏิเสธและวัยรุ่นที่ถูกหลงลืม วัยรุ่นที่ถูกปฏิเสธคือวัยรุ่นที่ถูกเพื่อนกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มหรือถูกเพื่อนรังเกียจ ส่วนวัยรุ่นที่ถูกหลงลืมคือวัยรุ่นที่เพื่อนไม่รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ เพื่อนคนอื่นจะมีความคิดประมาณว่ามีเพื่อนคนนี้อยู่ในห้องเรียนของเราด้วยเหรอ
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาการปรึกษา #
 
Counseling Skills: ทักษะการปรึกษาที่สำคัญ
ทักษะของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่สำคัญมี 3 ข้อดังนี้ (1) ฟังอย่างตั้งใจ (active listening) แสดงให้ผู้รับการปรึกษารู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟัง อาจพยักหน้าหรือแสดงออกทางร่างกายเพื่อให้ผู้รับการปรึกษารู้ว่าเรากำลังฟังอยู่ ให้ผู้รับการปรึกษาเป็นคนที่พูดมากที่สุด ไม่พูดแทรกขณะที่ผู้รับการปรึกษากำลังพูด มีการทวนซ้ำเนื้อหาที่ผู้รับการปรึกษาเล่าเพื่อให้เข้าใจตรงกัน (2) ตั้งคำถามให้เป็น ผู้รับการปรึกษาอาจไม่ได้เล่าเรื่องราวมาทั้งหมด นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องตั้งคำถามเพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม คำถามควรเป็นคำถามปลายเปิด ไม่ตั้งคำถามที่มีการชี้นำ ตั้งคำถามให้เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้รับการปรึกษา และต้องมีเทคนิคในการตั้งคำถามอย่างเหมาะสมที่ทำให้บทสนทนาไหลลื่น (3) เห็นอกเห็นใจ (empathy) การเห็นอกเห็นใจคือการยอมรับความคิดหรือสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาเป็น ไม่ตัดสินถูกผิดจากความเชื่อหรือประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ยัดเยียดความคิดของตนเองให้แก่ผู้รับการปรึกษา การเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การเข้าใจ (understanding) บางสถานการณ์นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่เคยพบเจอด้วยตนเอง อาจไม่เข้าใจว่าความรู้สึกในตอนนั้นเป็นอย่างไร แต่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้รับการปรึกษาได้ และสิ่งสำคัญคือการเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การนำตัวเองไปอยู่ในเรื่องราวของคนอื่น ไม่นำปัญหาของคนอื่นมาเป็นปัญหาของตนเอง
 

Person-Centered Therapy: ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความจริงกับสิ่งที่อยากเป็น
การให้ผู้รับการปรึกษาเป็นศูนย์กลางเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ได้รับความนิยมมาก (ยังมีวิธีการบำบัดแบบอื่นอีกหลายวิธี) แนวคิดนี้อธิบายว่าแต่ละคนมีความต้องการและเป้าหมายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ทุกคนเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น ผู้รับการปรึกษารู้เรื่องราวของตนเองดีที่สุด ปัญหาของผู้รับการปรึกษาเกิดจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือทำให้สิ่งที่เป็นอยู่เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ตามแนวคิดนี้นักจิตวิทยาการปรึกษามีหน้าที่เป็นผู้ช่วยพาผู้รับการปรึกษาให้เข้าใกล้เป้าหมาย ค้นหาปัญหาและเป้าหมายของผู้รับการปรึกษา จัดกิจกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมายที่ผู้รับการปรึกษายอมให้ความรับมือ สิ่งสำคัญในแนวคิดนี้คือต้องให้ผู้รับการปรึกษาเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง (Cooper และ McLeod, 2011)
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาคลินิก #
 
Major Depressive Disorder: โรคซึมเศร้า โรคที่พบมากในปัจจุบัน
ความซึมเศร้าเป็นสิ่งที่พบได้ในคนทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสอบตก การอกหัก ถ้ามีความซึมเศร้าเพียงระยะสั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยังไม่เข้าข่ายว่าเป็นโรค ส่วนโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ทั้งจากภายนอกและภายในต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การถูกเพื่อนส่วนใหญ่รังแกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลในครอบครัว การรับรู้ว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของตนเองต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการเรียนรู้ความสิ้นหวัง (learned hopelessness) การเรียนรู้ความสิ้นหวังปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น สุดท้ายนำไปสู่โรคซึมเศร้า อาการของโรคซึมเศร้าคร่าว ๆ มีดังนี้ ซึมเศร้า ห่อเหี่ยว หดหู่ หงุดหงิดบ่อย ร้องไห้ง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า บางคนอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต้องมีอาการต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แต่มีข้อยกเว้นว่าต้องไม่ใช่โรคไบโพลาร์ ไม่ได้เกิดจากผลของการใช้ยาหรือการรักษา

คำเตือน : ข้อความข้างต้นเป็นเพียงการให้ความรู้เบื้องต้นเท่านั้น ยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น อย่าวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง ให้ไปพบนักจิตวิทยาคลินิกหรือจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค
 
 
 
# สาขาจิตวิทยานิติเวช #
 
False Confession: การเล่าเหตุการณ์และสารภาพเท็จ
มีหลายคดีที่ผู้เสียหายหรือพยานเล่าเหตุการณ์เท็จโดยไม่ได้ตั้งใจ สุดท้ายจบลงด้วยการลงโทษผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่อาชญากรตัวจริงลอยนวล การเล่าเหตุการณ์เท็จเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พยานอาจจำผิดพลาดตั้งแต่แรกเพราะมองเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจนหรือไม่ได้สนใจ ถ้าตอนแรกจำถูกต้องแต่ภายหลังอาจสับสนกับเหตุการณ์อื่นที่คล้ายกันก็ได้ วิธีสอบปากคำของตำรวจสามารถส่งผลต่อการเล่าเหตุการณ์เท็จได้ เช่น การใช้คำถามชี้นำ การสอบปากคำที่มีความกดดันสูง หรือการให้ชี้ตัวคนร้ายแต่ไม่มีคนร้ายตัวจริงอยู่ในรายชื่อ นอกจากนี้ยังพบหลายคดีที่ผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยสารภาพเท็จโดยไม่ได้ตั้งใจ จำเลยบางคนคิดว่าตนเองก่อเหตุอาชาญกรรมจริง ๆ จึงสารภาพไปเช่นนั้น ทั้งที่ความจริงแล้วตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ได้ผลประโยชน์จากผู้อื่นให้สารภาพเท็จ สาเหตุของการสารภาพเท็จก็มีสาเหตุเดียวกับการเล่าเหตุการณ์เท็จของผู้เสียหายและพยาน
 
 
 
# สาขาจิตวิทยาประสาท #
 
Research Methods of Neuropsychology: ศึกษาสมองได้อย่างไร
การศึกษาสมองด้วยวิธีดั้งเดิมคือการผ่าสมองของมนุษย์ที่ตายแล้ว หรือไม่ก็ผ่าตัดสมองของสัตว์ทดลองที่มีชีวิตอยู่ ปัจจุบันเทคโนโลยีในด้านนี้ก้าวหน้ามาก สามารถศึกษาสมองของมนุษย์ที่มีชีวิตได้โดยไม่ต้องเปิดกะโหลกศีรษะ การศึกษาสมองแบ่งเป็นสองส่วนคือโครงสร้าง (anatomy) และการทำงาน (physiology) สำหรับการศึกษาโครงสร้างของสมองจะใช้เครื่อง CT scan ซึ่งใช้รังสีเอ็กซ์คล้ายกับเครื่องเอ็กซ์เรย์ธรรมดา แต่เพิ่มคุณสมบัติให้สแกนเป็นภาพสามมิติได้ และ MRI ซึ่งใช้คลื่นแม่เหล็กเพื่อวัดความหนาแน่นของไฮโดรเจนในสมอง ส่วนการศึกษาการทำงานของสมองมีหลายเครื่องมือ เช่น PET ซึ่งฉีดกลูโคสที่มีกัมมันตรังสีเข้าไปในเลือดแล้ววัดกัมมันตรังสี สมองส่วนที่ทำงานมากจะพบกัมมันตรังสีมาก, fMRI ซึ่งวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดในสมอง สมองส่วนที่ทำงานมากจะมีออกซิเจนมาก, EEG ซึ่งวัดกระแสไฟฟ้าบริเวณศีรษะส่วนนอก แล้วอธิบายย้อนกลับไปว่ากระแสไฟฟ้าเหล่านี้มาจากสมองส่วนต่าง ๆ สมองส่วนที่ทำงานมากจะมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้ามาก
 

Visual System: ภาพที่เห็นไม่ใช่ความจริง เรารับรู้จากสิ่งที่สมองสร้างขึ้น
ภาพที่เราเห็นนั้นแตกต่างจากภาพจริงมาก มีหลายสาเหตุที่ทำให้สมองต้องปรับแต่งภาพจริงให้ต่างไปจากเดิม เริ่มต้นจากแสงส่องไปโดนวัตถุแล้วสะท้อนเข้าตา แสงจะเข้าผ่านรูม่านตา (pupil) ซึ่งจะปรับโฟกัสให้ภาพตกบนจอตา (retina) อย่างเหมาะสม การรับภาพของตามีความผิดพลาดหลายประการ เช่น การกะพริบตาทำให้ไม่มีแสงตกบนจอตา ภาพบนจอตาเป็นภาพกลับหัวและกลับซ้ายขวาเพราะผ่านเลนส์ตา บนจอตามีจุดบอดที่รับภาพไม่ได้ เมื่อรับภาพมาแล้วตาจะส่งกระแสประสาทไปยังสมองด้วยการไขว้ (decussation) สมองส่วนแรกที่รับภาพจากตาคือ primary visual cortex มีหน้าที่ตีความภาพเบื้องต้น เช่น สร้างขอบเพื่อแยกวัตถุออกจากพื้นหลัง ตรวจหาเส้นตรงและมุม จากนั้นจะถูกส่งไปที่สมองสองส่วน inferotemporal cortex ตีความว่าเป็นภาพอะไร เช่น เป็นลูกบอล เป็นต้นไม้ การตีความในระดับนี้มีการปรับแต่งภาพบางส่วนที่ขาดหาย เช่น จากจุดบอดบนจอตา หรือจากการกะพริบตา และ posterior parietal cortex วิเคราะห์ว่าวัตถุที่เห็นอยู่ที่ไหนและเคลื่อนที่อย่างไร ส่วนนี้ก็มีการปรับแต่งภาพบางส่วน เช่น การขยับตาซึ่งทำให้ภาพที่อยู่นิ่งเคลื่อนที่ สุดท้ายภาพจะถูกส่งมาที่ศูนย์กลางของสมองคือ association cortex ภาพที่เราคิดว่าเราเห็นคือภาพในสมองส่วนสุดท้ายนี่เอง กว่าจะได้เห็นภาพก็ผ่านการปรับแต่งภาพไปหลายครั้ง (น้องอาจเคยเห็นภาพลวงตามาบ้าง ซึ่งก็เกิดจากการปรับแต่งนี่ล่ะ) สรุปคือเราไม่เคยรู้เลยว่าโลกความจริงหน้าตาเป็นอย่างไร เราเพียงแค่เห็นโลกที่สมองสร้างขึ้นมาเท่านั้น



# เกี่ยวกับบทความชุดนี้ #

พี่ชื่อดาดา เรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีน้องหลายคนสนใจคณะจิตวิทยา ทั้งรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่า น้องที่สมัครค่ายเจาะจิต และน้องที่ถามพี่ในเว็บเด็กดี มีหลายคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะจิตวิทยา พี่ตอบคำถามไปหลายครั้งแล้วจนรู้สึกว่าควรเขียนบทความขึ้นมาจริงจังสักที ให้น้องรู้จักคณะจิตวิทยาอย่างละเอียดเลย ถ้ามีน้องตั้งกระทู้ถามในสิ่งที่พี่เคยเขียนในบทความชุดนี้แล้ว พี่จะให้ลิงค์บทความชุดนี้ให้น้องมาอ่านนะ

ถ้าสนใจเรื่องไหน หัวข้อไหน หรือมีคำถาม อยากให้พี่อธิบายก็โพสต์ตอบได้ในกระทู้เลย

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ตอนที่ 1 จิตวิทยาเรียนอะไร? (7 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 2 จิตวิทยา V.S. จิตเวชศาสตร์ (จิตแพทย์) (14 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 3 สาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา (21 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 4 ตัวอย่างเนื้อหาจิตวิทยา (28 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 5 เรียนจิตวิทยาแล้วได้อะไร? (6 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 6 จบไปทำงานอะไรได้บ้าง? (13 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 7 หลักสูตรและวิชาเรียน คณะจิตวิทยา จุฬาฯ (27 มี.ค. 2563)
อาจมีตอนอื่นเพิ่มในภายหลัง...

[Quiz] แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิทยา
คุณรู้จัก "จิตวิทยา" มากแค่ไหน? - ทดสอบก่อนเลือกเข้าคณะ

ถ้าชอบ ถูกใจ หรือมีประโยชน์....
อย่าลืม SHARE ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วยล่ะ

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

DaDa Lizala 1 มี.ค. 63 เวลา 19:49 น. 1-1

เท่าที่พี่ลองค้นหาดู ป.ตรีในไทยยังไม่มีสาขาจิตวิทยาประสาท ถ้าสนใจให้เลือกลง ป.ตรี จิตวิทยาสาขาอะไรก็ได้ มีเรียนวิชาแนวประสาทวิทยาอยู่แล้วเล็กน้อย จากนั้นค่อยต่อ ป.โท ต่างประเทศในสาขาจิตวิทยาประสาทอีกที สาเหตุที่หลายมหาวิทยาลัยไม่เปิดสอนจิตวิทยาประสาทในระดับ ป.ตรี เพราะเป็นสาขาใหม่ คนไม่ค่อยรู้จัก มีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าจิตวิทยาสาขาอื่น สายงานแคบมักเป็นนักวิจัย (R&D) ตามมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย และมีเนื้อหาหลายอย่างไปซ้อนกับคณะอื่น เช่น แพทยศาสตร์


จิตวิทยาประสาท (neuropsychology) มีอีกชื่อว่าประสาทวิทยา (neuroscience) ส่วนใหญ่คนมักเรียกว่าประสาทวิทยา เพราะได้รับอิทธิพลจากคณะแพทย์กับวิทยาศาสตร์มา แต่ส่วนตัวพี่ชอบเรียกว่าจิตวิทยาประสาทมากกว่า

0
DaDa Lizala 2 มี.ค. 63 เวลา 19:27 น. 2-1

จิตวิทยาอาชญากรรม (criminal psychology) ก็น่าสนใจนะ พี่เคยเรียนวิชานี้มาด้วย เนื้อหาจะเน้นไปที่พฤติกรรมและความคิดของอาชญากร เช่น ทำไมคนที่มีอำนาจและร่ำรวยมากอยู่แล้วจึงมีแนวโน้มในการคอรัปชันมากกว่าคนที่ไม่มีอำนาจ ฆาตกรต่อเนื่องมีความคิดอย่างไร ผู้ก่อการร้ายน่าจะวางแผนก่อเหตุอะไรในอนาคต


ส่วนจิตวิทยานิติเวช (forensic psychology) จะเน้นไปที่การสืบสวนสอบสวนและระบบยุติธรรมมากกว่า เช่น การสอบปากคำ การจับโกหก การพิพากษาคล้อยตามจำเลย โดยรวมจิตวิทยาอาชญากรรมกับจิตวิทยานิติเวชมีเนื้อหาซ้อนทับกันอยู่หลายส่วน แต่ตอนทำงานก็ยังมีความแตกต่างกัน (คล้ายกับจิตวิทยาปรึกษากับจิตวิทยาคลินิกที่มีความซ้อนทับกันเยอะ)


เท่าที่พี่ค้นหามหาวิทยาลัยในไทยยังไม่มีสองสาขานี้เปิดสอนในระดับ ป.ตรี ถ้าน้องสนใจสาขาใดในสองสาขานี้ พี่แนะนำให้เรียน ป.ตรี สาขาจิตวิทยาสังคมไปก่อน เพราะสองสาขานี้เป็นสาขาย่อยในจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาสังคมเป็นสาขาที่กว้างมาก มีสาขาย่อยเยอะ ถ้าได้เรียนจิตวิทยาสังคมด้านอื่นเสริมไปด้วยจะมองภาพได้ชัดเจนขึ้น เช่น การจูงใจ การโน้มน้าวใจ การคล้อยตามสังคม ความรู้พวกนี้จะนำไปต่อยอดอธิบายอาชญากรรมได้ เช่น ทำไมบางคนถูกคนอื่นหลอกง่าย จากนั้นค่อยต่อ ป.โท ต่างประเทศในสาขาจิตวิทยานิติเวชหรือจิตวิทยาอาชญากรรม

0