Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[Tip] หลักการตั้งชื่อตัวละครจีนโบราณ ตามแบบฉบับของ KEISEI : ตอนที่ 2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
** คำเตือน **
กระทู้นี้จะยาวมาก
ใครสายยาวไปไม่อ่าน โปรดรอกระทู้จบ จะลงวันละ 1 กระทู้
เวลาแล้วแต่สะดวก
*************
ตอนที่ 1
*************

3.หลักการตั้งชื่อบรรดาศักดิ์ 

ในที่สุดก็ก้าวเข้าสู่หัวข้อที่ 3 เสียที เขียนมาตั้งนาน!

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องแยกจากราชทินนาม เพราะชื่อบรรดาศักดิ์เองก็ได้รับจากพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน นับเป็นราชทินนามอย่างหนึ่ง แต่เราอยากแยกให้มันเห็นภาพชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้ไม่สับสนเวลานำไปปรับใช้ หรือจะพูดสั้นๆ ง่ายๆ แบบยอมรับตัวเองคือ...ไม่อยากงงเอง เครป๊ะ!? (หาเรื่องกวนส้นชาวบ้านอีกละ) 

เหมือนเดิม ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก เรามาทำความรู้จักกับตำแหน่งบรรดาศักดิ์กันเล็กน้อย ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึงแค่ 5 ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี พวกเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นที่มีการบันทึกไว้...ข้อยไม่แตะนะ 

สำหรับบรรดาศักดิ์ที่มักปรากฏในนิยายจะประกอบด้วย “กง โหว ป๋อ จื่อ หนาน” เรียงจากใหญ่ไปหาเล็กตามนี้ ซึ่งในแต่ละระดับขั้นเหล่านั้นจะแย่งแยกออกไปอีกหลายขั้น ตรงนี้พวกคุณต้องศึกษากันต่อ เนื่องจากว่ามันยิบย่อยมาก เราเองก็หามาแปะให้พวกคุณอ่านได้ไม่หมดหรอก แต่ละยุคสมัยจำนวน/ชื่อตำแหน่งก็ไม่เหมือนกัน อยากอ้างอิงยุคไหนต้องหาข้อมูลดีๆ 

บรรดาศักดิ์เหล่านี้จะแต่งตั้งให้แก่ขุนนางที่มีความดีความชอบ (ส่วนจะมาพร้อมกับที่ดินศักดินาหรือไม่ สุดแต่ฮ่องเต้จะบัญชา) ยิ่งตำแหน่งใหญ่มากเท่าไหร่ก็แสดงว่าคนคนนั้นมีความชอบมาก โดยเฉพาะขุนนางติดตามในยุคก่อตั้งราชวงศ์ หลายๆ คนถึงกับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นกั๋วกง (หรือบางทีก็ตั้งให้พ่อตา เพื่อเป็นเกียรติแก่ฮองเฮา ทว่าตำแหน่งขุนนางและบรรดาศักดิ์แต่เดิมต้องสูงอยู่แล้วด้วย) 

ในส่วนของการสืบทอดบรรดาศักดิ์นั้น มักจะสืบทอดกันสามชั่วรุ่น เมื่อถึงรุ่นที่สี่จะมีการลดระดับขั้นลงไป 1 ระดับ เช่น จาก “กง” ไปเป็น “โหว” จาก “จื่อ” ไปเป็น “หนาน” เป็นต้น แต่ในการสืบทอดนี้จะต้องได้รับพระราชโองการแต่งตั้งจากฮ่องเต้ด้วย หากสุดท้ายแล้วฮ่องเต้ไม่แต่งตั้ง ยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ หากซื่อจื่อ (ชื่อตำแหน่งผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์) เป็นขุนนางก็ยังดีหน่อย เพราะจะมีสถานะซื่อจื่อต่อไป ทว่าก็ค่อนข้างกระอักกระอ่วนในวงสังคม ตัวตนเองก็เป็นที่อับอายของคนอื่นด้วย มีแต่ต้องสร้างความชอบจึงจะได้แต่งตั้ง 

กลับกันถ้าซื่อจื่อไม่ได้มีตำแหน่งขุนนาง ไม่ได้รับความสำคัญ ไม่มีอะไรสักอย่างก็อาจจะต้องทำเรื่องถวายบรรดาศักดิ์คืนและเก็บข้าวของออกจากเมืองหลวงไปทำอาชีพอื่นต่อไป หรือฮองเต้อาจจะมีรับสั่งให้ริบคืนบรรดาศักดิ์เสียก็ได้ เพราะเห็นว่าไม่มีคุณประโยชน์แล้วอะไรอย่างนั้น 

หลักการตั้งชื่อบรรดาศักดิ์ 

1.ดูสถานะความใกล้ชิดระหว่างฮ่องเต้กับขุนนางเพื่อกำหนดลำดับบรรดาศักดิ์ก่อน จากนั้นดูความชอบว่าใหญ่เล็กแค่ไหน ความจงรักภักดีที่มีต่อฮ่องเต้ หรือนิสัยในการทำงานเป็นอย่างไร มาจากสายงานแบบไหน บุ๋นหรือบู๊ 

ยกตัวอย่างเช่น ขุนนางติดตามฮ่องเต้จนสถาปนาราชวงศ์ใหม่ได้ มาจากสายงานบู๊ ต่อสู้ปกป้องฮ่องเต้อย่างดีมาตลอด ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องเจ้านาย อาจได้รับบรรดาศักดิ์ถึงระดับกั๋วกง และได้ชื่อบรรดาศักดิ์ที่สะท้อนถึงความเสียสละ เช่น หย่งกั๋วกง เป็นต้น

หรือหากเป็นขุนนางสายบุ๋น ทำหน้าที่ในกรมอาญา ตัดสินคดีด้วยความซื่อสัตย์ซื่อตรง ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่ว่าจะเจ้าหรือสามัญชนก็ตัดสินคดีอย่างเท่าเทียม ก็อาจได้รับชื่อบรรดาศักดิ์ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ เช่น เฉิงโหว เป็นต้น

2.จากข้อ 1. เมื่อเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ คำที่เลือกมาก็ต้องมีความหมายที่ดีเสมอ ทั้งยังต้องสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของบุคคลที่ได้รับด้วย

จำนวนคำเองก็สามารถมีได้หลายคำ แต่ละคำก็จะต้องมีความหมายที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน  

3.หากว่าเป็นบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานให้แก่ขุนนางนอก (ขุนนางที่ส่งไปประจำการในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือขุนนางท้องถิ่นที่มีความชอบใหญ่หลวง จนได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการถาวร (หรือกึ่งถาวร) เช่น แม่ทัพประจำชายแดน เป็นต้น) สามารถพิจารณาตั้งตามชื่อเมือง/ถิ่นที่อยู่ก็ได้ เช่น แม่ทัพใหญ่ชายแดน ประจำการอยู่ในเมืองคังซื่อ ได้รับบรรดาศักดิ์โหวก็เรียกว่า คังซื่อโหว เป็นต้น

4.หากว่าไม่ตั้งตามเมือง/ถิ่นที่อยู่ก็ยังสามารถตั้งโดยอ้างอิงระดับขั้นขุนนางได้ ส่วนมากจะพบในตำแหน่งทางการทหารที่ประจำการอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ที่จะแบ่งแยกออกเป็นหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง เขตพื้นที่ปกป้องตามแนวชายแดน และมณฑล (ส่วนเหตุที่พบมากปรากฏในนิยายบ่อยๆ/ซีรีส์/คอมมิก 555555) สามารถตั้งได้ทั้งนำคำว่า “เจิ้น” (หัวเมืองหลัก) มาประสมกับชื่อเมืองที่ประจำการอยู่ก็ได้เช่นเดียวกัน 

ยกตัวอย่างตัวละครของเราเอง เรามีแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอุดรอยู่ 1 ea แต่ประจำการอยู่ที่หัวเมืองเอกซึ่งเป็นหน้าด่านชายแดนชื่อว่า เมืองหยางคัง ฮ่องเต้จึงตั้งนามไฉไลให้ว่า “เจิ้นหยางโหว” คำว่า “เจิ้น” ก็คือหัวเมืองหลัก หยางก็มาจากชื่อเมืองหยางคัง ส่วนโหวก็คือบรรดาศักดิ์ของเขาเอง 

แน่นอนว่าในสายบุ๋นก็มีการตั้งบรรดาศักดิ์ตามหน้าที่เช่นเดียวกัน ข้าหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ส่วนใหญ่ก็มักจะตั้งตามตำแหน่งที่ได้รับ เช่น มีหน้าที่เก็บภาษีก็ตั้งบรรดาศักดิ์เกี่ยวกับภาษีเงินทอง อะไรแบบนั้น 

5.ตั้งด้วยคำเฉพาะโดยอ้างอิงจากความดีความชอบ พวกนี้มักพบในขุนนางสายทหารเสียมาก เพราะนับเป็นความชอบใหญ่หลวงที่เห็นภาพชัดเจน เช่น ยกกองทัพไปปราบชนเผ่าจนได้รับชัยชนะกลับมาก็อาจจะได้รับการตั้งบรรดาศักดิ์ด้วยคำที่สะท้อนถึงการปราบปรามชนเผ่า เช่น หมานผิง (หมาน เป็นคำเรียกกลุ่มคนไร้อารยะคำหนึ่ง ผิงแปลว่า สงบ) เป็นต้น 

6.ชื่อบรรดาศักดิ์ต้องไม่ซ้ำกัน 

คำว่าไม่ซ้ำกันในที่นี้จะไม่ได้ใช้หลักการเดียวกับชื่อตัว/ราชทินนามนะ เนื่องจากว่าผู้ได้รับส่วนใหญ่เป็นแค่ขุนนางหรือชนชั้นสูงที่สืบทอดบรรดาศักดิ์มาจากบรรพบุรุษ ดังนั้นชื่อบรรดาศักดิ์ก็จะต้องไม่เหมือนกัน เพื่อเป็นการระบุตัวตนให้ชัดเจน ยกเว้นแต่ว่าบรรดาศักดิ์นั้นจะเป็นการสืบทอดแบบลดขั้นมาจากบรรพบุรุษ ชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็จะตกแก่ลูกหลานที่ได้รับบรรดาศักดิ์ใหม่ต่อไป 

7.บรรดาศักดิ์เมื่อครบ 3 ชั่วรุ่นแล้ว สามารถตั้งซ้ำแก่สกุลเดิมได้โดยที่ไม่ลดบรรดาศักดิ์ 

ในเมื่อทุกอย่างเป็นพระประสงค์ของฮ่องเต้ และบรรดาศักดิ์เหล่านี้ก็แต่งตั้งให้แก่ขุนนางผู้มีความชอบ มันก็จะมีเหตุการณ์ที่รุ่นปู่ทวดบุกเบิก แต่รุ่นปู่กับบิดาไม่เอาอ่าว กลับเป็นรุ่นลูกที่ทำผลงานยอดเยี่ยมควรค่าแก่การมอบบรรดาศักดิ์ ทว่าบรรดาศักดิ์สิ้นสุดในรุ่นบิดา ฮ่องเต้ก็สามารถพิจารณาให้สืบทอดบรรดาศักดิ์เดิมต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษ หรือจะแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ใหม่เทียบเท่ากับของเดิมโดยเปลี่ยนชื่อบรรดาศักดิ์ก็ได้ 

ยกตัวอย่างตัวละครของเรา (อีกแล้ว) เอาคนเดิมเลย

เจิ้นหยางโหว ของเราคนนี้มีบรรพบุรุษเป็นแม่ทัพใหญ่อุดรเช่นเดียวกัน แต่บรรดาศักดิ์เดิมของบรรพบุรุษคือ เจิ้นเป่ยโหว (เป่ย ในที่นี้แปลว่า ทิศเหนือ) โดยบรรพบุรุษในรุ่นปู่ทวดสร้างความชอบด้วยการปราบปรามชนเผ่านอกด่านอย่างเด็ดขาด (พ่วงด้วยแต่งงานกับองค์หญิง) แต่ต่อมารุ่นปู่กับรุ่นพ่อนิสัยไม่เป็นโล้เป็นพาย แถมไม่มีตำแหน่งขุนนางอีก บรรดาศักดิ์โหวนี้ หากมองสภาพความเป็นจริงก็ควรจะถูกเก็บกลับหรือได้รับการสืบทอดโดยลดขั้นลงตามธรรมเนียม ทว่าฮ่องเต้พอใจความสามารถของเจิ้นหยางโหว จึงออกพระราชโองการแต่งตั้งเป็นโหวเทียบเท่าบรรพบุรุษและเปลี่ยนชื่อบรรดาศักดิ์ใหม่ไปพร้อมกัน

โดยทั่วไปแล้ว การแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เทียบเสมอ มักแต่งตั้งต่อเมื่อรุ่นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากฮ่องเต้พอพระทัยจริงๆ ก็อาจจะตั้งเทียบได้เลย ในนิยายบางเรื่องอาจปรากฏว่ารุ่นลูกเก่งกาจกว่ารุ่นพ่อมาก ถึงกับได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์สูงกว่าก็มี 

8.ใน 1 สกุลสามารถมีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ได้มากกว่า 1 คน 

จากย่อหน้าสุดท้ายของข้อที่ 7. หากใครสังเกตและย่อยข้อความได้ทันก็น่าจะตามทันแล้วว่า ใน 1 สกุลสามารถมีผู้รับบรรดาศักดิ์ได้หลายคน เหตุผลก็อย่างที่กล่าวเอาไว้แล้ว ขุนนางมีความสามารถ ตำแหน่งทางราชการเหมาะสม (ต่อให้ไม่เหมาะก็ยังมีการเลื่อนขั้น) ย่อมได้รับบรรดาศักดิ์ ในบางยุคสมัยถึงกับมีบรรดาศักดิ์สำหรับผู้เป็นทายาทสืบต่อตำแหน่งชินอ๋องและจวิ้นอ๋องเสียด้วยซ้ำ (ใบ้ว่ายุคราชวงศ์แมนจู ยุคอื่นก็อาจจะมี แต่อันนี้เราไม่ทราบ) แต่เราจะไม่ขอกล่าวถึง ใครอยากเขียนอ้างอิงยุคนี้ต้องไปหาข้อมูลกันเอง รายละเอียดเยอะและชัดเจนที่สุดแล้ว 

ที่นี้นอกเหนือจากยุคที่กล่าวมาข้างต้น การที่ 1 สกุลมีขุนนางบรรดาศักดิ์มากกว่า 1 คนจะปรากฏก็ต่อเมื่อ ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ที่ 2 ที่ 3... มิใช่ผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์ที่มีอยู่เดิม นั่นคือเป็นลูกชายคนที่ 2 คนที่ 3 หรือเป็นทายาทของบ้านรอง หรือเป็นญาติพี่น้องร่วมสกุลเดียวกัน ในนิยายบางเรื่องปรากฏว่าบิดากินตำแหน่งเป็นกั๋วกง ลูกชายคนที่ 3 ซึ่งเป็นแม่ทัพมีความชอบใหญ่หลวงกินบรรดาศักดิ์โหว เป็นต้น 

แต่ลักษณะเช่นนี้มีพบเห็นได้ค่อนข้างน้อยมาก ถ้าไม่เก่งจริง ไม่ได้รับความไว้วางใจจากเบื้องบนจริงๆ อีกทั้งไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสมจริงๆ การจะมีผู้รับบรรดาศักดิ์มากกว่า 1 คนในสกุลเดียวก็คือฝันลมๆ แล้งๆ นี่เอง

9.ราชทินนาม/บรรดาศักดิ์ ≠ สมญานาม/ฉายานาม

ในหลายๆ ครั้งเวลาที่เราอ่านนิยาย/การ์ตูน/ดูซีรีส์จะพบเจอกับขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์มีสมญานาม/ฉายานามด้วย หรือบางคนไม่มีบรรดาศักดิ์ แต่ฮ่องเต้พอพระทัยคนคนนั้นมากจึงตั้งสมญานาม/ฉายานามให้และใช้เรียกคนคนนั้นด้วยพระองค์เอง ลักษณะนี้ “สมญานาม” ที่ตั้งขึ้นจึงมิใช่บรรดาศักดิ์ ดังนั้นอย่าสับสนและระมัดระวังในการจำมาใช้ให้ดีๆ

สิ้นสุดกับหัวข้อการตั้งชื่อบรรดาศักดิ์ หลักการตั้งเหมือนจะยุ่งยากน้อยกว่า มีทางเลือกมากกว่า หวังว่าจะช่วยให้ตั้งชื่อบรรดาศักดิ์ได้ง่ายขึ้น

>>>>> มีต่อในคอมเมนต์ 1

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

เคย์เซย์ 29 พ.ค. 66 เวลา 13:33 น. 1

4.หลักการตั้งชื่อตัวของตระกูลผู้มีการศึกษา


ถ้าเทียบกับหลักการตั้งชื่อตัว/ราชทินนามของเชื้อพระวงศ์แล้ว การตั้งชื่อตัวของสกุลมีการศึกษาค่อนข้างง่ายกว่า แม้ว่าหลักการหลายๆ อย่างจะมีใจความสำคัญคล้ายๆ


แต่ก่อนจะเข้าเนื้อหา ขอนิยามศัพท์เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อน


คำว่า “ตระกูลมีการศึกษา” ในที่นี้คือ ครอบครัวของคนที่ได้รับการศึกษา ส่วนมากจะเป็นชนชั้นกลาง ครอบครัวบัณฑิต ขุนนาง คหบดี (ทั้งยังมีกินและตกยาก) หรือครอบครัวมีฐานะยากจน การศึกษาน้อย แต่ได้รับเอาแนวทางการตั้งชื่อของคนมีการศึกษามาใช้ก็นับรวมอยู่ในหัวข้อนี้ด้วยเช่นกัน

หลักการตั้งชื่อตัวของตระกูลมีการศึกษา แยกออกเป็นข้อๆ ดังนี้


1.อักษรรุ่นเหมือนกันทั้งชายและหญิง


ข้อนี้แตกต่างจากโอรส/ธิดาของฮ่องเต้ที่อักษรรุ่นต้องแตกต่างกัน แต่ในตระกูลการศึกษาลูกหลานทั้งชายหญิงในแต่ละรุ่นจะใช้อักษรรุ่นตัวเดียวกันหมด เพื่อความสะดวกในการระบุรุ่น


เมื่อเป็นอย่างนี้อักษรรุ่นที่เลือกใช้ก็ควรจะเป็นคำที่สามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง มีความหมายที่ดี เมื่อนำคำอื่นมาประกอบกับอักษรรุ่นแล้วต้องดูไม่ประดักประเดิดจนเกินไปทั้งชายและหญิง


โดยทั่วไปแล้ว อักษรรุ่นจะนิยมวางอยู่ด้านหน้าของชื่อ แล้วใช้คำอื่นประกอบเข้าไปเป็นชื่อบุคคล แต่ก็มีบ้างที่นำอักษรรุ่นไว้ท้าย แล้วเปลี่ยนคำนำด้านหน้าแทน เช่น จงอวี้ เสวี่ยอวี้ ถานอวี้ เป็นต้น แต่กรณีหลังพบได้ค่อนข้างน้อย


ที่สำคัญอักษรรุ่นในที่นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงคำที่นำอยู่ข้างหน้า หรือคำที่อยู่ข้างหลังเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอักษรที่ประกอบอยู่ในคำเดี่ยวด้วย


เอาล่ะสิ เริ่มงงกันแล้วใช่ไหมล่ะ XD


แต่เดี๋ยวเอาไว้ค่อยอธิบายในหัวข้อสุดท้าย เพื่อป้องกัน (เรา) การสับสน


2.ต้องไม่ตั้งซ้ำกับผู้ใหญ่ภายในบ้าน


ในข้อนี้จะคล้ายกับหลักการตั้งชื่อเชื้อพระวงศ์ที่ไม่ควรตั้งโดยใช้อักษรหรือมีเสียงเหมือนหรือคล้ายกับญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ภายในบ้าน ยิ่งครอบครัวคนมีฐานะ เป็นครอบครัวใหญ่ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากๆ


นี่เป็นหลักการของความกตัญญู ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ในบ้าน การตั้งชื่อลูกหลานซ้ำกับญาติผู้ใหญ่ในบ้านนับเป็นความอกตัญญูแบบหนึ่ง


ยกเว้นเสียแต่ว่าญาติผู้ใหญ่หรือคนตั้งตั้งใจมอบชื่อของตัวเองให้ลูกหลานใช้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องตั้งโดยประกอบกับอักษรรุ่นเท่านั้น ตรงนี้ก็จะเหมือนกับหลักการตั้งชื่อของเชื้อพระวงศ์


แน่นอนหากคุณเขียนแนวปัจจุบัน อาจไม่ต้องกังวลข้อนี้มากนัก เพราะความเคร่งครัดลดน้อยไปมากพอสมควร พ่อแม่หนุ่มสาวหลายคู่ก็เอาชื่อของตัวเองไปตั้งเป็นชื่อลูกกันเยอะมาก หลายๆ คู่ผสมกันออกมาเลยก็มี


ยิ่งในยุคที่ยังมีกฎหมายบังคับให้มีลูกคนเดียวอยู่ พ่อแม่หลายคู่นิยมตั้งชื่อลูกของตัวเองด้วยการใส่คำว่า “เสี่ยว” ตามด้วยชื่อที่มีเสียง/ความหมายน่ารักๆ หรือคำที่มีความหมายที่ดี อย่างเช่น เสี่ยวมี่ (น้ำผึ้งน้อย) เสี่ยวหมิง (แสงสว่างดวงน้อย) เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความรักใคร่เอ็นดูลูกๆ ของตนเอง


แต่ถ้าคุณเขียนแนวจีนโบราณ คุณยังต้องระมัดระวังในข้อนี้ต่อไป


3.ชื่อที่ตั้งแม้เรียบง่ายก็ต้องความหมายดี


อันที่จริงข้อนี้ไม่ต่างหลักการตั้งชื่อเชื้อพระวงศ์มากนัก คือ ความหมายต้องดี คำต้องดี ที่มาดี เป็นมงคลแก่เด็ก เพราะชื่อนอกจากจะเป็นการแสดงตัวบุคคลแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์หน้าตาของผู้ตั้ง ตลอดจนภาพลักษณ์ของครอบครัวด้วย (เกี่ยวโยงกันเยอะเนอะ แต่นี่คือการตีความของเรา)


ดังนั้นต่อให้เด็กที่เกิดมาคนนั้นเป็นลูกชังของตัวเอง ไม่ใช่ลูกหลานที่รักใคร่ หรือเกิดจากบิดามารดาที่ผู้ตั้งไม่โปรดปราน คำและความเหมายที่เลือกมากก็ต้องดีประมาณหนึ่ง เรียบง่ายได้ แต่ต้องไม่ใช่ความหมายเชิงลบ ถือเสียว่ารักษาหน้าตาและวงศ์ตระกูลของตัวเองกันหน่อย เก็ตเนอะ


4.ในตระกูลผู้มีการศึกษา ส่วนใหญ่มักจะมีการตั้งชื่อรองเสมอ


ตามที่บอกไปในอารัมภบทแล้วว่า คนจีนส่วนใหญ่ก็เหมือนกับคนไทย ที่มีชื่อเล่น (ชื่อรอง) ชื่อจริง ฉายานาม พวกตระกูลผู้มีการศึกษาทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น (อาจจะยกเว้นชาวบ้านที่เลียนอย่างคนมีเงิน เพราะพวกเขาไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น) จึงมักจะมีการตั้งชื่อรองอยู่เสมอ โดยชื่อรองนี้มักจะเกี่ยวโยงกับชื่อจริงของเจ้าของชื่อด้วย โดยจะเอาคำในชื่อ หรืออักษรประกอบในชื่อมาประกอบกับอักษรใหม่เป็นชื่อใหม่ก็ได้


อย่างไรก็ตาม ถ้าในนิยายของคุณไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อรอง คุณก็ไม่ต้องตั้ง ไม่จำเป็นต้องเคร่งขนาดนั้นเสมอไป เรายังสามารถใช้คำสร้อยอื่นมาใช้เรียกสหาย/สามีภรรยา/คนสนิทของตัวละครเราได้อยู่


5.ความหมายของชื่อกับแซ่ **ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป แต่ก็ต้องไม่ผสมออกมาแล้วความหมายแย่**


จริงๆ ข้อนี้ควรจะไปปรากฏในหลักการตั้งชื่อเชื้อพระวงศ์ด้วย ทว่าเราเชื่อมั่นใจศักยภาพของนักเขียนไทยทุกคนว่า คงจะไม่อินโนเซนส์ถึงขั้นตั้งชื่อแซ่ของเชื้อพระวงศ์ในความหมายเชิงลบแน่นอน จริงมั้ยยยย~~~


ดังนั้นเรื่องนี้จึงมาข้อที่ข้อนี้น่ะเอง


แม้ว่าในหลายๆ ครั้งแซ่ของคนจีนจะไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าอักษรระบุวงศ์ตระกูลหนึ่งๆ ไม่มีความหมายในที่นี้คือ ไม่มีเลย เป็นแค่อักษรหนึ่งตัวที่ตั้งขึ้นมา โดยระบุว่าอักษรนี้เป็นแซ่หนึ่งของประชากรจีนเท่านั้น


ทว่าในทางการตั้งชื่อ เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องเสียงกับความหมายเอาไว้ให้มาก เพราะหลายครั้งเมื่อนำชื่อไปผสมกับแซ่แล้ว คำของมันมีความหมายที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ก็ไม่เหมาะจะใช้นัก

อีกอย่างชื่อเปรียบเสมือนหน้าตาของผู้ใช้ คงไม่มีใครอยากใช้ชื่อที่มีความหมายไม่ดีหรอกจริงมุ้ยยยย


กลั่นออกมาได้ทั้งหมด 5 ข้อใหญ่ๆ พร้อมคำอธิบายยืดยาว แต่คิดว่าน่าจะครอบคลุมทั้งหมดแล้ว หากมีใครเพิ่มเติมก็ลงเอาไว้ได้



************************



บทความนี้ ผู้อ่านสามารถแชร์ลิงก์ต่อได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปลงเว็บไซต์/แพลตฟอร์มอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี อยากนำไปลงต่อมาคุยกันก่อนจ้ะ

0
Rujinpie 29 พ.ค. 66 เวลา 17:22 น. 2

เนื้อหาดีมาก ๆ ครับ ที่ผมไม่กล้าเขียนนิยายจีน ก็เพราะการตั้งชื่อนี่แหละ

0
chompu001 29 พ.ย. 66 เวลา 23:32 น. 3

ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ กำลังหาข้อมูลนี้อยู่เลย ขอให้นิยายปังๆ ดังเป็นพลุแตกเลยน้าา

0