Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

คิดอย่างไรกับเขาว่าโลกของวัยรุ่น โทรศัพท์มือถือคือ "พระเจ้า"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

จากข่าวที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนหนึ่ง ออกมาประท้วงอาจารย์ และผู้บริหารโรงเรียน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบการห้ามใช้ "โทรศัพท์มือถือ" ในห้องเรียนนั้น แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถืออย่างยิ่ง ถึงขนาดที่คิดว่าโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตที่ขาดไม่ได้ เกิดเป็นความหลงใหลในเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ "ไร้สาย" จนกลายเป็นความคลั่งไคล้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ "ไร้สติ" ขาดความพอดี และความพอเพียง

ในสายตาของวัยรุ่น โทรศัพท์มือถือมิได้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารที่ย่นระยะทาง และระยะเวลาในการสนทนาระหว่างกันและกันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งที่วัยรุ่นสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตนผ่านการเลือกภาพพักหน้าจอที่แปลกใหม่ การใช้เสียงเรียกเข้า (Ringtone) ที่ทันสมัย และไม่ซ้ำใคร การเลือกเสียงรอสาย (Calling Melody) ที่ตรงกับความชอบ และการเลือกใช้กรอบมือถือที่แสดงบุคลิก และความเป็นตัวตนของพวกเขา

โทรศัพท์มือถือ ยังเป็นเครื่องมือแสดงสถานะทางสังคม ที่สร้างความภูมิใจ และความโก้เก๋ให้แก่วัยรุ่น การเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากใช้โทรศัพท์ที่ตกรุ่น เพราะกลัวจะไม่ทัดเทียมกับเพื่อนนั้น ฟังดูจะคุ้นชินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) ที่วัยรุ่นต้องพยายามเกาะกระแสให้ทัน

นอกจากนี้ วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยยังใช้เวลาในแต่ละวัน สาละวนอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากกว่าที่จะใช้เวลากับพ่อแม่ ญาติพี่น้องเสียด้วยซ้ำ ทั้งการใช้พูดคุยกับเพื่อน/แฟน เล่นเกม ฟังเพลงถ่ายรูป ฯลฯ สรุปได้ว่า ทุกวันนี้ วัยรุ่นจำนวนมากคิดว่า "โทรศัพท์มือถือคือพระเจ้า" ซึ่งเป็นแทบทุกอย่างสำหรับพวกเขา ทั้งเครื่องมือแก้เหงา เครื่องมือคลายเครียด เครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน และแฟน ฯลฯ

วัยรุ่นจึงให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือมากจนอาจเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดประเด็นปัญหาทางสังคมตามมา คือมารยาทในการใช้มือถือ และการติดมือถือ จนผู้ใหญ่ต้องพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อลดทอนความสำคัญ และบทบาทของโทรศัพท์มือถือต่อการใช้ชีวิตของวัยรุ่น เกิดเป็นกฎเกณฑ์การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน สร้างความไม่พอใจให้กับนักเรียนทั้งหลาย จนต้องออกมาประท้วงกันยกใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์มากมาย โทรศัพท์มือถือก็ยังเปรียบเสมือนดาบสองคม พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือในทางลบ หรือผิดวัตถุประสงค์นั้น ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังเช่นการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพลามกอนาจาร รวมทั้ง คลิปวิดีโอที่มีความรุนแรง และส่งต่อกันไปเครื่องต่อเครื่อง ทำให้ภาพดังกล่าวแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการถ่ายทอดค่านิยมที่ผิดๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนในสังคมโดยไม่สามารถสกัดกั้น หรือป้องกันได้

ในแง่ของการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่สามารถเห็นหน้าค่าตากันได้นั้น ทำให้เกิด "วัฒนธรรมการโป้ปด" และ "การหลอกลวง" จนติดเป็นนิสัย ทำให้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกหลายคนนำไปใช้เพื่อโกหกหลอกหลวง นอกจากนั้น พฤติกรรมในการใช้โทรศัพท์มือถือจนเกินพอดี และมารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่ในการสร้าง และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม โทรศัพท์มือถือก็สามารถลดทอนความสัมพันธ์ของคนที่อยู่รอบข้างได้ ทุกวันนี้ผู้คนใช้เวลาในการคุยโทรศัพท์มือถือกับผู้ที่อยู่ห่างไกลกันมาก จนเกือบจะไม่เห็นความสำคัญของคนที่อยู่ใกล้ตัว หลายคนใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยกับคนอื่นเพื่อแก้ขัดเขิน เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่สนิท หรือไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นเหมือนการก่อกำแพงในการสานความสัมพันธ์ หรือผูกมิตรกับคนอื่น มิตรภาพผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารดูเหมือนว่านับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นจนเทียบเท่า หรือแซงหน้ามิตรภาพผ่านการสื่อสารระหว่างบุคคล

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขณะที่มนุษย์จำนวนไม่น้อยใช้โทรศัพท์มือถือในการตอบสนองความต้องการความปลอดภัยนั้น ในทางตรงข้ามโทรศัพท์มือถือนั่นเองที่เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ของความไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุผลที่โทรศัพท์มือถือเป็นวัตถุมีค่า และสามารถฉกฉวยได้โดยง่าย จึงเป็นสิ่งล่อตาล่อใจมิจฉาชีพ ส่งผลให้อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กที่ยังขาดวุฒิภาวะในการป้องกันตนเอง และการระวังภัย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายได้

หากจะหาคำตอบแบบฟันธงจากคำถามที่ว่า "โทรศัพท์มือถือคือพระเจ้า" จริงหรือไม่อย่างไรนั้น อาจต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งในแง่ของคุณประโยชน์ และในแง่ของผลกระทบของโทรศัพท์มือถือต่อมนุษย์ และสังคม ซึ่งสิ่งที่สำคัญไปกว่าการหาคำตอบดังกล่าว น่าจะเป็นการหาวิธีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวัยรุ่น และเยาวชนในสังคมไทยได้รู้จักการใช้โทรศัพท์มือถืออย่าง "พอเพียง" และรู้จักความ "เพียงพอ" ในการ "พึ่งพาอาศัย" เทคโนโลยีไร้สายนี้ ไม่ให้กลายเป็น "การพึ่งพิง" จนทำให้ตกเป็น "ทาสมือถือ" อย่างที่เป็นอยู่

และจะแบ่งเบาภาระไม่ต้องให้ผู้ใหญ่ในสังคม ทั้งพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ต้องปวดหัวกับการแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษาเดินขบวนประท้วงดังที่เป็นข่าวอยู่นี้อย่างแน่นอน

หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งในบทความเรื่องนี้มาจากผลการวิจัยเรื่อง "วัฒนธรรมหนี้กับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนชาวนครปฐม" นำเสนอในที่ประชุมวิชาการภาษาวัฒนธรรมและการพัฒนา เรื่อง "วัฒนธรรมหนี้ในสังคมไทย" จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2549


แสดงความคิดเห็น

>

7 ความคิดเห็น

๑>[M] i [N] k [U]<๑ 23 ม.ค. 50 เวลา 19:31 น. 2

โทรศัพท์มือถือมันก็สำคัญนะ  แต่ไม่ถึงขนาดพระเจ้าหรอก

เหอๆ มันก็จำเป็นในบางเรื่อง แต่ถ้าคุยนานๆไปมานก็ไม่ดีหรอก

เสียสุขภาพอ่า

สำหรับเรา "คิระ คือ พระเจ้าแห่งโลกใหม่"

555555555555+ (เกี่ยวมั้ยเนี่ย - -)

0
นานา 9 พ.ย. 51 เวลา 15:55 น. 4

โทรศัพท์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
แล้วแต่คนจะจะนะ
แต่เราว่า ถ้าคนเรามันรู้จักคิดบ้างคิดลึกๆอ่ะแล้วก็ใช้ให้มันถูกอ่ะ
มันก็ไม่มีข้อเสียหรอกนะ

0
รถถัง 11 ธ.ค. 52 เวลา 15:53 น. 6

เมื่อก่อนเห็น i phone ฮิตเลยซื้อมาใช้ด้วย&nbsp แต่ใช้สัพพักก็เบื่อ&nbsp ตอนนี้เลยใช้ nokia 5800&nbsp แทน แต่บางทีเราก็ใช้สลับกันบ้างน่ะ
แต่เมื่อวานพี่เราที่อยู่เมืองนอกพึ่งซื้อ bb ให้ เผื่อได้เล่น bbm กับพี่ตอนพี่เรียนอยู่เมืองนอกบ้าง แต่ว่าเหลือเวลาอีกเทอมเดียวเราก็ต้องไปเรียนเมืองนอกกับพี่แล้วล่ะ

0