Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวการเรียนรังสีเทคนิค

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
พอดีตอนนี้พึ่งเรียบจบรังสีเทคนิคมา ก็เลยอยากมาแบ่งปันข้อมูลสำหรับน้องที่สนใจอยากเข้ารังสีเทคนิคหรือประกอบการตัดสินใจการเลือกคณะงับ
หลักๆขอพูดถึงเรื่องการเรียนนะครับ
ช่วงปี 1 วิชาที่เรียนหลักๆก็จะเป็นวิทยาศาสตร์ พวกฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แคลคูลัส ส่วนวิชาที่เป็นวิชาสาขาก็จะมีเป็นวิชาแนะนำวิชาชีพครับเหมือนว่าเป็นการพูดภาพรวมคร่าวๆก่อน ว่ารังสีเทคนิคแบ่งเป็นสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขาแตกต่างกันยังไง แล้วก็มีการดูงานตามโรงพยาบาลต่างๆด้วยครับ จำได้ว่าตอนไปดูนี่ตื่นเต้นมาก เพราะก่อนเข้ามาเรียนเครื่องมือทางรังสีที่เคยเห็นหรือได้ยินก็มีแค่เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป CT MRI ครับ5555 พอไปเข้าไปดูงานในโรงพยาบาลก็แบบโอ้โห เครื่องเยอะแยะมาก แบบบางเครื่องไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อนเลย เช่น เครื่อง PET SPECT Linac งี้ เลยรู้สึกอยากเรียนขึ้นมาเลย นอกจากนั้นก็มีวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางรังสีวิทยาด้วยแบบเรียนว่าโรงพยาบาลนี้มีโครงสร้างระบบการติดต่อเชื่อมโยงของภาพรังสียังไง ประมาณนี้ครับ
ช่วงปี 2 วิชาเรียนหลักๆก็จะเป็นวิชาเกี่ยวกับการแพทย์แล้วครับ เช่น กายวิภาค สรีรวิทยา พยาธิวิทยา กายวิภาคก็จะมีแบบเรียนเป็นเลคเชอร์ในห้องและเรียนแล็บด้วย แล็บนี่เราไม่ได้ผ่าเองน้า จะเป็นแบบที่อาจารย์ใหญ่ถูกผ่ามาแล้วแล้วถูกดองอยู่ครับ ซึ่งสีสันของการสอบแล็บกายวิภาคก็เป็นแล็บกริ๊งเลยครับ หมดข้อเตรียมวิ่ง ผลัดกันดริ๊ฟหัวคว่ำเลย555 ส่วนวิชาภาคก็มีเรียนเกี่ยวกับฟิสิกส์รังสี ตัวนี้น้องๆม.ปลายน่าจะคุ้นก็คือพวกฟิสิกส์อะตอม ฟิสิกส์นิวเคลียร์ครับ นอกจากนี้ก็มีเรียนพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ทางรังสีด้วยประมาณไฟฟ้าที่เรียนตอนม.ปลายเลยครับ ส่วนวิชาอื่นๆก็มีสถิติ แคลคูลัส 2 ครับ
สำหรับช่วงปี 3 และปี 4 จะเริ่มเข้าสู่วิชาภาคแบบเต็มตัวแล้ว
ก่อนที่จะขึ้นการเรียนในปี 3 และปี 4 ขอพูดเกริ่นก่อนว่า รังสีเทคนิคแบ่งเป็น 3 สาขาย่อย ก็คือ
1. รังสีวินิจฉัย ถ้าแปลตรงๆเลยก็คือเป็นการถ่ายภาพเพื่อให้แพทย์นำภาพไปประกอบการวินิจฉัยโรคครับ ตัวอย่างเครื่องมือก็เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป, CT, MRI, fluoroscopy
2. รังสีรักษา แปลตรงๆเช่นเคยครับก็คือการใช้รังสีเพื่อรักษา เป็นการฉายเอกซเรย์พลังงานสูงไปที่ก้อนมะเร็งเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง จริงๆไม่จำเป็นต้องเป็นเอกซเรย์ก็ได้น้า อาจจะเป็นพวกอนุภาค เช่น โปรตอนก็ได้ได้ครับ ตัวอย่างเครื่องมือเช่น Linac
3. เวชศาสตร์นิวเคลียร์ สาขานี้ชื่อจะดูยากๆหน่อย ตอนพี่ได้ยินครั้งแรกก็แบบอะไรเกี่ยวกับนิวเคลียร์เลยหรอ ภาพในหัวจินตนาการยิ่งใหญ่มากเลย ฮั่นแหน่แอบคิดเหมือนพี่รึเปล่านะ คิคิ พอได้เรียนก็จะอารมณ์ประมาณว่าเหมือนเราใช้ยาที่ติดฉลากกับสารกัมมันตรังสีครับ มันจะถูกเรียกว่า สารเภสัชรังสี สารเภสัชรังสี มันก็จะไปเกาะตามอวัยวะตามกลไกของมัน แล้วตัวกัมมันตภาพรังสีก็จะปลดปล่อยอนุภาคต่างๆนาๆออกมา ซึ่งอนุภาคพวกนี้จะถูกนำไปใช้ในการสร้างภาพ หรือฆ่าเซลล์มะเร็งก็ได้ครับ เครื่องมือก็เช่น PET, SPECT
ช่วงปี 3 เทอม 1 จะเป็นช่วงของรังสีวินิจฉัยทั่วไป น้องๆหลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร ถ้าจะพูดให้เห็นภาพรังสีวินิจฉัยทั่วไป ตัวอย่างก็คือที่เราไปเอกซเรย์ปอด ท้อง ถ้าใครเคยไปตรวจสุขภาพก็จะเคยผ่านการเอกซเรย์ปอดมา ดังนั้นวิชาในเทอมนี้ก็จะเน้นไปถึงการจัดท่าในการถ่ายภาพเอกซเรย์ เช่น เอกซเรย์ปอด เราจะจัดท่าอย่างไรให้เห็นปอดชัดเจนสุด เนื่องจากคนเป็นลักษณะ 3 มิติ แต่ภาพเป็น 2 มิติ ดังนั้นภาพที่เห็นก็จะเหมือนมีหลายอวัยวะซ้อนๆกันอยู่ ถ้าน้องๆคนไหนเคยไปเอกซเรย์ปอดเขาก็จะให้ทำท่าเหมือนท่าเป็ดแล้วดันบริเวณช่วงไหล่ให้ชิดอุปกรณ์ ซึ่งท่านี้เป็นส่วนช่วยให้กระดูกสะบักทางด้านหลังไม่บังปอดครับ

จะบอกว่าการจัดท่านี่สำคัญมากเลยน้า เพราะมีผลต่อการอ่านภาพในการแปลผลของแพทย์เลย ส่วนวิชาภาคตัวอื่นก็เป็นพวกวิชาภาพดิจิทัลทางการแพทย์เหมือนเรานำภาพมาวิเคราะห์ดูว่าเป็นยังไง ภาพมีสิ่งรบกวนไหม หรือว่ามีสิ่งแปลกปลอม คอนทราสของภาพเป็นยังไง แล้วเราจะถ่ายยังไงให้ภาพมีคุณภาพดีครับแบบประมาณว่าต้องปรับค่าอะไรในเครื่องเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ อีกวิชานึงน่าจะเป็นวิชาไฮไลท์เน้นสำหรับน้องๆหลายคนเลย เพราะก่อนเข้าสาขานี้ทุกคนจะมีคำถามว่ารังสีอันตรายไหม เป็นมะเร็ง เป็นหมันหรือไม่ วิชานี้ก็คือจะตอบข้อสงสัยเราก็คือ วิชา การป้องกันอันตรายจากรังสี พี่ขอตอบคำถามให้น้องก่อนแล้วกันครับ รังสีมีอันตรายครับถ้าไม่รู้จักป้องกัน ขอยกตัวอย่างการป้องกันอันตรายจากรังสีดีกว่า เช่น เวลานักรังสีเทคนิคทำงาน หลังจากนักรังสีจัดท่าผู้ป่วยเสร็จ นักรังสีเทคนิคจะเข้าไปห้องควบคุมที่อยู่อีกห้องหนึ่ง (คนละห้องกับห้องฉายน้า) ระหว่างห้องจะเป็นผนังคอนกรีตหรืออาจจะมีการผสมตะกั่วด้วย ซึ่งวัตถุพวกนี้จะลดทอนปริมาณรังสีได้ครับ ทำให้เราได้ปริมาณรังสีน้อยมาก โดยเราจะมีการวัดปริมาณรังสีตลอดเวลาทำงานอยู่แล้วมันจะเป็นอุปกรณ์ที่หนีบไว้ตรงเสื้อครับ อุปกรณ์นี้จะถูกนำไป อ่่านอาจทุก   3   เดือน เพื่อนำไปดูว่าเกินขีดจำกัดที่ควรได้รับหรือเปล่าครับ

หน้าตาเครื่องก็จะประมาณนี้ครับ (ขอบคุณภาพจากเพจ facebook : แผ่นวัดรังสี OSL)

ก่อนขึ้นปี 3 เทอม 2 ขั้นด้วยการไปฝึกงานรังสีวินิจฉัยทั่วไป ไปฝึกงานมีทั้งโรงพยาบาลต่างจังหวัด และโรงพยาบาลในกรุงเทพเลยครับ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ได้ลองปฏิบัติจริงแล้ว จะบอกว่า มันตื่นเต้นมาก ลืมท่าบ้างอะไรบ้าง แหะๆ แต่ก็ดีตรงที่มีพี่ๆที่ทำงานช่วยสอนอีกรอบครับ

ช่วงปี 3 เทอม 2 ช่วงของรังสีวินิจฉัยพิเศษครับ เทอมนี้ก็จะเน้นไปพวกเครื่อง CT, MRI, ultrasound, fluoroscopy, intervention, mammogram สำหรับ CT  หน้าตาก็จะเป็นเครื่องกลมๆใหญ่ๆ เครื่องนี้จะใช้เอกซเรย์หมุนรอบตัวผู้ป่วยภาพจะเป็น 3 มิติแล้ว ส่วน MRI น้องก็จะหน้าตากลมๆคล้ายๆกัน แต่มันจะเหมือนเป็นอุโมงค์แล้วก็มีปล่องๆด้านบน เครื่องนี้ไม่ได้ใช้เอกซเรย์น้า จะใช้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทน สำหรับ ultrasound เครื่องนี้ที่คุณแม่หลายๆคนตอนท้องไปตรวจดูลูกๆในครรภ์หน่ะ เครื่องนี้จะใช้คลื่นเสียงนะครับ ส่วนเครื่อง fluoroscopy ก็อารมณ์ประมาณว่าเปลี่ยนจากการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นการถ่ายวิดีโอด้วยเอกซเรย์หน่ะ ส่วน intervention ก็จะประมาณการทำหัตถการทางหลอดเลือดมีการนำเครื่องหลายอย่างขั้นต้นมาใช้เลย เช่น CT fluoroscopy Ultrasound  นอกจากเครื่องมือพวกนี้แล้วก็เป็นรังสีชีววิทยาก็เรียนประมาณว่าเวลารังสีวิ่งผ่านร่างกายเราไป มันทำอะไรกับเนื้อเยื่อเราบ้าง มีวิชารังสีพยาธิวิทยาด้วยครับก็เรียนประมาณว่าภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยคนนี้เป็นโรคอะไร หลอดเลือดในภาพมีชื่อว่าอะไร แต่ขอบอกก่อนนะครับว่า เราไม่ได้เรียนเพื่อไปวินิจฉัยน้า รังสีแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยครับ เราเรียนไปเพื่อให้รู้เช่น ถ้าถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยแล้วเจอโรคที่ฉุกเฉิน เราจะได้รู้หรือมีการติดต่อสื่อสารกับแพทย์เพื่อจะได้รีบทำการรักษา หรือเรียนไปให้ดูกายวิภาคได้ ซึ่งแบบพวกหลอดเลือดบางส่วนเราต้องรู้จักเพราะเป็นส่วนหนึ่งเป็นการกำหนดการสแกนภาพ เช่น CT ครับ

พี่เรียบเรียงภาพเครื่องมือมาให้น้องๆดูกันครับ

CT

(ภาพจาก: https://www.philips.co.th/healthcare/product/HCNOCTN193/ct-5000-ingenuity-ct-scanner
MRI                               

(ภาพจาก: http://taninnit.com/knowledge/difference-mri-tesla.html)
Fluoroscopy(ภาพจาก: https://www.siemens-healthineers.com/fi/fluoroscopy)
intervention

(ภาพจาก: https://www.philips.co.th/healthcare/articles/refurbished-systems-diamond-select)

เช่นเคยครับก่อนขึ้นปี 4 เทอม 1 ก็จะขั้นด้วยการฝึกงานรังสีวินิจฉัยพิเศษครับ
ช่วงปี 4 เทอม 1 ช่วงของรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
เทอมนี้เรียนควบคู่ทั้งสองสาขาเลยครับ แต่พี่ขอพูดแยกแต่ละสาขาแล้วกัน
สำหรับรังสีรักษา

ภาพตัวอย่างการฉายรังสีบริเวณเต้านม
(ภาพจาก :https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/radiation-therapy/about/pac-20385162)

จะมีเรียนเป็นการวัดปริมาณทางรังสีเรียนแบบละเอียดเลย ตั้งแต่ก่อนใช้เครื่องมือวัดปริมาณรังสีจนถึงเวลาเอาไปใช้จริง มีการเรียนเทคนิคการให้รังสี น้องๆอาจจะยังไม่เคยเห็นภาพการทำงานรังสีรักษา พี่ขอเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ เวลาผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เช่น การฉายแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ก็จะมีขั้นตอนเริ่มจากการจำลองการรักษาเหมือนกับว่าจะทำเพื่อให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงแล้วใช้อุปกรณ์ยึดตึงผู้ป่วยให้อยู่นิ่งๆ เราก็จะดูว่าผู้ป่วยสามารถนอนอยู่ได้ไหมหรือว่ากรณีไม่ได้เราจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยนอนสบายที่สุด เพราะ เวลาฉายแสงต้องฉายหลายรอบครับ หลังจากจำลองการรักษาแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนการรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ก็จะดูว่ารังสีจะเข้าทิศทางไหนดี ใช้เทคนิคอะไรในการฉาย จากนั้นก็ต้องมีการยืนยันความถูกต้องของแผนการฉายครับ ต่อมาก็จะเป็นขั้นตอนก่อนเริ่มฉาย ผู้ป่วยก็จะขึ้นเตียงมา แล้วนักรังสีก็จะจัดท่าให้เหมือนกับวันที่ทำการจำลองการรักษา ทีนี้น้องน่าจะเกิดคำถามแล้วว่ารู้ได้ไงว่าจะจัดยังไง หรือว่าจัดตรงกับวันจำลองแล้ว คำตอบก็คือ คื๊อ คื๊อออออ ที่ตัวผู้ป่วยจะมีเส้นที่ถูกขีดไว้ตั้งแต่วันจำลองการรักษาครับอันนี้ไว้สำหรับจัดท่า ส่วนจะรู้ได้ไงว่าจะจัดตรงก็คือ จะมีการถ่ายภาพอีกรอบครับ แล้วนำภาพที่ได้มาเทียบกับภาพวันจำลองจากนั้นทำการเลื่อนเตียงให้ตรงครับ พอตำแหน่งตรงเรียบร้อยก็ทำการฉายได้เลย

ตัวนี้เป็นตัวอย่างอุปกรณ์ยึดตรึงผู้ป่วยบริเวณส่วนศีรษะครับ ดูแล้วไม่ต้องกลัวแบบผู้ป่วยหายใจไม่ออกน้า ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ปกติแต่อาจจะลำบากนิดนึง แล้วก็เวลาฉายก็จะมีการวัดออกซิเจนตลอดเวลาด้วยครับ

(ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/th/image-photo/woman-receiving-radiation-therapy-medical-treatment-1112822285)
สำหรับเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จะมีเรียนทั้งเทคนิคการตรวจ เรียนหลักการของเครื่องมือ จะบอกว่าขั้นตอนทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์จำเยอะมากเลยๆ คือมันมีหลายการตรวจมากครับ เช่น การตรวจกระดูก ตรวจตับ ตรวจต่อมน้ำลาย ตรวจหัวใจ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งแต่ละการตรวจมีขั้นตอนหลายอย่างมากเลยครับแล้วก็ทุกอย่างต้องทำตามเวลา เพราะ สารเภสัชรังสีมีกลไกการจับกับอวัยวะเป็นเวลา เช่น การตรวจกระดูกก็ต้องรอหลังฉีด 3 ชั่วโมง แล้วก็พอครบ 3 ชั่วโมงผู้ป่วยก็จะขึ้นนอนบนเตียงแล้วก็ถ่ายภาพตามโปรโตคอลของแต่ละโรงพยาบาลครับ เช่นถ่ายบริเวณกระดูกเชิงกรานด้านหน้า ด้านหลัง ถ่ายกะโหลกศีรษะด้านข้าง หรือว่าถ่ายทรวงอกในลักษณะเอียงๆทั้งเอียงขวาด้านหน้า-หลัง เอียงซ้ายด้านหน้า-หลังเป็นต้นครับ

การแสกนกระดูก
(ภาพจาก: https://www.thairadiologist.org/category/creative/nuclear/)

ช่วงปี 4 เทอม 2 ช่วงการฝึกงานของรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ช่วงนี้ก็คือจะแบ่งครึ่งเทอมกันเอาไปฝึกงานแต่ละสาขาครับ ส่วนการเรียนเทอมนี้ก็จะมีนิดหน่อยเช่นวิชาเลือก เช่น วิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ขั้นสูง กฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ
นอกจากนี้ตลอดปี 4 ก็ยังต้องทำวิจัยจบด้วยครับ หัวข้อวิจัยก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะทำอะไร ซึ่งกว่าจะได้หัวข้อก็ต้องมานั่งอ่านวิจัยก่อนๆเยอะมากเลย แล้วก็แล้วแต่เราด้วยนะว่าเราสนใจบทเรียนเรื่องไหนเป็นพิเศษก็ลุยเลยครับ555 ส่วนพอทำเสร็จก็ต้องทำรูปเล่มส่งแล้วก็นำเสนอวิจัยที่เราทำให้อาจารย์ฟังด้วยนะ อาจารย์เขาก็จะมีข้อสงสัยถามเรา เราก็ต้องทำการปกป้องงานวิจัยของเรา กว่าจะจบมาได้ก็สาหัสอยู่55 แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะเลย

สุดท้ายพี่มีซีรี่ย์มาแนะนำครับ เผื่อจะทำให้เราเห็นภาพว่านักรังสีเทคนิคทำอะไรบ้าง ก็คือเรื่อง Radiation house พี่ดูแล้วสนุกมาก ดูแล้วแบบได้แรงบันดาลใจในการเรียนต่อเลย แนะนำเลยครับ555

แสดงความคิดเห็น

>

15 ความคิดเห็น

Radiaiton 22 มิ.ย. 63 เวลา 14:48 น. 7-1

ส่วนมากวิชาที่เรียนชีทจะเป็นภาษาอังกฤษและเวลาค้นหาข้อมูลถ้าใช้ภาษาอังกฤษจะหาข้อมูลได้มากกว่าครับ ก็อาจจะส่งผลหน่อยครับ แต่ถ้าเราฝึกฝนเราก็สามารถเรียนผ่านมันมาได้ครับ ^^


0
Radiation. 2 ก.ค. 63 เวลา 21:03 น. 8-1

ห้องที่ใช้ในงานรังสีรักษาจะถูกออกแบบมาเพื่อให้นักรังสีเทคนิคหรือบุคลากรอื่นๆภายในโรงพยาบาลให้ได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุดครับ เช่น เขาจะมีการดูทั้งความหนาของกำแพง ประตู หรือออกแบบให้ทางเข้าเหมือนเขาวงกต นอกจากนั้นก็ยังมีการวัดปริมาณรังสีรอบๆบริเวณห้องฉายด้วยครับ ดังนั้นรับรองว่ามีความปลอดภัยในการทำงานครับ

0
Radiation. 3 ก.ค. 63 เวลา 22:54 น. 10-1

ขอตอบเฉพาะที่ที่พี่เรียนคือจุฬาฯนะครับ พอดีไม่แน่ใจที่อื่น ปีพี่มีการไปฝึกงานหรือดูงานที่ต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นครับ โดยทางคณะได้มีทุนซัพพอร์ทให้บางส่วนครับผม

0
แครอท 15 ก.พ. 64 เวลา 19:13 น. 15

พี่คะ เล่าประสบการณ์ตอนไปฝึกงานที่โรงพยาบาลให้ฟังได้ไหมคะ ว่าไปที่ไหนบ้าง ทำอะไรบ้าง

0