น้อง ๆ ชาว Dek-D รู้ไหมเอ่ย ? ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการสมัครสอบ สอวน. นะคะ มีชาว Dek-D มาตั้งกระทู้ถามด้วยว่ามันจำเป็นต้องสอบไหม ? มันมีประโยชน์หรือเปล่า ? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันจ้า แต่ก่อนอื่นขออธิบายคร่าว ๆ ก่อนว่า สอวน. คืออะไร
น้อง ๆ เคยเห็นข่าวว่ามีเด็กไทยไปคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่ต่างประเทศไหม ? เด็กไทยเหล่านั้นเขาต้องผ่านการคัดเลือกจากค่าย สอวน. นี่แหละค่ะ จะมีการสอบผ่านแต่ละขั้น ๆ ไปจนได้เป็นผู้แทนประเทศไปแข่งที่ต่างประเทศ โดยเริ่มต้นสมัครได้ตั้งแต่ ม.ต้น ตามเกณฑ์แต่ละวิชา ซึ่งเจ้าค่าย สอวน. หรือที่เรียกว่าค่ายโอลิมปิกนี้ก็มีหลาย ๆ วิชาให้น้อง ๆ เลือกสอบตามที่เราถนัดสนใจ และ 1 ในวิชาที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ก็คือ “ดาราศาสตร์” ค่ะ
และสอวน.วิชาแห่งดวงดาวนี้ จะแตกต่างจากวิชาอื่นอย่างไร และมีสิทธิประโยชน์ต่างจากโอลิมปิกวิชาอื่น ๆ หรือไม่ ตามมาทางนี้ค่ะ พี่เกียรติมีคำตอบจากผู้รู้คนสำคัญ อาจารย์ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานศูนย์ดาราศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
อาจารย์ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
โอลิมปิก ดาราศาสตร์ ต่างจากโอลิมปิกวิชาอื่นหรือไม่ ?
ในส่วนของโครงการโอลิมปิกดาราศาสตร์ การดำเนินงานคล้ายคลึงกันไม่ต่างกับค่ายโอลิมปิกวิชาอื่นนัก มีสอบเข้า สอวน.ค่าย 1 ค่าย 2 หาผู้แทนศูนย์ไปสอบแข่งขันจนไปถึงค่ายระดับชาติ และแข่งหาตัวแทนไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติเช่นเดียวกัน เพียงแต่การสนับสนุนมาจากมูลนิธิ สอวน. โดยตรง
แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุดก็คือ “ตัวเนื้อหา” อย่างในส่วนค่ายเราจะมี “ภาคสังเกตการณ์” เป็นการไปดูดาวกับท้องฟ้าจริง เรียนเรื่องเกี่ยวกับการดูดาวจริง ออกไปต่างจังหวัด เรื่องการใช้กล้องโทรทรรศน์ จะเราจะไม่ได้อยู่ในห้องปฏิบัติการเหมือนวิชาอื่น ๆ ส่วนภาคทฤษฎี ก็จะเรียนทฤษฎีล้วน ๆ ในห้องเรียนเลย
Image: CU Astro Olympiad
การสมัครสอบและดูแลอบรมก็แล้วแต่การดำเนินการของแต่ละศูนย์ สอวน. แต่ละภูมิภาค อย่างศูนย์จุฬาฯ จะรับผิดชอบภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก - ใต้ตอนบน นักเรียนที่จะสมัครสอบต้องเลือกสอบในศูนย์ฯ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โรงเรียนที่ตนเองเรียนอยู่
ดาราศาสตร์ในโรงเรียน กับในค่ายต่างกันหรือไม่ ?
วิชาดาราศาสตร์ในโรงเรียนมันเป็นพื้นฐาน แทรกอยู่ในวิชาอื่นหรือแทบไม่มีสอนเลย ส่วนในค่ายเนื้อหาจะเจาะจงมากขึ้น อย่างทั่วไปในวิชาลูกเสือก็เลือกพื้นฐานดาราศาสตร์ไปใช้ในการดูทิศทางจากการดูดาว ก็รู้จักดาวเหนือดวงนึง แต่ที่เรียนในค่ายต้องรู้ชื่อดาวเลย มีกี่กลุ่มก็ต้องรู้จักหมด อย่างในข้อสอบดาราศาสตร์อินเตอร์ ถามถึงดาวเดลต้า สกอร์พิอาย (Delta Scorpii) ก็ให้ตอบโดยเอาเลเซอร์ชี้ฟ้าจริง หรือให้ตั้งกล้องไปที่ดาวดวงนั้นให้ถูกต้อง หรืออย่างมีข้อสอบ “ดาวกระดาษ” เป็นแผนที่ดาว แล้วให้บอกว่าในนี้มีดาวอะไรบ้าง หรือมีดาวดวงไหนหายไป เด็ก ๆ ก็พูดติดตลกว่าเป็นข้อสอบ “ดาว หา ย นะ”
“ดาราศาสตร์ VS โหราศาสตร์”
จริง ๆ วิชาดาราศาสตร์มันอยู่รอบตัวเรา แต่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับโหราศาสตร์มากกว่าดาราศาสตร์ ซึ่งเราต้องต้องรับความจริงว่า โหราศาสตร์ และดาราศาสตร์ มันมีรากเดียวกัน เพียงแต่ว่าคุณตีปรากฎการณ์บนท้องฟ้าเป็นแง่ไหน โหราศาสตร์ก็ตีความในแง่ชีวิตคน การทำนายทายทักไป ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ มันนำวิชาต่าง ๆ มาประยุกต์กับดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เช่น ตรีโกณมิติ มันก็ไม่ใช่ sin cos tan ที่เรียนกันในห้องเรียน แต่เป็นตรีโกณมิติบนผิวทรงกลม เป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่มีสอนทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย
อาชีพนักดาราศาสตร์มีจริงหรือไม่ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้นั่งดูดาวเป็นหลักแล้ว แต่ใช้วิธีสร้างตาตัวแทน (กล้องดูดาวอัตโนมัติ) กล้องฮับเบิล กล้องโรโบติก ต่าง ๆ ตอนนี้นักดาราศาสตร์ เป็นกึ่ง ๆ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ทำงานกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ นั่งสอนคอมพิวเตอร์ให้ทำงานแทน ทำวิเคราะห์ข้อมูล ต้องเขียนโค้ด ต้องรู้ภาษาไพทอน (Python) ภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เน้นไปทาง A.I. (Artificial Intelligence: ปัญญาประดิษฐ์) ความรู้พื้นฐานของนักดาราศาสตร์ตอนนี้ จึงจำเป็นต้องมีทักษะทางเทคโนโลยี ทักษะคอมพิวเตอร์ เพื่องานวิจัยและสร้างความเข้าใจเกียวกับธรรมชาติรอบตัว อวกาศ นำข้อมูลที่วิเคราะห์ไปใช้ในกิจการงานทั้งหลาย
การเป็นเด็กค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกต้องเริ่มจากสิ่งใด ?
จุดเริ่มต้นต้องมี passion ก่อน เพราะวิชานี้ไม่ได้มีสอนหรือสอนน้อยมากในโรงเรียน ดังนั้นเด็กที่จะเริ่มต้นทางสายนี้ ต้องศึกษาเองก่อน ดังนั้นข้อสอบค่าย 1 ก็จะวัดหาคนที่มีความหลงใหลในวิชานี้ พอได้เข้าค่ายมา เราก็ค่อยมาเติมความรู้ฟิสิกส์ที่ต้องใช้ คณิตศาสตร์ที่ต้องใช้ แต่สิ่งที่จะได้แน่นอนจากการเข้าร่วมค่าย สอวน. ก็คือได้เจอเพื่อนที่รักในวิชาเดียวกัน ได้มานั่งเล่นเกมเรียกชื่อดาว ต่อชื่อดาวต่าง ๆ ที่คิดขึ้นมาเล่นกันเองอย่างสนุกสนาน
ที่สำคัญคือแม้จะไม่ไปถึงระดับเป็นผู้แทนประเทศไปแข่งโอลิมปิกนานาชาติ แต่ได้เข้าค่าย 1 ค้าย 2 ได้ ก็ถือว่าได้เปิดประตูอีกบานไปสู่อนาคตการเรียนต่อ มี portfolio ใช้ในการสอบเข้าสถาบันที่มีชื่อเสียงในระดับมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย อย่างระดับมหาวิทยาลัยมีรอบโควตาเด็กโอลิมปิกเลย เพียงคุณมีรายชื่อติดค่าย 1 ได้รับประกาศนียบัตรจาก สอวน.ค่าย 1 ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็เปิดประตูรอรับตั้งแต่ TCAS รอบ 1 ทันที
Image: CU Astro Olympiad
สิ่งที่อยากฝากถึงเด็กไทยทุกคน
โครงการโอลิมปิก มันเป็นโครงการที่เปิดประตูในอนาคตอีกเส้นทาง และไม่จำเป็นต้องมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทุกคน ทุกคนไม่จำเป็นต้องเดินทางสายโอลิมปิกวิชาการไปตลอดชีวิต บางคนอาจไปเป็นหมอ เป็นวิศวะ แต่ตราบใดที่ยังมีความหลงใหลในการเรียนรู้ ดาราศาสตร์ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความรู้ที่ได้รับไปก็จะสามารถนำไปต่อยอดได้
ดาราศาสตร์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
กลายเป็นความรู้ที่นำไปต่อยอดได้
เราไม่ได้มองในเ่รื่องเหรียญรางวัลหรือการแข่งขัน แต่เราได้สร้างคนที่รักในสาขาดาราศาสตร์นี้ ทุกคนมีความรักในวิชาเดียวกัน แล้วก็เข้ามาอยู่ในค่าย มาสนุกไปกับเรื่องที่ชอบเหมือนกัน สิ่งที่พิสูจน์ได้จากการทำงานสายโอลิมปิก 10 ปีที่ผ่านมาของผม คือ ไม่ว่าพวกเขาจะทำอาชีพอะไร หรือไปเรียนอะไร เราก็จะมีนัดกัน เพื่อกลับมานั่งดูดาวร่วมกัน…
Image: CU Astro Olympiad
พี่เกียรติฟังอาจารย์สธนเล่าแล้ว อยากขึ้นภูไปดูดาวบ้างเลยค่ะ เคยดูดาวแค่ในท้องฟ้าจำลอง แอบรู้สึกเสียดายจริง ๆ ที่สมัยเรียนไม่ได้เรียนเรื่องดาราศาสตร์เท่าไหร่เลย ส่วนน้อง ๆ ชาว Dek-D ที่สนใจเรื่องดวงดาว หรือสนใจสมัครสอบ สอวน. (วิชาอื่นก็มีนะคะ) อย่ารอช้านะคะ ติดตามระเบียบรับสมัครของโครงการได้ทุกวิชาที่นี่ > คลิก < มีหลายศูนย์ฯ หลายวิชากำลังอยู่ในช่วงรับสมัครค่ะ
อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปนะคะ ลองดูเลยจ้า
4 ความคิดเห็น
สนใจสัมภาษนักเรียนผ่านค่ายมั้ยคะ 5555
เอาเลย เชียร์ๆ
เคยผ่านค่าย 2 จุฬา สนุกมากกกก แนะนำหลายๆคนให้ไป มันยังมีอะไรอีกเยอะะะ (ข้อสอบก็ยากมากเช่นกัน โดยเฉพาะdata แทบทรุด)
ผมไม่เข้าใจครับพี่ๆ ช่วยอธิบายทีครับว่ามันมีสิทธิพิเศษเหมือนสาขาวิชาอื่นใช่มั้ยครับ พอดีอีก5วันจะไปเข้าค่าย2แล้ว จุดประสงค์ผมคือไปเพื่อเอาเกียรติบัตรเข้าportfolioครับ พูดตรงๆเลยยย รบกวนด้วยครับพี่
มีสิ เหมือนโอวิชาอื่นนั่นแหละ ยิ่งเข้าค่าย
ึกได้แค่ไหน สิทธิ์ก็สูงขึ้นตามปกตินั่นแหละ แต่ว่า สิทธิ์คณะไหนอะไร มันขึ้นอยู่กับมหาลัยด้วย