Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

By. (วา) พลวัตของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของการรวบรวมข้อมูล

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 
พลวัตของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของการรวบรวมข้อมูล





                 การศึกษาประวัติศาสตร์สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือหลักฐาน เพราะหลักฐานเป็นสิ่งที่มาสนับสนุนว่าเรื่องราวที่เรากำลังศึกษาค้นคว้านั้นเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด การศึกษาประวัติศาสตร์จึงควบคู่กับการค้นหาหลักฐานต่างๆ เพื่อจะเข้าถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในมิติต่างๆ ของชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิตอลก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อประวัติศาสตร์ในมิติของการรวบรวมข้อมูล คือ การรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะศึกษา ซึ่งมีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นหลักฐานปฐมภูมิกับหลักฐานทุติยภูมิ

                  แน่นอนว่าเมื่อเราย้อนไปในยุคที่เทคโนโลยีดิจิตอลยังไม่ได้มีความเจริญก้าวหน้าเฉกเช่นในปัจจุบัน เมื่อเราต้องการจะค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เราจะต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น  หอสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประจำจังหวัด หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น การไปสถานที่ดังกล่าวเพื่อไปสืบค้นข้อมูล แล้วนำมารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากหลักฐานต่างๆ อยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น  ทำให้ต้องใช้เวลานานมากๆ และค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการที่จะต้องเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว

                 การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิตอลส่งผลให้เกิดรูปแบบเครื่องมือสำหรับการจัดเก็บข้อมูล และการสืบค้นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้เอกสารเก่าๆ ที่อาจจะมีการเสื่อมสภาพ การดูแลรักษาลำบาก สามารถรักษาสภาพของเอกสารต้นฉบับเอาไว้ในสภาพดีได้ต่อไป  ดังนั้น หลักฐาน เอกสารต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ เลยมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าสู่ดิจิตอล ทั้งการถ่ายหรือ scan เอกสาร การแปลงหลักฐานเทปจาก analog ให้เป็น digital เพื่อเก็บรักษาให้เป็นฐานข้อมูลที่ถาวร ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อมูลได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ต่อการรวมรวบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามา ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นไม่ว่าจะอยู่พื้นใดบนโลกใบนี้

                     ในปัจจุบันเมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมเรามีอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เราสามารถศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ในเว็บไซด์ต่างๆ  ได้สะดวก ซึ่งมีระบบการรวบรวบข้อมูลโดยมีการสแกนหนังสือหายาก หนังสืออนุสรณ์งานศพ เอกสารทางราชการ เอกสารบันทึกความทรงจำของบุคคลสำคัญ และเอกสารประเภทอื่นๆ อีกมากมาย ที่ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ทีมีการรวบรวบอย่างมากมายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิตอลเหล่านี้ มันช่วยลดเงื่อนไขและอุปสรรคในเรื่องของเวลาและสถานที่ ก่อให้เกิดความสะดวก ความง่าย ในการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารหลักฐานต่างๆ

 

แหล่งรวบรวบข้อมูลเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการเก็บสะสมข้อมูลในระดับประเทศและนานาชาติ
มีดังนี้
1. ฐานข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพอิเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. ระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
3. ระบบสืบค้นของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
4. ระบบสืบค้นหนังสือดิจิตอลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6. THAILAND DIGITAL COLLECTION
7. EBSCO Open Dissertations แหล่งค้นหาและดาวน์โหลดข้อมูลวิทยานิพนธ์กว่า 500,000 รายการ จาก 25 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา
8. https://library.tu.ac.th/th/online-database ฐานข้อมูลออนไลน์
9.  https://www.tci-thaijo.org ฐานข้อมูลที่รวบรวมวารสารวิชาการ ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ให้บริการในรูปแบบเอกสารฉบับเต็ม

  
                 ฐานข้อมูลเอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์ดังที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ เมื่อเข้าไปอยู่ในรูปแบบของดิจิตอลแล้ว เกิดการอำนวยความสะดวก ความง่ายดาย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และประหยัดทรัพยากร ในสืบค้นเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราสามารถรวบรวมข้อมูลมานำมาทำงานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ หรือหนังสือประวัติศาสตร์ ได้อย่างหลากหลาย และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

  

แสดงความคิดเห็น

>