บอกเล่าความประทับใจ ศิษย์เก่า "โรงเรียนจิตรลดา" โรงเรียนของในหลวง ร.9


      สวัสดีค่ะ บทความโรงเรียนน่าอยู่วันนี้ขอบอกว่าพิเศษมากจริงๆ ค่ะ เพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าจาก "โรงเรียนจิตรลดา" โรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น ตั้งอยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต หรือ พูดง่ายๆ ว่าเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวังนั่นเอง

      มี 2 รุ่นพี่ที่มาบอกเล่าความประทับใจและความภาคภูมิใจในโรงเรียนจิตรลดา ก็คือ พี่ญี่ปุ่น ศิษย์เก่ารุ่นที่ 41 และ พี่สตางค์ ศิษย์เก่ารุ่นที่ 35 ค่ะ อยากให้น้องๆ ลองอ่านให้จบนะคะ แล้วจะรู้ว่า โรงเรียนจิตรลดา น่าอยู่ขนาดไหน :D

    


credit : www.chitraladaschool.ac.th
 
   Dek-D.com : ตอนที่ได้เข้าไปเรียน รู้มั้ยว่าเราได้เข้าไปเรียนในวังของพระเจ้าแผ่นดินนะ
   พี่ญี่ปุ่น :  แรกๆ ที่เข้าไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่านี่คือโรงเรียนในวังของในหลวงนะ แต่ส่วนตัวยังเด็ก ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ตอนนั้นรู้แค่ว่าออกไปจากเขตโรงเรียนไม่ได้ถ้าครูไม่ได้พาไป (ในวังกว้างมาก โรงเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่ทราบว่าเขตอื่นๆเป็นอย่างไร) บางทีครูก็จะพานักเรียนออกไปเดินเล่น พอถึงเขตที่มีรั้ว มีประตู มีทหารรักษาพระองค์อยู่ ครูก็จะบอกว่าข้างในนั้นคือวังของในหลวง ด้วยความที่เป็นเด็กก็จะพยายามชะเง้อมองอย่างตื่นเต้น มองไม่ค่อยเห็นหรอกค่ะ ต้นไม้เยอะมาก เวลาผ่านไป แต่ความรู้สึกตื่นเต้นนั้นไม่เคยจางหายไป ขึ้นชั้นโตๆแล้วก็ยังแอบชะเง้อมองอยู่ดี
  
พี่สตางค์ : ตอนที่เข้าไปนั้นคือเด็กมาก ป.1 ยังไม่ทันรู้เรื่องถึงขนาดว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่ในวังของพระองค์ รู้แค่เพียงว่าเป็นโรงเรียนที่พี่สาวเรียน และเราก็เข้าเรียนตามด้วยเท่านั้นเองค่ะ

   Dek-D.com : หลายๆ คนอยากรู้มากเลยว่าเด็กจิตรลดา เรียนอะไร รูปแบบการเรียนการสอนต่างจากโรงเรียนอื่นมั้ย
    พี่ญี่ปุ่น : รูปแบบวิชาการไม่ค่อยต่างค่ะ เรียนเหมือนโรงเรียนอื่นเลย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พลศึกษา สุขศึกษา พระพุทธศาสนา ฯลฯ ปีหลังๆ มีวิชาภาษาจีนเพิ่มเข้ามาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเทพฯ ด้วย นอกจากนี้จะมีเน้นวิชาดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย อย่างวิชาดนตรีไทยนี่นักเรียนจะได้เรียนดนตรีไทยหลายๆ เครื่อง เวียนไปในระดับชั้นป.1-ป.2 พอขึ้นป.3 ครูจะให้เลือกเครื่องดนตรีไทยที่ชอบที่สุด แล้วเรียนเครื่องดนตรีนั้นไปเรื่อยๆ จนจบม.3 ส่วนนาฏศิลป์ไทยก็จะได้เรียนทุกปี ความยากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการครอบครู และมีโอกาสให้นักเรียนได้แสดงรำ/โขน เมื่อเรียนระดับชั้นป.5 ในงานปิดภาคเรียนประจำปี ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาพระราชทานรางวัลเรียนดีให้กับนักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ย 3.80 ขึ้นไป ส่วนกิจกรรมหลักๆ ก็ไม่แตกต่าง มีค่าย มีกีฬาสี มีสัปดาห์หนังสือ มีจิตรลดาวิชาการ มี Music Day แต่กิจกรรมทั้งหมดจะต้องกระทำด้วยความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าให้สำรวมมาก แต่เราต้องพึงระลึกว่าทุกกิจกรรมนี้ดำเนินอยู่ในวังของในหลวง เปรียบเสมือนเข้าไปทำกิจกรรมในบ้านของพระองค์
 

credit : ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดารุ่นที่ 41

    พี่สตางค์ : การเรียนการสอนที่นี่ก็ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการค่ะ แต่รายละเอียดวิชาบางอย่างก็มีไม่เหมือนที่อื่นอยู่บ้าง อย่างวิชาคหกรรม นอกจากเย็บปักถักร้อยทั่วไปแล้ว เมื่อก่อนวิชานี้สอนร้อยมาลัยและแกะสลักผักผลไม้ด้วย หรือวิชาพุทธศาสนา มีนิมนต์พระมาสอน มีให้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่วัดอะไรแบบนี้ วิชาดนตรีที่จิตรลดาก็จะเป็นดนตรีไทย ซึ่งก็จะเหมือนที่น้องญี่ปุ่นบอกไปค่ะ     
     และคิดว่าที่อื่นไม่มีก็คือ การทัศนศึกษาเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์ต่างๆ จะมีซักกี่โรงเรียนที่พาเด็กนักเรียนไปดำนา ปลูกข้าว ไปรีดนมวัว ไปทำกระดาษสา ไปเพาะเห็ด ไปดูงานโรงงานผลิตน้ำผลไม้ โรงงานผลิตนมอัดเม็ด (อันนี้ชอบมากเป็นพิเศษ ติดไม้ติดมือกลับมากันคนละถุงสองถุง 5555+) ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ไปไหนไกลเลย ออกจากรั้วโรงเรียนไปไม่เท่าไหร่ ไม่ต้องออกมาจากรั้วพระราชวังเลย


กิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตและการทำนาปลูกข้าวในแปลงนาสาธิตโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
credit : www.chitraladaschool.ac.th/view_activity.php?Act_ID=19
 

   Dek-D.com :  สภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นยังไงบ้างคะ
   พี่ญี่ปุ่น : สภาพแวดล้อมในโรงเรียนร่มรื่นมากๆ มีสระน้ำ มีต้นไม้เยอะมาก ยิ่งถ้าขึ้นไปมองจากตึกเรียนที่สูง 4-5 ชั้น จะเห็นต้นไม้เต็มไปหมด บางทีก็มีนกยูงเดินผ่านไปมา เด็กคนไหนซนวิ่งไปดูใกล้ๆ นกยูงก็จะรีบเดินหนี ตึกเรียนสีนวลสะอาดตา พื้นที่แบ่งโซนระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา แต่จะมีบางพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น หอประชุม สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ส่วนนอกเขตโรงเรียนก็จะเป็นโครงการส่วนพระองค์ โรงเพาะเห็ด โรงเลี้ยงโคนม โรงช้าง แปลงนา และอีกมากมาย โดยนักเรียนจิตรลดาจะมีโอกาสได้ไปศึกษาโครงการต่างๆเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
 
  พี่สตางค์ : ตอนเด็กๆ ที่พอรู้เรื่องแล้วก็สงสัยมาก ว่าทำไมโรงเรียนถึงไปอยู่ในพระราชวังของพระองค์... ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ได้มีแค่โรงเรียน แต่ภายในเขตพระราชฐานยังมีโครงการส่วนพระองค์อีกมากมาย ซึ่งเป็นเหมือน pilot project เอาไว้ศึกษาองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพระราชทานแก่คนไทยทั้งประเทศ บอกเลยว่าไม่เหมือนกับพระราชวังของกษัตริย์พระองค์ไหนในโลก ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านแบบเราๆคือจะบอกว่าเจ๋งมากจริงๆ! ตอนเช้าเวลาผู้ปกครองขับรถไปส่งลูกหลานที่โรงเรียน ก็จะต้องขับรถผ่านบรรยากาศเหล่านี้ ผ่านความร่มรื่น ผ่านแหล่งน้ำที่มีกังหันชัยพัฒนา ผ่านโรงช้าง ผ่านนกกาที่มีอยู่เต็มไปหมด พอๆ กับตัวเงินตัวทอง เต่า นกยูง และสารพัดสิงสาราสัตว์คอยมาเดินป้วนเปี้ยนทักทายอยู่ตลอด บางทีก็ต้องจอดรอให้เค้าค่อยๆ ข้ามถนนผ่านหน้าเราไป  สมัยเด็กๆ เวลาเจออะไรอย่างนี้จะชอบมาก แต่จะคอยดูอยู่ห่างๆ ไม่เคยกล้าลงไปใกล้ๆ เลย เพราะกลัวค่ะ >//<
 

credit : ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดารุ่นที่ 41

   Dek-D.com : แล้วห้องเรียนของเราล่ะ เป็นยังไงบ้าง
   พี่สตางค์ : ห้องเรียนที่นี่เป็นแอร์ธรรมชาตินะคะ (ไม่มีแอร์ มีพัดลมตัวใหญ่หมุนติ้วๆ อยู่บนหัว) แต่ไม่ร้อนค่ะ ต้นไม้เยอะ ลมเย็น มีกระดานดำหน้าห้อง บนหัวกระดานจะมีวันที่ของแต่ละวัน ซึ่งใช้เลขไทยหมดเลย สมัยนั้นเด็กนักเรียนจะต้องถอดรองเท้าเรียงกันไว้ก่อนเข้าห้องเรียน
     แต่ตลกมากคือ คนชอบถามว่า นั่งพับเพียบเรียนหรือเปล่า... ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเค้าไปเอาความคิดนี้มาจากไหน :D ในห้องเรียนมีโต๊ะ - เก้าอี้ นั่งเรียนนะคะ เป็นโต๊ะและเก้าอี้ไม้ มีลิ้นชักไว้ใส่หนังสือเรียน และแก้วน้ำ... แก้วน้ำทุกคนใช้จะเป็นแก้วอะลูมิเนียม เวลาพักเอาไปกดน้ำตรงตู้กดหน้าห้อง หน้าบันได ระดับชั้นหนึ่งสมัยนั้นจะมีแค่ 2 ห้อง (คละสลับโดยไม่ได้แบ่งตามผลการเรียน) แต่ปัจจุบันนี้รู้สึกจะเพิ่มเป็นชั้นละ 3 ห้องแล้วหรือเปล่าไม่แน่ใจนะคะ และก็มีสายวิชาชีพเพิ่มเติมด้วย ปัจจุบันนี้น่าจะมีนักเรียนประมาณหลายพันคนได้... แต่สมัยนั้น ห้องหนึ่งประมาณ 70 - 80 คนเท่านั้น แบ่งเป็น ห้อง ก. กับ ข. ส่วนที่ทันสมัยสุดๆ ก็มีนะ อย่างห้อง Lab สำหรับเรียนวิทยาศาสตร์ มีอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ครบครัน ยิ่งถ้าเป็น ม.ปลาย สายวิทย์ จะได้เล่นกับอุปกรณ์พวกนี้เยอะมาก มีห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชด้วย (Plant Tissue Culture) ซึ่งเชื่อว่าห้องนี้ที่โรงเรียนอื่นไม่มีแน่ๆ  
     ที่นี่ก็มีหอประชุมเหมือนกับโรงเรียนอื่นด้วยนะคะ ใช้สำหรับเคารพธงชาติตอนเช้า หรือจัดงาน จัดกิจกรรม จัดพิธีปิดภาคเรียนต่างๆ ชื่อว่า 'ศาลาผกาภิรมย์' สมัยนั้นไม่มีแอร์ เป็นห้องประชุมพื้นไม้ ด้านหน้ามีเวที ที่จะตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของ 2 พระองค์ ก่อนจะเคารพธงชาติทุกเช้า จะมีอาจารย์ใหญ่ หรืออาจารย์ท่านอื่นขึ้นไปจุดธูป เทียน บูชาพระ และถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ แบบนี้ทุกๆ วัน ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เด็กจิตรลดาจะได้ฝึกร้องเพลงที่แต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติทุกเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสำคัญของพระองค์ จะตั้งใจร้องมากๆ
    พูดแล้วก็คิดถึงจัง ไม่ได้กลับไปที่โรงเรียนนานมากแล้ว ได้ยินว่าตอนนี้มีอาคาร มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นเยอะเลย แต่ถึงจะเปลี่ยนไปยังไง ภาพของโรงเรียนในใจของเราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงนะ ^^

 

 

    Dek-D.com : ในหลวงทรงมีพระเมตตาต่อนักเรียนในโรงเรียนยังไงบ้างคะ
    พี่สตางค์ : มีมากมายเลยค่ะ โรงเรียนจิตรลดา ไม่มีค่าเทอม ไม่มีค่าเล่าเรียนค่ะ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน ซึ่งจุดนี้ทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เราต้องตระหนักเสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน การวางตัวจะต้องเหมาะสม ต้องตั้งใจ ต้องให้ดีสมกับที่เราโชคดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้เล่าเรียนในโรงเรียนของพระองค์ท่าน
     แต่ว่าก็ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนะคะ (สมัยก่อนพระราชทานเลี้ยงหมด แต่พอนักเรียนจำนวนมากขึ้น ทางโรงเรียนก็มองว่าจะเป็นการขอพระราชทานมากเกินไป) ส่วนมื้อกลางวันของนักเรียนจิตรลดาก็ไม่ต้องไปซื้อหรือนำมาจากบ้าน พอเที่ยงปุ๊บ วิ่งไปเข้าแถวที่โรงอาหาร หยิบถาดหลุมคนละใบ ตักข้าวและกับ 2-3 อย่าง แล้วก็มีขนม ซึ่งรสชาติอาหารและเมนูนั้นคุ้นเคยกันทุกคน เพราะกินกันมาตั้งแต่ชั้นประถม คือถ้าวันนี้มีแกงนั้น รู้เลยว่าจะต้องมาพร้อมกับเมนูอันนี้ คุณภาพอาหารก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก อาหารไม่ได้หรูหรา มีความสมถะ พอเพียง อย่างที่พระองค์ท่านสอน และสิ่งที่จะถูกปลูกฝังตลอดก็คือให้ทานให้หมด ไม่ให้เลือกทาน และให้เห็นคุณค่าของอาหาร
       นอกจากนี้ก็มีเรื่องสถานพยาบาล ถ้าป่วยหนักๆ จะถูกส่งจากห้องพยาบาลไปที่กองแพทย์หลวง มีหมอพยาบาลและยาพร้อมดูแลอยู่ภายในวังสวนจิตรฯ และที่นี่มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีมากๆ ด้วยค่ะ (แน่นอนอยู่แล้ว) เวลาผู้ปกครองมาส่งนักเรียน อันดับแรกคือต้องขอบัตรผ่านเข้าวังฯ ถ้าไม่มีบัตรผ่าน ต้องไปแลกบัตรกับทหารหน้าวังฯก่อน การแต่งกายต้องสุภาพเท่านั้น ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ผู้ชายห้ามใส่กางเกงยีนส์ ต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น พูดง่ายๆ ว่าการแต่งตัวเข้าวังฯ ต้องให้เกียรติสถานที่ และพอขับรถผ่านพ้นประตูวังฯเข้ามาในเขตรั้วโรงเรียนก็จะมีทหารเฝ้าประตูอีกชั้น เพราะถ้าผ่านรั้วโรงเรียนเข้าไปข้างในลึกเข้าไปนี่ก็เขตพระราชฐานแล้ว และที่น่าประทับใจอีกอย่างนึงคือ จริงๆ โรงเรียนนี้ไม่มีรถรับส่งค่ะ แต่ผู้ปกครองที่นี่มีน้ำใจกันมากๆ ทุกคน ถ้าพบเด็กนักเรียนใส่ชุดเครื่องแบบจิตรลดาเดินอยู่ก็จะรับขึ้นรถพาไปส่งโรงเรียนด้วยกัน (เดินจากประตูวังฯ เข้าโรงเรียนเหนื่อยจริงๆ ค่ะ)

  
   พี่ญี่ปุ่น : จริงๆ ไม่เฉพาะแค่เด็กในโรงเรียนนะคะ ในหลวงทรงเปิดวังให้เป็นโรงเรียนสำหรับพสกนิกรเข้าไปศึกษาหาความรู้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แล้ว แต่สำหรับนักเรียนในโรงเรียน นอกจากในหลวงพระราชทานอาหารกลางวันฟรีทุกวันแล้ว ยังมีสวัสดิการดีๆ อีกมากมาย ทั้งร้านสะดวกซื้อ ห้องสมุด อุปกรณ์กีฬาต่างๆ นอกจากนี้นักเรียนที่มีผลการเรียนดีตลอดปีการศึกษายังได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งในอดีตในหลวงพระราชทานรางวัลนี้ด้วยพระองค์เองอีกด้วยค่ะ

    Dek-D.com : มีโอกาสได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบ้างมั้ยคะ และถ้าเคย อยากให้เล่าถึงความรู้สึกนั้นหน่อยค่ะ
    พี่ญี่ปุ่น : เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คณะครูและนักเรียนจิตรลดาในขณะนั้นมีโอกาสได้ไปรอรับเสด็จอยู่บริเวณริมวัง วันนั้นจำได้ว่าอากาศร้อนมาก ร้อนจนจะเป็นลม แต่ทุกคนก็ยังอดทนและรอรับเสด็จอยู่ เมื่อขบวนเสด็จใกล้มาถึง จู่ๆ บรรยากาศก็ร่มเย็นลง ความร้อนจากแสงอาทิตย์หายไปกลายเป็นความเย็นสบาย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าต้องเป็นเพราะพระบารมีของในหลวง วินาทีที่ขบวนเสด็จมาถึง ฝั่งที่เรานั่งโชคดีมากเพราะได้เห็นในหลวงชัดมากๆ ท่านโบกพระหัตถ์ให้แก่พสกนิกรที่ไปรอรับเสด็จ วันนั้นตั้งใจไว้ว่าอยากมองเห็นในหลวงให้นานที่สุด แต่เมื่อได้เห็นแล้ว การตอบสนองหลังจากนั้นเหมือนเป็นอัตโนมัติ เราตะโกนออกไปว่า 'ทรงพระเจริญ' ก้มลงกราบพร้อมเช็ดน้ำตาแห่งความสุขที่ได้รับเสด็จในหลวง ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ภาพวันนั้นคณะครูและนักเรียนยังจำได้แม่นเลยค่ะ
   
พี่สตางค์ : ต้องบอกว่า... ในชีวิตเคยแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเอง แต่แค่เพียงครั้งเดียวนั้น สำหรับเราแล้วนับว่าเป็นบุญอย่างยิ่งใหญ่ของเรามากๆ แล้ว เมื่อก่อน สมัยที่ยังทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทุกๆ วันที่ 4 ธันวาคม จะเป็นวันที่พระองค์จะพระราชทานพระราชดำรัสแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ในวังสวนจิตรลดาฯ ทุกๆ ปี ซึ่งจะเป็นวันที่นักเรียนจิตรลดาได้หยุด เนื่องจากจะมีคณะเดินทางมาเข้าเฝ้าจากทั่วทั้งประเทศ แต่สำหรับนักเรียนจิตรลดา ม.6 จะได้มีโอกาสไปเข้าร่วมพิธีนี้ด้วย โดยได้ไปตั้งแถวนั่งรอรับเสด็จอยู่ที่ถนนด้านหน้าศาลาดุสิตดาลัย มีโอกาสได้เห็นพระพักตร์แค่แว้บเดียว แว้บเดียวจริงๆ คือพอก้มหน้าลงกราบ เงยขึ้นมาทันเห็นแค่นั้นเอง แต่เท่านั้นก็รู้สึกว่าเป็นบุญมากมายเท่าไหร่แล้ว ดีใจที่สุดในชีวิตเลย
 

    Dek-D.com : เครื่องแบบของโรงเรียนเป็นยังไงคะ
    พี่ญี่ปุ่น : ชุดนักเรียนจิตรลดา นักเรียนชาย เสื้อเก็บชาย เข็มขัด กางเกงนักเรียนสีกรมท่า และเข็มตราโรงเรียนค่ะ ส่วนนักเรียนหญิง เสื้อปล่อยชาย ปักตราโรงเรียนที่กระเป๋าเสื้อ กระโปรงสีกรมท่า (เห็นได้ในรูปที่ส่งไป) เป็นเครื่องแบบที่สบายมาก สบายที่สุดเลยค่ะ
พี่สตางค์ :  และที่สำคัญที่สุด สำคัญมากๆคือมี “พระมหามงกุฎประจำรัชกาลที่ ๙” ตราสัญลักษณ์โรงเรียนจิตรลดา อยู่ที่กระเป๋าเสื้อด้วยค่ะ


credit : ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดารุ่นที่ 41
 

    Dek-D.com : คิดว่าอะไรคือ สิ่งที่บ่งบอกว่าเราคือ เด็กจิตรลดา
    พี่ญี่ปุ่น : ากการที่ได้เรียนในวัง ได้สัมผัสโครงการส่วนพระองค์ และได้ศึกษาพระราชกรณียกิจอย่างใกล้ชิด เด็กจิตรลดาทุกคนจะมีจุดเด่นเหมือนกันคือ ความจงรักภักดี และความตั้งใจจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณด้วยการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นำพาสังคมไทยไปในทิศทางที่ดี เห็นได้จากการที่นักเรียนหลายๆ รุ่นที่จบไปแล้วได้รับแรงบันดาลใจและดำเนินชีวิตตามรอยพระองค์ท่าน บางคนเป็นครู บางคนเป็นทหาร บางคนเป็นแพทย์ บางคนเป็นศิลปิน บางคนเป็นข้าราชการ และอีกมากมายหลายอาชีพ ต่างอาชีพแต่มีจุดหมายเดียวกันคือเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าแบบที่ในหลวงทรงตั้งพระทัยไว้ค่ะ
   
พี่สตางค์ : น่าจะเป็นความภาคภูมิใจ และความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่อยู่ในสายเลือดสีฟ้าเหลืองของเด็กจิตรลดาทุกคน เพื่อให้มองเห็นความเป็นเด็กจิตรลดาที่แท้จริง อยากจะหยิบยกพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งขึ้นมาว่า
      " ...สอบไล่แล้ว ก็ออกไปเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา หรือจะไปเรียนที่ไหน หรือจะไม่เรียนก็ตาม ขอให้พิจารณาว่า ได้ผ่านโรงเรียนนี้เป็นเกียรติและเป็นประโยชน์ ขอให้สำนึกในคำนี้ว่าสำคัญแค่ไหน คืออย่าไปถือว่าเป็นเกียรติ หรือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นคำที่กลางๆ เกียรติที่พูดถึงนี้ มีความรับผิดชอบติดตัวอยู่ตลอด เพราะเกียรติเมื่อมีแล้ว จะต้องรักษา รักษาด้วยการปฏิบัติตนให้ดีทุกทาง หมายถึงว่า ถ้าไปเรียนชั้นอุดมศึกษาในสถาบันใด จะเป็นในประเทศ หรือนอกประเทศก็ตาม ตัวต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ได้ผ่านโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วก็เกียรตินี้จะต้องทำให้เกิดความรับผิดชอบ เพื่อนใหม่ที่จะได้พบในสถาบันที่จะศึกษาต่อไปนั้น เขาจะทราบว่ามาจากไหน ถ้าทำตนให้เป็นที่น่านับถือ มีความคิดที่ดี รอบคอบมีความเป็นผู้ดี หมายความว่า รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ถ้าสักแต่จะปล่อยให้จิตใจของตนไปตามความคะนองของวัย หรือไปตามความสนุกสนาน โดยที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว นั่นแหละจะทำให้เกียรติของโรงเรียนจิตรลดาเสียไป และเกียรติของตัวก็หายไปเหมือนกัน..."
    พระบรมราโชวาทใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงเรียนจิตรลดา ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2512

 

credit : ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดารุ่นที่ 41
 

    Dek-D.com : ในฐานะศิษย์เก่า อยากให้เล่าความประทับใจที่ครั้งหนึ่งได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนจิตรลดา
    พี่ญี่ปุ่น : ในฐานะศิษย์เก่า รู้สึกโชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้าไปเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ในวัง หรือบ้านของในหลวง บางวันมองจากตึกเรียนไป เห็นธงสีเหลืองประจำพระองค์ ก็จะรู้ว่าในหลวงประทับอยู่ในวัง ทำให้รู้สึกฮึกเหิมและตั้งใจเรียนขึ้นมาเป็นพิเศษ กิจกรรมและผลงานต่างๆ ของนักเรียน ผ่านพระเนตรพระกรรณของในหลวงแทบทั้งสิ้น ทำให้เรารู้สึกว่าพระองค์ใส่พระทัยความเป็นอยู่และการพัฒนาตนของนักเรียนจริงๆ เราจึงภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์จิตรลดา เป็นบุคคลที่ท่านตั้งพระทัยว่าจบโรงเรียนออกมาแล้วจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทางที่ดีค่ะ
    พี่สตางค์ : ความประทับใจนี่คือ อยากจะขอร้องเป็นเพลงโรงเรียนเลยค่ะ สิ่งที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นจิตรลดาได้ดีที่สุด ก็อยู่ในเพลงของโรงเรียนโดยเฉพาะท่อนที่บอกว่า "ถิ่นศึกษาสุขเกษมเปรมปรีดิ์ สิ่งแวดล้อมงามสง่า อาจารย์สอนด้วยปราณี ให้เด่นดี สมเป็นศิษย์ จิตรลดา"
     เรียนอยู่ที่นี่ตลอดระยะเวลา 12 ปี เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก พี่ประทับใจในสิ่งแวดล้อมของที่นี่ ความร่มรื่น ร่มเย็น ความใกล้ชิดและการได้ซึมซับแนวพระราชดำริอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน  ที่หล่อหลอมรวมกันเป็นโรงเรียนจิตรลดา ประทับใจคุณครูทุกๆ ท่าน ที่มีความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อศิษย์อยู่เสมอ คอยขัดเกลาและหล่อหลอมให้นักเรียนทุกคนเป็นคนดี มีความรับผิดชอบ เคารพนอบน้อม และมีความกตัญญูรู้คุณ คือความจงรักภักดี ที่ยังคงติดตัวมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ประทับใจในความเป็นเพื่อน เพื่อนที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังคงคิดถึงและปรารถนาดีต่อกันอยู่เสมอ ประทับใจในความเป็นพี่ ความเป็นศิษย์ร่วมจิตรลดา ถ้าเจอศิษย์เก่าจิตรลดาด้วยกันที่ไหน จะรู้สึกอบอุ่นใจอย่างประหลาด เหมือนมีความผูกพันกันด้วยสายใยบางอย่างที่มองไม่เห็น สรุปแล้วก็คือประทับใจและภาคภูมิใจใน 'ความเป็นจิตรลดา' ค่ะ

 
    ขอขอบคุณรูปภาพจาก
ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา รุ่น 41,
www.chitraladaschool.ac.th

 


 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด