สงสัยมั้ย? "เพนกวิน" ทนอยู่กับหนาวเย็นทั้งชีวิตได้ยังไง


 
      
         สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงที่บ้านเราหนาวกัน (แป๊บเดียว) นอกจากคนแล้ว ก็ยังมีน้องหมาน้องแมวที่บ้านที่นอนขดตัวสั่นไม่แพ้กัน สัตว์เหล่านี้ก็หนาวเป็นเหมือนกับคนแหละค่ะ แต่ก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า แล้วสัตว์ที่อยู่ขั้วโลก ต้องทนอยู่ท่ามกลางทะเลน้ำแข็ง จะทนอยู่ได้ยังไงกัน นี่เลยเป็นที่มาที่จะมาหาคำตอบกันว่า ทำไม "เพนกวิน" ที่ดูรูปร่างไม่ได้มีขนปกคลุมหนาฟูฟ่องอะไรมากถึงอยู่ท่ามกลางความหนาวเย็นโดยไม่เป็นอะไรเลย
 

 

        เป็นภาพที่เห็นชินตา ที่เพนกวินมักจะเดินเตาะแตะๆ หรือลื่นไถลอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง บ้างก็กระโจนว่ายน้ำลงไปในน้ำเย็นจัด ตามธรรมชาตินั้น เพนกวินเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ แม้จะมีปีก แต่ปีกนี้ไม่ได้ช่วยให้เพนกวินบินได้ค่ะ แต่กลับช่วยในการว่ายน้ำแทน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เพนกวินมีทักษะการว่ายน้ำและดำน้ำที่ดีกว่า ความสามารถในการบินจึงค่อยๆ ลดลง ปีกจึงไม่สามารถใช้บินได้

        รูปร่างภายนอกของเพนกวินดูเหมือนไม่ได้มีขนปกคลุมหนาเหมือนสัตว์ขั้วโลกชนิดอื่น แต่ต้องบอกเลยว่ากลไกและองค์ประกอบบนตัวเพนกวินนั้นเอื้อประโยชน์ให้เพนกวินสามารถใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหนาวเย็นที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเสียอีก อย่างแรกเลยก็คือ ขนของเพนกวิน โดยขนของเพนกวินจะมี 2 ชั้น ชั้นในทำหน้าที่เหมือนขนนกทั่วไป ส่วนชั้นนอกจะมีไขมันเคลือบไว้ เพื่อป้องกันน้ำ ลม ความหนาวเย็นจากอากาศภายนอก ซึ่งอาจต่ำสุดถึง -40 องศาเซลเซียส และทนต่อแรงลมถึง 40 เมตรต่อวินาที เรียกว่าเป็นฉนวนกันความเย็นได้ดีทีเดียว

        ในเรื่องขนของเพนกวินได้มีผู้ศึกษาอย่างจริงจังด้วยนะคะ โดย Pirouz Kavehpour วิศวกรเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ศึกษาขนเพนกวินสายพันธุ์แอนตาร์กติก โดยเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง พบว่าขนเพนกวินเต็มไปด้วยรูขุมขนขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ น้ำไม่ยึดเกาะและไม่ซึมเข้าไป พูดง่ายๆ คือ ขนมีความเงาและมัน น้ำหยดลงก็จะไหลออกนั่นเอง เมื่ออยู่บนบก กล้ามเนื้อจะทำให้ขนตั้งตรงเพื่อลดการสูญเสียความร้อน โดยกักชั้นอากาศไว้ใกล้กับผิวหนัง แต่เมื่อจะลงในน้ำ ขนจะลู่ลงแนบตัวเพื่อไม่ให้ตัวเปียกค่ะ

        นอกจากนี้ร่างกายของเพนกวินยังมีส่วนที่ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายได้อีก นั่นก็คือ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจจะหนาถึง 3 เซนติเมตรเลยทีเดียว ชั้นไขมันที่ว่านี้ยังใช้เป็นพลังงานในช่วงขาดแคลนอาหารยามหน้าหนาวอีกด้วย

 

        แม้เพนกวินจะดูแข็งแกร่งยามอยู่ในเขตเยือกแข็ง แต่ความเป็นจริงแล้ว สภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบมากๆ เลยค่ะ เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเริ่มละลายเร็วกว่าปกติ ทำให้แม่เพนกวินต้องวางไข่บนผืนน้ำแข็งที่บางลงกว่าเดิม หากน้ำแข็งแตก ลูกมันก็ไม่รอดค่ะ หรือถ้ารอดออกมาแล้วต้องเจอสภาพอากาศแปรปรวนของโลก เช่น เจออากาศหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมากๆ แล้วก็ต้องมาเจอวันที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งและมีฝนตกลงมา ลูกเพนกวินที่ยังไม่มีการสร้างขนชั้นนอกขึ้นมากันน้ำได้ก็ทนไม่ไหวและแข็งตายในที่สุด..
     
      จะว่าไป เพนกวินที่เรามองว่าเป็นสัตว์น่ารัก น่าเอ็นดู ก็ต้องใช้ชีวิตลำบากไม่น้อยเลยนะคะ ประมาณว่าใช้ชีวิตอยู่ของมันดีๆ แต่วันดีคืนดีบ้านของมันก็จะถูกทำลายลงไปและใช้ชีวิตอยู่ยากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์เป็นต้นเหตุ ดังนั้น ถ้าอยากช่วยเหลือเพนกวินให้อยู่คู่โลกต่อไปก็ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อม และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://student.societyforscience.org/article/why-some-penguin-feathers-never-freeze,
www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52024/,
https://th.wikipedia.org/wiki/เพนกวิน,
https://pixabay.com

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

RD Nop Member 17 ก.พ. 59 22:51 น. 1

เพนกวินที่น่าสงสารส่วนใหญ่ก็ถูกแมวน้ำกับปลาวาฬเพชรฆาต กินอยู่แล้วยังต้องมาตายเพราะภาวะโลกร้อนเพิ่มอีก ห้ามสูญพันธุ์นะสัตว์โลกผู้น่ารักเสียใจ

0
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

RD Nop Member 17 ก.พ. 59 22:51 น. 1

เพนกวินที่น่าสงสารส่วนใหญ่ก็ถูกแมวน้ำกับปลาวาฬเพชรฆาต กินอยู่แล้วยังต้องมาตายเพราะภาวะโลกร้อนเพิ่มอีก ห้ามสูญพันธุ์นะสัตว์โลกผู้น่ารักเสียใจ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Feng K. Member 18 เม.ย. 59 10:23 น. 4

ขอบคุณมากค่ะ เป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจมาก 

เห็นน่ารักๆ แบบนี้ กลับมีกลไนที่ซับซ้อนในการดำรงชีวิต น่าสนใจมากๆ ค่ะ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด