ทำไมต้องเรียนธรณี? - ทำไมต้องเรียนธรณี? นิยาย ทำไมต้องเรียนธรณี? : Dek-D.com - Writer

    ทำไมต้องเรียนธรณี?

    โดย GeoThai

    ทำไมต้องเรียนธรณี? ก็เพราะเราอาศัยอยู่บนโลกน่ะสิ!!! เราจะอยู่กันอย่างไรหากไม่มีศาสตร์ทางธรณี นี่แหละคือเหตุผลที่..ทำไมต้องเรียนธรณี?

    ผู้เข้าชมรวม

    6,526

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    6.52K

    ความคิดเห็น


    24

    คนติดตาม


    4
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  25 เม.ย. 52 / 17:23 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ธรณีศาสตร์ ธรณีวิทยา ธรณีวิศวกรรม ธรณีฟิสิกส์ ฯลฯ อาจจะเป็นคำที่เราคุ้นเคย หรือหลายคนแทบจะนึกไม่ออก ทั้งๆ ที่ธรณีไม่ใช่เรื่องใหม่ เรารับรู้และคุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่เกิด การเรียนธรณีเป็นเรื่องที่สำคัญ ตราบเท่าที่เรายังต้องอาศัยอยู่บนโลกแห่งนี้ เราจะอยู่กันอย่างไรหากไม่มีศาสตร์ทางธรณี นี่แหละคือเหตุผลที่..ทำไมต้องธรณี?
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ทำไมต้องเรียนธรณี?
      ก็เพราะเราอาศัยอยู่บนโลกน่ะสิ!!!

                เกือบทุกกิจกรรมที่เราทำในทุกวันนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับโลกของเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นดิน มหาสมุทร ชั้นบรรยากาศ หรือแม้กระทั่งพืช และสัตว์ อาหารที่เรารับประทาน น้ำที่เราดื่ม บ้านหรือโรงเรียนที่เราอยู่ เสื้อผ้าที่เราใส่ พลังงานที่เราใช้ และอากาศที่เราหายใจ ต่างก็ได้เกิดขึ้น และอยู่ล้อมรอบโลกใบนี้
                ในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีประชากรประมาณ 8 พันล้านคนอาศัยอยู่บนโลก ถ้าเรายังคงต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิต เราทุกคนหรือทุกชุมชนจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของเราให้มากขึ้น ในแง่ของกระบวนการทางธรรมชาติต่างๆ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความรู้เหล่านี้มีเพียงศาสตร์ทางธรณีเท่านั้นที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและตระหนักถึงโลกอันซับซ้อนใบนี้ได้

      วิชาธรณีมีประโยชน์ต่อทุกคน

                ความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนเรานั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจและจัดการกับทรัพยากรในพื้นที่ที่เราอยู่ได้ดีแค่ไหน กระบวนการธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อการอุโภคบริโภค ทรัพยากรน้ำและความรุนแรงของไฟป่า แผ่นดินไหว การระเบิดของภูเขาไฟ คลื่นยักษ์ซึนามิ และน้ำท่วมก็สามารถคร่าชีวิตคนจำนวนมากและสร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้าน หรือหลายพันล้านบาทได้
                ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ทางธรรมชาติเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อเรา กิจกรรมของเราแต่ละคน แต่ละสังคม หรือระดับประเทศ ก็ส่งผลต่อโลกเช่นกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรได้เพิ่มความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเรานำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ในวันนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อโลกในปัจจุบัน แล้วยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังต่อไปได้ในอนาคต เพื่อการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เราต้องดำเนินการโดยตระหนักถึงอนาคตด้วย เริ่มจากการเข้าใจเกี่ยวกับระบบ ต่างๆ ของโลกให้มากขึ้น
                วิชาธรณีช่วยให้เราได้คิดถึงส่วนรวมและท้องถิ่น ด้วยการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราและชุมชน คนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงานต่างๆ ของโลก สามารถให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้เกี่ยวกับสถานที่ปลอดภัยที่จะซื้อหรือสร้างบ้าน พวกเขาสามารถอภิปรายและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การวางและพัฒนาผังเมือง ความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน รวมถึงการใช้และการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
                ในสังคมที่ีให้ความสำคัญต่อการศึกษา จะมีการปลูกฝังจิตสำนึกคนในชุมชนถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อโลก ให้การระลึกถึงและตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทางธรณีในทุกระดับ ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย เมื่อไหร่ที่เราให้ความสำคัญกับวิชาธรณี เมื่อนั้นทุกคนก็จะได้ประโยชน์ด้วยกัน

      วิชาธรณีสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

               ถ้าเราปรารถนาที่จะอาศัยอยู่ร่วมกับโลกใบนี้ เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพฤติกรรมของโลก และเข้าใจในปฎิสัมพันธ์ของส่วนประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก วิชาธรณีได้ให้วิธีการคิดแบบบูรณาการความรู้จากหลายๆ สาขา บวกกับจินตนาการ เพื่อให้เข้าถึงการเข้าใจโลกของเราอย่างแท้จริง วิชาธรณีประกอบด้วยการประยุกต์ความรู้จากชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ นิเวศวิทยา และคณิตศาสตร์ เพื่ออธิบายความซับซ้อนของโลกใบนี้ การศึกษาทางธรณียังช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพในอดีตและเพิ่มความสามารถในการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเข้าใจกระบวนการทางธรรมชาติต่างๆ ที่ส่งผลต่อเราในปัจจุบันและในอนาคต นักธรณีวิทยาจะมองหาหลักฐานหรือร่องรอยของกระบวนการนั้นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมเราไปสู่อดีตและท้าทายให้เราได้คิดถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้
                การเรียนธรณีได้ก่อให้เกิดคำถามอันน่าสนใจไว้มากมาย ทำไมจึงเกิดแผ่นดินไหว? ทำไมถึงมีการกัดเซาะชายฝั่ง แล้วเราควรจะจัดการอย่างไร? ทำไม่บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงไม่เหมาะแก่การสร้างบ้าน? บริเวณไหนที่เราจะนำพลังงานเชื้อเพลิงมาใช้ได้ในอนาคต? บริเวณไหนที่เราจะพบน้ำดื่มที่มีคุณภาพดี? เราจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? ประเด็นและปัญหาต่างๆ เหล่านี้ อยู่บนพื้นฐานความรู้ทางธรณีทั้งสิ้น

      ความรู้ทางธรณีสร้างงานเพื่อชีวิต

                การศึกษาทางธรณีมีบทบาทอย่างมากในสังคมที่มีความต้องการใช้ทรัพยากร และจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง การเรียนธรณีได้พัฒนาทักษะหลายๆ ด้านที่ช่วยให้ผู้ที่ศึกษากลายเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี รวมถึงการคิดวิเคราะห์ในหลายมิติ อีกทั้งมีความเข้าใจในแง่การย้อนอดีตและมาตรธรณีกาล (Geologic time scale) นักธรณีวิทยาจะใช้ทักษะเหล่านี้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ การสำรวจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน การทำแผนที่ทรัพยากร การติดตามสภาพภูมิอากาศ และการค้นหาวัสดุที่เหมาะสมต่อการสร้างบ้านและถนน หรือการเสาะหาพื้นที่เพาะปลูกที่มีแร่ธาตุและโภชนาการที่เราต้องการ เป็นต้น
                นักธรณีวิทยาทำงานได้อย่างกว้างขวางในหลายองค์กร รวมถึง บริษัทสำรวจปิโตรเลียม บริษัทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บริษัทเหมืองแร่ และบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น นักธรณีวิทยาทำงานได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงองค์กรระดับชาติ อีกทั้งการสอนการวิจัยในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย นอกจากนี้นักธรณีวิทยายังสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้อีกด้วย อาทิ วิศวกรรม การเกษตร การผังเมือง หรืออวกาศ ซึ่งจะช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งบนโลกที่ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจการของหน่วยงานนั้นๆ ได้อีกด้วย
                ในประเทศไทยมีหลักสูตรการเรียนการสอนธรณีศาสตร์ (ครอบคลุมทุกศาสตร์ที่สัมพันธ์กับโลก) ธรณีวิทยา ธรณีวิศวกรรม ธรณีฟิสิกส์ ระดับปริญญาตรีในหลายมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ เป็นต้น บางแห่งเปิดหลักสูตรธรณีจนถึงระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
                การเรียนธรณีได้สร้างรากฐานความรู้ที่สำคัญให้แก่หลายสายงาน และค่อยๆ ซึมซาบความเข้าใจให้ด้วยว่าระบบต่างๆ ของโลกนั้นมีอิทธิพลต่อกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์อย่างไร อย่างไรก็ตามนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหลายคนยังไม่ค่อยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาขาวิชานี้ว่ามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร และมองไม่เห็นถึงทักษะการแก้ปัญหาที่ได้จากการเรียนสาขานี้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาทางธรณี ถ้าเรายังจะต้องพบกับความต้องการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นในอนาคต

      ความรู้ทางธรณี : เน้นกันมากขึ้น

                วิชาธรณีเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ ที่สอนมาแล้วหลายสิบปีทุกโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งหลายคนยังคงคิดว่าชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ เท่านั้นที่เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ในปัจจุบันความคิดเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป
               ภายหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซินามิเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ที่คร่าชีวิตผู้คนตามแนวชายฝั่งอันดามันหลายแสนคน และสร้างความเสียหายหลายล้านบาท ความรู้ทางธรณีเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิชาธรณี และได้ส่งเสริมการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาธรณีในโรงเรียนมากขึ้น รวมถึงการจัดค่ายอบรมครูผู้สอนและนักเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัจจุบันมีนักเรียนหลายได้ให้ความสนใจที่จะเรียนต่อทางธรณีศาสตร์ ธรณีวิทยา ธรณีวิศวกรรม เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาชีพนักธรณีวิทยาได้กลายเป็นอาชีพต้นๆ ที่หลายคนใฝ่ฝัน และเป็นความต้องการอย่างมากในอนาคต

                ต่อจากนี้ ทำไมต้องเรียนธรณี? คงจะกลายเป็นคำถามที่ไม่อยากตอบ ที่ทุกคนควรจะรู้คำตอบกันอยู่แล้วในใจ ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าในอดีตทุกคนไม่มีความรู้ทางธรณีแล้วล่ะก็..โลกของเราจะยังเป็นเหมือนใน ปัจจุบันนี้เหรอไม่ ต้องขอบคุณที่มีวิชาธรณีและนักธรณีวิทยาทุกๆ คน ที่ทำให้เราได้อยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขสบาย

      หมายเหตุ

      ธรณีวิทยา (Geology) มาจากภาษากรีกว่า Geos ซึ่งแปลว่าโลก และ Logi หรือ Logus วึ่งหมายถึงวิทยาศาสตร์ ดังนั้นธรณวิทยาจึงหมายถึงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกพิภพหรือโลกมนุษย์ (planet earth) ซึ่งครอบคลุมถึงกำเนิดของโลกมนุษย์ที่รวมถึงดวงดาวต่างๆ และระบบสุริยจักรวาล วัสดุและรูปร่างลักษณะของโลก ประวัติความเป็นมา และกระบวนการที่กระทำต่อโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังนั้นวิชานี้จึงรวมถึงแรงที่มากระทำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือยังคงมี ผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเคมี มวลสาร และส่วนประกอบ ตลอดจนอายุและร่องรอยการบันทึกในอดีตของโลกมนุษย์ ซึ่งแสดงออกด้วยส่วนที่เหลืออยู่ของชีวิตซึ่งคงอยู่ในหินบนเปลือกโลก และโดยการตีความจากรูปแบบและสภาวะแวดล้อมที่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็นใน ปัจจุบัน

      ส่วนคำว่าธรณีศาสตร์ (Earth Sciences) มักจะใช้กันอย่างผิดๆ แทนคำว่าธรณีวิทยา (Geology) อยู่บ่อยๆ ซึ่งความจริงมีความหมายกว้างกว่าธรณีวิทยามาก เพราะหมายถึงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก ซึ่งรวบรวมสรรพวิทยาและเนื้อหาครอบคลุมถึงอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา ปฐพีวิทยา เคมีของดิน ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ส่วนของธรณีวิทยาจริงๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า เนื้อแท้ของธรณีวิทยานั้นศึกษา วัสดุ (material) กระบวนการ (process) และวิวัฒนาการ (evolution) ของโลก

      คำจำกัดความจากหนังสือธรณีวิทยากายภาพ โดย ผศ. ดร. ปัญญา จารุศิริ และคณะ พ.ศ. 2545


      GeoThai.net ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ทางธรณีวิทยาให้กับคนไทย

      บทความจากทีมงานวิชาการธรณีไทย (GeoThai.net)

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      "5555"

      (แจ้งลบ)

      ดีจัง บทความดีดีต้องยกนิ้วให้ อิอิ อ่านเพิ่มเติม

      ดีจัง บทความดีดีต้องยกนิ้วให้ อิอิ  

      baroque_or | 11 พ.ค. 52

      • 11

      • 0

      คำนิยมล่าสุด

      "5555"

      (แจ้งลบ)

      ดีจัง บทความดีดีต้องยกนิ้วให้ อิอิ อ่านเพิ่มเติม

      ดีจัง บทความดีดีต้องยกนิ้วให้ อิอิ  

      baroque_or | 11 พ.ค. 52

      • 11

      • 0

      ความคิดเห็น

      ×