วิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้ว! 10 หนทางที่จะทำให้เปิดเทอมนี้ เรียนดีกว่าเดิม

          สวัสดีค่ะ ปิดเทอมอย่ามัวแต่นอนชิลล์นะคะ คิดเผื่อไปถึงเปิดเทอมด้วยว่า "เราจะเรียนยังไงให้ Success" น้องๆ โชคดีมาก โตมาในสมัยที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยค้นพบวิธีเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากมาย และบอกเคล็ดลับให้เรานำไปใช้ต่อ


 
          วันนี้พี่เมก้าก็หยิบเคล็ดลับการเรียนที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้ผลจริง! เป็นวิธีเรียนรู้อย่างชาญฉลาดจริง และทำให้คะแนนเราสูงได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน!!

1. ใช้เทคนิค Active Recall
           มีการทดสอบมาแล้วว่า ทุกครั้งหลังเรียนจบ "ถ้ามีการทบทวนภายใน 24 ชั่วโมง จะจดจำเนื้อหาได้ถึง 80%" และใช้เวลาน้อยมากในการอ่านทวนภายหลังเพื่อเก็บเนื้อหาให้ครบ 100% ดังนั้น เลิกเรียนปุ๊บ อ่านทวนเลยค่ะ ในนี้แนะนำให้ใช้เทคนิค Active Recall คือปิดหนังสือแล้วไล่เนื้อหาให้ครบว่าที่อ่านไปจับประเด็นใดได้บ้าง ช่วงแรกๆ อาจจะตื้อๆ จำอะไรไม่ได้เลย แต่พอทำซ้ำๆ อธิบายทวนให้ตัวเองฟังเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ เปลี่ยนข้อมูลในสมองจากจำได้ระยะสั้นๆ เป็นความจำระยะยาวเอง

2. เหนื่อยก็ทนเอา พักด้วย หืม?
           ฟังดูขัดกับความรู้สึกมั้ยคะ? มีงานวิจัยออกมาว่าอ่านหนังสือก่อนเข้านอนตอนเหนื่อยๆ เนี่ยแหละ ช่วยไปเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้สมองเราได้มาก ไม่ว่าจะทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ทักษะการเล่นดนตรี ทักษะด้านการจดจำ ฯลฯ สมองจะทำงานได้ดีในช่วงหลับลึกค่ะ ข้อมูลที่เราเพิ่งอ่านและท่องจำมาก่อนเข้านอน จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความจำให้แข็งแรงพร้อมใช้งานต่อไป นี่คือเหตุผลที่การทบทวนหนังสือก่อนนอน และพักให้เพียงพอ ช่วยให้สมองจดจำและเรียนรู้ได้ดีนั่นเอง   

3. รู้ทันตัวเองว่า "คิดอะไรอยู่"


 
          อาจจะดูเป็นทิปส์ที่ Abstract ไปสักนิด แต่มันใช้ได้จริงนะคะ สิ่งนี้เรียกว่า "Metacognition หรือการรู้เท่าทันความคิด" ง่ายๆ คือทำความรู้จักตนเองนั่นแหละ ลองประเมินความสามารถในการเรียนของตัวเองดู สมมติเรียนไม่รู้เรื่อง "เคยคิดมั้ยว่าทำไม?" เพราะเราชอบนั่งหลับ เม้าท์กับเพื่อนตลอดคาบ หรือเรียนไม่เก่ง พอความคิดสะท้อนออกมา น้องๆ จะวางแผนต่อไปได้ว่า "จะแก้ไขจุดบกพร่องนี้ยังไง" อาจจะลองสร้างจุดโฟกัส ด้วยการย้ายไปนั่งหน้าห้อง ใกล้กับเพื่อนที่เรียนเก่งๆ  

4. มีทิปส์ให้เยอะไว้ก่อน!
           น้องๆ ควรจะเก็บทิปส์ในการเรียนไว้ให้มากๆ กลเม็ดเด็ดเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ รู้ไว้ไม่เสียหาย เช่น วิธีท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ นอกจากจำเป็นแฟลชการ์ด จำจากดิกชันนารีเพียวๆ ลองมาผสมผสานกับการอ่านหนังสือ ซึมซับเป็นเรื่องราว หรือจำเป็นเพลงก็ล้ำสุดๆ หรือถ้าจะเรียนเลขให้เก่ง บางเรื่องไม่มีกฎตายตัวแต่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ถ้าได้ลองทำความเข้าใจคอนเซปต์รูปแบบต่างๆ แทนแบบเดียว ก็จะยิ่งทำให้เราได้เห็นข้อแตกต่าง และโครงสร้างของโจทย์ที่หลากหลายขึ้น 

5. บอกลา Learning Style ทางเดียว
           ข้อนี้จะคล้ายๆ กับด้านบนเลย ปกติเราจะคิดว่าตัวเองเหมาะกับการเรียนสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลยค่ะ แต่ละคนมีรูปแบบการเรียนที่แตกต่างกันออกไปตามที่คิดว่าดี บางคนอาจจะถนัดเรียนแบบเลคเชอร์ บางคนชอบให้ครูเปิดหนังให้ดู บางคนชอบลงมือทำ หรืออินดี้สวนทุกกระแสคือศึกษาด้วยตัวเอง ทดลองเรียนหลายๆ แนวดูค่ะ แล้วจะค้นพบว่าความจริงเราก็เรียนได้หลายด้าน แล้วก็อาจจะเก่งขึ้นในทุกด้านเลยด้วย

6. เรียกเหงื่อก่อนอ่าน


 
           การออกกำลังกายเป็นระยะเวลาสั้นๆ จะไปเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย ช่วยให้สมองมีพลัง และเป็นเหมือนอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้อย่างดีที่สุด มีงานวิจัยออกมานะคะว่า ทำกิจกรรมเรียกเหงื่อเล็กๆ ก่อนเปิดหนังสืออ่าน จะช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า อ่านหนังสือได้มากขึ้น และเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ได้เยี่ยมไปเลย 

7. แตะหนังสือบ่อยๆ
           เดี๋ยวนี้เรามีแท็บเล็ต มีสมาร์ทโฟน ที่เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกสบายมากๆ อยากจะอ่านอะไรก็ค้นหาได้เลย แต่ก็มีงานวิจัยออกมานะคะว่าการเรียนผ่านหน้ากระดาษยังคงเป็นสิ่งที่น้องๆ ชื่นชอบ บางงานวิจัยก็บอกว่าการอ่านตัวอักษรจากในหน้ากระดาษโดยตรง ช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องที่อ่าน ไม่แวบไปมองอย่างอื่นบนจออิเล็กทรอนิกส์ และสมองก็สามารถจดจำข้อมูลต่างๆ ได้ดีด้วย

8. สมมติว่าเราเป็นครู
           วิธีนี้น่าจะได้ใช้กันบ่อยๆ คือสมมติตัวเองเป็นครูซะเลย มีงานวิจัยออกมานะคะว่าสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ความจำดีได้ คือเราต้องลองสอนบ่อยๆ การสอนไม่ใช่แค่ท่องจำแล้วนำมาพูดให้ตัวเองฟัง แต่มันต้องผ่านการจัดระบบ และลำดับความสำคัญของข้อมูลมารอบหนึ่ง พอทวนซ้ำๆ ก็ยิ่งจำได้ดี บางคนนำไปอธิบายให้เพื่อนเข้าใจอีก ยิ่งเป็นการทวนความรู้ได้ดีเลย หรือถ้าอยากจะลองทดสอบความเข้าใจของตัวเอง ก็คิดคำถาม ตั้งโจทย์ขึ้นมา แล้วหาคำตอบ แก้โจทย์เองเลย ไม่เก่งก็ให้รู้ไป!

9. อย่าเทข้อมูลเข้าสมองรวดเดียว


 
           น้องๆ อาจจะเคยได้ยินคำว่า "Overlearning" กันมาบ้าง คำนี้คล้ายๆ กับการเรียนอะไรซ้ำๆ หลังจากผ่านบทเรียนนั้นไปแล้ว ฟังดูก็เหมือนการทบทวนใช่มั้ยคะ น่าจะทำให้ความจำดีขึ้น แต่! ถ้าเรา Overlearn ในระยะเวลาสั้นๆ ยัดๆ ความรู้ในแต่ละหัวข้อเข้าไปจนมันตีกัน ก็อาจจะข้อมูลล้นจนทำให้สมองเออเร่อได้ ค่อยๆ ป้อนความรู้ หมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอดีกว่า  

10. สบายๆ ชิลล์ๆ  
           ความเครียดเป็นก้างชิ้นใหญ่ในการเรียนรู้เลย ถ้าสะสมอยู่นาน สมองส่วนไฮโพทาลามัสก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคโทรพิน-รีลิสซิ่งออกมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะไปขัดขวางกระบวนการสร้างและกักเก็บความจำ ทำให้เราความจำแย่ เรียนไม่เข้าสมองไปกันใหญ่ หาเวลาว่างมาพักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ จะช่วยลดความเครียดได้ค่ะ  

           เป็นยังไงบ้างคะน้องๆ สนใจวิธีไหน ลองนำไปทำตาม แล้วกลับมาบอกพี่เมก้าด้วยนะว่าผลลัพธ์ดีเกินคาดขนาดไหน

 
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.thebestcolleges.org/17-scientifically-proven-ways-to-study
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น