อยากบอกว่าใช่เลย! "Creative Room" ห้องเรียนที่ทำให้เด็กไทยหายเบื่อ+เก่งขึ้น

        สวัสดีค่ะ ถ้าใช้สีแทนคำจำกัดความ "ห้องเรียน" ของน้องๆ ในตอนนี้ อยากรู้จังว่ามองห้องเรียนในความคิดเราเป็นสีอะไร บางคนเห็นเป็นสีจางๆ จืดชืด น่าเบื่อ ไร้ชีวิตชีวา บางคนเห็นเป็นสีดำหม่นๆ มืดมน เรียนแบบทุกข์ทนมากมาย แต่ยังมีห้องเรียนอีกประเภทที่เด็กๆ มองเห็นเป็นสีรุ้ง


 
        Creative Room หรือ ห้องเรียนแห่งความสร้างสรรค์ นั่นเองค่ะ จากการสำรวจข้อมูลหลายๆ โรงเรียนก็เริ่มผลักดันให้เด็กๆ ได้รับความรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ แทนที่การนั่งฟังหรือจดเลคเชอร์ตามกระดานเหมือนแต่ก่อนแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าห้องเรียนนี้หน้าตาเป็นยังไง ตามไปทำความรู้จักกัน

ออกจากห้องเรียนแบบเดิมๆ
        ถ้าพูดถึงห้องเรียนที่ครูสอนตามหนังสือทุกบรรทัด มียกตัวอย่างอธิบายนิดๆ หน่อยๆ ก็คงชวนให้เด็กๆ หลับใหลง่ายมาก แถมข้อมูลที่ได้รับแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างการมอบหมายให้กลับไปทำการบ้านเพื่อทบทวนบทเรียนเพิ่มเติมด้วยตนเอง นอกจากเสี่ยงว่าเด็กๆ จะไม่ได้นำความรู้ไปใช้ (ทำการบ้านไม่เป็น ลอกเพื่อนเลยดีกว่า) หรือเข้าใจเนื้อหาไปแบบผิดๆ มันยังไม่เพียงพอสำหรับการนำไปสอบเข้า และต่อยอดทางความคิดในอนาคตด้วย

เปิดห้องเรียนแห่งความสร้างสรรค์
         ความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งแปลกใหม่รอบตัวคือความจำเป็นในการเกิดความคิดสร้างสรรค์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า "คนที่อยู่โดยไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นประทับใจในเรื่องอะไรเลย ก็เหมือนกับการไม่มีชีวิตอยู่” การเปิดห้องเรียนที่สอนให้เด็กรับฟังความรู้ด้วยรูปแบบว้าวๆ ได้ร่วมกันแชร์ความคิดเจ๋งๆ จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยเติมเต็มพลังแห่งความสร้างสรรค์ได้มาก

แบบไหนเรียกว่า Creative Room


 
         Creative Room อาจดูเหมือนห้องเรียนนามธรรม แต่ความจริงแล้วเป็นรูปธรรมมาก แถมหลายๆ โรงเรียนก็มีมาตั้งนานแล้วค่ะ อยู่ที่ว่าครูผู้สอนประจำวิชานั้นๆ หยิบมาใช้ได้ชัดเจนแค่ไหน นึกย้อนไปสมัยมัธยมฯ พี่เมก้าก็เคยผ่านห้องเรียนสร้างสรรค์ในบางวิชามาเหมือนกัน ขอการันตีว่า "ความสนุกตีคู่ความรู้" จริงๆ ค่ะ เราไปดูหน้าตาของ Creative Room กันเลย
      

ห้องเรียนแห่ง "ความรู้ไม่จำกัด"
         ไม่ต้องกลัวว่าเข้าห้องเรียนมาพร้อมหนังสือ 1 เล่ม เราจะกลับออกไปพร้อมหนังสือ 1 เล่มเหมือนเดิม เพราะวิธีการสอนของห้องเรียนสร้างสรรค์ ครูจะพยายามหาการเรียนวิธีใหม่ๆ มาป้อน เพื่อให้ความรู้ 1 ก้อน แตกแขนงเป็น 1 ล้านก้อน เช่น ตีโจทย์เลขด้วยสูตรที่ 1 ไม่แตก ครูปรับใหม่ด้วยการสอนหาที่มาของสูตรทีละขั้น แล้วให้เด็กได้ลองแก้ไปพร้อมกัน คราวนี้สูตรลัดหลายๆ สูตรก็ไม่จำเป็น เพราะเด็กเข้าใจที่มา และได้ลองเอาชนะโจทย์ทึ่งๆ ด้วยตัวเอง

ห้องเรียนแห่ง "ความเท่าเทียม"
         Creative Room จะไม่ปิดกั้นหรือดูถูกความสามารถเด็กว่า "เด็กห้อง A ทำได้ เด็กห้อง B ทำไม่ได้" ถ้ามีแหล่งความรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียน จะป้อนให้ทำตลอด เช่น จัดทริปทัวร์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (ไม่เฉพาะห้องวิทย์) เพื่อให้เด็กสนุกกับการเรียน หรือส่งเว็บไซต์ข้อสอบที่รวมโจทย์ยากๆ ให้เด็กทำสม่ำเสมอ และมีการติดตามผล ถ้าพบว่าเด็กแต่ละห้องมีความสามารถทางการเรียนต่างกัน ก็ต้องมีการเปลี่ยนแผน ปรับรูปแบบการสอนให้เข้าใจง่ายขึ้น สำหรับนักเรียนที่เรียนช้ากว่า

ห้องเรียนแห่ง "การลงมือทำ"
         เด็กๆ จะสนุกกว่าถ้าห้องเลคเชอร์แบบเดิมๆ เปลี่ยนไปสู่ห้องแห่งการลงมือทำสิ่งแปลกใหม่แบบไม่มีลิมิต ลองมาดูตัวอย่างห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เดินออกจากกรอบเพื่อค้นพบความสามารถที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวกันค่ะ

         วิชาภาษาอังกฤษ - ให้นักเรียนร่วมกันครีเอตบทละครเวที ผลัดกันซ้อมออกสำเนียงภาษาอังกฤษ แทนที่การฟังเทปบทสนทนาหรือฟังครูอ่านตามหนังสือ
         วิชาเศรษฐศาสตร์ - ให้นักเรียนจัดหาเงินทุนมาทดลองทำกิจการที่ชอบกับเพื่อนๆ ได้บริหารเงิน สรุปผลการเรียนรู้กันจริงๆ แทนที่การอ่านทฤษฎีเข้าใจยากๆ ในหนังสือ 


 
           วิชาวิทยาศาสตร์ - ให้นักเรียนได้ลงมือใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ลงแล็บจริง แทนที่การทำแล็บแห้ง มองเครื่องมือเพียงตาเปล่า แล้วเฉลยคำตอบที่อยู่ในแบบฝึกหัดท้ายบทเรียน

         ยิ่งสนุกกับการเรียนรู้ เราก็จะยิ่งรักในสิ่งที่ทำมากขึ้น แถมการลองผิดลองถูกกับความรู้ด้วยตัวเอง มันช่วยเติมเต็มประสบการณ์ และทำให้สมองของน้องๆ จดจำความรู้นั้นได้ยาวนานด้วย


ห้องเรียนแห่ง "รางวัล"
         มีงานวิจัยออกมาว่าการดุ ตี หรือลงโทษ ไม่ได้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กแต่อย่างใด ปกติเรามักจะทนทานแรงกดดันไม่ได้ และกลัวการถูกตำหนิ ยิ่งห้องเรียนประเภทที่ครูชอบเรียกให้ตอบคำถาม ตอบไม่ได้ก็โดนมองว่าไม่ตั้งใจเรียน ถูกเพื่อนมองว่าไม่ฉลาด อู้หู! ยิ่งทำให้ขนตั้ง หูชัน กลัวเข้าไปใหญ่ แต่ห้องเรียนสร้างสรรค์นั้น น้องๆ ลบภาพนั้นออกไปได้เลยค่ะ ที่นี่จะไม่มีการต่อว่า แต่จะค่อยๆ สอนให้เด็กรู้ว่าการตั้งใจเรียนจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนยังไง โดยอาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ คือมีคะแนนพิเศษหรือรางวัลมอบให้กับน้องๆ ที่แย่งกันตอบคำถามอย่างกระตือรือร้นไง  

ห้องเรียนแห่ง "เทคโนโลยี"
         ยุคนี้ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ค่ะ ที่เห็นง่ายๆ เลยก็วิชาคอมพิวเตอร์ การสอนทฤษฎีแล้วให้เด็กได้ลองหัดเขียนโปรแกรมตามหลักสูตร บางทีเด็กๆ ก็อาจจะเบื่อ แต่ถ้าครูมีโปรแกรมใหม่ๆ ที่สนุกและท้าทายกว่าเดิมมานำเสนอ เด็กๆ ก็อาจจะกระตือรื้อร้น และทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะได้ทั้ง Play & Learn ในเวลาเดียวกัน    
         
         อีกสิ่งคือการใช้เทคโนโลยีล้ำๆ มาสร้างสรรค์ห้องเรียนบรรยากาศเดิมๆ ให้ดูแปลกตาไป เช่น การใช้แอพฯ "Plickers" ในการตอบคำถามของนักเรียนแต่ละคาบ ที่เปลี่ยนการสอนแบบสุ่มเรียกเด็กให้ลุกขึ้นมาตอบคำถามทีละคน กลายเป็นการมีส่วนร่วมกันทั้งห้อง และสามารถติดตามพัฒนาการของเด็กจากผลคะแนนที่แสดงได้ด้วยว่าบทเรียนนี้ใครเป็นจุดอ่อน ต้องประชิดตัวติวเพิ่ม  


ห้องเรียนแห่ง "การตัดสินใจ"


 
         Creative Room มองผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถ้านักเรียนเบื่อการเรียนแบบเดิม สามารถเสนอครูได้ว่าคาบหน้าอยากจะเรียนอะไร เช่น คาบนี้เรียนภาษาอังกฤษจากในหนังสือ คาบหน้าขอเรียนแบบดูหนัง Soundtrack หรือในต่างประเทศก็เปิดกว้างไปถึงวิชาที่เรียนเลย เช่น วิชาพละ เด็กๆ สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนฟุตบอล หรือจะเรียนแบดมินตัน เพราะแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน นักเรียนก็ควรมีสิทธิ์ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนจริงๆ กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับชมรมในบ้านเรานะคะ

ห้องเรียนแห่ง "ไอดอล"
         Creative Room จะต้องเป็นห้องเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนได้ วันหนึ่งครูอาจจะเชิญพี่ๆ จากสาขาอาชีพต่างๆ มาแนะแนวให้กับเด็กๆ ที่สนใจ เมื่อได้ฟังประสบการณ์การเรียน การทำงานจากคนเก่งๆ ได้เห็นว่าไอดอลของเขามีอนาคตที่ดี ก็อาจจะเป็นพลังผลักดันให้เด็กๆ ฮึดสู้กับการเรียน และทำฝันให้เป็นจริงได้ 

ห้องเรียนแห่ง "ความสัมพันธ์"
         การเรียนแบบสร้างสรรค์จะต้องสอนให้นักเรียนคิดเป็น ตั้งคำถามเป็น ครูอาจจะป้อนความรู้ให้เราก่อน จากนั้นเป็นฝ่ายทวนด้วยการให้นักเรียนจับกลุ่ม "ผลัดกันตั้งคำถาม+ช่วยกันหาคำตอบ" นำความคิดมาแชร์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ "โดยไม่มีขอบเขตของคำว่าถูกผิดมาจำกัด" การตกผลึกทางความคิดระหว่างกลุ่มนักเรียน แล้วนำมาคุยกัน ทำให้น้องๆ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาในอีกหลายมุม ไม่จำกัดเพียงวงแคบๆ    

         จะเห็นว่า Creative Room ทำให้น้องๆ ได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา จากการทดลองลงมือทำและได้เรียนรู้ในรูปแบบการเรียนที่แปลกใหม่ มันจึงเป็นอีกทางที่ทำให้เราค้นพบอนาคตตัวเองได้เร็วขึ้น ไม่ใช่แค่ค้นพบการเรียนที่ชอบ แต่ยังค้นพบอนาคตการทำงานที่ใช่ด้วย

         อุปสรรคใหญ่ของการเอาตัวรอดในห้องเรียน Creative Room คือบางโรงเรียนขาดแคลนงบในการจัดเตรียมบุคลากร+จัดหาอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน หรือตัวเด็กเองมักจะไม่สนุกกับการตอบคำถามคุณครู ไม่สนุกกับการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม งั้นขอชวนน้องๆ มาแชร์กันดีกว่าว่าระหว่าง "ห้องเรียนเลคเชอร์แบบเดิม" กับ "ห้องเรียนสร้างสรรค์" ถ้าเลือกได้ เราชอบแบบไหนมากกว่ากัน?            
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น