สวัสดีค่ะ จุดแรกของการเลือกสายการเรียนก็คือช่วง ม.3 ที่จะต้องเลือกต่อว่าจะเดินไปทางไหนดี จะเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ ถ้าสายสามัญ (ม.4-6) ก็ต้องเลือกต่อ ว่าจะเรียนสายวิทย์ สายศิลป์คำนวณ สายศิลป์ภาษา สายศิลป์สังคม สายศิลป์อุตสาหการ หรือสายอื่นๆ ส่วนถ้าต่อสายอาชีพ (ปวช.) ก็ต้องเลือกเหมือนกันว่าจะไปสายไหน เช่น สายช่างอุตสาหกรรม สายพาณิชยกรรม สายศิลปกรรม สายคหกรรม สายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น เป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะต่อยอดไปถึงอาชีพในอนาคตเลยค่ะ
สำหรับสายสามัญ ก็จะเรียกชื่อสถาบันเป็น "โรงเรียน" แต่ละโรงเรียนก็มีการสอนที่แตกต่างกัน นอกจากเรื่องสายการเรียนก็จะมีหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรธรรมดา หลักสูตร English Program หลักสูตร Bilingual (เยอะไปอีก) ในส่วนของสายอาชีพก็มีเยอะไม่แพ้กันค่ะ สถาบันอาชีวศึกษาแบ่งออกเป็น 15 ประเภท แต่ละประเภทก็จะมีชื่อเรียกและจุดเด่นแตกต่างกันไป วันนี้พี่แป้งยกมา 5 ประเภท เป็นสถาบันที่เปิดเยอะในประเทศ แต่ละประเภทมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
วิทยาลัยเทคนิค (Technical College)
ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ระบุว่ามีวิทยาลัยเทคนิคในประเทศ 123 แห่ง เป็นสถาบันที่เปิดสอนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมเป็นหลัก ใครอยากเรียนช่างไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ตาม ตบเท้าเข้าวิทยาลัยเทคนิคได้เลยค่ะ แต่ในปัจจุบันบางแห่งก็ขยายเปิดการสอนในสายพาณิชยกรรมและบริหารธุรกิจด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสายช่างอยู่ค่ะ วิทยาลัยเทคนิคมีทุกจังหวัด เช่น วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ, วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม, วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี, วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี เป็นต้น
วิทยาลัยการอาชีพ (Industrial and Community Education College)
วิทยาลัยการอาชีพ เป็นวิทยาลัยที่เน้นหลักสูตรวิชาชีพ มีระบบปกติ, ระบบทวิภาคี, ระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ และคอร์สฝึกอาชีพระยะสั้น เน้นในสาขาที่จบแล้วทำงานได้เลย มีความหลากหลายของหลักสูตรในสถาบันนั้นๆ ในปัจจุบันมี 138 แห่ง เช่น วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง, วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล, วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่, วิทยาลัยการอาชีพจอมทอง เป็นต้น
วิทยาลัยสารพัดช่าง (Polytechnic College)
คล้ายคลึงกับวิทยาลัยเทคนิค เน้นการจัดการเรียนการสอนในสายช่าง เน้นเป็นงานช่างทุกอย่างที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่ช่างสายอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีสายอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น ช่างเสื้อสตรี, ช่างเสื้อผ้า, ช่างเสริมสวยและตัดผม, ช่างเขียนแบบก่อสร้าง เป็นต้น เน้นวิชาชีพที่เป็นความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ก็มีหลักสูตรระยะสั้นและระบบทวิภาคีด้วยค่ะ ครอบคลุมความเป็นสารพัดช่างจริงๆ มีสถาบันอาทิเช่น วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี, วิทยาลัยสารพัดช่างสระบุรี, วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี, วิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา เป็นต้น
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (College of Agriculture and Technology)
น้องๆ อาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี กันสักเท่าไหร่ แต่ในกระเทศไทยมีเปิดถึง 43 แห่งเลยค่ะ เป็นสถาบันที่เน้นจัดการเรียนการสอนประเภทวิชาเกษตรกรรม มีทั้ง ปวช. และ ปวส. เก็บครบทุกสาขาไม่ว่าจะเป็น สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ ประมง เทคโนโลยีสมุนไพร เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทุกศาสตร์ของเกษตร เน้นสร้างบุคลากรที่มีความรู้ในงานเกษตร เพื่อนำไปพัฒนาด้านการเกษตรต่อไป สถาบันที่เปิดสอนก็เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา เป็นต้น
วิทยาลัยอาชีวศึกษา (Vocational College)
ชื่อที่คุ้นหูมากที่สุดก็คือเป็นชื่อของ วิทยาลัยอาชีวศึกษา นี่แหละค่ะ เปิดสอนเน้นไปทางสายงานพาณิชยกรรม และบริหารธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็มีสาขาอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น สายคหกรรม สายการท่องเที่ยวการโรงเรียน หรือสายศิลปกรรม เน้นในส่วนของสายงานบริหารมากกว่างานช่างค่ะ แต่บางสถาบันก็มีหลักสูตรของงานช่างเปิดสอนด้วย วิทยาลัยอาชีวศึกษามีทั้งหมด 37 แห่งทั่วประเทศ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี เป็นต้น
สถาบันอาชีวศึกษาแต่ละประเภทมีจำนวนสถาบัน ดังนี้
1. วิทยาลัยเทคนิค 123 แห่ง
2. วิทยาลัยอาชีวศึกษา 37 แห่ง
3. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 43 แห่ง
4. วิทยาลัยสารพัดช่าง 52 แห่ง
5. วิทยาลัยการอาชีพ 138 แห่ง
6. วิทยาลัยพณิชยการ 5 แห่ง
7. วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการต่อเรือ 3 แห่ง
8. วิทยาลัยศิลปหัตกรรม 2 แห่ง
9. วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว 4 แห่ง
10. วิทยาลัยประมง 3 แห่ง
11. กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง 1 แห่ง
12. วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ 10 แห่ง
13. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ 1 แห่ง
14. วิทยาลัยการอาชีวศึกษา 1 แห่ง
15. วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง 1 แห่ง
การที่แบ่งประเภทแบบนี้ทำให้เห็นว่าสถาบันแต่ละแห่งมีความชัดเจนในการเรียนการสอนในสายนั้นๆ แบบว่าถ้าเป็นช่าง ก็ช่างยกสถาบันเลยค่ะ แต่ก็มีบางแห่งที่เปิดรับหลายหลักสูตร ถ้าน้องๆ สนใจที่ไหนก็ลองตรวจสอบกับสถาบันนั้นๆ ด้วยนะคะ ก่อนจะไปพี่แป้งฝากไว้นิดนึง อยากให้น้องๆ เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจและถนัด แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน รีบหาตัวเองให้เจอแล้วลุยไปเลย ดีกว่ามานั่งเสียใจที่เลือกเรียนผิดสายนะคะ
2 ความคิดเห็น
ค่าเทอมเทคนิกเท่าไหร่ค่ะ
เคยได้ยินวิทยาลัยสารพัดช่าง
ก็เลยเสิร์ทกูเกิ้ลดู ก็เลยอยากรู้ระหว่างวิทยาเทคนิค กับ วิทยาลัยสารพัดช่างมันเหมือนเปล่า พอมาเสิร์ทดูแล้วมันไม่ใช่
มันมีความแตกต่างกันเยอะมากค่ะ