5 เทคนิคง่ายๆ เขียนเรียงความ-สอบข้อเขียน ให้ได้คะแนน Strong

        สวัสดีค่ะน้องๆ รู้สึกเหมือนกันมั้ยว่า เรายอมที่จะทำการบ้านเป็นสิบชิ้น ทนสอบเป็นร้อยข้อ ดีกว่าได้การบ้านเทคโฮม 1 เล่ม หรือ สอบข้อเขียน 1 ข้อ เพราะอะไร? เพราะว่าพวกเรายังขาดทักษะด้านการเขียนมากๆ จนรู้สึกว่า การเขียนเป็นจุดจบของชีวิต มาเมื่อไหร่...ตายเมื่อนั้น

        ปัญหาที่น้องๆ เจอทุกครั้งที่ลงมือเขียน คือ เขียนไม่ออก เมื่อเจอกระดาษเปล่า 1 หน้า แทนที่จะคิดว่า "เขียนอะไรให้เต็มหน้า" กลับไปคิดว่า "เขียนยังไงให้เต็มหน้า" เริ่มต้นคิดผิดจุดประสงค์ ผลที่ออกมาก็ผิดไปด้วย งานของเราก็มีแต่น้ำ ไม่ได้สาระ ดังนั้นให้ความสนใจกับ "ทักษะการเขียน" ได้แล้วนะ หลายคนคิดว่ามันเป็นพรสวรรค์ แต่เชื่อเถอะว่าของแบบนี้ฝึกกันได้ มาดูกันว่าที่งานเขียนของเราไม่น่าสนใจ เป็นเพราะอะไรบ้าง  

 

 

    1. รูปแบบชวนปวดหัว ตอนทำมีสติหรือเปล่า
           เริ่มต้นจากรูปแบบของงานเขียนเราเลยค่ะ บางทีอ่านแล้วงงว่า นี่คนเดียวกันเขียนหรือเปล่า เดี๋ยวเว้นวรรค เดี๋ยวไม่เว้นวรรค ย่อหน้าก็ไม่มี หรือ บางทีเนื้อหายังต่อเนื่องอยู่ก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ซะอย่างนั้น รูปแบบงานที่สะเปะสะปะทำให้คนอ่านปวดหัว ชวนไม่อยากให้อ่าน
 
  
2. ใช้คำเชื่อมมากเกินไป
          ปกติ "คำเชื่อม" มีไว้เพื่อเชื่อมคำหรือประโยค เพื่อให้ข้อความดูไหลลื่นขึ้น ช่วยเสริมให้เนื้อหาของเราเรียบร้อยสวยงาม เช่น "เพราะฉะนั้น" "เพราะ....จึง" "แต่" "จากนั้น" "แล้ว...ก็" ฯลฯ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราใช้เยอะจนเกินความจำเป็น เนื้อหาของเราก็จะทำให้คนอ่านของเรารำคาญโดยไม่รู้ตัวค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
          ขั้นตอนการทำไข่เจียวไม่ยาก ไม่ต้องคนทำอาหารเป็นก็ทำได้ แต่คนทำอาหารไม่เป็นก็ทำได้ เริ่มต้นคือล้างไข่และตอกไข่ใส่ชาม และใส่เครื่องปรุง จากนั้นตีกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน จากนั้นเมื่อน้ำมันร้อนได้ที่แล้วจึงใส่ไข่ลงไป....
          จากตัวอย่าง น้องๆ คงเห็นแล้วว่า จะใช้คำเชื่อมเยอะไปไหน? อ่านแล้วรกสายตามากเลย ประโยคข้างต้น เขียนได้ง่ายๆ ว่า "ขั้นตอนการทำไข่เจียวไม่ยาก ใครๆ ก็ทำได้ เริ่มต้นจากการล้างไข่และตอกไข่ใส่ชาม ใส่เครื่องปรุงตามใจชอบ จากนั้นให้ตั้งกระทะ รอน้ำมันร้อนก็ใส่ไข่ลงไปได้เลย...." อ่านง่ายกว่าเยอะเลย
           ดังนั้นลองไปสำรวจงานเขียนของตัวเองว่า เป็นโรคติดคำเชื่อมหรือเปล่า ถ้ามีก็ค่อยๆ ปรับ ฝึกเรียบเรียงประโยคโดยใช้คำเชื่อมเท่าที่จำเป็นดูค่ะ

    3. คลังคำศัพท์น้อย
          การที่คลังคำศัพท์มีน้อย เวลาเขียนข้อสอบหรือเขียนเรียงความ เราก็จะเขียนได้น้อยเพราะไม่มีคำศัพท์มาขยายเนื้อความของเรานั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เขียนเรื่องความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว ใช้แต่คำว่า "สวย" คนอ่านจะรู้สึกน่าเบื่อค่ะ ในขณะที่อีกคนบรรยายรอบด้านและเลือกใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจได้ เช่น สวย น่าอยู่ ร่มรื่น อากาศสดชื่น จัดวางองค์ประกอบลงตัว เป็นต้น

    4. สะกดผิดเยอะไปมั้ย
         อย่ามองข้ามเรื่องการใช้ภาษาค่ะ อ่านแล้วเจอคำผิดทุกบรรทัด ทำให้ผู้อ่านรู้ว่าคนเขียนไม่ใส่ใจในสิ่งที่เขียนและขาดความรอบคอบ ต่อให้เนื้อเรื่องดีแค่ไหนแต่เขียนผิดเยอะก็ดูด้อยไปเลยทันที เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ถูกตัดคะแนนเลยนะ

    5. ใช้ภาษาสะเปะสะปะ
        ปกติงานเขียนแต่ละประเภท จะใช้ระดับภาษาต่างกัน ถ้าเขียนเล่นๆ ก็ใช้ระดับกันเองได้ ส่วนงานเขียนที่จริงจัง เช่น เรียงความ ความเรียง ข้อสอบ รายงานต่างๆ ก็ต้องใช้ภาษาทางการ แต่หลายคนมีปัญหาแยกระดับภาษาไม่ออก สำนวนที่เขียนออกมาก็มีทั้งเหมือนคุยเล่นกันเอง ผสมกับจริงจัง สลับไปมาจนคนอ่านมึนไปหมด
         ยกตัวอย่างเช่น "การเดินทางไปต่างประเทศสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการโดยสารทางเครื่องบิน ทางเรือ หรือขับรถผ่านประเทศต่างๆ แต่ 3 วิธีนี้ ใช้เวลาไม่เท่ากัน อยากถึงไวๆ ก็ไปเครื่องบิน ถ้าขับรถ โอ้โห! เหนื่อยมากแน่ๆ" อ่านจบอาจจะร้อง ฮึ! ออกมาเลยเพราะเริ่มต้นเชิงวิชาการ แต่ทำไมไปๆ มาๆ เหมือนคุยเล่นซะงั้น

 

 

   วิธีแก้ไขเบื้องต้น
        เอาล่ะค่ะ ใครรู้ตัวว่ามีปัญหาครบทั้ง 5 ข้อ มาดูกันดีกว่าว่าจะแก้ไขยังไงได้บ้าง

   1. อ่านเยอะๆ + ดูเทคนิคการเขียนเจ้าของผลงาน
          เขียนไม่ได้ ทำไมแก้ปัญหาที่การอ่าน? เพราะการอ่านช่วยเปิดมุมมองและทำให้เราซึมซับเทคนิคการเขียนไปโดยไม่รู้ตัวค่ะ นักเขียนแต่ละคนมีสไตล์การเขียนต่างกัน หากเราอ่านเยอะ เราก็จะเห็นความแตกต่าง เหมือนเวลาน้องๆ อ่านรีวิว ก็ต้องเคยรู้สึกว่าทำไมบางคนเขียนอะไรก็สนุก บางคนเขียนยาวมาก แต่ไม่สนุกเลย ให้น้องๆ ฝึกอ่านไปเรื่อยๆ จะเจอนักเขียนที่เราชอบเองค่ะ ให้ดูว่านักเขียนคนนั้นมีวิธีการเขียนยังไง ดูวิธีการใช้คำ ใช้สำนวน การเปิดเรื่อง ปิดเรื่อง ช่วยได้เยอะจ้า

   2. เวลาเห็นอะไร ฝึกคิดในสมองเป็นประโยคยาวๆ
         หลายๆ ครั้งที่นั่งจับปากกาแต่ไม่มีไหลออกมาจากหัวของเราเลย เพราะสมองตื้อไปหมด ก็สามารถแก้ได้ด้วยการฝึกคิดนั่นเอง และวิธีนั้นก็ง่ายมาก ทุกครั้งที่ว่างๆ หรือนั่งอยู่บนรถ มองเห็นอะไรด้านนอก ลองคิดเป็นประโยคยาวๆ เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้น จะเป็นการอธิบายลักษณะหรือสร้างเรื่องขึ้นใหม่ก็ได้ เช่น กำลังจะขึ้นรถไฟฟ้า ในสมองก็ฝึกคิดไปด้วยว่า ถ้าเราจะเขียนวิธีขึ้นรถไฟฟ้ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เป็นต้น

   3. มีสมาธิ ตั้งสติก่อนเขียน
         การเขียนเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูงมากกกกกก (เติม ก. อีก 50 ตัว) สังเกตว่าเวลาที่เราไม่มี สมาธิ จะเขียนสักประโยคนึงยังเขียนไม่ออกเลย ดังนั้น ก่อนที่น้องๆ จะลงมือเขียนอะไร หาที่เงียบๆ เป็นส่วนตัวนั่งทำดีกว่าค่ะ และอย่าลืมตั้งสติก่อนเขียน ต้องรู้ตัวเองว่าเราจะเขียนเกี่ยวกับอะไร ใจความสำคัญต้องการสื่อสารอะไร จากนั้นค่อยลงมือเขียนโดยไล่ความสำคัญไปตามลำดับ ที่สำคัญอย่าลืมแล้วอ่านทบทวนด้วยว่าได้เขียนใจความสำคัญไปหรือยัง แค่นี้ก็ลดปัญหาเขียนวนไปวนมา เหมือนพายเรือวนในอ่างแล้วค่ะ

   4. ถ้ามีคนติงาน อย่าโกรธ
          เวลาที่เราเขียนงานส่งหรือสอบข้อเขียนไป  รู้ผลอีกทีก็เห็นเป็นคะแนนสุดรันทดแล้ว ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ ให้ลองเอาเรียงความที่เพิ่งเขียนเสร็จไปให้คนอื่นอ่านก่อนแล้วรอฟังฟีดแบ็คว่าบกพร่องตรงไหน ซึ่งน้องๆ ควรเปิดใจยอมรับฟังคำแนะนำของคนอื่นด้วย อย่าโกรธ อย่าเหวี่ยง แต่ให้ตั้งใจฟังและนำมาปรับใช้ บางคนถือคติว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดีที่สุด คนแบบนี้มักไม่ค่อยพัฒนาค่ะ

 
           อ่านจบแล้ว สิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็คือ ไปรื้องานเก่าๆ ของตัวเองดู ไม่ว่าจะเป็นเรียงความ รายงานต่างๆ ที่เคยเขียน อ่านแล้วหาจุดบกพร่องของตัวเองให้เจอ แล้วปรับปรุงให้ถูกจุด เชื่อว่าภายใน 1 ปี ฝีมือของน้องๆ จะพัฒนาได้เร็ว คะแนนดีๆ ก็จะตามมาจ้า
 

 

           และเช่นเคย พี่มิ้นท์มีหนังสือมาแจกอีกแล้ว (ติดตามกันบ่อยๆ เดี๋ยวได้หนังสือฟรีเอง^^) กติกาง่ายๆ เช่นเดิม แค่ Login มาตอบคำถามว่า
        
  "ชอบงานของนักเขียนคนไหน เพราะอะไร" ความยาวไม่เกิน 7 บรรทัดค่ะ
           หมดเขต 17 พ.ย. 58 ประกาศผล 23 พ.ย. ในบทความนี้จ้า 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

-Cornpie- Member 10 พ.ย. 58 18:15 น. 1

ชอบงานเขียนของ พี่บิ๊ก ภูมิชาย บุญสินสุขค่ะ

พี่บิ๊กเป็นนักเขียนและบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ a book เป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษค่ะ โดยหนังสือของเขาจะเขียนเกี่ยวกับ คำศัพท์ วลีภาษาอังกฤษ โดยนำเสนอในรูปแบบการเล่าเรื่องราวน่าติดตามสอดแทรกการใช้ศัพท์หรือวลีนั้นๆ เข้าไป ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น 

ที่มารูป

http://kbeautifullife.askkbank.com/education/Pages/education_senior_detail.aspx?TID=34

0
กำลังโหลด

11 ความคิดเห็น

-Cornpie- Member 10 พ.ย. 58 18:15 น. 1

ชอบงานเขียนของ พี่บิ๊ก ภูมิชาย บุญสินสุขค่ะ

พี่บิ๊กเป็นนักเขียนและบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ a book เป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษค่ะ โดยหนังสือของเขาจะเขียนเกี่ยวกับ คำศัพท์ วลีภาษาอังกฤษ โดยนำเสนอในรูปแบบการเล่าเรื่องราวน่าติดตามสอดแทรกการใช้ศัพท์หรือวลีนั้นๆ เข้าไป ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น 

ที่มารูป

http://kbeautifullife.askkbank.com/education/Pages/education_senior_detail.aspx?TID=34

0
กำลังโหลด
25BC Member 10 พ.ย. 58 18:49 น. 2

ชอบงานเขียนของSuzzne Collins ครับ 

เธอเป็นคนที่บรรยายความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้นเวลานั้นออกมาสู่นักอ่านได้จริงๆ โดยลืมไปเลยว่าหลักGrammarนั้นเป็นเช่นไร  ฉากที่ผมชอบก็ตอนที่Catniss ตัดสินใจที่จะตัดรังของtracker jackerให้หล่นลงไปโดน พวกTributeที่อยู่ด้านล่างบอกเลย นางคิดมากมากกว่าจะตัดได้5555 

0
กำลังโหลด
นิภาพลอย Member 10 พ.ย. 58 22:57 น. 3

ชอบงานเขียนของ Jean Webster ค่ะ เคยอ่านผลงานของเธอเรื่อง Daddy Long Legs เป็นงานเขียนที่อ่านแล้วรู้สึกสดใสมาก เป็นการเล่าเรื่องเชิงจดหมายที่ไม่น่าเบื่อเลย สามารถลำดับขั้นตอนการเติบโตของเด็กหญิงในบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ออกมาสู่โลกภายนอกได้อย่างสมจริงและไม่ติดขัดหรือรู้สึกงุ่นง่านใจในการอ่านเลยสักนิดเดียว ประทับใจภาษาที่เติบโตพร้อมกับพัฒนาการของตัวละคร จดหมายแต่ละฉบับที่สาวน้อยเขียนให้คุณพ่อขายาวของเธอมักเต็มไปด้วยความสดใส แต่ก็มีบางครั้งที่เธอใช้ภาษาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจการกระทำของเลขาส่วนตัวของเขา(ที่เธอรู้สึกว่าทำตัวไม่น่ารักเอาเสียเลย)

0
กำลังโหลด
Pankkie Member 11 พ.ย. 58 12:40 น. 4
ชอบงานเขียนของพี่ลวิตร์ พัณณิดา ภูมิวัฒน์ค่ะ เพราะภาษาพี่ปันอ่านง่าย ใช้คำง่ายๆ ก็สื่อความได้โดยไม่ต้องประดิษฐ์คำให้สวยหรู เวลาอ่านแล้วรู้สึกสบายใจเพราะความอ่านง่ายและเรียบรื่นของภาษาที่พี่ปันใช้ค่ะ
0
กำลังโหลด
Sky1823 Member 11 พ.ย. 58 21:58 น. 5

ชอบงานเขียนของหนานไพ่ซานซูค่ะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเนื้อเรื่องที่อ่านสนุก มีความเป็นแฟนตาซี ผจญภัย และอิงประวัติศาสตร์จีนให้ความรู้ใหม่ๆ มีการอ้างอิงสถานที่และข้อมูลอย่างถูกต้อง แต่ละฉากเขียนได้น่าตื่นเต้น ถึงหลายคนจะบ่นว่าตอนจบดูเรียบง่ายไปหน่อย แต่สำหรับเราก็รู้สึกว่าโอเคค่ะ ภาษาก็อ่านเข้าใจง่าย ถึงจะมีศัพเฉพาะอยู่บ้างแต่ก็มีคำอธิบายที่ชัดเจน

0
กำลังโหลด
candy-baby Member 12 พ.ย. 58 18:32 น. 6

วินทร์ เลียววารินค่ะ เพราะมีงานที่หลากหลาย และนำเสนอแนวคิดได้ดี อ่านแล้วรู้สึกมีแรงบันดาลใจบางอย่างเกิดขึ้น 

0
กำลังโหลด
DM97 Member 13 พ.ย. 58 19:39 น. 7

ชอบหนังสือเรื่องหัวขโมยแห่งบารามอส ของคุณ Rabbit ค่ะ ปกติเป็นคนไม่อ่านนิยายแนวแฟนตาซีหลุดโลก แต่เรื่องนี้เพื่อนแนะนำมาค่ะ พอได้อ่านตั้งแต่เล่มแรกก็รู้สึกว่ามีเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม ไม่เครียด สามารถอ่านได้ตลอดเวลา การใช้ภาษาในการบรรยายสละสลวย เข้าใจง่าย อ่านแล้วสามารถจินตนาการตามเนื้องเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมาได้เป็นฉากเป็นตอนค่ะ รักเลย

0
กำลังโหลด
WORRAWATEverdeen 14 พ.ย. 58 19:31 น. 8
ส่วนตัวชอบงานเขียนของพี่เบ็นครับ เช่น New York 1st Time งานเขียนของพี่เขาเขียนได้สนุกทำให้ผู้อ่านเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์กับพี่เขา งานเขียนของเขายังทำให้ตัวผมเองเกิดแรงบรรดาลใจอะไรหลายๆอย่าง เช่นอยากไปเมือง Portland อยากไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา อยากเปิดช่างภาพ อยากเป็นนักเขียน...พี่เบ็นนอกจากจะเป็นนักเขียน เขายังเป็นช่างภาพฝีมือดีอีกด้วย เขาทำอะไรได้หลายๆอย่างจริงๆ ผมประทับใจในตัวเขามาก รักเลย รักเลย รักเลย รักเลย
0
กำลังโหลด
คน ไร้ความรู้สึก Member 16 พ.ย. 58 20:06 น. 9

ชอบงานเขียนของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยาครับ โดยปกติเเล้วผมเป็นพวกที่อ่านนิทาน นวนิยายเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว จนมาได้เจอ ด้วยรักบันดาล นิทานสีขาว ที่ท่านเขียน นั่นเเหละครับ เป็นเรื่องเล่านิทานที่เเฝงไปด้วยคุณธรรมในการใช้ชีวิต ทำให้เกิดเเง่มุมดีงามในสังคมมากขึ้น เรียบเรียงเรื่องให้อ่านได้ง่าย ทำให้สนุกกับการอ่านไปด้วยครับ

0
กำลังโหลด
NobBe Member 16 พ.ย. 58 22:32 น. 10

ชอบงานเขียนของJK.โรว์ลิ่งค่ะ อย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นนิยายที่โตมาพร้อมๆกับหนูและใครหลายๆคนเลยทีเดียว หนูเชื่อว่าทุกคนที่เคยอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องรู้สึกเหมือนอยู่ในเรื่องจริงๆ รู้สึกลุ้นและระทึกขวัญไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และในตัวเรื่องของนิยายก็ได้แทรกคำคมต่างๆไว้ เช่น "The mind is not a book, to be opened at will and examined at leisure." - Severus Snape  ซึ่งแปลว่า "จิตใจของคนเราไม่ใช่หนังสือที่จะเปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้หรือสำรวจในเวลาว่าง" - จากเซเวอร์รัส สเนป และยังมีคำคมอื่นๆอีกมากมาย ลองหาดูนะคะ เยี่ยมเยี่ยมรักเลยรักเลย

0
กำลังโหลด
lll-MiNt-lll Columnist 23 พ.ย. 58 16:54 น. 11

ประกาศผลน้องที่ได้รับรางวัลนะคะ

1. -Cornpie- 

2. นิภาพลอย

3. คน ไร้ความรู้สึก

4. NobBe

พี่มิ้นท์จะติดต่อไปทางอินบ็อกซ์เพื่อยืนยันสิทธิ์การรับรางวัลค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด