Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แมงกะพรุนน้ำจืด

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
พายเรือท่องป่าตามหา "แมงกะพรุนน้ำจืด"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 เมษายน 2550 13:52 น.
       หากพูดถึง"แมงกะพรุนน้ำจืด"หลายๆคนอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะรู้จักแต่แมงกะพรุนที่อยู่ในน้ำทะเล หรือแมงกะพรุนน้ำเค็ม ทั้งนี้เพราะในโลกใบนี้มีแมงกะพรุนน้ำจืด (Freshwater Jellyfish)อยู่เพียงจำนวนน้อยนิดและมีรายงานการค้นพบว่ามีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งจากรายงานการระบุว่ามีการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2423 และหลังจากนั้นมาก็มีการค้นพบในประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น
       
       สำหรับประเทศไทยมีรายงานการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ในปีพ.ศ.2504 ที่หมู่บ้านโคกไผ่ ริมลำน้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 38 กิโลเมตร ในช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง (มีนาคม-พฤษภาคม) โดยพบว่ามีการกระจายตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง บ้านโคกงิ้ว อ.เชียงคาน จ.เลย ถึงบ้านหนอง อ.สังคม จ.หนองคาย
       
       ในขณะที่บริเวณแก่งสอง แก่งบางระจัน และแก่งวังน้ำเย็น แห่งลำน้ำเข็ก ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ชาวบ้านแถวนั้นเล่าว่า มีการค้นพบเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดในลำน้ำเข็กมาเป็นเวลานานแล้วแต่ไม่ใคร่จะมีใครสนใจมากนัก
       
       กระทั่งในปี พ.ศ.2544 เกรียงไกร สมนรินทร์ ประธานกลุ่มคนรักษ์ป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแม่นา พบว่าแมงกะพรุนน้ำจืดมีจำนวนมากขึ้น และได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2545
       
       สำหรับแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบในประเทศไทยนั้น ชื่อสายพันธุ์ คือ Crasapedacusta Sowerbyi ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้รู้ได้กล่าวว่า เจ้าแมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้ มีรูปร่างแปลกวิจิตรพิสดาร ลำตัวลักษณะใส คล้ายเจลใส่ผม ลำตัวเหมือนร่มเล็กๆ 2 คันซ้อนกัน ขนาดเท่าเหรียญบาทจนถึงเหรียญห้าบาท มีก้านร่ม 4 อันเป็นรัศมีแต่ละก้านมีถุงขาวๆยื่นออกมาตรงหนวดใสๆอยู่รายรอบ คล้ายหนวดของตัวพารามีเซียม มีขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง แต่หนวด 4 อันแข็งแรงและใหญ่ที่สุด
       
       แมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้ว่ายน้ำได้โดยการกระพือขอบร่มเป็นจังหวะ กินแพลงตอน สัตว์ และไข่อ่อนของยุงเป็นอาหาร เคลื่อนย้ายจากแหล่งน้ำที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้นอกเหนือจากล่องลอยไปตามน้ำแล้ว ยังสามารถอาศัยเกาะติดไปกับนกน้ำ (Waterbirds) ได้ด้วย
       
       โดยลักษณะของแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบนี้ เป็นช่วงระยะของวงจรชีวิตที่ตัวเจริญเต็มวัย (Medusa) หลังจากนั้นก็มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติแล้ว จะเปลี่ยนวงจรเข้าสู่ระยะเตรียมฟักตัวในรุ่นต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้จะอยู่ใต้น้ำและมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็น รอการพัฒนาตามระยะของวงจรชีวิต จนกลับมาเป็นตัวเต็มวัยที่พบเห็นบนผิวน้ำได้อีกครั้งหนึ่ง โดยวงจรนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี
       
       สำหรบแมงกะพรุนน้ำจืด แต่ละปีจะขึ้นมาให้เห็นปีละ 1 ครั้ง เฉพาะช่วงที่โตเต็มวัย ซึ่งปีนี้แมงกะพรุนน้ำจืดได้ขึ้นมาบนผิวน้ำและสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยคาดว่าจะมีไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม
       
       ด้วยเหตุนี้ทางชมรมคนรักษ์ป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน และชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเขาค้อ ได้เล็งเห็นความสำคัญของแมงกะพรุนน้ำจืดจึงจัดให้มีการกำหนดจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ณ บ้านหนองแม่นา ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาเรื่อยๆในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่ การพายเรือแบบชาวบ้านศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ ชมวังปลา ชมแมงกะพรุนน้ำจืด ชมผีเสื้อนานาพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์สวยงามหายาก และชมหอยก้นตัด (ภาษาท้องถิ่น) ที่เป็นเอกลักษณ์ที่พบได้แห่งเดียวในลำน้ำเข็กแห่งนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเพิ่มได้ที่ ชมรมคนรักษ์ป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน โทร.08-1046-2166,08-6214-6510 หรือที่ ททท.สำนักงานภาคเหนือเขต 3 โทร.0-5525-2742-3

แหล่งข่าว www.manager.co.th

PS.  +การช่วยเหลือใครสักคน จำเป็นต้องมีเหตุผลด้วยเหรอ+

แสดงความคิดเห็น

>