มารู้จัก "โรคลมหลับ Narcolepsy" หลับเป็นตายภายใน 5 นาที (อันตรายไม่ใช่แค่เกรดตก)

          สวัสดีค่ะ น้องๆ เคยมีอาการง่วงผิดปกติระหว่างวันบ้างมั้ย? นั่งเรียนอยู่หลับ อ่านหนังสือ 2-3 หน้าหลับ เม้าท์ขำๆ กับเพื่อนก็หลับอีก! หลับบ่อย หลับไม่เกรงใจใคร หลับจนนึกสงสัยว่าเราเป็นอะไรรึเปล่านะ? วันนี้พี่เมก้าก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคหนึ่งที่แปลกมากๆ มาฝาก


 
          มันคือ โรคลมหลับ (Narcolepsy) หรือง่วงนอนมากผิดปกติ นั่นเอง คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดไปว่าคนที่มีอาการแบบนี้เป็นมนุษย์ประหลาด ขี้เกียจ ทั้งที่ความจริงพวกเขาไม่ได้อยากหลับ ค่อนข้างใช้ชีวิตลำบาก แถมยังอันตรายมากเลยทีเดียว ไปทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่าค่ะ

หลับบ่อยๆ ไม่ใช่ขี้เกียจ!
          โรคลมหลับ Narcolepsy เป็นอาการผิดปกติของระบบประสาท เกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมอง Hypocretin น้อยผิดปกติ ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมวงจรการหลับและการตื่นตัวให้เป็นปกติได้ คนที่มีอาการลมหลับระหว่างวันจะถูกความง่วงงุนโจมตีบ่อยมากกกก (ก.ไก่ล้านตัว) แน่นอนว่าถ้าอยู่ในวัยเรียน ต่อให้ต้องหลับไปต่อหน้าต่อตาครู ก็เป็นเรื่องที่ฝืนตัวเองไม่ได้ T T 

5 สัญญาณอาการ "ลมหลับ"

1. นึกจะหลับก็หลับ
          ง่วงนอนหนักมากในเวลากลางวัน Excessive Daytime Sleepiness (EDS) นึกจะง่วงก็สลบฉับพลันแบบไม่มีสัญญาณบ่งบอก (บางรายอาจจะมีง่วงซึม เพลียๆ เหมือนอดนอนมาเตือนก่อน แต่เล็กน้อยมาก) ทำให้บางทีไปหลับผิดที่ผิดเวลา เช่น หลับระหว่างเรียน กินข้าวอยู่หลับ เตะบอลกับเพื่อนอยู่ก็น็อกกลางอากาศ อันตรายมาก! แถมวันหนึ่งเกิดได้หลายครั้ง คนที่มีประสบการณ์ตรงบอกว่าอาจจะมากกว่า 10 ครั้ง/วัน

2. ถูกผีอำก็จะช็อกหน่อยๆ
          ผีอำเข้าซะแล้ว Sleep Paralysis โดยปกติคนทั่วไปจะใช้เวลาในการเข้าสู่ภาวะหลับฝันประมาณ 90 - 120 นาที หลังเริ่มหลับ แต่คนที่เป็นโรคลมหลับจะเข้าสู่ภาวะหลับฝัน (REM sleep) ได้เร็วผิดปกติ ใช้เวลาน้อยกว่า 5 - 8 นาทีหลังเริ่มหลับเท่านั้นค่ะ พอสมองทำงานมีสติใกล้เคียงกับตอนตื่น กึ่งๆ ยังไม่หลับสนิทและควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ไม่ค่อยได้ เลยทำให้เราฝันเห็นภาพหลอน ทั้งที่ยังนอนเป็นผัก หมดเรี่ยวหมดแรง ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้เหมือนถูกผีอำอยู่นี่ไง (ผีอำก็มักจะเกิดเวลาครึ่งหลับครึ่งตื่นจริงมั้ย?)         

3. อยู่ดีๆ ก็ไร้เรี่ยวแรง


 
          กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน Cataplexy ภาวะนี้มีอยู่หลายระดับ และไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยโรคลมหลับทุกคนนะคะ คนที่เป็นจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทุกครั้งที่โดนกระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น ถูกทำให้ตื่นเต้น ตกใจ กลัว โกรธ เครียด หรือแม้แต่จะขำหนักๆ อยู่ก็ตาม เราจะไร้เรี่ยวแรงไปสักระยะ ประมาณว่าโกรธมากอยากจะต่อยแต่ขยับมือไม่ได้ ฮาเรื่องตลกกับเพื่อนอยู่ก็คอตกหัวฟุบโต๊ะหลับไปเลย หรือถ้าตื่นเต้นหนักมากก็สามารถหงายเงิบล้มฟาดพื้นได้ทันที อันตรายมากนะคะ

4. เรื่องหลอนตอนนอน
          ภาวะหลอนๆ ยามหลับ Hallucinations มักเกิดภาพหลอนตอนกำลังจะตื่น หรือตอนเริ่มหลับ โดยภาพที่เห็นอาจจะมาแบบสดใส มีชีวิตชีวา หรืออาจจะมาแบบหลอนๆ น่ากลัวๆ ก็ได้ บางทีก็เปิดมิติใหม่ยกมาทั้งภาพ เสียง สัมผัสเลยด้วยค่ะ นอนๆ อยู่เห็นคนเดินทะลุกำแพง ได้ยินเสียงกระซิบข้างหู รู้สึกเหมือนมีคนมาลูบขาลูบแขน ร้ายแรงก็เห็นเงากระโดดทับร่าง น่าหลอนพอๆ กับโดนผีอำ

5. นอนไม่หลับตอนกลางคืน
          อาการลมหลับนี้ทำให้เราง่วงมากตอนกลางวันนะคะ แต่ดันมีปัญหารบกวนการนอนหลับตอนกลางคืน Disturbed nocturnal sleep ซะงั้น น้องๆ จะฝันเรื่องนู้นเรื่องนี้เยอะไปหมด เรียกว่าฝันจนเหนื่อย แถมอยู่ดีๆ ยังตื่นถี่ ตื่นขึ้นมาแบบไร้เหตุผลอีกต่างหาก (ใน 1 คืน สามารถลุกมาตาสว่างได้ 4 - 5 ครั้ง บางคนที่เป็นหนักๆ ตื่นทุกๆ 5 นาที แถมยังกินเวลานานเป็น 10 - 20 นาทีกว่าจะหลับ) เพลียได้อีก!   

          จากทั้ง 5 สัญญาณที่ว่ามาถ้าน้องๆ มีอาการ 2 ใน 5 ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคลมหลับแล้วค่ะ บางคนอาจจะมีอาการง่วงตอนกลางวัน + ผีอำ + กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางคนอาจจะง่วงตอนกลางวัน + ผีอำ + เจอเรื่องหลอนตอนนอน หรือมีครบทั้ง 5 อาการก็ได้   


ลมหลับอันตราย...ไม่ใช่แค่เกรดตก
          จากประสบการณ์ตรงของคนที่เป็นโรคลมหลับนะคะ เกือบร้อยทั้งร้อยกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างน้องๆ อยู่ในวัยเรียน นั่งเรียนอยู่หลับในไปซะเฉยๆ เกิดหลับทุกคาบติดต่อกัน โดนครูเพ่งเล็งว่าขี้เกียจ แถมเรียนไม่รู้เรื่องแน่ หรือถ้าสอบอยู่ดีๆ ตื่นเต้นมากไป มือชา หัวตื้อ คิดไม่ออกขึ้นมาซะดื้อๆ งานเข้าอีก! ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราควบคุมตัวเองไม่ได้เลย ไม่ว่าจะหลับไม่สนิทจนทำให้เพลียมากๆ หรือหลับไม่แคร์สื่อได้ทุกที่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) มันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากเลยค่ะ   
 

โรคที่รักษาไม่หาย...แต่อยู่กับมันได้


 
          ลมหลับยังไม่มีวิธีรักษาโรคให้หายขาดได้ค่ะ ปัจจุบันทำได้เพียงควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงด้วยการใช้ยาบางตัวมากระตุ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว หรือยาแก้อาการหมดแรงฉับพลัน และวางแผนปรับพฤติกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตให้เหมือนคนปกติได้มากที่สุด เช่น เพิ่มการงีบหลับระยะสั้นสัก 10 - 15 นาที เพื่อลดความง่วงในช่วงกลางวัน เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อสร้างวงจรการนอนหลับที่ดี ออกกำลังกายก่อนเข้านอนสัก 4 - 5 ชั่วโมง เพื่อให้เหนื่อยจนหลับสนิท ไม่เล่นมือถือก่อนนอน เพราะแสงจะหลอกตาว่าเป็นเวลากลางวันทำให้นอนไม่หลับ เป็นต้น

เราเป็น "ลมหลับ" หรือ "ขี้เกียจ"           
          ผู้ป่วยโรคลมหลับจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เลยค่ะ ปิดสวิตซ์ได้ทันที ถ้าน้องๆ เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายเป็น "โรคลมหลับ" แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ก่อนอาการจะยิ่งแย่ค่ะ โดยการวินิจฉัย คุณหมอจะแบ่งออกเป็น 2 การทดสอบคือ

          1. ตรวจการนอนหลับใน Sleep Test หรือ polysomnogram (PSG) ช่วงเวลากลางคืน เพื่อแยกความผิดปกติอื่นๆ ของการนอนหลับออกไป เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
          2. ตรวจหาความยาวของช่วงหลับก่อนฝันใน Sleep Lab หรือ multiple sleep latency test (MSLT) ช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่เริ่มหลับจนถึงระยะ REM sleep โดยวิธีตรวจก็จะให้งีบเป็นเวลา 15 - 20 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง ประมาณ 4 - 5 ครั้ง แล้ววัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (ถ้าเช็กแล้วสามารถเข้าสู่ช่วง REM sleep ได้เร็วกว่า 5 นาที ตั้งแต่เริ่มนอน ถึง 3 ใน 5 ครั้ง ถือว่าอาการอยู่ในขั้นรุนแรง เป็นโรคลมหลับแน่นอน!  

 
          วันนี้พี่เมก้าก็มีแบบทดสอบจากฮาร์วาร์ดมาฝากน้องๆ ที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเสี่ยงจะเป็น "โรคลมหลับ" รึเปล่า ได้ลองทำกันด้วยค่ะ


 
          จากสถิติผู้ป่วยโรคลมหลับสามารถพบได้ 1 ใน 2,000 คนเลยนะคะ ในไทยตอนนี้ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยค่ะ ถ้าน้องๆ มีอาการคล้ายๆ แบบนี้ รีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง และบอกกล่าวให้คนรอบข้างรู้ตัวเลย จะได้ช่วยกันสอดส่องดูแลค่ะ   
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น