อิ่มท้อง + เที่ยวจุใจ! "น้องโก้" กับความสุข 2 ต่อ ที่สาขาการประกอบอาหารในเรือเดินทะเลฯ

           สวัสดีค่ะ น้องๆ Dek-D ที่มีความฝันอยากท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ และคลุกคลีอยู่กับอาหารอร่อยๆ ได้โชว์รสมือให้ผู้คนลิ้มลองมากมาย สาขานี้เหมาะมาก! "การประกอบอาหารในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ" วันนี้พี่เมก้าไม่ได้มาคนเดียวเหงาๆ แต่พา "น้องโก้" รุ่นพี่ที่เพิ่งขึ้นฝั่งมาหมาดๆ และกำลังจะลงเรืออีกรอบหนึ่ง ห๊ะ! มาแชร์ประสบการณ์การเรียนและการทำงานครัวบนเรือให้น้องๆ ได้รู้กันแบบเจาะลึกไปเลย! จะมันส์ขนาดไหน ตามไปอ่านกันเลย
 

 
พี่เมก้า : แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักหน่อยค่ะ
น้องโก้ : สวัสดีครับ ผม "โก้ ภาคภูมิ สุขศรีนวล" จบการศึกษาระดับชั้น ปวส.2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช สาขาการประกอบอาหารในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศครับ เพิ่งจบสดๆ ร้อนๆ ไม่ถึงปีเลยครับ

พี่เมก้า : ทำไมถึงเลือกเรียนการประกอบอาหารในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศคะ?

น้องโก้ : ความจริงผมตั้งใจมาเรียนแผนกนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ แต่ว่าเขาเปิดสอนเฉพาะ ปวส. เลยมาเรียน ปวช. รอไปก่อน ผมก็เลือกเรียน ปวช. สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ 3 ปี จากวิทยาลัยเดียวกัน แล้วก็มาต่อโควตา ปวส. ครับ  


 
           แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนที่นี่คือ "ผมอยากไปเที่ยวให้เยอะที่สุด" ครับ แล้วก็ "ผมมีความชอบทางด้านอาหาร" ด้วย การเรียนสาขานี้เลยเหมาะกับผมครับ รุ่นพี่หลายคนของผมเขาก็ไปทำงาน แล้วก็ถ่ายรูปมาให้รุ่นน้องดูว่าไปประเทศนี้นะ ทำงานแบบนี้นะ มันได้ค้นหาอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ได้เรียนอยู่แค่ที่เดียว แต่มันทำให้เราได้ลุ้นว่า "ต่อไปเราจะได้ไปไหน" ฮ่าๆ    

พี่เมก้า : สาขานี้มีแต่ผู้ชายยกเซ็ต?

น้องโก้ : ใช่ครับ แผนกการประกอบอาหารในเรือจะรับเฉพาะผู้ชายอย่างเดียวครับ แต่ถ้าน้องๆ ผู้หญิงอยากเรียน ตอนนี้ทางโรงเรียนก็ได้เปิดการสอนการบริการทางเรือสำราญปีนี้ปีแรกเลยครับ สามารถเรียนได้ทั้งหญิงทั้งชาย

พี่เมก้า : ในห้องเรียนอาจารย์จะสอนทฤษฎีอะไรเราบ้างคะ?
น้องโก้ : ตอนแรกเลยนะครับ จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการเดินเรือ แล้วก็มีการเรียนเปิดคอร์สการจัดการ กีฬา แล้วก็วิชาหลักๆ ที่โรงเรียนจัดมาให้ เกี่ยวกับอาหารทั่วไป ภาษาอังกฤษ มีเรียนวิทย์ด้วยครับหนึ่งเทอม เจอเคมีไปเต็มๆ แต่พอเทอมต่อมาก็จะเน้นเรื่องอาหารเยอะขึ้น แล้วก็เรียนควบคู่กันไปกับการทำเอกสารเรือเลยครับ เพราะว่าจะมาลงเรือได้ มันต้องมีเอกสารหลายตัวตามที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้

พี่เมก้า : เคยได้ยินมาว่าที่นี่ฝึกหนักเหมือนทหารเรือเลย จริงไหมคะ?

น้องโก้ : ใช่ครับ มันเกี่ยวกับ 4 หลักสูตรพื้นฐานที่ต้องใช้ในเรือ เช่น การดับไฟชั้นสูง การปฐมพยาบาล การดำรงชีวิตบนเรือในทะเล แล้วก็ความปลอดภัยและความรับผิดชอบบนเรือ ดูแลพวกอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ แต่ที่เราเรียนเป็นพาณิชย์นาวีนะครับ ไม่ใช่ราชนาวี การฝึกจะคล้ายๆ กัน แต่รูปแบบการทำงานจะต่างกันครับ


 
           ผมว่าวิชาหนักที่สุดน่าจะเป็นการเข้าอบรมหลักสูตรที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้น่ะครับ มีทั้งการดับเพลิง การว่ายน้ำ 50 เมตร แล้วก็มีกระโดดจากที่สูงลงมา เพราะเขาจะจำลองว่าสมมติเรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วต้องสละเรือใหญ่ เราต้องโดดจากบนเรือลงมาด้านล่างยังไง ต้องโดดให้ถูกวิธีประมาณนี้ครับ

พี่เมก้า : เรียนสาขานี้จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านอาหารมาก่อนรึเปล่า?

น้องโก้ : ความจริงในรุ่นก็มีเพื่อนที่ไม่มีพื้นฐานด้านอาหารมาเรียนนะครับ แต่ว่าทางโรงเรียนจะจัดซัมเมอร์ให้ ก็ฝึกไปจากตรงนี้แหละครับ อาหารบนเรือก็จะต้องถูกหลักโภชนาการ แล้วก็เน้นรสชาติด้วย เพราะคนบนเรือทำงานมาเหนื่อยๆ ก็ต้องการรับประทานของอร่อย เราจะปรุงอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ทำอาหารหลายๆ อย่างเลย แขกและลูกเรือก็ตักไปรับประทานกันตามสะดวก
           แต่ว่าถ้าเป็น OFFICER เราต้องจัดการตักเสิร์ฟให้ เพราะทุกคนจะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบบนเรือ ไม่ว่าจะเป็นกัปตันที่ต้องคอยดูแลภาพรวม และรับผิดชอบทุกเรื่องในเรือ ต้นเรือที่ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายและเอกสารในเรือ ต้นหนที่เตรียมรายละเอียดเส้นทางเดินเรือ ผู้ช่วยต้นหนที่ทำหน้าที่เช็กอุปกรณ์เซฟตี้ในเรือและเช็กสินค้า นอกจากนี้ยังมีฝ่ายห้องเครื่องอีกครับที่ต้องดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเครื่องเรือ เพราะบนเรือจะมีตำแหน่งใหญ่ๆ ที่คอยดูแลเรื่องการเดินเรืออยู่ เราต้องเสิร์ฟอาหารให้ครบครับ

พี่เมก้า : อัปเดตชีวิตตอนนี้ให้น้องๆ รู้สักนิดค่ะ ทำอะไรอยู่?

น้องโก้ : ตอนนี้ผมกำลังจะไปลงเรือลำที่ 2 เชนน่า พิงเซ๊ดครับ เรือนี้จะวิ่งอยู่แถวตะวันออกกลางแล้วก็ยุโรปครับ ก็ลงเรือต่อเพื่อเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย ที่วิทยาลัยทำ MOU กับทางบริษัทครับว่า 1 ปี จะรับเด็ก 20 คน ไปทำงานกับบริษัทที่มีคุณภาพ คัดเด็กที่เรียนเก่ง มีความตั้งใจ แต่เราก็ต้องแอคทีฟตามข่าวบ่อยๆ ด้วย ไม่ใช่ให้วิทยาลัยป้อนให้อย่างเดียวครับ ส่วนคนที่ไม่ได้ลงเรืออาจารย์จะส่งไปฝึกที่โรงแรมครับ ผ่านการฝึกจากโรงแรมเมื่อไหร่ ถึงจะพาไปลงเรือครับ ไม่ได้ไปกันทุกคน


 
พี่เมก้า : ใน 1 ปี ลงเรือกี่ครั้งคะ?
น้องโก้ : ปีละครั้งครับ ครั้งหนึ่งก็ประมาณ 10 - 11 เดือน แต่ที่จริงตามสัญญาที่เราไปเขียนกับบริษัทระบุไว้ 9 เดือนครับ ที่ผมอยู่เลยมา เพราะบริษัทอยากให้อยู่ต่อ ก็จะมีเงินเดือน มีโบนัสเพิ่มเติมขึ้นมา จริงๆ การได้ลงเรือก็ขึ้นอยู่กับตัวเองเลยนะครับ อย่างผมเพิ่งมาพักได้ไม่ถึง 2 เดือน บริษัทก็โทรมาให้ไปลงต่อแล้ว ถ้าเราทำงานดี ไปสร้างชื่อเสียงไว้ เขาก็จะรับเราทำงานต่อเลยครับ 

พี่เมก้า : สุดท้ายฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนสาขานี้หน่อยค่ะ ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?

น้องโก้ : จากประสบการณ์ที่ผมได้เจอมานะครับ สิ่งที่ต้องเตรียมมาโดยเฉพาะอาจจะไม่ใช่วิชาเรียนที่หนัก แต่เป็นทักษะการดำรงชีวิตที่ต้องใช้มากกว่าวิชาชีพครับ ถ้าใจรักจริงๆ ต้องพร้อมที่จะสละทุกอย่าง ตัดโลกส่วนตัว ตัดโลกภายนอก ตัดกิจกรรมทุกอย่างที่เราเคยเจอเคยทำกับเพื่อนมาอยู่บนเรือให้ได้ ทั้งหมดอยู่ที่ใจเลย
           เรื่องวิชาชีพมาหัดกันได้ ไม่ได้เรียนอาหารโดยตรงก็สามารถมาเรียนรู้ได้ แต่ที่มีปัญหาส่วนมากจะเป็นการเป็นอยู่มากกว่า เราต้องปรับตัวเข้ากับทุกคนให้ได้ เราอาจจะไม่ได้ทำแค่อาหาร หรือช่วยเสิร์ฟอย่างเดียว ยังมีงานอย่างอื่นที่ต้องทำ อาจจะไปช่วยทำสินค้า ช่วยเทียบเรือ หรือห้องเครื่องมีปัญหาขึ้นมาก็ต้องลงไปช่วย ต้องทำทุกอย่างให้ได้ครับ แล้วจะดีเอง 

           ก่อนหน้านี้พี่เมก้าได้ยินมาว่า น้องๆ ที่จบจากสาขาการประกอบอาหารในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ตอนทำงานได้ค่าตอบแทนสูงปรี๊ด! แต่อย่าลืมนะคะว่าแรงที่ลงไป หนักเอาการเลย! ไม่ใช่การท่องเรือเที่ยวสนุกๆ และได้ทานอาหารอร่อยในทุกๆ วัน เพียงอย่างเดียวแน่นอน น้องๆ ที่สนใจก็ลองถามตัวเองดูได้ว่าใจรักที่จะมาทางนี้จริงรึเปล่า มั่นใจแล้วก็เดินหน้าลุยโลดเหมือนพี่โก้เลยค่ะ สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณน้องโก้ที่มาแชร์ประสบการณ์ให้น้องๆ ได้อ่านกันด้วยนะคะ     
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด