ท้าให้ทาย!! ชื่ออาชีพเหล่านี้ (สายวิทยาศาสตร์) ทำงานอะไร

      
            สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com... ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่เราคุ้นเคย คือ คนใส่ชุดกาวน์สีขาว ทำงานในห้องทดลอง ความจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ เป็นคำที่เราเรียกภาพรวมของคนที่ทำงานด้านนี้ แต่ถ้าให้ลึกลงไป นักวิทยาศาสตร์ก็มีแยกย่อยหลายสาขา เหมือนแพทย์นั่นแหละค่ะ ที่มีทั้งหมอเด็ก หมอศัลย์ รับประกันได้เลยว่า นักวิทยาศาสตร์บางชื่อ น้องๆ แทบจะทายไม่ถูกกันเลยทีเดีย

            พี่มิ้นท์ก็เลยขอเอาเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ของนักวิทยาศาสตร์มาฝากกัน ลองทายกันเล่นๆ นะ ว่ารู้กี่ชื่อ
 

      1. ท้าให้ทาย : นักมีนวิทยา ทำอะไร
      2. ท้าให้ทาย : นักกีฏวิทยา ทำอะไร
      3. ท้าให้ทาย : นักวิทยาศาสตร์การทหาร ทำอะไร
      4. ท้าให้ทาย : นักเคมีอนินทรีย์ ทำอะไร
      5. ท้าให้ทาย : นักคูถวิทยา ทำอะไร
      6. ท้าให้ทาย : นักวิทยาศาสตร์การอาหาร ทำอะไร

      ลองทายใส่กระดาษไว้ก่อน แล้วค่อยดูเฉลยนะ (ใครขี้โกงแอบดูเฉลยก่อน ขอให้จู๊ดๆ)
  
      เอาล่ะ มาดูเฉลยกันเลย^^

 
      1. ท้าให้ทาย : นักมีนวิทยา

         ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►

 

 

        เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านปลา

        มีนวิทยา เป็นศาสตร์แขนงย่อยของสัตววิทยา แค่นี้คงพอเดากันออกแล้วว่าเกี่ยวข้องกับสัตว์แน่ๆ ซึ่งมีนวิทยา ก็คือการศึกษาเกี่ยวกับ "ปลา" นั่นเอง มีน แปลว่า ปลา มีนวิทยาจึงเป็นการศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับปลา ตั้งแต่รูปร่างภายนอก ระบบภายใน รวมถึงการศึกษากลุ่มหรือประเภทของปลา ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้จึงเรียกว่า "นักมีนวิทยา" ค่ะ  
       นักมีนวิทยาคนแรก คือ อริสโตเติล เพราะเป็นคนแรกที่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงหลายอย่างเกี่ยวกับปลา ตั้งแต่ด้านโครงสร้าง อุปนิสัย การสืบพันธุ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ต่อมาก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับปลาเพิ่มมากขึ้น โดยยังอ้างอิงจากความรู้ที่อริสโตเติลได้ศึกษาค่ะ จนกระทั่งศตวรรษที่ 18 มีนวิทยาก็เริ่มเป็นที่รู้จักและเริ่มศึกษากันมากขึ้นค่ะ

 
     2. ท้าให้ทาย : นักกีฏวิทยา
 
         ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►
 

 

        เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง

        นอกจากปลาแล้ว "แมลง" ก็เป็นสัตว์ที่มีความหลากหลาย คร่าวๆ ก็หลักสิบล้านชนิด เยอะไม่เยอะคิดดูแล้วกัน! ทำให้ต้องมีผู้ศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะแมลงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาด้วย
        กีฏวิทยา เป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับแมลง นักกีฏวิทยา จึงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับแมลงบนโลกนี้ค่ะ  แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าดูว่ามันมีกี่ขา กินยังไง สืบพันธุ์ยังไง แต่ต้องศึกษาลึกไปถึงหลักการในการตั้งชื่อแมลง วงจรการเติบโตของมัน วิเคราะห์ชนิดและอนุกรมวิธาน วิจัยสภาพแวดล้อม ไปจนถึงวิเคราะห์ ทดสอบ สารป้องกันกำจัดแมลง เรียกว่าอะไรที่เกี่ยวกับแมลง นักกีฏวิทยาจัดให้ครบ!

 
      3. ท้าให้ทาย : นักวิทยาศาสตร์การทหาร

         ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►

 

 

          เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านกองทัพ

          ในทุกๆ หน่วยงาน ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ ยิ่งด้านการทหาร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศยิ่งมีความสำคัญมากๆ หลายคนสงสัยว่า ทหาร  กับ วิทยาศาสตร์ มันเกี่ยวกันได้ยังไง อย่าลืมว่าระเบิด นิวเคลียร์ เคมีต่างๆ นี่ก็วิทยาศาสตร์ทั้งนั้น
         นักวิทยาศาสตร์การทหาร จึงทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ สร้าง เทคโนโลยีทางทหาร ระบบอาวุธทางทหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกองทัพ ทั้งในยามที่ต้องปฏิบัติการและในยามสงบ รวมไปถึงการวิเคราะห์ ทดสอบทางเคมี ฟิสิกส์ การทดลองและผลิตวัสดุขึ้นมาให้เหมาะสมกับกองทัพ เป็นต้น


 
      4.ท้าให้ทาย : นักเคมีอนินทรีย์
 
          ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►

 

 

         เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านเคมีแขนงอนินทรีย์

         เคมีอนินทรีย์ ชื่อนี้ คงไม่แปลกเท่าไหร่ รู้จักกันอยู่แล้วสำหรับคนที่เรียนวิทยาศาสตร์มา เคมีอินทรีย์ ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับสมบัติของสารที่มีอะตอมคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ส่วนเคมีอนินทรีย์ ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับสมบัติและปฏิกิริยาของสารประกอบที่ไม่ใช้สารอินทรีย์นั่นเอง
         ดังนั้น นักเคมีอนินทรีย์ คือ นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีที่เชี่ยวชาญงานเคมีแขนงอนินทรีย์ งานของเค้าจึงยุ่งอยู่กับการวิจัย ทดลอง วิเคราะห์ส่วนประกอบ คุณสมบัติของสารประกอบอนินทรีย์ โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ ในการทดลอง
     
      5. ท้าให้ทาย : นักคูถวิทยา

          ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►

 

 

          เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมูลและสิ่งปฏิกูล

          "คูถ" อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้าเอาไปเปิดในพจนานุกรม ได้ร้องอี๋กันเลยทีเดียว เพราะความหมายของมันคือ อุนจิ นั่นเอง นักคูถวิทยา จึงหนีไม่พ้นเรื่องมูลและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายแหล่ ถามว่าเรียนไปทำไม เรียนแล้วมีความสุขหรอ มานั่งเรียนอะไรพวกนี้ มีความสุขหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ แต่คูถวิทยามีประโยชน์ในทางการแพทย์มากๆ ก็ว่าได้ เพราะศาสตร์นี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมและโรคต่างๆ เช่น การบำบัดโรคติดเชื้อในลำไส้ที่รักษาได้ยาก นอกจากนี้การศึกษามูลก็มีประโยชน์ในแง่การหาที่มาหรือความเป็นอยู่ของสัตว์ได้ด้วย เพราะในมูลสัตว์จะบ่งบอกสิ่งที่สัตว์เหล่านั้นกิน จึงช่วยประเมินสุขภาพของสัตว์ได้นั่นเอง

 
        6. ท้าให้ทาย : นักวิทยาศาสตร์การอาหาร

           ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►  ►

 

 

          เฉลย : นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

          ฮั่นแน่! รู้นะว่าคิดอะไรอยู่ กำลังคิดว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหารจะสบาย เพลิดเพลินอิ่มพุงไม่ต้องเสียตังค์ซื้อข้าวใช่มั้ยล่ะ ขอบอกว่าคิดผิดอย่างแรง นักวิทยาศาสตร์การอาหารไม่ใช่อาชีพง่ายๆ แล้วก็ไม่ได้มานั่งชิมอาหาร ทำหน้าอร่อยเหมือนพิธีกรรายการทีวีดิจิตอล แต่จะมีหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย อาหาร ทั้งทางด้านเคมีและกายภาพ ค่ะ
         พูดง่ายๆ ก็คือ อาหารมันก็มีการบูดเน่า มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย นักวิทยาศาสตร์อาหารก็จะทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย เพื่อแปรรูปและถนอมอาหารให้มีอายุนานขึ้น โดยที่คุณภาพก็ยังดีอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น เอาอาหารไปหมัก ไปอบแห้ง แช่แข็ง การบรรจุภัณฑ์ขนมประเภทต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงค้นคว้า และผลิตผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อาหารก็จะทำหน้าที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ นั่นเองค่ะ
         ส่วนใครที่มีอาชีพในฝันอยากทำงานชิมอาหารทั้งวัน แนะนำให้เปิดร้านเองค่ะ ฮ่าๆๆๆ


 
         ผ่านไป 6 ชื่อ มึนตึ้บกันหรือยัง ไม่รู้จักชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ เพราะชื่อเหล่านี้เป็นสาขาย่อยที่อยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์อีกที มีลักษณะงานที่ค่อนข้างเฉพาะด้าน แต่ถ้าใครสนใจอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบนี้บ้าง แนะนำว่าจบ ม.6 ต่อคณะวิทยาศาสตร์เลยค่ะ ส่วนมีนวิทยาก็หาเรียนได้ที่คณะประมง และกีฏวิทยา ก็สามารถหาเรียนได้ที่คณะเกษตร ค่ะ หวังว่าวันนี้น้องๆ ก็ได้รับความรู้เพิ่มเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สาขาแปลกๆ ใหม่ๆ ไว้ไปเล่าให้เพื่อนฟังได้นะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Entomology,
http://en.wikipedia.org/wiki/Ichthyology,
http://1degreebio.org/blog/?bid=883,
http://themindunleashed.org/2014/01/scientists-finally-admit-second-secret-dna-code-controls-genes.html,
http://mcot-web.mcot.net/fm1005/content.php?id=546b39a0be04703e978b45a9#.VLzPTUesVBE,
www.fabulousnorfolk.co.uk/modernist-british-food-science-cooking/,
www.nhm.ac.uk/nature-online/science-of-natural-history/,
http://theevolutionstore.com/store/entomology-department/,
www.gopixpic.com/
https://pixabay.com/th/

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Kazahana Member 22 ก.พ. 58 23:39 น. 4

กีฏวิทยา กับ มีนวิทยา จริงๆแล้วก็สามารถเรียนได้ใน สาขา สัตววิทยานะเราว่า พวกนี้จะมีแตกย่อยมาอีกจากสาขา สัตววิทยา จากที่เคยเห็นในแผนการสอนของ มหาวิทยาลัยบางที่ว่ามี สาขาวิชาย่อยอะไรอีกบ้างในสัตววิทยา ไม่รู้ถูกเปล่านะ ผิดยังไงก็แก้ให้ด้วย 5555

0
กำลังโหลด
พิ้งกี้ พายยยย 7 มี.ค. 58 22:12 น. 5
ทายไม่ถูเลยค่ะ พอดีพึ่งขีึ้นม.1 คนที่ตอบุถูกเก่งมากๆเลยนะคะ ตอบถูกตั้ง3ข้อก็ถือว่าเก่งแล้วค่ะ^^ เรากลายเป็นพวงอ่อนด๋อยในDek-Dไปแล้วเสียใจ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Manowmydog 8 เม.ย. 58 07:54 น. 8
ตอบได้หมดเลยพอดีที่ร.ร.เราอยู่ชุมนุมนักกีฏวิทยาเลยพอรู้เรื่องบ้างแต่เรื่องแมลงพวกนี้ก็น่าสนใจนะอยู่ชุมนุมนี้เหอาจจะได้เปรียบนิดหน่อยอ่ะเพราะได้เรียนก่อนเพื่อนแต่ถ้าอย่างเก่งต้องฝึกฝนและศึกษาบ่อยบ่อย ป.ล.ม1นะแจ้ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด