กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
สวัสดีค่ะ วันนี้พี่อีฟขอเริ่มต้นด้วยบทพากย์เอราวัณที่เคยผ่านตาน้องๆ หลายคนมาแล้ว อ่านผ่านๆ อาจจะรู้สึกว่าใช้คำได้สวย มีสัมผัสไพเราะ แต่ถ้าจะให้แปลร้อยกรองมาเป็นร้อยแก้ว เชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้นแน่นอน เพราะที่ผ่านมา พี่อีฟแอบเห็นน้องๆ มาตั้งกระทู้ขอให้พี่ๆ และเพื่อนๆ ช่วยแปลกลอนหรือบทประพันธ์ต่างๆ ให้
ถึงแม้ว่าจะอยากช่วยแค่ไหน แต่ก็อยากให้น้องๆ เริ่มต้นในการแปลด้วยตัวเองได้ค่ะ วันนี้พี่อีฟก็เลยขอมาแนะนำ 6 วิธีแปลบทกลอนง่ายๆ (ฉบับเด็กมัธยม) ที่เชื่อว่า ถ้าน้องๆ ลองทำตาม จะสามารถแปลบทกลอนหรือคำประพันธ์ทุกชนิดในหนังสือเรียนได้แน่นอน ไปดูกันเลยค่ะ
1.รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร
ถ้าเป็นบทประพันธ์ในหนังสือเรียน ก่อนที่จะมาถึงในส่วนของบทประพันธ์ น้องๆ ต้องรู้ก่อนว่า กำลังเรียนเรื่องอะไร ซึ่งสำคัญมากเลยค่ะ ถ้าน้องๆ รู้ว่าบทประพันธ์นี้มาจากเรื่องอะไร ตอนไหนของเรื่อง ก็จะทำให้สามารถถอดคำประพันธ์นั้นได้ง่ายขึ้น หรือทำให้รู้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคำประพันธ์นั้น เป็นเรื่องราวหรือคำพูดระหว่างใครกับใคร เช่น
"ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา"
(ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม)
จากบทประพันธ์มีคำที่พูดถึงความเป็นแม่ และความเป็นลูก ถ้าน้องๆ รู้ว่าบทประพันธ์นี้เป็นเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม น้องๆ ก็น่าจะเดาได้เบื้องต้นใช่ไหมคะ ว่าลูกในคำประพันธ์นี้น่าจะหมายถึงพลายงามแน่นอน
2. หาคำที่รู้ความหมาย + รู้ความหมายนัยตรง นัยประหวัด
ถึงแม้ว่าทั้งบทกลอนน้องๆ อาจจะถอดคำประพันธ์ออกมาได้ไม่หมด แต่ใน 1 บท หรือ 1 วรรค จะต้องมีคำที่น้องๆ รู้ความหมายอยู่แล้วแน่นอน คำศัพท์เหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้องๆ สามารถแปลบทประพันธ์ยากๆ ได้ เพราะถ้ามีคำศัพท์ที่เรารู้ ก็สามารถเดาเรื่องราว หรือความหมายของบทประพันธ์นั้นในเบื้องต้นได้ค่ะ
และนอกจากคำศัพท์พื้นฐานที่ทำให้เราต่อยอดในการถอดคำประพันธ์ได้แล้ว เราจะต้องรู้จักความหมายนัยตรง นัยประหวัดด้วย ว่าข้อความที่ให้มาเป็นความหมายตรงๆ เลยมั้ย หรือ ต้องคิดอีกชั้นนึง เพราะเป็นความหมายเปรียบเทียบ พี่อีฟขอยกตัวอย่างบทนี้นะคะ
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน"
(พระอภัยมณี)
ตัวอย่างกลอนบทนี้ น้องๆ เห็นก็จะรู้สึกว่าง่าย เพราะมีคำที่เรารู้ความหมายเยอะ
วรรคแรกก็ตรงตัวเลยค่ะ แปลว่า อย่าไว้ใจมนุษย์
วรรคที่สองถึงน้องๆ จะแปลหรือรู้ความหมายของคำว่า ลึกล้ำ คำเดียว ก็สามารถแปลได้คร่าวๆ แล้วว่า ที่บอกว่าอย่าไว้ใจ เพราะจิตใจของมนุษย์นั้นลึกล้ำ
วรรคที่สาม มี เถาวัลย์ คือพืชที่เจริญเติบโตโดยการพันเกาะเกี่ยวต้นไม้ ส่วน พัน เกี่ยว เลี้ยวลด ก็เป็นลักษณะรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ลักษณะพุ่งตรง หรือมาในแนวตรง
วรรคสุดท้าย คำว่า ก็ไม่คด เหมือน น้ำใจคน ถ้าเราแปลตรงๆ ก็อาจจะงงว่าหัวใจคนเรามันจะไปคดได้ยังไง แต่ถ้ามองในมุมของการเปรียบเปรย ก็ทำให้เราเดาได้ว่ามีการเปรียบเทียบลักษณะของเถาวัลย์กับใจของคนนั่นเองค่ะ ว่าขนาดเถาวัลย์ที่พันต้นไม้ไปมาดูยุ่งเหยิง ก็ยังไม่เท่ากับจิตใจคนที่อาจคดไปคดมา คาดเดาไม่ได้
ดังนั้น นอกจากรู้ความหมายของคำศัพท์แล้ว อยากให้น้องๆ ลองสังเกตการใช้คำเปรียบเปรย เปรียบเทียบ ในบทกลอนต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้วรรณคดีมีความสวยงาม และเป็นลักษณะทางวรรณศิลป์ที่สำคัญอย่างนึงเลยค่ะ
ปัญหานึงของการถอดคำประพันธ์แล้วเละไม่เป็นท่าคือ แปลออกมาจบเรื่อง แต่ความหมายไปคนละทิศคนละทาง เหมือนอยู่คนละเรื่อง จริงๆ แล้วก่อนเริ่มถอดคำประพันธ์ น้องๆ ควรอ่านเรื่องทั้งหมดก่อนสัก 1-2 รอบนะคะ เพื่อหาไอเดียของเรื่องนั้นๆ เพราะการถอดคำประพันธ์ทีละวรรค โดยไม่ดูภาพรวม เราอาจได้เมดเล่ย์วรรณคดีก็ได้นะ ฮ่าๆ
เมื่ออ่านจบแล้ว เราจะได้รู้ว่า เรื่องนี้มีตัวละครกี่ตัว มีสถานที่อะไร แล้วบทไหนมีอารมณ์แบบไหน ใครพูดกับใครบ้าง เพราะการถอดคำประพันธ์วรรณคดี การรู้ว่าใครพูดกับใครเป็นเสมือนคีย์เวิร์ดของเรื่องเลยก็ว่าได้ จากนั้นก็ค่อยแปลทีละบทๆ เมื่อถอดได้ครบบท ก่อนไปบทต่อไป ก็ควรอ่านอีกรอบ แล้วดูความเชื่อมโยง เพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินไปไม่มีสะดุดค่ะ
4.มีคลังศัพท์เป็นเพื่อน
ปัญหาใหญ่ของน้องๆ ในการแปลบทกลอนหรือคำประพันธ์ไม่ได้ คือ การเจอคำศัพท์ยากๆ แล้วถอดใจ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าแปลคำศัพท์นั้นออกมา ก็จะกลายเป็นคำศัพท์ง่ายๆ ที่น้องๆ ต้องร้องอ๋อ! วิธีที่พี่อีฟแนะนำเลยก็คือ น้องๆ ควรมีคลังศัพท์ที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ คำไวพจน์ หรือ คำที่มีความหมายเหมือนกันนั่น เช่น คำว่า เทวดา มีคำที่มีความหมายเดียวกัน ได้แก่ เทพ เทว เทวินทร์ หรือ คำว่า น้ำ มีคงคา นที ธารา สมุทร วารี ลองคิดดูว่าถ้าบทกลอนนั้นมีแต่คำว่าน้ำ น้ำ น้ำ ซ้ำไปมาทั้งบทกลอน ก็คงจะไม่ค่อยสละสลวยเท่าไหร่ใช่ไหมคะ ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ
"ครั้นอ่านสารเสร็จสิ้นพระทรงฤทธิ์ ถอนฤทัยคิดแล้วสงสัย
บุษบาจะงามสักเพียงใด จึงต้องใจระตูทุกบุรี"
(อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง)
คำศัพท์ที่น้องๆ หลายคนน่าจะไม่เข้าใจในบทนี้ น่าจะเป็น พระทรงฤทธิ์ ฤทัย บุรี ซึ่งเป็นคำที่เป็นคำไวพจน์ทั้ง 3 คำ โดยคำว่า พระทรงฤทธิ์ คือ พระผู้มีอำนาจ หรือผู้ครองเมือง (ในเรื่องหมายถึงอิเหนา) ส่วนคำว่า ฤทัย ก็มีความหมายเหมือนกับคำว่า ใจ และคำว่า บุรี ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า เมือง ค่ะ เห็นมั้ยว่า ถ้าเรารู้จักคำศัพท์มากขึ้น ก็ไม่ต้องมางงแล้วว่ามันคืออะไร เห็นแว้บเดียวก็เดาออกแล้ว ทีนี้การแปลทั้งวรรคก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ
5. พจนานุกรมคือทางเลือกสุดท้าย
ทางเลือกสุดท้ายก่อนที่จะให้คนอื่นช่วยเหลือ เช่น ถามครู ถามเพื่อน ควรจะมีทางเลือกสุดท้ายที่เราได้ลองลงมือทำด้วยตัวเองก่อนนะคะ ถ้าลองดูบทกลอนแล้วไม่มีคำที่รู้ความหมาย ชนิดที่ว่าคลังศัพท์ในหัวเราก็หมดแล้ว แนะนำให้เปิดพจนานุกรมค่ะ ยิ่งเล่มใหญ่แค่ไหน คำศัพท์ที่มีในเล่มก็ยิ่งละเอียดแค่นั้นค่ะ
เริ่มต้นง่ายๆ อาจจะเป็นการค้นหาคำศัพท์ที่เราสงสัย จากท้ายบทเรียนก่อน ถ้ายังไม่เจอก็รีบหยิบพจนานุกรมมาเปิดได้เลย เพราะในนั้นจะมีทุกคำศัพท์รวมกัน ตั้งแต่คำง่ายๆ ใช้กันทุกวันไปจนถึงคำยากๆ เช่น อาสน์ โสรจสรง ภูวไนย สีหนาท ณรงค์ ที่ไม่ค่อยได้เห็นใครใช้ และที่สำคัญ พี่อีฟเชื่อว่าการลงมือค้นหาด้วยตัวเอง จะทำให้น้องๆ จดจำคำศัพท์ได้แม่นยำกว่าเดิม คราวหน้าไปเจอคำศัพท์นี้ในบทกลอนไหน ก็ไม่ต้องเสียเวลามาเปิดพจนานุกรมบ่อยๆ อีกแล้วค่ะ
6. อ่านเยอะ สังเกตมาก
ใครที่ไม่เคยเจอบทประพันธ์ คำกลอน วรรณคดีมาก่อน คงจะต้องใช้เวลาในการถอดคำประพันธ์นานกว่าคนที่อ่านเป็นประจำ ดังนั้น อีกหนึ่งวิธีที่พี่อีฟอยากจะแนะนำมือใหม่ที่อยากแปลบทกลอนเก่งๆ คือ อ่านบทประพันธ์ชนิดนี้ให้มากขึ้น ยิ่งเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี
น้องๆ ต้องอย่าลืมสังเกตคำที่ใช้ เรื่องราวที่เล่า ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ถ้าเรื่องราวเล่าถึงตัวละครหรือบุคคลนี้ สามารถใช้คำศัพท์ไหนแทนได้ หรือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีคำศัพท์แปลกคำไหนบ้างที่ใช้ในเรื่องนี้ มีบริบทอย่างไรหากต้องใช้คำนี้ หรือคำนี้เราเคยเจอในบทประพันธ์ไหนมาก่อนหรือไม่ ซึ่งการอ่านเยอะ และสังเกตมาก จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้น้องๆ สามารถแปลบทกลอนที่ต้องเจอในอนาคตได้ง่ายขึ้น
เป็นยังไงกันบ้างคะ กับเคล็ดลับที่พี่อีฟนำมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็นการแปลบทกลอน หรือการแต่งกลอน ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกฝนค่ะ ครั้งแรกที่เห็นอาจจะยังแปลไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ ลองหัดถอดคำประพันธ์บ่อยๆ หยิบพจนานุกรมมาเปิดซ้ำๆ เรียนรู้คำศัพท์เก็บไว้ในคลังแสงเราให้มากที่สุด พี่อีฟเชื่อแน่ว่า ครั้งต่อไปที่น้องๆ เจอบทกลอน จะต้องแปลได้เร็วขึ้น และเก่งขึ้นแน่นอนค่ะ :)
19 ความคิดเห็น
เราก็คิดนะว่าถอดคำประพันธ์จากบทร้อยกรองมาเป็นบทร้อยแก้วมันยากตรงไหนคะ
ใน Pantip มีกระทู้ทำการบ้านกลาดเกลื่อนจนน่ารำคาญและเอียนสุดๆ
มีหมดเกือบทุกวิชาเลยค่ะ
นั่นเป็นการบ้านของพวกน้องๆนะคะ ควรจะทำด้วยตัวเองก่อน
ไม่ใช่เข้ามาก็ตั้งกระทู้สั่งให้คนอื่นช่วยทำอย่างกับตัวเองเป็นเจ้านายที่กำลังจิกหัวใช้ขี้ข้า
คนใน Pantip กับคนในบอร์ดเด็กดีไม่ใช่ขี้ข้านะคะ
คนที่ได้คะแนนและผลประโยชน์ไปก็คือ คนที่ช่วยทำการบ้านให้
ไม่ใช่พวกน้องๆที่เป็นเจ้าของสมุดการบ้านตัวจริง
แต่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ค่อยเข้ามาตั้งกระทู้ถามว่าทำถูกต้องไหม
คนที่เก่งวิชานั้นๆหรือคนที่เชี่ยวชาญเนื้อหาของแต่ละเรื่องจะได้เข้ามาช่วยแนะนำให้
แล้วก็คนๆเดียวไม่ได้เก่งและรอบรู้ไปหมดทุกวิชาด้วย
ถ้ามีคนๆเดียวเก่งทุกวิชาและรอบรู้ไปหมดทุกเรื่องที่อยู่บนโลกใบนี้อยู่จริงๆ
เราก็คิดว่าพวกเขาเป็นลูกครึ่งผสมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาวจากนอกโลกแล้วนะคะ
บทประพันธ์หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลาตอนนิมิตในสายรุ้งข้อคิดกับคุณค่ายังไง
ช่วยถอดหน่อยครับ
พระฟื้นตื่นนอน ไกลพระนคร สะท้อนถอนทัย เช้าตรู่สุริยัน ขึ้นพ้นเมรุไกร
มีกรรมจำไป ในป่าอารัญ
ช่วยถอดหน่อยครับ
พระฟื้นตื่นนอน ไกลพระนคร สะท้อนถอนทัย เช้าตรู่สุริยัน ขึ้นพ้นเมรุไกร
มีกรรมจำไป ในป่าอารัญ
อ่านแล้วพรุ่งนี้สอบกลางภาคเรื่องนี้ด้วยรู้สึกตื่นเต้นนิดๆค่ะ
ช่วยถอดบทละตร เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิงหน่อยค่้ะ
ขอบคุณค่ะ ช่วยได้มากๆเลย^^ จะรออ่านบทความหน้านะคะ :)
ดีมว็ากกกๆ
ถามจริงพวกพี่เนี่ย ก็เเปลไม่ได้คือเเปลไม่ได้อ่ะ มันไม่เข้าใจ ถ้าพวกหนูทำได้คงไม่ถามหรอก เเล้วที่บอกว่าง่ายๆเอง พวกพี่ง่ายเเต่พวกหนูไม่งานหนิ
ช่วยถอดคำประพันธ์
พระอถัยมณี,พระสมุทรโวหาร,สุนทรภู่
ช่วยถอดบทความให้ทีค่ะ
ตอน พระอุณรุทชมโฉมนางกินนรี
พิศรูปงามรูปอรชร
เพียงทรงอัปสรสาวศรี
พิศพักตร์งามผ่องไม่ราคี
ดั่งแว่นแก้วมณีทั้งห้านาง
พิศขนงงามโก่งดังคันศิลป์
เนตรนิลขำคมทั้งสองข้าง
พิศกรรณเพียงกลีบอุบลบาง
พิศปรางงามปรางดั่งปรางทอง
พิศโอษฐ์งามเอี่ยมเทียมจะแย้ม
งามนาสิกแสล้มไม่มีสอง
พิศถันงามเนื้อนวลละออง
ดั่งปทุมทองพิศอันโอฬาร์
พิศกรงามกรายเมื่อกรีดกร
พิศองค์งามอ่อนดั่งเลขา
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญตา
พระแสนสุดเสน่หายุพาพาล
ใครใจดีถอดคำประพันธ์ให้หน่อยครับ
ทุกทิวาและราตรีกาลสมัย
ขบคิดสิ่งใดให้โลกนี้
ปวงธาตุฝันอันเปี่ยมสุขสุนทรีย์
แค่มีให้ก้าวผ่านตามกาลเวลา
แก่นแท้แน่วแน่แก่สิ่งไหน
เสพสุขไปตามใจปรารถนา
ลอยละล่องเวิ้งวัฎฎะอนิจจา
ควรค่ายึดติดสนิทฤา
หล่อหลอมกายวิญญาณซ่านซึ้งวิเศษ
เหตุแห่งสังขารจักพาลไปยึดถือ
จิตวิญญาณมิผ่านการฝึกปรือ
หรือระบือลือเลื่องเฟื่องสติปัญญา
สงบนิ่งแม้ราตรีที่มืดมิด
แนบสนิท ณ รุ่งสางกระจ่างฟ้า
ตกผลึกในจิตวิญญาณผ่านกาลเวลา
แทงทะลุว่าธรรมชาตินั้นนั่นสัจธรรม
ทุกทิวาและราตรีที่ก้าวผ่าน
เพ่งทิพย์ญาณผ่านสำนึกอันลึกล้ำ
กระจ่างแล้วลุล่วงจากบ่วงกรรม
ล้วนกระทำภายในตนเลือกหนทาง
มรรคาอันยาวไกลในชีวิต
ลิขิตขีดเขียนไปไม่ปล่อยว่าง
เกิดรูปเงามายาไปไม่ปล่อยว่าง
สร้างอุปทานสังขารไปในกาลนิรันดร์
พบแสงสว่างจะกระจ่างอยู่ฉะนี้
ทั้งทิวาและราตรีที่หลับฝัน
มีแดดจ้าและอ่อนโยนผ่อนปรนกัน
ตะวันจันทร์ส่องสว่างกระจ่างใจ
ผลเดื่อเมื่อแดงสุดไซร้
ทองผ่องโพยม
ผ่องโพยม
คอยองค์