Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

By. วา ตอนที่ 2 การป้องกัน การคุ้มครองและการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ตอนที่ 2 การป้องกัน การคุ้มครองและการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6



การป้องกันและคุ้มครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์




1.บรรยากาศของการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2453 นั้นภูมิทัศน์ทางการเมืองของสยามได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 พระมหากษัตริย์มิได้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจบนฐานของการเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับตระกูลขุนนางใหญ่อีกต่อไพลังต่อต้านจากข้าราชการซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้กระทั้งกษัตริย์ผู้เปี่ยมพระราชอำนาจก็ไม่อาจพึ่งพาแต่เฉพาะทรัพยากรที่พระองค์มีในการควบคุมกลไกลการบริหารราชการรูปแบบใหม่ซึ่งกำลังแผงฤทธิ์เป็นปีศาจหลอกหลอนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำให้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จำต้องกอบกู้พระราชอำนาจในการตัดสินพระทัยหรือจัดการสิ่งใดๆ ได้ด้วยพระองค์เอง ตลอดจนนิยามขอบเขตอำนาจเสียใหม่เพื่อให้พระองค์เป็นศูนย์กลางขอระบอบอย่างจริง มิใช่เพียงสัญลักษณ์ที่ผู้อื่นหยิบยื่นสิทธิธรรมในการปกครองให้เท่านั้น จะเป็นด้วยพลังกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาวหรือความปริวิตกว่าโอกาสของพระองค์จะหลุดลอยไปก็ดี นับตั้งแต่เริ่มต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้แสงหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากโลกทีกำหนดโดยระบบราชการนั่นคือ ในแง่อุดมการณ์ทรงปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม และในแง่ของการจัดตั้งองค์กรทรงสถาปนากองเสือป่าขึ้น[1]

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิใช่กษัตริย์ธรรมดา พระปรีชาสามารถและความสนพระทัยของพระองค์ส่วนใหญ่มุ่งไปที่งานด้านอักษรศาสตร์ ศิลปะและการละคร ทรงเป็นนักประพันธ์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถมีบทพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงแปลผลงานจากหลายๆ ภาษาเป็นภาษาไทย ทรงสนพระทัยงานพระราชพิธีและพิธีการมากกว่าพระราชกิจประจำวันในการบริหารราชการแผ่นดิน พระจริยาวัตรที่ไม่เคร่งครัดของพระองค์ทำให้ผู้ที่เคร่งครัดในประเพณีรู้สึกแปลแยก เช่น การที่ทรงแสดงละคร ทรงปฏิเสธการอภิเษกสมรส พระองค์ไม่ค่อยให้ความสนพระทัยกับพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายขุนนางในระบบเดิมๆ ข้าราชสำนักที่แวดล้อมพระองค์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายซึ่งมีเบื้องหลังที่ไม่แน่ชัด การที่พระองค์ทรงจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า “ทหารเสือป่า” ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพ ผลก็คือได้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าแผ่นดินกับแวดล้อมของพระองค์อย่างมาก ทำให้เกียรติภูมิของสถาบันพระมหากษัตริย์คลายลงมาก[2]

 

2.การป้องกันต่อภัยคุกคามต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


          ถึงแม้ชาตินิยมจะเป็นแนวคิดสำคัญในสยามในสยามตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย แต่เพิ่มมาในรัชสมัยพระพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นี้เองที่อุดมการณ์ “ชาตินิยมทางการ” ได้วิวัฒน์ไปอย่างเต็มที่ในฐานะอาวุธปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แนวคิดชาตินิยมตามแบบฉบับของพระพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ตั้งอยู่บนค่านิยมเกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์[3]
        อุดมการณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรากฐานมาจากค่านิยมที่หล่อหลอมในรัชกาลก่อน แต่มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันเล็กน้อย เราได้เห็นแล้วว่าความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำลังถูกคุกคามจากข้าราชการสมัยใหม่ที่เริ่มต้นตั้งคำถามกับความย้อนแย้งสำคัญของระบอบนี้ว่า ถ้าหากสิทธิธรรมของพระมหากษัตริย์มีที่มาจากราษฎร เช่นนั้น แล้วอำนาจอธิปไตยควรเป็นของใคร และพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติจริงหรือไม่ คำตอบของพระองค์คือ พระมหากษัตริย์จะเป็นศูนย์กลางของชาติต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพระองค์เป็นตัวแทนของชาติในแง่นี้ทรรศนะของพระองค์จึงสะท้อนความหมายของ “ลัทธิชาตินิยมทางการ” ตามข้อเสนอของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน[4]

         ทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรดาข้าราชการสมัยใหม่ต่างยึดถือความคิดแบบสมัยใหม่นิยมว่า ตะวันตกคือบ่อเกิดของหลักการที่มีอำนาจและมีประสิทธิภาพ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่ง เราจะเห็นได้ว่าบรรดาข้าราชการสมัยใหม่เรียนรู้ความคิดชาตินิยมแบบเสรีนิยม มิใช่แบบอนุรักษ์นิยม และแสดงความไม่พอใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยการเรียกร้องวีถีชีวิตที่ “ศิวิไลซ์” ซึ่งพวกเขาหมายถึงเสรีภาพในเอาเยี่ยงย่างวิถีชีวิตแบบตะวันตกและประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก คนเหล่านี้มีความเห็นว่าสังคมไทยจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยืนยันว่ามีเพียงบางแง่มุมของวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้นที่ควรรับมาปฏิบัติ[5]

   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าขุนนางบางกลุ่มต้องการปรับเปลี่ยนการรวมศูนย์อำนาจที่เกิดในรัชสมัยก่อนหน้า ทรงตระหนักดีว่าด้วยว่ากลุ่มอื่นๆ ที่อยู่นอกอภิสิทธิ์ชนมีทัศนคติวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทรงพระราชนิพนธ์บทความหลายชิ้นส่งพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องชาติและชาตินิยม ทรงมีทฤษฏีว่ามนุษย์มาร่วมอยู่เป็นสังคมแล้วเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันเองจากจุดนั้นพระราชอำนาจจึงเป็นเสมบูรณาญาสิทธิราชย์และท้าทายไมได้ การสืบราชสมบัติเป็นไปภายในพระราชวงศ์เดียวกันเพื่อเสถียรภาพ

                       รัฐจึงเปรียบเสมือนร่างกายซึ่งทุกๆ ส่วนมีบทบาทเฉพาะ พระมหากษัตริย์คือสมอง อวัยวะส่วนอื่นๆ ไม่ควรตั้งคำถามเมื่อสมองสั่งงานลงมา หน้าที่คือต้องเชื่อฟ้งและปฏิบัติตาม  “ชาติบ้านเมืองเปรียบเหมือนเรือพระราชาธิบดีคือนายเรือ  ประชาชนคือผู้ที่ไปด้วยกันในเรือลำนั้น     เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้น หน้าที่ต้องช่วยกันพาย ถ้าแม้ไม่พายถึงแม้ว่าไม่เอาตีนราน้ำ เป็นนั่งอยู่เฉยๆ  ก็หนักเรือเปล่า…..ถ้าจะพายก็จับพายขึ้นและอย่าเถียงนายท้าย”[6] 

         พระราชนิพนธ์เสนอว่า ชาตินิยมและกษัตริย์นิยมคือสิ่งเดียวกัน ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มายถึงความรักชาติ เพราะว่าพระมหากษัตริย์คือตัวแทนของชาติ หน้าที่ของคนทั่วไปนั้นเพียงแต่สามัคคี เชื่อฟัง และกตัญญูจนถึงสุดที่เสียสละตนเองได้ “ถ้าเมื่อถึงเวลาที่มีภัยอันตรายมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านเมืองของเราแล้ว แม้ใครไม่ทำใจยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง ก็จงเลิกเป็นไทยเสียเถิด”[7]
      พระองค์ทรงชักชวนให้ชาวสยามสามัคคีกันเพื่อปกป้อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” คำขวัญนี้ดัดแปลงมาจาก คำขวัญภาษาอังกฤษ “พระเจ้า พระมหากษัตริย์ และประเทศ” โดยความต่างคือในคำขวัญอังกฤษสามส่วนนี้แยกออกจากกันแต่ใน “คำขวัญรัชกาลที่ 6” ทั้งสามเป็นเรื่องเดียวกัน พระมหากษัตริย์คือตัวแทนของชาติ ชาวพุทธ และผู้ปกป้องทั้งชาติและศาสนา วลีดังกล่าวผนวกแนวคิดเรื่องพระราชอำนาจำไว้ในถ้อยคำสมัยใหม่ของทฤษฏีรัฐชาติ พ.ศ. 2460 โปรดให้ออกแบบธงชาติใหม่เป็น ธงชาติ 3 สี เพื่อให้กองทหารสยามที่ส่งไปช่วยรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยุโรปนำไปใช้ และทรงมีพระราชดำรัสเนื้อความว่าสีนำเงิน สีขาว และแดง ไม่ใช่เพียงเข้ากันได้กับธงของประเทศพันธมิตรอื่นๆ แต่ยังเป็นตัวแทนของ 3 องค์ประกอบของชาตินิยมของพระองค์ สีขาวคือพระพุทธศาสนา สีน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ และสีแดงคือเลือดของคนไทยที่พร้อมจะสละเพื่อปกป้องชาติ[8]


 แรกเริ่มของการท้าทายต่ออำนาจของมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

       ความชอบธรรมของอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มเสื่อมลงตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้ว พลังท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างภายในระบบสำคัญ และมีความสำคัญน้อยกว่าความไม่พอใจพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเป็นการเฉพาะ[9] เมื่อเข้าสู่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็เริ่มมีกลุ่มข้าราชการวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายของราชสำนักอยู่บ้างแล้ว[10]



1.ปฐมบทของการนำไปสู่การก่อกบฏ ร.ศ. 130

       บรรดาข้าราชการใหม่ต่างเรียกร้องให้ใช้การศึกษาแบบตะวันตกตามที่ตนได้รับมาเป็นเกณฑ์สำคัญที่สุดในการตัดสินใจการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าในทางราชการ ความไม่พอใจของข้าราชการเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และจักรวรรดิอื่นๆ เช่น ตุรกีและจีน ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังรู้สึกคับข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ กับกิจกรรมของกองเสือป่า ความไม่พอใจดังกล่าวแสดงออกมาอย่างชัดเจนในการสบคบคิด คณะผู้ก่อการมีการนำเสนอให้ผู้คนในสังคมรับรู้ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบการปกครองที่เลวร้ายที่สุด เพราะกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสมบูรณ์และเหนือกฎหมาย

 

           กระษัตริยมีอำนาจเต็มที่โดยอยู่เหนือกฎหมาย   กระษัตริยจะทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เพราะ ไม่มีใครขัดขวาง กระษัตริยจะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหนึ่ง   การใดทุก        อย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิดกระษัตริยจะเอามาเฆียนตีหรือฆ่าฟันแลจองจำได้ตามพอใจ ทรัพย์สมบัติแล                               ที่ดินของราษฎรนั้นกระษัตริยจะเบียดเบียนเอามาเปนผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้นเช่นอย่างไล่ที่                                 ทำวังเปนต้น[11]

 ข้อโจมตีที่รุนแรงที่สุดต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แก่การเลือกที่รักมักที่ชัง การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ทรงอุปถัมภ์บำรุงข้าราชบริพารคนโปรดในราชสำนักและกองเสือป่า ตลอดจนความประพฤติของเหล่าเสือป่า ล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มผู้ก่อการ คำวิจารณ์ดูจะสะท้อนความขัดแย้งระหว่างการรักษาจารีตประเพณีกับความทันสมัยอย่างชัดเจน[12]

 

2.วาระสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

      สามเดือนเศษต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตไปตามธรรมชาติ ซึ่งทูตอังกฤษได้บรรยายไว้ว่า “เป็นสิ่งที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับได้รับใช้ราษฎรชองพระองค์ได้ดีที่สุด”[13] คนๆ อาจตัดสินความสำเร็จของกษัตริย์ผู้มีความซับซ้อนพระองค์นี้ได้ดีกว่านี้ ความสำคัญของพระองค์ในฐานะนักประพันธ์เป็นที่กว้างอ้างกัน พระองค์มีส่วนสร้างความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่คนไทยได้ระดับหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ เรียกกันว่า“ชาตินิยมศักดินา”[14]
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2468  ทรงทิ้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขไว้ให้ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ พร้อมๆ กับมอบมรดกความสำเร็จที่ไม่อาจเพิกเฉยได้[15]

 

โปรดติดตามตอนที่ 3    จะเป็นเรื่องอะไรรอดู



 


บรรณานุกรม




                          ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. การปฏิวัติ 2575 (3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560.

                          เบนจามิน เอ.บัทสัน . อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ยันติวรพงษ์ (4). ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560.

                           นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม 2475 (5).  กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553.

                          กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562.

                          คริส เบเคอร์, ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (7). กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.



 
 


[1] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด.“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 235


[2] Baston, SPF, เล่มเดิม หน้า 2-3 อ้างถึงใน เบนจามิน เอ.บัทสัน  “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม” บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ยันติวรพงษ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), 18


[3]  กุลลดา เกษบุญชู มี้ด.“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 251-252


[4] Benedict Anderson, Imagine Community : Reflection on the origin and spread Nationalism, 95 อ้างถึงใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 252


[5] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด.“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 253


[6] ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, “การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย” (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม,  2547) , 90 - 1 อ้างถึงใน คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงศ์ไพจิตร, “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” พิมพ์ครั้งที่ 4, (นนทบุรี: มติชน, 2561), 149      


[7] ชนิดา, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 84 อ้างถึงใน คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงศ์ไพจิตร, “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” พิมพ์ครั้งที่ 4, (นนทบุรี: มติชน, 2561), 149


[8] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงศ์ไพจิตร, “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” พิมพ์ครั้งที่ 4, (นนทบุรี: มติชน, 2561), 149 - 150


[9] อัจฉราพร กมุททิยพ์สมัย, กบฏ ร.ศ.130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ 2540) อ้างถึงใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 281


[10] หจช. สบ. 2.56/30 เอกสารกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่ 5 เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กระพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) (15 สิงหาคม 2448 – 3 เมษายน 2482). อ้างถึงใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 148


[11] หชจ. ร.6 บ. 17/10. อ้างถึงใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน,   2562), 298


[12] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วิวัฒนาการรัฐไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 294 - 295


[13] GB, F 6257/183/40, 26 November 1925, Greg to chamberlain อ้างถึงใน เบนจามิน เอ.บัทสัน  อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ยันติวรพงษ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), 24


[14] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ตคึค ,  เศรษฐกิจการเมืองของสยาม 1910-193 , บรรณาธิการโดย มนตรี  เจนวิทย์การ, (กรุงเทพ 1978) , 24 อ้างถึงใน เบนจามิน เอ.บัทสัน  “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม” บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ยันติวรพงษ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), 24


[15] เบนจามิน เอ.บัทสัน  “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาฟม” บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ยันติวรพงษ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), 24


แสดงความคิดเห็น

>