พิสูจน์แล้วว่าใช่! ไขปริศนาภาพวาดอุ๊ หฤทัย ด้วยวิทยาศาสตร์ มั่นใจผลงาน"แวนโก๊ะ"จริง อายุกว่า 100 ปี

  
        ศิลปะ กับ วิทยาศาสตร์ ดูเป็นทางคู่ขนาน ที่ไม่มีวันบรรจบเข้ามาหากัน แต่ ณ วันนี้ ความคิดนี้ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเราเข้าสู่ในยุคที่ใช้วิทยาศาสตร์สืบค้นประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ เพื่อหาคำตอบรูปภาพภาพหนึ่งว่า เป็นผลงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินเอกของโลกที่ผลงานมีอิทธิพลมาถึงวันนี้หรือไม่
 

 

        หลายคนคงได้ยินข่าวภาพวาดต้นไม้ (Tree in Winter) ที่อยู่ในครอบครองของคุณอุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ว่าเป็นภาพของ Vincent van Gogh ศิลปิน Expressionism ที่โด่งดังของโลก หลังจากที่ได้ครอบครองภาพนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเริ่มพิสูจน์ความจริงกันมานานกว่า 3 ปี ไปดูเรื่องราวที่น่าทึ่งและความสำเร็จงานวิจัยของคุณอุ๊ที่ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หากวิจัยชิ้นนี้ได้รับการรับรองจากแวนโก๊ะ มิวเซียม นี่จะเป็นงานวิจัยระดับโลกเลยทีเดียว

    ที่มาของภาพและจุดเริ่มต้นของการสืบหาคำตอบ
         คุณอุ๊เล่าว่า ได้ภาพนี้มาจากการซื้อในร้านขายเฟอร์นิเจอร์เก่านำเข้าจากยุโรป ซึ่งในครั้งนั้นตั้งใจว่าจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ แต่เห็นรูปถูกกองไว้อย่างไร้ค่า ด้วยความสงสารรูปภาพ จึงซื้อมาจำนวนหนึ่ง หลังจากที่ได้ซื้อมาแล้ว ปรากฏว่าได้พบกับภาพวาดของศิลปินชาวเซี่ยงไฮ้ จึงได้ติดต่อ รศ.ปิยะแสง เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของจีน แต่ครั้งนั้นได้ให้อาจารย์ช่วยวิจารย์ภาพต้นไม้ต้นนี้ด้วย เพราะฝีแปรงเฉียบคม อาจารย์ดูได้แป๊บเดียว ก็ได้พูดขึ้นว่า "ผมไม่เคยเห็นใครวาดอะไรแบบนี้" นอกจากวินเซนต์แวนโก๊ะ ในตอนนั้นคุณอุ๊ไม่ได้เชื่อ แต่อาจารย์ได้มอบหมายภารกิจให้ไปหาคำตอบว่าภาพนี้ มีอายุเก่ากว่า 100 ปีหรือไม่ หากใช่ หรืออยู่ช่วงคริสศตวรรษที่ 19 จะเป็นผลงานของคนอื่นไม่ได้ นอกจากแวนโก๊ะเท่านั้น เพราะรูปภาพแนวนี้ไม่ได้รับการยอมรับในยุคนั้น


 

   Art project ไขความลับขั้นแรกที่คนทั่วไปก็ทำได้
       คุณอุ๊เล่าถึงความโชคดีของสมัยนี้ที่มีอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายที่เชื่อมกันทั่วโลก หลังจากที่ได้รู้จัก Art Project จากอาจารย์ปิยะแสง เลยได้ลองลงมือสืบค้นข้อมูลเรื่องร่องฝีแปรงพู่กัน (Art Project คือโครงการของ google ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าชมงานศิลปะได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์) ใน Art Project สามารถซูมภาพวาดหรืองานศิลปะได้เป็นร้อยเท่า ได้เห็นความละเอียดของชิ้นงานได้อย่างลึกซึ้ง คุณอุ๊จึงทดลองซูมและนำรูปวาดของตนไปวางต่อกับรอยแปรงของรูปใน Art Project และถ่ายรูปเก็บไว้ พบว่ารอยแปรงและทิศทางต่อกันได้อย่างน่าทึ่ง

   ด่านแรกคือการค้นหาอายุของภาพวาด
       การเริ่มต้นหาอายุของภาพวาดเป็นวิธีที่จะตัดข้อสงสัยอื่นๆ ไปได้หมด พูดง่ายๆ คือ ถ้าอายุไม่ถึง 100 ปี ก็ไม่ต้องหาคำตอบอื่นๆ แล้ว โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาจากสวิสเซอร์แลนด์มาช่วย เพราะเทคโนโลยีของเขาสามารถค้นหาอายุของภาพได้โดยไม่ทำลายรูปภาพ ด้วยการเก็บตัวอย่างเส้นใยผ้าที่รุ่ยออกจากขอบ 1 เส้น ประมาณ 17 เซนติเมตร เพื่อไปวิเคราะห์อายุคาร์บอน-14 แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่า เส้นใยนี้ถูกตัดและนำมาทอเป็นผ้าในช่วง ค.ศ.1677-1950 แต่ที่แน่ๆ คือ วาดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอน

    ไปต่อที่การพิสูจน์สี
        ด่านแรกได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ ได้รู้แล้วว่าภาพเก่าแน่ แต่ยังไม่รู้ใครวาด คุณอุ๊และอาจารย์ศศิพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จึงดำเนินการวิเคราะห์ภาพเขียน วิธีที่นิยมใช้ที่สุด คือ Pigment analysis คือการวิเคราะห์สีของภาพ โดยการแยกธาตุของสี ใช้เทคนิค XRF เช่น สีเขียวประกอบด้วยอะไร สีน้ำตาลประกอบด้วยอะไร โดยตรวจสีขาวของภาพ
       ผลที่ได้คือ ไม่พบสีธาตุใหม่ และไม่พบไททาเนียมในสีขาว (สีขาวยุคหลังจะมีไททาเนียม) นอกจากนี้ยังพบว่าสีที่พบในภาพ มีการใช้มาตั้งแต่อดีต เช่น สีขาว Zinc white ที่แพร่หลายในยุโรปช่วงปี 1860 รวมถึงพบการเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นน้ำตาลของ Chrome Yellow ด้วย
       แม้ว่าจะได้คำตอบเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่คุณอุ๊และ อ.ศศิพันธุ์ ยังเดินหน้าหาคำตอบเพิ่มเติม ไปที่ Duzen Lab เพื่อวิเคราะห์สีเพิ่มเติมในระดับขนาดเล็ก ทำให้ยกระดับงานวิจัยไปอีกขั้น ว่าภาพนี้มีสีแดงจากรากไม้ด้วย แต่ที่บนภาพไม่มีสีแดง เป็นเพราะได้เลือนหายไปตามกาลเวลาแล้ว สีที่เป็นออแกนิคจะมีอายุอยู่ได้แค่ 100 ปีเท่านั้น จึงได้ทราบว่าแท้จริงแล้วภาพนี้ไม่ได้สีหม่นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และที่สำคัญ ภาพนี้วาดแค่ครั้งเดียว ไม่มีการแก้ไข วาดทับใดๆ เลย


 

   การเดินทางที่ทำให้เผยความลับขึ้นเรื่อยๆ
       ความตั้งใจของคุณอุ๊ ไม่ได้แค่อยากพิสูจน์ว่าภาพนี้เป็นของแวนโก๊ะหรือไม่ แต่ต้องการได้คำตอบว่าภาพนี้วาดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ จึงเริ่มไปที่ฝรั่งเศส เพราะเราสันนิษฐานไว้ว่าแวนโก๊ะอยู่ในฝรั่งเศสช่วงปี ค.ศ.1886-1890 น่าจะมีความสอดคล้องกับภาพวาดต้นไม้ ความมหัศจรรย์ที่ได้ค้นพบคือ
       - ได้เจอกอหญ้าที่เมืองโพรวองซ์ เห็นแล้วรู้ทันทีเลยว่านี่คือกอหญ้าที่ปรากฏในภาพวาด เรียกว่าหญ้า Ganet จะอยู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนเท่านั้น จึงจำกัดขอบเขตลงไปได้ว่า ไม่ว่าใครเป็นคนวาดก็ตาม ภาพนี้จะต้องวาดที่รอบทะเลเมดิเตอเรเนียน
       - มีจดหมายของแวนโก๊ะที่พูดถึงกอหญ้า เขียนในวันที่ 16 กันยายน 1888
       - ต้นไม้นี้คือต้น Plantane พบทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ทำให้รู้ว่าผู้วาดภาพต้นไม้ภาพนี้ วาดได้เหมือนมาก เก็บรายละเอียดได้เหมือนจริง ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก
       - เมื่อค้นพบประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมกับสิ่งที่พิสูจน์ได้ก่อนหน้านี้ ทำให้ได้รู้ว่าฤดูที่วาดนั้นควรจะเป็นฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งจะตรงกับหลักทางพฤกษศาสตร์ที่ว่าต้นนี้จะเปลี่ยนสีเป็นสีส้มอมชมพูในเดือนกันยายน


ซ้าย - ภาพต้นฉบับ
ขวา - ภาพจำลองสี ที่วาดในช่วงปี 1888

   ความค้นคว้าที่ยิ่งใหญ่ รอการรับรองจากแวนโก๊ะ มิวเซียม
        จนถึงวันนี้ 3 ปีของการเดินทางพิสูจน์ภาพวาดปริศนา ใครจะรู้ว่าคำพูดเพียงคำเดียวที่ให้ไปหา "อายุ" ของภาพวาดนี้ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจและการเดินทางที่แสนยาวนาน ตั้งแต่การพิสูจน์อายุ พิสูจน์สี ไปจนถึงการหาแหล่งที่มาต่างๆ ไม่ใช่แค่ได้รู้ว่าใครวาด แต่คืองานวิจัยระดับโลก ที่ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม เพื่อวิเคราะห์ภาพวาด จนได้คำตอบว่า มีความเกี่ยวข้องกับงานภาพวาดของแวนโก๊ะในทุกด้าน และในขณะนี้ก็กำลังรอการรับรองอย่างเป็นทางการจาก Van Gogh Museum อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์
       หากภาพนี้ได้รับการรับรองจริง ไม่ใช่แค่ในด้านประวัติศาสตร์ที่ได้ค้นพบภาพของแวนโก๊ะที่หายสาบสูญไป แต่นี่คือต้นแบบของความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยภาพวาดชิ้นแรกของประเทศ และจะเป็นงานวิจัยสำคัญของโลกต่อไป
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น