เรื่องจริงของเด็ก #อาชีวะทวิภาคี ตารางเรียนที่แตกต่าง แต่ประสบการณ์เกินคุ้ม!


           สวัสดีค่ะ เวลาที่เราเปิดโทรทัศน์ ช่วงเวลาวันศุกร์ 2 ทุ่ม จะพบกับ ลุงตู่ นายกรัฐมนตรีของเราที่นำประเด็นเรื่องของนักเรียนอาชีวะมาพูดคุยหลายครั้ง ในประเด็นของการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่น้องๆ ก็ยังไม่เลือกเรียนเพราะติดภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงามกับการเรียนสายอาชีวะ

           ซึ่งจริงๆ แล้ว การเรียนสายอาชีวะเป็นสายที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศเรามาก ความสามารถของเด็กอาชีวะจะช่วยผลักดันและพัฒนาทักษะทางด้านฝีมือให้กับอุตสาหกรรมภาคต่างๆ อีกหลักสูตรที่น่าสนใจของสายอาชีวะคือ
หลักสูตรทวิภาคี เป็นการเรียนไปด้วยและฝึกการทำงานไปด้วย พี่แป้งมี 2 รุ่นพี่จากสายอาชีวะทวิภาคีมาเล่าประสบการณ์การเรียนสายนี้ เราไปพบกับพี่ทั้ง 2 คนกันเลยค่ะ
 

แนะนำตัวเองให้น้องๆ รู้จักกันเลยจ้า
อบ : สวัสดีครับ ผม อนุพงษ์ สุขรมย์ ชื่อเล่นชื่อ อบ โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีรุ่นที่ 4 ตอนนี้เรียนอยู่ ปวส. ปี 2 สาขาวิชาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ครับ
ใบตอง : สวัสดีค่ะ ชื่อ ใบตอง กรกนก ถนัดกลาง โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีรุ่นที่ 5 ตอนนี้อยู่ชั้น ปวส. ปี 1 สาขาวิชาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เช่นกันค่ะ

ทำไมถึงเลือกเรียนสายอาชีพ
อบ : ทีแรกเลยเลือกเพราะเท่ครับ อารมณ์เด็กช่างแมนๆ แต่มาเรียนจริงๆ รู้เลยว่าเราสามารถหางาน หาประสบการณ์ได้มากขึ้น อย่างผมเรียนช่างก่อสร้าง ซึ่งงานก่อสร้างเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งเรียนจบตรงนี้ทำงานได้เลย ผมชอบเสน่ห์ของงานก่อสร้าง จะมีพวกเครื่องจักร เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ อย่างงานก่อสร้างแต่ก่อนเราก็ต้องมีคาน มีเสา มีโน้นนี่ แต่เดี๋ยวนี้ลงเสาก็สามารถสร้างโครงได้เลย

ใบตอง : ตอนเด็กๆ อยากเป็นวิศวกร อยากสร้างบ้านเป็นของตัวเอง ยิ่งโตมาก็เห็นบ้านขึ้นเยอะ สร้างก็สร้างขึ้นอีก มันเลยทำให้เรารู้สึกอยากเรียน อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง ยิ่งเรียนก็รู้สึกยิ่งรัก ยิ่งอยากรู้ ค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ เสมอ เราเรียนในสาขาช่างก่อสร้าง ก็จะแบ่งออกเป็นหลายเอก สามารถทำงานได้หลายส่วน เช่น การเขียนแบบ การทำงานออฟฟิศ เป็นนายช่าง เป็นต้น ถึงเป็นผู้หญิงเราก็เรียนได้ค่ะ

รู้จักทวิภาคีได้ไง
ใบตอง : ที่วิทยาลัยฯจะบอกตั้งแต่ ปวช. ปี 1 บอกเลยว่ามี โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ก็เลยติดตามมาตลอด พอขึ้น ปวส. ก็เลือกเข้าโครงการ
อบ : ก็จากการประชาสัมพันธ์ของวิทยาลัยฯ ครับ ผมว่ามันน่าสนใจก็เลือกที่จะเข้าโครงการทวิภาคีเลย
 

ตอนเรียน ปวช. เรียนทฤษฎีเยอะมั้ย
ใบตอง : มีค่ะ ก็เรียนเหมือนกัน แต่จะเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนที่ใช้จริงๆ และก็จะเน้นการปฏิบัติมากกว่า เรียนทฤษฎีตั้งแต่ปี 1 แต่ก็จะเรียนปฏิบัติพื้นฐานด้วยค่ะ
อบ : ส่วนของการปฏิบัติก็เริ่มตั้งแต่การก่ออิฐ ฉาบปูน ผสมปูน การจับเสียม ส่องกล้อง เขียนแบบ จนไปถึงงานไม้ เข้าวงกบ แต่ทั้ง 2 ส่วนก็จะแยกกัน ให้เราได้เรียนรู้แบบจริงจังลงไปเลยครับ

เล่าประสบการณ์ในโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้ฟังหน่อย
อบ : หลักสูตรของโครงการฯ จะจัดตารางเรียนแบบชัดเจนแล้ว วันจันทร์ - พฤหัสฯ จะเข้าทำงานที่บริษัทฯ ส่วนวันศุกร์และเสาร์ จะเรียนที่วิทยาลัยฯ ครับ ซึ่งการเรียนก็ต้องนับชั่วโมงเรียนให้ครบตามหลักสูตรของทวิภาคี ในหนึ่งสัปดาห์ก็จะพักเต็มๆ วันก็วันอาทิตย์ครับ

ใบตอง : ส่วนสถานที่ฝึกงานก็เริ่มที่เราเข้าโครงการฯ มาก่อน แล้วทางสมาคมรับสร้างบ้านก็สนับสนุนโครงการนี้ นักศึกษาในโครงการฯก็จะกระจายตัวไปฝึกงานกับทางบริษัทก่อสร้าง อย่างหนูเองก็มาที่รอยัลเฮ้าส์เหมือนกับพี่อบ วันศุกร์-เสาร์ก็ไปเรียนเก็บชั่วโมงให้ครบ อย่างวันศุกร์เรียน 2 วิชา วิชาเช้าเรียน 2 ชั่วโมง บ่ายเรียน 3 ชั่วโมง ซึ่งตารางเรียนที่ทางโครงการจัดมาจะครบตามหลักสูตรอยู่แล้ว เราไม่ต้องจัดเองเลยค่ะ
 

ตอนที่เข้าทำงานแรกๆ ทำอะไรบ้าง
อบ : คือบริษัท รอยัลเฮ้าส์ จะมีสำนักงานทั้งหมด 12 สาขา นักศึกษาก็กระจายกันไป ผมประจำอยู่ที่สาขาศรีนครินทร์ เข้ามาทีแรกเราก็ยังไม่มีความรู้อะไรเลย ก็จะมีพี่สาขาดูแล พี่เขาก็จะสอนพวกทฤษฎีให้ก่อน แรกๆ ก็ทำงานตามพี่เขาก่อน พี่เขาก็จะสอนหน้างานด้วย ก็จะเริ่มมสอนงานพื้นฐานเช่น งานเข็มเจาะ แล้วก็ไปดูหน้า คือเราจะได้เรียนรู้ไปกับการดูงานจริงๆ

ใบตอง : อย่างหนูอยู่สาขาราชพฤกษ์ เพิ่มเริ่มเข้าไปก็อยู่ส่วนไซต์งานเหมือนกัน ก็เริ่มจากงานวางแผนให้ผู้รับเหมาหลัก คุยกัน ประสานงานกันตลอด ไม่ได้มีความกดดันอะไรค่ะ พอเริ่มตามงานรุ่นพี่ก็จะมีการเข้ากลุ่มเพื่อให้ดูว่าแต่ละกลุ่มพรีเซ้นต์งานอย่างไร มีการดูแลอย่างไร เราก็ต้องมีการบ้านกลับไปหาข้อมูลมา ก็จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย  

เหนื่อยมั้ยกับตาราง 6 วัน
ใบตอง : ไม่เหนื่อยค่ะ เราไม่ได้ทำงานตลอด การเข้าไปทำงานเหมือนเป็นเหมือนอีกครอบครัว อยู่ด้วยก็สบายใจ ตอนไปดูงานก็ไม่ได้ต้องเคร่งเครียด ก็เป็นแนวพี่ดูแลน้องแบบสบายๆ มาพักกินข้าวก็สนุกสนานกันไป มันเลยไม่ได้รู้สึกว่าต้องเหนื่อยอะไร แต่ถ้าถึงเวลาทำงานก็ต้องเต็มที่ มันเลยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย

อบ : ผมเองก็มองว่ามันไม่หนักครับ มันเป็นสิ่งที่เราชอบ อย่างผมเวลาลงดูงานก็จะต้องมีนัดลูกค้า เราก็ต้องจัดเองว่าจะนัดตอนไหน วันไหน เราสามารถแบ่งเวลาเองได้ ให้มันกระจายๆ กัน เวลาทั้งหมดเราก็บริหารเอง ส่วนไปเรียนมันก็จะมีการบ้าน อันนี้เราก็ต้องรับผิดชอบรีบทำการบ้านให้เสร็จ ทุกอย่างมันอยู่ที่การจัดการของเราเองเลยครับ
 

เราเป็นเด็กอาชีวะ เวลาไปทำงานมีดราม่าอายุงานมั้ย
อบ : ไม่มีครับ ไม่มีเลย งานเราก็จะไปดูคนที่ทำอีกรอบหนึ่ง เหมือนไปตรวจเขา ตอนที่เข้าไปทีแรกพวกพี่ที่เขาดูแลโครงการก็จะแนะนำเราอยู่แล้ว ทุกคนก็จะรู้ว่าเรามาทำอะไร เราก็จะเรียนรู้งานกับพวกพี่ๆ เขาด้วย พี่เขาก็ช่วยสอนด้วย ถ้าอันไหนเราตัดสินใจไม่ได้ก็โทรหาพี่ที่ดูแลอีกที ต่างฝ่ายต่างเคารพในงานกันนะครับ

ใบตอง : ถ้าดราม่ากับที่ทำงานไม่มีค่ะ จะมีก็แต่ลูกค้า บางคนก็จะมองว่าเราเป็นเด็ก ไม่มีความสามารถ เวลาที่ไปเจอลูกค้าเราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม พี่ๆ เขาจะสอนเสมอว่าถ้าอันไหนไม่รู้ก็ตอบตรงๆ ว่าไม่รู้ไปเลย แจ้งทางลูกค้าเลยว่าจะถามผู้จัดการก่อสร้างให้ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจ ในรอบหน้าที่เจอเราก็ต้องได้คำตอบ ไม่ก็ขอเบอร์ติดต่อลูกค้าไว้แล้วแจ้งภายหลัง

สวัสดิการในที่ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
ใบตอง : เรามาทำงานแบบนี้เขาก็ให้ค่าตอบแทน เป็นเงินเดือน 9,000 บาท และก็จะมีอื่นๆ อีก เช่น ประกันสังคม ค่าพาหนะ ค่าที่พัก เป็นต้น สวัสดิการทุกอย่างที่เหมือนพนักงานจริง และสามารถใช้ได้จริงๆ พอเรียนจบก็ทำงานที่นี่ต่อได้เลย เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างค่ะ

อบ : ก็ได้ตามขึ้นต่ำที่น้องใบตองบอก และก็จะมีเพิ่มในส่วนของค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทางเวลาไปดูงานที่อื่น เอาจริงๆ เดือนละ 9,000 บาท ถ้าคิดก็ตกวันนึงเกือบห้าร้อยบาท เพราะเดือนหนึ่งเราทำแค่ 20 วัน พอจบ ปวส. แล้วก็ทำงานที่นี่ต่อ ก็การันตีเงินเดือน 15,000 บาท
 

คิดจะเรียนต่อปริญญาตรีมั้ย?
ใบตอง : ทางวิทยาลัยฯ จะมีหลักสูตรการเรียนปริญญาตรีสำหรับเด็กทวิภาคีค่ะ เป็นการเรียนในวันอาทิตย์ ซึ่งเราสามารถเรียนต่อได้เลย ก็ใช้เวลาเรียน 2 ปี ทามไลน์ในการเรียนก็เท่ากับเพื่อนที่เรียน ม.ปลาย เลย คือ ม.ปลายจะเรียนต่ออีก 4 ปีเพื่อจบปริญญาตรี ส่วนหนูก็เรียน ปวส. (ทวิภาคี) 2 ปี และต่ออีก 2 ปีเพื่อจบปริญญาตรี สิ่งที่เราได้ก็คือประสบการณ์จริงจากงานนี่แหละค่ะ

อบ : ซึ่งแต่ละสาขาก็ไม่เหมือนกันนะครับ อย่างผมถ้าเรียนต่อก็อยากต่อทางสายวิศวะฯ ก็จะใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่ส่วนตัวผมตั้งใจจะเรียนต่อสายวิศวะฯ ถ้าลงล็อคเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ได้ ก็คงเรียนต่อเลยครับ

สุดท้ายนี้ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากเรียนอาชีวะหน่อยค่ะ
ใบตอง : การเลือกเรียนอาชีวะ มันอยู่ที่ใจ ถ้าใจเราไม่มา มันก็มาไม่ได้ ลองถามตัวเองดีๆ ถ้าคิดว่าใช่ก็ลุยเลย
อบ : อยากฝากน้องๆ ถ้าสนใจทางสายนี้ สายงานก่อสร้างก็เป็นอีกสาขาที่น่าสนใจ หาตัวเองให้เจอแล้วทำให้เต็มที่ครับ

           เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่น่าสนใจเลยใช่มั้ยล่ะคะ? เราเรียนในส่วนที่ต้องใช้ และแน่นการฝึกทำจริงเพื่อสร้างประสบการณ์ ถ้าสายอาชีพที่น้องๆ สนใจมีเปิดสอนในหลักสูตรอาชีวะ พี่แป้งก็แนะนำให้มาเรียนกันค่ะ ในปัจจุบันเรายังขาดแรงงานฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก มาช่วยกันพัฒนาประเทศกันนะ :)


 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด