ในทางวิชาการ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ถือได้ว่าเป็นเส้นทางในฝันของใครหลายๆ คน แต่จะมายืนตรงนี้ จะต้องพิสูจน์ทั้งความรู้ ความสามารถ และความอดทนค่ะ วันนี้พี่มิ้นท์จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับค่าย สอวน. และเส้นทางสู่เด็กโอลิมปิกวิชาการ จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีอยู่ในแวดวงโอลิมปิกทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ, พี่แชร์ สุปิติ บูรณวัฒนาโชค และ อาจารย์กิ๊ฟ ผศ.ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์
ค่าย สอวน. คืออะไร
สอวน. ได้ยินชื่ออยู่บ่อยๆ แต่ไม่รู้จักกันใช่มั้ยคะ?
สอวน. หรือ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ค่ายนี้เป็นเสมือนประตูสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งจะมี 5 สาขาวิชาคือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์
สำหรับน้องๆ ที่สนใจ ค่าย สอวน. จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และสอบเดือนสิงหาคม จากนั้นจะประกาศผลกันยายน น้องๆ ที่สอบติดจะได้เข้าสู่ สอวน.ค่าย 1 ในเดือนตุลาคม
สอบเข้าค่าย สอวน. ต้องเตรียมตัวอย่างไร
พี่แชร์ สุปิติ บูรณวัฒนาโชค : การจะเข้าสู่ค่าย สอวน.ได้ จะต้องมีการสอบแข่งขันเข้ามาก่อน ซึ่งทุกๆ ปี แต่ละสาขาจะมีผู้สมัครสอบนับหมื่นคน ข้อสอบ สอวน. จะเป็นข้อสอบที่ต้องใช้ความคิดและความเข้าใจมากกว่าข้อสอบในโรงเรียนหรือข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการเตรียมตัวเพื่อไปสอบโอลิมปิก ข้อสอบจึงออกแบบมาเพื่อการเตรียมสู่การแข่งขันโอลิมปิกโดยเฉพาะ
ดังนั้น น้องๆ ที่มีความฝันอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่าย สอวน. ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนบทเรียน ฝึกทำโจทย์ต่างๆ โดยเฉพาะโจทย์ข้อสอบระดับชาติ ซึ่งส่วนมากแล้ว จะมีการเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะบางสาขาก็สามารถสมัครได้ตั้งแต่มัธยมต้น เช่น สาขาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น
จากเด็กค่าย จะโกอินเตอร์ ไปแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติได้อย่างไร
ประเทศไทย ส่งเยาวชนเข้าร่วมโอลิมปิกวิชาการมาตั้งแต่ปี 2532 มีหน่วยงานที่เป็นผู้คัดเลือกร่วมกัน 2 หน่วยงาน คือ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
กว่าจะไปถึงขั้นระดับแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติ หรือ โอลิมปิกระหว่างประเทศ น้องๆ จะต้องผ่า นทั้งหมด 3 ค่าย แบ่งเป็น สอวน. 2 ค่าย และ สสวท. อีก 1 ค่ายเป็นค่ายสุดท้าย
ซึ่ง อาจารย์กิ๊ฟ ผศ.ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ ได้อธิบายเสริมว่า สำหรับ สอวน. ที่แบ่งเป็น 2 ค่ายนั้น ในปลายเดือนสิงหาคมของทุกๆ ปี สอวน. จะจัดสอบแข่งขันและคัดเลือกไปอบรมในค่ายที่เรียกว่า "สอวน. ค่าย 1" ในศูนย์ย่อยทั่วประเทศที่น้องๆ ได้เลือกไว้ เนื้อหาที่เรียนในค่ายก็จะลึกกว่าที่ได้เรียนในห้องเรียน และมีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยกันติว ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อเรียนจบค่าย 1 ก็จะมีการสอบเกิดขึ้นเพื่อไปสู่ "สอวน. ค่าย 2" เนื้อหาที่ได้เรียนก็จะลึกขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่น้องๆ ผ่านการสอบคัดเลือกค่าย 2 แล้ว ก็จะเป็นตัวแทนศูนย์เพื่อไปแข่งขันกับเพื่อนๆ ศูนย์อื่นจากทั่วประเทศ เรียกว่าการแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ
เมื่อเข้ามาถึงขั้นแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติแล้ว จะคัดคนออกอีกเพื่อไปค่ายสุดท้ายคือ ค่ายของ สสวท. ซึ่งเป็นค่าย 3 เป็นค่ายที่ยากที่สุด ข้อสอบโหดที่สุด เพื่อคัดคนเหลือแค่ 4 คน เป็นตัวแทนประเทศ ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ
เป็นเด็กค่าย สอวน. แล้วได้อะไร
อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ : ถ้าน้องๆ ได้เข้ามาเป็นเด็กค่าย สอวน. แล้วสิ่งที่น้องๆ จะได้รับกลับไปนั้นมีคุณค่าและคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับความตั้งใจที่ได้ทุ่มเทลงไป อย่างแรก เมื่อน้องๆ สอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ค่าย สอวน. แล้ว เราจะได้มีโอกาสเรียนวิชาการต่างๆ ในระดับที่ลึกขึ้นจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำแล็บจริงๆ ด้วย
ถ้าน้องได้ผ่านค่ายทั้ง 2 เรียบร้อยแล้ว เราก็จะมีสิทธิ์สอบโอลิมปิกระดับชาติ ซึ่งเหรียญของโอลิมปิกระดับชาติจะเป็นโควตาที่จะทำให้น้องๆ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีปกติ แต่ถ้าน้องๆ ไปได้ไกลกว่านั้น ได้เหรียญโอลิมปิกระดับนานาชาติแล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก ไม่ว่าจะเป็นแสตนฟอร์ด MIT หรือประเทศอื่นๆ ก็จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าน้องได้เข้าค่าย สอวน.แล้ว ก็จะได้สนุกไปกับมัน และได้ประสบการณ์ที่ในโรงเรียนให้น้องไม่ได้
เป็นอย่างไรบ้างคะ บอกแล้วว่าค่าย สอวน. เป็นค่ายที่ปลุกพลังด้านวิชาตัวจริงเสียงจริง แม้เป้าหมายสูงสุดของน้องๆ ที่เข้าค่ายนี้คือ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ หรือเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ แต่แค่น้องๆ ได้เข้ามาค่ายนี้ ก็จะได้รับความรู้ในสายวิทยาศาสตร์ที่หาไม่ได้จากหลักสูตรโรงเรียนทั่วไปค่ะ พี่มิ้นท์ว่าคุ้มค่ามากๆ เลย
ดังนั้น น้องๆ ที่ฝันอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่าย ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกทำข้อสอบทุกวัน และทำข้อสอบให้เต็มที่ พี่มิ้นท์เชื่อว่าหากพยายามมากพอ "ค่าย 1" อยู่ไม่ไกลแน่นอนค่ะ
10 ความคิดเห็น
ขอให้ช่วยแก้ชื่อมหาวิทยาลัยนิดนึงนะคะ คิดว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำหมายถึง แสตนฟอร์ด (Stanford) ไม่ใช่ แสตมป์ฟอร์ต ค่ะ
โควตามหาวิทยาลัยรวมถึงระดับม.ต้นด้วยมั้ยครับ
หมายถึง IJSO หรอคะ
คือ สอบ5วิชานี่คือสอบรวมกันหมด5วิชาเลยหรือเลือกสอบคะ?
แยกตามแต่ละวิชาค่ะ โดยมีเลือกสอบได้ 2 สาขาค่ะ
อยากให้เปิดให้ ม.6 สมัครค่ายสอวน.อีกค่ะ อยากขอโอกาสสอบอีกสักครั้ง
เสียดายเหมือนกันค่ะ เราทันสอบตอน ม.6 พอดี น่าเสียดายแทนรุ่นน้อง
ยั่วๆจ้าาา
ช่วงเวลาในค่ายแต่ละค่ายประมาณกี่วัน กี่เดือนได้คะ
ศูนย์ที่เราเข้า โดยปกติแต่ละค่ายจะเข้าค่าย 17 วัน ค่ะ
พี่ค่ะ คือ ค่าย สอวน ไปจนถึง สสวท
ถ้าติด ตั้งแต่ค่าย1 ไปจนถึงได้ไปแข่งอลยเนี่ยใช้เวลา กี่ปีค่ะ คือไปจนถึงค่าย3อ่ะ
และก็ถ้าเพิ่งจะมาสมัครตอนม.4จะทันที้ง3ค่ายไหม (ก็ไมู่ว่าจะติดไหมถามดูว่ามันกีปี555ไม่รู้เรื่อง ค่ายนร้เลย555)
ลองอ่านในนี้ดูนะคะ http://olympic.ipst.ac.th/procedure/
ค่าย 1-3(ระดับชาติ) =>ใช้เวลา 1 ปี
ค่ายสสวท - ได้ผู้แทนประเทศ =>ใช้เวลา 1 ปี
เช่น เราสมัครตั้งแต่ค่ายแรกตอน ม.5 เราจะได้เป็นผู้แทนประเทศตอน ม.6 ค่ะ
อายุของคนที่สอบโอลิมปิกนานาชาติ กำหนดที่ ไม่เกิน 21 ปีค่ะ
ถ้าเราตกค่าย สสวท ก็สามารถมาสอบอีกครั้งเพื่อวนค่าย สสวทได้ใหม่ค่ะ
ถ้าติดค่ายนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ค่ะ
ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆตลอดค่ายค่ะ ทั้งที่พัก อาหาร รถรับส่งไปกลับที่พัก เอกสารการเรียนทุกอย่าง มีแต่การเดินทางไปศูนย์ค่ายที่เราต้องดูแลตัวเองค่ะ
ขออนุญาตสอบถามนะคะ ตอนสอบคัดเลือกไปค่าย1 เสียค่าใช้จ่ายมั้ยคะ
ถ้าสอบตอนม.5ยังทันมั้ยคะ
ม.5 ทันจ้าา