สวัสดีค่ะ ถ้าพูดถึงการบ้านที่ขึ้นชื่อว่ายากที่สุด น้องๆ Dek-D คงคารวะให้กับงานเขียนทั้งหลาย แต่งกลอน ถอดคำประพันธ์ โดยเฉพาะเขียนเรียงความ เพิ่งผ่านวันแม่มาหมาดๆ สงสัยได้โชว์ฝีมือกันเต็มที่แน่เลย ถ้าจ่อไมค์ถามถึงสาเหตุที่เด็กไทยไม่ชอบเขียนเรียงความ หลายคนคงตอบว่าไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน เขียนมั่วมีแต่น้ำก็โดนหักคะแนนอีก ทั้งที่เรียงความจำเป็นมากเลยนะคะ


 
         อย่างน้อยถ้าน้องๆ เป็นเด็ก ม.6 จะสอบ TCAS รอบ Portfolio หลายสถาบันก็ให้เขียนเรียงความส่ง ตามไปดู “หัวข้อเรียงความ” ได้ รู้แบบนี้แล้วเรามา “เก็บเทคนิคเขียนเรียงความ” กันดีกว่าค่ะ นอกจากจะได้ใจครู ได้คะแนนเก็บสวยๆ แล้ว ยังได้ฝึกสกิลไว้สร้างผลงานตอนสอบเข้ามหา’ลัยด้วยนะ

ทำความรู้จักเรียงความ
         เรียงความคืองานเขียนประเภทหนึ่ง ที่มาจากการเรียบเรียงความรู้ ความคิด และความเข้าใจของผู้เขียนค่ะ เรียงความจะมีเนื้อเรื่องที่สมบูรณ์ น่าอ่าน ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาที่ดีด้วย ก่อนเริ่มลงมือเขียน น้องๆ จึงควรศึกษาหลักเกณฑ์การเขียน และมีระดับภาษาอยู่ในใจก่อน ที่เหมาะสมควรจะเป็นภาษาระดับทางการหรือกึ่งทางการ ลองหาเรียงความที่ดีหรือเรียงความที่ชนะการประกวดมาใช้เป็นแนวทางประกอบการเขียนได้ค่ะ

เริ่มเขียนไม่ถูก…ให้ชื่อเรื่องนำทาง!
         เวลาครูมอบหมายการบ้านให้เขียนเรียงความ มักจะบอกมาเป็นหัวข้อกว้างๆ เช่น “จงเขียนเรียงความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ความยาว 1 หน้ากระดาษ A4” เราต้องมาคิดชื่อเรื่องเองอีกที น้องๆ อาจจะเริ่มจากจุดนี้ก่อนก็ได้ค่ะ การตั้งชื่อเรื่องควรเป็นไปในโทนเดียวกัน คือครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของสิ่งที่เขียน กระชับ และกระตุ้นให้ครูอยากอ่านต่อ

         ตามหลักแล้วชื่อเรื่องควรคิดหลังจากเขียนเรียงความเสร็จ แต่บางคนยังไม่ได้ชื่อก็เหมือนไม่มีไฟ เริ่มเขียนไม่ได้สักที โดยชื่อเรื่องนี้น้องอาจจะหาแรงบันดาลใจมาจากคำ วลี ประโยค หรือเพลงก็ได้ เช่น อยู่อย่างพอเพียง...จุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ การอ่านข้อมูลเยอะๆ เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน ก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ  


 
เรียงความ 3 ส่วน เขียนง่ายนิดเดียว!
         เรียงความจะมีรูปแบบที่ชัดเจนค่ะ เมื่อได้หัวข้อมาแล้ว เตรียมแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเลย “คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป” จากนั้นมาเขียนโครงเรื่อง ลิสต์ประเด็นไล่มาทีละลำดับว่าแต่ละส่วน เราจะเขียนอะไร เพื่อป้องกันการเขียนวกไปวนมา จับใจความสำคัญไม่ได้ค่ะ มาไล่ดูทีละส่วนกันเลย

        
คำนำ - ส่วนนี้จะเป็นย่อหน้าแรกที่ชักชวนผู้อ่านเข้าสู่เรื่อง ดังนั้น เราควรจะเลือกเขียนสิ่งที่เป็นมาสเตอร์พีซ ทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจอยากอ่านต่อ สมมติว่าเขียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็อาจจะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นเนื้อความส่วนแรก แล้วตามด้วยการเล่าต่อว่าเรียงความนี้กำลังกล่าวถึงอะไร
 
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒

          หรือถ้าไม่อยากหยิบยกคำกล่าวของบุคคลสำคัญ ก็ยังมีอีกหลายวิธีเลยค่ะ ที่สามารถนำมาใช้เกริ่นนำได้ เช่น บทกลอน สำนวน สุภาษิต การตั้งคำถาม การหยิบยกสถานการณ์ปัจจุบัน ฯลฯ

        
เนื้อเรื่อง - เป็นส่วนที่รวมเนื้อความไว้ทั้งหมดเลยค่ะ น้องๆ ควรจะวางโครงก่อน ด้วยการลิสต์ประเด็น แล้วเรียบเรียงว่าประเด็นใดควรมาก่อน - หลัง เพราะทุกประเด็นจะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันค่ะ ตัวอย่างยังอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงค่ะ

         ประเด็นที่ 1 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
         ประเด็นที่ 2 พอเพียง - เรื่องใกล้ตัวที่ยิ่งใหญ่
         ประเด็นที่ 3 ความพอเพียงสู่การพัฒนาประเทศ

        
สรุป - เป็นการกล่าวปิดเรื่อง ซึ่งไม่ใช่การย้อนกลับไปยกตัวอย่างหรือวกกลับไปพูดเรื่องเดิม น้องๆ อาจจะสรุปด้วยการเสนอแนวทาง มอบข้อความเตือนใจ ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดหาคำตอบ ฯลฯ 

สิ่งที่ควรทำเพื่อเรียงความที่ดี
         ลักษณะของเรียงความที่ดี โดยรวมแล้วเนื้อหาควรสอดคล้องไปในทางเดียวกับชื่อเรื่อง เนื้อความชัดเจน ใจความสำคัญครบถ้วน และมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ยังมีสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่ควรทำ เพื่อให้ได้เรียงความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเข้ามาด้วยนะคะ

        
จัดลำดับย่อหน้า ย่อหน้าเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าเราได้เริ่มใจความสำคัญใหม่แล้ว ถ้าจะเริ่มประเด็นใหม่ก็ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ นี่จึงเป็นเหมือนตัวช่วยในการจัดลำดับความคิดของเรา ครูก็อ่านตามได้เรื่อยๆ ไม่สับสน ช่วยให้เรียงความเรามีระเบียบเรียบร้อย และมีจุดพักสายตาให้ด้วยค่ะ             


 
         ใช้ภาษาเหมาะสม อย่างที่บอกว่าภาษาในการเขียนเรียงความควรอยู่ในระดับทางการหรือกึ่งทางการ ไม่ควรนำภาษาพูดมาปะปน เช่น เศรษฐกิจพอเพียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศเยอะแยะ หรือไม่ควรใช้คำเชื่อมมากเกินไป เช่น ความพอเพียงสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งทำให้ครอบครัวพออยู่พอกิน การกระทำการต่างๆ นำมาซึ่งความที่ชุมชนเข้มแข็ง บลาๆ ทั้งหมดนี้เราสามารถรวบคำได้คือความพอเพียงสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทำให้ครอบครัวพออยู่พอกิน และชุมชนเข้มแข็ง นี่ไงกระชับ รู้เรื่อง ไม่เวิ่นเว้อ

        
อ่านทวน เมื่อเขียนเสร็จน้องๆ ควรกลับมาอ่านทวนอีกครั้ง เพื่อเช็คว่าส่วนไหนถ้อยคำขาดหาย ข้อมูลตกหล่น หรือใจความสำคัญไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกัน จะได้นำมาแก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าไม่เขินก็ลองนำไปให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยอ่าน หรือให้เพื่อนช่วยตรวจทานก็ได้ เพื่อจะได้คำแนะนำดีๆ กลับมาปรับใช้กับงานเขียนของเราค่ะ 

         บอกเลยว่าทั้งหมดนี้คือการเขียนเรียงความเพื่อเอาใจคุณครูจริงๆ ลองคิดดูนะคะ ระดับชั้นหนึ่งมีนักเรียนเท่าไหร่ ครูสอนกี่ห้อง ต้องอ่านเรียงความของนักเรียนกี่ร้อยคน ถ้ามาเจอเรียงความแบบ อัดเนื้อหาแน่นๆ ไม่จัดเรียงหน้ากระดาษ ใช้ภาษาปนกันไปหมด มีหวังหงุดหงิดจนหักคะแนนรัวๆ แน่นอน ถ้าอยากได้เรียงความที่เป๊ะ ปัง ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดูได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือศิลปะการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

Noi787 Member 8 ม.ค. 62 23:38 น. 1

เทคนิคดีงามมากๆค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้และเทคนิคที่นำมาให้นะคะ

//ส่วนตัวคิดว่าส่วนที่ยากที่สุดคงจะเป็นการอธิบายยังไงไม่ให้วกไปวนมานั่นแหละค่ะ

//เพราะบางครั้งก็มีเวลาจำกัดในการเขียน จะร่างไว้ก็เป็นคนเขียนช้าเลยลามไปทั่วเลย

-จะพยายามปรับใช้นะคะ-

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด