สวัสดีค่ะน้องๆ ตอนเรียนเคยมีปัญหากับการจดเลคเชอร์ไหมคะ? ฟังครูพูดไม่ทันบ้าง จดช้าบ้าง จดเร็วจนอ่านไม่ออกบ้าง แทบจะจับใจความสำคัญของเรื่องที่จดไม่ได้เลยแหละ


 
        ไม่ต้องกังวลไปนะคะ วันนี้พี่เมก้ามี "เทคนิคจดเลคเชอร์ให้ได้เกรด 4.00" มาฝาก วิธีนี้ทำตามง่ายๆ ขนาดเด็กขี้เกียจจดยังขอคารวะเลยค่ะ อยากมีเลคเชอร์ดีๆ เก็บไว้อ่าน พลาดไม่ได้!     

เตรียมอุปกรณ์

1. สมุดจด
        ก่อนเริ่มจดเลคเชอร์ก็ต้องมีสมุดคู่ใจเป็นของตัวเองก่อนค่ะ ถ้าโรงเรียนของน้องๆ ไม่ได้บังคับให้ใช้สมุดตราโรงเรียน ก็เลือกสมุดน่ารักๆ ในสไตล์ที่ทำให้เรามีกำลังใจในการเลคเชอร์ค่ะ โดยวิธีเลือกสมุดก็ดูว่าเราสะดวกแบบไหน ระหว่างสมุดสันห่วงกับสมุดสันเรียบ

        สมุดสันห่วง - หากจดแล้วไม่พอใจ ฉีกทิ้งได้ทันที
        สมุดสันเรียบ - เขียนสะดวก ทนทาน ไม่ขาดง่าย

        พอได้สมุดแล้วก็เปิดดูลายกระดาษสักนิดค่ะ ลองถามตัวเองซิว่าเราถนัดเขียนกระดาษมีเส้นหรือกระดาษเปล่าๆ มากกว่า แต่สำหรับคนที่ลายมือไม่เป็นระเบียบ เขียนอักษรโย้เย้ตัวเล็กบ้างใหญ่บ้าง พี่แนะนำสมุดที่มีเส้นบรรทัดค่ะ เดี๋ยวนี้สมุดเส้นตารางหรือสมุดกริดก็กำลังฮิตเลยด้วย อยากได้ตัวช่วยให้การเขียนของเราไหลรื่นกว่าเดิม ลองไปหาซื้อได้นะคะ หรือถ้าอยากทำสมุดใช้เอง เปิดวาร์ปไปที่นี่เลย! รีวิว : เว็บทำกระดาษกริด #รีวิวเครื่องเขียน
คลิก

2. ปากกาคุมโทน
        เอ๊ะ! ปากกาคุมโทนคืออะไร? มันคือการกำหนดขอบเขตให้สมุดจดเราดูสะอาดตาเป็นโทนเดียวกัน ช่วยประหยัดเวลาในการคิดว่าจะหยิบปากกาสีไหนมาสลับจดเลคเชอร์ และช่วยเซฟงบในการซื้อปากกาของเราด้วยค่ะ น้องๆ อาจจะรู้ข้อดีของการใช้ปากกาสีมาก่อนว่าช่วยกระตุ้นความจำ แต่การใช้ปากกาสีเยอะเกินไป มันมีข้อเสียคือ "หาจุดที่ต้องการเน้นไม่เจอเลย" ดังนั้น จัดเซ็ตสีขึ้นมาซะ เช่น

        หัวข้อหลัก = ปากกาส้ม (หัวใหญ่)
        หัวข้อย่อย = ปากกาเขียวน้ำทะเล (หัวเล็ก)
        เนื้อหา = ปากกาน้ำเงิน
        จดเพิ่มเติม = ปากกาดำ
        สัญลักษณ์อื่นๆ = ปากกาแดง 

        ปากกาไฮไลท์ที่น้องๆ ใช้ขีดในหนังสือก็สามารถจัดกลุ่มโค้ดสีแบบนี้ได้เหมือนกันนะคะ อาจจะใช้ไฮไลท์ฟ้าในหัวข้อหลัก ไฮไลท์เหลืองในจุดเน้น ไฮไลท์เขียวแทนสูตรหรือตัวอย่างก็ได้ค่ะ

 
เตรียมไอเดีย
        เตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาเตรียมไอเดียในการจดเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเลคเชอร์ค่ะ (บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า จัดวาง Lay Out) น้องๆ จะต้องจัดหน้าเลคเชอร์ของตัวเองก่อน ว่าจะจับอะไรอยู่ตรงไหน เพราะในเลคเชอร์มีองค์ประกอบหลายส่วนอยู่รวมกัน เช่น เนื้อหา ภาพประกอบ สูตรหรือเนื้อหาสำคัญ ฯลฯ พี่เมก้าหยิบไอเดียหนึ่งมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ชอบไม่ชอบปรับเปลี่ยนได้ตามใจเลยนะคะ

1. แบ่งหน้าสมุดจด
        แบ่งสมุดเป็นหน้าซ้าย-ขวา กำหนดตามชอบเลยว่าแต่ละหน้าเราจะจดอะไรบ้าง เช่น หน้าซ้ายเป็นพื้นที่สำหรับจดการบ้านประจำวัน วาดภาพประกอบ ทำ Mind Map ทำตารางสรุปไทม์ไลน์ จดสูตรเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติม ส่วนหน้าขวาเป็นพื้นที่สำหรับจดเลคเชอร์ในห้อง

2. วางรูปแบบการจด
        วางรูปแบบก่อนว่าตอนจดเลคเชอร์จะจดแบบธรรมดาทั่วไปหรือจดแบบมีรูปแบบ

        จดแบบธรรมดา คือการเลคเชอร์ตามปกติเลยค่ะ เพียงแต่น้องๆ อาจจะแบ่งเรื่องที่จดไว้ให้ชัดเจนหน่อย ด้วยการกำหนดหัวข้อหลัก หัวข้อรอง ตามด้วยเนื้อหาแบบปกติไล่เรียงกันเป็นลำดับลงมา ระหว่างขึ้นหัวข้อเรื่องใหม่ ควรมีการเว้นบรรทัดด้วยนะคะ เพื่อให้เลคเชอร์เรามีจุดพักสายตา และดูเป็นระเบียบยิ่งขึ้นค่ะ
        จดแบบมีรูปแบบคือการเลคเชอร์ที่มีแม่แบบ เช่น จดแบบ Cornell Note เป็นการแบ่งกระดาษออกเป็น 3 ส่วนตามนี้


 
        ส่วนที่ 1 ไว้สำหรับจดเนื้อหาโดยละเอียดระหว่างเรียน
        ส่วนที่ 2 ไว้สำหรับบันทึกประเด็นสำคัญ เช่น เนื้อหาที่ออกสอบ เนื้อหาที่เป็นคีย์เวิร์ดของเรื่อง
        ส่วนที่ 3 ไว้สำหรับจดคำถาม สรุปความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือนอกเหนือจากเรื่องที่เรียนก็ได้


พร้อมเลคเชอร์ ลุย!
        ความจริงแล้วก่อนเลคเชอร์น้องๆ ควรจะรู้เนื้อหามาบ้าง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าคุณครูกำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ ครูบางท่านไม่ได้สอนตามหนังสือ แล้วให้เราไฮไลท์ตามนะคะ ครูจะมีเนื้อหาอื่นๆ มาเสริมเพิ่มเติมมากมาย ดังนั้น อ่านเนื้อหาคร่าวๆ ไปก่อนดีที่สุดค่ะ

        พอครูเริ่มสอน ให้เขียนหัวข้อหลักเตรียมไว้รอเลยค่ะ จากนั้นหัวข้อรอง และคำอธิบายเสริมอื่นๆ จะตามมาเป็นลำดับ เลคเชอร์ที่ดีไม่ใช่การจดตามกระดานดำเพียงอย่างเดียว หรือจดตามสิ่งที่ครูสอนทุกคำพูด แต่น้องๆ ต้องฟังให้เข้าใจ คิดตาม แล้วจับประเด็นสำคัญออกมาเอง
        มันอาจจะเป็นเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือและครูยกตัวอย่างอธิบายขยายความเพิ่ม เป็นประเด็นความรู้ที่เข้าใจยากๆ อ่านเองไม่รู้เรื่อง หรืออาจจะเป็นความรู้ที่อยู่นอกเหนือจากในหนังสือค่ะ เพราะเนื้อหาในหนังสือเราอ่านเองเมื่อไหร่ก็ได้เนอะ  

        ระหว่างจดควรนำอักษรย่อเข้ามาช่วยให้จดทัน เช่น ปวส.ตะวันตก (ประวัติศาสตร์ตะวันตก) ศ.พุทธ (ศาสนาพุทธ) ตย. (ตัวอย่าง) ปย. (ประโยชน์) ปย.เดียว (ประโยคความเดียว) ต้องเลือกคำย่อที่เราเข้าใจและใช้จนชิน อย่าย่อเกิน เพราะถ้าเกิดลืมขึ้นมา คนที่แย่คือเราเองค่ะ นอกจากอักษรย่อ ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ ด้วย เช่น (*) ไว้เน้นส่วนที่สำคัญ (--->) ไว้แทนคำว่าทำให้เกิด (?) ไว้มาร์กสิ่งที่สงสัย (!) ไว้เตือนว่าจดไม่ทัน ทั้งหมดนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดของเรานั่นเอง

        สุดท้ายนี้ จบคาบปุ๊บให้น้องๆ นำเลคเชอร์ที่จดได้ในห้องมาเทียบกับเพื่อนดูอีกครั้งค่ะว่า เราตกหล่นประเด็นไหนไปรึเปล่า หรือถ้าไม่เทียบกับเพื่อนก็หยิบมาดูว่าเราได้มาร์กคำถามที่สงสัย หรือจดไม่ทันประเด็นไหน จะได้ถามคุณครูเพิ่มเติมค่ะ
        จำที่พี่เมก้าบอกได้ไหมว่าให้เว้นกระดาษหน้าซ้ายไว้ เวลาเรียนวิชาที่ต้องอาศัยภาพเข้าช่วยอย่างภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักจะวาดรูปประกอบตามไม่ทัน หน้าซ้ายว่างๆ นี่แหละค่ะ จะเป็นพื้นที่ให้น้องๆ นำภาพมาปะแทรกในภายหลังได้ เพราะเจ้าสิ่งนี้จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นค่ะ

        ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีจดเลคเชอร์ที่พี่เมก้านำมาฝากน้องๆ นะคะ จดเลคเชอร์ให้ได้เกรด 4.00 ไม่ยากเลยค่ะ อยู่ที่ความตั้งใจล้วนๆ
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
เรโกะ จิทาคุ Member 18 พ.ย. 60 15:59 น. 4

ไม่จดเลคเชอร์ จดตามครูสั่ง แต่อ่านหนังสือทวนสัก 2-3 รอบ อย่างวิทย์ หนูอ่านทุกทีที่มีคาบที่เรียนวิทย์ข้างบนค่ะ 55555

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด