5 ทักษะจำเป็นในชีวิต ที่ไม่ว่าไปหลงที่ไหนๆ ก็เอาตัวรอดกลับมาได้

       สวัสดีค่ะ จากเหตุการณ์ที่น้องๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่าและโค้ชติดถ้ำที่ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย นอกจากจะได้เห็นความพยายาม ความสามัคคี ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งของไทยและต่างประเทศแล้ว
       อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนตระหนักมากขึ้นก็คือ เรื่องคำเตือนในสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งทักษะการเอาตัวรอดยามคับขัน ซึ่งวันนี้พี่มิ้นท์ได้รวบรวม 10 ทักษะสำคัญที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้เมื่ออยู่ในสภาวะฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่น่ารู้และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสายผจญภัยเลยค่ะ


   Skill 1 : ทักษะการหาที่อยู่ที่เหมาะสม
      หากหลงในป่าหรือไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย และยังหาทางออกไม่ได้ก็ต้องหาที่พักให้ผ่านพ้นคืนนั้นไปให้ได้ก่อน ทักษะแรกที่จำเป็นมากก็คือการหาที่อยู่ที่เหมาะสม ไม่ใช่อยากนอนตรงไหนก็นอนค่ะ เพราะในบางพื้นที่อาจจะไม่เหมาะที่จะพักพิงก็ได้
      หลักการง่ายๆ คือ หาที่อยู่ที่แห้งและสูง ไม่อยู่ในทางที่น้ำไหลผ่าน เพราะถ้าเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมา สามารถทำลายล้างได้เพี้ยงเสี้ยวนาที เลือกทำเลที่ปลอดจากอันตรายทางธรรมชาติ มีแหล่งน้ำ (ไม่ได้หมายถึงทางน้ำไหลนะคะ) มีไม้ (ไว้ก่อไฟ)

   Skill 2 : ทักษะการก่อกองไฟ
      เรียกว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ การก่อกองไฟไม่ได้ให้แค่แสงสว่างในยามกลางคืน แต่ยังให้ความอบอุ่น และใช้ประกอบอาหารได้ด้วย จะเห็นว่าในละครหรือภาพยนตร์ เวลาเข้าป่า กลางคืนจะต้องจุดกองไฟที่ว่านี้
      วิธีการคือ ให้หาท่อนไม้ขนาดเท่าท่อนแขนมาวางเป็นฐาน จากนั้นหาเชื้อเพลิงที่อาจเป็นฟางแห้งๆ ใบไม้แห้ง วางทับกองไม้และจุดไฟ ไม่ต้องทับกันแน่นนะคะ ให้มีช่องให้ลมพัดเร่งไฟด้วยค่ะ และใช้กิ่งไม้เล็กๆ วางด้านบนอีกทีค่ะ มีเทคนิคเรื่องการจุดไฟมาแนะนำ คือ สามารถใช้สำลีชุบวาสลีน เพื่อเป็นก้อนเชื้อเพลิง คุณสมบัติช่วยให้ติดไฟง่ายและอยู่ทนค่ะ ดังนั้น นอกจากจะใช้บำรุงผิว
ได้แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการเอาตัวรอดด้วยนะ

   Skill 3 : ทักษะการหาน้ำดื่ม
      กฎ 3 ข้อของการมีชีวิตรอด หนึ่งในนั้นว่าไว้ว่า สามารถอดน้ำได้ 3 วัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รอบๆ ตัวสามารถหาน้ำดื่มได้ค่ะ อย่างในเคสของทีมหมูป่าที่ติดถ้ำ ก็ดื่มน้ำจากน้ำหยดภายในถ้ำ
      แม้ว่าน้ำที่ถูกสุขลักษณะจะต้องเป็นน้ำที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อแล้ว แต่ในสถานการณ์ที่้ต้องเอาตัวรอด สามารถหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้และมีความปลอดภัยค่ะ เช่น ลำธาร ฝน หรือ น้ำค้าง โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีต้มก็ดื่มได้ค่ะ รวมถึงต้นไม้หลายๆ ชนิดที่มีน้ำ เช่น เถาวัลย์น้ำ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นักเดินป่ารู้จักกันดี เพราะมีประโยชน์สำหรับนักเดินป่าที่หลงป่า

   Skill 4 : ทักษะการผูกเงื่อน
      ยังจำตอนเรียนลูกเสือ-เนตรนารีได้มั้ยคะ ที่มีการฝึกผูกเงื่อนรูปแบบต่างๆ ในวันนั้นอาจจะรู้สึกว่าเรียนอะไรเนี่ย มัดไปทำไม แต่มันจำเป็นสำหรับการเอาตัวรอดมากค่ะ อย่างในข่าวที่ไปค้นหาน้องๆ หมูป่า จะมีทีมที่ต้องโรยตัวจากถ้ำเพื่อเข้าไปด้านใน ถ้ามัดปกติเหมือนการมัดทั่วไป อาจจะไม่เหนียวแน่นพอ ทำให้ตกลงมารับอันตรายได้ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้การผูกเงื่อนที่แข็งแรง เช่น เงื่อนบ่วงสายธนู ที่มีความแน่นหนา รับน้ำหนักได้มากนั่นเองค่ะ ใครลืมวิธีการมัด กลับไปรื้อความจำด่วนเลยค่ะ

Clip

วิธีผูกเงื่อนแบบง่ายๆ


 
  
Skill 5 : ทักษะการหาของกิน
      ในยามคับขันที่เราไม่ได้มีข้าวกะเพรา ข้าวขาหมู หรือเมนูโปรดอื่นๆ แต่เราต้องอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่มีของสำเร็จรูปให้กิน ทักษะนี้จึงจำเป็นมาก ไม่ใช่แค่การหาอาหารประเภทผลไม้ หรือ จับปลา เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแยกพืช-สัตว์ ว่าสิ่งไหนกินได้หรือไม่ได้ด้วยค่ะ นี่คือทักษะจำเป็น ชี้ชะตาได้เลยว่าจะมีแรงอยู่รอดหรือไม่
      สิ่งที่เรากลัวในยามปกติ เช่น หนอน นก  กบ แมลงต่างๆ ในยามวิกฤติ ก็สามารถเป็นอาหารได้ เรื่องสัตว์อาจจะไม่ยากเท่าพืช เพราะมีพืชบางชนิดมีพิษ แทนที่จะหิวอาจจะอันตรายมากกว่าเดิม เช่น เห็ดพิษ เป็นต้น 

     จริงๆ แล้ว ทักษะการเอาตัวรอดยังมีที่จำเป็นอีกหลายอย่างนะคะ เช่น ทักษะการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ การดูเข็มทิศ แม้กระทั่งการเอาตัวรอดจากสัตว์ร้ายต่างๆ ด้วย หลายๆ ทักษะก็ได้ฝึกกันมาบ้างแล้ว หากใครลืมก็ลองกลับไปทบทวนหรือเริ่มหาความรู้ตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังทันค่ะ^^
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.mensjournal.com/health-fitness/12-outdoor-survival-skills-every-guy-should-master/,
https://youtu.be/hIdsTZTUl6E

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด