Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

By. วา รีวิวหนังสือ กำเนินสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของสยาม

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ประวัติศาสตร์นิพนธ์กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ
 
1. ภูมิทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ ชิ้นนี้
           ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้เป็นงานที่อธิบายการปะทะกันระหว่างความรู้ภูมิศาสตร์แบบใหม่ที่กำเนิดจากโลกตะวันตก กับความรู้ชุดเดิมที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว ณ ชั่วขณะต่างๆ อธิบายการปะทะกันของความคิดเรื่องเขตแดนคนละแบบ การปะทะกันของของความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยและสิทธิเหนือดินแดนรัฐต่างๆ คนละอย่าง อธิบายการทำและการอ่านแผนที่ซึ่งอิงกับความรู้คนละชุดกันโดยสิ้นเชิงและที่งานชิ้นนี้พยายามเปิดเผยและฉายภาพให้เราเห็นถึงการก่อกำเนิดของสยามที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในลักษณะของแผนที่ใจความสำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือ สยามเกิดจากภูมิศาสตร์และแผนที่ เกิดจากกระดาษ ชนชั้นนำสยามไม่ได้สร้างวีรกรรมให้กำเนิดสยาม การกำเนิดสยามเกิดจากการปะทะในเรื่องการต่อสู้ความคิด การต่อสู้ทางกำลัง จนนำสู่การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นสยามในภายหลัง[1]

2. แนวคิดเบื้องหลังของธงชัย วินิจจะกูล ต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้
                      ในสำนึก ในความรับรู้ ในความตระหนักของมนุษย์อย่างเราๆ มักคิดว่าดินแดนเป็นไปตามธรรมชาติ มักทึกทักว่าขอบเขตของชาติๆ หนึ่ง ของประเทศใด ประเทศหนึ่งมันคือเป็นผิวโลกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วดินแดนของชาติเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์โดยมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ที่เป็นความรู้สมัยใหม่ ที่ทำให้ผิวโลกตามธรรมชาติกลับมีความหมายและคุณค่าขึ้นมาในทางการเมือง มนุษย์สร้างความหมายได้ด้วยความรู้ วาทกรรมดินแดนของชาติถูกสร้างให้กลายเป็นความหมายใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่าผืนผิวดินธรรมดาๆ ชนิดหนึ่ง  มันถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นค่านิยมใหม่ซี่งผูกติดกับมันอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำคัญถึงขนาดถวายชีวิตได้ ฆ่าคนอื่นได้ เพื่อรักษาดินแดนทุกตารางนิ้ว ดินแดนทางภูมิศาสตร์มีความหมายมากกว่าเป็นแค่พื้นผิวโลกชิ้นหนึ่ง เพราะมันกลายเป็นตัวตนทางภูมิศาสตร์สมัยใหม่  ภูมิกายาสำคัญมากเพราะมีผลต่อการจัดการใช้อำนาจรัฐแทบทุกด้าน มีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ทั้งหมด มีผลต่ออุดมการณ์ ต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนทั้งชาติ เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดมิได้ของลัทธิชาตินิยมทุกชนิดทุกแห่งในโลก รวมทั้งราชาชาตินิยมของสยามด้วย ถ้าไม่มีเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ ย่อมไม่มีประเทศไทยที่เรารักหวงแหนในปัจจุบัน แต่ถ้าไม่มีแผนที่สมัยใหม่ ย่อมไม่มีเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ เพราะแผนที่สมัยใหม่เป็นผลผลิตของความรู้ภูมิศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกหลังศตวรรษที่ 19 นี้เอง[2]   ประวัติศาสตร์นิพนธ์กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติชิ้นนี้ถือว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ออกจากนอกขนบการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแบบเดิมๆ  เพราะธงชัย วินิจจะกูล ศึกษาในลักษณะที่เป็นการถอนรากถอนโคนและท้าทายต่อประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่เป็นประวัติศาสตร์กระแสที่ครอบงำสังคมไทยมาหลายศตวรรษ  โดยการทำการศึกษาว่าภูมิกายาหรือร่างกายของสยามถูกสร้างขึ้นโดยวาทกรรมอะไรบ้าง[3]

3. ทัศนะของธงชัย วินิจจะกูล ต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้
                         บทบาทสำคัญของแผนที่จึงไม่ได้อยู่แค่เป็นภาพแทนดินแดนของสยาม แต่ยังทำหน้าที่สื่อความหมายและคุณค่าอื่นๆ ด้วย แผนที่มักถูกใช้บ่อยครั้งเพื่อแสดงความเป็นชาติ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม ความรักแผ่นดินเกิดหรือสารอื่นๆ เกี่ยวกับชาติ[4]   ธงชัย วินิจจะกูล มองว่า แผนที่มีคุณูปการต่อความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับชาติในหลายๆ แง่ ในฐานะสัญญะ มันเป็นสื่อที่เป็นผู้กระทำอย่างมีประสิทธิภาพที่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะอภิสัญญะ จนกลับกลายเป็นว่ามันเป็นแหล่งอ้างอิงในตัวมันเองจนสามารถสร้างความหมายและคุณค่ามากกว่าความหมายแรกเริ่มได้ นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าแผนที่ผูกขาดวิธีการที่มนุษย์ใช้สร้างมโนภาพต่อพื้นที่ประดิษฐ์ขนาดมหึมาที่เรียกว่าชาติแล้ว บทบาททั้งสอง ทั้งการเป็นสัญญะและอภิสัญญะ ยังเอื้อให้แผนที่มีอำนาจบงการปริมณฑลความรู้ว่าด้วยความเป็นชาติได้อย่างสะดวก จนทำให้มันแทบจะเป็นวัตถุธรรมชาติไปแล้ว  สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเนื้อหาของประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ก็คือ ความเป็นชาติที่หมายถึงดินแดนที่อาณาบริเวณชัดเจนนั้น แต่เดิมมันไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ มันคือสิ่งที่ถูกมนุษย์สถาปนาและสร้างความหมายมันขึ้นมา การอธิบายอย่างละเอียดที่ประกอบไปด้วยหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองจำนวนมากที่ได้ปรากฏในเนื้อหาทั้งหมดนั้น เป็นการเปิดเผยให้เราได้รับรู้ ได้เข้าใจอย่างจริงๆ จังๆ ว่า ดินแดนที่เป็นตัวเป็นตนของสยามนั้นมันเกิดจากการของต่อสู้ การปะทะ การประนีประนอม เกิดจากความผิดพลาด ความบังเอิญ และเกิดจากหลายสิ่งหลายอย่างจนกลายเป็นขวานทองอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างที่ใครหลายๆ คนเข้าใจเลย ภูมิกายาของชาติ มันคือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาในภายหลัง เพื่อสร้างความหมาย สร้างสำนึก และสร้างความทรงจำร่วมกันแก่คนไทยทั้งชาติ[5]
 
 4. การท้าทายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูล
                       ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษนั้นถูกท้าทายอย่างถอนรากถอนโค่นด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ที่ฉายภาพให้เราเห็นมุมมองในเรื่องเดียวกันที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง มันคือการชำระและสะสางความเข้าใจ ความรับรู้ที่สังคมไทยมีต่อความเข้าใจในเรื่อง วาทกรรมว่าด้วยการสูญเสียดินแดนและวาทกรรมว่าด้วยการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5   แน่นอนว่าวาทกรรมการสูญเสียดินแดนที่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมพยายามเชิดชูมาโดยตลอดในแบบแผนการเรียนการสอนในระดับประถม ในระดับมัธยม รวมไปถึงในระดับมหาวิทยาลัยและในการบรรยายประวัติศาสตร์ชาติของหน่วยงานภาครัฐเนื่องในโอกาสต่างๆ นั้น ถูกท้าทายด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้อย่างถอนรากถอนโคนเลยที่เดียว  ด้วยการอธิบายแบบใหม่ว่า แต่เดิมเรามักอ้างเสมอว่าเราสูญเสียดินแดนมากมายให้แก่ชาติมหาอำนาจที่ออกมาล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในความเป็นจริงแล้วในห้วงเวลานั้นสยามกับฝรั่งเศสทำการแข่งขันเหนือดินแดนแม่น้ำโขงตอนบนและลาวทั้งหมดนั้น มันเป็นการแย่งชิงดินแดนของหัวเมืองและประเทศราชต่างๆ เป็นการแข่งขันที่ก่อให้เกิดการกำเนิดของภูมิกายาของสยาม และผู้ที่พ่ายแพ้และสูญเสียดินแดนเอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่สยาม แต่ผู้ที่พ่ายแพ้อย่างแท้จริงคือบรรดาหัวเมืองเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ตลอดเส้นทางการเดินทัพของสยามและฝรั่งเศสต่างหาก สยามไม่ได้เสียดินแดนเลยอย่างที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมพยายามเชิดชูและอวดอ้างมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วสยามเองก็มีลักษณะของการเป็นผู้ที่ล่าเหยื่อและแย่งดินแดนด้วยกันเองระหว่างสยามและฝรั่งเศส สยามหาได้เสียดินแดนไม่ อย่างที่เข้าใจกันปัจจุบัน[6]          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ วาทกรรมการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5  เป็นการกระชับอำนาจให้เข้าสู่ศูนย์กลาง การปฏิรูปการปกครองซึ่งเริ่มต้นใช้กับประเทศราชใหญ่ๆ ในล้านนาและกลุ่มน้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ทำให้กรุงเทพฯ รวบอำนาจได้มากขึ้น แต่ยังเป็นการปรับโครงสร้างการปกครองของเมืองใหญ่น้อยต่างๆ ด้วย เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ พบปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือ ดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของเจ้านายทั้งหลายนั้นกระจายตัวกันอย่างสับสนวุ่นวาย ทางแก้ปัญหาคือจัดสรรดินแดนเสียใหม่ด้วยการโยกเมืองหลายเมืองจากเจ้านายรายหนึ่งไปขึ้นกับอีกรายหนึ่งและยกเลิกเมืองบางเมืองเสีย ด้วยสำนึกทางภูมิศาสตร์สมัยใหม่ กรุงเทพฯ ได้เสนอมาตรการสองประการที่จำเป็นสำหรับการปกครองจังหวัดที่ถูกจัดสรรใหม่ นั่นก็คือ การทำแผนที่และจดทะเบียนสำมะโนครัว[7] คำว่า วาทกรรมการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลของสยามส่วนหนึ่งในความเป็นจริงแล้วสยามเองก็ได้ผนวกเอาประเทศราชต่างชาติหลายแห่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตน สยามเป็นเพียงพื้นที่ที่หลงเหลือรอดจากการตกเป็นอาณานิคมโดยตรงเท่านั้นเอง ภูมิกายาของสยาม มิได้เกิดจากวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปของพื้นที่การเมืองแบบพื้นถิ่นมาสู่พื้นที่การเมืองแบบสมัยใหม่ แต่เป็นผลของการที่แบบใหม่เข้าผลักไสแทนที่แบบเดิม ณ ช่วงขณะต่างๆ โดยมหาอำนาจตะวันตกและโดยสยามเอง กล่าวในทางยุทธศาสตร์ก็คือวาทกรรมชุดใหม่ได้คุกคาม สั่นคลอน หรือทำให้วาทกรรมที่ดำรงอยู่ก่อนกำกวมแล้วเข้าผลักไสแทนที่ในที่สุดการปรากฏขึ้นของภูมิกายาของสยามเป็นผลมาจากอำนาจของภูมิศาสตร์สมัยใหม่และแผนที่นั่นเอง[8]
 
5. อิทธิทางความคิดต่อวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้
             5.1 อิทธิพล Postmodernism
              Postmodernism ปฏิเสธรากฐานหรือหัวใจของภูมิปัญญาสมัยใหม่มิใช่ด้วยการล้มล้างหรือโยนทิ้งความรู้ความคิดเหล่านั้น แต่ทว่าด้วยการท้าทายว่าการรับรู้และเข้าใจโลกแบบนั้นๆ ไม่ควรมีอำนาจหรือถือว่าเป็นหัวใจ หรือเป็นรากฐานการตัดสินความถูกผิดแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป ไม่ควรมีอำนาจเบียดขับหรือทำลายความรู้ประเภทอื่น[9]  แน่นอนว่าอิทธิพลทางความคิดของ Postmodernism ได้ปรากฏในงานชิ้นนี้อย่างเด่นชัดในมิติของการพยายามสร้างข้อเสนอใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปจากเดิม พยายามที่จะลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมพยายามทำให้ตนเองทรงพลังในสังคมไทย Postmodernism  เห็นว่าความรู้ประวัติศาสตร์เป็นวาทกรรม นั่นคือ เป็นชุดหรือแบบแผนของภาษาและถอยคำอันก่อให้เกิดความหมายและทำให้เราเชื่อว่าเป็นความจริงในอดีต ความรู้นี้มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของเราทุกเมื่อเชื่อวัน[10] Postmodernism ท้าทายวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่อย่างถอนรากถอนโคน เพราะเสนอว่าการอวดอ้างความเป็นความเป็นสัจจะด้วยวิธีการที่เป็นศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นการอำพรางตัวเองของความรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งอันที่จริงเป็นแค่ผลของการปฏิบัติการของภาษาประเภทหนึ่ง[11] Postmodernism มันทำให้เราเห็นว่าความเป็นชาติไทยเองก็เป็นสิ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนี้เอง ความเป็นไทยที่มีอาณาบริเวณเป็นขวานทองนั่น มันคือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกสถาปนาเมื่อไม่นาน และประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเองก็พยายามสถาปนาความมั่นคงในเรื่องชาติไทยในแบบที่ตนเองอยากจะให้คนไทยรับรู้ให้ลงหลักปักฐานในสำนึกของคนไทยทุกคน และในที่สุดมันก็ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อมาตรวจสอบ มาสืบเสาะ มาท้าทาย และมาหักล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ฝักรากลึกในสำนึกของคนไทยหลายๆ คน [12]
            5.2 อิทธิพลประวัติศาสตร์แบบสาแหรก (Genealogy)
                            อิทธิทางความคิดของฟูโกต์ต่องานชิ้นนี้ คือการปรับใช้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบสาแหรก สิ่งที่ฟูโกต์ศึกษามีลักษณะเป็นการมุ่งความสนใจไปที่การศึกษาความเป็นมาของเรือนร่างมนุษย์ที่ถูกลิขิตขึ้นมาด้วยอำนาจวาทกรรม เหมือนกับงานชิ้นนี้ที่ทำการศึกษาการก่อกำเนิดของร่างกายสยามที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างอย่างรูปธรรม หรือที่เราเรียกว่าภูมิกายา  ประวัติศาสตร์แบบสาแหรก คือ การวิเคราะห์ความเป็นมาของวาทกรรมต่างๆ ที่ประกอบเข้าเป็นเรือนร่างมนุษย์ในมิติประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันงานชิ้นนี้ก็ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดในแต่ละช่วงเวลา และวิเคราะห์วาทกรรมในเรื่องต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นดินแดนสยามที่มีรูปร่างชัดเจนอย่างทุกวันนี้[13] สำหรับประวัติศาสตร์แบบสาแหรกของฟูโกต์แล้ว เรือนร่างของมนุษย์ คือ พื้นที่ ที่เราสามารถจะค้นพบไม่เพียงแต่ร่องรอยของเหตุการณ์ในอดีต แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนไหวของพลังอำนาจต่างๆ ที่กระทำต่อเรือนร่างมนุษย์ ซึ่งมิได้เปิดเผยตัวออกมาตรงๆ ในเหตุการณ์ต่างๆ[14] ประวัติศาสตร์แบบสาแหรก เป็นประวัติศาสตร์ในแบบสุดขั้ว หรือจะกล่าวว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์แบบหักล้างกับประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นการศึกษาค้นคว้าที่จะท้าทายและหักล้างต่อประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาหลายทศวรรษ เพื่อสร้างข้อเสนอใหม่ที่แตกต่างจากเรื่องเดิม   เพราะประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมพยายามที่จะสถาปนาความต่อเนื่องและความเป็นธรรมชาติของประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ ธงชัย วินิจจะกูลได้นำแนวคิดประวัติศาสตร์แบบสาแหรกมาอธิบายการกำเนิดของภูมิกายาสยามที่แตกต่างอย่างสุดขั้วที่กลับหัวกลับหาง นอกจากนี้ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองจากเหตุและผลหรือคำอธิบายที่เคยเชื่อหรือเข้าใจกันแต่เดิม  สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากงานชิ้นนี้คือการขุดคุ้ยส่วนประกอบต่างๆ ที่ละชิ้น ที่ละชิ้นที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นสยามและเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้ [15]
                            5.3 อิทธิพลวาทกรรมวิเคราะห์
                           การวิเคราะห์วาทกรรม ธงชัย วินิจจะกูล ได้ทำการศึกษาว่า การก่อกำเนิดของภูมิกายาสยาม ในมุมมองของเขาเป็นเพียงผลของวาทกรรมทางภูมิศาสตร์สมัยใหม่ โดยมีเทคโนโลยีที่สำคัญของมันคือแผนที่ ความรู้มากมายของเราเกี่ยวกับความเป็นชาติของสยามถูกสร้างขึ้นจากการเห็นสยามที่อยู่บนแผนที่ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากแผนที่และมิได้ดำรงอยู่นอกเหนือไปจากบนแผนที่แต่อย่างใด ภูมิศาสตร์อยู่ในฐานะเป็นสื่อกลางชนิดหนึ่ง มิใช่สิ่งที่ดำรงอยู่แล้วตามธรรมชาติ ยุทธศาสตร์ของงานศึกษานี้ก็คือการวิเคราะห์วาทกรรมของยุคสมัยก่อนสมัยใหม่และสมัยใหม่ แล้วสืบช่วงขณะที่วาทกรรมเก่าและใหม่ปะทะกัน ช่วงขณะเหล่านั้นเป็นปฏิบัติการทางการเมืองสัญวิทยา ซึ่งภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าว วาทกรรมใหม่ได้คุกคามและเข้าแทนที่วาทกรรมที่มีอยู่ก่อน ช่วงขณะเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมีการปะทะขัดแย้งของความคิดและความหมายเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เส้นเขตแดน อธิปไตยเหนือเขตแดน และบริเวณชายขอบ ช่วงขณะเหล่านั้นสามารถปรากฏตัวในกิจกรรมทางสังคมทุกรูปแบบ เช่น ความสัมพันธ์ทางการทูต การสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ จดหมายโต้ตอบสื่อสาร การเดินทาง ตำราเรียน สงคราม และในการสำรวจและทำแผนที่ มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งจากห้องทำงานในวังจนถึงป่าดง ณ ชายแดนห่างไกล เราสามารถระบุช่วงขณะของการปะทะได้ด้วยการตรวจหาเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการสื่อสารความหมายคลุมเครือเกี่ยวกับภูมิและพื้นที่ อันเป็นผลของการที่วาทกรรมต่างชนิดกำลังประชันกันชิงความหมายของชุดคำศัพท์และการปฏิบัติเดียวกัน เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำแผนที่และกำลังทางทหารในฐานะที่เป็นปฏิบัติการร่วมทางความรู้และอำนาจที่สร้างสัจจะของความรู้ของความรู้ทางภูมิศาสตร์ขึ้นมา[16]
 
6. สรุปการศึกษาระเบียบวิธีประวัติศาสตร์นิพนธ์กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ
                             การนิพนธ์ประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ถือว่าเป็นการท้าทายและหักล้างอย่างสิ้นเชิงต่อประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม เป็นประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นแม่แบบหลายๆ เรื่อง และเป็นประวัติศาสตร์ที่พยายามสถาปนาตนเองให้มีอำนาจสูงสุดเหนือประวัติศาสตร์อื่นๆ และเป็นประวัติศาสตร์ที่พยายามครอบงำสังคมไทยในมุมมองรูปแบบเดียวมายาวอย่างนาน แน่นอนว่าเมื่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ได้อุบัติขึ้น ได้สร้างข้อถกเถียงครั้งใหญ่ต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทย ด้วยการนำเสนอด้วยหลักฐานชั้นต้นจำนวนมาก และหลักฐานชั้นรองค่อนข้างมาก ซึ่งธงชัย วินิจจะกูลได้ทำการศึกษาและค้นคว้าอย่างละเอียดและรอบด้าน เพื่อสร้าง­ข้อเสนอใหม่ที่แหวกแนวและแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมชนิดที่เรียกว่า
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้เป็นการถอนรากถอนโคนกันเลยที่เดียว ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นคุณูปการต่อวงวิชาการไทยมากๆ เพราะได้บุกเบิกระเบียบวิธีการศึกษาและแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ด้วยการนำแนวคิด Postmodernism แนวคิดประวัติศาสตร์แบบสาแหรก (Genealogy) แนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์ รวมถึงทฤษฏีอื่นๆ ที่ไมได้กล่าวในที่นี้ มาวิเคราะห์ มาวิพากษ์ มาถอดรื้อ มาชำแหละในแต่ละส่วน และมาปรับสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ที่ถูกละเลยและไม่ค่อยถูกตั้งถามจากคนๆ ทั่วไป ให้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าประวัติศาสตร์กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติชิ้นนี้ ถือว่าเป็นมุมมองและทัศนะต่อการมองประวัติศาสตร์ในแบบอีกหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในอนาคต
 
บรรณานุกรม
 
                 ธงชัย  วินิจจะกูล. กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. แปลโดย พวงทอง
   ภวัครพันธ์, ไอลดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟและสำนักพิมพ์อ่าน, 2556.
                ธงชัย  วินิจจะกูล. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562.
                ธีรยุทธ บุญมี. มิเชล ฟูโกต์ (2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2557.
                 อนุสรณ์ อุณโณ, จันทนี เจริญศรี, และสลิสา ยุกตะนันท์ บรรณาธิการ. อ่านวิพากษ์มิเชล ฟูโกต์.
          กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยาม, 2558.
                    
                

[1] ธงชัย  วินิจจะกูล. “ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 82 - 83
[2]    อ้างแล้ว, 81[3]  อ้างแล้ว, 18[4] อ้างแล้ว, 221[5]    อ้างแล้ว, 223[6]  อ้างแล้ว, 210
[7]  อ้างแล้ว, 196[8]  อ้างแล้ว, 213[9] ธงชัย  วินิจจะกูล. “ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย” (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 131 - 132[10]  อ้างแล้ว, 138[11]  อ้างแล้ว, 140 - 142,[12]  อ้างแล้ว, 150[13]  อนุสรณ์ อุณโณ, จันทนี เจริญศรี, และสลิสา ยุกตะนันท์ บรรณาธิการ. “อ่านวิพากษ์มิเชล ฟูโกต์” (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์สยาม, 2558), 138
[14] Lemert, Garth and Charles C. Gillan.. Michel Foucault: Social Theory and Transgression. New York: Columbia University Press. 1982. 70 อ้างใน อนุสรณ์ อุณโณ, จันทนี เจริญศรี, และสลิสา ยุกตะนันท์ บรรณาธิการ. “อ่านวิพากษ์มิเชล ฟูโกต์” (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์สยาม, 2558), 138 - 139[15] ธีรยุทธ บุญมี. “มิเชล ฟูโกต์” (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา, 2557), 116[16] ธงชัย  วินิจจะกูล. “กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” แปลโดย พวงทอง  ภวัครพันธ์, ไอลดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์. (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟและสำนักพิมพ์อ่าน, 2556), 24 - 25

แสดงความคิดเห็น

>